| ย้อนกลับ |

อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ๒

              ผมได้เล่าเรื่อง ศึกเก้าทัพ ที่พระเจ้าปดุงกษัตริย์ผู้ครองกรุงอังวะยกมาตีไทย หมายจะยึดกรุงเทพ ฯ ให้ได้ แต่ปรากฎว่ายกพลมาถึง ๑๔๔,๐๐๐ คน  ต้องแตกพ่ายกลับไป ในเก้าทัพมีทัพที่ ๒ ที่ยกเข้ามาทางด่านบ้องตี้  อำเภอไทรโยค เป็นครั้งเดียวที่พม่ายกเข้ามาทางด้านนี้  ส่วนไทยนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เคยนำทัพพล ๒๐,๐๐๐ จะไปตีทวาย แต่ทรงเห็นว่าหากไปทางด่านบ้องตี้ทัพไทยจะต้องตีตะนาวศรีให้ได้ก่อน จึงจะไปตีทวายได้ จึงยกทัพออกไปทางด้านใต้ของด่านบ้องตี้  ซึ่งเมื่อข้ามเขาไปแล้วจะตรงเข้าตีทวายได้เลย แต่เป็นทางสูงชันยากลำบากมาก ขนาดช้างต้องเอางวงดึงต้นไม้ ไต่ขึ้นไปและมีช้างตกเขาตาย ไทยก็เคยยกออกไปครั้งเดียว แต่ไปทางใต้ของด่านบ้องตี้
            ไปตามถนนสาย ๓๒๓  ต่อไปจากอำเภอไทรโยค ก็จะมาถึงน้ำตกเขาพัง หรือไทรโยคน้อย ก่อนถึงสัก ๑๐๐ เมตร เยื้องกับปั๊มน้ำมันบางจาก มีซุ้มของอร่อยซื้อติดไปเป็นเสบียงได้ หรือเป็นของฝากในเที่ยวกลับ คือ ซุ้มไส้อั่ว มีไส้อั่วหมู เนื้อ วุ้นเส้น และมีแบบทำเก็บใส่ไว้ในตู้เย็นได้นาน มีไก่ย่าง ร้านติดกันมีส้มตำ เลยซุ้มไส้อั่วไปแล้วก็จะมาถึงลานของกิน ของฝากลานมหึมาอยู่ริมลานที่จอดรถ ลงรถแล้วเดินข้ามลานไปชมน้ำตกเขาพัง หรือไทรโยค ฤดูฝนน้ำมากสวยเป็นม่าน  ฤดูร้อนมีแอ่งรับน้ำตกที่เรียกกนว่า ตกยังกับเยี่ยวช้าง แต่แอ่งตื้นปล่อยเด็กลงเล่นน้ำได้สบาย
            เลยไทรโยคน้อยไป  ก็จะมาถึงทางแยกซ้าย เพื่อไปยังน้ำตกไทรโยค มีร้านอาหาร ที่พัก
            เลยไปอีก กม. ๙๓.๘๐๐  ก่อนข้ามสะพาน อยู่ทางขวามือ ร้านทหารเก่า อาหารอร่อยมาก ราคาย่อมเยา ปลาสามรสปลาอะไรก็ทำอร่อยทั้งนั้น  ห่อหมกเขาร้องว่าของเขาอร่อยที่สุดในโลก แกงเขียวหวานพริกขี้หนู เผ็ดอร่อย ราดข้าวดีนัก ทอดมันเหนียวหนึบ
            เลยต่อไปทางแยกขวามือ ประมาณ กม.๑๐๕ เลี้ยวขวาตามป้ายไปนิดเดียว จะถึงพุน้ำร้อนหินดาษ พุน้ำร้อนแห่งนี้ ทหารญี่ปุ่นที่มีสร้างทางรถไฟสายมรณะมาพบ และพวกนี้ชอบอาบน้ำร้อนธรรมชาติ จึงทำบ่ออาบแยกนายทหารสัญญาบัตร และนายทหารประทวน แต่ตอนนี้ก็แยกเหมือนกัน โดย อบต. ตั้งโต๊ะเก็บเงิน สำหรับผู้ที่จะข้ามลำธาร ไปฝั่งตรงข้ามเก็บคนละสิบบาท หากอาบน้ำในห้องก็แพงขึ้นไปอีก ธารน้ำไหลนั้นเป็นธารน้ำเย็น วิธีอาบให้แช่น้ำร้อนในบ่อเสีย ๑๕ นาที แล้วมาแช่น้ำเย็น  ริมฝั่งธารก่อนข้ามสะพานมีคำขวัญของอำเภอทองผาภูมิ เขียนไว้ว่า
            พุน้ำร้อนหินดาษ ตลาดอีต่อง โบอ่องเจดีย์ ราชินีปูไทย เพลินใจแควน้อย เกินร้อยภูผา
            จากพุน้ำร้อนหินดาษ ที่ฝรั่งมาลงอาบน้ำแร่กันมากกว่าคนไทย กลับออกมาถนนสาย ๓๒๓ เลี้ยวขวาวิ่งไปจนพบสามแยก หากเลี้ยวขวาจะไปตามสาย ๓๒๓  ไปยังด่านเจดีย์สามองค์ หากไม่เลี้ยวตรงมานิดเดียวจะมีทางแยก เข้าตลาดทองผาภูมิ ยามเช้ามีอาหารสดขายมากมาย มาจากแหล่งผลิตคือ ชาวบ้านที่ปลูกนำมาเอง ที่ถูกมาก คือปลาสดจากเขื่อนที่ชาวประมงจับมาขาย หากเราพักรีสอร์ทย่านนี้  เช้า ๆ ออกมาจ่ายตลาด ซื้อปลาตัวโต ๆ ไปทำอาหารจะได้ของดีราคาถูก  รวมทั้งซื้อสินค้าจากพม่าที่เป็นสินค้าพม่า และสินค้าจากจีนที่เข้ามาทางพม่า จ่ายตลาดทางผาภูมิสนุก สินค้ามากราคาย่อมเยา
            ถ้าไม่เลี้ยวขวาเข้าตลาด  วิ่งผ่านไปก็จะมาเข้าประตูที่ทำการ เขื่อนวชิราลงกรณ์ มีที่พัก มีร้านอาหาร หากไม่เลี้ยวเข้าประตูเขื่อนคงตรงต่อไป ถนนจะเลียบริมเขื่อน เห็นท้องน้ำที่กว้างใหญ่ ปลายฝน ต้นหนาว จะสวยนัก เพราะน้ำจะใส และน้ำมากเต็มอ่าง ภูเขาในอ่างกลายเป็นเกาะกลางน้ำ และริมขอบอ่างน้ำนี้ จะมีรีสอร์ทมากมายอยู่ในแพลอยอยู่ในน้ำก็มี ถนนวิ่งเลียบขอบอ่างไปหลายกิโลเมตร ๓๒ กม. จากทองผาภูมิจะถึงบ้านไร่ น่าจะเป็นตำบล เป็นครึ่งทางที่จะไปยังตำบลปิล๊อก  จากบ้านไร่ทีนี้ถนนจะไต่เขาสูงชันไปตลอด เมื่อ ๑๖ ปีที่แล้ว ผมมาทำงานด้านยุทธศาสตร์พัฒนา ที่ปิล๊อก หากมาทางรถยนต์ต้องใช้เวลาเดินทางค่อนวัน ฤดูฝนเขาบอกว่า รถขนแร่บางทีขนกันตั้งแต่เข้าพรรษา กว่าจะออกมาได้ก็พอดีออกพรรษา เพราะถนนดิน เขาสูงชัน ผ่านไปในป่าบริสุทธิ์ที่แสนสวย  คือพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ แต่ถนนในปัจจุบันเป็นถนนชวนเที่ยว ชวนไปชิมเพราะลาดยางเรียบร้อย แม้จะไม่กว้างนัก แต่รถก็สวนกันได้สะดวก รถเก๋งวิ่งได้สบาย รู้จักเปลี่ยนเกียร์บ้างก็แล้วกัน  แต่รถโฟวีลดีที่สุด เพราะสถานที่ท่องเที่ยวหลายจุด ควรลุยด้วยรถโฟวีล จากบ้านไร่ไปอีก ๓๑ กม. จะถึงตลาดอีต่อง  อีต่องเป็นชื่อบ้าน ขึ้นกับตำบลปิล๊อก