| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ |

สังคมแบบพระพุทธศาสนา
            พระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างของสังคมประชาธิปไตย และสังคมนิยม ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบวชเป็นสมาชิกของวัดก็ต้องผ่านการลงมติของคณะสงฆ์เสียก่อน สิ่งของต่าง ๆ ที่มีผู้ถวายแก่วัด จะเป็นสมบัติส่วนของคณะสงฆ์ ภิกษุผู้ใดจะเอาไปเป็นของส่วนตัวไม่ได้ ทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกัน ถ้าเกิดมีกรณีพิพาทกันก็ต้องตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณามีระบบอาวุโส มีการคารวะระหว่างกัน การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการสมัครใจไม่มีการบังคับ ถ้าไม่พอใจก็ออกจากสังคมนี้ไป
            ในวัดป่าได้ใช้ระบบดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เมื่อมีลาภสิ่งใดมาสู่วัด สมภารจะเป็นผู้สั่งให้แจกจ่ายหรือเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนกลาง พระภิกษุรูปใดขาดแคลนก็จะได้รับไปก่อนหรือได้รับมากกว่ารูปอื่น อาหารที่บิณฑบาตได้ จะนำมารวมกันก่อน แล้วจึงแจกไปให้ทั่วกัน ผ้าที่ได้จากกฐินหรือผ้าป่าก็นำมาไว้เป็นกองกลาง ภิกษุรูปใดมีจีวรเก่า และชำรุดมากแล้ว สมภารจเป็นผู้สั่งจ่ายให้ตามความจำเป็น ปัจจัยที่มีผู้นำมาถวายวัด จะนำเข้าบัญชีของวัด
            การขบฉัน  พระป่าถือหลักฉันน้อยเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่เร่งความพากเพียร เช่นระหว่างพรรษา ยิ่งฉันน้อยลงไปอีก บางรูปไม่ฉันเสียหลายวัน ท่านว่าทำให้จิตโปร่งและภาวนาได้ดี นอกจากระวังไม่ฉันมากแล้ว ท่านยังระวังไม้ให้ติดรสอาหารอีกด้วย โดยหลักเลี่ยงอาหารที่รสอร่อย เพราะเกรงว่าจะติดสุขในเวลาฉัน ต้องพิจารณาตามแบบที่พระพุทธเจ้าสอน คือ ให้กินเพื่ออยู่ ท่านจะเงียบสงบระหว่างฉัน ไม่พูดจากัน เพราะท่านต้องเพ่งพิจารณาอาหารด้วย

            วัดป่าสายหลวงปู่มั่น มีระเบียบเกี่ยวกับการฉันเป็นอย่างเดียวกัน คือ ฉันมื้อเดียวในตอนสาย ฉันอาหารที่ได้จากบิณฑบาต และฉันในบาตร มีเฉพาะน้ำและสิ่งที่ใช้ดื่มเท่านั้นที่ใส่ถ้วยไว้นอกบาตรได้ ดังนั้นพระป่าต้องออกบิณฑบาตทุกวัน นอกจากอาพาธหรือเดินไม่ได้ ธรรมดาวัดป่าจะอยู่ห่างจากหมู่บ้าน เพื่อให้พ้นจากการรบกวนจากคน สัตว์ และเสียง แต่จะต้องไม่ไกลเกินไปจนเดินไปบิณฑบาตไม่ไหว โดยมากจะอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณสองถึงสามกิโลเมตร พอจะเดินไปกลับได้ภายในหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ตามปกติจะออกจากวัดประมาณ หกโมงเช้าเศษ หลังจากทำความสะอาดตอนเช้าเสร็จ ก่อนจะออกบิณฑบาตต้องจัดบาตรให้พร้อมโดยผูกมัดบาตรให้แน่น และเรียบร้อย ท่านจะสะพายบาตรไปบิณฑบาต เวลาออกจากวัดจะเดินไปเป็นกลุ่ม พระภิกษุผู้น้อยจะอยู่ข้างหน้า พระผู้ใหญ่อยู่ข้างหลัง พอเข้าเขตบ้านพระภิกษุข้างหน้าจะหยุดคอยให้พระผู้ใหญ่นำเดินเข้าหมู่บ้านเป็นแถวเรียงหนึ่ง ตามลำดับอาวุโส และรับอาหารอย่างเป็นระเบียบน่าดู เมื่อรับไปทั่วแล้วก็วกกลับวัด บางทีพระผู้น้อยจะรับบาตรของพระผู้ใหญ่ไปสะพายแทน บางทีชาวบ้านขออาสาสะพายหรืออุ้มบาตรไปส่งจนถึงวัด

