| ย้อนกลับ |

พระธาตุไชยา
พระธาตุไชยา ประดิษฐาน ณ วัดพระมหาธาตุ อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากตัวจังหวัด ประมาณ ๕๐ กิโลเมตร
องค์พระธาตุไชยา เป็นโบราณสถานฝีมือช่างสมัยศรีวิชัย ได้มีการบูรณะมาตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น และได้มีการบูรณะอย่างจริงจังในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พระองค์ได้โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าคุณชยาภิวัฒน์ เจ้าคณะวัดพุมเรียงเป็นผู้ควบคุม  แต่เดิมวัดนี้ทั้งวัดจมดินและทรายที่ทับถมอยู่ เนื่องจากเป็นที่ลุ่ม หน้าน้ำ น้ำจะท่วมและพัดเอาดินโคลนมาทับถม จึงให้คุ้ยดินรอบองค์พระธาตุออก แล้วบูรณะฐานขึ้นใหม่ โดยใช้ปูนสอ ระดับดินปัจจุบันสูงกว่าฐานประมาณ ๑ เมตร ซึ่งเมื่อบูรณะแล้วจึงคล้ายกับมีคูน้ำล้อมรอบองค์พระธาตุ ตัวคูน้ำกว้างประมาณ ๖๐ เซนติเมตร
 
ฐานพระธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส มีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน องค์พระธาตุเป็นเจดีย์หลังคาเป็นชั้น ๆ ได้รับอิทธิพลจากชวาตอนปลาย ระหว่างมุมทุกมุมและด้านหน้าของซุ้มรูปเกือกม้า ที่เรียกว่า กุดุ ซึ่งประดับอยู่บนหลังคาพระธาตุ ภายในมีรูปคนหรือรูปหน้าคนประดับ มีปัญจรัม ซึ่งเป็นรูปย่อจำลองเจดีย์เป็นชั้น ๆ ขนาดเล็ก ประดับอยู่บนมุมหลังคาพระธาตุ  หน้าบันสลักตราประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ ใต้ปัญจรัม ระหว่างเหลี่ยมเจดีย์ เป็นรูปมกร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำขึ้นในสมัยหลัง ยอดเจดีย์เป็นรูปแปดเหลี่ยม มีบัวประกอบฐาน ซึ่งคงสร้างต่อเติมของเก่า
อิทธิพลของศิลปชวาที่เห็นได้ชัดคือ กุดุ ซึ่งชวาได้รับอิทธิพลจากศิลปะอินเดียสมัยหลังคุปตะ  มกรหรือกาล ซึ่งเป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่ได้รับการสลักบนทับหลังของศิลปชวาเสมอ ภายในองค์พระธาตุ มีพระพุทธรูปสมัยทวาราวดีสององค์ ประทับยืนองค์หนึ่งและประทับนั่งองค์หนึ่ง   ระเบียงรอบพระธาตุเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ทำด้วยศิลาแดงสมัยศรีวิชัย

 

| ย้อนกลับ | บน |