และเป็นที่ตั้งของตำบลปิล๊อก เมื่อก่อนเคยได้ยินกันแต่คำว่า เหมืองปิล๊อก ผมเองก็เข้าใจว่าเหมืองปิล๊อกมีเหมืองเดียว  เพราะเมื่อก่อนไม่ได้ตั้งเป็นตำบลปิล๊อก ที่จริงต้องบอกว่าเป็นเหมืองในตำบลปิล๊อก เพราะมีมากมายหลายสิบเหมือง การทำเหมืองแร่ที่ปิล๊อกเริ่มจากพม่าข้ามมาขโมยทำก่อน แล้ววเวราจึงเข้าควบคุมในภายหลัง มีแหล่งแร่มากหลายชนิดผมเคยไปพอดีเขามีงานนิทรรศการ เขาบอกว่ามีแร่ถึง ๑๐ ชนิด มากที่สุด พวกดีบุก และทังสะเตน  ทองคำก็มีแต่ไม่มากพอที่จะทำเหมือง นอกจากชาวบ้านร่อนจากลำธารเอาไปขาย เหมืองแร่ที่ยังเปิดดำเนินการ ในปิล๊อกเวลานี้ไม่มีแล้ว เพราะส่วนใหญ่แร่จะหมด หรือบางเหมืองก็สัมปทานหมด และจะขอใหม่ก็ยากมาก เพราะพื้นที่กลายเป็นป่าสงวนแห่งชาติ หรือพื้นที่ในอุทยานแห่งชาติไปแล้ว จากแหล่งผลิตแร่ จึงกำลังกลายสภาพมาเป็นแหล่งท่องเที่ยว และนักท่องเที่ยวมามากขึ้นทุกที ผมไปเที่ยวเมื่อปีก่อน ยังมีนักท่องเที่ยวน้อยกว่านี้ ปีนี้มีไปกันมากแต่ส่วนใหญ่พักที่ทองผาภูมิ มาเช้าเย็นกลับไม่ได้นอนที่ปิล๊อก แบบพวกผมนอน
            อีก ๕ กม. จะถึง สภ.ต.ปิล๊อก ทางขวามือคือ ทางเข้าอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ ลงไปเซ็นชื่อขออนุยาตเข้าไปชม ไปพักได้ เมื่อเข้าไปแล้ววิ่งไปตามป้าย ไปยังจุดชมวิว จะผ่านป้ายชี้ทางไปบ้านพัก จนกระทั่งไปถึงลานจอดรถที่จะเดินไปอีกสัก ๕๐ เมตร  ก็จะถึงหอชมวิว ทางด้านซ้ายของลานมีสุขาชั้นเยี่ยมแต่ไม่สากล มีห้องอาบน้ำด้วย  เพราะที่ลานกว้างนี้ให้เป็นที่กางเต้นท์นอนได้ แต่ต้องเสียค่ากางเต้นท์นอน เลยลานออกไปก็จะเป็นหอชมวิวที่มองเห็นยอดเขาที่สูงที่สุดในอุทยาน ฯ  คือ  ยอดเขาช้างเผือกที่มีความสุง ๑,๒๔๙ เมตร อยากทราบรายละเอียดเมื่อเข้าประตูไปแล้ว ก็จะพบศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ที่พักน่าจะเช่าจากตรงนี้ แต่ผมไม่ได้พักที่อุทยาน ฯ
            อีก ๓ กม. จะถึง สภ.ต.ปิล๊อก ทางขวามือมีทางแยกไปน้ำตกที่สวย และเอารถไปสะดวกที่สุดคือ น้ำตกจ็อกกระดิ่น เลี้ยวขวาเข้าไปตามทางดินประมาณ ๒ กม.  ถึงลานจอดรถ เดินต่อไป  อาจจะข้ามลำธารที่มีน้ำไหลด้วย หากฤดูฝนก็ข้ามหลายแห่งหน่อย เดินไปประมาณ ๑๐๐ เมตร  ตรงลานจอดรถมีสุขาพออาศัยได้
            จ็อก แปลว่า ก้อนหิน กระดิ่น แปลว่า หน้ผา
