| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

พระบรมธาตุเมืองนคร
พระบรมธาตุเมืองนคร ประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่กลางใจเมือง
ตามตำนานกล่าวว่า องค์พระบรมธาตุเจดีย์ได้ก่อครอบพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งฝังไว้ ณ หาดทรายแก้วแห่งหนึ่ง เรื่องมีอยู่ว่า นางเหมชาลากับเจ้าทนทกุมาร ผู้เป็นพระราชบุตรีและพระราชโอรสท้าวโกสีหราช แห่งเมืองทนทบุรี ได้นำพระทันตธาตุหนีไปลังกา เมื่อตอนที่ท้าวโกสีหราชเสียเมืองให้แก่ท้าวอังกุศราช แต่เรือแตกจึงได้พากันขึ้นบกที่หาดทรายแก้ว เอาพระทันตธาตุฝังไว้ที่หาดทราย แล้วจึงหลบหนีไป  ต่อมา พระอรหันต์ชื่อพระมหาเถรพรหมเทพ มาโดยนภากาศ ได้เห็นรัศมีพระทันตธาตุโชติช่วงขึ้นมาจากที่ฝัง จึงได้ลงไปนมัสการและทำนายว่า ในอนาคตสถานที่นี้จะมีพระยาองค์หนึ่ง มาตั้งเป็นเมืองใหญ่
 
ในกาลต่อมา พระยาศรีธรรมาโศกราช ได้ทรงก่อพระมหาธาตุสูง ๓๗ วา ไว้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. ๑๐๙๘ แล้วได้สร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น
ตามหลักฐานทางพงศาวดารและทางโบราณคดี พบว่าพระยาศรีธรรมาโศกราช เป็นกษัตริย์แห่งราชวงศ์ปทุมวงศ์ ที่เป็นใหญ่อยู่ที่เมืองตามพรลิงค์ ได้ย้ายเมืองมาสร้างใหม่บนหาดทรายแก้ว เมื่อปี พ.ศ. ๑๖๒๐ พร้อมกับทรงสร้างพระบรมธาตุขึ้นไว้กลางเมือง พระองค์จึงได้เฉลิมพระนามใหม่ว่า พระยาศรีธรรมาโศกราช เพราะทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ดุจดังพระเจ้าธรรมาโศกราชของอินเดีย 
ตามที่กล่าวจารึกไว้ในศิลาจารึก หลักที่ ๒๔  ด้วยเหตุนี้ เมืองที่สร้างใหม่ ณ หาดทรายแก้วดังกล่าวจึงมีชื่อว่า นครศรีธรรมราช และเรียกกันในทางพระพุทธศาสนาว่าปาฏลีบุตรนคร จากศิลาจารึกบนเกาะลังกา มีความว่าในปี พ.ศ. ๑๗๙๐ พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช ทรงยกทัพเรือไปรบลังกา ได้ชัยชนะ  พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช นี้คือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ ๕ เมื่อกลับจากลังกาแล้ว ก็ได้ให้ช่างก่อพระเจดีย์แบบลังกา สวมทับพระธาตุองค์เดิมที่เป็นแบบศรีวิชัย ทำให้พุทธศาสนาฝ่ายมหายานหมดไปจากนครศรีธรรมราชในครั้งนี้  ต่อมาในปี พ.ศ. ๑๘๑๕ ขุนอินทาราได้รับแต่งตั้งจากกรุงอโยธยา ให้มากินเมืองนครศรีธรรมราช  ขุนอินทาราได้ดำเนินการให้พระเถระเจ้าเมืองต่าง ๆ รวมทั้งคฤหบดีรับงานเสริมสร้างพระบรมธาตุ ที่ยังสร้างไม่เสร็จมาแต่เดิมจนเสร็จ มีพระระเบียงและกำแพงล้อมรอบ พระบรมธาตุเรียบร้อย ทางกรุงอโยธยาจึงเลื่อนขุนอินทาราขึ้นเป็น พระศรีมหาราชา
 
สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในสาส์นสมเด็จว่า พระมหาธาตุองค์เดิม เหมือนกันกับพระมหาธาตุไชยา พระสถูปที่เป็นพระมหาธาตุปัจจุบัน พวกลังกามาสร้างครอบพระมหาธาตุเดิมในภายหลัง เมื่อมีการซ่อมวิหารพระม้า ได้ขุดพื้นลงไปพบบรรไดพระธาตุเดิมอยู่ใต้ดิน เป็นอีกองค์หนึ่งต่างหาก
งานประเพณีประจำปี
งานประเพณีแห่ผ้าขึ้นพระธาตุ กระทำปีละสองครั้งคือ ในวันมาฆบูชา และวันวิสาขบูชา  เริ่มด้วยการนำผ้าเป็นแถวยาวมาก แล้วพากันแห่ผ้านั้นไปยังวัดพระมหาธาตุ กระทำทักษิณาวรรตองค์พระธาตุเจดีย์สามรอบ แล้วจึงนำไปยังวิหารม้า ซึ่งจะมีบันไดขึ้นสู่ภายในกำแพงแก้วล้อมรอบพระบรมธาตุเจดีย์ แล้วนำผ้าไปโอบรอบพระบรมธาตุเจดีย์
ตามตำนานมีว่า ประมาณปี พ.ศ. ๑๗๗๓  พระเจ้าธรรมาศรีโศกราช และพระญาติ รวมสามองค์ กำลังจะสมโภชพระบรมธาตุอยู่นั้น คลื่นได้ซัดผ้าแถบใหญ่และยาวผืนหนึ่ง ขึ้นมาที่ชายหาดปากพนัง บนผืนผ้ามีภาพเขียนเรื่องพระพุทธประวัติ เรียกว่า พระบต ชาวบ้านได้นำผ้าผืนนั้นไปถวายพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช  ผ้าผืนดังกล่าวเป็นของพุทธศาสนิกชนกลุ่มหนึ่ง จะเดินทางไปลังกา เพื่อนำไปบูชาพระเขี้ยวแก้วที่ลังกา  แต่เรือโดนพายุล่มที่ชายฝั่งเมืองนคร พระองค์ได้นำผ้าผืนนั้นไปห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ จึงเกิดเป็นประเพณี มาจนถึงทุกวันนี้
ประเพณีตักบาตรธูปเทียน กระทำในวันแรม ๑ ค่ำ เดือนแปด เวลาบ่ายประมาณ ๑๔.๐๐ น. เป็นต้นไป พระภิกษุสงฆ์จากวัดต่าง ๆ มาพร้อมกันที่วัดพระมหาธาตุ ฯ  ยืนเป็นแถวยาวที่หน้าวิหารทับเกษตร  ชาวบ้านก็จะนำธูปเทียนใส่ในย่ามพระไปตามลำดับทุกรูป เสร็จแล้วก็ไปจุดเปรียง บริเวณหน้าพระพุทธรูปและฐานเจดีย์ทุกฐาน เพื่อเป็นพุทธบูชา

 

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |