| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี สมัยปัจจุบัน
    หลักสูตร ชั้นประโยค ๑ - ๒ และเปรียญตรี ปีที่ ๑,๒
                    ๑.  วิชาบาลีไวยากรณ์  ใช้หนังสือบาลีไวยากรณ์ ๔ เล่ม คือ
                        -  อักษรวิธี ภาคที่ ๑ สมัญญาภิธาน และสนธิ
                        -  วจีวิภาค ภาคที่ ๒ นามและอัพยยศัพท์
                        -  วจีวิภาค ภาคที่ ๒ อาขยาตและกิตก์
                        -  วจีวิภาค ภาคที่ ๒ สมาสและตัทธิต
                    ๒.  วิชาแปลมคธเป็นไทย  แปลโดยพยัญชนะและอรรถใช้หนังสือธัมมปทัฏฐกถา ๔ เล่ม คือ
                        -  ธมฺมปทฏฺฐกถา  (ปฐโม  ภาโค - ภาคหนึ่ง)
                        -  ธมฺมปทฏฺฐกถา  (ทุติโย  ภาโค - ภาคสอง)
                        -  ธมฺมปทฏฺฐกถา  (ตติโย  ภาโค - ภาคสาม)
                        -  ธมฺมปทฏฺฐกถา  (จตุตฺโถ  ภาโค - ภาคสี่)
    หลักสูตรชั้นประโยค ป.ธ.๓
                    ๑. วิชาบาลีไวยากรณ์  ใช้หนังสือบาลีไวยากรณ์ ๔ เล่ม ที่กล่าวแล้วในชั้นประโยค ๑ - ๒ เป็นหลัก
                    ๒. วิชาแปลมคธเป็นไทย  แปลโดยพยัญชนะและอรรถ  ใช้หนังสือธัมมปทัฏฐาน ๔ เล่ม คือ
                        -  ธมฺมปทฏฺฐกถา  (ปญฺจโม  ภาโค - ภาคห้า)
                        -  ธมฺมปทฏฺฐกถา  (ฉฏฺโฐ  ภาโค - ภาคหก)
                        -  ธมฺมปทฏฺฐกถา  (สตฺต  ภาโค - ภาคเจ็ด)
                        -  ธมฺมปทฏฺฐกถา  (อฏฺฐ  ภาโค - ภาคแปด)
                    ๓. วิชาสัมพันธ์ไทย  แปลโดยพยัญชนะและอรรถ  ใช้หนังสือธัมมปทัฏฐกถา ๔ เล่ม ที่กล่าวแล้วในข้อ ๒.
                    ๔. วิชาบุรพภาค  ไม่มีหนังสือใช้เป็นหลักสูตรที่แน่นอน  ส่วนมากจะเป็นข้อเขียนภาษาไทย  การเขียนจดหมายราชการ  หรือประกาศ
            แบบเรียนบาลีไวยากรณ์   มีอยู่ ๔ เล่ม เป็นหนังสือที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรจนาขี้นใช้เป็นแบบเรียนภาษาบาลีแทนมูลปกรณ์ (มูลกัจจายนไวยากรณ์) แบบเรียนภาษาบาลีเก่า
            แต่เดิมผู้เริ่มเรียนภาษาบาลีจะต้องเรียนมูลปกรณ์ก่อน แล้วจึงเรียนแปลธัมมปทัฏฐกถา มูลปกรณ์เป็นแบบเรียนที่เรียนได้ยาก เพียงแต่ท่องสูตรกว่าจะจบก็กินเวลาหลายเดือน กว่าจะเรียนจบก็กินเวลาเป็นปี ๆ ผู้ที่เริ่มศึกษาจะท้อถอยแล้วเลิกเรียนไปกลางคัน
            แบบเรียนบาลีไวยากรณ์เป็นที่นิยมใช้เรียนกันแพร่หลายตั้งแต่สมัยสอบแปลบาลีปากเปล่าจนถึงสมัยสอบแปล
บาลีด้วยข้อเขียน  จึงได้ใช้เป็นแบบเรียนบาลีประโยค ๓ สมัย เริ่มต้นที่พระมหาสมณเจ้า ฯ ทรงจัดการศึกษาปริยัติธรรม
    แบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ๑ - ๒ และประโยค ป.ธ.๓
            หนังสือธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๑ - ๔   ใช้เป็นแบบเรียนหลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวง วิชาแปลมคธเป็นไทย โดยพยัญชนะและโดยอรรถ ชั้นประโยค ๑ - ๒ และเปรียญตรีปีที่ ๑ - ๒หมวดบาลีศึกษา นอกจากนั้นธัมมปทัฏฐกถาภาค ๑ ยังใช้เป็นหลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวงวิชาแปลไทยเป็นมคธชั้นประโยค ป.ธ.๔ ด้วย
            หนังสือธัมมปทัฎฐกถา ภาค ๒ - ๔  ใช้เป็นหลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวงวิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๕
            หนังสือธัมมปทัฎฏฐกถา ภาค ๕ - ๘  ใช้เป็นแบบเรียนหลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวง วิชาแปลมคธเป็นไทย โดยพยัญชนะและอรรถ และวิชาสัมพันธ์ไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๓ และเป็นแบบเรียนหลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวง วิชาแปลไทยเป็นมคธ ชั้นประโยค ป.ธ.๖ ด้วย
            ธมฺมปทฏฺฐคาถา  หมายถึงคำที่กล่าวอธิบายข้อธรรมที่พึงรู้ หรืออธิบายหมู่ธรรม
            หนังสีอธัมมปทัฏฐกถา  เป็นหนังสืออธิบายพระไตรปิฎก คัมภีร์ขุททกนิกาย ธัมมบท ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่จัดพิมพ์รวมอยู่กับคัมภีร์อื่น ๆ ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ มีเฉพาะคาถา เริ่มตั้งแต่คาถาที่ ๑ คือ
                    มโนปุพฺพงฺคมา  ธมฺมา        มโนเสฏฐา  มโนมยา
                    มนสา  เจ  ปทฏฺเฐน                ภาสติ  วา  กโรติวา
                    ตโต  นํ  ทุกขมเนฺวติ                จกฺกํว  วหโต  ปทํ
           จนถึงคาถาสุดท้ายของธัมม คือ
                    อโถ  ชาติกฺขยํ  ปตฺโต              อภิญญา  โวสิโต  มุนิ
                    สพฺพโวสิตโวสานํ                    ตมหํ  พฺรูมิ  พฺราหฺมณํ และมีภาษาแสดงจำนวนมาก จำนวนเรื่อง จำนวนคาถา ในตอนท้ายว่า
                    คาถาสตานิ  จตฺตาริ                  เตวีส  จ  ปุนาปเร
                    ธมฺมปเท  นิปาตมฺหิ                   เทสิตา  ทิจฺจพนฺธุนา
            หนังสือธมฺมปทฏฺฐกถา ๘ ภาค  เป็นหนังสืออธิบายพระธรรมบท ๓๐๐ กว่าคาถา ประกอบด้วยเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงคาถาธรรมบท และอธิบายคาถาทุกคาถา  กล่าวกันว่าพระพุทธโฆสเถระเปน็ผู้รจนาตามจินตนาการว่าได้มีบุคคลนั้นๆ กระทำอย่างนั้นๆซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ แล้วพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมให้ฟัง สรุปด้วยคาถาตามประวัติศาสตร์ กับหลักฐานทางคัมภีร์พบว่า พระพุทธโฆษาจารย์ เพียงแต่ดำเนินการรวบรวมแปลจาภาษาสิงหลกลับเป็นภาษามคธ
            อรรถกถานั้นท่านทรงจำสืบต่อมา (ปรมฺปราภตา) จนถึงสังคายนาครั้งที่ ๓  แล้ว
พระมหินทเถระนำมาเผยแพร่ที่ศรีลังกา แล้วพระสงฆ์ลังกาแปลเป็นภาษาสิงหล ต่อมาพระพุทธโฆสะได้แปลกลับไปเป็นภาษามคธ
            อรรถกถาทั้งหมดที่อธิบายพระไตรปิฎก มีมาแต่สมัยพุทธกาล แล้วมาเพิ่มเติมอีกบางส่วน ซึ่งพระธัมมปาลเถระ ชาวชมพูทวีป ผู้รจนาคัมภีร์ฎีกา อธิบายอรรถกถาหลายคัมภีร์ ได้กล่าวไว้ว่า