            ต้นน้ำบนเขา มีลำธารน้ำถึง ๓ สาย ไหลมารวมกันแล้วกลายเป็นต้นน้ำตกจ็อกกระดิ่น ตกลงมากระทบแง่หิน เสียงก้อง สวยมาก แอ่งรับน้ำ น้ำสีเขียวใสสด  แสดงว่าน้ำต้องลึก ฤดูฝนละอองน้ำจะลอยฟุ้ง จะยืนชมน้ำตก หรือลงไปเล่นน้ำในอ่างก็ได้ ไม่มีอันตราย นอกจากอุตริไปปีนหน้าผา เพื่อโดดน้ำโชว์ ก็ไม่รับรองความปลอดภัย  หน้าผาเหนือน้ำตกสูงชันพอควร จึงมีผู้นิยมไปไต่หน้าผากัน ไปน้ำตกแห่งนี้ไปสะดวก ไปปิล๊อกอย่าเลยข้าไป ต้องไปชม
            จากน้ำตกจ็อกกระดิ่น  กลับมาออกถนนเลี้ยวขวาไปอีกประมาณ ๑,๘๐๐ กม. ทางซ้ายมือจะมีเส้นทางลงเขา ปากทางปักป้ายไว้ว่า เหมือง  ปัจจุบันไม่ได้ทำเหมืองแต่ทำเป็นรีสอร์ทชั้นดี ราคาไม่แพง รวมอาหาร ๓ มื้อ ผมพักที่รีสอร์ทแห่งนี้ ๒ ครั้งแล้ว ยังติดใจ จะไปอีกตั้งใจว่าจะไปนอนสักปีละครั้ง  เพราะอยู่ในป่าจริง ๆ จะสนุกสนานอยู่ในหมู่พวกเดียวกัน เป็นการปล่อยวาง ปล่อยจิตใจให้สงบอยู่ในป่า แต่สุขสบายเหมือนอยู่บ้าน อาหารดี
            ยังไม่พาลงไปรีสอร์ท พาต่อไปก่อน เมื่อเลยปากทางลงรีสอร์ทไปแล้ว มาอีกนิดเดียวก็จะถึงร้านโชห่วย เลยร้านโชห่วยไปก็คือ โรงพัก หรือ สภ.ต.ปิล๊อก  มีตำรวจหลายนายแยกจาก สภ.อ.ทองผาภูมิ แต่ตำรวจสัญญาบัตรไม่ค่อยอยู่ประจำ มีแต่นายดายตำรวจอยู่เป็นหลัก ถามแล้วได้ความว่า ที่ตำบลปิล๊อกนี้พอเลิกทำเหมืองแร่  คนงานนับพันก็กลับไปกันหมด เหลือแต่ชาวบ้านแท้ ๆ ทหารพม่าก็เข้ามาซื้ออาหาร ของใช้ พวกชาวบ้านพม่า กะเหรี่ยงที่เคยนำอาหารทะเล เช่น กั้ง ปู กุ้ง ปลา จากอันดามันเข้ามาขายก็ไม่ค่อยมีเข้ามา จะมาก็มาซื้อของกินของใช้ และเดี๋ยวนี้มีหน่วยทหารพม่าตั้งอยู่ชายแดนติดแดนไทย สมัยผมไปทำงานยุทธศาสตร์พัฒนา ที่ชายแดนด้านนี้ราว ๆ พ.ศ.๒๕๓๒ มีแต่ทหารกะเหรี่ยง พม่าไล่ตีกะเหรี่ยงแตกเข้ามายิงปืนมาตกในตลาดอีต่องไฟไหม้ ทางผมต้องจัดหาเครื่องดับเพลิงส่งไปให้ ๑๖ ปีผ่านไป ผมกลับไปเที่ยวอีกที คุยกับกำนันบอกว่าเครื่องดับเพลิงเครื่องนั้นยังใช้งานได้ รักษากันเก่งดี ทาง สภ.ต. บอกว่าตำรวจน้อยเพราะไม่มีคดี เลยตั้งชื่อยกป้ายว่า โรงพักยิ้ม โรงพักเพื่อประชาชน เมื่อไม่คดีก็เลยปลูกผักยกป้ายไว้อีกว่า "โครงการเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ"  ผักที่ปลูกคือ ผักคะน้าไต้หวัน
