| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

อุทัยธานี (๑)

            ผมพาท่านไปไหว้พระชมพระที่ป่าวัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในพระองค์สมเด็จพระพี่นางเจ้าฟ้ากัลยาณีวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ .ซึ่งต้องวิ่งไปจากกรุงเทพ ฯ ประมาณ ๒๔๐ กม.ไปยังวสัด ฯ ซึ่งอยู่ที่ อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ จบแล้วกลับมาทางตัวอำเภอท่าตะโก พอบรรจบกับถนนสาย ๓๐๐๔ ก็เลี้ยวซ้ายไปยัง จ.นครสวรรค์ ระยะทาง ๔๗ กม.พอวิ่งมาถึง กม.๙.๕๐ ก็จะมีป้ายบอกให้เลี้ยวขวาไปยังอุทยานนกน้ำไปอีก ๔ กม.จะถึงลานจอดรถ ใครอยากออกกำลังด้วยการขี่จักรยานเข้าไปยังบึงบระเพ็ด ก็เช่ารถจักรยานได้ ชั่วโมงละ ๑๐ บาท ส่วนผมกลัวจักรยานเพราะไม่ได้ขี่มาหลายสิบปีแล้ว เลยเดินไประยะทางประมาณ ๒๙๐ เมตร จะถึงริมบึง ซึ่งจะมีอนุสาวรีย์นกสิรินธร ที่มีอนุสาวรีย์นกสิรินธรเพราะสูญพันธ์ไปแล้ว เป็นนกประเภทนกนางแอ่น พบแห่งเดียวในโลก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑ และพบครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ จากอนุสาวรีย์มีทางเดินเรียบบึงบอระเพ็ด มีเส้นทางเดินดูนก เดินไป ๑,๓๘๙๐ เมตร จะถึงหอดูนก มีลานสวนบัว ซึ่งน้ำตื้น พงหญ้าขึ้นจะคลุมกอบัวหมดแล้ว เคยไปดูเมื่อหลายปีมาแล้ว บัวออกดอกสวยเต็มทุ่ง แต่ปีนี้กอบัวกอหญ้าปนกันอยู่
            ถนนสาย ๓๐๐๔ จะมาบรรจบกับถนนพหลโยธิน หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑ ที่หน้าค่ายจิรประวัติ หากเลี้ยวขวาจะข้ามสะพานเดชาติวงศ์ เข้าตัวเมืองนครสวรรค์ แต่ผมไม่ได้พักค้างคืนที่นครสวรรค์ จึงเลี้ยวซ้ายมุ่งหน้าไปอุทัยธานี ผ่านร้านอาหารอร่อยประมาณ กม.๒๒๗ วิ่งต่อไปจนถึงหลัก กม.๑๕๕ ก็เลี้ยวซ้ายเพื่อจะข้ามสะพานกลับมาทางขวา วิ่งไปอีกประมาณ ๑๖ กม.ก็จะมองเห็นซุ่มประตูเมืองสร้างคล่อมถนนอยู่ทางซ้ายมือ หากเลี้ยวซ้ายตรงไปจะไปชนหอนาฬิกา ที่ผมจะใช้เป็นจุดอ้าง ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในตัวเมืองอุทัย แต่หากไม่เลี้ยวซ้ายตรงไปจนชนสามแยก เลี้ยวซ้ายก็จะเข้าถนน ๓๓๓ ซึ่งถนนสายนี้จะไปยังชัยนาท ไปอำเภอต่าง ๆ ที่จะเที่ยวกัน รวมทั้งเมื่อเลี้ยวซ้ายไปสัก ๕๐๐ เมตร ทางซ้ายมือจะมีร้านขายของฝากสำคัญ และมีขนมปังสังขยาอร่อยที่สุด จนนำชื่อเสียงมาสู่อุทัยธานี ซึ่งขายขนมปังสังขยา (ควรซื้อตอนเช้า สาย ๆ หมดแล้ว)  ข้าวเกรียบปลากราย หนังปลากราย ข้าวกุ้งกรอบ ข้าวตัวหมูหยอง/หน้างา/หน้ากุ้ง และหน่อไม้รวกเขาสะแกกรัง ฝั่งตรงกันข้ามคือ ร้านขายมีด ทำมีด มีดของอุทัยธานีมีชื่อเสียงมาก แต่ก็แพงมากเช่นกัน ไปถามราคามีดปลอกผลไม้บอกว่าสามพันกว่าบาท เลยต้องถอยเพราะตั้งใจจะซื้อมีดเดินป่า กรรไกรตัดต้นไม้ยังเล่มละ ๔๕๐ บาท สวยดี แต่แพง
