ศาสนาอิสลาม


                หลักคุณธรรม (อัลอิห์ซาน) เป็นหลักเกี่ยวกับศีลธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรม
                    การแต่งกาย  ถือเป็นวัฒนธรรมที่มุสลิมต้องถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ท่านนบีแต่งกายด้วยเครื่องแต่งกายอันมิดชิด บนศีรษะมีผ้าหรือหมวกปิดอยู่เสมอ สำหรับชายให้ปิดระหว่างสะดือกับหัวเข่า และหญิงให้ปิดทั้งร่างยกเว้นใบหน้าและฝ่ามือ ตามที่มีอยู่ในกุรอ่านก็คือ การคลุมศีรษะจนปิดมิดชิด ลงมาถึงส่วยเผยของลำคอ ตลอดถึงส่วนบนของหน้าอก ส่วนรูปแบบนั้นไม่ได้บังคับว่าจะต้องตามรูปแบบของอาหรับหรือไทย จะเป็นรูปแบบใดก็ได้ ขอให้อยู่ในลักษณะปกปิดมิดชิดดังกล่าว นอกจากนั้นยังต้องสะอาด ไม่มีกลิ่นอับหมั่นซักเป็นประจำ รองเท้าก็เป็นสิ่งที่ท่านนบีระบุให้มุสลิมสวมใส่เป็นประจำ
                        - เครื่องแต่งกายที่ห้าม  คือ ผ้าไหมสำหรับชาย อนุญาตให้เฉพาะหญิงเท่านั้น ยกเว้นในยามฉุกเฉินจำเป็นหรือมีเหตุผลอื่นที่แน่ชัด ทองคำ อนุญาตให้เฉพาะหญิง แต่ต้องไม่มากเกินไป ถ้ามีเกินต้องนำมาบริจาคซากาด การเลียนแบบ ท่านนบีสั่งว่า "ใครเลียนแบบพวกใดก็ให้ถือว่าเป็นหนึ่งในพวกนั้น" การแต่งกายผิดเพศ คือ ชายแต่งเป็นหญิง หรือหญิงแต่งเป็นชาย ท่านนบีได้ห้ามไว้
                    ความสะอาด  อิสลามได้กำหนดรูปแบบการทำความสะอาดไว้ดังต่อไปนี้
                        - การชำระร่างกาย (อาบน้ำ)  จะต้องอาบน้ำในวาระต่าง ๆ เช่น เมื่อมีน้ำอสุจิหลั่งออกมา เมื่อเสร็จการมีเพศสัมพันธ์ เมื่อผ่านการมีประจำเดือน เมื่อผ่านการคลอดบุตร และเมื่อตาย
                        - ชำระหลังเสร็จการถ่าย เริ่มด้วยการเช็ด ตามด้วยการล้าง นอกจากนั้นยังห้ามถ่ายต่อหน้าผู้คน ห้ามยืนถ่าย ห้ายถ่ายในพื้นที่
เป็นทางสัญจร ห้ามถ่ายในที่อาศัยของสัตว์ ห้ามถ่านในต้นไม้ที่มีผล ห้ามถ่ายในแอ่งน้ำ ห้ามพูดคุยขณะถ่าย ห้ามหันหน้าไปทางกิบลัต
และต้องถ่ายในที่มิดชิด
                        - การทำสุหนัด มุสลิมทุกคนต้องทำสุหนัด คือการขลิบปลายหนังหุ้มอวัยวะเพศ เป็นบทบัญญัติในทางอนามัย ไม่ใช่เป็น
พิธีกรรมทางศาสนา
                        - การแปรงฟัน ให้แปรงฟันในวาระต่าง ๆ เช่น ตื่นนอน ก่อนนอน ก่อนทำพิธีละหมาด เมื่อมีกลิ่นปาก เมื่อเสร็จการกินอาหาร
เป็นต้น
                        - การขลิบส่วนเกินอื่น ๆ  บัญญัติให้มุสลิมทุกคนขลิบ ตัดหรือถอนส่วนเกินต่าง ๆ ได้แก่ เล็บต้องตัดให้สั้น หนวดขลิบให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เคราแต่งให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ขนทุกประเภทต้องขลิบโกนหรือถอนให้สะอาด ผมต้องแต่งให้เรียบร้อย รักษาให้สะอาด
                        - การล้างสิ่งสกปรก  แบ่งออกเป็นสามประเภทคือ ชนิดเบา ได้แก่ปัสสาวะของทารกชายที่ยังกินนมอยู่  ชนิดกลาง ได้แก่สิ่งสกปรกทั่วไป  ชนิดหนัก ได้แก่สุกร สุนัก เมื่อมันทำความสกปรกแก่สิ่งใดจะต้องล้างสิ่งนั้นให้สะอาดถึงเจ็ดครั้ง ในครั้งหนึ่งจะต้องเจือปนด้วยดิน
                    การขอพร  มุสลิมจะขอพรต่อพระเจ้าเสมอในกิจการต่าง ๆ ที่ตนกระทำ แม้คำอุทานก็จะต้องอุทานออกมาเป็นนายของอัลเลาะห์ วาระต่าง ๆ ที่ต้องขอพรแก่กันและกัน รวมทั้งการกล่าวถ้อยคำเหมาะสมนั้น แบ่งเป็นวาระต่าง ๆ คือ
                        - เมื่อพบปะกัน  ให้กล่าวสลาม เป็นการกล่าวให้พรแก่กันว่า อัสสะลามมุอาลัยกุม ฯ แปลว่าขอให้ท่านประสบความสันติสุข อีกฝ่ายจะตอบว่า วะอาลัยกุมมุสสะลาม ฯ แปลว่า ขอให้ท่านประสบความสันติสุขเช่นเดียวกัน
                        - เมื่อเริ่มปฏิบัติภารกิจ  เช่น จะกิน จะดื่ม จะเดินทาง จะหุงข้าว จะทำงาน ให้ขอพระพระเจ้า หรืออย่างน้อยให้กล่าวว่าบิสมิลลาฮิรเราะห์มานิรรอฮิม แปลว่า ด้วยนามแห่งอัลเลาะห์ ผู้ยิ่งในความกรุณา ผู้ยิ่งในความเมตตา
                        - เมื่อบรรลุผลหรือได้รับโชค ให้กล่าวสรรเสริญพระเจ้าว่า อัลฮำดุลิลาห์ แปลว่า การสรรเสริญเป็นสิทธิของอัลเลาะห์
                        - เมื่อเสียใจ  จะต้องกล่าวว่า อัสตักพิรุลเลาะห์ แปลว่า ฉันขออภัยอัลเลาะห์
                        - เมื่อทราบข่าวร้าย  ให้กล่าวว่า อิมนา ลิลลาฮิ วะอินา อิลัยฮิ อยิอูน แปลว่าเราเป็นสิทธิของอัลเลาะห์ เราต้องกลับคืนไปสู่อัลเลาะห์
                        - เมื่อจาม ให้กล่าวว่าอัลฮัมดุลิลาฮ์ แปลว่า การสรรเสริญเป็นของอัลเลาะห์ ผู้ได้ยินจะกล่าวว่ายีรฮามุ กัลลอฮ์ แปลว่า ขอให้อัลเลาะห์เมตตาท่าน ผู้จามกล่าวตอบว่า ยัสดีนาวะยัฮดีกุมุลลอฮ์ แปลความว่า ขอให้อัลเลาะห์ชี้นำเราและท่าน
                        - เมื่อหาว  จะต้องปิดปากและกล่าวคำแปลว่า ขอให้อัลเลาะห์อารักขาท่านให้พ้นจากมารร้าย ผู้ถูกอัปเปหิ
                        - เมื่อตกใจ  ให้กล่าวคำแปลความว่า "อัลเลาะห์ผู้ยิ่งใหญ่" หรืออย่างน้อยให้กล่าวว่า"อัลเลาะห์"
                        - เมื่อรับปากกับผู้อื่น  ให้กล่าวคำแปลความว่า "หากอัลเลาะห์ประสงค์"
                        - เมื่อพบสิ่งแปลก  ให้กล่าวคำว่า "โดยประสงค์แห่งอัลเลาะห์"
                        - เมื่อพบสิ่งที่ไม่อยากพบ  ให้กล่าวคำแปลความว่า "อัลเลาะห์พิสุทธิ์ยิ่ง"
                    การเกิด  เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วให้ผู้หนึ่งผู้ใดทำดังนี้คือ อะซานาที่หูข้างขวา และอิกอมะฮ์ ที่หูข้างซ้าย เมื่อครบเจ็ดวันให้โกนผม แล้วนำผมทั้งหมด ไปชั่งมีน้ำหนักเท่าใดให้เทียบเป็นทอง และตีราคานำไปทำทาน ให้ตั้งชื่อเด็กเป็นชื่อภาษาอาหรับ  โดยเลือกชื่อของพระเจ้าด้วยการเติมอับดุล ชื่อของบรรดาศาสนทูต (นบี) หรือชื่อที่มีความหมายในทางที่ดีงาม ผ่าปาก หมายถึงการใช้ของหวานประเภทผลไม้ มาถูที่เพดานปากของเด็ก เพื่อให้เด็กคุ้นเคย หลังจากที่เคยดูดแต่นม นับจากนั้นเด็กจะเริ่มกินอาหารอื่นนอกเหนือไปจากนม ทำอากีเกาะฮ์ คือการเชือดสัตว์ เพื่อนำมาเลี้ยงคนยากจนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียงกัน ให้ใช้แพะหรือแกะหรือวัว ควาย ตามแต่ฐานะ
            ทั้งหมดที่กล่าวให้ทำในวันเดียวกันคือ วันที่เจ็ดหลังจากวันคลอด มักจะประกอบเป็นพิธีโดยมีการอ่านบทขอพรต่าง ๆ เช่นการอ่านกุรอาน การอ่านซอลาหวาด การตัฮลีล เป็นต้น
                    การแต่งงาน พิธีแต่งงานที่ถูกต้อง ประกอบด้วยองค์ประกอบห้าประการคือ
                        ๑. มีการกล่าวถ้อยคำระหว่างผู้ปกครองของฝ่ายหญิงกับตัวเจ้าบ่าว อย่างชัดเจนโดยผู้ปกครองของฝ่ายหญิงกล่าวว่า "ข้าพเจ้าแต่งงานท่านแก่บุตรหญิงของข้าพเจ้าชื่อ..." ฝ่ายเจ้าบ่าวรับว่า "ข้าพเจ้ารับการแต่งงานนี้"
                        ๒. มีผู้ปกครองฝ่ายหญิงเช่นบิดาหรือปู่หรือพี่น้อง ถ้าหญิงไม่มีผู้ปกครองทางสายเลือด ก็ให้ผู้ปกครองท้องถิ่นทำแทน หรือให้ตั้งอนุญาโตตุลาการ (มุฮักกัม) ขึ้นมา
                        ๓. ต้องมีพยานโดยทั้งสองฝ่ายรับรู้ในการทำพิธี
                        ๔. เจ้าบ่าวต้องมีตัวตนอยู่จริง
                        ๕. เจ้าสาวต้องมีตัวตนอยู่จริง
                        - คุณสมบัติของคู่ครอง  อิสลามกำหนดคุณลักษณะไว้จากกุรอาน และวานะของท่านนบี สรุปได้ดังนี้คือ มีศรัทธาในศาสนาเดียวกัน ถือเป็นมุสลิมด้วยวกัน มีนิสัยดี พอใจซึ่งกันและกัน มุ่งรักษาเผ่าพันธุ์ มีความคู่ควร และต้องมิใช่บุคคลที่ห้ามแต่งงาน ที่มีบทบีญญัติห้ามไว้เช่น มารดา ย่า ยาย ลูกสาว หลานสาว เหลนสาว พี่สาว น้องสาว ป้าสาว อาสาว เป็นต้น
                    การตาย  มีขั้นตอน การปฏิบัติเป็นข้อบังคับตายตัว คือ
                        - อาบน้ำ  จัดการอาบน้ำให้สะอาดหมดจด โดยไม่ให้ส่วนใด ๆ ของศพต้องซอกซ้ำ
                        - ห่อศพ  ด้วยผ้าขาวสะอาดโดยห่อให้มิดชิดทั้งร่าง
                        - ละหมาดขอพรให้  ควรทำกันเป็นจำนวนมาก เป็นหน้าที่ของมุสลิมจะต้องแสดงความอาลัยอาวรณ์
                        - ฝัง  เสร็จจากการละหมาดแล้วก็นำไปฝังในหลุมศพที่ขุดไว้พอดีกับโลงศพ ลึกพอคะเนไม่ให้กลิ่นโชยขึ้นมาได้ โดยประมาณว่าลึกท่วมศีรษะของคนขุด การฝังให้ศพนอนตะแคงหันหน้า หันหน้าไปทางกิบละฮ์
                        - การปฏิบัติอื่น ๆ  การปฏิบัติแก่ผู้ตายอย่างอื่น ๆ ยังมีอีกหลายประการคือ การเยี่ยมคนตายให้ไปเยี่ยมทันที โดยนำอาหารหรือเงิน ไปให้คนในครอบครัวของผู้ตาย ตามไปสุสาน เมื่อนำศพไปสุสานให้เดินตามไปส่งจนถึงหลุม การตัลกีน เป็นการเตือนคนใกล้ตายให้ยึดมั่นในพระเจ้า และเมื่อฝังแล้วให้ทำอีกครั้ง ชมเชยผู้ตาย ควรพูดถึงคนตายในด้านดีอย่างเดียว ขอพรแก่ผู้ตาย ควรนำเสนอโดยไม่จำกัดวาระ มีแตกต่างกับอ่านกุรอานอุทิศส่วนกุศล นิยมทำกันแพร่หลาย ทำทานอุทิศส่วนกุศล ควรทำทานแก่ผู้ยากจนและอุทิศให้ผู้ตาย
                ข้อห้ามในอิสลาม  เมื่อมุสลิมคนใดกระทำจะมีผลต่อผู้กระทำในหลายกรณีคือ
                    สิ้นสภาพอิสลาม  เช่นการกราบผู้อื่นหรือกราบไหว้วัตถุ การยึดมั่นในเชิงปฏิเสธพระเจ้า การยึดมั่นว่ามีพระเจ้าหลายพระเจ้า การกล่าวหามุสลิมด้วยกันว่าไม่ใช่มุสลิม เป็นต้น
                    เป็นบาปต้องรับโทษตามกำหนด  เช่น การผิดลูกเมียเขา ต้องรับโทษด้วยการถูกเฆี่ยน ๑๐๐ ครั้ง หรือถูกขว้างจนตาย การดื่มสุราถูกเฆี่ยน ๔๐ ครั้ง การฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาต้องถูกฆ่าให้ตายตกไปตามกัน การลักขโมยให้ตัดมือ เป็นต้น
                    เป็นบาปแต่ไม่ต้องโทษ  ผู้กระทำเพียงแต่ได้รับบาปซึ่งจะถูกตอบแทนในวันชาติหน้าเช่น การนินทาว่าร้าย การด่า การมองหญิงด้วยความใคร่ การแต่งตัวไม่รัดกุม การกินอาหารต้องห้าม เป็นต้น
                    น่ารังเกียจ  เป็นข้อห้ามที่เบาที่สุดคือห้ามในเชิงปราม  ถ้าเว้นไม่กระทำจะได้กุศล เช่นการกินอาหาร มีกลิ่นจัด การเดิน นั่ง นอน ที่ขาดความสำรวม เป็นต้น

อิสลามในประเทศไทย
           จุฬาราชมนตรี  ตำแหน่งจุฬาราชมนตรีเดิมเป็นตำแหน่งข้าราชการในสำนักราชเลขานุการในพระองค์ เทียบเท่าตำแหน่งหัวหน้ากอง (ตามกฎ ฉบับที่  ๑๔๖ ๑๔๗ ลง ๙ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๘) พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งและถอดถอนตามพระราชอัธยาศัย มีหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พ.ศ.๒๔๘๘ มาตรา ๓ ซึ่งบัญญัติว่า "ให้จุฬาราชมนตรีมีหน้าที่ปฏิบัติราชการส่วนพระองค์ เกี่ยวแก่การที่จะทรงอุปภัมภ์ศาสนอิสลาม ต่อมาได้มีพระราชกฤษฎีกาว่า ด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๙๑ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกา พ.ศ.๒๔๙๘ ให้ยกเลิกข้อความในมาตรา ๓ เดิม และให้ใช้ข้อความใหม่แทนคือ มาตรา ๓ พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี เพื่อให้คำปรึกษาแก่กรมศาสนา ในกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวแก่ศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม และให้มีเงินอุดหนุนฐานะจุฬาราชมนตรีตามสมควร
            กฎหมายฉบับดังกล่าวในมาตรา ๕ และมาตรา ๖ ยังได้บัญญัติไว้ว่า รัฐบาลอาจจัดให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเรียกว่า คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ ในกิจการเกี่ยวแก่ศาสนาอิสลาม และให้จุฬราชมนตรี เป็นประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย โดยตำแหน่ง
                ตำแหน่งจุฬาราชมนตรี เท่าที่ปรากฎตามหลักฐาน มีดังนี้
                    ๑.  พระยาเฉก อะหมัด รัตนเศรษฐี        ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม สมัยอยุธยา
                    ๒.  เจ้าพระยาจุฬาราชมนตรี (แก้ว)        ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์  สมัยอยุธยา
                    ๓.  พระยาจุฬาราชมนตรี (สน)        ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมโกศ  สมัยอยุธยา
                    ๔.  พระยาจุฬาราชมนตรี (ก้อนแก้ว)        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  สมัยรัตนโกสินทร์
                    ๕.  พระยาจุฬาราชมนตรี (สอน)        ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
                    ๖.  นายแช่ม  พรหมยงค์        ระหว่าง พ.ศ.๒๔๘๘ - ๒๔๙๐
                    ๗.  นายต่วน  สุวรรณศาสตร์        ระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๑ - ๒๕๒๔
                    ๘.  นายประเสริฐ  มะหะหมัด        ระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๔ - ๒๕๔๐
                    ๙.  นายสวาสดิ์  สุมาลยศักดิ์        ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๐ -
            นายประเสริฐ มะหะหมัด  ได้รับการเลือกตั้งจากประธานกรรมการอิสลามประจำจังหวัด จำนวน ๒๔ จังหวัด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ และได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔
            ในทางปฎิบัติของทางราชการ เกี่ยวกับสำนักจุฬาราชมนตรี ยังไม่มีกฎหมายฉบับใดรับรองสถานภาพ และระบุให้จัดคตั้งขึ้น ดังนั้น เมื่อจุฬาราชมนตรีอยู่ที่ใด ก็จะใช้สถานที่นั้นเป็นสำนักงาน
            งานด้านการปกครอง  บรรดาอิสลามมิกชนทั้งหลายจะต้องเป็นสัปบุรุษของมัสยิดใดมัสยิดหนึ่ง ซึ่งในปี พ.ศ.๒๕๒๕  มีอยู่กว่า ๒,๐๐๐ มัสยิด แต่ละมัสยิดจะมีคณะกรรมการบริหาร ประกอบด้วย อิหม่าม คอเต็บ บิหลั่น และคณะกรรมการอีก ๑๒ คน รวมทั้งคณะมี ๑๕ คน เรียกว่า คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด  คณะกรรมการสามตำแหน่งแรกคือ อิหม่าม คอเต็บ และบิหลั่น เป็นตำแหน่งถาวร ไม่มีวาระ ส่วนที่เหลืออีก ๑๒ ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งหมุนเวียนตามวาระ ๆ ละสี่ปี หน้าที่ของตำแหน่งถาวรคือ
                    อิหม่าม  ทำหน้าที่ประธานการปฎิบัติศาสนกิจ และการบริหารการปกครอง
                    คอเต็บ  ทำหน้าที่รองอิหม่าม และอบรมสัปบุรุษ
                    บิหลั่น  ทำหน้าที่ประกาศพิธีทางศาสนา และเผยแพร่ข่าวสารของมัสยิด
                    กรรมการ ฯ  ให้มีการเลือกกันเองเป็นตำแหน่งต่าง ๆ ตามความจำเป็น
            การบริหารของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด  ซึ่ง ณ ปี พ.ศ.๒๕๒๕ มีอยู่จำนวน ๒๖ จังหวัด มีหน้าที่ควบคุมการบริหารมัสยิดต่าง ๆ ให้ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และชี้ขาดข้อพิพาทของกรรมการประจำมัสยิด รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอน กรรมการประจำมัสยิด
            คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ขึ้นกับคณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย  ซึ่งมีจุฬาราชมนตรี เป็นประธานกรรมการ โดยตำแหน่ง
            คณะกรรมการอิสลาม ฯ มีหน้าที่พิจารณาชี้ขาดกรณีย์ต่าง ๆ ที่คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเสนอมา และทำหน้าที่กรรมการอิสลามจังหวัด ในกรณีที่ยังไม่มีคณะกรรมการอิสลามจังหวัดนั้น ๆ การบริหารงานของคณะกรรมการกลาง ฯ สัมพันธ์กับกระทรวงมหาดไทย ในส่วนของกรมการปกครอง และกระทรวงศึกษาธิการ ในส่วนของกรมการศาสนา ซึ่งจะกระจายงานลงไปยังคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด และคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด
                จังหวัดที่มีคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด  มี ๒๖ จังหวัด ด้วยกันคือ  กรุงเทพ ฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ตราด นนทบุรี ปทุมธานี นครนายก อยุธยา อ่างทอง เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ ระนอง สุราษฎรธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล ยะลา ปัตตานี นราธิวาส