            เยื้อง ๆ กับร้านโชห่วยที่เห็นเกิดใหม่ในปีนี้คือ ร้านต้นไม้ดอก ไม้ประดับ ปิล๊อกฮิลล์
            ตรงข้าม สภ.ต. มีโรงเรียน ที่ดำเนินการโดย ตชด.มีบ้านพักของบรรดาตำรวจ จากจุดนี้เลยต่อไปอีกประมาณ ๒ กม. จะถึงตัวตลาดอีต่อง  บริเวณตลาดอยู่สองฟากถนนแคบ ๆ พอรถสวนกันได้ เป็นห้องแถวไม้  ไปคราวก่อนยังมีป้ายปักไว้หน้าห้องแถวหนึ่งว่าโรงแรม อีกแถวบอกว่าโรงหนัง ไปเที่ยวนี้ป้ายหายไปแล้ว และกำลังดัดแปลงปรับปรุง ห้องโรงหนังเป็นที่พัก เพราะที่ตัวปิล๊อกนี้ยังดัดแปลง สร้างรีสอร์ทได้อีกมาก นักท่องเที่ยวจึงมาเช้า กลับบ่ายกัน อากาศปลายหนาวตอนค่ำ ๑๖ ค่ำ องศา ฯ ตอนเช้า ๑๔ องศา ฯ หากเป็นฤดูหนาวจะลดต่ำลงกว่านี้อีกมาก ในตลาดอีต่องมีร้านอาหารที่อาศัยได้อยู่ ๓ ร้าน มีเห็ดโคนญี่ปุ่นดองเอาไว้จำหน่ายด้วย  เห็ดหอมดองก็มีขายขวดละ ๑๐๐ บาท  ของขายในตลาดมีพริกแห้ง หน่อไม้ ผ้าปาเต๊ะพม่า ผ้าพม่า ผ้าพันคอ
            สถานที่ท่องเที่ยว
            เริ่มต้นชมวัดแต่ไม่มีศิลปะอะไร คือ วัดเหมืองอีปู่  ที่อยู่เยื้อง สภ.ต.ปิล๊อก
            ปากทางเข้าตลาดมีอีกวัด ศิลปะพม่าแต่ไม่สมบูรณ์นัก คือ วัดเหมืองปิล๊อกอยู่บนไหล่เขา
            จุดชมวิว  ต้องวิ่งแยกซ้ายไปตามถนนดินอีกประมาณ ๓ กม. รถตู้ รถเก๋งก็น่าจะขึ้นได้ บนยอดเขาตรงจุดนี้คือ ฐานของตำรวจ ตชด. ฐานปฎิบัติการช้างศึก ทาง ตชด.อนุญาตให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปได้ ขึ้นไปแล้วจะมองเห็นทิวทัศน์ทั่วปิล๊อก และมองลงไปยังแดนพม่า ชมวิวด้านพม่าได้อีก อากาศเย็นสบายมาก ใครมีทุกข์อาศัยสุขาของ ตชด.ใจดีได้ ชมวิวแล้วกลับลงมา ไปชมเหมืองแร่ เหมืองแร่ในปิล๊อกนั้นมีมากมาย และหลายประเภท ขององค์การอุตสาหกรรมเหมืองแร่ก็มี เป็นบริษัทก็มี เป็นเอกชนไม่ได้เป็นบริษัทก็มีอีก และยังมีประเภทบุคคลที่ไปรับจ้างองค์การ ฯ หรือลอบลักขุดเอาเองก็มี ทุกเหมือง ทุกประเภทหยุดกิจการไปหมดแล้ว แต่มีเหมืองที่ดัดแปลงบูรณะเอาไว้เป็นขององค์การเดิม ฯ ให้นักท่องเที่ยวลงไปชมได้ หากมองไปตามหน้าผาจะมองเห็นเป็นรูกว้างใหญ่ คือ รูเกิดจากการทำเหมืองประเภทขุดเข้าไป หรือมีเครื่องฉีดน้ำเพื่อทำเหมืองฉีด ทิ้งเอาไว้เครื่องหนึ่งยังกับปืนกล เขาบอกว่าเห็นขนาดนี้ สามารถฉีดน้ำให้รถหงายท้องตกถนนได้เลย เมื่อไปถึงเหมืองลงรถแล้วเดินไปนิดเดียว จะพบทางลงเหมือง จะต้องมีไฟฉายของเราไปด้วยก็ดี ต้องแบ่งกันลงไปทีละ ๖ - ๗ คน  เพราะอุโมงค์ไม่กว้างนัก และเดินลำบาก คนนำทางจะมีเทียนจุด ไฟฉายส่อง เทียนจุดแล้วเขาปักไว้ข้าง ๆ อุโมงค์  เขาบอกว่ามีที่แขวนเทียนแต่มือดี  นักท่องเที่ยวที่เห็นแก่ตัวมักจะนำเอาไปเป็นของที่ระลึก ไฟฉายดวงเดียวนำหน้า ความสว่างจึงมาถึงคนเดินตามหลังน้อยหน่อย แต่ก็มีแสงเทียนสองข้างทาง ที่คนเดินนำไปปักไว้ เข้าไปประมาณสัก ๒๐ เมตร ก็ถึงที่เขาเอาเสาค้ำยันไว้ และยังเห็นสายแร่ที่เหลืออยู่
            ปากทางเข้าหมู่บ้านมีศาลเจ้าบนไหล่เขา เลยไปนิดเดียวมีโรงเรียน เหมืองแร่อีต่องในโครงการสมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา  ไกลเพียงใดโครงการของพระองค์ท่านก็จะตามไปช่วย
            จุดตรวจช่องทางบ้านหินกอง  เป็นจุดตรวจของ ตชด.ผ่านไปได้
            จุดประสานสัมพันธไมตรีไทย - พม่า หรือเนินชักธง ที่มีธงไทยปักไว้ให้รู้ว่าที่นี่คือ ดินแดนไทย และมีธงพม่าปักไว้คู่กันตรงเส้นแดนพม่า จากจุดนี้หากมองลงมาทางฝั่งไทยก็จะมองเห็นตลาดอีต่อง มองเห็นท่อแก๊สที่เริ่มต้นวางเพื่อส่งแก๊สที่ไทยซื้อจากพม่า ที่นำมาจากอันดามันที่อยู่ไกลออกไปอีกประมาณ ๕๐ กม. ท่อส่งแก๊สจากสถานีแห่งนี้ จะส่งยาวไปจนถึงราชบุรี ระยะทางหลายร้อยกิโลเมตร จากนั้นก็คงจะมีสถานีส่งต่อไปที่อื่นอีก และตรงช่องเขานี้มีโต๊ะตั้งขายเหล้าพม่า ขวดสวยน่ากินราคาขวดละร้อยเดียว เลยจุดนี้ไปหน่อยนเดียวจะถึง ช่องเขาขาด มีถนนลาดยางลงไปสู่แดนพม่า แต่ไม่ใช่เส้นทางสัญจรให้รถผ่านไปมาได้  เป็นถนนที่ลงไปสู่ค่ายทหารพม่า และมีเจดีย์ทองสร้างไว้องค์หนึ่ง รถนักท่องเที่ยวลงไปไม่ได้ แต่รถทหารพม่าไทยอนุญาตให้ขึ้นมาซื้อสินค้าที่ตลาดอีต่องได้  ถือว่ามาชมเจดีย์
            ชมตำบลปิล๊อก ได้แค่นี้ ส่วนน้ำตกอื่น ๆ เช่น น้ำตกจ๊อกต่อง ก็ไม่ได้ไป รถไปลำบากและอันตราย เพราะสองข้างทางเป็นเหว จะไปให้ปลอดภัยก็ไปได้แต่ต้องเดินไป
            ใช้เวลาวิ่งจากกรุงเทพ ฯ แวะเที่ยวรายทางจะมาถึง สภ.ต.ตอนบ่าย ๆ
