| ย้อนกลับ |

อุทัยธานี (๒)

            จังหวัดอุทัยธานี  เป็นจังหวัดที่เงียบสงบ มีแหล่งท่องเที่ยวมากมายหลายแห่ง และเกือบจะไม่มีสถานบันเทิง ของคนกลางคืน ทำให้เมืองสงบในยามค่ำ เส้นทางไปอุทัยธานีไปได้หลายเส้นทาง เช่น จากกรุงเทพ ฯ เข้าสาย ๓๒ ผ่านอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท พอถึง กม.๑๕๕ ก็เลี้ยวซ้ายไปอีก ๑๖ กม. ถึงตัวเมืองอุทัยธานี หรือนึกสนุกก็เอารถข้ามเรือ แล้วไปเที่ยวชม ไปไหว้พระที่วัดท่าซุง หรือวัดจันทาราม ก่อนไปแหล่งท่องเที่ยวอื่น ขอแนะนำว่า พอถึงทางแยกซ้ายเข้าอำเภอมโนรมย์ (แหล่งส้มโอพันธุ์ดีเลิศ) ก็เลี้ยวซ้ายวิ่งไปจนชนแม่น้ำ เอารถลงแพข้ามไปฝั่งอุทัยธานี ขับรถต่อไปอีก ๕ กม. ก็จะถึงวัดท่าซุง เส้นทางที่ ๒ สายเก่าอ้อมดี คือ ผ่านสระบุรี ลพบุรี แล้วเลี้ยวขวาที่วงเวียน ไปผ่านศูนย์การทหารปืนใหญ่ ไปผ่าน อ.โคกสำโรง ตาคลี บรรจบกับถนนสาย ๓๒ เป็นพหลโยธินสายดั้งเดิม ส่วนผมไม่ได้ไปจากกรุงเทพ ฯ  เพราะผมไป อ.ท่าตะโก ก่อน
            แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่ไม่ควรพลาดของอุทัยธานีมี ๘ แห่ง คือ วัดท่าซุง หรือวัดจันทาราม วัดอุโบสถาราม หรือวัดโบสถ์ วัดสังกัสรัตนคีรี ล่องเรือแม่น้ำสะแกกรัง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง (ไปแล้วเข้าไม่ได้ ต้องขออนุญาตไปก่อน) หุบป่าตาด ดินแดนยุคไดโนเสาร์รุ่งเรือง น้ำตกผาร่มเย็น และน้ำตกไซเบอร์
            วัดท่าซุง หรือวัดจันทาราม  หากมาจากกรุงเทพ ฯ ผมขอแนะให้เอารถลงแพข้ามแม่น้ำไปเที่ยววัดท่าซุง เสียก่อน มาอุทัยธานีไม่ได้ไปวัดท่าซุง ก็เหมือนมาไม่ถึงเมืองอุทัย แต่หากเข้าเมืองอุทัยธานีก่อนจะไปวัดท่าซุง ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองอุทัยธานี ประมาณ ๕ กม. ก็ไปตามถนนสาย ๓๓๓ ที่ผ่านโรงพยาบาล (ผ่านร้านขนมปังไส้สังขยา อร่อยไม่มีใครสู้)  แล้วตามป้ายไปหนองขาหย่าง ถึงสามแยกโคกหม้อ ให้เลี้ยวซ้ายไปประมาณ ๒ กม. เลี้ยวซ้ายอีกที วิ่งไปหน่อยเดียวจะผ่าเข้าไปกลางวัด เพราะบริเวณวัดปัจจุบันกว้างขวางมาก วัดดั้งเดิมอยู่ริมแม่น้ำทางซ้ายมือ ได้มีการพัฒนาบ้างเหมือนกัน แต่ไม่ยิ่งใหญ่เท่าทางด้านขวามือ ซึ่งมีทั้งอุโบสถใหม่ พระวิหารแก้ว วิหารทองคำ พระพุทธรูปยืน พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ มีศาลาหลายหลัง สำหรับเป็นสถานที่ฝึกสมาธิ มีห้องพักสร้างใหญ่โต ยังกับโรงแรม ไปคราวนี้วิ่งรถชมเสียเป็นส่วนใหญ่
