| หน้าต่อไป |

สมเด็จพระสังฆราชของไทย

 loading picture

    สมเด็จพระสังฆราช เป็นตำแหน่งที่มีมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย ดังมีหลักฐานจากศิลาจารึก ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้จารึกคำว่าสังฆราชไว้ด้วย
    สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก เป็นตำแหน่งสมณศักดิ์สูงสุดฝ่ายพุทธจักรของคณะสงฆ์ไทย ทรงเป็นประธานการปกครองคณะสงฆ์ ตำแหน่งนี้น่าจะมีที่มาจากคณะสงฆ์ไทย นำแบบอย่างมาจาก ลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงอัญเชิญพระเถระผู้ใหญ่ของลังกา ที่เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก เข้ามาเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่าย เถรวาทในประเทศไทย
    ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ได้เพิ่มตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชเป็น สกลมหาสังฆปรินายก มีอำนาจว่ากล่าวออกไปถึงหัวเมือง โดยมีพระสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ เจ้าคณะใหญ่ฝ่าย คามวาสี เป็นสังฆราชขวา สมเด็จพระวันรัตเจ้าคณะฝ่ายอรัญวาสี เป็นสังฆราชซ้าย องค์ใดมีพรรษายุกาลมากกว่า ก็ได้เป็นพระสังฆราช ในปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา พระอริยมุนี ได้ไปสืบอายุพระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป มีความชอบมาก เมื่อกลับมาได้รับสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับจนเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระเจ้าเอกทัศน์มีพระราชดำริให้คงราชทินนามนี้ไว้ จึงทรงตั้งราชทินนามสมเด็จพระสังฆราชเป็น สมเด็จพระอริยวงศาสังฆราชาธิบดี และมาเป็น สมเด็จพระอริยวงศาญาณ ในสมัยกรุงธนบุรี และได้ใช้ต่อมาจนถึง รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ  จึงได้ทรงปรับปรุงเพิ่มเติมเป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ซึ่งได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
    ตามทำเนียบสมณศักดิ์ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ที่มีตำแหน่งสังฆปรินายก 2 องค์ ที่เรียกว่า พระสังฆราชซ้าย ขวา ดังกล่าวแล้ว ยังมีคำอธิบายอีกประการหนึ่งว่า สมเด็จพระอริยวงศ์ เป็นพระสังฆราชฝ่ายขวาว่า คณะเหนือ พระพนรัตน์เป็นพระสังฆราชฝ่ายซ้ายว่า คณะใต้  มีสุพรรณบัตรจารึกพระนามเมื่อทรงตั้งทั้ง 2 องค์ แต่ที่สมเด็จพระพนรัตน์ โดยปกติไม่ได้เป็นสมเด็จ ส่วนพระสังฆราชฝ่ายขวานั้นเป็นสมเด็จทุกองค์ จึงเรียกว่าสมเด็จพระสังฆราช จึงเป็นมหาสังฆปรินายก มีศักดิ์สูงกว่าพระสังฆราชฝ่ายซ้าย ที่พระพนรัตน์แต่เดิม ทรงยกเกียรติยศเป็นสมเด็จแต่บางองค์ มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงเป็นสมเด็จทุกองค์
    เมื่อครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี วิธีการปกครองพระราชอาณาจักรในครั้งนั้น หัวเมืองใหญ่ที่ห่างไกลจากราชธานี เป็นเมืองประเทศราชโดยมาก แม้เมืองใหญ่ที่อยู่ใกล้ราชธานี ก็ตั้งเจ้านายในราชวงศ์ออกไปครอง ทำนองเจ้าประเทศราช  เมืองใหญ่แต่ละเมือง จึงน่าจะมีสังฆราชองค์หนึ่ง เป็นสังฆปรินายกของสังฆบริษัทในเมืองนั้น ดังปรากฎเค้าเงื่อนในทำเนียบชั้นหลัง ยังเรียกเจ้าคณะเมืองว่าพระสังฆราชอยู่หลายเมือง จนมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงได้ทรงเปลี่ยนมาเป็นสังฆปาโมกข์
    พระสงฆ์ฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสีนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล  คือฝ่ายที่พำนักอยู่ใกล้เมืองเพื่อศึกษาพระธรรมวินัย เรียกว่า คามวาสี อีกฝ่ายหนึ่งบำเพ็ญสมณธรรมในที่สงบเงียบตามป่าเขา ห่างไกลจากบ้านเมืองเรียกว่า อรัญวาสี ภิกษุ แต่ละฝ่ายยังแบ่งออกเป็นคณะ แต่ละคณะจะมีพระราชาคณะปกครอง หัวหน้าพระราชาคณะเรียกว่า สมเด็จพระราชาคณะ
    แบบแผนการปกครองคณะสงฆ์ของไทย เริ่มจัดวางหลักตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย มีการพัฒนาเพิ่มเติมใน  สมัยกรุงศรีอยุธยาและต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงบ้างเล็กน้อยมาตามลำดับ จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า ฯ การปกครองคณะสงฆ์ก็ยังจัดโดยมีตำแหน่งเปรียบเทียบดังนี้
    สกลสังฆปรินายก        ได้แก่สมเด็จพระสังฆราช
    มหาสังฆนายก            ได้แก่เจ้าคณะใหญ่
    สังฆนายก                 ได้แก่เจ้าคณะรอง
    มหาสังฆปาโมกข์ ได้แก่เจ้าคณะมณฑล
    สังฆปาโมกข์              ได้แก่เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระราชาคณะ
    สังฆวาห                   ได้แก่เจ้าคณะจังหวัดที่เป็นพระครู
    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้า ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามพระบรม  ราชวงค์ผู้ดำรงสมณศักดิ์ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชขึ้นใหม่ว่า   สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ทรงเศวตฉัตร 5 ชั้น พระราชวงค์ชั้นรองลงมา เท่าที่ปรากฎ มีชั้นหม่อมเจ้าผู้ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช มีคำนำหน้า  พระนามว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงฉัตร 5 ชั้น 
    ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พุทธศักราช 2505 ได้บัญญัติถึงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ว่า ในกรณีตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการประกาศนาม สมเด็จพระราชาคณะ ที่มีอาวุโสสูงสุดโดยพรรษา เพื่อปฎิบัติหน้าที่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช จากนั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นำพระนามสมเด็จพระราชาคณะ 4 รูป คือ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ สมเด็จพระวันรัต สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ และ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เสนอนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แล้วนำกราบถวายบังคมทูล ให้พระมหากษัตริย์ทรงวินิจฉัย และจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ สถาปนาสมเด็จพระราชาคณะรูปใดรูปหนึ่ง ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชต่อไป


    สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
    สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดระฆังโฆษิตาราม ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2325   สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2337 ดำรงตำแหน่ง อยู่ 12 พรรษา น่าจะมีพระชนมายุไม่น้อยกว่า 80 พรรษา
    พระประวัติในตอนต้นไม่ปรากฏรายละเอียด พบแต่เพียงว่า เดิมเป็นพระอาจารย์ศรีอยู่ วัดพนัญเชิง เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 ได้หนีภัยสงครามไปอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ เสด็จไปตีเมืองนครศรีธรรมราช ได้อาราธนาพระองค์ให้มาอยู่ที่วัดบางว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) และทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงธนบุรี 
    ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2324 ได้ถูกถอดจากตำแหน่ง เนื่องจากถวายวิสัชนาเรื่อง พระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล  เนื่องจากคฤหัสถ์เป็นหินเพศต่ำ พระสงฆ์เป็นอุดมเพศที่สูง  ทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจาตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ วิสัชนานี้ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ฯ จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระสังฆราช ลงเป็นพระอนุจร
    เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ขึ้นครองราชย์ ณ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2325 ได้โปรดเกล้า ฯ ให้คงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเดิม และไปครองพระอารามตามเดิมด้วย ทรงเห็นว่าเป็นผู้มีความสัตย์ซื่อมั่นคง ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต ควรแก่นับถือเคารพสักการะบูชา
    พระองค์ทรงเป็นกำลังสำคัญในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของภิกษุสามเณร การบูรณะปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎก ตลอดจนการประพฤติปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป
    งานสังคายนาพระไตรปิฎกในครั้งนี้ นับเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 2 ของราชอาณาจักรไทย กระทำเมื่อปี พ.ศ.2331 โดยนำพระไตรปิฎก ที่รวบรวมบรรดาพระไตรปิฎกฉบับที่เป็นอักษรลาว  อักษรรามัญ  ตรวจชำระแล้วแปลงเป็นอักษรขอม จารึกลงลานประดิษฐานไว้ ณ หอพระมณเทียรธรรม และสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ ไว้ศึกษาทุกพระอารามหลวง เมื่อตอนต้นรัชกาล มาตรวจชำระ โดยอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะให้ดำเนินการ สมเด็จพระสังฆราชได้เลือกพระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกได้พระสงฆ์ 218 รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ 32 คน ทำการสังคายนาที่ วัดนิพพานาราม  แบ่งพระสงฆ์ออกเป็น 4 กอง ดังนี้
    สมเด็จพระสังฆราช  เป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก
    พระวันรัต  เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก
    พระพิมลธรรม  เป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส
    พระธรรมไตรโลก  เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก
    การชำระพระไตรปิฎกครั้งนี้ใช้เวลา 5 เดือน ได้จารึกพระไตรปิฎกลงลานใหญ่ แล้วปิดทองทึบ ทั้งปกหน้าปกหลัง และกรอบ เรียกว่า ฉบับทอง  ทำการสมโภช แล้วอัญเชิญเข้าประดิษฐานในตู้ประดับมุก ตั้งไว้ในหอพระมณเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม


    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เมื่อปี พ.ศ. 2337 ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 23 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2359 สันนิษฐานว่า มีพระชนมายุเกิน 80 ปี
    พระประวัติในตอนต้นไม่ปรากฏหลักฐาน พระประวัติเมื่อครั้งกรุงธนบุรี ทรงเป็นพระราชาคณะที่พระญาณสมโพธ อยู่วัดมหาธาตุ ฯ ถึงปี พ.ศ. 2323 และได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น พระธรรมเจดีย์
    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่ พระพนรัตน อันเป็นตำแหน่งรองสมเด็จพระสังฆราช
    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ขณะที่ทรงสมณศักดิ์ ที่พระพนรัตน ได้เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก ในครั้งที่มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร เมื่อปี พ.ศ. 2331 ทรงรอบรู้แตกฉานในพระไตรปิฎก ทรงจัดระเบียบการสอบพระปริยัติธรรมเพื่อเป็นเปรียญ แบบ 3 ชั้น คือ เปรียญตรี เปรียญโท และเปรียญเอก
    พระองค์ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระราชวงศ์หลายพระองค์ด้วยกัน เช่น สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี ฯ (นักองเอง) พระเจ้ากรุงกัมพูชา สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข และเจ้านายพระองค์อื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก
    ในสมัยของพระองค์ ได้มีการส่งสมณทูตไทยไปสืบข่าวพระศาสนา ณ ลังกาทวีป เป็นครั้งแรกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2358 หลังจากที่ว่างเว้นมา 60 ปี จากสมัยกรุงศรีอยุธยา


    สมเด็จพระสังฆราช (มี)
    สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต  ณ วัดมหาธาตุยุวราชวังสฤษดิ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2359 ทรงดำรงตำแหน่งอยู่ 4 พรรษา สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ. 2362 เมื่อพระชนมายุได้ 70 พรรษา
    พระประวัติในตอนต้นไม่พบรายละเอียด มีแต่เพียงว่า ประสูติในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา เมื่อปี พ.ศ. 2293 ในสมัยกรุงธนบุรี ได้เป็นเปรียญเอก อยู่ที่วัดราชบูรณะ (วัดเลียบ) พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ ได้โปรดเกล้า ฯ ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระวินัยรักชิต ซึ่งนับเป็น รูปแรกที่ได้รับราชทินนามนี้  เมื่อปี พ.ศ. 2337 ได้เลื่อนขึ้นเป็นที่ พระพิมลธรรม และได้เป็น พระพนรัตน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    พระองค์ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราช ในพระราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงษาญาณ ซึ่งนับว่าได้รับพระราชทินนามนี้เป็นพระองค์แรก ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ จึงได้ทรงแก้ไขพระราชทินนามให้เป็น สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ ซึ่งได้ใช้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
    ในสมัยของพระองค์ ได้เกิดมีอธิกรณ์ที่สำคัญคือ มีพระเถระผู้ใหญ่ ต้องอธิกรณ์เมถุนปาราชิกพร้อมกันถึง 3 รูป จนถึงขั้นมีบุตร พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นรักษ์รณเรศ กับพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร ทรงพิจารณาอธิกรณ์ ได้ความเป็นสัตย์สมดังฟ้อง จึงได้มีรับสั่งให้เอาตัวผู้กระทำผิดไปจำไว้ในคุก และได้ทรงเผดียงสมเด็จพระสังฆราช และสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) วัดสระเกศ ให้แต่งหนังสือ โอวาทานุสาสน เมื่อปี พ.ศ.2369 แสดงข้อวัตรปฏิบัติอันสมควรแก่สมณมลฑล คัดแจกไปทุกวัด เป็นทำนองสังฆาณัติ ส่วนการชำระความปาราชิก ก็สืบสวนกวดขันขึ้นมาแต่ครั้งนั้น
    สาระสำคัญของหนังสือนี้ ว่าด้วยเรื่องพระอุปัชญาย์อาจารย์ พระราชาคณะพระถานานุกรม เอาใจใส่ สั่งสอนพระภิกษุสามเณรให้อยู่ใน จตุปาริสุทธิศีล  ผู้ที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์ จะต้องมีความรู้เรื่องพระวินัย และสังฆกรรมเป็นอย่างดี และปฏิบัติให้ถูกต้อง
    เมื่อปี พ.ศ. 2360 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชประสงค์ จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศล ให้ยิ่งขึ้นไป สมเด็จพระสังฆราชจึงได้ถวายพระพร ให้ทรงกระทำการสักการะบูชาพระรัตนตรัยในวันวิสาขบูชา จึงได้เกิด พิธีวิสาขบูชา มาตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน
    ได้มีการปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยขยายการศึกษาออกไปเป็น 9 ประโยค ผู้ที่สอบไล่ได้ตั้งแต่ 3 ประโยคขึ้นไป เรียกว่าเป็นบาเรียน (หรือเปรียญ) การปรับปรุงครั้งนี้ ได้ใช้เป็นแบบแผนมาถึงปัจจุบัน


    สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
    สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเมื่อปี พ.ศ. 2363 อยู่ในตำแหน่ง 3 พรรษา สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ. 2365  พระชนมายุได้ 90 พรรษา
    พระองค์ประสูติเมื่อปี พ.ศ. 2276 ในรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรี ได้เป็นพระอธิการอยู่วัดท่าหอย แขวงรอบกรุงเก่า มีพระเกียรติคุณในทางบำเพ็ญสมถภาวนา
    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ฯ ได้โปรดให้นิมนต์พระองค์มาอยู่ที่วัดพลับ และให้เป็นที่ พระญาณสังวรเถร พระองค์ทรงเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ตั้งแต่ยังอยู่ที่วัดท่าหอย การที่โปรดให้นิมนต์มาอยู่ที่วัดพลับ ก็เนื่องจากเป็นวัดสำคัญฝ่ายอรัญวาสีของกรุงธนบุรี ซึ่งต่อมาในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้า ฯ จึงได้รับพระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดราชสิทธาราม พระองค์ได้รับสถาปนาเป็น สมเด็จพระญาณสังวรณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2359 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชในอีก 4 ปีต่อมา เมื่อมีพระชนมายุได้ 88 พรรษา
    ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร นับว่าเป็นตำแหน่งพิเศษ ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นตำแหน่งที่พระราชทานแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ
    นอกจากนั้น พระองค์ยังได้รับการถวายสมัญญาว่า สังฆราชไก่เถื่อน จากชาวบ้านทั่วไป เนื่องจากการที่พระองค์ทรงคุณธรรมทางวิปัสสนาธุระดังกล่าวแล้ว
    เมื่อครั้งเกิดอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ. 2363 มีผู้คนเสียชีวิตมากมาย ประมาณถึง สามหมื่นคนเศษ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงให้ตั้ง พระราชพิธีอาพาธพินาศ โดยพระองค์ทรงศีลและให้ตั้งโรงทาน ส่วนสมเด็นพระสังฆราชทรงให้สังคายนาบทสวดมนต์ เพื่อใช้ในพระราชพิธีดังกล่าว


    | หน้าต่อไป | บน |