            การฉันภัตตาหารพระภิกษุทุกรูปจะขึ้นไปรวมบนศาลาที่นั่งฉัน แล้วเข้าที่นั่งฉันจัดอาหารลงบาตร ที่นั่งนั้นได้จัดปูอาสนะไว้เรียบร้อยก่อนออกบิณฑบาต การนั่งจะเรียงตามอาวุโส พระภิกษุทุกรูปจะถ่ายบาตรเอาอาหารใส่ลงในถาดที่วางไว้เป็นของกลาง พระภิกษุที่เป็นเจ้าหน้าที่ยกถาดไปถวายให้สมภารก่อนแล้ว จึงส่งต่อไปตามลำดับ อาหารที่เลือกไว้แต่ละรูป จะจัดลงในบาตรเพื่อจะฉันต่อไป เสร็จแล้วเอาผ้าปิดปากบาตรไว้ คอยจนเสร็จพร้อมกัน พระภิกษุที่เป็นประธานว่าบท ยถา..สัพพี เสร็จแล้วจึงเปิดผ้าคลุมบาตรขึ้นพร้อมกัน พิจารณาอาหารในบาตรตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เช่น ให้สำนึกว่าฉันภัตตาหาร เพื่อให้คลายทุกข์ที่เกิดจากความหิว ไม่ใช่เพื่อความมีรสอร่อย ฯลฯ เสร็จแล้วจึงเริ่มฉันระหว่างนั้นไม่มีการพูดจากัน เพราะต่างก็พิจารณาไปเรื่อย ๆ เมื่อฉันเสร็จก็เช็ดถูพื้นศาลาตรงบริเวณที่ตัวนั่ง ยกบาตรออก เก็บเครื่องปูลาดเข้าที่ อาหารเหลือก้นบาตรเทลงถาดมอบให้แก่ผู้ที่ต้องการ นำบาตรไปล้างและเช็ดถูจนสะอาดแล้วคว่ำผึ่งแดดให้แห้ง
            บาตรเป็นบริขารที่สำคัญยิ่งสำหรับพระป่า จะไปไหนต้องเอาไปด้วยเสมอ บาตรมักจะใหญ่กว่าบาตรของพระบ้าน แต่เป็นเพราะท่านถือธุดงค์ฉันในบาตร ถ้าบาตรแคบจะฉันไม่สะดวก นอกจากนั้นเวลาท่านเดินทางยังใช้บาตรบรรจุเครื่องอัฐบริขารต่าง ๆ แล้วสะพายไปจึงต้องรักษาบาตรให้สะอาด แล้วผึ่งแดดให้แห้งสนิท ต้องรักษาไม่ให้เกิดสนิม
การอบรมและการปฏิบัติ
            การอบรมของพระป่า ดำเนินตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างเคร่งครัด สิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือพระอาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ที่พระป่าต้องพยายามเสาะหาอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้อุปนิสัยใจคอที่เข้ากันได้ แม้กระทั่งคำพูดและวิธีการพูดที่ทำให้เข้าใจกันง่าย ในการปฏิบัติภาวนานั้น เป็นการยากที่ผู้ปฏิบัติจะฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ นานาไปจนถึงจุดหมายปลายทางได้โดยลำพังตนเอง จำเป็นต้องมีอาจารย์คอยช่วยแนะนำ อาจารย์ที่ดีย่อมให้โอกาสแก่ศิษย์ทุกคน ตั้งใจอบรมสั่งสอน แนะช่องทางสำหรับการก้าวหน้า เอาใจใส่ในทุกข์สุขการกินอยู่ การเจ็บไข้ได้ป่วย และความต้องการอื่น ๆ ให้ความอนุเคราะห์ทุก ๆ อย่าง ท่านต้องทำตัวเป็นทั้งพระอาจารย์และพ่อแม่ และศิษย์ก็ตอบแทนท่านอย่างกับอาจารย์ และบิดามารดารวมกัน เวลาพูดถึงอาจารย์ พระป่าจะเรียกท่านว่า พ่อแม่ ครู อาจารย์ ทุกครั้ง การปฏิบัติอาจริยวัตรก็เป็นไปโดยสมบูรณ์แบบเสมอ
            ศีล  จากวัดป่าจะเน้นเรื่องศีล พระป่าทุกรูปจะต้องรักษาศีลอย่างบริสุทธิ์ไม่ให้มีด่างพร้อย ในไตรสิกขา ศีลเป็นข้อที่ง่ายที่สุด และเท่ากับเป็นเครื่องทดสอบพระภิกษุ เพราะการรักษาศีลต้องการเพียงความตั้งใจเท่านั้น ถ้าผู้ใดรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไม่ได้ ผู้นั้นก็ไม่มีหวังที่จะก้าวหน้าไปถึงธรรมชั้นสูง ศีลเป็นเครื่องรองรับหรือเป็นฐานของสมาธิ ทำให้สมาธิเกิดง่าย และตั้งอยู่โดยมั่นคง ศีล ๒๒๗ ข้อ พระป่าไม่เพียงแต่รักษาทุกข้อ แต่ท่านรักษาถึงทุกตัวอักษรทีเดียว
            ภาวนา  ในวัดป่าการไหว้พระสวดมนต์รวมกันนั้นมีน้อย โดยมากกระทำเฉพาะวันพระที่มีการสวดปาฏิโมกข์ ในวันธรรมดาต่างรูปต่างสวดในกุฏิของตนเอาตามความพอใจ ตามธรรมดาพอฉันเสร็จจัดการเรื่องบาตรเรียบร้อยแล้ว กลับถึงกุฏิก็จะทำการภาวนา ส่วนมากมักเริ่มด้วยการเดินจงกรม เพื่อแก้อาการง่วง ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายหลังอาหาร ใกล้ ๆ กับกุฏิทุกหลังจะมีทางเดินจงกรมสร้างไว้ มีขนาดกว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๑๐ - ๑๕ เมตร เป็นทางตรงและรักษาไว้สะอาด มีหลักสำหรับแขวนหรือตั้งโคมในเวลากลางคืน เพื่อจะได้มองเห็นทางไม่ไปเหยียบสัตว์ให้ตายหรือถูกงูกัด ระหว่างเดินจงกรมอาจบริกรรมคาถา หรือพิจารณาเกี่ยวกับสังขารร่างกาย จุดประสงค์เพื่อให้เกิดความสงบเกิดสมาธิ และเกิดปัญญา ระยะเวลาในการเดินแล้วแต่บุคคล อาจจะเป็นหนึ่งชั่วโมงไปจนถึงสี่ชั่วโมง เมื่อหยุดเดินก็เข้าที่ภาวนา พอเมื่อยหรือง่วงก็ออกมาเดินอีกสลับกันไปจนถึงเวลาดื่มน้ำร่วมกันในตอนบ่าย
            การดื่มน้ำตอนบ่ายอาจเป็นน้ำอัฐบาน กาแฟ น้ำหวาน อย่างใดอย่างหนึ่ง เสร็จแล้วกวาดวัด กวาดวัดเสร็จก็สรงน้ำ ซักสบง และอังสะ แล้วเอาไปตาก ต่อจากนั้นเป็นเวลาว่าง จะทำอะไรก็ได้ บางท่านอาจเข้าที่ภาวนาต่อ บางวัดท่านอาจารย์ขึ้นศาลาเทศน์สั่งสอนในตอนหัวค่ำทุกคืน เสร็จแล้วนั่งภาวนาพร้อมกันประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้วจึงแยกย้ายกลับกุฏิ และปฏิบัติต่อไปตามลำพัง โดยมากจะเดินจงกรม สลับกับการนั่งสมาธิ เช่นเดียวกับตอนกลางวันจนถึงห้าทุ่ม หรือสองยามจึงนอน ประมาณตีสามตื่นขึ้นนั่งสมาธิจนสว่าง ภายหลังจากนั้นก็เตรียมออกบิณฑบาต เป็นการจบรอบกิจวัตรประจำวันโดยทั่วไป
            สำหรับบางรูปที่กำลังเร่งความเพียรมาก อาจไม่นอนเลยจะนั่งกับเดินตลอดคืน ตอนกลางวันหลังจังหันแล้วจึงนอนสองสามชั่วโมงแล้วปฏิบัติต่อ บางรูปถือธุดงค์เนสัชชิกังคะไม่ลงนอนเลย กระทำแต่อิริยาบถสามคือ นั่ง ยืน เดิน ไม่นอน ถ้าง่วงก็นั่งหลับ เป็นวิธีหัดให้จิตมีกำลังเข้มแข็ง การฝึกอย่างอื่นก็มี เช่น อดอาหารซึ่งได้ผลสองต่อคือจิตเข้มแข็งและจิตเบา ภาวนาได้ผลดีกว่าธรรมดา บางรูปอดจนผ่ายผอม เพราะเห็นว่าอดแล้วไม่ง่วง จิตปลอดโปร่ง พิจารณาปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่าธรรมดา
            ในการภาวนา ส่วนมากใช้บริกรรมพุทโธ บางทีก็รวมกับอานาปานสติ เช่น หายใจ้เข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ อาจารย์ทุกท่านคอยติดตามการดำเนินของการปฏิบัติอยู่เสมอ โดยการซักถามปรากฏการณ์ทางจิตของศิษย์ จึงสามารถดัดแปลงแก้ไขการปฏิบัติให้เหมาะกับภาวะของแต่ละคน ช่วยให้ได้ผลดีขึ้นไปตามลำดับ
            หลักสำคัญประการหนึ่งที่เน้นอยู่เสมอคือ ธรรมะทั้งหลายอยู่ในกายของเราเอง ในการพิจารณาให้ส่งจิตเข้าไปในกาย ศึกษาภายในกายไม่ให้ส่งออกไปภายนอก เพราะนอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังจะเกิดการล่องลอยของจิตอีกด้วย
            ระหว่างเข้าพรรษาเป็นโอกาสที่พระป่า จะได้ศึกษาเล่าเรียนกับอาจารย์ของตนอย่างใกล้ชิด และได้ผลเต็มที่เพราะได้อยู่ด้วยกันถึงสามเดือนเต็ม พอออกพรรษารับกฐินแล้วทั้งอาจารย์และศิษย์ต่างก็ออกธุดงค์ เพื่อเสาะแสวงหาที่สำหรับภาวนา
            กฐินของวัดป่า จะทอดกันอย่างไม่มีพิธีรีตองอะไร มีแต่ผ้าขาวสำหรับเย็บจีวร และอัฐบริขาร บริวางกฐินจะมีอะไรบ้างก็แล้วแต่ศรัทธา การทอดก็มีแต่พระภิกษุสงฆ์ชุมนุมกันบนศาลา ทายก และทายิกาขนของไปกองไว้ข้างหน้าพระ ประธานยกผ้าขาวขึ้นกล่าวคำถวาย พระภิกษุสงฆ์รับผ้าไปทำพิธีกรานกฐิน เสร็จแล้วประเคนของที่เหลือเป็นเสร็จพิธี ต่อไปพระภิกษุจะจัดการตัดและย้อมจีวรตามแบบ ใช้เวลาไม่ช้าก็เสร็จ อนุโมทนาแล้วก็หมดธุระ ต่อจากนั้นต่างก็ออกเดินทางไปสู่จุดหมายในป่าเขา และถ้ำที่วิเวก เพื่อกระทำการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ตามวิธีที่พระพุทธเจ้าสอนไว้