            เมื่อฝากรถแล้ว ก็ขึ้นรถโฟวีลที่มารับ วิ่งลงไปอีก ๕ กม. ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที ผ่านไปตามเส้นทางในป่าที่เป็นทางรถขนแร่เดิม ข้ามลำธาร ๒ แห่ง ตรงลำธารสุดท้ายก่อนจะเข้าตัวรีสอร์ท ทางขวามือจะมีโรงไฟฟ้าจากพลังน้ำ เหมืองทำเขื่อนทดน้ำไว้ข้าง ๆ ที่พักหากเป็นฤดูแล้ง ก็รอให้น้ำเต็มเขื่อนเสียก่อน พอสักสามทุ่มก็ปล่อยน้ำไปตามท่อ น้ำจะไหลแรงพอจนมาหมุนใบจักรไปปั่นไดนาโม ทำไฟฟ้ามาใช้ได้จนถึงเช้า ส่วนตอนที่ยังไม่ปล่อยน้ำมาก็จะมีเครื่องปั่นไฟฟ้าให้ได้ใช้กัน เมื่อข้ามลำธารตรงนี้ ซึ่งพื้นที่จะแข็งรองรับน้ำหนักรถได้ตลอดปี แยกซ้ายไปสัก ๑๐๐ เมตร จะเป็นสำนักสงฆ์มีพระพม่าอยู่องค์เดียวกับศิษย์ ๑ คน พระพม่าองค์นี้ฉันมื้อเดียว แหม่มสร้างสำนักสงฆ์ให้ สาย ๆ สักสามโมงเช้า พระจะออกบิณฑบาตรมาที่รีสอร์ท ที่อยู่ห่างกันสัก ๒๐๐ เมตร มีเด็กเดินนำหน้าตีกังสดาลบอกว่า พระมาแล้ว คนที่ใส่บาตรคือ คนงานของแหม่มที่อยู่กันมาตั้งแต่ทำเหมืองแร่ และไม่ไปไหน มีทั้งชาวทวาย มอญ ไทย และพม่า พูดกันคนละภาษาต้องใช้ภาษากลางคือ ภาษาไทย
            เย็นมื้อแรก คนงานแบกมาจัดเลี้ยงที่ระเบียงบ้านพัก มื้อแรกมี ไข่ลูกเขย ปลาทับทิมทอด แกงป่าหมู ผัดพริกขิงหมูกรอบ ผัดผักรวมแถมปิดท้ายด้วยแกงจืดผักกาดดองมาซดแก้หนาว
            อาหารเช้ามีทั้งฝรั่ง และไทยโต๊ะวางอาหารฝรั่ง มีโถใส่ขนมปังปิ้ง เพื่อรักษาความกรอบเอาไว้ มีแฮม เบค่อน ใส้กรอก ไข่ดาว วางไว้ให้พร้อมลุกไปตักเอามาเอง กี่รอบก็มีวางไว้ให้อย่างเหลือเฟือ จะเรียกว่าอาหารไทยก็ได้คือ ข้าวต้มที่ใส่โถปิดฝาเอาไว้ ร้อนควันโขมงเลยทีเดียว อาหารเช้า ๒ วันเหมือนกัน
            อาหารเย็นวันที่ ๒  มื้อนี้สำคัญ พอใกล้เวลาที่เราบอกไว้ ช่น เราจะกินอาหารเย็นตอนหนึ่งทุ่ม พอใกล้ทุ่ม ๓ สาวมอญ ทวาย พม่า ก็เริ่มมาติดเตาถ่านที่ระเบียงข้าง ๆ ห้องพัก จัดการขนอาหารมาตั้งโต๊ะ มื้อเย็นวันนี้มี ผัดเผ็ดหมู ทอดมัน แกงจืดเต้าหู้หมูสับ และข้าวสวย ที่มีอาหารน้อยเพราะที่สาว ๓ ชาติ มาติดเตานั้นเขาแบกถาดบาบีคิวไก่ และซี่โครงหมูมาถาดโต เฉลี่ยแล้วไม่น้อยกว่าคนละ ๓ ไม้ ไม้โต ๆ หมักมาได้ที่เปื่อย นุ่ม รสอร่อยมาก ความอร่อยบาบีคิวหมูเหนือกว่าบาบีคิวไก่ แต่ก็ถือว่าอร่อยทุกอย่าง มื้อนี้แทบจะไม่ได้สนอาหารกินกับข้าวสวย เพราะเพลินกับการกินบาบีคิว อย่างน้อยคนละ ๒ ไม้ เป็นกับแกล้มชั้นยอด

..........................................................................

| ย้อนกลับ | บน |