ที. มหา.
๑๐/๑๔๑/๑๗๘
"อานนท์
! ธรรมและวินัยใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย
โดยการล่วงไปแห่งเรา
ธรรมและวินัยนั้น ย่อมเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย"
พระไตรปิฎกบาลี
ฉบับสยามรัฐ
พระไตรปิฎกของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาแต่โบราณกาล ปวงชนชาวไทย
มากกว่าร้อยละ ๙๕ นับถือพระพุทธศาสนา พระมหากษัตริย์ทุกพระองค์ทรงเป็นพุทธมามกะ
ตามโบราณราชประเพณี พระพุทธศาสนาเป็นรากฐานชีวิตจิตใจ และเป็นแกนของวัฒนธรรมไทยทุกสาขา
ชายไทยทุกคนมีประเพณีว่า ควรได้บวชเรียนก่อนมีครอบครัว การบวชเรียนมีความหมายอยู่ในตัวเอง
แล้วว่า เป็นการเข้าถือเพศเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนา และศึกษาพระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
โดยศึกษาจากพระไตรปิฎก
อันประกอบด้วยพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ซึ่งเรียกว่าศึกษาพระปริยัติธรรม
เราจะพบอยู่เสมอว่า ผู้ที่มีความรู้ในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี จะได้รับการยกย่องเคารพนับถือจากมหาชนทั่วไปว่า
เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎก
ซึ่งไม่จำเป็นว่าเป็นพระภิกษุเท่านั้น แม้แต่สามเณรก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยที่ได้รับเกียรติอันนี้มาแต่โบราณกาล
ดังเช่น สามเณรแก้ว ในเรื่องขุนช้างขุนแผน เป็นต้น
บรรพชิตหรือภิกษุในพระพุทธศาสนา มีภาระหน้าที่ที่จะต้องศึกษาพระไตรปิฎก เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจ
ในการประพฤติปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย เพื่อให้สมประโยชน์ที่เป็นหนึ่งในพุทธบริษัทสี่
อันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
ในฐานะที่เป็นบรรพชิต ไม่มีกิจอื่นเหมือนชาวบ้าน ดังนั้น กิจของบรรพชิตซึ่งต้องอุทิศตนให้แก่พระศาสนาอย่างถูกต้อง
ตรงทาง โดยเต็มความสามารถ เพื่อมุ่งสู่จุดมุ่งหมายปลายทางของพระพุทธศาสนา
คือ ความสิ้นสุดแห่งทุกข์
และเพื่อให้มีความรู้ความสามารถ ในระดับที่มีคุณภาพพอที่จะสั่งสอนผู้อื่น
ให้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าได้ ก็จะต้องกระทำเพื่อธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา
ให้มั่นคงสถาพรยิ่ง ๆ ขึ้นไป อันจะเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่มวลมนุษยชาติ
การศึกษาพระปริยัติธรรมที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คันถธุระ
เป็นหน้าที่ของ พระอุปัชฌาย์อาจารย์จะต้องสั่งสอนแก่ สัทธิวิหาริก และอันเตวาสิก
ของตน พระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุขของชาติ ทรงอุปถัมภ์การศึกษาของคณะสงฆ์
โดยจัดให้มีการสอบไล่ความรู้ทางพระปริยัติธรรม ของพระภิกษุ และสามเณร ยกย่องผู้มีความรู้
ความสามารถ ให้ปรากฏด้วยการพระราชทานวิทยฐานะ สมณศักดิ์ ตลอดจนจตุปัจจัย เพื่อให้พระภิกษุ
สามเณร ผู้มีความรู้ ความสามารถ ตามเกณฑ์ที่กำหนด ได้ดำรงคงอยู่ในพระพุทธศาสนาด้วยดี
เพื่อสืบพระศาสนาต่อไปอย่างถูกต้อง และมีคุณภาพตามพระธรรมวินัย
การศึกษาพระปริยัติธรรมในครั้งพุทธกาล
สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงวางระบบศึกษาไว้เป็นสามขั้นตอนด้วยกันคือ
ขั้นปริยัติ
ขั้นปฏิบัติ และขั้นปฏิเวธ
ขั้นปริยัติ เป็นการศึกษาพระธรรมวินัย
ให้มีความรู้ในพระธรรมคำสั่งสอน ของพระพุทธเจ้า รวมทั้งพระวินัย คือข้อบัญญัติต่าง
ๆ ที่จะต้องประพฤติ ให้มีความรู้ความเข้าใจอย่างถูกต้องถ่องแท้ เพื่อจะได้นำมาประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องตรงทาง
และยังสามารถแนะนำสั่งสอนผู้อื่น ให้มีความรู้ความเข้าใจ ในพระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง
ขั้นปฏิบัติ เป็นการนำเอาพระธรรมวินัยที่ได้ศึกษามาจนรอบรู้
และเข้าใจถ่องแท้ดีแล้ว มาประพฤติปฏิบัติด้วยกาย วาจา และใจ ในสองข้อแรก
ส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปในกรอบของพระวินัย คือศีลนั่นเอง ส่วนข้อที่สามเป็นการเจริญภาวนา
อันได้แก่การฝึกสัมมาสมาธิ ซึ่งเป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา มิใช่สมาธิโดยทั่วไป
รายละเอียดในการนำไปสู่สัมมาสมาธิมีอยู่พร้อมมูล และชัดเจนแล้วในพระไตรปิฎก
เมื่อได้สัมมาสมาธิในระดับที่จะนำไปใช้ปฏิบัติวิปัสนาได้ ก็น้อมนำไปสู่การทำวิปัสนาอันเป็นอุบายให้เกิดปัญญา
ที่ได้รู้เห็นความเป็นไปต่าง ๆ ของโลกตามความเป็นจริง
ขั้นปฏิเวธ
เป็นขั้นที่แสดงผลของการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยในระดับต่าง ๆ ในเรื่องต่าง
ๆ ตามลำดับ จนถึงขั้นทำที่สุดแห่งทุกข์ อันเป็นจุดหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา
ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาแก่พระสงฆ์สาวกเป็นประจำทุกวัน
นอกจากนั้น พุทธกิจประจำวันอีกประการหนึ่งคือ ทรงสอดส่องดูเวไนยสัตว์ที่พระองค์ควรไปแสดงธรรม
เพื่อให้ผู้นั้นได้สำเร็จมรรคผล ตามควรแก่อุปนิสัยของเวไนยสัตว์นั้น ๆ นอกจากพระภิกษุสงฆ์แล้ว
บรรดาพุทธศาสนิกชนก็พากันไปฟังธรรมจากพระพุทธองค์ โดยตรงในตอนเย็นเป็นประจำทุกวัน
พระภิกษุรูปใดหรือหมู่คณะใดฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธเจ้า ซึ่งบางครั้งทรงแสดงแต่โดยย่อ
ทำให้ยังเข้าใจไม่แจ่มแจ้ง ก็พากันไปไต่ถามพระเถระผู้ทรงคุณวุฒิให้อธิบายโดยพิศดารให้ฟัง
พระเถระดังกล่าวมีพระสารีบุตร พระมหากัจจานะ และพระมหากัสสปะ เป็นต้น แล้วทรงจำไว้
เมื่อมีโอกาสก็กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระธรรมเทศนาเรื่องนั้น ๆ พระมหาเถระองค์นั้น
ๆ ได้อธิบายโดยพิศดารเป็นอย่างนั้น ๆ พระพุทธองค์ก็ทรงรับรองว่าคำอธิบายนั้นถูกต้อง
แม้พระองค์จะอธิบาย ก็จะอธิบายอย่างนั้น การศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้านี้เรียกว่า
การศึกษาพระปริยัติธรรม
คำสอนของพระพุทธเจ้ามีองค์ ๙ ประการ เรียกว่านวังคสัตถุศาสน์
ได้แก่ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ
ชาดก อัพภูตธรรม และเวทัลละ การศึกษาพระปริยัติธรรมก็เพื่อรักษาพุทธวจนะ
ให้ดำรงอยู่ พระพุทธเจ้าใช้ ภาษามคธ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า ภาษาบาลี
ในการแสดงพระธรรมเทศนา เนื่องจากเป็นภาษาที่คนทั่วไปในมัชฌิมประเทศ ใช้กันอยู่อย่างแพร่หลาย
ดังนั้นแม้ว่าจะมีการแปลพระธรรมวินัย ออกเป็นภาษาต่าง ๆ ในระยะต่อมา แต่ต้องไม่ทิ้งพุทธวจนะเดิมที่เป็นภาษาบาลี
เพื่อจะได้ไว้เป็นหลักฐาน ในการตรวจสอบความหมายที่แท้จริง ป้องกันความวิปลาสคลาดเคลื่อนจากการแปลความหมายไปสู่ภาษาต่าง
ๆ
การศึกษาพระปริยัติธรรมหลังพุทธกาล
เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว บรรดาพระสงฆ์ก็ใช้วิธีท่องจำพระธรรมวินัยด้วยปาก
เรียกว่า มุขปาฐะ
ต่อ ๆ กันมา โดยการท่องจำเป็นคณะ เป็นการแบ่งกันทรงจำ ผู้ที่ชำนาญทางพระวินัยก็ศึกษาพระวินัย
เรียกว่า พระวินัยธร ผู้ชำนาญทางพระสูตร
ก็ศึกษาพระสุตคันตปิฎก เรียกว่า พระสุตตันติกะ
ผู้ที่ชำนาญทางพระอภิธรรมก็ศึกษาพระอภิธรรม เรียกว่า พระอภิธัมมิกะ
ทั้งหมดใช้ภาษาบาลีทั้งสิ้น ท่านเหล่านั้นต้องมีความรู้ในภาษาบาลีเป็นอย่างดี
ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ ๓ ได้ทรงจัดให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย
ครั้งที่ ๓ เมื่อทำเสร็จแล้วได้ส่งพระสงฆ์ที่เป็นพระอรหันต์ไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาในแว่นแค้วนต่าง
ๆ รวม ๙ คณะ คณะของพระโสณะ และพระอุตตระ
ได้มายังสุวรรณภูมิ
อันได้แก่ พื้นที่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ มีประเทศไทยปัจจุบันเป็นศูนย์กลาง
โดยมีนครปฐม เป็นราชธานี
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๓๐๓
การเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ประเทศไทย
ในยุคแรก
เมื่อปี พ.ศ.๓๐๓ ดังกล่าวแล้ว เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
ยุคที่สอง
เมื่อปี พ.ศ.๗๖๐ พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน
จากแคว้นกัสมิระ ได้เผยแพร่มาทางดินแดนทางใต้ของสุวรรณภูมิคือ
เกาะสุมาตรา
ชวา และกัมพูชา ล่วงมาถึงประมาณปี พ.ศ.๑๓๐๐ ก็ได้แพร่ขยายขึ้นมาถึงปัตตานี
สุราษฎร์ธานี ที่ไชยา
ยุคที่สาม
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๖๐๐ พุทธศาสนาแบบพุกาม
ได้แพร่เข้ามาถึงอาณาจักรลานนา และอาณาจักรทวาราวดี
ยุคที่สี่
เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๙๐๐ พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้แผ่จากลังกาเข้ามาทางภาคใต้ของไทย
คือที่ นครศรีธรรมราช เรียกว่า ลัทธิลังกาวงศ์
การศึกษาประปริยัติธรรมสมัยสุโขทัย
พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาขึ้นที่กรุงสุโขทัยได้ทรงอาราธนาพระเถระ
ผู้เชี่ยวชาญและแตกฉานในพระไตรปิฎก ฝ่ายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์มาสถิตที่กรุงสุโขทัย
ทรงส่งเสริมให้มีการศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างกว้างขวาง ได้จัดให้มีการศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมแก่พระสงฆ์ในพระราชวัง
ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท พระองค์ได้ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมจากผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกหลายท่าน
ทั้งที่เป็นบรรพชิตและฆราวาสจนแตกฉาน จนสามารถรจนาเตภูมิกถา
หรือที่เรียกกันว่า ไตรภูมิพระร่วง มีชื่อเสียงตราบจนถึงทุกวันนี้
การศึกษาพระปริยัติธรรมในสมัยอยุธยา
พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรม ด้วยการยกย่องพระสงฆ์
ที่ทรงความรู้ในพระไตรปิฎก ให้มีสมณศักดิ์ ผู้ที่มีความรู้ภาษามคธดี เคยบวชเรียนมาแล้วก็โปรดเกล้า
ฯ ให้รับราชการในตำแหน่งราชบัณฑิต มีการบอกหนังสือพระในพระบรมมหาราชวัง
ในสมัยอยุธยา อาณาจักรลานนาซึ่งอยู่ทางภาคเหนือของไทย มีเชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง
เป็นต้น ได้มีการสังคายนาพระไตรปิฎกในสมัยพระเจ้าดิลกราช
แห่งเมืองเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๐ ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
แห่งกรุงศรีอยุธยา นับเป็นการสังคายนาครั้งแรกในประเทศไทย การศึกษาพระไตรปิฎกในยุคนี้นับว่าสูงส่งมาก
มีพระเถระหลายรูปของเชียงใหม่และลำพูน ได้รจนาคัมภีร์พระพุทธศาสนาหลายคัมภีร์ด้วยกัน
เช่น พระสิริมังคลาจารย์ ได้รจนามังคลทีปนี
พระญาณกิตติ ได้รจนาโยชนาพระวินัย พระสูตร
พระอภิธรรม และสัททาวิเสส
ได้จัดให้มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมเป็นทางการ
โดยใช้วิธีแปลพระไตรปิฎกด้วยปากเปล่า ผู้ที่สอบได้ พระมหากษัตริย์ทรงยกย่องให้เป็นบาเรียน
และให้มีสมณศักดิ์เป็นพระมหา นำหน้าชื่อ
บาเรียนดังกล่าวมีอยู่หลายขั้นด้วยกันคือ บาเรียนตรี
บาเรียนโท และบาเรียนเอก
โดยผู้ที่แปลได้พระสูตรตามที่กำหนดเป็น บาเรียนตรี ผู้ที่แปลได้พระสูตรและพระวินัยเป็น
บาเรียนโท ผู้ที่แปลได้ทั้งพระสูตร พระวินัย และพระปรมัตถ์ เป็นบาเรียนเอก
การศึกษาพระปริยัติธรรมในสมัยนี้มีการบอกหนังสือ
ทั้งในวัดและในวัง สำหรับการไล่หนังสือ
ก็จัดให้มีเป็นครั้งคราว ตามแต่พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้า ฯ ให้มีการสอบ พระสงฆ์ผู้เล่าเรียนจนมีความรู้
ก็จะเป็นอาจารย์ บอกหนังสือต่อ ๆ กันไป โดยไม่จำเป็นต้องมุ่งเข้าไปสอบ
การศึกษาพระปริยัติธรรมในสมัยกรุงธนบุรี
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยา บ้านเมืองอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด ผู้คนต่างหนีเอาตัวรอด
เมื่อพระเจ้าตากสิน ฯ ได้รวบรวมกำลังกู้เอกราชของชาติกลับคืนมาได้จนเป็นปึกแผ่นแล้ว
ในปีเดียวกันนั้นคือปี พ.ศ.๒๓๑๐ ก็ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
ให้เจริญรุ่งเรืองเป็นปกติสุขเช่นที่เคยเป็นมาก่อน จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้พระศรีภูริปรีชา
ให้สืบเสาะหาพระเถระผู้รู้อรรถรู้ธรรมให้มาประชุมกันที่
วัดบางหว้าใหญ่ (วัดระฆังโฆษิตาราม) พระเจ้าตากสิน
ฯ ได้ทรงตั้งพระอาจารย์ดี วัดประดู่กรุงเก่า
ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้สูงและมีอายุพรรษามากด้วย
ขึ้นเป็นพระสังฆราช และตั้งพระพระเถระอื่น ๆ ขึ้นเป็นพระราชาคณะฐานานุกรมน้อยใหญ่
เหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยาให้สถิตอยู่ในพระอารามต่าง ๆ ในกรุงธนบุรี ให้สั่งสอนคันถธุระและวิปัสสนาธุระ
แก่ภิกษุสามเณรโดยทั่วไป
เมื่อครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา นอกจากบ้านเมือง ปราสาทราชวัง วัดวาอาราม จะถูกเผาพลาญโดยสิ้นเชิงแล้ว
บรรดาคัมภีร์พระไตรปิฎกก็พลอยถูกเผาสูญหายหมดสิ้นไปด้วย พระองค์จึงได้โปรดเกล้า
ฯ ให้สืบหารวบรวมคัมภีร์พระไตรปิฎกที่หลงเหลืออยู่ตามหัวเมืองต่าง ๆ ตลอดไปจนถึงกรุงกัมพูชา
แล้วเอามาคัดลอกสร้างเป็น พระไตรปิฎกฉบับหลวงไว้
แต่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ก็สิ้นรัชกาลเสียก่อน