            การออกธุดงค์อาจต่างรูปต่างไป หรือไปเป็นหมู่ก็ได้ พระภิกษุที่พรรษายังอ่อนต้องไปกับ อาจารย์ท่านใดท่านหนึ่ง การท่องเที่ยวกัมมัฏฐาน นอกจากจะได้พบที่สัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติภาวนาแล้ว ยังได้ฝึกหัดจิตใจให้มีความอดทนเข้มแข็ง และไว้วางใจตนเองด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการธุดงค์ยังเป็นการอบรมให้ยึดมั่นในไตรสรณาคม คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และมีความเพียรมาก
อันตรายของพระป่า
            พระพุทธเจ้าทรงเตือนสาวกของพระองค์ให้ระวังอันตรายสี่ประการ คือ ความเบื่อหน่ายต่อคำสอนของอาจารย์ประการหนึ่ง ความเห็นแก่ปากแก่ท้องประการหนึ่ง ความเพลิดเพลินในกามคุณประการหนึ่ง และความรักในสตรีประการหนึ่ง พระป่าต้องอาศัยอาจารย์ที่เข้มงวดกวดขัน คอยเตือนสติไม่ให้ปล่อยตนตกเป็นอันตรายทั้งสี่ดังกล่าว สมภารจะควบคุมทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภคไม่ปล่อยให้ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ จำกัดการติดต่อกับคนภายนอกที่อาจจะชวนให้เขว บางวัดห้ามอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะเกรงจะดึงความสนใจไปภายนอก ส่วนวิทยุและโทรทัศน์นั้นเป็นอันห้ามขาด
ความหวังของพระป่า
            พระป่าเพียรบำเพ็ญสมณธรรม ด้วยอิทธิบาทสี่ และสัมมัปปธานสี่ จะต้องอดทนต่อความเป็นอยู่ซึ่งล้วนแล้วแต่ตรงกันข้ามกับความสุขสบาย ต้องระมัดระวังทุกฝีก้าว ไม่ทำผิดพระวินัย และผิดระเบียบของวัด สำหรับระเบียบของวัดพอจะยกตัวอย่างได้ดังนี้
            ๑.เวลาออกบิณฑบาตห้ามคุยกัน ให้ภาวนากำหนดจิตของตน ตั้งอยู่ในความไม่ประมาททุกเมื่อ
            ๒.กลับจากบิณฑบาตถึงวัดแล้ว ขณะนั่งจัดบาตรอยู่ห้ามคุยกัน
            ๓.เมื่อได้ยินระฆังสัญญาณ ให้พร้อมกันออกมาทำกิจวัตรปัดกวาดสถานที่
            ๔.ถ้าหมู่เดียวกันทำผิดศีลธรรม ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ถ้าว่าไม่ฟังให้ร้องเรียนครูอาจารย์ให้ทราบโดยด่วน อย่าถือว่าเป็นการฟ้องร้อยกัน
            ๕.เมื่อผู้อื่นนั่งภาวนากำหนดจิตของท่านอยู่ อย่าไปเพ่งโทษท่านว่าหมู่รังเกียจตน
            ๖.เมื่อทำกิจวัตรสรงน้ำเสร็จแล้ว ห้ามคุยกันบนกุฏิ เว้นไว้แต่ไปศึกษาธรรม และไปดูแลความเจ็บป่วยของกันและกัน
            ๗.เมื่อมีกิจของสงฆ์เกิดขึ้นอย่าเมินเฉย ต้องเอาธุระช่วยดูแล ถ้าใครไม่เอาใจใส่ท่านปรับอาบัติทุกกฏ
            ๘.ห้ามเก็บอาหารไว้ฉันตอนเพล เพราะจะทำให้เสียระเบียบพระธุดงค์กัมมัฏฐาน
            ๙.เวลาไปต้อนรับแขกที่มาสู่วัด ต้องห่มจีวรให้เรียบร้อย
            ๑๐.เมื่อได้ยินสัญญาณที่ศาลาการเปรียญ ต้องรีบไปให้ถึงภายใน ๑๐ นาที เมื่อถึงแล้วห้ามคุยกันในกิจที่ไม่จำเป็น ให้นั่งภาวนากำหนดจิตของตน เมื่อเห็นผู้อื่นไม่พูดด้วยอย่าหาว่าท่านรังเกียจ ให้เข้าใจว่าท่านกำลังกำหนดจิตของท่านอยู่
            ๑๑.ช่วยกันรักษาของสงฆ์ที่มีอยู่ตามศาลาและกุฏิ ใครไม่เอื้อเฟื้อในของสงฆ์ท่านปรับอาบัติเท่ากับละเมิดของสงฆ์
            ๑๒.ของสิ่งใดที่มีผู้เอามาถวาย มีเจ้าหน้าที่เก็บไว้ ถ้าจะใช้ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เก็บเสียก่อน
            นอกจากต้องระวังตัวไม่ให้ทำผิดพระวินัย และไม่ผิดระเบียบของวัดแล้ว พระป่ายังต้องพากเพียรฝึกอบรมจิตของตน เพื่อยังกิเลสให้เบาบางไปตามลำดับ จุดหมายปลายทางที่สุดยอดคือความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าพลาดจากนั้นก็ขอให้ได้อริยธรรมชั้นใดชั้นหนึ่ง ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ซึ่งจะประกันว่าจะไม่ต้องไปเกิดในทุคติภพ ความมุ่งมาดดังกล่าวเป็นความจริงจังของพระป่า
ข้อควรทราบบางประการเกี่ยวกับพระป่า
            การทำบุญบริจาคทานกับพระป่านั้น ควรทราบว่าอะไรทำและอะไรไม่ควรทำ อะไรไม่ควรบริจาคทานทำบุญกับพระป่า อะไรสมควรที่ท่านจะบริโภคได้ อาหารอะไรควรฉันเวลาไหน
    เวลาและประเภทของโภชนาหารที่พระภิกษุรับประเคนได้
            ๑. ของที่ควรถวายแก่พระป่าตอนเช้า ได้แก่ โภชนาหารห้าอย่างคือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลาและเนื้อ
            ๒. ของที่พระป่ารับประเคนได้ ฉันได้ทั้งในตอนเช้า ตอนเย็น ตอนกลางคืน และท่านเก็บไว้ฉันได้เจ็ดวัน ได้แก่ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำหวาน เนยใส เนยข้น
            ๓. ของที่พระป่ารับประเคนได้ ทั้งตอนเช้า ตอนเย็น ตอนกลางคืน และฉันได้ทุกเวลา ถ้ามีเหตุจำเป็นได้แก่ยารักษาโรค
            ๔. ของที่พระป่ารับประเคนได้ และฉันได้ในตอนบ่าย ตอนเย็น และตอนกลางคืน ได้แก่น้ำปานะ ซึ่งทำจากผลไม้ที่ไม่ใช่เป็นมหาผล ผลไม้ที่ควรใช้ทำน้ำปานะถวายพระป่า ได้แก่ มะนาว พุทรา ลูกหว้า ส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง มะขาม มะปรางดิบ กล้วยดิบมีเมล็ด ฯลฯ น้ำที่ใช้ทำน้ำปานะควรต้มให้สุกเสียก่อน แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น วิธีทำน้ำปานะโดยสังเขปคือ นำผลไม้มาแกะเอาเมล็ดออก แล้วคั้นเอาแต่น้ำผลไม้ จากนั้นนำมากรองด้วยผ้าขาวเจ็ดครั้ง แล้วจึงนำมาผสมด้วยพริกหรือเกลือ หรือน้ำตาล หรือยาสมุนไพรต่าง ๆ ตามต้องการ น้ำปานะที่ผสมเสร็จแล้วนี้ห้ามนำไปต้มให้สุกอีก น้ำปานะจะประเคนพระได้ตั้งแต่เที่ยงวัน ถึงเที่ยงคืนก็หมดอายุกาล เพราะน้ำปานะนั้นจะกลายเป็นเมรัยไป จึงห้ามภิกษุสามเณรฉันเป็นอันขาด
            เนื้อสัตว์ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุสามเณรฉัน  มีอยู่สิบอย่างด้วยกันคือ  เนื้อมนุษย์  เนื้อช้าง  เนื้อเสือเหลือง  เนื้อเสือโคร่ง  เนื้อเสือดาว  เนื้อหมี  เนื้อราชสีห์ เนื้องู  เนื้อสุนัข  เนื้อม้า
พระพุทธศาสนากับป่าไม้
            จากพุทธประวัติเราจะพบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับป่าไม้หลายประการด้วยกันคือ
            ศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้าจัดตั้งขึ้นโดยพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระเจ้าโอกากราช ณ ป่าไม้สัก ใกล้ภูเขาหิมาลัย อันเป็นที่อยู่ของกบิลดาบสมาก่อน ได้สร้างเมืองขึ้นในป่าไม้สักให้ชื่อว่ากบิลพัสดุ์
            โกลิยวงศ์ อันเป็นราชวงศ์ของพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา ก็มีความเป็นมาเนื่องด้วยป่าไม้กระเบา มีราชธานีชื่อ กรุงเทวทหะ
            เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์จวนประสูติพระโอรส พระนางได้เดินทางเพื่อไปประสูติพระโอรส ณ กรุงเทวทหะ แต่เมื่อไปถึง ลุมพินีวัน ซึ่งเป็นป่าที่ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ พระนางก็ประสูติพระโพธิสัตว์ ณ ที่นั้น
            ในสมัยที่ทรงพระเยาว์ พระโพธิสัตว์มักใช้เวลาส่วนหนึ่งเที่ยวจาริกไปตามป่าเชิงภูเขาหิมาลัย จนสัตว์ป่ามีความคุ้นเคยเดินตามพระองค์ไปเป็นฝูง ด้วยความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นที่อัศจรรย์
            ตลอดระยะเวลาหกปี ที่พระโพธิสัตว์ได้เที่ยวศึกษาแสวงหาทางเพื่อความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ประทับศึกษาอยู่ในป่าต่าง ๆ แม้ในเวลาตรัสรู้ก็ทรงเลือกเอาป่าในตำบล อุรุเวลาเสนานิคมเป็นที่บำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้ภายใต้ต้น อัสสัตถพฤกษ์ แล้วประทับเสวยวิมุติสุข ณ ต้นไทร ต้นเกด ตามลำดับ
            เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ พระธัมมจักกัปวัตตนสูตร แก่ ปัญจวัคคีย์ ก็ทรงแสดงที่ ป่าอิสิปนมฤคทายวัน อันเป็นสวนป่า และทรงแสดงพระธรรมเทศนาอีกเป็นอันมาก ณ ป่าอิสิปนมฤคทายวันแห่งนั้น จนเกิดพระอรหันต์ขึ้นในโลกคราวแรกติดต่อกันถึงหกสิบรูป
            ทรงแสดงพระธรรมเทศนา อนุบุพพิกถา และอริยสัจสี่ โปรดพระเจ้าพิมพิสาร และบริวาร จำนวนรวมกัน ๑๒๐,๐๐๐ ท่าน ณ ลัฏฐิวัน อันเป็นป่าเช่นเดียวกัน
            พระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาคือ เวฬุวัน คือป่าไผ่ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ หลังจากที่พระองค์ได้ฟังธรรมเทศนาจนบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลแล้ว พระอารามอีกแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์คือ ชีวกัมพวัน เป็นป่าไม้มะม่วงที่หมอชีวกโกมารภัจถวายเป็นพระอาราม สำหรับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ และที่ในกรุงราชคฤห์นั้น ยังมีป่าที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอีกเป็นอันมาก เช่น มัททกุจฉิมฤคทายวัน
            ในแคว้นกาสี แคว้นโกศล อันเป็นที่ตั้งของพระอารามคือพระเชตวัน บุพพาราม มีป่าเป็นอันมาก นอกจากเชตวัน คือ ป่าของเจ้าเชต ที่ท่านอนาถบิณทิกเศรษฐีซื้อเพื่อสร้างเป็นพระอารามถวายพระพุทธเจ้าแล้วยังมีอันธวัน และนันทวัน ที่พระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์ ได้ไปพักอาศัยในป่าเหล่านั้น
            ในแคว้นวัชชี และแคว้นสักกะ มีชื่อป่ามหาวันอยู่ทั้งสองแห่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรเป็นอันมากแก่พระภิกษุบ้าง เทวดาบ้าง พระราชา พราหมณ์ คฤหบดีบ้างในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับในป่านั้น
            ตามปกติพระพุทธเจ้าจะเสด็จหลีกออกจากหมู่คณะ ไปประทับสงบอยู่ในป่าระยะสั้น ๆ เจ็ดหรือสิบห้าวันทุกครั้งจะเสด็จเข้าไปประทับในป่า เช่นคราวที่พระภิกษุทะเลาะกันที่เมืองโกสัมพี พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับอยู่ที่ป่า รักขิตวัน อยู่กับช้างและลิงที่เราเรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่าปางป่าลิเลยกะ
