| ย้อนกลับ | สมัยทวาราวดี | สมัยศรีวิชัย | สมัยลพบุรี | สมัยเชียงแสน |
| สมัยอู่ทอง | สมัยอยุธยา | สมัยรัตนโกสินทร์ |

สมัยสุโขทัย
อยู่ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ นับตั้งแต่พ่อขุนบางกลางท่าวเจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราดได้ร่วมกันตีได้เมืองสุโขทัย พ่อขุนบางกลางท่าวได้รับสถาปนาเป็นเจ้าเมืองสุโขทัย ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับขอม และได้มีพระมหากษัตริย์ปกครองกรุงสุโขทัยต่อมาอีกหลายพระองค์ ตั้งอาณาจักรสุโขทัยเป็นปึกแผ่น
ในห้วงเวลาดังกล่าว พุทธศาสนาในลังกาเจริญรุ่งเรืองมาก บรรดาพระสงฆ์ในสุวรรณภูมิอันได้แก่ ไทย พม่า มอญ พากันไปศึกษาพุทธศาสนาในลังกาเป็นอันมาก และได้มีพระสงฆ์ชาวลังกา เข้ามาเผยแพร่ พุทธศาสนาในดินแดนส่วนนี้ด้วย โดยในระยะแรกมาอยู่ที่นครศรีธรรมราช ต่อมาจึงขึ้นไปอยู่สุโขทัย และเชียงใหม่ ดังนั้นพระพุทธรูปในยุคนี้จึงได้แบบอย่างมาจากลังกา ลักษณะโดยทั่วไปมีดังนี้คือ รัศมียาว เส้นพระศกขมวดก้นหอย ส่วนมากไม่มีไรพระศก พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระหนุเสี้ยม หัวพระถันโปน ชายสังฆาฏิยาว ปลายมี ๒ แฉก และย่นเป็นเขี้ยวตะขาบ ฐานส่วนใหญ่เป็นแบบฐานเอียง ตอนกลางโค้งเข้าด้านใน ตรงข้ามกับสมัยเชียงแสน
พระพุทธรูปสมัยนี้ แบ่งออกเป็น ๓ รุ่น ด้วยกัน คือ
รุ่นแรก มีวงพระพักตร์กลมแบบลังกา
รุ่นที่สอง มีวงพระพักตร์ยาว และพระหนุเสี้ยม
รุ่นที่สาม น่าจะสร้างในรัชสมัยพระมหาธรรมราชา หรือ พระเจ้าลิไท พระองค์ทรงหาหลักฐานต่าง ๆ จากพระไตรปิฎก มาประกอบการสร้างพระพุทธรูป จึงได้เกิดพระพุทธรูปแบบสุโขทัยขึ้นอีกแบบหนึ่ง ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ วงพระพักตร์ รูปไข่คล้ายแบบอินเดีย ปลายนิ้วพระหัตถ์เสมอกันทั้ง ๔  นิ้ว

สมัยอู่ทอง
อยู่ในห้วงพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๒๐ พื้นที่อยู่ในภาคกลางของประเทศไทย พระพุทธรูปแบบนี้ แบบผสมระหว่างศิลปะแบบทวาราวดีลพบุรี และสุโขทัย แบ่งออกได้เป็น ๓ รุ่น คือ
รุ่นที่ ๑ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗-๑๘ เป็นฝีมือช่างไทย แต่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะแบบ ทวาราวดี ลักษณะโดยทั่วไปมีพระรัศมีทั้งแบบต่อม นูนเป็นกระเปาะ และคล้ายทรงฝาชีเตี้ย พระพักตร์เหลี่ยม มีไรพระศกเป็นกรอบรอบวงพระพักตร์ แบ่งส่วนพระเกษากับพระนลาฎ เส้นพระเกศาละเอียด พระหนุ ค่อนข้างแหลม พระนาสิกค่อนข้างแบน พระโอษฐ์แบะ
ชายสังฆาฏิยาว ชายขอบอันตรวาสก (สบง) ด้านบนเป็นสัน
ฐานหน้ากระดาษ ด้านหน้าเป็นร่องเข้าด้านใน ด้านหลังเรียบและโค้งออก
รุ่นที่ ๒ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘-๑๙ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะขอมมากขึ้น ลักษณะส่วนใหญ่เหมือนรุ่นที่ ๑ ที่ต่างกัน คือ รุ่นนี้มีรัศมีเป็นเปลว พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยมมากขึ้น พระนาสิกโค้งมากขึ้น พระหนุสี่เหลี่ยม
รุ่นที่ ๓ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะสุโขทัย จึงทำแบบสุโขทัยเป็นส่วนใหญ่ มีลักษณะ พระกายค่อนข้างสูง พระพักตร์รูปไข่ มีไรพระศกเป็นแถบแบนกว้างกันระหว่างพระนลาฏกับเส้นพระศก พระรัศมีเป็นเปลวแบบสุโขทัย แต่ด้านหลังเรียบ ระหว่างเส้นพระศกกับพระรัศมีมีแถบกั้น สังฆาฏิมีขนาดใหญ่
ฐานเป็นแบบหน้ากระดานสองแผ่นซ้อนกัน มีร่องตรงกลางเว้าเข้า ด้านหลังโค้งออกและเรียบ


| ย้อนกลับ | สมัยทวาราวดี | สมัยศรีวิชัย | สมัยลพบุรี | สมัยเชียงแสน |
| สมัยสุโขทัย | สมัยอู่ทอง | สมัยอยุธยา | สมัยรัตนโกสินทร์ |