            ผมเลี้ยวซ้ายเข้าเมือง ตรงซุ้มประตูพอเข้ามาก็จะเห็นท่ารถขนส่ง และใกล้กันคือโรงแรมที่จะพัก ราคาไม่แพงคืนละ ๘๕๐ บาท รวมอาหารเช้าเคยมาพัก อีกโรงแรมหนึ่งอยู่ก่อนถึงโรงแรมนี้หลาย กม. ราคาคืนละ ๒,๘๐๐ บาท โรงแรมสวยมากสร้างยังกับปราสาทขอม แต่ราคาสูงไปหน่อยสำหรับนักท่องเที่ยวอย่างผม ส่วนมากที่มาอุทัยธานี มักจะพักที่ห้วยขาแข้งที่เป็นโรงแรมเรียกได้ว่ากลางเมืองเลยทีเดียว

 
และขุดทะเลสาบขังน้ำไว้ใกล้เมือง เป็นผู้ปกครองเมืองอู่ไทยเก่าเป็นคนแรก ชื่อเมืองจึงเรียกเพี้ยนไปตามสำเนียงชาวกะเหรี่ยงว่า เมืองอุไทย จนมาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีผู้คนอพยพมาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรังมากขึ้น จนกลายเป็นที่ตั้งของตัวเมืองอุทัยธานีในปัจจุบัน
            อุทัยธานี ถือว่าเป็นเมืองที่อยู่ในภาคเหนือตอนล่าง แบ่งการปกครองออกเป็น ๘ อำเภอ ได้แก่อำเภอเมืองอุทัยธานี ทัพทัน บ้านไร่ ลานสัก สว่างอารมณ์ หนองขาหย่าง หนองฉาง และอำเภอห่วยคต แหล่งท่องเที่ยวสำคัญในตัวเมืองอุทัยธานี
               วัดสังกัสรัตนคีรี  หากมาจากถนนพหลโยธินวิ่งมาจนสุดทางที่สามแยก เลี้ยวซ้ายจะมายังทางเข้าวัดสังกัสรัตนคีรี แต่หากจะขึ้นไปยังมณฑปพระพุทธบาทบนยอดเขา ต้องเลี้ยวขวาพ้นสนามกีฬาไป แล้วจะมีถนนแยกซ้ายขึ้นสู่ยอดเขาได้ ควรไปทางซ้ายก่อนเพื่อไปไหว้พระในวิหาร พระพุทธมงคลศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งวิหารอยู่ลานหน้าวัด ตรงข้ามกับบันไดเดินขึ้นสู่ยอดเขา ตัววัดอยู่เชิงเขาสะแกกรัง พระพุทธรูปองค์นี้คู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานี ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ (วันออกพรรษา) ของทุกปี จะมีพิธีตักบาตรเทโว น่าจะมีพิธีที่สมบูรณ์เพียงแห่งเดียว ที่พระเดินลงมาจากเขาเพื่อรับบาตร และมีพระมาร่วมพิธี แต่ละปีมากมายหลายร้อยองค์ หากขึ้นไปยังยอดเขามีลานจอดรถ ไปทางขวาจะมีพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกนาถแห่งรัชกาลที่ ๑ ซึ่งมีพระนามเดิมว่า ทองดี ในสมัยรัตนโกสินทร์ สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี (พระนามเดิมทองด้วง) ได้สถาปนาพระอัฐิพระบิดา เป็นสมเด็จพระชนกาธิบดี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๘ ส่วนทางซ้ายของเขาสะแกกรังคือ ทางที่จะเดินลงมาจากเขาทางบันได มีมณฑปประดิษฐานรอยพระพุทธบาท หน้ามณฑปมีระฆังใหญ่อายุกว่าร้อยปี และบอกว่าใครขึ้นมาแล้วไม่ตีระฆังใบนี้ก็เหมือนไม่ได้ขึ้นมาบนยอดเขาสะแกกรัง และริมเขาด้านระฆัง  จะมองเห็นวิวอุทัยธานีที่สวยงามยิ่ง
               วัดอุโบสถารามหรือวัดโบสถ์  เดิมชื้อวัดมโนรมย์ ชาวบ้านเรียกว่าวัดโบสถ์ตั้งอยู่ริมแม่น้ำสะแกกรัง ยืนหน้าวัดหันหน้าออกแม่น้ำฝั่งตรงข้ามคือ ตลาดสด บ้านเรือนโบราณ เรือนแพ กระชังเลี้ยงปลา ภายในวัดมีโบราณสถาน โบราณวัตถุ มีจิตรกรรมฝาผนังที่หน้าโบสถ์ และภายในโบสถ์ บาตรฝาประดับมุกที่ได้รับพระราชทานจาก ร.๕ และริมแม่น้ำมีอาคารมณฑปแปดเหลี่ยม ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ที่ผสมผสานระหว่างศิลปะไทย กับศิลปะตะวันตก มีหอประชุมอุทัยพุทธสภาทรงศาลาไทย การเดินทางไปวัด ผมต้องบอกทางเริ่มต้นที่หอนาฬิกาเป็นจุดอ้างของผม ชาวเมืองอย่าหัวร่อเยาะ มาตามถนนชนหอนาฬิกาเลี้ยวซ้าย ถนนจะพาคดเคี้ยวไปไม่ไกล จะถึงวงเวียนที่ ๑ เรียกว่าวงเวียนช้าง ตรงผ่านวงเวียนไปจะถึงวงเวียนที่ ๒ เรียกว่า วงเวียนน้ำพุ แต่มีตัวปลาอยู่ ตรงต่อไปแล้วเลี้ยวขวาจะถึงวงเวียนงาช้างไม่มีแล้ว กลายเป็นเสาตั้งโด่เป็นหอกระจายเสียง แต่ชาวเมืองยังเรียกว่า วงเวียนงาช้าง ตรงวงเวียนนี้หากเลี้ยวซ้ายจะมายังสะพานคนเดิน และสะพานมอเตอร์ไซด์ข้ามแม่น้ำสะแกกรัง ไปยังฝั่งวัดโบสถ์ ซึ่งตัววัดตั้งงอยู่บนเกาะเทโพ เกาะที่เกิดจากแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำสะแกกรัง ๒ แม่น้ำนี้จะไหลรอบเกาะมาบรรจบกันทางทิศใต้ของเกาะ รถยนต์ก็ข้ามไปฝั่งเกาะได้ โดยต้องวิ่งผ่านวงเวียนงาช้างไปก่อนจะพบสะพาน สงสัยถามชาวบ้านดู เกาะเทโพ ขี่จักรยานเที่ยวจึงเหมาะ มีป่าไผ่ ไร่ข้าวโพด และทุ่งนา สวนส้มโอ พันธ์มโนรมย์ และขาวแตงกวา เช่าจักรยานโทร ๐๕๖ ๕๑๑ ๙๙๑  การท่องเที่ยวที่นำความเย็นมาสู่กาย สุขใจ สุขตา คือการล่องเรือชมแม่น้ำสะแกกรัง ติดต่อแถว ๆ ตลาดเทศบาล ๑ หรือลองโทร ๐๕๖ ๕๒๔ ๙๘๕  จะได้ชมทิวทัศน์สองฟากน้ำสะแกกรัง ชีวิตในเรือนแพที่หาชมได้ยากเข้าทุกทีแล้ว
                เมื่อวิ่งมาชนวงเวียนงาช้าง หรือหอประชาสัมพันธ์หากเลี้ยวขวามาสัก ๒๐ เมตรทางขวามือคือ ร้านอาหารที่จะมาชิมคืนนี้ ฝั่งตรงข้ามคือร้านมีขนมปังสังขยาออ มาขายที่นี่ด้วย และยังมีร้านข้าวมันไก่ ร้านขนมอร่อยมากคือ ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ไส้ไข่เค็มเชลล์ชวนชิม
                หากตรงไปคือสี่แยกไฟสัญญาณ เลี้ยวขวาตรงไปงจะเข้าประตูวัดทางด้านข้าง (ประตูด้านหน้าของวัดอยู่หน้าหอนาฬิกา) ของวัดมณีสถิตปิฎฐาราม วัดติดสวนสุขภาพ มีพระปรางค์ใหญ่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เป็นปรางค์ห้ายอดและเป็นพระอารามหลวง มีสระน้ำมนต์ขนาดใหญ่ กลางสระมีแผ่นศิลาอักขระยันต์หลวงพ่อแย้ม ซึ่งเป็นผู้สร้างวัดน้ำในสระ เคยนำไปใช้เป็นน้ำสรงพุทธาภิเษก ร.๖ และ ร.๗
               วัดธรรมโฆษก หรือวัดโค  ใกล้ตลาดเทศบาล มีภาพจิตรกรรมฝาผนังในอุโบสถ
                ร้านอาหารใกล้วงเวียนงาช้าง ผมไปชิม ๒ คืนติดต่อกันและเคยชิมมาก่อนแล้ว อาหารดีมาก รวดเร็ว ราคาถูก เปิดเฉพาะตอนเย็น ไปยันดึก ประเภทร้านข้าวต้ม อาหารสำเร็จรูป ในตู้มีน้อยเช่นขาดไม่ได้คือจับฉ่าย แต่ไม่ได้ชิม ในร้านมีแต่สาว ๆ ทั้งนั้น ทำอาหารเร็ว เพราะมีคนเตรียมอาหาร คนหน้าเตา ฯ
                ปลาลวก ใช้ปลาช่อน เนื้อขาว น้ำจิ้มจะยกมา ๓ ถ้วย ไม่ว่าจะสั่งอะไร เนื้อปลาสด หรือจะสั่งปลารวกรวมมิตรลวกก็ได้ จะมีมาทั้งปลา กุ้ง หมึก ปลาแรด ทำอาหารได้ ๑๐ อย่างคือ แกงงป่า สามรส ต้มยำ ราดพริกแกง ผัดเม็ดมะม่วง ขี้เมา ทอดกระเทียม ผัดพริกเผา แรดลวก ราดพริกสด มาอุทัยนี้ต้องมากินปลาแรด เพราะเป็นแหล่งเลี้ยงปลาแรดในกระชัง สั่งปลาแรดราดพริกแกง ไม่เหมือนปลาราดพริกที่เมืองไหน เราะใช่น้ำพริกแกงผัดราดลงบนตัวปลาที่แกะเอาแต่เนื้อ แล้วทอดกรอบมา เนื้อปลาจึงคลุกเคล้ากับรสน้ำพริกแกง งานนี้ต้องกินข้าวสวย ผมถึงไปชิม ๒ วัน ข้าต้มวันหนึ่ง ข้าวสวยวันหนึ่ง ปลาแรด "ต้อมยำแห้ง" รสคือรสต้มยำ
                แต่คนละสูตรกับสงขลา น้ำขลุกขลิก
                ปลาแรดผัดคึ่นใช่ สั่งปลาจะแล่เอาแต่เนี้อปลามาให้ ไม่ได้ทอดมาทั้งตัว กินสะดวก ๒ วัน สั่งเสีย ๓ แรด ราดพริก ต้มยำแห้ง และผัดคึ่นใช่
                ผัดหมูกรอบ วันแรกสั่งผักบุ้งผัดหมูกรอบ ๆ จริง ๆ มีรสในตัว เอาจิ้มซีอิ้วขาวเพิ่มรสเสียหน่อยก่อนซดข้าวต้มร้อน ๆ วันต่อมาสั่ง ตะเกียงกล่ำผัดหมูกรอบ ผักสดกรอบ
                ราคาอาหารร้านนี้ราคาถูก อร่อย ขี้เกียจสั่ง กินข้าวต้มเครื่องชามละ ๒๐ บาท เท่านั้น

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |