| ย้อนกลับ | หน้าค่อไป |


พระอัญญาโกณฑัญญะ

            พระอัญญาโกณฑัญญะ เกิดในสกุลพราหมณ์มหาศาล ในบ้านพราหมณ์ชื่อโทณวัตถุ ไม่ห่างจากกบิลวัตถุนคร มีชื่อว่า โกณฑัญญะ เมื่อเจริญวัยขึ้น ได้เรียนจบไตรเพท และรู้ลักษณะมนตร์ คือตำราทายลักษณะ ในคราวที่สมเด็จพระบรมศาสดาประสูติใหม่ พระเจ้าสุทโธทนะตรัสให้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาเลี้ยงโภชนาหาร ในการพิธีทำนายพระลักษณะตามราชประเพณี แล้วเลือกพราหมณ์แปดคน จากพวกนั้นเป็นผู้ตรวจและทำนายลักษณะ ครั้งนั้น โกณฑัญญพราหมณ์ยังเป็นหนุ่ม ได้รับเชิญไปในงานเลี้ยงด้วย ทั้งได้รับเลือกเข้าในพวกพราหมณ์แปดคน ผู้ตรวจและทำนายพระลักษณะ เป็นผู้อ่อนอายุกว่าเพื่อน พราหมณ์แปดคนนั้น ตรวจลักษณะแล้วเจ็ดคน ทำนายคติแห่งพระมหาบุรุษเป็นสองทางว่า ถ้าทรงดำรงฆราวาส จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ ถ้าเสด็จออกผนวช จักเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนโกณฑัญญพราหมณ์เห็นแน่แก่ใจแล้ว จึงทำนายเฉพาะทางเดียวว่า จักเสด็จออกผนวช แล้วได้ตรัสเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นแน่ ตั้งแต่นั้นมา ได้ตั้งใจว่า เมื่อถึงคราวเป็นอย่างนั้นขึ้นและตนยังมีชีวิตอยู่ จักออกบวชตามเสด็จ
            เมื่อพระมหาบุรุษเสด็จออกผนวชแล้ว กำลังทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ โกณฑัญญพราหมณ์ทราบข่าวแล้ว ถึงชวนพราหมณ์ผู้เป็นบุตรของพราหมณ์ผู้ตรวจทำนายพระลักษณะในครั้งนั้น ได้สี่คน คือ ภัททิยะ วัปปะ  มหานามะ อัสชิ  เป็นห้าคนด้วยกัน ออกบวชเป็นบรรพชิตจำพวกภิกษุ ติดตามพระมหาบุรุษเฝ้าอุปัฏฐากอยู่ด้วยหวังว่า ท่านตรัสรู้แล้ว จักทรงเทศนาโปรด ภิกษุห้ารูปนี้ เรียกว่า ปัจวัคคีย์ แปลว่าเนื่องในพวกห้าเฝ้าอุปัฏฐากพระมหาบุรุษอยู่ตลอดเวลา ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่หกปี ครั้นพระมหาบุรุษทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาเต็มที่แล้ว ทรงลงสันนิษฐานว่ามิใช่ทางพระโพธิญาณ จึงทรงเลิกทุกรกิริยานั้นเสีย กลับเสวยพระกระยาหาร เพื่อบำรุงพระกายให้มีพระกำลังคืนมา พวกปัญจวัคคีย์สำคัญว่าทรงท้อแท้ต่อการบำเพ็ญพรตอันเข้มงวด หันมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเสียแล้ว สิ้นเลื่อมใสสิ้นหวังแล้ว ร่วมใจกันละพระมหาบุรุษเสีย ไปอยู่ ณ อิสิปตนมฤคทายวัน แขวงนครพาราณสี
            ฝ่ายพระมหาบุรุษ ทรงบำรุงพระกายมีพระกำลังขึ้นแล้ว ทรงตั้งปธานในทางจิต ทรงบรรลุฌานสี่ วิชชาสาม ตรัสรู้อริยสัจสี่ ทรงวิมุตติจากสรรพกิเลสาสวะบริสุทธิ์ล่วงส่วน ทรงเสวยวิมุตติสุขพอควรแก่กาลแล้ว อันกำลังพระมหากรุณาเตือนพระหฤทัย ใคร่จะทรงเผื่อแผ่สุขนั้นแก่ผู้อื่น ทรงเลือกหาเวไนยผู้มีปัญญาสามารถพอจะรู้ธรรมอันสุขุมคัมภีรภาพเห็นปานนั้น ในชั้นต้น ทรงพระปรารภถึงอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร อันพระองค์เคยไปสำนักอยู่เพื่อศึกษาลัทธิของท่าน แต่เผอิญสิ้นชีวิตเสียก่อนแล้วทั้งสององค์ ในลำดับนั้น ทรงพระปรารภถึงภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้เคยอุปัฏฐากพระองค์มา ทรงสันนิษฐานว่าจักทรงแสดงประถมเทศนาแก่เธอ ครั้นทรงพระพุทธดำริอย่างนี้แล้ว เสด็จพระพุทธดำเนินจากบริเวณพระมหาโพธิ ไปสู่อิสิปตนมฤคทายวัน
            ฝ่ายพวกภิกษุปัญจวัคคีย์ ได้เห็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล เข้าใจว่าเสด็จตามมาด้วยปรารถนาจะหาผู้อุปัฏฐาก เนื่องจากความเป็นผู้มักมากนั้น นัดหมายกันว่า จักไม่ลุกขึ้นรับ จักไม่รับบาตรจีวร จักไม่ไหว้ แต่จักตั้งอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนา จะได้ประทับ ครั้นพระองค์เสด็จเข้าไปใกล้ อันความเคารพที่เคยมา บันดาลให้ลืมการนัดหมายกันไว้นั้นเสีย พร้อมกันลุกขึ้นต้อนรับและทำสามีจิกรรมดังเคยมา แต่ยังทำกิริยากระด้างกระเดื่อง พูดกับพระองค์ด้วยถ้อยคำตีเสมอ พูดออกพระนาม และใช้คำว่า อาวุโส พระองค์ตรัสบอกว่า ได้ทรงบรรลุอมฤตธรรมแล้ว จักทรงแสดงให้ฟัง ตั้งใจปฏิบัติตามแล้ว ไม่ช้าก็จักบรรลุธรรมนั้นบ้าง เธอทั้งหลายกล่าวค้านว่า แม้ด้วยการประพฤติทุกรกิริยาอย่างเข้มงวด พระองค์ยังไม่อาจบรรลุอมฤตธรรม ครั้นคลายความเพียรเสียแล้ว กลับประพฤติเพื่อความมักมาก ไฉนจะบรรลุธรรมนั้นได้เล่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตือน พวกภิกษุปัญจวัคคีย์พูดคัดค้าน โต้ตอบกันอย่างนั้นถึงสองครั้ง สามครั้ง พระองค์ตรัสเตือนให้เธอทั้งหลายตามระลึกในหนหลังว่า ท่านทั้งหลายจำได้หรือ วาจาเช่นนี้ เราได้เคยพูดแล้วในปางก่อน พวกภิกษุปัญจวัคคีย์นึกขึ้นได้ว่า พระวาจาเช่นนี้ไม่เคยได้ตรัสเลย จึงมีความสำคัญในอันจะฟังพระองค์ทรงแสดงธรรม สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสพระธรรมเทศนาเป็นประถม ประกาศพระสัมมาสัมโพธิญาณแก่พวกปัญจวัคคีย์ ในเบื้องต้น ทรงยกส่วนสุดสองอย่าง คือ กาม สุขัลลิกานุโยค คือ การประกอบตนให้พัวพันด้วยสุขในกามอันเป็นส่วนสุดข้างหย่อนหนั่ง อัตตกิลมถานุโยค คือ การประกอบความเหน็ดเหนื่อยแก่ตนเปล่า อันเป็นส่วนสุดข้างตึงหนึ่ง ขึ้นแสดงว่า อันบรรพชิตไม่พึงเสพ ในลำดับนั้น ทรงแสดงมัชฌิมาปฏิปทา คือปฏิบัติเป็นสายกลาง ไม่ข้องแวะด้วยส่วนสุดทั้งสองนั้น อันมีองคแปดคือ สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ  สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ  สัมมาวาจา เจรจาชอบ  สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบ  สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ  สัมมาวายามะ เพียรชอบ  สัมมาสติ ระลึกชอบ  สัมมาสมาธิ ตั้งใจชอบ  ในลำดับนั้น ทรงแสดงอริยสัจสี่คือ ทุกข์  ทุกขสมุทัย เหตุยังทุกข์ให้เกิด  ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์  ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ปฏิบัติถึงความดับทุกข์   ทรงยกสภาวทุกข์และเจตสิกทุกข์ขึ้นแสดง ทุกขสมุทัย ทรงยกตัณหามีประเภทสาม คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ขึ้นแสดง ทุกขนิโรธ ทรงยกความดับสิ้นเชิงแห่งตัณหานั้นขึ้นแสดง ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ทรงยกอริยมรรคมีองค์แปด คือ มัชฌิมาปฏิปทานั้นขึ้นมาแสดง ในลำดับนั้น ทรงแสดงพระญาณของพระองค์อันเป็นไปในอริสัจสี่นั้น อย่างละสาม คือ สัจจญาณ ได้แก่รู้อริยสัจสี่ นั้น กิจจญาณ ได้แก่รู้กิจ อันจะพึงทำเฉพาะอริยสัจนั้น ๆ กตญาณ ได้แก่รู้ว่ากิจอย่างนั้น ๆ ได้ทำเสร็จแล้ว  พระญาณทัสสนะ มีรอบสาม มีอาการสิบสอง ในอริยสัจสี่ เหล่านี้ ยังไม่บริสุทธิ์เพียงใด ยังทรงปฏิญญาพระองค์ว่าตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณไม่ได้เพียงนั้น ต่อบริสุทธิ์แล้ว จึงทรงอาจปฏิญญาพระองค์อย่างนั้น ในที่สุด ทรงแสดงผลแห่งการตรัสรู้อริยสัจสี่นั้น คือ เกิดพระญาณเป็นเครื่องเห็นว่าวิมุตติ คือความพ้นจากกิเลสอาสวะของพระองค์ไม่กลับกำเริบ ความเกิดครั้งนี้ เป็นครั้งที่สุด ต่อนี้ไม่มีความเกิดอีก
            พระธรรมเทศนานี้ พระคันถรจนาจารย์เรียกว่า พระธรรมจักกัปปวัตสูตร โดยอธิบายว่า ประกาศพระสัมมาสัมโพธิญาณ เทียบด้วยจักรรัตน ประกาศความเป็นจักรพรรดิราช
            เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังตรัสพระธรรมเทศนาอยู่ ธรรมจักษุ คือ ดวงตาคือปัญญาอันเห็นธรรม ปราศจากธุลีมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านโกณฑัญญะว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา" สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา ท่านผู้ได้ธรรมจักษุ ท่านโกณฑัญญะได้บรรลุโลกุตรธรรมเป็นประถมสาวก เป็นพยานความตรัสรู้ของพระศาสดา เป็นอันว่า ทรงยังความเป็นสัมมาสัมพุทธให้สำเร็จบริบูรณ์ ด้วยเทศนาโปรดให้ผู้อื่นรู้ตามได้ด้วยอย่างหนึ่ง สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ท่านโกณฑัญญะได้เห็นธรรมแล้ว ทรงเปล่งพระอุทานว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ ๆ เพราะอาศัยพระอุทานว่า อญฺญาสิ ที่แปลว่า ได้รู้แล้ว คำว่า อญฺญาโกณฺฑญฺโญ จึงได้เป็นนามของท่านตั้งแต่กาลนั้นมา