            ผมไปจากตัวเมืองอุทัยธานี ก็วิ่งผ่านทางเข้าวัดเดิม ซึ่งเป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่ริมแม่น้ำ การเดินทางมาอาจจะเช่าเหมาเรือ ล่องลำน้ำสะแกกรังมาจากอุทัยธานีก็ได้ ล่องเรือลองติดต่อที่แถวตลาดเทศบาล ๑ หรือติดต่อ ๐๕๖ ๕๒๔ ๙๘๕
            วัดท่าซุง พัฒนาเจริญรุ่งเรืองในสมัยที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำ หรือ พระราชมหาวีระถาวโร ศิษย์เอกของหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นเจ้าอาวาส ซึ่งเหมือนกับสร้างวัดใหม่ทางด้านขวาของถนน และพัฒนาวัดดั้งเดิมทางด้านซ้ายไปด้วย อุโบสถใหม่อยู่ทางด้านขวา ภายในประดับตกแต่งอย่างวิจิตร บานประตู และบานหน้าต่าง ด้านในเขียนภาพเทวดา สร้างกำแพงแก้วไว้โดยรอบ เลยอุโบสถเข้ามาจะเป็นทางเข้าไปยังวิหารทองคำ หรือจะเข้าาทางที่ไปวิหารแก้วก็ได้ วิหารแก้วเป็นอาคารยาวประมาณ ๑๐๐ เมตร ด้านหน้ามีรูปหล่อหลวงพ่อปาน และหลวงพ่อใหญ่ ขนาด ๓ เท่า สร้างไว้ ก่อนเข้าไปยังกำแพงแก้ว ก็มีรูปหล่อบูรพกษัตริย์ ๖ รัชกาล ขวาสุดคือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในเครื่องทรงกษัตริย์และยามที่ทรงผนวชเป็นภิกษุ เมื่อผ่านเข้าไปยังวิหารแก้ว ภายในจะสว่างไสว ด้วยแสงสะท้อนของโมเสกยามเมื่อต้องแสงไฟ ทางซ้ายสุดคือ ที่ประดิษฐานสังขารของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ที่ไม่เน่าเปื่อย ส่วนทางด้านขวาสุด ประดิษฐานพระพุทธชินราชจำลององค์ใหญ่มาก
            จากวิหารแก้ว หากวิ่งลอดใต้ระเบียงคต ที่มีพระพุทธรูปประทับนั่งนับร้อยองค์ไป ก็จะมาถึงลานหน้า วิหารทองคำ ซึ่งภายนอกสร้าเรียบร้อยแล้ว ภายในยังตกแต่งอยู่ สวยงามแค่ไหน ลองชมจากภาพถ่ายที่ผมถ่ายมา คงสวยไม่ถึง ๑ ใน ๑๐๐ ของวิหารจริง ส่วยภายในยังไม่มีอะไร  แต่แค่ดูภาพแกะสลักที่บานประตู บานหน้าต่างก็คุ้มที่ได้มาชม และด้านหลังของวิหารทองคำ จะมีทางเข้า - ออก อีกทางไปออกถนนใหญ่ได้ ไปไหว้พระ ไปชมวัดจันทาราม หากยังไม่เคยไปเลย ขอให้ไปอย่างมีเวลาสักครึ่งวัน พอจะทั่วย่านหน้าวัด มีแผงขายอาหารประเภทไก่ทอด ส้มตำ หากมาจากในเมืองก่อนถึงวัด กม.๖ ทางซ้ายมือติดแม่น้ำ วันนี้ไม่ได้แวะชิม เคยชิมกันมาหลายครั้ง ปลาแรดราดพริก อร่อยมาก ต้มโคล้งปลากระทิง หรือต้มโคล้งปลากรอบ แกงคั่วหอยขม ผักกะเฉดผัดหมูกรอบ ขาดไม่ได้คือ ปลาแรดราดพริก
