| หน้าแรก | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | หน้าต่อไป | ย้อนกลับ |

ภัยภายใน

จะใจกว้างและมีเมตตา ต้องเจริญปัญญาให้มาก
       ใจกว้างอย่างไม่รู้หรือใจกว้างวางเฉย อย่าเอาเลยจะพาชาติศาสน์ล่ม
            การที่เรามีลักษณะเรื่อย ๆ เปื่อย ๆ ไม่ค่อยจะถืออะไรเป็นจริงเป็นจัง จึงกลายเป็นคนที่ตกอยู่ในความประมาท ถ้าจะเป็นชาวพุทธจริง ก็ต้องไม่ประมาท อีกอย่างหนึ่งคือต้องไม่ใจกว้างจนไม่มีหลัก มีตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือมีชาวยิวมาพบและบอกว่า ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองเหนือของไทย มีนักบวชของศาสนาคริสต์เอาข้าวของรางวัลเงินทองให้ เพื่อชักชวนคนไทยไปนับถือศานาคริสต์ การที่จะให้คนไปนับถือศาสนาด้วยวิธีการเอาอามิสเป็นเหยื่อล่อนี้ เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในประเทศของเขา ถือว่าต้องไล่ออกจากประเทศไปเลย แต่ทำไมเมืองไทยจึงปล่อยให้เป็นเช่นนั้น
            การที่เป็นได้เช่นนี้ก็เพราะคนไทยไม่รู้ปัญหา ใครจะทำอะไรก็ทำไป ไม่ถือไม่คิดอะไรเพราะว่าใจกว้าง ก็เลยกลายเป็นความเขลาเป็นเหยื่อของเขาไป
            การมีเมตตา จะต้องประกอบด้วยปัญญา ไม่ใช่เมตตาลอย ๆ ยิ่งถ้ามีเมตตากับโมหะก็กลายเป็นความโง่ เรื่องของคนไทยที่ปล่อยให้ความไม่รู้มาคู่กับความใจกว้างนี้ เป็นปัญหามาก และเป็นปัญหากับคนสมัยใหม่ที่มีการศึกษาดีด้วย คือคนสมัยใหม่ไปศึกษาต่างประเทศกันมาก แล้วกลับมาเป็นผู้ปกครองบริหารบ้านเมือง แต่ไม่ค่อยรู้เรื่องประเทศของตนเอง รวมทั้งไม่รู้เรื่องพุทธศาสนาด้วย
            แม้แต่เรื่องประชาธิปไตย ก็ทำเป็นประชาธิปไตยกันไป แสดงขึ้นมาว่าอย่างนี้ไม่ถูก อย่างนั้นไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ถ้าพวกไหนรุนแรงเขาจะไม่กล้า แต่สำหรับชาวพุทธ ถ้าชาวพุทธทำอะไรเพียงเล็กน้อย พวกนักประชาธิปไตยแบบนี้จะออกมาว่า แต่ถ้าเป็นพวกศาสนาที่รุนแรงออกมาเขาเงียบเลย หรือมิฉะนั้นก็ออกมาเอาใจอีกด้วย
            แม้แต่เรื่องรัฐธรรมนูญ เวลานี้ก็อ้างกันนัก จนไม่รู้ขอบเขตว่าอะไรแค่ไหน บางคนไปเอารัฐธรรมนูญมาตัดสินพระธรรมวินัย บางคนก็เอาสิทธิมนุษยชนมาตัดสินความจริงของธรรมชาติ ประชาธิปไตยจริงต้องเอาเหตุเอาผลเอาความจริงความถูกต้อง และยอมรับหลักการ ไม่ใช่เอาแต่ความต้องการ ต้องหาความรู้ไม่ใช่อยู่แค่ความเห็น ต้องวิจัยด้วยไม่ใช่เอาแต่วิจารณ์ ไม่ใช่กล้าแสดงออก แต่ต้องมีสาระที่จะเอามาแสดงด้วย สภาพที่เป็นอยู่เวลานี้ทำให้น่ากลัวว่าเอาแต่แสดงออกกันเรื่อยไป แต่เจอด้านไหนรุนแรงนอกการเมืองก็สยบ ถ้าเป็นอย่างนี้สังคมของเราจะไปไม่ไหว
            หลายคนที่ไปเรียนเมืองนอกนั้น นอกจากไม่รู้จักประเทศของตนแล้ว มักไม่รู้จักฝรั่งจริงด้วย สักแต่ว่าเมื่อเขามีแบบมีแผน มีกฎหมายอย่างไร ก็อยากจะนำมาใช้ การนำแบบแผนของเขามาโดยไม่รู้เขา เป็นการกระทำที่ก่อผลเสียหาย ถ้าว่าในแง่ของการบริหารประเทศต้องถือว่าอภัยไม่ได้
ในเมืองไทยระดับผู้ใหญ่ฝ่ายบริหาร แสดงการเริ่มรับผิดชอบงานด้วยการไหว้เจ้า
           ที่ว่ารู้จักศาสนานั้นไม่ใช่รู้จักในฐานะเป็นศาสนาเท่านั้น แต่ต้องรู้จักในฐานะเป็นเรื่องของคนไทย เป็นเรื่องที่คนไทยทั่วไปเกี่ยวข้องอยู่ เป็นของที่อยู่ในตัวของคนไทย เป็นส่วนเนื้อหาสาระของความเป็นไทยด้วย ไม่ว่าจะเป็นในแง่ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การที่ผู้นำหรือผู้บริหารบ้านเมือง ไม่รู้เรื่องประเทศชาติของตนเอง นับว่าเป็นอันตรายอย่างมาก
            ภัยภายใน ในที่นี้คือความไม่รู้ คนมากมายทั้งที่เป็นคนไทย และเป็นพุทธศาสนิกชน  แต่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา ไม่รู้ว่าพระพุทธศาสนาสอนอะไร ไม่รู้ว่าเชื่ออย่างไรถูก เชื่ออย่างไรผิด มีการปฏิบัติที่วิปริตผิดพลาดต่าง ๆ สรุปว่าปัญหาไม่ได้เป็นเพราะนับถือพระพุทธศาสนา แต่เป็นเพราะคนไทยละทิ้งพระพุทธศาสนา ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาสังคมไทยนั้นง่าย ๆ ตรงไปตรงมา ในเมื่อคนไทย ๙๕ % เป็นพุทธศาสนิกชน แต่ไม่รู้จักพระพุทธศาสนา จึงได้เชื่อผิดปฏิบัติผิด แล้วทำให้เกิดปัญหาสังคมมากมาย เพราะฉะนั้นการแก้ไขซึ่งง่ายที่สุดคือให้เขารู้จักพระพุทธศาสนาเสีย พอมารู้จักพระพุทธศาสนา เชื่อถูกปฏิบัติถูกแล้ว ก็แก้ปัญหาสังคมเสร็จไปในตัวเลย
            ทำไมจะต้องไปคิดอะไรต่ออะไรมาแก้ปัญหากันซับซ้อน เช่นจะจัดการศึกษาอย่างนั้นอย่างนี้ จะเอาอันโน้นอันนี้มาแก้ไขปัญหา แล้วก็ไม่ตรงจุดเลย ใช้วิธีแก้ปัญหาแบบอ้อมไปอ้อมมา
            ในเรื่องปฏิรูปการศึกษา มีคำถามหลักอยู่ข้อหนึ่งคือ คนไทยที่เป็นพุทธศาสนิก ๙๕ % นั้นไม่รู้หลัก พระพุทธศาสนาจริงหรือไม่ ถ้าตอบว่าจริงทางแก้ปัญหาก็ตามมาว่า ทำอย่างไรจะให้เด็กนักเรียนไทยทั่วประเทศได้เรียนพระพุทธศาสนา ได้รู้จักคำสอนในพระพุทธศาสนา อันนี้คือการปฏิรูปการศึกษา และตรงตามเหตุปัจจัยที่จะแก้ปัญหาของประเทศชาติได้ เวลานี้ก็รู้เห็นกันอยู่ว่า สภาพแวดล้อมทั่วไป การแสสังคมและความนิยมวัฒนธรรมต่างประเทศ มีแต่ทำให้เด็กและเยาวชน ห่างเหินออกไปจากความเป็นไทย ไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ห่างเหินออกไปจากวัฒนธรรมของตัว และตกต่ำในทางศีลธรรมจรรยา
            คนไทยเราชาวพุทธ ไม่มีจิตสำนึกในความเป็นเจ้าของ  ที่จะมีส่วนร่วมรับผิดชอบพระพุทธศาสนา เวลามีเหตุการณ์อะไรไม่ดีเกิดขึ้น คนไทยชาวพุทธจะวิจารณ์เหตุการณ์นั้นเหมือนกับว่าตัวเป็นคนนอก หรือเหมือนกับว่าฉันไม่เกี่ยว
            พระพุทธศาสนาเป็นของพุทธบริษัทสี่  พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้ว พุทธบริษัทสี่ไม่ใช่มีแต่พระฝ่ายเดียว แต่มีทั้งบรรพชิต และคฤหัสทั้งหมด นี่เป็นเจ้าของพระพุทธศาสนา จึงมีสิทธิเท่ากัน ในเมื่อทุกคนมีสิทธิเท่ากัน ก็ใช้ความถูกต้องใช้ธรรมวินัยตัดสิน ฉะนั้นต้องตั้งจิตคิดกันใหม่ ถ้าไปตั้งใจแบบยกศาสนาให้เป็นของพระ ตัวไม่เกี่ยว พระศาสนาก็อยู่ไม่ได้ เรื่องนี้ต้องรีบแก้ไข ท่าทีที่ผิดมานานแล้วในสังคมไทยคือมองไปว่า ถ้าใครไม่เอาเรื่องเอาราวเรียกว่าวางเฉยก็ถือว่าดี อันนี้เป็นอันตรายมากต่อพระพุทธศาสนา คือไปนึกว่าทำอย่างนั้นเป็นอุเบกขา อุเบกขามีหลายอย่าง แต่อุเบกขาที่เป็นหลักใหญ่มี ๒ อย่างคือ อุเบกขาที่ถูกกับ อุเบกขาที่ผิด อุเบกขาที่ถูกนั้นเป็นธรรมชั้นสูงมากับปัญญา ที่รู้ และทำให้วางใจพอดีได้ แต่ต้องไม่ประมาทด้วย
ปล่อยวางได้คือจิตใจของบัณฑิต แต่ถ้าปล่อยปละละเลยก็ผิด เพราะเป็นกรรมของคนพาล
          ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ท่านให้ถือกิจส่วนรวมเป็นสำคัญ  ตามหลักพระวินัยกิจของสงฆ์ พระภิกษุทุกรูปต้องเคารพให้เป็นใหญ่ แม้แต่พระอรหันต์จะไปเข้านิโรธสมาบัติ ก็ต้องวางใจไว้ก่อนว่า ถ้ามีเรื่องส่วนรวมของสงฆ์เกิดขึ้นต้องออกจากนิโรธสมาบัติทันที ถ้าพูดสรุปโดยสาระคือ ปล่อยวางได้ แต่อย่าให้กลายเป็นปล่อยปละละเลย ปล่อยวางเป็นเรื่องของจิตใจที่ไม่ยึดติดถือมั่น แต่ปล่อยปละละเลยคือความประมาท เป็นอกุศลเป็นความเสื่อม
            พระอรหันต์ มีลักษณะอย่างหนึ่งคือ เป็นผู้ไม่อาจจะประมาท เป็นผู้ปล่อยวางในทางจิตใจ เพราะท่านไม่ยึดติดอะไร ท่านไม่มีอะไรต้องทำเพื่อตัวเอง ท่านจึงยกชีวิตนี้ให้เป็นของส่วนรวม เพื่อทำประโยชน์สุขแก่มนุษย์ทั้งปวงได้เต็มที่ พูดตามภาษาพระว่า พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย คือเพื่อประโยชน์สุขของพหุชน เพื่อเกื้อกูลแก่ชาวโลก
            พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้วได้จาริกไปโปรดสัตว์ อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย เพราะไม่มีอะไรจะต้องทำเพื่อตนเอง จึงยกพระชนม์ชีพให้แก่สรรพสัตว์ อันนี้เป็นลักษณะของพระอรหันต์ เรียกว่า เป็นผู้ไม่มีกิจที่จะต้องทำเพื่อตนเองอีกต่อไป ชาวพุทธในอดีตก็ได้ดำเนินตามคติพระอรหันต์ข้อนี้
อย่ามัวแค่มองผลและวิจารณ์กับแค่เปลือกผิว ต้องหัดใช้ปัญญาหยั่งลึกเหตุปัจจัยที่เป็นมายาวไกล
            การที่มีปรากฏการณ์ปัญหาความเสื่อมต่าง ๆ เป็นเครื่องฟ้องว่า การพระศาสนาของเรา รวมทั้งวงการพุทธบริษัทนี้ได้เสื่อมมานานแล้ว เนื่องจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้สร้างกันมา ทำให้กระแสความเสื่อมหมักหมม จนกระทั่งแสดงผลออกมา เพราะฉะนั้นเราจะต้องกลับไปแก้สาเหตุของมัน แต่อาการปรากฏชั่วคราวเฉพาะหน้าก็แก้ด้วย คือต้องแก้ทั้งสองอย่างแก้เฉพาะหน้าระยะสั้น กับแก้ลงไปถึงเหตุปัจจัยระยะยาว
            ปัญหาสำคัญของเราเวลานี้ คือสภาพขาดการศึกษามีอยู่เป็นจำนวนมากที่พระใหม่บวชเข้ามาไม่ได้เรียนอะไรเลย การบวชตามประเพณีตามคติโบราณเรียกว่าบวชเรียน แต่เดี๋ยวนี้เหลือแค่บวชเฉย ๆ เราต้องให้พระที่บวชเข้ามานี้ได้เรียน คำว่าเรียน ก็คือได้เรียนพระธรรมวินัย ทั้งเล่าเรียนปริยัติ และเรียนโดยการประพฤติปฏิบัติ เช่นการทำกิจวัตรต่าง ๆ และฝึกจิตเจริญปัญญา เป็นการเรียนด้วยชีวิตจริง จากการเป็นอยู่อย่างพระภิกษุ และฝึกฝนปฏิบัติต่าง ๆ คือฝึกอบรม กาย วาจา ใจ และปัญญา เรียกตามหลักว่า ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
            ดูบทเรียนในอดีต พระพุทธศาสนามักจะเสื่อมในเวลาที่เจริญที่สุด เพราะฉะนั้นจึงต้องคอยระวังให้มาก เมืองไทยเรานี้เป็นดินแดนที่พระพุทธศาสนาเจริญมาแล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องระวังไม่ประมาทอย่างยิ่ง เพราะความเสื่อมพร้อมที่จะเข้ามา ตัวอย่าง เช่นในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช พระพุทธศาสนาได้รับการอุปถัมภ์บำรุงจากบ้านเมืองอย่างมาก พวกเดียรถีย์ได้ปลอมบวชกันใหญ่ เพราะบวชแล้วสบายมีลาภหากินอย่างไรก็ได้ พระเจ้าอโศก ฯ เมื่อทรงทราบปัญหาจึงจัดการแก้ไข โดยจัดสอบความรู้ของพระ แล้วจับสึกไปถึงหกหมื่นรูป
            สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช  พระพุทธศาสนาก็เจริญ มีพระบวชเข้ามาเพราะอยากอยู่สบายไม่ได้เล่าเรียนศึกษา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ก็ต้องจัดการสอบความรู้ พระรูปใดไม่มีความรู้สมเป็นพระก็ทรงให้สึกไปเป็นอันมาก
รักษาพระพุทธศาสนา คือรักษาพระธรรมวินัย รู้พระธรรมวินัย และยึดเอาธรรมวินัยเป็นหลักเกณฑ์วินิจฉัย
            แกนกลางหรือเนื้อตัวของพระพุทธศาสนานั้นก็คือ พระธรรมวินัย ที่พระพุทธเจ้าตรัสแสดง และบัญญัติไว้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
            อานนท์ โดยกาลที่เราล่วงลับไปธรรมและวินัยใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย ธรรมวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย
            ดังนั้น ถ้าเราจะรักษาพระพุทธศาสนา ก็ต้องรักษาพระธรรมวินัยไว้ให้ได้ พระธรรมวินัยนั้นท่านจารึกไว้เป็นพระไตรปิฎก และพระสงฆ์ตั้งแต่พระสาวกรุ่นใกล้ชิดพระพุทธเจ้าได้รักษาสืบทอดกันมาด้วยการทรงจำ สาธยาย และจารึกไว้ด้วยความไม่ประมาท เพราะฉะนั้นพระไตรปิฎกจึงเป็นที่บรรจุรวบรวมพระธรรมวินัยไว้ จึงใช้เป็นหลักในการศึกษาสั่งสอนพระพุทธศาสนา และเป็นมาตรฐานหรือเป็นเกณฑ์ตัดสินว่า อะไรเป็นพระพุทธศาสนาหรือไม่
บรรพบุรุษไทยเพียงรักษาพระไตรปิฎกไว้ให้มาถึงเรา
            พระไตรปิฎกของชั้นเดิมนั้นเป็นภาษาบาลี เรียกว่าเป็นฉบับเถรวาท คือสืบต่อกันมาตั้งแต่พระสาวกที่ทันเห็นทันฟังพระอรหันต์ ๕๐๐ องค์ประชุมกัน รวบรวมพระธรรมวินัยไว้ เรียกว่า สังคายนาพระธรรมวินัย หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๓ เดือน
            ประเทศพุทธศาสนาอย่างเมืองไทยเรานี้ ได้พยายามระวังรักษาพระไตรปิฎกเดิมที่เป็นภาษาบาลีไว้ โดยถือเป็นกิจสำคัญสูงสุดของชาวพุทธ ทั้งฝ่ายคณะสงฆ์และฝ่ายบ้านเมืองตั้งแต่องค์พระมหากษัตริย์ลงมา ดังเช่นมีการสังคายนา และเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงกู้ชาติตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานี ก็ทรงให้รวบรวมพระไตรปิฎก จากเมืองเหนือเมืองใต้มาไว้ที่กรุงธนบุรี สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อทรงตั้งกรุงเทพ ฯ เป็นราชธานี ก็ทรงจัดให้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งใหญ่ และจัดตั้งอาคารที่เป็นหอเก็บพระไตรปิฎกไว้เป็นหลักประจำบ้านเมืองที่วัดพระแก้ว ฯ ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อเกิดมีการพิมพ์สมัยใหม่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงให้พิมพ์พระไตรปิฎกบาลี ด้วยตัวอักษรไทย เป็นเล่มหนังสือ แล้วทรงส่งไปพระราชทานแก่ประเทศต่าง ๆ แม้แต่ประเทศทางชาติตะวันตก
            จากพระไตรปิฎกบาลีของเดิมนั้น ก็ได้มีการแปลเป็นภาษาไทย แล้วพิมพ์เป็นชุดเรียกว่าพระไตรปิฎกภาษาไทย เริ่มตั้งแต่ ฉบับ พ.ศ. ๒๕๐๐ หรือฉบับฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ
            แม้ว่าพระพุทธศาสนาจะแพร่ขยายไปในประเทศต่าง ๆ เกิดพระพุทธศาสนาแบบที่แยกออกไปเป็นมหายาน แต่ก็เป็นที่รู้กันว่า จะหาคำสอนเดิมแท้ของพระพุทธเจ้าเท่าที่มี ก็ต้องมาที่พระไตรปิฎกบาลี เช่นที่มีในเมืองไทยนี้เป็นพื้นฐาน
            ภัยแห่งพระพุทธศาสนาที่ใครก็ตามกระทำต่อพระธรรมวินัย ถือว่าเป็นภัยที่ร้ายแรงที่สุด การทำร้ายอาจมาในรูปของ การกระทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ซึ่งร้ายแรงกว่าการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย การอ้างหลักฐานด้วยการดัดแปลง แทรกเสริมปลอมปน การทำลายความเชื่อถือต่อพระธรรมวินัย และพระไตรปิฎกด้วยวิธีหลอกลวง ทำให้ประชาชนเข้าใจสับสนไขว้เขว และหลงประเด็น ซึ่งในระยะ ๓ - ๔ ปีมานี้ได้มีขึ้นบ่อยครั้ง พระราชบัญญัติคณะสงฆ์จะไม่มีความหมาย ถ้าไม่เป็นฐานรองรับ พระธรรมวินัย และไม่เป็นประกันให้พระเณรเจริญในไตรสิกขา จึงต้องมีพระธรรมวินัยหลักเป็นเป้าหมาย
            พระพุทธเจ้าทรงปกครองคณะสงฆ์ในสมัยพุทธกาล ทรงจัดตั้งวางระเบียบต่าง ๆ ก็เพื่อให้พุทธบริษัทคือ พระสงฆ์ และประชาชนได้ประโยชน์จากพระธรรมวินัยที่พระองค์ใด้ทรงสั่งสอน กฏหมายจะต้องเป็นเครื่องมือที่จะรองรับพระธรรมวินัย และเป็นหลักประกันที่จะให้พระธรรมวินัยออกมาเป็นหลักเป็นเกณฑ์ และออกมาสู่ความรู้ความเข้าใจ และการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนทั้งปวง
พระศาสนาจะอยู่ได้ต้องมีศาสนทายาท
            ที่ผ่านมาเมืองไทยเราโดยมากได้ศาสนทายาท จากการให้ลูกหลานบวชเรียนกันมา อย่างน้อยบวชเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ แล้วก็มีการบวชตั้งแต่เด็กอีก บางทีพอเด็กอายุ ๗ ขวบ ก็เริ่มไปอยู่วัด และไปเรียนหนังสือกับหลวงพ่อพระอาจารย์ที่วัด ถ้าเด็กตั้งใจดีมีแววดีก็ได้บวชเณร หลายคนได้บวชกันมาจนเป็นพระเถระผู้ใหญ่ก็มีอยู่มาก พระรุ่นก่อน ๆ ก็อยู่กันมาอย่างนี้ องค์ไหนอยู่ได้ก็อยู่ไป องค์ไหนอยู่ไม่ได้ก็สึกไปแต่เวลานี้กำลังจะหมดไป หาคนที่บวชได้เต็มพรรษาได้ยาก  และยิ่งไปกว่านั้นคือไม่มีเด็กจะบวชเณร ยิ่งขยายการศึกษาออกไปตอนนี้เณรแทบไม่มีแล้วก็ต้องอาศัยเณรบวชภาคฤดูร้อน เวลานี้เณรที่บวชภาคฤดูร้อนบางส่วนอยู่เล่าเรียนจนจบเปรียญธรรม ๙ ประโยคไปหลายองค์แล้ว คนที่เริ่มต้นด้วยการบวชเป็นพระภิกษุ แล้วเรียนนั้นมีจำนวนน้อย การศึกษาพระปริยัติธรรมจึงเสื่อมโทรมลงไป ศาสนทายาทก็ขาดแคลนจึงเป็นเรื่องที่จะต้องเอาจริงเอาจัง ว่าเราจะเอาปัญหานี้มาประสานกับการปฏิรูปการศึกษาได้อย่างไร
            คนที่บวชเมื่ออายุมากแล้วมักไม่ได้ร่ำเรียนอะไรจึงไม่ค่อยมีความรู้พระธรรมวินัย ถึงจะเป็นคนมีเจตนาดีก็ได้แต่เฝ้ารักษาวัด สภาพการพระศาสนาอย่างนี้เป็นมานานแล้ว ประมาณกว่า ๑๐ ปีแล้ว ที่วัดในประเทศไทยไม่มีเจ้าอาวาสประมาณ ๕,๐๐๐ วัด เหตุที่ไม่มีเจ้าอาวาสเพราะไม่มีพระที่มีคุณสมบัติจะเป็นเจ้าอาวาส เพราะบวชมาได้ ๒ - ๓ พรรษา หรือแม้แต่จะบวชมานาน แต่ก็ไม่ได้ความรู้นักธรรม ยังเป็นเจ้าอาวาสไม่ได้แต่รักษาการณ์ไว้
แม้นแต่จะตามเขาก็ยังตามไม่เป็น
            เวลานี้คนไทยเรานิยมชมชื่นฝรั่ง เลยมีค่านิยมตามวัฒนธรรมฝรั่ง ปัญหาในสังคมไทยที่เกิดขึ้นเวลานี้มากทีเดียว เกิดจากค่านิยมเห่อฝรั่ง และตามฝรั่งในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง คือในเรื่องที่ไม่เป็นสาระเป็นเรื่องชั่วครู่ชั่วยาม ปัญหานี้เกิดจากการมองไม่เป็นและตามไม่เป็น คนไทยมีนิสัยชอบโก้เก๋ และเอาสิ่งนี้ไปผูกไว้กับการเสพบริโภค ซึ่งเป็นเรื่องที่นำไปสู่ความเสื่อม เพราะเรื่องของการบริโภคนี้ ไปสัมพันธ์กับพวกอบายมุข และความเป็นคนอ่อนแอ คือเป็นการหาความสุขโดยไม่ต้องทำ กลัวความยากลำบากและทำไม่เป็น
            ไทยจะก้าวหน้าได้ต้องเปลี่ยนวิธีตามเสียใหม่ ต้องมีความอยากทำและอยากสร้างสรรค์ ฝึกทำให้เก่งหลักการในเรื่องนี้ พระพุทธศาสนาสอนไว้ ก่อนที่จะมีความขยันหมั่นเพียร ท่านสอนให้มีฉันทะซึ่งหมายถึงความอยากทำ ความอยากมี ๒ ชนิดคือ ความอยากที่เป็นอกุศล และความอยากที่เป็นกุศล ความอยากที่เป็นอกุศลคือตัณหา ความอยากที่เป็นกุศลคือฉันทะ หมายถึงอยากให้ทำดี ซึ่งเมื่อมีขึ้นมาก็จะเจริญมรรคจะเกิดขึ้น
            พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่ออาทิตย์จะอุทัย มีแสงเงินแสงทองส่องขึ้นมาก่อนฉันใด เมื่ออริยมรรคจะเกิดแก่ภิกษุ ก็มีฉันทะมาก่อนฉันนั้น
            ความอยากที่เป็นกุศลเรียกว่าฉันทะนั้น ท่านให้ส่งเสริมตราบใดที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผลต้องมีฉันทะตลอด ความอยากทั้งสองอย่างนี้ต้องละ แต่ละต่างกัน คือตัณหานั้นเกิดเมื่อไรให้ละเสียเลย ส่วนฉันทะนั้นละด้วยการทำให้สำเร็จ ฉันทะนี้จะมีอยู่กระทั่งเป็นพระอรหันต์แล้ว พระพุทธเจ้ามีฉันทะเป็น พุทธคุณ ข้อหนึ่งเรียกว่าเป็นพุทธธรรมอย่างหนึ่ง พุทธธรรมก็คือลักษณะหรือคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า ๑๘ ประการ รวมทั้งข้อหนึ่งคือ มีฉันทะไม่ลดถอยเลย (นตฺถิ ฉนฺทสฺส หานิ)
            เพราะฉะนั้น เมื่อเราเป็นพุทธศาสนิกชน ก็ต้องสร้างฉันทะขึ้นมาให้ได้
หลักธรรมสอนไว้ให้ใจดีมีเมตตา แต่ต้องปฎิบัติด้วยปัญญา และอยู่ด้วยความไม่ประมาท
            พระพุทธศาสนาได้ทำให้ประเทศไทยเป็นดินแดนที่ร่มเย็นเป็นสุข คนไทยชาวพุทธไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์ต่อผู้ใด จะอยู่กับใครก็ได้ และยินดีต้อนรับทุกคน แต่สภาพนี้มีในเมื่อประเทศไทยเป็นดินแดนพุทธศาสนา มีชาวพุทธเป็นคนส่วนใหญ่ แทบทั้งประเทศ แต่เมื่ออัตราส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไปก็ต้องเตรียมตัวว่าเราจะแก้ไขอย่างไร
            ความเปลี่ยนแปลงนี้มาพร้อมกับสิ่งที่น่ากลัว คือวิธีการเพิ่มศาสนิกของบางศาสนา ที่ว่าพวกหนึ่งใช้วิธีคอยรุกหรือรุนแรง ส่วนอีกพวกหนึ่งใช้วิธีเล่ห์กล เอาเหยื่อล่อ เราจำเป็นต้องรู้ทัน แล้วคิดหาทางป้องกันแก้ไขด้วยความไม่ประมาท เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เพื่อจะรักษาพระศาสนาไว้ให้เป็นสมบัติของคนรุ่นต่อไป เพื่อว่าพระพุทธศาสนาจะช่วยให้คนไทยมีธรรมะที่จะอยู่ร่มเย็นเป็นสุข และถ้าธรรมะแผ่ไปทั่วโลก ทั่วโลกก็จะอยู่ร่มเย็นเป็นสุขด้วย
สนทนาต่อท้าย
อย่ามัวประมาทปล่อยตัวเรื่อยเปื่อย ถึงเวลารวมตัวกัน หมั่นประชุมทำงานพระศาสนา
            คำถามที่ ๑  จุดหนึ่งที่ชาวพุทธขาด คือองค์กรที่เป็นตัวแทนของชาวพุทธ ที่จะเป็นปากเสียงให้ชาวพุทธได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรามีองค์กรพุทธศานาอยู่เป็นจำนวนมาก ทำอย่างไรจึงจะทำให้องค์กรเหล่านี้รวมกันประสานกัน เพื่อช่วยกันหาหนทางที่จะต่อต้านภัยอันนี้
            อีกประการหนึ่ง จะเป็นไปได้ไหม ที่จะให้พุทธบริษัทที่มารวมกันบ้างแล้ว จะเป็นลักษณะของสมัชชาหรือสภาชาวพุทธ ที่จะรวมสติปัญญาจากพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทั้งหมด รวมทั้งฝ่ายฆราวาสด้วย ที่จะมาช่วยกันกำหนดทิศทางของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
            ตอบคำถามที่ ๑  การที่ชาวพุทธไม่รู้จักรวมตัวกันนับว่าเป็นปัญหาอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นภัยภายในเหมือนกัน เราไม่เคยกับงานแบบนี้ จนกลายเป็นความบกพร่องที่สำคัญ ความอยู่สบายก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่รู้จักรวมตัว เวลามีภัยอันตรายขึ้นมา จึงรวมตัวกันได้ทีหนึ่ง อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เป็นมาเรื่อย ๆ
            การรวมตัวนั้นต้องทำตลอดเวลา เพื่อจะไม่ประมาท พระพุทธเจ้าตรัสว่าต้องหมั่นประชุมกันเนืองนิตย์ ซึ่งเป็นหลักธรรมอย่างหนึ่งที่ชาวพุทธไม่ค่อยได้ปฏิบัติคือ อปาริหานิยธรรม ที่ว่า
                ๑.   หมั่นประชุมกันเนืองนิตย์
                ๒.  เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกประชุมก็อยู่จนเลิกพร้อมกัน
                ๓.  เมื่อมีเรื่องราวที่เป็นกิจส่วนรวม ต้องลุกขึ้นร่วมกันทำโดยพร้อมเพรียงกัน
            เพียงสามข้อแรกชาวพุทธก็แทบจะสอบตกแล้วในการปฏิบัติธรรมตามหลักอปาริหานิยธรรม ๗ ประการ ที่ทำให้เป็นที่ตั้งแห่งความไม่เสื่อม
            คำตอบในเรื่องนี้ก็คือเราต้องเริ่มต้น  การที่จะเริ่มต้นได้ก็ต้องมีจุดรวม ข้อสำคัญคือเกี่ยงกัน ดังนั้นใครรู้ปัญหา ใครทำได้ก็ทำเลยและไม่รังเกียจผู้อื่น ต้องพร้อมที่จะรับความร่วมมือ มีบ้างบางจุดที่มีการเริ่มต้นที่จะรวมตัวกัน ต้องมาประสานกันระหว่างหย่อมเล็ก หย่อมน้อยให้เป็นหน่วยใหญ่ขยายกว้างขวางออกไป

ชุมชนชาวไทยพุทธถึงจะเป็นหน่วยย่อยกระจายกันไป แต่ถ้ายังถือหลักการร่วมกันไว้ก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวทั่วประเทศ
            ถ้าเรามองดูสังคมไทยเดิม เราใช้วิธีประสานหน่วยย่อย คือชุมชนแต่ละชุมชน พระพุทธศาสนาในเมืองไทยนี้ อยู่ได้ด้วยชุมชนแต่ละชุมชน คือเรามีชุมชนอยู่ในหมู่บ้าน ในตำบล โดยที่หมู่บ้านนั้น ๆ มีวัดเป็นศูนย์กลาง และชุมชนมีความสมบูรณ์ในตัวเอง แล้วชุมชนเหล่านี้ก็เชื่อมประสานกัน ถ้าว่าตามระบบประเพณีเราทำแต่ละชุมชนให้ดีให้เข้มแข็ง แล้วพระพุทธศาสนาก็อยู่ได้เอง เวลานี้ชุมชนแต่ละชุมชนกำลังสลายตัว วิธีแท้ของเราไม่ใช่วิธีรวมศูนย์ แต่ใช้วิธีประสานหน่วยย่อย
            สิ่งที่จะประสานให้เกิดความสามัคคีนั้นอยู่ที่หลักการ คือยึดถือหลักการเดียวกัน แล้วมุ่งมั่นสู่จุดหมายร่วมกัน ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็มา  ต้องจัดระบบเป็นมัชฌิมา  ให้หน่วยย่อยกับศูนย์กลางประสานกันพอดี
ถ้าจะรักษาพระศาสนาในไทยให้เจริญมั่นคง ต้องฟื้นกำลังชุมชนในชนบท
            ในอดีตนั้นวัดเป็นศูนย์กลางของชุมชน  เป็นแหล่งการศึกษา เป็นที่รวมอะไรทุกอย่างกิจกรรมของชุมชนก็อยู่ที่นั่นหมด เขาจึงรักษาวัดไว้ พระเป็นผู้นำ เป็นผู้ให้ความรู้ เป็นที่พึ่งทางจิตใจ และที่อาศัยทางปัญญา
            พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระสงฆ์กับคฤหัสถ์นี้เป็น อโภ อัญโญญญ นิสสิตา แปลว่า ทั้งสองฝ่ายอาศัยซึ่งกันและกัน ฝ่ายหนึ่งถวายวัตถุสิ่งของปัจจัย ๔ อีกฝ่ายหนึ่งให้ธรรม การให้ธรรมนั้นมี ๒ อย่างคือ ให้โดยพูดกับให้โดยไม่ต้องพูด คือพระปรากฏตัวที่ไหนก็ทำให้ญาติโยมได้ธรรมได้ความชื่นใจที่นั่น เพราะพระเป็นเครื่องหมายของความไม่มีภัย พระเป็นที่ตั้งแห่งความเลื่อมใส
            คำถามที่ ๒  นับเป็นเวลาสิบ ๆ ปีแล้ว ในต่างจังหวัดวัดไม่มีสมภาร ไม่มีเจ้าอาวาส ขาดการดูแล อยากให้พระราชาคณะทั้งหลาย ได้กระจายอำนาจ พุทธสมาคมได้เข้าไปช่วยเหลือ กรมศาสนาต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้เยาวชนได้ปกปักรักษาสิ่งที่บรรพบุรุษได้ทำมา อยากก่อตัวเล็ก ๆ ขึ้นมาก่อนให้เป็นตัวอย่าง เชื่อว่าคนที่มีความสามารถ คนที่อยากแสดงความรักความเคารพพระพุทธศาสนา จะต้องออกมามากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ขณะนี้ชาวพุทธเฉยเมย ความดีความชั่วไม่ได้เกิดขึ้นมาวันเดียว ต้องมีการสะสม จึงเห็นด้วยกับนโยบายในอดีต ที่มีการบรรพชาสามเณร และให้เณรนั้นได้ศึกษาเล่าเรียนจนแตกฉาน เข้ามาเป็นผู้นำทางศาสนาในอนาคต
            ตอบคำถามที่ ๒  เรื่องนี้มีพระที่ท่านเอาใจใส่ขวนขวายทำอยู่เหมือนกัน บางแห่งทำคล้าย ๆ เป็นโครงการหาเณรบวชเลยทีเดียว แต่เป็นการทำเป็นหย่อม ๆ ยังไม่เป็นการประสานกันทั้งหมด มีวิธีทำ ๒ อย่างคือ
                ๑.  จัดสภาพสังคมให้เอื้อต่อระบบที่เราต้องการ
                ๒.  หาวิธีใหม่ จัดขึ้นมาให้เหมาะกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป
ขอพระพุทธศาสนาเมืองไทยอย่าเป็นลัทธินานาอาจารย์ ขอให้รวมกันเป็นหนึ่งที่พระบรมศาสดาองค์เดียว
            คำถามที่ ๓  พระคุณเจ้าบอกว่า เมื่อมีภัยทางศาสนาเกิดขึ้น พระอรหันต์ท่านจะไม่ดูดาย เท่าที่ผ่านมาจนบัดนี้ก็เห็นแต่พระคุณเจ้าที่ขวนขวาย ไม่เห็นมีพระคุณเจ้าอื่น ๆ มาร่วมกับพระคุณเจ้า ทำไม่จึงเป็นอย่างนั้น
            อีกประการหนึ่ง พระคุณเจ้ากล่าวว่า พระอรหันต์นั้นแม้ท่านเข้านิโรธสมาบัติ ท่านอาจจะตั้งใจไว้ว่าถ้าพระพุทธเจ้าก็ดี พระสงฆ์ก็ดีต้องการท่าน ท่านจะออกจากสมาบัติมาได้เลย จึงสงสัยว่าท่านจะหยั่งรู้ด้วยญาณวิถีใด
            ตอบคำถามที่ ๓  เท่าที่พอนึกได้ เพราะเหตุที่สัญญาและเวทนาดับไป ระหว่างนั้นจึงต้องตั้งจิตไว้ ความตั้งจิตของท่านนี้ก็ไปประสานกับเรื่องของสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นที่ตรงกับที่ตั้งจิตก็จะตื่นขึ้นมา
            คำถามที่ ๔  พระอรหันต์ท่านหายไปไหนกันหมด ขณะนี้ภัยของสังคม ภัยของพระพุทธศาสนามีแล้ว
            ตอบคำถามที่ ๔  ก็อาจตอบว่ายังเป็นหย่อม ๆ คืออยู่ที่โน่นองค์ อยู่นั่นองค์ ตอนนี้จะต้องมาประสานรวมตัวกัน
            คำถามที่ ๕  เครือข่าย การเคลื่อนไหวด้วยเครือข่ายไม่จำเป็นต้องใช้อำนาจหรือใช้ทรัพยากรอะไรมาก คือต้องใช้ปัญญามาก ๆ องค์กรกลางอย่างที่ว่านี้ในขั้นแรกใช้เป็นคณะที่ประสานงาน เพียงแต่ให้มีตัวยืนจริง ๆ ทำงานได้ต่อเนื่อง แล้วรวบรวมความรู้ว่าใคร พันธมิตรอยู่ที่ไหน เราจะทำอย่างไร
            ตอบคำถามที่ ๕  ที่แนะนำมานั้นเป็นเรื่องของส่วนที่จะนำไปใช้ปฏิบัติ สิ่งที่ต้องมีที่สำคัญคือใจรวมกัน การที่ใจรวมกันนี้
                ๑.  มีจุดมุ่งหมายร่วม ถ้ามีจุดหมายร่วมแล้วใจก็รวมกันได้ ฉะนั้นคำว่า "เพื่ออะไร" อันนี้ต้องชัด ต้องตอบให้ได้ พอทุกคนเห็นด้วย ใจก็รวมกันเลย
                ๒.  มีศูนย์รวมจิตใจ ให้ทุกคนไปรวมกันที่พระพุทธเจ้า
                ชาวพุทธในระยะที่ผ่านมา เกิดปัญหาอย่างหนึ่งคือ เริ่มกระจายไปเป็นสำนัก เป็นอาจารย์ เป็นอะไรต่าง ๆ ชาวพุทธต้องมองอาจารย์ด้วยความเคารพให้ถูก อาจารย์นั้นจะต้องเป็นสื่อโยง พุทธบริษัทไปหาจุดโยงเดียวกันคือพระพุทธเจ้า ข้อนี้ต้องทำให้ได้ มิฉะนั้นจะรวมกันไม่ได้ พอรวมที่พระพุทธเจ้าก็ยึดเอาพระธรรมวินัยของพระองค์เป็นหลัก เมื่อเราอยู่กับพระธรรมวินัย พระธรรม พระสงฆ์ ก็มาด้วยทั้งหมด ครบพระรัตนตรัยก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
บทแถมท้าย

บาทหลวงฝรั่งเข้ามาสมัยพระนารายณ์มหาราช
ทำไมจึงว่าเมืองไทยใจเสรี ไม่มีที่ไหนเทียมเท่า

            บาทหลวง ฌอง เดอบูร์ ชาวฝรั่งเศสมาเมืองไทยในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เห็นอัธยาศัยไมตรีของคนไทย ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน ที่แสดงออกต่อพวกตนที่เป็นคนต่างชาติ ต่างศาสนาแล้วจึงได้เขียนจดหมายเหตุไว้ว่า
            "ข้าพเจ้าไม่เชื่อว่าจะมีประเทศใดในโลกที่มีศาสนา อยู่มากมาย และแต่ละศาสนาสามารถปฏิบัติพิธีกรรมของตน ได้อย่างเสรีเท่ากับประเทศสยาม"
            คำพูดอย่างนี้จะเกิดขึ้นมาได้ต้องอาศัยการกระทบประสบการณ์ใหม่ ที่แปลกแตกต่างจากความรู้สึกนึกคิดของเขามาก และทำให้เกิดความประทับใจ ในทางตรงข้ามอย่างแรง ประสบการณ์ที่แตกต่างที่ทำให้แปลกประหลาด ประทับใจนั้นเกิดขึ้นจากสภาพการนับถือศาสนาในประเทศแถบยุโรป ที่เป็นดินแดนของบาทหลวง ฌอง เดอบูร์ เองในสมัยนั้น
            ชาวยุโรปเคยมีสงครามระดับทวีป ด้วยสงครามศาสนา เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๐๐ - ๒๒๓๑ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ตรงกับรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ของฝรั่งเศส สงคราม ๓๐ ปี เป็นสงครามศาสนา แสดงให้เห็นว่า ประเพณีการนับถือศาสนาของชาวตะวันตก เป็นเรื่องของความเชื่อหรือศรัทธาแบบผูกขาด ประกอบด้วย
ความรุนแรงที่ไม่อาจยอมรับซึ่งกันและกัน แต่จะต้องกำจัดกวาดล้างความคิดความเชื่อถืออย่างอื่นไปให้หมด
            หลังจาก มาร์ติน ลูเธอร์ ทำการประท้วง ซึ่งเป็นการละเมิดต่ออำนาจของสันตะปาปา ทำให้เกิดคริสตศาสนาที่เป็นนิกายใหม่ แยกออกไปจากโรมันคาทอลิก เรียกว่านิกายโปรเตสแตนต์ ในประเทศเยอรมนี เมื่อปี พ.ศ. ๒๐๖๐ แล้วนิกายโปรเตสแตนต์ แผ่ขยายออกไป เกิดการขัดแย้งรบราฆ่าฟันกันระหว่างชาวคริสต์ ๒ นิกายนี้ในประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ทรงห้ามมิให้มีการถือปฏิบัติลัทธิศาสนาอื่นใด นอกจากศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๕๘ พระองค์ได้ทรงประกาศว่า พระองค์ได้ทำให้ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ จบสิ้นการดำเนินการทุกอย่างหมดไปแล้วจากประเทศฝรั่งเศส
            บันทึกของพ่อค้าฝรั่งเศสเกี่ยวกับการที่พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ จะชวนสมเด็จพระนารายณ์มหาราชให้หันไปเป็นคาทอลิก ที่เขาพูดว่า
            "ถ้าพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ ได้ทรงชักชวนแล้ว สมเด็จพระนารายณ์ก็คงหันเข้าหา ศาสนาโรมันคาทอลิกเป็นแน่..... จะเป็นพระเกียรติยศแก่พระเจ้าหลุยส์สักเพียงไร เพราะในเวลาที่พระองค์ได้ทรงจัดการ ศาสนาในราชอาณาของพระองค์ ยังได้ทรงจัดการทำลายศาสนาอันไม่ดีในแผ่นดินฝ่ายตะวันออก ซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่เจริญที่สุดอยู่แล้ว"
ในอดีตเป็นที่รู้จักกันมาชาวตะวันตกเผยแพร่ศาสนาผนวกกับการล่าเมืองขึ้น
            ตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฝรั่งเศสได้เรียกร้องมากขึ้นในปี พ.ศ. ๒๒๒๘ สยามกับฝรั่งเศสได้ร่างสนธิสัญญา ซึ่งนอกจากให้อภิสิทธิ์ทางการค้ามากมายแก่ฝรั่งเศสแล้ว ก็ยอมให้ฝรั่งเศสเข้ามาตั้งกองพันที่เมืองสงขลาด้วย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๒๓๐ ก็ได้ส่งเรือรบ ๖ ลำ พร้อมทหาร ๖๐๐ คน เข้ามาบีบให้สยามยอมรับเงื่อนไขของพระองค์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราชจำพระทัยยอม ให้กองทหารฝรั่งเศสเข้ามาตั้งประจำเมืองบางกอก ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ครั้งนั้น เมื่อสมเด็จพระนารายณ์สวรรคตในปี พ.ศ. ๒๒๓๑ พระเพทราชาได้ขับไล่กองทัพ และพ่อค้าฝรั่งเศสออกจากประเทศสยามทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยเหมือนปิดประเทศ ไม่มีความสัมพันธ์กับชาวตะวันตกเป็นเวลานาน
ความเป็นมาเรื่องการกำจัดเบียดเบียนกันทางศาสนาในประเทศตะวันตก
            เป็นช่วงเวลาคร่าว ๆ และเหตุการณ์สำคัญบางอย่างได้ดังนี้
                -  จักรวรรดิ์โรมัน กำจัดกวาดล้างศาสนาคริสต์ พ.ศ. ๖๐๗ - ๘๕๖ (ค.ศ. ๖๔ - ๓๑๓)
                -  ศาสนจักรคริสต์ กำจัดกวาดล้างคนนอกรีตนอกศาสนา พ.ศ. ๙๒๔-๒๓๗๗ (ค.ศ. ๓๙๑ - ๑๘๓๔)
                -  สงครามครูเสด ระหว่างศาสนาคริสต์กับศาสนาอิสลาม พ.ศ. ๑๖๓๙ - ๑๘๑๓ (ค.ศ. ๑๐๙๖ - ๑๒๗๐)
                -  ศาลไต่สวนศรัทธา พ.ศ. ๑๗๗๔ - ๒๓๗๗ (ค.ศ. ๑๒๓๑ - ๑๘๓๔)
                -  การกำจัดกวาดล้างระหว่างนิกายคริสตศาสนาในอังกฤษ พ.ศ. ๒๐๙๗ - ๒๒๓๒ (ค.ศ. ๑๕๖๒ - ๑๗๘๙)
                -  สงคราม ๓๐ ปี ระหว่างประเทศที่นับถือนิกายโรมันคาทอลิก กับประเทศที่นับถือนิกายโปเตสแตนต์ พ.ศ. ๒๑๖๑ - ๒๑๙๑ (ค.ศ. ๑๖๑๘ - ๑๖๔๘)
            เรื่องราวเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องรู้เพื่อประโยชน์ทางปัญญา คือให้เกิดความรู้ความเข้าใจ จะได้ปฏิบัติต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ถูกต้อง วางตัว วางใจ วางท่าทีในการปฏิบัติได้พอดี
            เรื่องเหล่านี้ชาวตะวันตกก็พยายามให้คนของเขาเรียนรู้เพื่อเข้าใจภูมิหลังแห่งประเทศของตน หรือรู้จักตนเอง รู้ที่ไปที่มา และเหตุปัจจัยของความเจริญความเสื่อม แบบแผนวัฒนธรรมสถาบันของตน จะได้ไม่หลงตัวเอง และสามารถจับจุดที่จะก้าวเดินต่อไปได้ถูกต้อง
            สรุปว่ากฎหมายคณะสงฆ์โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ จะต้องเป็นฐานรองรับให้พระธรรมวินัย ปรากฏโดดเด่นขึ้น มาเป็นหลักของพระพุทธศาสนา และเป็นเครื่องกำกับให้พระภิกษุสามเณรที่บวชเข้ามาแล้วได้เจริญงอกงามในศีล สมาธิ ปัญญา ตามหลักไตรสิกขาทำวัดให้เป็นแหล่งเผยแผ่ธรรม ขยายปัญญาสู่ประชาชน สามารถสั่งสอนธรรมนำประชาชนให้พัฒนาชีวิต และสังคมประเทศชาติสู่ความเจริญมั่นคง และประโยชน์สุขที่แท้จริงยั่งยืน

......................................................
หมายเหตุ   เก็บความจากหนังสือเรื่อง ภัยแห่งพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ของพระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)

| หน้าแรก | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | หน้าต่อไป | ย้อนกลับ | บน |