            ท่านอัญญาโกณฑัญญะ ได้เห็นธรรมแล้ว ได้ความเชื่อในพระศาสดามั่นคงไม่คลอนแคลน ได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงรับด้วยพระวาจาว่า มาเถิดภิกษุ ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด พระวาจานั้นย่อมให้สำเร็จอุปสมบทของท่าน ด้วยว่าในครั้งนั้น ยังมิได้ทรงพระอนุญาตวิธีอุปสมบทอย่างอื่น ทรงพระอนุญาตแก่ผู้ใด ด้วยพระวาจาเช่นนั้น ผู้นั้นย่อมเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนั้น อุปสมบทอย่างนี้ เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา ผู้ได้รับพระพุทธานุญาตเป็นภิกษุด้วยพระวาจาเช่นนี้ เรียกว่า เอหิภิกขุ ทรงรับท่านอัญญาโกณฑัญญะเป็นภิกษุ ในพระพุทธศาสนาด้วยพระวาจาเช่นนั้นเป็นครั้งแรก จำเดิมแต่กาลนั้นมาทรงสั่งสอนท่านทั้งสี่ที่เหลือนั้น ด้วยพระธรรมเทศนาเบ็ดเตล็ดตามสมควรแก่อัธยาศัย ท่านวัปปะและท่านภัททิยะได้ธรรมจักษุแล้ว ทูลขออุปสมบท พระศาสดาทรงรับเป็นภิกษุ ด้วยพระวาจาเช่นเดียวกัน ครั้งนั้น พระสาวกทั้งสาม เที่ยวบิณฑบาต นำอาหารมาเลี้ยงกันทั้งหกองค์ ภายหลังท่านมหานามะและท่านอัสชิได้ธรรมจักษุแล้ว ทูลขออุปสมบท ทรงรับโดยนัยนั้น
            ครั้นภิกษุปัญจวัคคีย์ได้เห็นธรรม และได้อุปสมบทเป็นสาวกทั้วกันแล้ว สมเด็จพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนา เป็นทางอบรมวิปัสนา เพื่อวิมุตติอันเป็นผลที่สุดแห่งพรหมจรรย์อีกวาระหนึ่ง ทรงแสดงปัญจขันธ์ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นอนัตตา มิใช่ตน หากปัญจขันธ์นี้จักเป็นอัตตาเป็นตนแล้วไซร้ ปัญจขันธ์นี้ ไม่พึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และจะพึงได้ในปัญจขันธ์นี้ว่า ขอจงเป็นอย่างนี้เถิด อย่าได้เป็นอย่างนั้นเลย เพราะเหตุปัญจขันธ์เป็นอนัตตา จึงเป็นไปเพื่ออาพาธ และย่อมไม่ได้ตามปรารถนาอย่างนั้น ในลำดับนั้น ตรัสถามนำให้ตริเห็นแล้ว ปฏิญญาว่า ปัญจขันธ์นั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา โดยเหตุเนื่องกันมาเป็นลำดับ แล้วทรงแนะนำให้ละความถือมั่นในปัญจขันธ์ ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต ปัจจุบัน ทั้งที่เป็นภายใน ทั้งที่เป็นภายนอก ทั้งที่หยาบ ทั้งที่ละเอียด ทั้งที่เลว ทั้งที่ดี ทั้งที่อยู่ห่าง ทั้งที่อยู่ใกล้ ว่านั่นมิใช่ของเรา นั่นมิใช่เรา นั่นมิใช่ตัวของเรา ในที่สุดทรงแสดงอานิสงส์ว่า อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในปัญจขันธ์ ย่อมปราศจากความกำหนัดรักใคร่ จิตย่อมพ้นจากความถือมั่น มีญาณรู้ว่าพ้นแล้ว รู้ชัดว่าความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้ประพฤติจบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ไม่ต้องทำกิจอย่างอื่นอีก เพื่อบรรลุผลอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์
            พระธรรมเทศนานี้ แสดงลักษณะเครื่องกำหนดปัญจขันธ์ว่าเป็น อนัตตา พระคันถรจนาจารย์จึงเรียกว่า อนัตตลักขณสูตร
            เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดา ตรัสพระธรรมเทศนาอยู่ จิตของภิกษุปัญจวัคคีย์ ผู้พิจารณาภูมิธรรมตามกระแสพระธรรมเทศนานั้น พ้นแล้วจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ท่านทั้งห้า ได้เป็นพระอรหันตขีณาสพ ประพฤติจบพรหมจรรย์ ในพระธรรมวินัยนั้น เป็นสังฆรัตนะจำพวกแรก เป็นที่เต็มแห่งพระไตรรัตน์ ประกาศสัมมาสัมพุทธภาพแห่งพระศาสดาให้ปรากฏ ครั้งนั้น มีพระอรหันต์ทั้งสมเด็จพระสุคตด้วยเพียงหกพระองค์
            เมื่อยสกุลบุตรกับสหายที่มีชื่อสี่คน และสหายที่ไม่มีชื่อ ๕๐ คน ได้มาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้ และได้บรรลุพระอรหัตแล้ว มีพระอรหันต์ ๖๑ พระองค์ พระศาสดาทรงประชุมพระสาวก ตรัสให้เกิดอุตสาหะในอันเที่ยวจาริกสั่งสอนมหาชน ให้เห็นธรรมและตั้งอยู่ในสัมมาปฏิบัติ อันเป็นปัจจัยแห่งความสุขความสงบแล้ว ทรงส่งให้เที่ยวกระจายกันไปในทิศานุทิศ ส่วนพระองค์ก็จักเสด็จไปสู่มคธรัฐ
            ในพวกภิกษุปัญจวัคคีย์นั้น พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับยกย่องของพระศาสดาในฐานเป็นเอตทัคคะ คือ เป็นยอดเยี่ยมแห่งภิกษุทั้งหลายผู้รัตตัญญู แปลว่า ผู้รู้ราตรี คือผู้เก่าแก่ อันชนผู้รัตตัญญู คือ ผู้เก่าแก่ในขณะนั้น ๆ ย่อมได้พบเห็นและสันทัดมาในกิจการของคณะ ย่อมอาจจัดอาจทำให้สำเร็จด้วยตนเองหรือบอกเล่าแนะนำผู้อื่น เป็นเจ้าแบบเจ้าแผนดุจผู้รักษาคลังพัสดุ ย่อมเป็นที่นับถือของผู้ใหม่ในคณะ แม้ในพระธรรมวินัยนี้ ก็นิยมนับถือสาวก ผู้รัตตัญญูดุจเดียวกัน สมเด็จพระบรมศาสดาจึงทรงสรรเสริญพระเถระในฐานนี้
            พระเถระเห็นอุปนิสัยของปุณณมาณพผู้หลาน ไปสู่พราหมณคามอันชื่อว่าโฑณวัตถุถิ่นเดิมของท่านแล้ว ยังปุณณมาณพให้บรรพชาแล้วมาพักอยู่ในพุทธสำนัก ท่านเองเป็นผู้เฒ่า อยู่ในเสนาสนะใกล้บ้านไม่สบาย ได้ถวายบังคมลาพระศาสดาไปอยู่ป่า ที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวว่า สระฉัททันต์อันเป็นผาสุวิหาร ได้นิพพาน ณ ที่นั้น ก่อนพุทธปรินิพพาน
            สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ที่กรุงราชคฤห์ พระอัญญาโกณทัญญะเข้าไปเฝ้า พระวังคีสเถระเห็นดังนั้นดำริว่าจะมีสรรเสริญ  พระโกณทัญญะเถระ ด้วยพระคาถาทั้งหลายโดยสรุปนิทัศนนัย  เฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค ดำริดังนั้นแล้วท่านก็ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแล้ว พระวังคีสเถระจึงสรรเสริญพระอัญญาโกณทัญญะเถระ ด้วยพระคาถาทั้งหลาย เป็นเนื้อความว่า พระอัญญาโกณทัญญะเถระมีปรกติยินดีในเสนาสนะอันสงัด ประกอบไปด้วยไตรวิชชาและมหานุภาพ ผู้ฉลาดด้วยเจโตปริญญา และเป็นผู้รับมรดกแห่งพระผู้มีพระภาค ได้ตรัสรู้ธรรมาภิสมัยมรรค  และผลก่อนกว่าสาวกทั้งปวง
            พระอัญญาโกณทัญญะเถระไม่ได้มาเฝ้าพระผู้มีพระภาคประมาณถึง 12 ปี เนื่องจากว่าท่านไปจำพรรษาอยู่แทบฝั่งสระโบกขรณี  ชื่อว่ามนทากิน ณ ป่าหิมพานต์ ใกล้กันกับที่อยู่ของช้างฉัททันต์ทั้งหลาย และที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งปวงแต่กาลก่อนนั้น พระอัญญาโกณทัญญะเถระนั้นเป็นพระมหาสาวก บรรดาผู้ที่มาสู่สำนักพระผู้มีพระภาค แล้วมักไปสู่สำนักพระอัญญาโกณทัญญะเถระ ด้วยเห็นว่าท่านเป็นพระมหาสาวก ได้ตรัสรู้ธรรมาภิสมัยมรรคผลก่อนกว่าสาวกทั้งปวง
            ในเวลาภิกขาจาร  บรรดาสาวกทั้งปวง  ย่อมคมนาการไปด้วยลำดับพรรษาอายุ  ถึงเวลาแสดงพระธรรมเทศนา  เมื่อพระผู้มีพระภาคสถิตเหนือพุทธอาสน์อันตั้งอยู่ท่ามกลางแล้ว พระสารีบุตรเถระอรรคสาวกนั้นย่อมนั่งข้างเบื้องขวา พระมหาโมคคัลลาน์ ทุติยสาวกย่อมนั่งข้างซ้าย  พระอัญญาโกณทัญญะเถระย่อมนั่งอยู่ในเบื้องปฤษฎางค์ แห่งพระอรรคสาวกทั้งสององค์นั้น
            เมื่อพระอัญญาโกณทัญญะเถระ  ดำริว่าท่านควรจะไปอยู่ในชนบท  จึงได้กราบทูลขอโอกาสต่อพระผู้มีพระภาค  เมื่อทรงอนุญาตแล้วท่านจึงได้ไปอยู่ ณ ที่อยู่ดังกล่าวแล้ว  บรรดาหมู่คชสารที่ได้เคยบำเรอพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย  เมื่อได้เห็นพระมหาเถระแล้วก็ดำริว่า บุญเขตเนื้อนาบุญเราทั้งหลายมาถึงแล้ว  จึงได้พากันกระทำวัตตปฎิบัติแก่พระมหาเถระ  ช้างทั้งหลายย่อมนำอาหารที่หามาได้มาถวาย  ในกาลนั้น มีเทพบุตรองค์หนึ่งชื่อ นาคทัต ปรกติอยู่ ณ เขาไกรลาส  เมื่อพระมหาเถระไปภิกขาจาร  เทพบุตรนั้นก็ยังบาตรพระมหาเถรให้เต็มด้วยข้าวปายาสอันปราศจากน้ำ อยู่ทุกวัน
            ดังได้สดับมา  พระมหาเถระนั้น  ในศาสนาพระพุทธกัสสปทศพลนั้น  ท่านได้ถวายขีรสลากภัตตทาน อันเจือด้วย  นมสด  สิ้นกาลประมาณ 8 หมื่นปี  ด้วยผลนั้นอำนวยผล  โภชนาหารจึงได้บังเกิดแก่พระมหาเถระ ด้วยประการดังกล่าว
            ต่อมาเมื่อพระมหาเถระ  มาพิจารณาดูอายุสังขารของท่านก็ทราบว่า  อายุจะสิ้นแล้ว  และท่านจะปรินิพพานในสถานที่นี้  ท่านจึงได้ไปสู่สำนักพระบรมศาสดา  ดังกล่าวมาแล้ว
            ลำดับนั้น พระมหาเถระปริวิตกว่า  ภิกษุรูปใดมิได้รู้จักท่าน  ภิกษุทั้งหลายนั้นก็จะยังมโนปโทสจิต ให้บังเกิดขึ้นในตัวท่านว่า  นั่นจะเป็นภิกษุรูปใด  แก่ชราทุพพลภาพคร่ำคร่า  มาเฝ้าสนทนาปราศัยกับด้วยพระบรมครูอยู่  ตกว่าทั้งหลายใด  ยังมโนปโทสจิตให้บังเกิดดังนั้นแล้ว  ภิกษุเหล่านั้นก็ย่อมจะยังอบายภูมิให้เต็มบริบูรณ์  ถ้าภิกษุเหล่าใดรู้จักท่านแล้ว  ก็จะยังปสาทจิตความเลื่อมใสให้บังเกิดว่า  เรามาสรรเสริญพระอัญญาโกณทัญญะเถระนี้  เป็นพระมหาสาวก  เป็นพระมหาเถระออกหน้าปรากฎในหมื่นจักรวาฬ  เมื่อยังปสาทจิตความเลื่อมใสบังเกิดดังนี้แล้ว  ภิกษุเหล่านั้นก็จะมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า  จำท่านจะปิดหนทางอบายภูมิเสีย แล้วจะเปิดหนทางสวรรค์ให้แก่สัตว์ทั้งหลาย  ดำริดังนี้แล้ว พระมหาเภระจึงได้ออกนามของท่านให้พระบรมศาสดาได้สดับ  และกล่าวประพฤติปราศัยปฎิสันถารกับด้วยพระบรมศาสดา  แล้วกราบทูลถวายนมัสการว่า  อายุสังขารของท่านนี้สิ้นแล้ว  ขอพระบรมศาสดาทรงอนุญาตกาล  อันจะปรินิพพานแก่ท่าน  พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า  ดูกร โกณทัญญะ ท่านจะปรินิพพาน ณ ที่ดังฤา ท่านได้กราบทูลว่า อันช้างทั้งหลายเป็นอุปฐากของท่าน เป็นการยากที่บุคคลจะกระทำได้  ท่านจะกลับไปปรินิพพานในสำนักแห่งช้างทั้งปวง  พระบรมศาสดาจึงทรงอนุญาตว่า  กาลํ  มญฺญก  ดูกรโกณทัญญะภิกษุ  ท่านจงดูแต่กาลอันควรเถิด
            พระมหาเถระจึงกระทำประทักษิณพระบรมศาสดาแล้วกราบทูลว่า  ท่านได้เห็นพระผู้มีพระภาคเป็นปฐมทีแรกเท่านั้น  แล้วได้มาเห็นพระองค์นี้เป็นปัจฉิมทัศนะครั้งเดียวนี้แล้ว  จากนั้น พระมหาเถระจึงถวายนมัสการลาพระบรมศาสดา ออกมาอยู่ ณ ซุ้มพระวิหาร ให้โอวาทแก่มหาชนทั้งปวงว่า  สังขารธรรมทั้งหลาย บังเกิดขึ้นมาแล้ว ที่จะไม่ทำลายอย่าพึงสงสัย  ท่านทั้งหลายพึงบำเพ็ญอัปปมาทธรรม ให้บริบูรณ์ในสันดานเถิด  ครั้นให้โอวาทแล้ว โดยทางนภากาศ  ลงสรงอุทกังในสระโบกขรณี แล้วนุ่งสบงทรงจีวร  กระทำผ้าอุตราสงค์เหนืออังสประเทศ ลำดับเสนาสนะ แล้วก็ยับยั้งอยู่ในสมาบัติ  ครั้งถึงเพลาปัจฉิมยามจวนใกล้รุ่ง  ท่านก็ดับขันธ์  ดับกรรมชรูป  และวิบากขันธ์สิ้นเชิงหาเศษไม่ได้  เป็นอนุปาทิเสสปรินิพพาน ณ กาลครั้งนั้น
            เมื่อได้ปลงศพพระมหาเถระแล้ว  พระภิกษุทั้งปวงก็ได้อัฐิธาตุไปถวายพระบรมศาสดาที่เวฬุวันมหาวิหาร  พระผู้มีพระภาคทรงรับห่ออัฐิธาตุด้วยพระหัตถ์ แล้วบรรจุไว้ในพระเจดีย์  พระเจดีย์องค์นั้น ยังประดิษฐานอยู่ตราบเท่ากาลทุกวันนี้  ด้วยอำนาจพระบรมพุทธาธิฐาน

| ย้อนกลับ | หน้าค่อไป | บน |