| หน้าแรก | ย้อนกลับ | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ |

วัดป่าภูก้อน

            วัดป่าภูก้อน เกิดจากความดำริของพุทธบริษัท ผู้ตระหนักถึงคุณค่าอันยิ่งใหญ่ และความสำคัญของป่าไม้ธรรมชาติที่เหลือน้อยลงทุกวัน โดยมุ่งดำเนินตามรอยพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการรักษาความสมบูรณ์ของป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ตลอดจนสัตว์ป่า และพรรณไม้นานาพันธุ์ เพื่อให้เป็นมรดกของลูกหลานไทยคู่กับแผ่นดินไทย พร้อมทั้งเพื่อจรรโลงส่งเสริมพระบวรพุทธศาสนา ใฝเจริญมั่งคงคู่แผ่นดินไทยตราบชั่วกาลนาน
            การก่อสร้างวัดป่าภูก้อนได้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ โดยการริเริ่มของครอบครัวนายโอฬาร และนางปิยวรรณ วีรวรรณ และโดยการเมตตาอนุเคราะห์ให้คำแนะนำปรึกษาของพระเถราจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระในภูมิภาคอิสานหลายองค์ ตลอดจนความร่วมมือร่วมใจของพุทธบริษัทหลายฝ่าย
            การก่อสร้างได้สำเร็จลุล่วงในเดือนมีนาคม ปี พ.ศ.๒๕๓๙ งบการก่อสร้างรวม ๗๑ ล้านบาท