            ผมเล่าวัดท่าซุง ฉบับย่อเท่านั้น เล่าได้ไม่ถึงครึ่ง เพราะมากเหลือเกิน และวันนี้มีเวลาน้อย เพราะจุดมุ่งหมายหลักจะไปยัง หุบป่าตาด ซึ่งเคยไปครั้งหนึ่งเมื่อ ๖ - ๗ ปี มาแล้ว และไปเขาปลาร้าด้วย แต่หุบป่าตาดวันนี้ กับเมื่อ ๖ - ๗ ปีที่แล้ว ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเส้นทางที่ผมบอกว่า ผมหลงทางเพราะป้ายกรมทาง ก็ไปที่หุบป่าตาดนี่แหละ กลับออกมาจากวัดท่าซุง ย้อนมาทางจะเข้าเมือง พอถึงสามแยกโคกหม้อ ก็เลี้ยวซ้าย (เลี้ยวขวากลับเข้าเมือง) เข้าถนน ๓๓๓ ไปผ่าน อ.หนองขาหย่าง (มีวัดอายุกว่าร้อยปีคือ วัดหนองพลวง มีโบสถ์ท้องสำเภา) มาถึงสามแยกหนองฉาง ก็หักเลี้ยวซ้ายแต่คงเป็นถนน ๓๓๓ (หนองฉาง คือ ที่ตั้งเมืองอุไทยธานีเก่า สมัยกรุงศรีอยุธยา ยังมีวัดหัวเมือง, วัดแจ้ง, ส่วนวัดหนองขุนชาติ วัดสมัยกรุงรัตนโกสินทร์)  ไปอีกประมาณ ๓ กม. ให้เลี้ยวขวาจากถนน ๓๓๓ เข้าถนนสาย ๓๔๓๘ มุ่งหน้าไปลานสัก สองข้างทางปลูกต้นสัก คงอายกว่าสามสิบปีแล้ว ทีนี้เล่าเรื่องทางเพราะป้าย ให้ทราบไว้ผมไปฝังใจจากการมาครั้งแรกว่า ถนนไปหุบป่าตาด และเขาปลาร้า ต้องไปตามถนนลูกรัง ผ่านเข้าไปในป่า จนถึงอุทยานหุบป่าตาดแล้ว หากวิ่งต่อไปอีก ๑ กม. จะถึงเขาปลาร้า หากจะไปชมภาพวาดยุคก่อนประวัติศาสตร์ อายุกว่า ๓,๐๐๐ ปี ต้องปีนเขาขึ้นไปประมาณ ๘๐๐ เมตร ไปเที่ยวนี้ผมไม่คิดจะปีนขึ้นไปชมภาพอีก (เพราะอายุใกล้ร้อยปีเต็มทีแล้ว)  แต่ตั้งใจจะลงไปชมหุบป่าตาดให้ได้ เตรียมร่างกายมาพร้อม มาคราวก่อนลงไปไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องมือสำคัญคือ ไฟฉาย มาด้วย ไม่มีไฟฉายมาหมดสิทธิ์เข้าหุบป่าตาด