            การอยู่ป่าเป็นวัตรจัดเป็นนิสัย คือปัจจัยเครื่องอาศัยชีวิตของนักบวชในพระพุทธศาสนา และแม้นักบวชในลัทธิอื่นก็ถือแนวเดียวกัน พระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ในสมัยพุทธกาลล้วนแล้วแต่อาศัยอยู่ในป่าเป็นส่วนมาก ยิ่งท่านที่ต้องการ เจริญกรรมฐาน หรือที่ใช้คำว่าเจริญสมณธรรมด้วยแล้ว เสนาสนะป่าเขา เงื้อมเขา ถ้ำ เป็นสถานที่ที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติเจริญสมณธรรม พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญป่าไว้โดยนัยต่าง ๆ เป็นอันมาก
            เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน คือ สวนป่าสาละของกษัตริย์มัลละ แห่งเมืองกุสินารา
            ป่าไม้ในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งบุญ  ในสคาถวรรค สังยุตตนิกาย พระพุทธเจ้ารับสั่งตอบเทวดาที่มากราบทูลถามว่า
            "ชนเหล่าใด สร้างสวนดอกไม้ ผลไม้ ปลูกหมู่ไม้ สร้างสะพาน และให้โรงเป็นทาน บ่อน้ำทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์"
            ป่าไม้ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์  ในพระพุทธศาสนา มีบทบัญญัติทางพระวินัยที่ห้ามมิให้พระภิกษุกระทำการอะไรเป็นการทำลายสภาพของป่า และต้นไม้ เช่น
            พระภิกษุรูปใดตัดทำลายต้นไม้ ถ้าเป็นต้นไม้มีเจ้าของหวงแหน ท่านปรับอาบัติในฐานอทินนาทานคือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ถ้าเป็นการตัดกิ่งต้นไม้ของตนหรือของวัด ท่านปรับอาบัติในข้อที่เป็นการพรากภูติคามคือ หักรานกิ่ง ใบ ดอกของต้นไม้ แม้แต่การทำลายต้นไม้ที่เป็นเมล็ดที่ปลูกได้ แง่ง กิ่งของต้นไม้ ล้วนปรับเป็นอาบัติทั้งสิ้น
            และเพื่อเป็นการอนุรักษ์สภาพของป่า และต้นไม้ ได้มีบทบัญญัติทางพระวินัย ห้ามพระภิกษุถ่ายปัสสาวะอุจจาระ บ้วนน้ำลายลงน้ำ ในของสดเขียวทั้งเล็กและใหญ่ รวมถึงการทิ้งสิ่งสกปรกลงในน้ำ ในของสดของเขียวทั้งหลายอันเป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยในการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี
            ความเชื่อในเรื่องที่มีเทพารักษ์ สิงสถิตอยู่ในป่า ต้นไม้ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา จึงเป็นประโยชน์และเอื้ออำนวยที่สำคัญในการอนุรักษ์ป่า ต้นไม้
            ยิ่งไปกว่านั้น พระวินัยยังกำหนดให้พระภิกษุที่สร้างกุฏิอยู่ตามป่า ไม่ให้ทำลายต้นไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และแม้แต่ได้รับอนุญาตก็ตัดทำลายเองไม่ได้ และยังต้องระมัดระวังไม่ให้กุฏิพังลงมาทับต้นไม้ในป่า ดังนั้นวันในพระพุทธศาสนา จึงเรียกว่า อาราม แปลว่าสถานที่ทำใจให้รื่นรมย์ โดยเน้นไปที่สวนไม้ดอกไม้ผล ไม้ที่ให้ร่มเงา วัดหลักในพระพุทธศาสนาจึงมีคำลงท้ายว่า วัน ที่แปลว่าป่า เช่น เวฬุวัน เชตวัน ชีวกัมพวัน และแม้แต่นิโครธาราม ก็เป็นป่าที่มีต้นไทรขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก
การตั้งวัด
            การตั้งวัดมีขั้นตอน และวิธีดำเนินการตามที่กำหนดไว้ในกฏกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ดังนี้
            ๑.  ให้ผู้ได้รับอนุญาต ทายาท หรือผู้แทนเสนอรายงานขอตั้งวัดตามแบบ (ศถ.๓) ซึ่งทางราชการได้กำหนดไว้ต่อนายอำเภอ หรือหัวหน้าเขต
            ๒.  นายอำเภอหรือหัวหน้าเขตได้รับรายงานขอตั้งวัด และพิจารณาเห็นสมควร ให้นำปรึกษาเจ้าคณะอำเภอ หรือเจ้าคณะเขต
แล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ว่าราชการ กทม.
            ๓.  ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาเห็นสมควรให้นำปรึกษาเจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ส่งเรื่องและความเห็นไปยังกรมศาสนา
            ๔.  กรมศาสนาพิจารณาเห็นสมควรให้ตั้งวัดได้ จะรายงานกระทรวงศึกษาธิการเพื่อขอรับความเห็นชอบ แล้วนำเสนอมหาเถรสมาคม
            ๕.  มหาเถรสมาคมพิจารณาเห็นชอบแล้ว กระทรวงศึกษาธิการจะได้ประกาศตั้งวัดในราชกิจจานุเบกษา แบบ ว.๑ ท้ายกฏกระทรวงดังกล่าว
            ๖.  กรมศาสนาจะได้ส่งประกาศตั้งวัดไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเจ้าคณะภาคเพื่อทราบ และแจ้งให้ผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด ทายาท หรือผู้แทน ดำเนินการโอนที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างให้แก่วัดนั้นตามกฏหมาย
            ๗  เจ้าอาวาสจะต้องบันทึกประวัติของวัดไว้เป็นหลักฐานด้วย
    หลักเกณฑ์สำคัญในการสร้างวัด
            ๑.  จำนวนประชากรที่จะบำรุงวัดจะต้องไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ คน เว้นแต่มีเหตุจำเป็น (เมื่อมีประชาชนไม่ถึง ๑,๐๐๐ คน) ให้ชี้แจงเหตุผลประกอบไปด้วย
            ๒.  วันที่ เดือน พ.ศ. ที่ทำหนังสือสัญญาตกลงยกที่ดินให้วัด กับที่ต้องแจ้งใน ศถ.๑ ต้องตรงกัน
            ๓.  อยู่ห่างจากวัดอื่นที่ถูกต้องตามกฏหมายแล้วไม่น้อยกว่า ๒ กิโลเมตร เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นก็ให้ชี้แจงถึงเหตุจำเป็นไว้ด้วย
            ๔.  ความเห็นชอบของเจ้าคณะ และเจ้าหน้าที่บ้านเมืองในแบบ ศถ.๑ ต้องมีครบถ้วน
            ๕.  ที่ดินที่จะใช้เป็นที่สร้างวัดต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า ๖ ไร่
            ๖.  การตั้งชื่อวัดต้องชี้แจงเหตุผลประกอบใน ศถ.๓ ด้วย การตั้งชื่อวัดควรตั้งตามชื่อหมู่บ้านที่ได้รับอนุญาตให้สร้างวัด หรือสถานที่ที่ตั้งวัด และให้ชี้แจงด้วยว่ามีวัดที่มีชื่อตรงตามชื่อบ้าน และชื่อตำบลนั้นแล้วหรือไม่ เพื่อมหาเถรสมาคมจะได้พิจารณาตั้งชื่อวัดไม้ให้ซ้ำกัน ถ้าชื่อวัดที่ขอตั้งชื่อตามหมู่บ้านที่มีหลายพยางค์ ให้ตัดคำว่าบ้านออก เช่น บ้านทุ่งทอง ให้ตั้งชื่อว่า วัดทุ่งทอง แต่ถ้าชื่อหมู่บ้านมีพยางค์เดียว ให้คงคำว่าบ้านไว้ เช่น บ้านนา ให้ชื่อว่า วัดบ้านนา
            ๗.  จำนวนภิกษุจำพรรษาต้องไม่ต่ำกว่าสี่รูป และให้เสนอชื่อผู้ที่จะเป็นเจ้าอาวาสพร้อมด้วยอายุ พรรษา สังกัดสำนักวัดเดิม (ตามหนังสือสุทธิ) พระภิกษุที่จะเป็นเจ้าอาวาสต้องมีอายุพรรษาห้าพรรษาขึ้นไป
            ๘.  ถ้าทางวัดได้สร้างอุโบสถเสร็จเรียบร้อยแล้ว หรือสามารถทำสังฆกรรมได้แล้ว ให้รายงานขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามแบบ ศถ.๗ ถ้ายังไม่เสร็จต้องรอให้ครบห้าปี
การขอพระราชทานวิสุงคามสีมา
            ขั้นตอนการขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมา ตามที่ได้กำหนดไว้ในกฏกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ.๒๕๐๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ มีดังนี้
            ๑.  เจ้าอาวาสเสนอรายงานขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาตามแบบ ศถ.๗ต่อเจ้าคณะตำบล และเจ้าคณะอำเภอ
            ๒.  เจ้าคณะตำบล และเจ้าคณะอำเภอเห็นสมควรให้นำปรึกษานายอำเภอแล้วเสนอเรื่องและความเห็นไปยังเจ้าคณะจังหวัด
            ๓.  เมื่อเจ้าคณะจังหวัดเห็นสมควรให้นำปรึกษาผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วเสนอเรื่อง และความเห็นไปยังเจ้าคณะภาค
            ๔.  เมื่อเจ้าคณะภาคเห็นสมควรแล้วให้ส่งเรื่อง และความเห็นไปยังกรมการศาสนา
            ๕.  เมื่อกรมการศาสนาเห็นสมควรแล้ว จะกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชเพื่อทรงอนุมัติแล้วเสนอกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อนำความการบังคมทูลขอรับพระราชทานวิสุงคามสีมาต่อไป
            ๖.  เมื่อพระราชทานวิสุงคามสีมาแก่วัดใดแล้ว ให้นายอำเภอท้องที่ที่วัดนั้นตั้งอยู่ ดำเนินการปักหมายเขตที่ดินตามที่ได้รับพระราชทานต่อไป

| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | บน |