ศาสนาอิสลาม


                การถือศีลอด  คือ การงดเว้นการกระทำต่าง ๆ ตั้งแต่แสงอรุณขึ้นถึงตะวันตกดินคือ งดการกินและการดื่ม งดการแสดงออกทางเพศ งดการใช้วัตถุภายนอกล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะภายใน งดการแสดงอารมณ์ร้าย และความผิดต่าง ๆ พร้อมทั้งให้กระทำสิ่งต่าง ๆ คือ ทำการนมัสการ พระเจ้าให้มากกว่าวาระธรรมดา ถ้าเป็นการถือศีลรอมาดอน ให้ทำละหมาดตะรอวีห์ จำนวน ๒๐ รอกะอัต อ่านกุรอานให้มาก สำรวมอารมณ์และจิตใจ ทำทานแก่ผู้ยากไร้ และบริจาคเพื่อการกุศล กล่าวซิกิร (บทรำลึกพระเจ้า) และให้นั่งสงบจิต อิตติภาพ ในมัสยิด
                    วาระการถือศีลอด  แบ่งออกเป็นสองประการคือ บังคับ และอาสาสมัคร
                        - ถือศีลอดบังคับ  ได้แก่ การถือศีลอดที่ทางศาสนาบังคับว่า จะต้องถือคือ ในเดือนรอมดอน ครบทั้งเดือน ถือศีลอดตามที่บนไว้ ถือศีลอดชดเชยที่เคยขาด ถือศีลอดตามข้อผูกพัน เช่น เพื่อไถ่ความผิด
                        - ถือศีลอดอาสาสมัคร  เช่น การถือศีลอด ๖ วัน ในเดือนเซาวาล (ต่อจากเดือนรอมดอน)  ถือศีลอดในวันที่สิบของเดือนมุฮัดรอม ถือศีลอดในวันจันทร์ วันพฤหัสบดี เป็นต้น
                    สาเหตุให้เสียศีลอด  มีแปดประการคือ กินดื่ม อาเจียนโดยเจตนา ร่วมประเวณี เสียสติ นำวัตถุเข้าไปภายในร่างกาย เช่น รูหู ทวารต่าง ๆ เป็นต้น  มีเลือดประจำเดือนรือเลือดหลังคลอด ทำให้น้ำอสุจเคลื่อน และสิ้นสภาพอิสลาม
                การบริจาคซากาต  ซากาตคือ ทรัพย์สินตามอัตราส่วนที่จะต้องนำมาบริจาค ซึ่งมุสลิมผู้มีทรัพย์ครบตามพิกัด ที่ศาสนากำหนดไว้ จะต้องคำนวณอัตราส่วนของซากาต นำมาบริจาคตามประเภทของซากาตนั้น ๆ
                    สินซากาต  ทรัพย์ที่จะนำมาบริจาคซากาต แบ่งออกเป็นหลายประเภทคือ
                        - ซากาตพืชผล เช่น ข้าว เมื่อผลิตได้ ๖๕๐ กิโลกรัม ต้องจ่ายซากาตร้อยละสิบ สำหรับการเพาะปลูกที่อาศัยฝน และร้อยละห้า สำหรับการเพาะปลูก ที่ใช้น้ำจากแรงงาน
                        - ทองคำ เงิน และเงินตรา เมื่อมีจำนวนเหลือใช้เท่าทองคำหนัก ๕.๖ บาท เก็บไว้รอบปี ก็ต้องบริจาคออกไป ร้อยละสองครึ่ง จากทั้งหมดที่มีอยู่
                        - รายได้จากการค้า  เจ้าของสินค้าต้องคิดหักในอัตราร้อยละสองครึ่ง ในทุกรอบปี บริจาคเป็นซากาต ทั้งนี้ทรัพย์สินต้องไม่น้อยกว่า เทียบน้ำหนักทองคำ ๔.๖๗ บาท
                        - ขุมทรัพย์เหมืองแร่  เมื่อขุดได้ จะต้องจ่ายซากาต ร้อยละยี่สิบ หรือหนึ่งในห้า จากทรัพย์ทั้งหมดที่ได้
                        - ปศุสัตว์ ผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ จะต้องบริจาคในอัตราที่แน่นอนเป็นซากาต เช่น มี วัว ควาย ครบ ๓๐ ตัว ให้บริจาค ลูกวัว ควาย อายุ ๑ ปี ๑ ตัว ครบ ๑๐๐ ตัว บริจาคลูกวัวควาย อายุ ๒ ปี ๑ ตัว และอายุ ๑ ปี ๒ ตัว เป็นต้น
                    ผู้มีสิทธิรับซากาต  ตามที่ระบุในกุรอานมีทั้งหมด เจ็ดประเภทคือคนอนาถา  ได้แก่ ผู้ยากจนไม่มีทรัพย์สินหรืออาชีพใด ๆ
                        - คนขัดสน  มีรายได้ไม่พอรายจ่าย
                        - เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับซากาต  ได้แก่ ผู้ที่ได้รับความไว้วางใจ จากรัฐให้จัดการเก็บและจ่ายซากาต
                        - ผู้ควรปลอบใจ  ได้แก่ ผู้เพิ่งเข้าอิสลาม หรือเตรียมข้าอิสลาม หรืออาจจะเข้าอิสลาม
                        - ทาส  ที่ต้องการทรัพย์ไปไถ่ตัวเองให้เป็นอิสระ รับซากาตเพียงเท่าที่จะนำไปไถ่ตัวเอง
                        - ผู้เป็นหนี้  อันเป็นหนี้ในการประกอบอาชีพที่ชอบธรรม หรือกิจการกุศลทั่วไป รับซากาตเพียงเท่าที่เป็นหนี้
                        - ผู้เสียสละชีวิตในแนวทางพระเจ้า  รับซากาตเพียงค่าใช้จ่ายระหว่างดำเนินการ
                        - ผู้เดินทาง  แล้วหมดทุนที่จะเดินทางกลับ มีสิทธิรับซากาตได้เพียงค่าใช้จ่ายที่จำเป็น
                    ซะกาดพิตเราะห์  เป็นซากาตที่บริจาคเมื่อถึงวันสิ้นเดือนถือศีลอด (รอมดอน)  คิดจากอาหารหลักที่บริโภคในท้องถิ่นนั้น ๆ เช่น ข้าวสาร เป็นต้น นำมาบริจาคโดยคิดเป็นรายบุคคล คนละประมาณสี่ทะนาน ให้หัวหน้าครอบครัวบริจาคเพียงคนเดียว โดยคำนาณจากสมาชิกภายในครอบครัวได้เท่าใด แล้วคูณด้วยสี่ทะนาน นำไปบริจาคแก่ผู้มีสิทธิ์
               การประกอบพิธีฮัจย์  ในชีวิตหนึ่ง มุสลิมจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดิอาระเบีย อย่างน้อยหนึ่งครั้ง เป็นข้อบังคับสำหรับทุกคนที่มีความสามารถพอจะเดินทางไปได้ และไม่ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ขณะเดินทาง
                   กำหนดเวลาไปทำฮัจย์  พิธีจะทำในเดือน ซุ้ล - ฮิจญะห์ ของแต่ละปี หากเดินทางไปในเวลาที่มิใช่ฤดูกาลฮัจย์ จะเรียกศาสนกิจนั้นว่า อุมเราะฮ์
                   สถานที่ประกอบพิธีฮัจย์  มีเพียงแห่งเดียว อยู่ที่ กะอ์บะฮ์ หรือบัยตุลลอฮ์ ในเมืองมักกะฮ์  กะอ์บะฮ์ คือ สิ่งก่อสร้างรูปทรงสี่เหลี่ยม (อะกะบะ แปลว่า นูนขึ้นพองขึ้น)  ที่ท่านนบีอิบรอฮิม และ นบีอิสมาอีล บุตรชายช่วยกันสร้างขึ้น จากรากเดิมที่มีเหลืออยู่ตามที่ได้รับคำสั่งจากพระเจ้า อัลลอฮ์ (ซุบห์ ฯ) เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปี ก่อนคริสกาล กะอ์บะฮ์ มีชื่อเรียกอยู่หลายอย่าง ที่ปรากฎอยู่ในกุรอาน เช่น อัล - บัยตุลหะรอม อัล - มัสญีดุลหะรอม บัยตุลอ์ติก  แต่ชื่อที่รู้จักกันมากที่สุดคือ บัยตุลลอฮ์ แปลว่า บ้านของอัลลอฮ์
                    พิธีฮัจย์ มิได้เพิ่งมีปฎิบัติในสมัยของนบีมูฮำมัด (ศ็อล ฯ) หากแต่มีมาตั้งแต่สมัยนบีฮิบรอฮิม ซึ่งเป็นบรรพบุรุษของท่าน แต่ช่วงหลัง นบีอิรอฮิม และอีสมาอีล มาก่อนถึงท่านนบีมูฮำมัด จะได้รับจากอิสลามจากอัลลอฮ์ บ้านของอัลลอฮ์แห่งนี้ได้ถูกเปลี่ยนเจตนารมณ์ จากผู้หลงผิด กลายเป็นสถานที่ชุมนุมรูปปั้นเทพเจ้าต่าง ๆ กว่า ๓๐๐ รูป และการกระทำอันน่ารังเกียจ
                    ทุ่งอารอฟะห์  มีลักษณะเป็นทุ่งกว้างในหินผากว้างใหญ่สูงประมาณ ๓๐๐ ฟุต อยู่ห่างจากเมืองมักกะฮ์ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร เป็นสถานที่ที่ผู้ประกอบพิธีฮัจย์ทั้งหมด (ฮุจญาด) จะไปร่วมชุมนุมกันในวันที่เก้าของเดือนซุล - ฮิจญะห์ ตั้งแต่เช้าถึงก่อนดวงอาทิตย์ตก เป็นที่เริ่มแรกของพิธีฮัจย์ หลังจากนุ่งผ้าเอี๊ยะราม (ชุดขาวจากผ้าสองผืน) แล้ว
                    ในการค้างแรมที่อารอฟะห์นี้ ผู้ไปประกอบพิธีจะกางเต้นท์อยู่ โดยมีธงชาติของประเทศตนติดไว้ ทุ่งแห่งนี้เป็นที่ชุมนุมของคนจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลกมาพักอยู่ด้วยความสงบ จึงเรียกการปฏิบัตินี้ว่า วูกูฟ (หยุดสงบนิ่ง)
                    เสร็จจากวูกูฟ ผู้ไปประกอบพิธีจะเดินทางไปยังมีนา เพื่อค้างแรมที่นั่นสามวันสามคืน เพื่อขว้างเสาหิน แต่เนื่องจากการเดินทางอยู่ระหว่างกลางคืน ท่านนบีจึงค้างคืนที่ทุ่งมุสตะลิฟะห์หนึ่งคืน จึงออกเดินทางไปทุ่งมีนาในตอนเช้าของวันที่สิบ
                    สำหรับมุสลิมที่ไม่ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ถือว่าวันรุ่งขึ้นจากการวูกูฟของผู้ไปประกอบพิธีฮัจย์คือ วันอีดิ้นอัฏฮาหรือที่ชาวไทยเรียกว่า ออกฮัจญี
                    ณ ทุ่งอารอฟะห์แห่งนี้คือสถานที่ท่านนบีมูฮำมัดแสดงการกล่าวอบรมในที่ชุมนุมเป็นครั้งสุดท้าย
                    การแต่งกายในพิธีฮัจย์  ผู้ชายทุกคนจะแต่งกายด้วยผ้าขาวสองชิ้นที่ไม่มีการเย็บ ส่วนหญิงจะแต่งกายด้วยชุดที่มิดชิดไม่มีเครื่องประดับใด ๆ ทั้งสิ้น
                    หลักข้อแรกของการบำเพ็ญฮัจย์ได้แก่เอี๊ยะราม จากมีกอต (เขตที่กำหนดให้นุ่งเอียะราม) ด้วยตั้งใจจะบำเพ็ญฮัจย์จากเขตสถานที่แห่งหนึ่งเรียกว่า ยะลัมลัม (ที่แสดงเขตให้นุ่งเอี๊ยะห์รามของผู้ที่เดินทางไปจากภาคพื้นเอเซีย) ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองฮิดดะฮ์ ประมาณ ๖๓ กิโลเมตร
                    การประกอบพิธี  ตั้งแต่เริ่มนุ่งเอี๊ยะราม จนถอดเอี๊ยะรามเมื่อเสร็จพิธี ผู้ประกอบพิธีฮัจย์จะเริ่มกล่าวสรรเสริญด้วยภาษาอาหรับว่า"ลันปัยกัลลอ ฮุมมะลับปัยกะ ลาซารีกะลัก แปลว่า อัลลอฮ์ ข้า ฯ ขอรับคำเชิญของท่าน ไม่มีผู้ใดเทียบเท่าท่าน" ขั้นตอนการประกอบพิธีเป็นไปตามลำดับคือการนุ่งเอี๊ยะราม การวูกูฟที่ทุ่งอารอฟะห์ การค้างแรมที่ทุ่งมุสตะลิฟะห์หนึ่งคืน แล้วเดินทางไปทุ่งมีนาสามคืนเพื่อขว้างเสาหิน การฏอวาฟ (เดินเวียนซ้ายรอบปัยตุลลอฮ์เจ็ดรอบ) สะแอ (การเดินและวิ่งกลับไปมาระหว่างอัศซอฟกับอัลมัรฮ์เจ็ดเที่ยว)  การทำกุรปั่น หรือเชือดสัตว์เป็นพลี สำหรับผู้ที่มีความสามารถหรือการถือศีลอดทดแทนเจ็ดวัน โกนผมหรือตัดผมเสร็จแล้วจึงถอดชุดเอี๊ยะราม