            ในปี พ.ศ.๒๕๔๒ จังหวัดอุดรธานี ได้นำองค์พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ถวายเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒ และได้รับอนุญาตให้อัญเชิญตราสัญญลักษณ์ และพระบรมรูปหล่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประดิษฐานภายในองค์พระมหาเจดีย์
            ในปี พ.ศ.๒๕๔๓ เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลสังฆปริณายก ได้โปรดประทานพระบรมสารีริกธาตุ เพื่ออัญเชิญมาประดิษฐาน ณ องค์พระเจดีย์วัดป่าภูก้อน
            สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ณ พระเกศพระร่วงรุ่งโรจน์ศรีบูรพา ซึ่งเป็นพระพุทธปฏิมาประธานประจำพระองค์ พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๔
ความเป็นมาของวัดป่าภูก้อน
            ภูก้อนเป็นชื่อภูเขาลูกหนึ่งอยู่ในท้องที่บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง กิ่งอำเภอนกยูง อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี เป็นภูเขาใหญ่ สูงจากระดับน้ำทะเล ประมาณ ๘๓๐ เมตร สูงกว่าภูเขาลูกอื่น ๆ ในแถบนั้น มีภูเขาลูกเล็ก ๆ ติดกันอยู่ โดยรอบบริเวณเป็นป่าไม้ที่สมบูรณ์ อากาศชุ่มชื้นมีหมอกปกคลุม เป็นต้นน้ำลำธารที่มีน้ำไหลตลอดปี เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ได้แก่ หมูป่า หมี เก้ง กระจง ลิง ค่าง บ่าง ชะนี กระรอก กระแต และงูเหลือม
            บริเวณภูก้อนปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีว่าเป็นสถานที่ซึ่งมีคนเคยอยู่อาศัยมาก่อน มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่า เจ้าเมืองโสม ได้พาไพร่พล ขนสมบัติหลบหนีข้าศึก นำสมบัตมาซุกซ่อนไว้ตามถ้ำในเทือกเขาภูก้อน ปรากฏชื่อเขาลูกหนึ่งในบริเวณนี้ว่า ภูเจ้าเมือง
            ชาวบ้านบริเวณใกล้เคียงนับถือว่าภูก้อนเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ในเทศกาลสงกรานต์ชาวบ้านจะพากันขึ้นไปสรงน้ำพระพุทธรูปในถ้ำ แต่ปัจจุบันนี้ถ้ำปิดเข้าไม่ได้
            ได้ปรากฏนิมิตว่า หลวงปู่ฝั้น อาจาโร มาแนะนำให้ไปธุดงค์ทางภาคอิสานเป็นเวลา ๑๐ วัน ดังนั้นเมื่อต้นปี พ.ศ.๒๕๒๗ คณะผู้ริเริ่มได้นิมนต์อาจารย์หนูสิน ฉันทสีโล ออกธุดงค์ที่จังหวัดสกลนคร แล้วมานมัสการหลวงปู่เทสก์ที่วัดหินหมากเป้ง อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย จากนั้นได้เดินทางต่อไปยังวัดป่านาคำน้อย อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ที่มีอาจารย์อินถวาย สันตุสสโกเป็นเจ้าอาวาส ต่อมาได้ทราบว่าท่านกำลังดำเนินเรื่องขอสร้างวัดในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้จำนวนมากไว้ คณะผู้ริเริ่มก็รับไปดำเนินการจนได้รับอนุญาต ให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูง และป่าน้ำโสม เพื่อจัดตั้งวัดป่านาคำน้อย และปลูกสร้างสวนป่าอนุรักษ์ธรรมชาติ แล้วได้รับอนุญาตให้สร้างวัด ให้ตั้งวัดจนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา
            ในปลายปี พ.ศ.๒๕๒๗ อาจารย์อินทร์ถวายได้นำมายังป่าภูก้อน ที่บ้านนาคำใหญ่ ตำบลบ้านก้อง ห่างจากวัดป่านาคำน้อย ประมาณ ๘ กิโลเมตร เป็นที่สัปปายะอย่างยิ่ง เคยมีพระธุดงค์มาพักวิเวกอยู่เสมอ เป็นที่ชอบใจของทุกฝ่าย จึงได้ลงมือสร้างวัดมีภิกษุสามเณรอยู่ประจำเรื่อยมา และได้อาราธนาอาจารย์ชาลี ถิรธัมโม จากวัดถ้ำจันทร์ บ้านถ้ำจันทร์ ตำบลชมพุพร อำเภอโซ่พิสัย จังหวัดหนองคาย ให้มาอยู่เป็นประธานผู้นำสร้างวัด โดยมีอาจารย์หนูสินเป็นผู้ประสานงาน
            ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ได้ดำเนินการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จากกรมป่าไม้เพื่อสร้างวัดป่าภูก้อนในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่านายูงและป่าน้ำโสม เพื่อสร้างวัดป่าภูก้อน ภายในพื้นที่ ๑๕ ไร่ (กว้าง ๑๒๐ เมตร ยาว ๒๐๐ เมตร) และต่อมาได้รับหนังสืออนุญาตให้สร้างวัดในปีเดียวกัน
            ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม เพื่อจัดตั้งพุทธอุทยาน มีพื้นที่ ๑,๐๐๐ ไร่ (กว้าง ๑,๐๐๐ เมตร ยาว ๑,๖๒๕ เมตร) และได้ขนานนามว่า พุทธอุทยานมหารุกขปาริชาติภูก้อน

            ในด้านเสนาสนะได้จัดสร้างศาลาเอนกประสงค์สองชั้น ชั้นบนใช้เป็นอุโบสถ ชั้นล่างใช้เป็นศาลาโรงฉัน และศาลาการเปรียญ กุฏิสำหรับภิกษุสามเณร ๔๕ หลัง เรือนครัว เรือนพักฆราวาส ๗ หลัง
            ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในเขตกว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร และได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา (ขอดสิม) เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๓
            ทางวัดได้ร่วมกับกรมป่าไม้ช่วยกันดูแลรักษาป้องกันไฟป่า และการบุกรุกทำลายป่าล่าสัตว์ ทำให้วัดป่าภูก้อนเป็นที่สงบสับปายะวิเวก ควรแก่การบำเพ็ญภาวนากรรมฐาน
            คณะผู้ศรัทธาได้ร่วมกันดำเนินการสร้างพระมหาเจดีย์ ณ ภูเจ้าเมือง การออกแบบใช้เวลาสองปี และได้มีการวางศิลาฤกษ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕ การก่อสร้างเริ่ม เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๖ ใช้เวลาก่อสร้างสามปีเศษ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๓๙ สิ้นค่าใช้จ่าย ๗๑ ล้านบาท ให้ชื่อว่า พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ โดยได้จองรูปแบบโดยรวมของสถาปัตยกรรมองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม องค์มหาเจดีย์เป็นทรงลังกา ประดับด้วยโมเสกแก้วทองคำสูง ๒๔ เมตร แบ่งเป็นสองชั้น ชั้นบนกว้าง ๑๑ เมตร