            วิ่งมาตามถนน ๓๔๓๘ จนถึงหลัก กม.๑๙.๕๐ มีป้ายบอกว่า "เขาปลาร้า" ผมก็เลี้ยวซ้ายตามป้ายแล้วทีนี้หาป้ายไม่ได้อีก เลยวิ่งตามถนนลูกรังประมาณ ๖ กม. ไปตัดกับถนนใหญ่แต่ไม่มีป้ายที่จุดตัดว่า ทางไหนไปไหน ก็เลยตัดสินใจวิ่งตรงต่อไป เอาเขาเป็นที่หมาย เลยไปอีกหลาย กม. พบบ้านชาวไร่ เลยลองถามดู เขาก็บอกทางไม่ค่อยเข้าใจ สรุปว่าให้กลับรถไปแล้ว เลี้ยวที่ถนนใหญ่ที่ผ่านมา กลับไปถึงถนนใหญ่ เสี่ยงเลี้ยวซ้ายหาภูเขา วิ่งไปจนสุดทางพบสามแยก ถามอีก ทีนี้ได้กรุณาบอกทางว่า เข้ามาผิดทาง ให้วิ่งไปทางขวาแล้วสังเกตป้ายดู วิ่งไปสักพักพบป้ายวัดถ้ำทอง อยู่ทางขวา ส่วนที่พื้นดินใต้ป้ายชื่อวัด มีป้ายเขียนวางไว้ที่พื้นดินว่า "ถ้ำเขาปลาร้า" เลี้ยวขวา
            วิ่งต่อไปอีกประมาณ ๕๐๐ เมตร ก็ถึงที่ทำการวนอุทยาน ซึ่งมีเจ้าหน้าที่จากเขตห้ามล่าสัตว์ป่า หมุนเวียนกันมาบริการอย่างดีเลิศ และมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมคนละ ๒๐ บ. เส้นทางที่ตรงมาวนอุทยานแห่งนี้คือ "อย่าไปเลี้ยวจากถนน ๓๔๓๘ ตรง กม.๑๙.๕๐ ให้วิ่งตรงต่อไป แล้วเลี้ยวซ้ายที่ กม. ๒๑.๕๐ มีป้ายเขาปลาร้า ป้ายวัดถ้ำทอง" เลี้ยวไปตามถนนลาดยางเพียง ๓.๕ กม. จะมีทางแยก มีป้ายวัดถ้ำทอง เลี้ยวซ้ายไปอีก ๕๐๐ เมตร ก็ถึงแล้ว ไม่ต้องวิ่งหลงทางไปร่วม ๒๐ กม. อย่างที่ผมไป กรุณาเอาป้ายที่ กม.๑๙.๕ ออกด้วย
            วนอุทยานบริการไฟฉายแบบหิ้วได้ ดวงโต ไม่คิดค่าเช่า แต่กลับลงมาผมขอมอบช่วยค่าชารต์ไฟ ๑๐๐ บาท แก่เจ้าหน้าที่ ตรงด่านเก็บค่าธรรมเนียม และทุกท่านควรได้บำรุงค่าไฟฉายให้ด้วย เพราะหากไม่เตรียมไฟฉายไป บอกแล้วว่าหมดสิทธิ์
            จากด่าน เดินขึ้นเขา เดินไปอีกสัก ๒๐ เมตร ก็ขึ้นบันไดที่มีราวให้จับ ไม่สูงนัก ไม่เกิน ๕๐ ขั้น ก็ถึงปากถ้ำ พอเดินเข้าถ้ำไปสัก ๒๐ เมตร จะ "มืดสนิท" ให้ฉายไฟสูงเสมอบั้นเอวเข้าไว้ อย่าฉายต่ำลงดิน เดินตรงอย่าเลี้ยวไหน ไปหลายคนจูงมือกันไว้ มีไฟฉายของเราไปด้วยแหละดี เพราะวนอุทยานบริการได้กลุ่มละดวง หากเป็นวันหยุด นักท่องเที่ยวก็จะมากกลุ่ม กลุ่มผมมี ๒ คน จูงมือกันสบาย เดินไปในความมืด คงประมาณสัก ๕๐ เมตร ก็พ้นปากถ้ำ มีป้ายเล็ก ๆ อธิบายไว้ว่า เป็นป่าดึกดำบรรพ์ สมัยไดโนเสาร์รุ่งเรือง หุบนี้เคยเป็นถ้ำมาก่อน ต่อมาหลังคาถ้ำพังลง เกิดเป็นหุบ ๒ ห้อง ห้องในมีหินงอก หินย้อย แสงอาทิตย์จะส่องเข้ามาในพื้นดินที่เคยมีหลังคาถ้ำคลุมได้ ในเวลาใกล้เที่ยง ไปจนถึงเวลาสี่โมงเย็น นอกเวลานี้จะมืดเพราะเป็นปล่อง ผู้ค้นพบคือ หลวงพ่อทองหยด เจ้าอาวาสวัดถ้ำทอง ปีนลงมาจากปากปล่อง เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒ จึงพบว่าภายในหุบมีต้นตาด ซึ่งเป็นไม้ดึกดำบรรพ์หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว มีเต็มไปหมด ท่านจึงเจาะถ้ำเพื่อเป็นทางเข้าในปี ๒๕๒๗ นอกจากต้นตาดแล้ว ยังพบไม้หายากอื่นๆ อีก เช่น เต่าร้าง เปล้า คัดเค้าเล็ก พืชสมุนไพรต่าง ๆ เรียกว่า ยาแผนโบราณ มาชุมนุมกันอยุ่ในหุบป่าตาดนี้ เต็มไปหมด เมื่อเดินพ้นถ้ำแล้ว ทีนี้ลงหุบ ลงบันไดไปหลายสิบขั้น (ตอนขึ้นผู้เฒ่าแย่หน่อย)  จึงจะถึงพืนหุบ วนอุทยานทำทางเดิน และมีลูกศรชี้เอาไว้ให้ อย่าเดินสวนทาง เดินไปตามลูกศรชี้เอาไว้ จะได้ชมทั่วทั้งหุบ มีก้อนหินที่มีป้ายบอว่า สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ เสด็จมาและประทับพักตรงนี้ เจ้าหน้าที่บอกว่า เสด็จมา ๒ ครั้ง แล้ว เพราะทรงโปรดหุบป่าตาดมาก มีหินงอก หินย้อย พ้นออกไปจากที่เคยเป็นหลังคาถ้ำ ก็มีแสงสว่างจ้ากว่าข้างใน ผมถ่ายภาพมายังไม่ทราบว่า จะสวยแค่ไหน ขอให้ไปอย่างมีเวลาเช่นกัน เดินชมธรรมชาติในยุคไดโนเสาร์รุ่งเรืองให้อิ่มตา อิ่มใจแล้วค่อยกลับขึ้นมา ก็ต้องขอขอบคุณหัวหน้าวนอุทยาน ที่ไม่ทราบว่าผมเป็นใคร แต่ให้ความรู้ การบริการอย่างดี รวมทั้งด่านค่าธรรมเนียม ไม่เก็บเงินเพราะเป็นคู่ชราอายุเกิน ๖๐ ปี
            กลับออกไปยังถนน ๓๔๓๘ แล้วเลี้ยวซ้ายไปอีก ๖ กม. ถึงตัวอำเภอลานสัก วิ่งต่อไปอีกประมาณ ๓ กม. ถึงโรงพยาบาล ตัดเข้าถนนหน้าโรงพยาบาล ไปอีก ๕๐๐ เมตร ถึงร้านอาหารที่เคยชิมกันมา ร้านนี้จะมีอาหารสมุนไพรมาก ผัดสมุนไพร ไม่มีเนื้อสัตว์ เคี้ยวสนุก มันด้วยเม็ดมะม่วงหิมพานต์
            ผัดฉ่าปลาแม่น้ำ ผัดมากับเม็งมะพร้าว กระชาย พริกชี้ฟ้า โหระพา กินกับข้าวสวยร้อน ๆ อร่อยนัก ตามด้วยไก่ทอด ยอดหญ้า อย่าข้ามไป ไก่ทอดกรอบ โรยน้ำสลัด
            ยำตะไคร้ เคี้ยวสนุก คอสุราชอบกันนัก ถั่วลิสง กุ้งแห้งทอด ตะไคร้หั่นฝอย
            ยังมีอีก ที่เคยชิมวันนี้ไม่ได้สั่งคือ ไข่อบวุ้นเส้น เหมือนไข่ตุ๋น ปั๊งหงาย ที่ราชบุรี ไข่เจียวขี้เมา มีไส้แบบผัดขี้เมา ปิดท้ายด้วย ไอสคริม ช๊อคชิพ

..................................................



| ย้อนกลับ | บน |