| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

การศึกษาพระปริยัติธรรมในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ ได้ทรงทำนุบำรุงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ จากสภาพที่บอบช้ำ เสียหายจากภัยสงคราม ต่อจากพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท พระอนุชาธิราช ได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้ว่าบ้านเมืองยังอยู่ในภาวะที่ต้องทำศึกสงครามขนาดใหญ่อยู่ตลอดเวลา
          พระองค์มีพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะสร้างชาติไทยให้เป็นปึกแผ่นในทุกด้าน ดังปรากฎหลักฐานที่ชัดเจน ในพระราชนิพนธ์ของพระองค์ตอนหนึ่งดังนี้

"ตั้งใจจะอุปถัมภก ยอยกพระพุทธศาสนา
ป้องกันขอบขัณฑสีมษ รักษาประชาชนและมนตรี"
          งานสำคัญในส่วนของพระปริยัติธรรม คือการสังคายนาพระไตรปิฎก ทรงเห็นว่าคัมภีร์พระไตรปิฎก ที่สร้างไว้สมัยกรุงธนบุรี ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีการประชุมสงฆ์ เพื่อชำระพระไตรปิฎกฉบับหลวง ที่ทำไว้ให้ถูกต้อง โดยให้พระสงฆ์ ๑๐๐ รูป มีสมเด็จพระสังฆราชสีเป็นประธาน ประชุมกันที่พระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ทำการสังคายนาพระไตรปิฎก โดยแบ่งงานกันทำดังนี้.-
          พระสงฆ์ผู้คันถธุระ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิต ๓๒ คน จัดแบ่งออกเป็น ๔ กอง
              กองที่ ๑  สมเด็จพระสังฆราชสี วัดระฆัง ฯ เป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก
              กองที่ ๒  พระพนรัตสุข วัดพระศรีสรรเพชญ์ ฯ เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก
              กองที่ ๓  พระพิมลธรรม วัดพระเชตุพน ฯ เป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเสส
              กองที่ ๔  พระพุฒาจารย์เป้า เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก
          การสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สองของไทย ได้ทำการสังคายนาที่วัดมหาธาตุ ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๑
          การเรียนพระปริยัติธรรม คงดำเนินการเช่นเดียวกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ในสมัยพระบาทสมด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ และพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย คือบอกหนังสือพระทั้งภิกษุและสามเณรในพระบรมมหาราชวัง ล่วงมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้จ้างอาจารย์บอกพระปริยัติธรรมทุกพระอารามหลวงเพิ่มเติม จากในพระบรมมหาราชวังที่ทำอยู่เดิม
          การศึกษาบาลีในครั้งนั้นเริ่มจากการอ่านเขียนอัษรขอม เมื่ออ่านออกแล้วจึงให้อ่านหนังสือพระมาลัย แล้วท่องสูตรมูลกัจจายน์ เรียนสนธิ เรียนนาม อาขยาตกิตก์ อุณณาทการก จบแล้วขึ้นคัมภีร์เรียนอรรถกถา ธัมมบทมังคลทีปนี สารัตถสังคหะ ปฐมสมันตปาสาทิกา วิสุทธิมัคค์ฎีกาสารัตถทีปนี เมื่อเรียนจบคัมภีร์ดังกล่าวแล้วก็จะมีขีดความสามารถที่จะอ่านพระไตรปิฎกให้เข้าใจได้
          ล่วงมาถึงปี พ.ศ.๒๔๓๓ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งมหาธาตุวิทยาลัย การบอกพระปริยัติธรรม จึงย้ายมาบอกที่มหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ฯ
          การเรียนพระปริยัติธรรม แต่เดิมเรียนภาษามคธเป็นภาษามคธ วิธีการนี้ศึกษาได้จากการดูอัตถโยชนา ซึ่งเป็นหนังสือบอก คำแปลจากภาษามคธเป็นภาษามคธ
          การสอบความรู้ เพื่อที่จะเป็นเครื่องวัดว่ามีความรู้อ่านพระคัมภีร์พระไตรปิฎก แปลเป็นภาษาไทยได้ถูกต้อง ตามศัพท์และไวยากรณ์หรือไม่ การสอบนี้เรียกกันว่าไล่หนังสือ หรือแปลหนังสือ หรือแปลพระปริยัติธรรม เดิมสามปีสอบครั้งหนึ่ง โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเป็นอธิบดีในการสอบ การเข้าสอบอาจารย์จะเป็นผู้ส่งเข้าสอบ ต่อมาเรียกว่า สำนักเรียน เป็นผู้รับรองนักเรียนของตนในการส่งชื่อเข้าสอบ
          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้า ฯ เปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักสูตรการเรียน การสอบ และการสอบใหม่ ตามคำถวายพระพรของสมเด็จพระสังฆราชมี โดยจัดชั้นบาเรียนเป็นประโยค กำหนดไว้ ๙ ประโยค ดังนี้
              ประโยค ๑,๒ และ ๓ สอบคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท ในการสอบต้องสอบให้ได้ทั้งสามประโยคในครั้งเดียวกัน จึงจะได้เป็นบาเรียน ๓ ประโยค จัดเป็นบาเรียนจัตวา หรือบาเรียนสามัญ
              ประโยค ๔  สอบคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ชั้นต้น เดิมเป็นบาเรียนตรี ต่อมาถือเป็นบาเรียนโทชั้นต้น
              ประโยค ๕  สอบคัมภีร์มุตตกวินัยวินิจฉัย ต่อมาเปลี่ยนเป็นสอบคัมภีร์สารัตถสังคหะ เป็นบาเรียนโท
              ประโยค ๖  สอบคัมภีร์มังคลัตถทีปนี ชั้นปลาย ยังคงเป็นบาเรียนโท
              ประโยค ๗  สอบคัมภีร์ปฐมสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย เป็นบาเรียนเอกสามัญ
              ประโยค ๘  สอบคัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นบาเรียนเอกมัชฌิมาหรือบาเรียนเอกมัธยม
              ประโยค ๙  สอบคัมภีร์สารัตถทีปนี ฎีกาพระวินัย ต่อมาเปลี่ยนเป็นสอบคัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี ฏีกาพระอภิธัมมัตถสังคหะ
          เมื่อสอบได้บาเรียน ๓ ประโยค พระมหากษัตริย์จึงทรงตั้งเป็น "มหา"
          สถานที่สอบ แต่เดิมจะสอบที่วัดอันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ประชุมสอบในพระบรมมหาราชวังเป็นบางครั้ง จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์จะทรงฟังการแปลพระไตรปิฎก จึงโปรดเกล้า ฯ ให้ประชุมสอบในพระบรมมหาราชวังทุกครั้ง จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเปลี่ยนแปลงแก้ไขเป็น บาเรียนแบบมหามงกุฎราชวิทยาลัยขึ้น มีการสอบบาลีไวยากรณ์และภาษาไทย
          ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๔๔ ได้เลิกการสอบบาเรียนแบบมหามงกุฎราชวิทยาลัย โปรดเกล้า ฯ ให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นแม่กองกลาง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์เป็นแม่กองเหนือ และสมเด็จพระวันรัตเป็นแม่กองใต้ ประชุมสอบ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
การศึกษาพระปริยัติธรรมในปัจจุบัน

  โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกธรรม
            ตามพระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร มีการยกเว้นสามเณรผู้รู้ธรรมไม่ต้องเข้าเกณฑ์ทหาร ทางเถรสมาคมจึงได้กำหนดองค์ของสามเณรผู้รู้ธรรมขึ้น และจัดการสอบไล่ เพื่อให้สามเณรที่กำลังเรียนบาลีไม่ต้องสึกไปเป็นทหาร จึงเป็นต้นกำเนิดของการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม
           ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงรจนานวโกวาท เพื่อทรงสอนพระภิกษุใหม่ผู้บวชชั่วคราว ระหว่างพรรษาเป็นเวาลา ๓ เดือน และเพื่อให้ได้ประโยชน์ทั่วไป จึงได้ให้ใช้หนังสือนวโกวาทเป็นแบบเรียน สำหรับนักธรรมชั้นตรี ทรงรจนาธรรมวิภาคปริจเฉท ๒ เป็นแบบเรียนสำหรับนักธรรมชั้นโททรงรจนาวินัยมุขกับพุทธประวัติเล่ม ๑,๒,๓ เป็นแบบเรียนสำหรับนักธรรมชั้นเอกรวมทั้งได้ให้มีการแต่งเรียงความแก้กระทู้ธรรม เพื่อให้นักเรียนรู้จักแต่งเทศน์และแสดงธรรมเป็น ในชั้นต่อมาเมื่อคฤหัสถ์มีความประสงค์จะเรียน และสอบความรู้นักธรรมชั้นบ้าง ทางคณะสงฆ์ก็ได้จัดให้มีการสอบธรรม สำหรับคฤหัสถ์ เรียกว่า ธรรมศึกษา แบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ ธรรมศึกษาตรี - โท - เอก ในส่วนของพระภิกษุสามเณรเรียกว่านักธรรม มีนักธรรมตรี - โท - เอก นักธรรมตรีจัดเป็นนวกภูมิเป็นบุพภาคของการเรียนบาลีประโยค ๓ นักธรรมโทจัดเป็นมัชฌิมภูมิ เป็นบุพภาคของการศึกษาบาลี ในชั้นประโยค ๔ ถึง ประโยค ๖  นักธรรมเอกจัดเป็นเถรภูมิเป็นบุพภาคของการศึกษาบาลีประโยค ๗ ถึงประโยค ๙ และเปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า เปรียญธรรม (ป.ธ.) ซึ่งได้ใช้มาจนถึงทุกวันนี้

          มหามงกุฎราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ ในอันที่จะให้พระภิกษุสามเณรได้มีการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เพื่อความเจริญรุ่งเรืองไพบูลย์ของพระพุทธศาสนา จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้จัดตั้งสถาบันการศึกษาในส่วนของคณะสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย พระราชทานนามว่า มหามงกุฎราชวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๙ โดยเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัย ซึ่งพระองค์ได้ทรงสถาปนาไว้ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒
การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกภาษาบาลี
          ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๙  การสอบพระปริยัติธรรมแผนกภาษาบาลี ผู้ที่เข้าสอบต้องเข้าสอบต่อหน้าคณะกรรมการ ต่อหน้าพระที่นั่งในพระบรมมหาราชวัง โดยการจับฉลาก แล้วเข้าไปแปลบาลีด้วยปากเปล่า ซึ่งเรียกต่อกันมาว่า สมัยแปลด้วยปากเปล่า คณะกรรมการตัดสินให้คะแนนและรู้ผลกันในวันนั้น ผู้ที่สอบได้จะได้รับพระราชทานไตรจีวร แพร ซึ่งเป็นของที่มีค่ามากในสมัยนั้น มีพระเปรียญธรรม ๙ ประโยค (ป.ธ.๙) เท่าที่พอมีหลักฐานที่รวบรวมได้ดังนี้
          รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้แก่  สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่ ป.ธ.๙)  เป็นชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๓๖ บวชอยู่ที่วัดราชบูรณะ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระอมรโมลี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๕ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (จี่) มรณะภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๖ อายุ ๘๑ ปี เป็นเจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาส นานที่สุดถึง ๔๑ ปี
          รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  ได้แก่ พระอุดมปิฏก นามเดิม สอน ฉายา พุทฺธสโร เป็นชาวจังหวัดพัทลุง เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดหงสาราม รูปที่ ๕ เป็นเปรียญธรรม ๙ ประโยค ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ที่พระอุดมปิฏก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ ด้วยเหตุที่ท่านเคยคัดค้านการตั้งคณะธรรมยุตินิกาย จึงได้ลาออกจากเจ้าอาวาส กลับไปอยู่ที่ภูมิลำเนาเดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้อาราธนามาในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ทรงรับสั่งว่า "ท่านเดินทางมาแต่ไกล นานปีจึงได้พบกัน ขอจงให้พระดยมให้ชื่นใจทเถิด" เมื่อท่านได้รับอนุญาตจากสมเด็จพระสังฆราชแล้ว ท่านก็ตั้งพัดยศขึ้นถวาพระพรเป็นภาษาบาลีว่า
              อติเรกวสฺสสตํ   ชีว    อติเรกวสฺสสตํ   ชีว    อติเรกวสฺสสตํ  ชีว
              ทีฆายุโก  โหตุ   อโรโค  โหตุ    ทีฆายุโก  โหตุ   อโรโค  โหตุ
              สุขิโต  โหตุ    ปรมินฺทมหาราชา
              สิทฺธิ   กิจฺจํ    สิทธิกมฺมํ    สิทฺธิลาโภ  ชโย   นิจฺจํ
              ปรมินฺทมหาราชาวรสฺส   ภวตุ   สพฺพทา   ขอถวายพระพร
          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสดับ แล้วทรงโปรดคำถวายพระพรบทนี้มาก จึงทรงสั่งให้ถือเป็นธรรมเนียม ให้พระสงฆ์ใช้พรบทนี้ถวายพระมหากษัตริย์ ในพระราชพิธีทั้งปวง จนถึงทุกวันนี้ โดยทรงเติมคำว่า ชีว เป็น ชีวตุ เท่านั้น และได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบมาว่า พระภิกษุผู้ที่จะถวายอดิเรกได้นั้น ต้องมีสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๐  ทางการคณะสงฆ์จึงได้อนุญาตให้พระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ซึ่งถือพัดยศเปลวเพลิง เป็นผู้ถวายอดิเรกได้โดยอนุโลม
          รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  มีอยู่ ๓ ท่านด้วยกันคือ
           สมเด็จพระสังฆราช (สา) ปุสฺสเทวมหาเถร  วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพ ฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นามเดิม สา ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๖ ภูมิลำเนาเดิมอยู่จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๐ อายุ ๑๔ ปี สอบได้ ๒ ประโยค ได้เป็นเปรียญวังหน้า เนื่องจากการสอบพระปริยัติธรรมสมัยนั้น ต้องสอบให้ได้ ๓ ประโยคในคราวเดียวกัน จึงถือว่าสอบได้เปรียญ
           ครั้งนั้นสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ ทรงอุปการะพระภิกษุสามเณรที่สอบได้ตั้งแต่ ๒ ประโยค จนกว่าจะสอบได้เปรียญ ๓ ประโยค ดังนั้นผู้ที่สอบได้ ๒ ประโยค จึงเรียกกันว่า เปรียญวังหน้า
           เมื่อท่านอายุได้ ๑๘ ปี ได้เข้าสอบอีกครั้งหนึ่ง สอบคราวเดียวได้ ๙ ประโยค เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๔ นับเป็นสามเณรเปรียญ ๙ ประโยครูปแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่ออุปสมบทได้ ๖ พรรษา ได้เป็นพระราชคณะที่พระอมรโมลี ต่อมาได้ลาสิกขาออกไปประกอบอาชีพอย่างคฤหัสถ์
          ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๕ เมื่ออายุได้ ๓๙ ปี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ท่านกลับเข้ามาอุปสมบทใหม่ ท่านได้สอบเปรียญ ๙ ประโยคอีกครั้งหนึ่ง จึงมีนามว่า พระมหาสา ปุสฺสเทโว เปรียญธรรม ๑๘ ประโยค เพราะในสมัยนั้น ภิกษุสามเณรเปรียญ หรือนักธรรมรูปใดลาสิกขาไป เมื่อกลับเข้ามาบวชใหม่ต้องสอบใหม่หมดตั้งแต่ต้น ระเบียบดังกล่าวได้ยกเลิกไป เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐
          สมเด็จพระสังฆราช (สา  ปุสฺสเทว)  ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ สิ้นพระชนม์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ พระชนมายุได้ ๘๗ พรรษา เป็นสมเด็จพระสังฆราชได้ ๖ ปี
            สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฉิม)  วัดโมลีโลกยาราม ภายหลังย้ายไปอยู่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ท่านแตกฉานในภาษาบาลีมาก ได้แต่งคาถาภาษาบาลีถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีคำขึ้นต้นว่า ยํยํ เทวมนุสฺสานํ  ซึ่งทางคณะสงฆ์ยังคงใช้สวดในพระราชพิธีจนถึงปัจจุบัน
            สมเด็จพระวันรัต (ทับ  พุทฺธศิริ)  วัดโสมนัสวิหาร ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๔๙ อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ ได้เปรียญ ๙ ประโยค เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๙ ย้ายจากวัดราชาธิวาสไปครองวัดโสมนัสวิหาร เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น ที่พระอริยมุนี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๙ มรณะภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๔ อายุ ๘๖ ปี
          รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
          สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ศรี  อโนมสิริ)  สอบได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ครั้งทรงผนวช เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่า ความรู้ของท่านถึงภูมิเปรียญธรรม ๙ ประโยค จึงพระราชทานเพิ่มเติมให้อีกหนึ่งประโยค รวมเป็น ๙ ประโยค และทรงตั้งให้เป็นพระราชาคณะฤกษ์ ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๔ ที่พระวรญาณมุนี และทรงเปลี่ยนเป็น พระอโนมามุนี ในปีเดียวกัน ปีต่อมาโปรดให้ท่านเป็นหัวหน้าคณะสมณทูตไปลังกาทวีป และโปรดให้ย้ายจากวัดบวรนิเวศไปเป็นเจ้าอาวาสวัดปทุมคงคา
          รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
            พ.ศ.๒๔๔๕  สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโนทัย)  สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ ๑๕ สถิตย์อยู่วัดสระเกศ ท่านเป็นพระมหาเปรียญที่สอบได้ ๙ ประโยค เป็นรูปแรกในรัชกาลนี้ ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้รถหลวงนำไปส่งถึงพระอาราม และได้ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันว่า ภิกษุสามเณรที่สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค ทางสำนักพระราชวังจะจัดรถหลวงนำส่งถึงวัด (ในกรุงเทพฯ) ทุกรูป
            ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระปิฎก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ สิ้นพระชนม์เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ พระชนมายุได้ ๙๐ พรรษา
            พ.ศ.๒๔๔๕  พระมหาเหรียญ  วัดสุทัศย์เทพวราราม ท่านเป็นเปรียญ ๙ ประโยค ของสำนักเรียนธรรมวัดสุทัศน์ ฯ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะที่พระศรีสุทธิวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗ มรณะภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๑ อายุ ๓๙ ปี พรรษา ๑๘
            พ.ศ.๒๔๔๖  พรมหาไคล อุตโม  วัดสุทัศน์เทพวราราม  ไดัรับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะที่พระอมรเมธาจารย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ ถึงแก่มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ รวมอายุ ๕๓ ปี พรรษา ๓๓
            พ.ศ.๒๔๔๖  พระมหาอยู่  เขมจาโร (อุดมศิลป์)  วัดเทพศิรินทราวาส  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะที่พระอมราภิรักขิต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ ลาสิกขาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๙เข้ารับราชการในกรมศึกษาธิการเป็นพนักงานราชบัณฑิต ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นพระธรรมนิเทศทวยหาญ ได้โอนไปเป็นหัวหน้าอนุศาสนาจารยืในกองทับบก เป็นอนุศาสนาจารย์คนแรกของกองทัพไทย จนเษียณอายุราชการ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕
            พ.ศ.๒๔๔๗  สมเด็จพระวันรัต (เฮง  เขมจารี)  วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระศรีวิสุทธิวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นสมเด็จพระวันรัตน์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒
            พ.ศ.๒๔๔๘  สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน  ติสฺสทตฺโต)  วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระศากยบุตติยวงศ์  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔ เป็นสมเด็จพระวันรัต เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๘ ท่านเป็นสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครองรูปแรก ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ท่านมรณะภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ อายุ ๗๒ ปี
           พระมหาหรุ่ม พฺรหฺมโชติโก ป.ธ.๙  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่พระอมรโมลี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๙ ได้ลาสิกขาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕
           พระมหาอำพัน อรุโณ ป.ธ.๙  ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่พระกวีวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ ภายหลังลาสิกขาเมื่อใดไม่ปรากฏ
            พ.ศ.๒๔๕๑  สมเด็จพระสังฆราช (ปลด  กิตฺติโสภโณ)  วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม สอบได้ ป.ธ.๙ ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดปรานมาก ทรงให้จัดรถเข้าขบวนแห่นำส่งถึงพระอาราม ต่อมาทรงอุปถัมภ์จัดการให้อุปสมบทเป็นนาคหลวง และได้ถือเป็นธรรมเนียมสืบมาจนถึงปัจจุบันว่า สามเณรรูปใดสอบได้ ป.ธ.๙ ทรงรับสามเณรรูปนั้นไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เข้าอุปสมบทเป็นนาคหลวงเป็นกรณีพิเศษ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะที่พระศรีสุทธิวงศ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ เป็นสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๔ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค
           พ.ศ.๒๔๕๓  พระมหาทวี  สุวฑฺฒโน  วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม สอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เป็นรูปแรกของวัด เมื่ออุปสมบทได้ ๘ พรรษา ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระราชาคณะที่อมรโมลี พรรษาที่ ๑๒ ได้ขอลาสิกขา ออกไปรับราชการที่กระทรวงธรรมการ และกระทรวงการคลังตามลำดับ เป็นกรรมการชำระปทานุกรม (พจนานุกรม) ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงเทพดรุณานุศิษฎ์ (ทวี ธรรมธัช) ยศเป็นรองอำมาตย์เอก
           ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๙ ทางการคณะสงฆ์ได้กำหนดวิธีการสอบเป็นแบบข้อเขียน และเพิ่มเป็นสามวิชาคือ
              ๑.  วิชาเขียนไทยเป็นมคธ  โดยออกข้อสอบเป็นภาษาไทย ให้ผู้เข้าสอบเขียนตอบเป็นภาาามคธ
              ๒.  วิชาแปลไทยเป็นมคธ  ข้อสอบแปลมาจากภาษามคธเป็นภาษาไทย ให้ตอบเป็นภาษามคธ
              ๓.  วิชาแปลมคธเป็นไทย  ออกข้อสอบเป็นภาษามคธให้ตอบเป็นภาษาไทย
            ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๕๑ จนถึงปี พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นเวลา ๕๑ ปี ไม่ปรากฎว่ามีสามเณรรูปใดสอบได้ ป.ธ.๙ เลย
            ผู้ที่สอนได้ตั้งแต่เปรียญธรรม ๓ ประโยค ขึ้นไปยังคงเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตร พัดยศเปรียญ และไตรจีวรในพระบรมมหาราชวัง ในวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนวันวิสาขบูชา ๑ วัน เป็นประจำทุกปี เรียกว่า วันทรงตั้งพระเปรียญ พระภิกษุที่สอบได้ประโยค ป.ธ.๓ แล้ว ถ้ายังไม่ผ่านพ้นวัน จะยังไม่ใช้คำนำหน้าชื่อว่า พระมหาไม่ได้ คงใช้เช่นเดียวกับสามเณร คือ มีคำว่าเปรียญตามหลังชื่อ
            ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๘๘ เป็นต้นมา มีพระภิกษุามเณรสอบได้มากขึ้น จึงทรงมอบหมายให้สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก ทรงดำเนินการแทนพระองค์ ยกเว้นผู้ที่สอบได้ ป.ธ.๖ และ ป.ธ.๙ ยังคงโปรดให้เข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตร พัดยศเปรียญและไตรจีวร เหมือนเดิม และยังคงให้รถหลวงนำส่งเฉพาะผู้ที่สอบได้ ป.ธ.๙
            หลังจากปี พ.ศ.๒๕๑๐ ทางคณะสงฆ์โดยสมเด็จพระพุทธโฆษาารย์ (ฟื้น  ชุตินธรมหาเถระ ป.ธ.๙) วัดสามพระยา ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปัญญาบดี แม่กองบาลีสนามหลวง ได้จัดให้มีการสอบเปรียญธรรมประโยค ๑ - ๒ อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่คณะสงฆ์ได้ยกเลิกการสอบประโยค ๑ - ๒ ไปชั่วระยะหนึ่ง
            เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงจัดองค์นักธรรมขึ้นครบทั้งสามชั้น แล้วในปี พ.ศ.๒๔๕๔ ได้เปิดสอบนักธรรมตรีขึ้นเป็นปีแรก พระปลัดแบน คณฺฐาภรโณ อายุ ๒๗ พรรษา ๗ วัดบวชนิเวศวิหาร สมัครสอบเป็นรูปแรกและสอบได้เป็รูปแรก ภายหลังท่านได้เป็นที่พระรัตนธัชมุนี พระราชาคณะชั้นธรรม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๖๐ ได้เปิดสอบนักธรรมโท พ.ศ.๒๔๖๕ เปิดสอบนักธรรมเอก
            ได้มีการจัดให้สอดคล้องกับการศึกษาบาลี เดิมดังที่ได้กล่าวมาแล้วแต่ต้นในเรื่องของนวกภูมิ มัชฌิมภูมิ และเถรภูมิ จึงนิยมเรียกผู้ที่สอบบาลีได้ ป.ธ.๓ ว่า เปรียญตรี ผู้ที่สอบ ป.ธ. ๔ - ๕ - ๖ ว่า เปรียญโท และเรียกผู้ที่สอบได้ ป.ธ.๗ - ๘ - ๙ ว่า เปรียญเอก

ผนวก ก

ผู้ที่สอบบาลีประโยค ป.ธ.๙ ได้ด้วยข้อเขียน ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๙ เป็นต้นมา

ผนวก ข

ผู้ที่สอบเปรียญธรรม ๙ ประโยค ได้ในขณะที่เป็นสามเณร


   | หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |