| หน้าแรก | พระพุทธบาทสระบุรี | พระพุทธบาทตากผ้า | พระพุทธบาทบัวบก |

พระพุทธบาทตากผ้า

พระพุทธบาทตากผ้า ประดิษฐานอยู่  ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้า  บนเนินเขาระหว่างดอยม่อนช้าง กับดอยเครือ  ตำบลมะกอก  อำเภอป่าซาง  จังหวัดลำพูน  ห่างจากตัวเมืองลำพูนไปทางทิศใต้ประมาณ  22 กิโลเมตร
รอยพระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุรมุข มีอยู่สองรอย คือรอยพระพุทธบาทใหญ่   มีขนาดกว้างประมาณหนึ่งเมตร  ยาวประมาณสองเมตรครึ่ง รอยพระพุทธบาทเล็ก  มีขนาดกว้างประมาณ  32 นิ้ว  ยาวประมาณ  1 เมตร กับ  26 นิ้ว
ตามตำนานกล่าวว่า  ในสมัยพุทธกาล  ณ เวลาใกล้รุ่งวันหนึ่ง  พระพุทธองค์ได้ทรงแผ่ข่ายพระญาณ เพื่อตรวจดูสัตว์โลกผู้ควรแก่การบรรลุธรรม ก็ทรงทราบด้วยพระอนาคตังสญาณ  (พระญาณหยั่งรู้ความเป็นไปในอนาคตตามความเป็นจริง) ว่าในดินแดนสุวรรณภูมิ (คือดินแดนที่ส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน)  จะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา อย่างมั่นคงต่อไปในอนาคต  สมควรที่พระองค์จะเสด็จไปประดิษฐานพระศาสนาไว้ เมื่อทรงมีพระดำรินั้นแล้ว  จึงได้เสด็จมาสู่สุวรรณภูมิโดยพุทธนิมิต  มีพระอานนท์เป็นปัจฉาสมณะ (ตามเสด็จ) พระองค์ได้เสด็จจาริกมาตามคามนิคมชนบทต่าง ๆ จนถึงถ้ำตับเต่า ถ้ำเชียงดาว พระนอนขอนม่วง  พระบาทยั้งหวีด  และพระธาตุทุ่งตุม ตามลำดับ ได้ทรงเหยียบรอยพระบาท และประทานพระเกศาธาตุประดิษฐานไว้ในที่นั้น ๆ ตามควรแก่พุทธอัชฌาศัย แล้วเสด็จเลียบลงมาตามฝั่งแม่น้ำปิง จนถึงวังน้ำแห่งหนึ่ง มีน้ำใสสะอาด  มีที่ราบเตียนงาม พระพุทธองค์จึงได้ทรงหยุดพักและทรงเปลื้องจีวรให้พระอานนท์นำไปซัก  สถานที่พระอานนท์เอาจีวรไปซักนี้ได้ชื่อว่า วังซักครัว มาจนถึงปัจจุบัน  เป็นจุดที่อยู่ทางใต้ของสบกวง อันเป็นที่แม่น้ำกวง ไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิง  ส่วนจุดที่ตากจีวรซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กันนั้น เป็นเนินศิลา  บนผิวศิลาปรากฎเป็นรอยตารางรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส คล้ายกับผ้าจีวร  ซึ่งจะเห็นเป็นตารางคล้ายแนวคันนาของอินเดียในสมัยนั้น  ต่อจากนั้น พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จข้ามแม่น้ำ แล้วจาริกไปตามลำดับ จนถึงบ้านแห่งหนึ่งไม่ห่างจากดอยม่อนช้างมากนัก พระองค์ก็ทรงหยุดยืน แล้วผินพระพักตร์หว่าย (บ่าย)  ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  บ้านนั้นจึงได้ชื่อว่า บ้านหว่าย   ซึ่งปัจจุบันคือบ้านหวาย   จากนั้นก็เสด็จไปถึงลานผาลาด   ซึ่งปัจจุบันคือบริเวณที่ตั้งวัดพระพุทธบาทตากผ้า  ณ ที่นี้ พระพุทธองค์ได้เหยียบพระบาทประดิษฐานรอยพระบาทลงไว้บนผาลาด  แล้วตรัสพยากรณ์ไว้ว่า
    "ดูกรอานนท์ สถานที่แห่งนี้จะปรากฎชื่อว่า  พระพุทธบาทตากผ้า โดยนิมิตที่เราตถาคต  มาหยุดพักตากผ้ากาสาวพัสตร์นี้ และจะเป็นปูชนียสถานที่สักการะบูชาของมหาชน  ผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จะอำนวยประโยชน์สุขแก่ปวงชน ตลอด  5,000 พรรษา"
หลังจากนั้น พระพทุธองค์ก็เสด็จไปทางทิศตะวันออก ถึงหัวดอยม่อนช้าง แล้วทรงประทับนอนแบบสีหไสยาสน์ ณ ที่นั้น จากนั้นได้ประทานพระเกศาแก่ตายายสองคนผัวเมีย ผู้เข้ามาปฏิบัติบำรุงพระพุทธองค์ด้วยภัตตาหารและน้ำ ต่อมาได้มีผู้ศรัทธาสร้างพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ขึ้นไว้ ณ ที่นั้น ได้ชื่อว่า พระนอนม่อนช้าง  มาจนถึงปัจจุบันนี้
เมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 3 พระเจ้าอโศกมหาราชแห่งชมภูทวีป ได้ส่งพระโสณะ และพระอุตตระ มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสุวรรณภูมิ ในครั้งนั้นมหาชนผู้ได้รับแสงสว่างจากพุทธธรรม จึงได้สร้างวัดพระพุทธบาทตากผ้าขึ้น และได้เเป็นปูชนียสถานสำคัญทางพระพุทธศาสนา นับแต่นั้นมาจนประมาณปี พ.ศ. 1200 เศษ พระนางจามเทวีได้ครองนครหริภุญชัย (ลำพูน) พระนางมีความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามาก ได้ทรงสร้างมณฑปครอบรอยพระพุทธบาท แล้วจัดให้มีการเฉลิมฉลองเป็นการใหญ่
ในปี พ.ศ. 1824 พระเจ้าเม็งรายมหาราช ตีได้เมืองหริภุญชัย ก็ได้ทรงทำนุบำรุงพระพุทธบาทตากผ้าต่อมา จนสิ้นราชวงศ์เม็งราย เกิดศึกสงครามบ้านเมืองร้าง วัดพระพุทธบาทตากผ้าก็เสื่อมโทรมไป
ในปี พ.ศ. 2375 คณะสงฆ์และฆราวาส โดยมีครูป๋าปารมี แห่งวัดสะปุ๋งหลวงเป็นหัวหน้า ได้ร่วมมือร่วมใจกันสร้างวิหารหลังใหญ่ ครอบมณฑปพระพุทธบาทไว้อีกชั้นหนึ่ง เพื่อให้ผู้ที่มานมัสการพระพุทธบาท ได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ต่อมาในปี พ.ศ. 2472 คณะสงฆ์จังหวัดลำพูน มีพระพุทธิวงศ์ธาดา เจ้าคณะอำเภอปากบ่อง (ปัจจุบันคือ ป่าซาง ) อยู่วัดฉางข้าวน้อยเหนือ เป็นประธาน ฝ่ายฆราวาสมี หลวงวิโรจน์รัฐกิจ (เปรื่อง โรจนกุล) นายอำเภอปากบ่อง เป็นประธาน ได้ไปอาราธนาครูบาศรีวิชัย ซึ่งอยู่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ มาเป็นประธานในการก่อสร้างวิหารจตุรมุขครอบรอยพระพุทธบาท
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี ได้นำเสด็จพระเจ้ากรุงเดนมาร์ก และพระราชินีอินกริด มานมัสการพระพุทธบาทตากผ้า และได้ทรงจารึกพระปรมาภิไธยไว้บนแผ่นหินรูปใบเสมา เมื่อปี พ.ศ. 2505
คำนมัสการพระพุทธบาทตากผ้า มีดังนี้
"ยัง ตัตถะ โยนะกะปุเร มุนิโน จะ ปาทัง ตัง ปาทะวะลัญชะนะมะหัง สิระสา นะมามิ"
แปลว่า "รอยพระบาทใดของพระมหามุนีบรมศาสดามีอยู่ ณ เมืองโยนก ข้าพเจ้าขอนมัสการพระบาทและรอยพระบาทนั้น ด้วยเศียรเกล้า"


พระพุทธบาทบัวบก
พระพุทธบาทบัวบก อยู่ที่อำเภอบ้านผือ  จังอุดรธานี  อยู่ห่างจากตัวเมืองอุดร ฯ ประมาณ  55 กิโลเมตร รอยพระพุทธบาท ประดิษฐานอยู่ภายในพระธาตุเจดีย์พระพุทธบาทบัวบก  ซึ่งมีลักษณะคล้ายพระธาตุพนม
    ตามตำนานพระเจ้าเหยียบโลก กล่าวไว้ว่า  พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ในที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก  ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับอยู่ที่ดอยนันทะดังฮี ในแคว้นหลวงพระบาง ได้ทรงทราบว่า นาคแถบฝั่งโขงมีความดุร้าย  มักรบกวนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ  เพื่อที่จะโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ พระองค์จึงได้เสด็จไปยังถ้ำหนองบัวบาน และถ้ำบัวบก อันเป็นที่อาศัยของนาค  2 ตัว คือ กุทโธปาปนาค และมิลินทนาค พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่กุทโธปาปนาค  เมื่อกุทโธปาปนาคได้สดับพระธรรมเทศนา ก็บังเกิดความเลื่อมใสประกาศตนเป็นอุบาสก และถือพระไตรสรณาคมณ์เป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต หลังจากนั้นกุทโธปาปนาคก็นึกถึงน้องชายคือมิลินทนาคว่า  ควรจะได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์เช่นตน  เพื่อจะได้ประพฤติตนในทางที่ถูกที่ควร จึงได้กราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงถ้ำบัวบกอันเป็นที่อยู่ของมิลินทนาค  มิลินทนาคก็แสดงฤทธิ์อำนาจเพื่อขัดขวาง และทำร้ายพระพุทธองค์ด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ไม่เป็นผล  ในที่สุดจึงได้แปลงร่างเป็นมนุษย์ เข้าไปนมัสการพระพุทธองค์เพื่อขอขมา  พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดมิลินทนาค  เมื่อมิลินทนาคได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว ก็สำนึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำไปแล้ว และทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา แต่เนื่องจากมิลินทนาคมิใช่มนุษย์ พระพุทธองค์จึงอุปสมบทให้ไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงประทานไตรสรณาคมณ์ ให้มิลินทนาคไว้เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกและถือปฏิบัติต่อไป  เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่เคยเบียดเบียนทำร้ายสัตว์โลกมาเป็นช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์โลก ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา
เมื่อมิลินทนาครับไตรสรณาคมณ์แล้ว  จึงกราบทูลขอรอยพระบาทพระพุทธองค์ไว้เป็นที่สักการะบูชา พระพุทธองค์ทรงพิจารณาสถานที่แล้ว  จึงได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้  ณ สถานที่นี้  แล้วจึงเสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร พระพุทธบาทแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า พระพุทธบาทบัวบก ตามชื่อถ้ำบัวบกนี้มิลินทนาคอาศัยอยู่
บริเวณวัดพระพุทธบาทบัวบก มีสถานที่อันเนื่องมาจาก ตำนานข้าวต้น คือ ถ้ำพญานาค อยู่ไม่ไกลจากพระพุทธบาทนัก  มีลักษณะเป็นรูโพรงขนาดใหญ่ พอที่คนสองคนจะลงไปได้พร้อม ๆ กัน กล่าวกันว่า เป็นที่อาศัยของพญามิลินทนาคตามตำนาน  และเชื่อกันว่ารูถ้ำพญานาคนี้ สามารถทะลุออกไปสู่แม่น้ำโขงได้
หลังจากนั้น  พระพุทธบาทแห่งนี้ก็ถูกทอดทิ้งมาเป็นระยะเวลานานกว่าสองพันปี   อาจจะมีผู้บูรณะมาตามลำดับแต่ไม่ปรากฎหลักฐาน การบูรณะครั้งล่าสุดดังที่เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการบูรณะเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2462 โดยมีพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งจากอำเภอท่าอุเทน  จังหวัดนครพนม  มีพระศรีทัตเป็นผู้นำ ได้ธุดงค์มาตามลำดับจนถึง  อำเภอบ้านผือ  จังหวัดอุดรธานี  เพื่อค้นหารอยพระพุทธบาทตามตำนานดังกล่าวข้างต้น  ชาวบ้านในแถบนั้นก็ให้ข้อมูลตามที่ทราบ ในที่สุดก็ได้ค้นพบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้  จากนั้นจึงได้ขอแรงชาวบ้านในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง สร้างพระเจดีย์ครอบรอยพระบาท  ในการก่อสร้างต้องนำวัสดุมาจากที่ห่างไกล ทั้งจากประเทศไทยและจากประเทศลาว  การคมนาคมก็ไม่สดวก ทำให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้เวลามาก แต่ด้วยแรงศรัทธาและความตั้งใจแน่วแน่ การก่อสร้างก็แล้วเสร็จ โดยใช้เวลาถึง  14 ปี

| หน้าแรก | พระพุทธบาทสระบุรี | พระพุทธบาทตากผ้า | พระพุทธบาทบัวบก | บน |