            ภายในองค์เจดีย์ตกแต่งด้วยหินอ่อน และหินแกรนิต ซุ้มพระและองค์เจดีย์ภายในเป็นลายปูนปั้นปิดทองประดับกระจก เพดานห้องโถงชั้นบนติดดาวไม้สักขนาดใหญ่ แกะสลักปิดทองฝังเพชร และพลอยรัสเซียหลากสีจำนวนกว่าแสนกะรัต
            พิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จัดขึ้นในปี พ.ศ.๒๕๓๘ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ ได้ประทานพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่ออัญเชิญมาบรรจุพร้อมกับพระอรหันตธาตุ ซึ่งได้รับจากหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และหลวงปู่หล้า เขมปัตโต
            คณะผู้ศรัทธาได้ร่วมกันสร้างพระพุทธรัตนโกสินทร์ ด้วยทองคำบริสุทธิ์ ปางประทานพร หน้าตักห้านิ้ว แท่นอาสนะเป็นเงินบริสุทธิ์ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ แล้วอัญเชิญมาประดิษฐานในซุ้มวิมาน ภายในองค์พระมหาเจดีย์คู่กับพระสยามเทวาธิราชจำลองสององค์ ส่วนซุ้มพระอีก ๕ ซุ้มเป็นที่ประดิษฐานพระรูปและรูปหล่อสำริดของครูบาอาจารย์หกรูป ที่มีส่วนสำคัญในชีวิตของผู้จัดตั้งวัดป่าภูก้อน คือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต หลวงปู่ฝั้น อาจาโร หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่ขาว อนาลโย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ฯ และหลวงปู่บัว ญาณสัมปันโน
            ฐานชั้นล่างกว้าง ๑๔ เมตร เป็นที่เก็บอัฐบริขาร และรูปภาพพระอาจารย์ที่ยังมีชีวิตอยู่สี่รูป
            ด้านหน้าองค์พระมหาเจดีย์เป็นซุ้มประดิษฐานพระร่วงรุ่งโรจน์ศรีบูรพา ปางห้ามญาติ สูง ๔.๕๐ เมตร

            ราวบันไดทางขึ้นพระมหาเจดีย์ เป็นพญานาคทองสำริดเจ็ดเศียรหนึ่งคู่ ยาว ๑๐๐ เมตร กึ่งกลางเป็นศาลารายสองหลัง สำหรับจุดธูปเทียนสักการะพระมหาเจดีย์หนึ่งหลัง และสำหรับจารึกรายชื่อผู้บริจาค และเก็บอัฐิของผู้มีส่วนร่วมในการก่อสร้างพระมหาเจดีย์อีกหนึ่งหลัง รอบองค์พระมหาเจดีย์เป็นระเบียงสามารถมองเห็นทัศนียภาพไปไกลถึงแม่น้ำโขง ใต้ฐานพระมหาเจดีย์เป็นกุฏิพระ และมีที่เก็บน้ำ

            ลานหน้าพระมหาเจดีย์ มีพื้นที่ประมาณสามไร่ เป็นที่ตั้งของศาลาเรือนไทยสี่หลังใช้เป็นศาลาอำนวยการศาลาสงฆ์ และศาลาเอนกประสงค์
            ด้วยเหตุที่องค์พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์เป็นปูชนียสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี และเป็นสมบัติของชาติ ทางจังหวัดอุดรธานีจึงได้นำถวายเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๔๒  ทางวัดจึงได้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ และรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประดิษฐานไว้ภายในองค์พระมหาเจดีย์

| หน้าแรก | ย้อนกลับ | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | บน |