            ปฐมสงฺคีติยํ ยา อฏฐกถา สงฺคีตาติ วจเนน สา ภควโต ธรมานกาเลปิ อฎฺฐกถา สํวิชฺชติ
            "อรรถกถาที่พระสังคีติกาจารย์ รวบรวมร้อยกรองไว้เมื่อคราวปฐมสังคายนา คือ อรรถกถา ที่มีมาแต่สมัยที่พระพุทธเจ้าทรงพระชนม์อยู่"
            แสดงว่าการอธิบายพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก ได้มีมาตั้งแต่ สมัยพุทธกาล ซึ่งสั่งสอนสืบต่อบอกกันด้วยปากนั้น  พระสาวกผู้ทรงพระไตรปิฎกจะต้องทรงจำอรรถกถาให้ได้ด้วย
            ในส่วนแห่งพระไตรปิฎกที่เป็นประเภทคาถาจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ ซึ่งไม่มีเรื่องเล่าอันเป็นเหตุเกิดพิมพ์อยู่ด้วย  ในสมัยก่อนพระสาวกผู้ทรงจำจะต้องทรงจำอรรถกถาด้วย  ดังที่ท่านได้วางหลักไว้ว่า
            ชาตกภาณเกน  สาฏฐกถํ  ชาตกํ  อุคฺคเหตพฺพํ  ตโต โอรํ  น วฏฏติ  ธมฺมปทมฺปิ สห วัตฺถุนา อุคคเหตุํ วฎฎติ
            "ผู้ที่จะ (ทรงจำ) กล่าวสั่งสอนชาดก (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ - ๒๘) ต้องเรียนชาดกพร้อมทั้งอรรถกถา (อรรถกถาชาดก ๑๐ เล่ม)  ต่ำกว่านั้นใช้ไม่ได้  ธรรมบทควรจะเรียนพร้อมกับเรื่อง (ธัมมบทอรรถกถา ๘ เล่ม)"
            ธัมมปทัฏฐกถา หรือธรรมบทอรรถกถา เป็นคัมภีร์อธิบายบทธรรมที่พระพุทธเจ้าแสดงไว้แก่บุคคลต่าง ๆ ในโอกาสต่าง ๆ  ต่างคราวต่างเวลากัน  พระสาวกทั้งหลายจดจำนำสืบค้นต่อ ๆ มาด้วยมุขปาฐะ คือ การท่องจำด้วยปาก ทรงจำด้วยใจ  มาจัดเป็นหมวดหมู่เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๑   ต่อมาได้จารึกเป็นลายลักษณ์อักษรลงในใบลาน เมื่อคราวสังคายนาครั้งที่ ๙๕ ที่เกาะสิงหล เมื่อประมาณปี พ.ศ.๔๐๐  เรียกชื่อว่าคัมภีร์ "ธัมมปทคาถาบาลี" มีคำอธิบายที่พระสาวกทั้งหลายได้อธิบายไว้นำสืบต่อกันมา จารึกไว้ด้วยภาษาสิงหลพร้อมกับจารึกพระไตรปิฎก  ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.๙๐๐ พระพุทธโฆษาจารย์ ได้เดินทางไปเกาะสิงหล แล้วได้แปลคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา เป็นภาษามคธ  ส่วนมากเชื่อกันว่าท่านรจนาขึ้นใหม่ในคราวนั้นเป็นครั้งแรก
            คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ได้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรในประเทศไทย ที่พอจะมีหลักฐานก็ประมาณ พ.ศ.๒๐๖๐ เมื่อพระสิริมังคลาจารย์รจนาคัมภีร์มังคลัตถทีปนี  ท่านได้อ้างข้อความจากคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา ได้รับการจารึกเป็นอักษรล้านนาลงในใบลานบ้าง  เป็นอักษรขอมบ้าง  ในเวลาต่อมาได้คัดลอกเปลี่ยนจากอักษรขอมเป็นอักษรไทย จัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือตามที่ปรากฏการพิมพ์ประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๙ เป็นฉบับของมหามงกุฎราชวิทยาลัย  และได้รับการจัดพิมพ์เรื่อยมา
            ธมฺมปทปาลิ  เป็นคำสอนประเภทคาถา ซึ่งเป็นหนึ่งในเก้าประเภท  คาถาในนวังคสัตถุศาสน์นี้ พระสังคีติกาจารย์ มิได้รวบรวมจัดนิทานที่เป็นเหตุเกิดพระสูตรไว้ด้วยกัน
            ผู้รจนา (แปล) คัมภีร์ธมฺมปทฏฺฐกถา  คือ พระพุทธโฆษะเถระ ท่านเป็นชาวชมพูทวีป มีชีวิตอยู่ในช่วงปี พ.ศ.๙๐๐ - ๑๐๐๐  เรียนจบไตรเพท  ภายหลังเกิดความสนใจศึกษาพระพุทธศาสนา จึงได้ออกบวชเป็นพระภิกษุฝ่ายเถรวาท ได้ศึกษาจนจบพระไตรปิฎกแล้วได้ไปศึกษาอันธกอรรถกถา จบแล้วได้รจนาคัมภีร์ญาโณทัย  คัมภีร์อัฏฐสาลินี อธิบายคัมภีร์อภิธัมมปิฎกสังคณีเสร็จแล้ว เริ่มรจนาคัมภีร์ปริตตอรรถกถา ท่านเรวตเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์เห็นเข้าจึงบอกว่า ที่ชมพูทวีปนี้ไม่มีอรรถกถาเลย  ที่เกาะสิงหลมีอรรถกถาภาษาสิงหล ซึ่งท่านพระมหินทเถระได้อาศัยแนวทางตามที่ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ และพระสารีบุตรเถระรวบรวมไว้ ผ่านการสังคายนาถึงสามครั้ง แล้วแปลเป็นภาษาสิงหล จึงขอให้ไปศึกษาอรรถกถาที่นั่น แล้วแปลกลับมาเป็นภาษามคธ
            พระพุทธโฆสะจึงเดินทางไปเกาะสิงหล  พักอยู่ที่สำนักสงฆ์ฝ่ายมหาวิหาร  ได้ศึกษาอรรถกถาภาษาสิงหลและ หลักการของฝ่ายเถรวาทจนหมดสิ้น จึงขออนุญาตคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหารเพื่อแปลอรรถกถาภาษาสิงหลเป็นภาษามคธ ทางคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหารได้ทดสอบความรู้ของท่านจึงได้มอบคาถาให้สองคาถา ให้ท่านรจนาขยายความ ท่านก็อธิบายได้อย่างถูกต้อง ท่านได้เขียนเรื่องย่อพระไตรปิฎกทั้งหมด และได้ตั้งชื่อหนังสือเล่มนี้ว่า วิสุทธิมรรค แปลว่าทางแห่งความบริสุทธิ ซึ่งเป็นคัมภีร์เล่มแรกที่เขียนขึ้นในขณะที่อยู่ในลังกา เมื่อคณะสงฆ์ได้เห็นปัญญาความสามารถของท่าน แล้วจึงได้อนุมัติให้ท่านแปลอรรถกถาเหล่านั้น มาเป็นภาษามคธได้ตามประสงค์ ในบรรดาอรรถกถาอธิบายพระไตรปิฎก ที่ท่านแปลนั้นมีอรรถกถาธรรมบทรวมอยู่ด้วย
            พระพุทธโฆษาจารย์  เป็นพระอรรถกถาชั้นนำ เป็นนักปราชญ์ในประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท คัมภีร์อรรถกถาพระวินัยปิฎก อรรถกถาพระสุตตันตปิฎกทั้งสี่นิกาย คือ ฑีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตรนิกาย รวมทั้งขุททกนิกายบางตอน และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎกก็เป็นผลงานของทาน
            การศึกษาภาษาบาลีในประเทศไทยตั้งแต่ชั้นต้นจนถึงชั้นสูงสุด ก็ได้ใช้ตำราของท่านเกือบทั้งหมด
  หลักสูตรประโยค ป.ธ.๔
                ๑. วิชาแปลไทยเป็นมคธ  ใช้หนังสือ ธัมมปทัฏฐกถา ภาคที่ ๑
                ๒. วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้หนังสือ มงฺคลตฺถทีปนี (ปฐม ภาโค)
   หลักสูตรประโยค ป.ธ.๕
                ๑. วิชาแปลไทยเป็นมคธ  ใช้หนังสือธัมมปทัฏฐกถา ภาคที่ ๒,๓ และ ๔
                ๒. วิชาแปลมคธเป็นไทย  ใช้หนังสือ มงฺคลตฺทีปนี (ทุติโย ภาโค)
   แบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทย ชั้นประโยค ป.ธ.๔ - ๕
            หนังสือมังคลัตถทีปนี  เป็นหนังสืออธิบายมงคลสูตร มงคลสูตร นั้นมาในขุททกนิกาย ขุททกปาฐปาลิ (ขุ.ขุ. ๒๕ /๑/๓ - ๕ และคัมภีร์ขุททกนิกาย สุตตนิบาตปาลิ (ขุ.สุ.๒๕/๓๘๔ - ๓๘๖) พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕
            มงคลสูตรเป็นคำสอนประเภทเดยยะ คือมีข้อความเป็นร้อยแก้ว ผสมร้อยกรอง
            ผู้รจนาคัมภีร์มังคัลตถทีปนี  คือ พระสิริมังคลาจารย์ พระภิกษุชาวเมืองเชียงใหม่ มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ผลงานของท่านจากหลักฐานแสดงประวัติ มีอยู่สี่เรื่องคือ เวสสันดรทีปนี จักกวาฬทีปนี สังขยาปกาสกฎีกา มังคลัตถทีปนี
            ประวัติของท่านปรากฎอยู่ในตอนท้ายผลงานของท่าน มีใจความว่า เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก มีศรัทธาความรู้ปรารถนาให้ตนและผู้อื่นมีความรู้ ได้รจนาคัมภีร์เวสสันตรทีปนี จักกวาฬทีปนี สังขยาปกาสกฎีกา ขณะพักอยู่ที่วัดสวนขวัญ อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของวัดพระสิงห์ในเมืองเชียงใหม่ และรจนามังคลัตถทีปนีในขณะที่พักอยู่ที่สุญญาคาร ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไปทางทิศใต้ ๑ คาวุต ในช่วงปี พ.ศ.๒๐๖๐ - ๒๐๖๗ ในสมัยของท้าวลก เข้านครเชียงใหม่ อันเป็นนครที่มีความเจริญอย่างยิ่ง ผู้มีพระราชศรัทธาล้ำเลิศ ปรารถนาพระสัพพัญมุตญาณเสื่อมในในพระพุทธศาสนา
            ช่วงเวลาการรจนา  ผลงานดังกล่าวอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าดิลกปนัดดาธิราชหรือพระเมืองแก้ว
   หลักสูตรประโยค ป.ธ.๖
                ๑.วิชาแปลไทยเป็นมคธ ใช้หนังสือธัมมปทัฎฐกถา สี่เล่มคือ ธัมปญจโมภาโค (ภาคที่ห้า)  ฉฎโฐ ภาโค (ภาคที่ หก)  สตฺตโม ภาโค (ภาคที่เจ็ด)  และอฎฺฐโม ภาโค (ภาคที่แปด)
                ๒.วิชาแปลมคธเป็นไทย ใช้หนังสือ สมนฺตปาสาทิกา (ตํติโย ภาโค - ภาคที่สาม)
  หลักสูตรประโยค ป.ธ.๗
                ๑. วิชาแปลเป็นมคธ  ใช้หนังสือมังคสัตถทีปนี (ปฐมโม ภาโค - ภาคแรก)
                ๒.วิชาแปลมคธเป็นไทย  ใช้หนังสือสมันตปาสาทิกา (ปฐมโม ภาโค และทุติโย ภาโค)
   แบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทย ขั้นประโยค ป.ธ. ๖ - ๗
            หนังสือสมันตปาสาทิกา  แบ่งออกเป็น ๓ เล่ม คือ
                ๑. สมนฺตปาสาทิกา  วินยฏฐคถา ปฐมภาค  อธิบายพระวินัยปิฎก เล่ม ๑ (ปาราชิก ๔ สิกขาบท สังฆาทิเสล ๑๓ สิกขาบท  อนิยต ๒ สิกขาบท
                ๒. สมนฺตปาสาทิกา  วินยฎฐกถา ทุติยภาค อธิบายพระวินัยปิฎก เล่ม ๒ - ๓ (นิสสัคคีย์ ๓๐ สิกขาบท ปาจิตตีย์ ๙๒ สิกขาบท เสขิยะ ๗๕ สิกขาบท อธิกรณสมถา ๗ และศีล ๓๑๑ สิกขาบท
                ๓. สมนฺตปาสาทิกา  วินยฎฐกถา ตติยภาค อธิบายพระไตรปิฎกเล่ม ๔ - ๘
            ผู้รจนาคัมภีร์สมันตปาสาทิกา คือ พระพุทธโฆสะเถระ ชาวชมพูทวีป
  หลักสูตรชั้นประโยค ป.ธ.๘
                ๑. วิชารจนาฉันท์มคธ  รจนาฉันท์เป็ยภาษามคธ ๓ ฉันท์ ในจำนวน ๖ ฉันท์  มีปัฐยาวัตร อินทรวิเชียรอุเปนทรวิเชียร อินทรวงศ์ วีงสัฎฐ วสันตดิลก
                ๒. วิชาแปลไทยเป็นมคธ  ใช้หนังสือ สมันตปาสสาทิกา (ปฐโม ภาโ๕)
                ๓. วิชาแปลมคธเป็นไทย  ใช้หนังสือ วิสิทฺธิมคฺค
   แบบเรียนวิชาแปลมคธเป็นไทย
            หนังสือวิสุทฺธิมคฺค ผู้รจนาคือพระพุทธโฆสาจารย์ คัมภีร์วิสุทธิมรรคได้บรรจุความรรู้เกี่ยวกับเรื่องศีล สมาธิ ปัญญา ที่เรียกว่า ไตรสิกขา ไว้อย่างพิสดาร  ผู้ใดได้ศึกษาวิชาทางพระพุทธศาสนา  ถ้าไม่ได้ผ่านคัมภีร์วิสิทธิมรรคก่อนแล้ว จะไม่แตกฉานในพระพุทธศาสนา
            คัมภีร์วิสุทธิมรรค  เป็นคัมภีร์ของคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหาร มีเนื้อหาคล้ายคลีงกับคัมภีร์วิมุตธิมรรคของคณะสงฆ์ฝ่ายอภัยคีรีวิหาร ซึ่งรจนาโดยพระอุปติสสเถระ ชาวศรีลังกา
            คัมภีร์วิสุทธิมรรค  เผยแพร่อยู่ในคณะสงฆ์ฝ่ายเถรวาท ซึ่งสืบต่อมาจากคณะสงฆ์ฝ่ายมหาวิหาร  ส่วนคัมภีร์วิมุตติมรรค เผยแพร่อยู่ในคณะสงฆ์ฝ่ายอาจริยวาท (มหายาน) ซึ่งสืบต่อมาจากคณะสงฆ์ฝ่ายอภัยคีรีวิหาร  วิมุตติมรรค ได้แปลเป็นภาษาจีน โดยพระปิฎกสังฆปาลเถระแห่งฟูนัน (ปัจจุบันคือกัมพูชา) เมื่อประมาณปี พ.ศ.๖๐๐ แปลเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ ปัจจุบันมีฉบับแปลภาษาไทย โดยพระราชวรมุนี (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) และคณะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘
            คัมภีร์วิสุทธิมรรค  พรรณาไตรสิกขาคือ อธิสีลสิกขา อธิปัญญาสิกขา โดยตั้งเป็นหัวข้อ ๓ หัวข้อคือ สีลนิทเทส สมาธินิเทส ปัญญานิเทส เป็นคัมภีร์อรรถกถาที่อธิบายพระไตรปิฎก โดยย่อส่วนจากอรรถกถาของนิกายทั้งสี่คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย และอังคุตตรนิกาย โดยตรงมีความยาวประมาณ ๕๙ ภาณวาร ไม่มีคำไหว้ครูเหมือนคัมภีร์อื่น ๆ เพราะถือว่าเป็นอรรถกถากลางของพระสุตตันตปิฎก มีคำขึ้นต้นที่เรียกว่านิทาน ตั้งเป็นกระทู้  แบบเรียงความแก้กระทู้ธรรม ยกเป็นนิกเขปบทแล้ววิสัสชนา บอกความประสงค์ของการรจนาคัมภีร์ แสดงความหมายของคำ และย่อความไว้ในเบี้องต้น
            วิสุทธิมรรคกับวิมุตติมรรค  คัมภีร์วิสุทธิมรรค มีเนื้อหาคล้ายคลึงกับวิมุตติมรรค แต่รจนาภายหลังวิมุตติมรรคพระพุทธโฆษาจารย์ อ้างทัศนะแห่งคัมภีร์วิมุตติมรรคหลายแห่ง โดยใช้คำว่าอาจารย์บางพวก
            คัมภีร์ทั้งสองนี้  เนื้อหาคล้ายคลึงกันก็จริง แต่คาถาเบื้องต้นที่เป็นบทอุเทศใช้ต่างกัน พระอุปติสสเถระ เริ่มต้นโดยยกพระคาถาจากคัมภีร์ทีฆนิกายมหาวรรค และคัมภีร์อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต มาเป็นบทอุทเทสว่า
                      สีลํ สมาธิ ปญฺญา จ                   วิมุตติ จ อนุตฺตรา
                      อนุพุทฺธา   อิเม ธมฺมา                โคตเมน ยสฺสสินา
                    "พระโคดมผู้ทรงยศ ได้ทรงบรรลุคุณธรรมเหล่านี้แล้ว
                    คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และวิมุตติอันยอดเยี่ยม"
                    คาถานี้กล่าวถึงผลที่ผู้ปฏิบัติได้บรรลุแล้ว  มิได้กล่าวถึงขั้นตอนในการปฏิบัติ  แต่เนื้อหาในคัมภีร์วิมุตติมรรค แสดงขั้นตอนการปฏิบัติ เช่นเดียวกับคัมภีร์วิสุทธิมรรค
            พระพุทธโฆษาจารย์เริ่มต้นโดยยกพระคาถาจากคัมภีร์สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มาเป็นบทอุทเทสว่า
                     สีเล ปติฏฐาย  นโร  สปญโญ                จิตตํ  ปัญญญฺจ  ภาวยํ
                     อาตาปี  นิปโก  ภิกฺขุ                                โส  อิมํ  วิชฎเย  ชฎํ
                    "ภิกษุเป็นคนมีปัญญา  ดำรงอยู่ในศีลแล้ว  มีความเพียร  มีความเฉลียวฉลาด
                    เมื่อได้เจริญจิต (สมาธิ) และปัญญา (วิปัสสนา) แล้ว จะสามารถสะสางรกชัฏนี้ได้"
            คาถานี้กล่าวถึงขั้นตอนการปฏิบัติ  คือต้องรักษาศีลให้บริสุทธิ์ก่อน แล้วจึงค่อยเจริญสมาธิวิปัสสนา  สมกับที่พระพุทธเจ้าตรัสย้ำกับภิกษุทั้งหลาย เมื่อจวนจะดับขันธปรินิพพาน ว่า
                สีลปริภาวิโต  สมาธิ  มหปฺผโล  โหติ  มหานิสํโส  สมาธิปริภาวิตา  มหปฺผลา  โหติ  มหานิสํสา  ปญฺญาปริภาวิตํ  จิตฺตํ  สมฺมเทว  อาสเวหิ  วิมุจฺจติ  เสยฺยถีทํ  กามาสวา  ภวาสวา  อวิชฺชาสวา
                "สมาธิที่อบรมด้วยศีล (มีศีลเป็นพื้นฐาน) ย่อมมีผลานิสงส์มาก  ปัญญาที่อบรมด้วยสมาธิ ย่อมมีอานิสงส์มาก  จิตที่อบรมด้วยสมาธิ ย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ  ภวาสวะ  อวิชชาสวะ"
                พระพุทธโฆสะได้อธิบายชี้แจงให้รู้จักศีล  วิธีรักษาศีล  ศีลเป็นพื้นฐานของสมาธิอย่างไร ชี้แจงให้รู้จักสมาธิ วิธีและเครื่องมือที่จะปฏิบัติให้เกิดสมาธิ  สมาธิเป็นพื้นฐานของปัญญาอย่างไร ชี้แจงให้รู้จักปัญญา  จะปฏิบัติให้เกิดปัญญาอย่างไร
            ในช่วงต่อระหว่างสีลนิทเทสกับสมาธินิทเทส  พระพุทธโฆสะได้แสดงความต่อเนื่องกันว่า
            ปริโยทาเต  อิมสฺมี  สีเล  ปติฏเตน  โยคาวจเรน  "สีเล  ปติฏฐาย  นโร  สปญฺโญ  จิตฺต" ปญฺญญฺจ  ภาวยนฺติ  วจนโต  จิตฺตสีเลน  นิททิฏฺโฐ  สมาธิ  ภารวตพฺโพ
            "ภิกษุผู้ดำรงอยู่ในศีลอันผ่องแผ้วนี้แล้ว  พึงเจริญสมาธิตามที่ท่านแสดงไว้โดยยกจิตเป็นหัวข้อตามพระบาลีว่า "สีเล ปติฏฐาย  นโร สปญฺโญ  จิตตํ  ปญฺญญฺจ  ภาวยํ
            ในช่วงต่อระหว่างสมาธิกับปัญญา  พระพุทธโฆสะได้แสดงความต่อเนื่องกันว่า
            อธิคตานิสํสาย  ถิรตราย  สมาธิภาวนาย  สมนฺนาคเตน  ภิกฺขุนา  สีเล  ปติฏฺฐาย  นโร  สปญฺโญ  จิตฺตํ  ปญฺญญฺจ  ภาวยนฺติ  เอตฺถ  จิตฺตสีเลน  นิทฺทิฏฺโฐ  สมาธิ  สพฺพากาเรน  ภาวิโต โหติ  ตทนนฺทรา  ปน  ปญฺญา  พาเวตพฺพา
                "ภิกษุผู้มีสมาธิภาวนาอันมั่นคงซึ่งได้รับอานิสงส์แล้ว  เป็นอันได้เจริญสมาธิตามที่ท่านแสดงไว้ โดยยกจิตเป็นหัวข้อตามพระบาลีว่า "สีเล  ปติฏฺฐาย  นโร  สปญฺโญ  จิตฺตํ  ปญฺญญฺจ  ภาวยํ  แล้วโดยประการทั้งปวง  ต่อจากนั้นพึงเจริญปัญญา"
            พระพุทธโฆสาจารย์ วางหลักศีล สมาธิ ปัญญา ตามนัยที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ในคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรค กับคัมภีร์สังยุตตนิกาย มหาวรรค  ถือเป็นหลักที่ถูกต้องแห่งเถรวาท
   หลักสูตรชั้นประโยค ป.ธ.๙
            ชั้นประโยค ป.ธ.๙ ใช้หนังสืออภิธมฺมตฺคสงฺคห  อภิธมฺมตฺถวิภาวินี เป็นแบบเรียน
            อภิธมฺมตฺคสงฺคห  เป็นหนังสือที่ย่อพระอภิธรรมปิฎก ฯ ปกรณ์ (พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๔ - ๔๕) มีเนื้อหาประมาณ ๕,๐๐๐ หน้า เหลือ ๕๙ หน้า
            อภิธมฺมตฺถวิภาวินี  เป็นหนังสืออธิบายอภิธฺมมตฺกสงฺคห
            ผู้รจนาคัมภีร์อภิธมฺมตฺคสงฺคห  คือ พระอนุรุทธาจารย์ เป็นพระเถระชาวชมพูทวีป มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี พ.ศ.๑๗๐๘ - ๑๗๔๑ ในรัชสมัยพระเจ้าปรักกมพาหุที่ ๑  ท่านรจนาคัมภีร์ปรมัตถวินิจฉัย นามรูปปริเฉทและอภิธัมมัตถสังคหะ ซึ่งมีชื่อเสียงมากในโลกวรรณกรรมแห่งพระอภิธรรม ได้นำมาใช้เป็นแบบเรียนพระอภิธรรม ในวงการคณะสงฆ์ยุคต่อมา ทั้งในศรีลังกา พม่าและไทย จนถึงปัจจุบัน
             อภิธมฺมตฺถวิภาวิน รจนาโดยพระสุมังคลสานีเถระ ชาวศรีลังกา  คัมภีร์นี้อธิบายขยายความคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ ได้รับความนิยมอบ่างแพร่หลาย เนื้อหาของคัมภีร์มีสาระลึกซึ้ง และไม่ยาวเกินไป
            มีผู้รจนาคัมภีร์ฎีกา อธิบายความคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ เรียงตามลำดับยุคสมัย ดังนี้
                ๑. อภิธัมมัตถสังคหฎีกา (ปุราณฎีกา)  รจนาโดยพระเถระชาวลังกา
                ๒. อภิธัมมัตถวิภาวินี (อภินวฎีกา)  รจนาโดยพระสุมังคลาสามีเถระ  พระสังฆราชลังกา (ประมาณ พ.ศ.๑๗๐๐)
                ๓. สังเขปวัณณนา รจนาโดยพระสัทธัมมโชติปาลเถระ ในรัชสมัยพระเจ้านรบดี แห่งกรุงอังวะ ประเทศพม่า
                ๔. ปรมัตถทีปนี  (สังคหมหาฎีกา)  รจนาโดยพระญาณเถระ แห่งเมืองโมนหยั่ว ทางภาคเหนือของพม่า เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๐
            คัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี  เป็นคัมภีร์ที่นิยมใช้ในการศึกษามากที่สุด  จึงมีผู้เขียนคัมภีร์อธิบายขยายความไว้หลายฉบับ คือ
                ๑. มณีสารมัญชูสา  รจนาโดยพระมหาอริยวงศ์ แห่งกรุงอังวะ ประเทศพม่า (พ.ศ.๑๙๘๘ - ๒๐๑๙)
                ๒. อเผคคุสารทีปนี  รจนาโดยพระมหาสุวัณณทีปเถระ แห่งกรุงหงสาวดี ประเทศพม่า (พะ.ศ.๒๐๙๒ - ๒๑๒๕)
            สรุปแล้วการศึกษาภาษาบาลีในประเทศไทย ตั้งแต่ชั้นประโยค ๑ - ๒ ถึงประโยค ป.ธ. ๙ ใช้หนังสือภาษาบาลีเป็นแบบเรียน จำนวน ๑๗ เล่ม ไม่นับหนังสือประกอบการเรียน เช่น โยชนาและฎีกา
            การศึกษาภาษาบาลี ถือได้ว่าเป็นการรักษาวรรคดีบาลีแห่งพระพุทธศาสนา อันทรงไว้ซึ่งหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนา ให้คงอยู่เป็นมรดกทางศาสนา วัฒนธรรมและวรรณคดี


   | หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |