| ย้อนกลับ | หน้าค่อไป |


พระมหากัสสปะ

            พระมหากัสสปะนั้น เป็นบุตรกปิลพราหมณ์ กัสสปโคตร ในบ้านมหาติฏฐะ จังหวัดมคธรัฐชื่อ ปิปผลิ เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้ทำการอาวาหมงคลกับนางภัททกาปิลานี บุตรีพราหมณ์ โกสิยโคตร ณ สาคลนคร จังหวัดมคธรัฐเดียวกัน ผู้มีอายุ ๑๖ ปี ตามประเพณีเมือง หามีบุตรหรือธิดาด้วยกันไม่ สกุลของสามีภรรยาคู่นี้มั่งมีมาก มีการงานที่ทำเป็นบ่อเกิดแห่งทรัพย์เป็นอันมาก มีคนงานและพาหนะสำหรับใช้งานเป็นอันมาก ครั้นบิดามารดาทำกาลกิริยาแล้ว ปิปผลิมาณพได้ครองสมบัติและดูการงานนั้นต่อมา สามีภรรยาทั้งสองนั้นเห็นว่าผู้อยู่ครองเรือน ต้องคอยนั่งรับบาปเพราะการงานที่ผู้อื่นทำไม่ดีมีใจเบื่อหน่าย ชวนกันละสมบัติเสีย ออกบวช พระมหากัสสปะ เมื่อมาอุปสมบทในพระธรรมวินัย ก็ปรากฏว่าค่อนข้างชรา ส่วนในกัสสปสังยุต กล่าวเป็น คำเล่าของท่านเองแก่พระอานนท์ว่า ท่านเห็นว่าฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งกิเลสธุลี จึงถือเพศเป็นบรรพชิต ออกบวชอุทิศพระอรหันต์ในโลก
            วันหนึ่ง ท่านปิปผลิได้พบพระศาสดาประทับอยู่ที่ใต้ร่มไทร เรียกว่าพหุปุตตกนิโครธ ในระหว่างกรุงราชคฤห์และเมืองนาฬันทาต่อกัน มีความเลื่อมใส รับเอาพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดาของตน พระองค์ทรงรับเป็นภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ แล้วประทานโอวาทสามข้อว่า
            กัสสปะ ท่านพึงศึกษาว่า เราจักไปตั้งความละอายและความเกรงไว้ในภิกษุ ทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ทั้งที่เป็นผู้ใหม่ ทั้งที่เป็นปานกลาง เป็นอย่างแรงกล้า ดังนี้ข้อหนึ่ง
            เราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกุศล เราจักเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้น พิจารณาเนื้อความ ดังนี้ข้อหนึ่ง
            เราจักไม่ละสติที่ไปในกาย คือพิจารณาร่างกายเป็นอารมณ์ดังนี้ ข้อหนึ่ง
            ครั้นพระศาสดาทรงสั่งสอนพระมหากัสสปะอย่างนี้แล้ว เสด็จหลีกไป อาการทรงรับพระมหากัสสปะเข้าในพระธรรมวินัย และโปรดให้รับพระพุทธโอวาทสามข้อ พระอรรถกถาจารย์แยกเป็นวิธีอุปสัมปทาอย่างหนึ่ง ดุจประทานแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ด้วยให้รับครุธรรมแปดประการ แต่วิธีหลังแลเห็นชัด เพราะเป็นครั้งแรกที่ประทานสัมปทาแก่สตรีให้เป็นภิกษุณี และไม่ได้ประทานเอหิภิกขุนีอุปสัมปทาเลย ส่วนวิธีต้น เห็นไม่พ้นไปจากประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา
            พระมหากัสสปะได้ฟังพุทธโอวาททรงสั่งสอนแล้ว บำเพ็ญเพียรไม่ช้านัก ในวันที่แปดแต่อุปสมบท ได้สำเร็จพระอรหัต
            ท่านได้รับยกย่องจากพระศาสดาโดยอาการเฉพาะพระองค์ คือทรงรับผ้าสังฆาฏิของท่านไปทรง ประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ให้แก่ท่าน ตรัสว่ามีธรรมเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และทรงสรรเสริญว่าเป็นผู้ปฏิบัติมักน้อย สันโดษ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายให้ถือเอาเป็นตัวอย่างว่า ภิกษุทั้งหลาย กัสสปะผู้นี้ เป็นผู้สันโดษ ยินดีด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ เภสัช ตามมีตามได้ ไม่มักมาก และกล่าวสรรเสริญคุณของความสันโดษด้วยปัจจัยสี่นั้น เธอไม่ถึงความแสวงหาไม่ควร เหตุปัจจัยสี่นั้น แสวงหาไม่ได้ ก็ไม่สุะดุ้งตกใจ แสวงหาได้แล้ว ก็ไม่เป็นคนกำหนดในปัจจัยสี่นั้นบริโภค ท่านทั้งหลายพึงศึกษาตามอย่างนั้น ท่านทั้งหลายอันเราสั่งสอนแล้ว พึงปฏิบัติเพื่อเป็นเช่นนั้นเถิด ภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเข้าไปใกล้สกุลชักกายและใจห่าง ประพฤติตนเป็นคนใหม่ ไม่คุ้นเคยเป็นนิตย์ ไม่คะนองกาย วาจา ใจ ในสกุลเป็นนิตย์ จิตไม่ข้องอยู่ในสกุลเหล่านั้นเพิกเฉย ตั้งจิตเป็นกลางว่า ผู้ใคร่ลาภ ก็จงได้ลาภ ผู้ใคร่บุญ ก็จงได้บุญ ตนได้ลาภมีใจฉันใด ผู้อื่นได้ก็มีใจฉันนั้น ภิกษุใดแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ด้วยคิดว่า ไฉนหนอ เขาพึงตั้งใจฟังธรรมของเรา ครั้นฟังธรรมแล้วจะพึงเลื่อมใสในธรรม เลื่อมใสแล้วจะพึงทำอาการของผู้เลื่อมใส ธรรมเทศนาของภิกษุนั้นไม่บริสุทธิ์ ส่วนภิกษุใด แสดงธรรมแก่ผู้อื่นด้วยคิดว่า ธรรมอันพระศาสดากล่าวดีแล้ว ไฉนหนอเขาจะพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้วจะพึงรู้ธรรมนั้น ครั้นรู้แล้วจะพึงปฏิบัติเพื่อความเป็นอย่างนั้น ภิกษุนั้น อาศัยความที่แห่งธรรมเป็นธรรมอันดี อาศัยกรุณาและเอ็นดูแสดงธรรมแก่ผู้อื่น ธรรมเทศนาของภิกษุนั้นบริสุทธิ์แล้ว กัสสปะก็เหมือนอย่างนั้น เราสอนท่านทั้งหลาย ยกกัสสปะขึ้นเป็นตัวอย่าง ท่านทั้งหลายอันเราสอนแล้ว จงปฏิบัติเพื่อเป็นอย่างนั้น
            พระมหากัสสปะนั้น โดยปกติถือธุดงค์สามอย่าง คือ ถือทรงผ้าบังสุกุลจีวรเป็นวัตร ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถืออยู่ป่าเป็นวัตร พระศาสดาทรงยกย่องว่า เป็นเยี่ยมแห่งภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ครั้งหนึ่งท่านเข้าไปเฝ้าพระศาสดาที่เวฬุวัน พระศาสดาตรัสแก่ท่านว่า กัสสปะเดี๋ยวนี้ท่านแก่แล้ว ผ้าป่าบังสุกุลจีวรที่เขาไม่นุ่งห่มของท่านนี้หนักนัก ท่านทรงจีวรที่คฤหบดีถวายเถิด จงฉันโภชนะในที่นิมนต์เถิด และจงอยู่ในที่ใกล้เราเถิด ท่านทูลว่า ข้าพระเจ้าเคยอยู่ในป่า เที่ยวบิณฑบาต ทรงผ้าบังสุกุลจีวร ใช้แต่ผ้าสามผืน มีความปรารถนาน้อย สันโดษ ชอบเงียบสงัด ไม่ชอบระคนด้วยหมู่ ปรารภความเพียรและพูดสรรเสริญคุณเช่นนั้นมานานแล้ว พระศาสดาตรัสถามว่า กัสสปะ ท่านเห็นอำนาจประโยชน์อะไร จึงประพฤติตนเช่นนั้น และสรรเสริญความเป็นเช่นนั้น ท่านทูลว่า ข้าพระเจ้าเห็นอำนาจประโยชน์สองอย่าง คือการอยู่เป็นสุขในบัดนี้ของตนด้วย อนุเคราะห์ประชุมชนในภายหลังด้วย ประชุมชนภายหลังทราบว่า สาวกของพระพุทธเจ้า ท่านประพฤติตนอย่างนั้น จักถึงทิฏฐานุคติ ปฏิบัติตามที่ตนได้เห็นได้ยิน ความปฏิบัตนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์และสุขแก่เขาสินกาลนาน พระศาสดาประทานสาธุการว่า ดีละ ดีละ กัสสปะ ท่านปฏิบัติเพื่อประโยชน์และสุขแก่ชนเป็นอันมาก ท่านจงทรงผ้าบังสุกุลจีวรของท่านเถิด ท่านจงเที่ยวบิณฑบาตเถิด ท่านจงอยู่ในป่าเถิด
            ด้วยความมักน้อยสันโดษ และปฏิบัติเคร่งครัดอย่างนี้ พระมหากัสสปะ ย่อมเป็นที่นับถือของสกุลทั้งหลาย มีคำกล่าวว่า ในกรุงราชคฤห์ สกุลที่ไม่ใช่ญาติก็คงเป็นอุปัฏฐากของท่าน แต่ท่านก็มิได้พัวพันห่วงใยอยู่ในสกุลเหล่านั้น ถึงคราวที่พระศาสดาจะเสด็จจาริกไปโปรดสัตว์ ท่านก็เตรียมตัวตามเสด็จโดยฐานเป็นสาวก แต่พระศาสดาตรัสให้อยู่เพื่อเจริญศรัทธา และปสาทะของชาวกรุงราชคฤห์ก็มี
            พระมหากัสสปะนั้น ดีในการปฏิบัติ แต่หาพอใจในการสั่งสอนภิกษุสหธรรมิกไม่ ท่านระอาภิกษุปูนหลังว่าเป็นผู้ว่ายาก ธรรมเทศนาอันเป็นอนุศาสนีของท่านจึงไม่มี คงมีแต่ธรรมภาษิตเนื่องมาจากสากัจฉา กับเพื่อนสาวกบ้าง กล่าวบริหารพระพุทธดำรัสบ้าง อย่างไรก็ดีเรื่องที่เกี่ยวกับท่าน พระธรรมสังคาหกาจารย์ รวมสังคีติไว้หมวดหนึ่งในสังยุตนิกาย เรียกว่า กัสสปสังยุต เป็นการไว้เกียรติคุณแห่งพระเถรเจ้า
            พระมหากัสสปะนั้น อยู่มาถึงปูนหลังแต่นิพพานแห่งพระศาสดา ในเวลาพระศาสดายังทรงพระชนม์อยู่ เป็นแต่พระสาวกผู้ใหญ่รูปหนึ่งเท่านั้น มาปรากฏเป็นพระสาวกสำคัญ เมื่อพระศาสดาปรินิพพานแล้ว ในคราวที่พระศาสดาปรินิพพาน ท่านไปอยู่เสียที่นครปาวา หาได้ตามเสด็จจาริกด้วยไม่ ท่านระลึกถึงพระศาสดา เดินทางมาจากนครปาวากับบริวาร พักอยู่ตามทาง พบอาชีวกผู้หนึ่งเดินสวนทางมา ท่านถามข่าวแห่งพระศาสดา ได้รับบอกว่าปรินิพพานเสียแล้วได้เจ็ดวัน ในพวกภิกษุผู้บริวาร จำพวกที่ยังตัดอาลัยมิได้ ก็ร้องไห้รำพันถึง จำพวกที่ตัดอาลัยได้แล้ว ก็ปลงธรรมสังเวช มีวุฒบรรพชิต คือภิกษุบวชต่อแก่รูปหนึ่ง ชื่อสุภัททะกล่าวห้ามภิกษุทั้งหลายว่า อย่าเศร้าโศกร้องไห้เลย พระศาสดาปรินิพพานเสียได้เป็นดี พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ย่อมรับสั่งห้ามไม่ให้ทำการบางอย่าง และให้ทำการบางอย่าง ที่ไม่พอใจเรา ตั้งแต่นี้ต่อไป เราพ้นแล้วจากผู้บังคับ ปรารถนาจะทำการใด ก็ทำได้ ไม่ปรารถนาจะทำการใด ไม่ทำก็ได้ พระมหากัสสปะรำพึงว่า เพียงพระศาสดาปรินิพพานแล้วได้เจ็ดวันเท่านั้น ยังมีภิกษุผู้ไม่หนักในพระสัทธรรม กล้ากล่าวจ้วงจาบได้ถึงเพียงนี้ กาลนานล่วงไปไกล จักมีสักเพียงไร ท่านใส่ใจคำของสุภัททวุฒบรรพชิตไว้แล้ว ให้โอวาทแก่ภิกษุสงฆ์สมควรแก่เรื่องแล้ว พาบริวารเดินต่อมา ถึงกุสินารานครตอนบ่ายวันถวายพระเพลิง ท่านได้ถวายบังคมพระพุทธสรีระ
            พระมหากัสสปะ เป็นพระสังฆเถระอยู่ในเวลานั้น พอถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้วได้เจ็ดวัน ท่านประชุมสงฆ์เล่าถึงการที่ท่านเดินทางมาจากปาวานครเพื่อจะเฝ้าพระศาสดา ได้ทราบข่าวปรินิพพานในกลางทาง มีภิกษุบางพวกร้องไห้อาลัยถึง สุภัททวุฒบรรพชิตกล่าวห้ามด้วยคำอย่างไร และท่านรำพึงเห็นอย่างไร ยกเรื่องนี้ขึ้นเป็นเหตุ ชักชวนภิกษุสงฆ์เพื่อทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัย ตั้งไว้เป็นแบบฉบับ เพื่อสมกับพระพุทธพจน์ที่ได้ประทานไว้เมื่อครั้งปรินิพพานว่า ธรรมก็ดี วินัยก็ดี อย่างใด อันเราได้แสดงไว้แล้ว ได้บัญญัติไว้แล้ว ธรรมวินัยนั้นจักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย ในเมื่อเราล่วงไปแล้ว พระสงฆ์เห็นชอบตามคำแนะนำของพระมหากัสสปะ มอบธุระให้ท่านเป็นผู้เลือกภิกษุทั้งหลาย ผู้สามารถจะทำการสังคายนานั้น ตามเรื่องว่า ท่านกำหนดเลือกภิกษุทั้งหลายผู้ทำสังคายนามีจำนวน ๕๐๐ มีปัญหาอยู่ด้วยพระอานนท์ผู้ยังไม่ได้บรรลุพระอริยผลอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ แต่เป็นผู้ได้สดับตรับฟัง ทรงจำพระธรรมเทศนาของพระศาสดาไว้มาก เว้นพระอานนท์เสียแล้ว ยากที่จะทำสังคายนาได้สะดวก พระภิกษุสงฆ์ตกลงขอให้เลือกเอาพระอานนท์เข้าด้วย แต่เมื่อถึงคราวทำสังคายนา พระอานนท์ได้สำเร็จพระอรหัตแล้ว เป็นอันว่าภิกษุสงฆ์ผู้ทำสังคายนาครั้งนั้น เป็นพระอรหัตทั้งมวล สังคายนาครั้งนั้น ได้ทำที่ถ้ำสัตตบัณณคูหาแห่งเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปะเป็นประธานในการทำ ได้พระอุบาลี และพระอานนท์เป็นกำลัง ในอันวิสัชนาพระวินัยและพระธรรมโดยลำดับกัน ได้พระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก ทำเจ็ดเดือนสำเร็จ เพราะทำคราวแรก เรียกว่า ประถมสังคีติ
            การที่พระมหากัสสปะ ชักชวนพระสงฆ์ทำสังคายนาครั้งแรกนี้ เป็นประโยชน์อย่างใหญ่แก่พระพุทธศาสนา เป็นการฉลองพระคุณพระศาสดาอย่างดี  ข้อนี้พระสารีบุตรได้ปรารภไว้เมื่อนิครนถนาฏบุตรทำกาลกิริยา สาวกแตกกระจัดกระจายกันด้วยอำนาจลัทธิ จึงแสดงสังคีติสูตรจัดระเบียบธรรมไว้เป็นหมวด ๆ และได้รับพระพุทธานุมัติของพระศาสดา พระสารีบุตรนิพพานเสียก่อน พระมหากัสสปะมาทำขึ้นในครั้งนี้
            เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานแล้ว  พระมหากัสสปเถระ ได้อุตสาหะกระทำการสังคายนาร้อยกรองพระไตรปิฎก  แปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์  แต่ล้วนเป็นคำสั่งพระบรมศาสดาร้อยกรองเข้าไว้หมวดเป็นหมู่  พระวินัยจัดเข้าไว้เป็นพวกวินัย พระสูตรจัดไว้ตามพวกพระสูตร พระอภิธรรมตามพวกพระอภิธรรม  กระทำให้ถูกต้องตามพุทธฎีกา ครั้นสำเร็จการปฐมสังคายนาแล้ว พระมหาเถระก็สถิตอยู่ในเวฬุวนาราม  ปฎิบัติธรรมอยู่มิได้ประมาท ให้โอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลาย ซึ่งเป็นสิสสานุสิส  มาสิ้นกาลช้านาน
            อยู่มาเวลาเที่ยงคืนวันหนึ่ง พระมหาเถระเข้าฌานสมาบัติเป็นที่สบายแห่งพระอริยเจ้า จึงพิจารณาอายุสังขารของท่านเห็นว่าแก่ชรา มีพระชนมพรรษาได้ร้อยยี่สิบปีแล้ว  เล็งแลดูไปก็เห็นว่าอายุของท่านสิ้นแล้ว  เพลาพรุ่งนี้ท่านจะนิพพาน และจะนิพพานในระหว่างภูเขากุกกุฏสัมปาตบรรพตใกล้เมืองราชคฤห์
            ครั้งรุ่งเช้าพระมหาเถระจึงให้ประชุมสงฆ์ แล้วสั่งสอนว่า อย่าประมาท อุตส่าห์พยายามอย่าให้ขาดเวลา  จงปฎิบัติตามคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา  ตัวท่านนั้นสิ้นอายุแล้ว จะนิพพาน ณ เพลาเย็นวันนี้แล้ว  บรรดาพระภิกษุที่เป็นปุถุชน ได้ฟังก็พากันโศกา  ร่ำร้องไห้พิไร  บรรดาพระขีณาสพทั้งหลายครั้นแจ้งเหตุ ต่างก็สงสารสังเวชว่า เกิดมาเป็นสัตว์สังขารแล้ว มีแต่จะสูญสิ้นไปเป็นที่สุด  เกิดแล้วดับไป  ถ้าแม้นระงับสังขารธรรมลงเสียได้  แล้วนั่นแหละจึงจะเป็นสุข  ฝ่ายพระมหาเถระเห็นดังนั้น จึงได้ประโลมปลอบให้ชอบตามพระพุทธฎีกาว่า อันเกิดมาเป็นสังขารแล้วไม่เที่ยงแท้  ย่อมปรวนแปรไปมา  พระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ได้ตรัสในอดีต  อนาคต และปัจจุบันนั้น  ย่อมเทศนาไว้ทุก ๆ พระองค์ว่า เกิดมาเป็นสัตว์เป็นสังขารแล้ว  ไม่แคล้วอนิจจังเลย  เมื่อเห็นชัดฉะนี้แล้ว  พึงเร่งกระทำเพียรพยายาม  ยกตนให้พ้นอนิจจังให้จงได้ อันพระยามัจจุราชนี้ไซร้  ยากที่บุคคลจะข้ามพ้น  เว้นไว้แต่พระอริยบุคคลที่ท่านสำเร็จพระนิพพาน  อนึ่ง เล่าพระภิกษุทั้งหลาย  จะใคร่เห็นเราในขณะเมื่อเข้าสู่พระนิพพาน  จงไปประชุมอยู่แทบเชิงเขากุกกุฎปาตบรรพตนั้นเถิด
            พระมหาเถระบอกเล่าพระสงฆ์ฉะนี้แล้ว  เพลานั้นเล่าก็ควรจะบิณฑบาต  ท่านจึงออกจากเวฬุวนาราม  เพื่อไปบิณฑบาต  บทจรเข้าสู่เมืองราชคฤห์   เที่ยวบิณฑบาตโดยลำดับตรอก  ได้จังหันพอแล้วจึงหลีกออกจากบิณฑบาต  กลับมาสู่ที่สำราญ  กระทำภัตตกิจ
            เมื่อกระทำภัตตกิจเสร็จแล้วจึงดำริว่า  พระเจ้าอชาตสัตรูมีอุปการะแก่ท่านเป็นอันมาก  มีศรัทธาบริจาคจตุปัจจัยถวายพระสงฆ์มิได้ขาด  เคารพนบนอบในพระรัตนตรัย  ช่วยท่านในการปฐมสังคายนา  จำท่านจะไปบอกเล่า  ให้พระเจ้าอชาตสัตรูรู้ก่อนจึงจะสมควร  คิดแล้วท่านจึงเข้าไปในเมืองราชคฤห์  เมื่อเวลาเที่ยงไปสู่หน้าพระลานหลวง  เวลานั้นพระเจ้าอชาตสัตรูบรรทมอยู่  ท่านจึงได้แจ้งแก่บรรดาอำมาตย์ทั้งหลายว่า  ท่านประสงค์จะมาลาพระเจ้าอชาตสัตรู  เพื่อเข้าสู่พระนิพพานในเวลาเย็นวันนี้  จากนั้นท่านก็กลับสู่เวฬุวนาราม  วัตตปฎิบัติสิ่งใดที่ควรจะกระทำ  ท่านก็ทำเสร็จทุกประการ  แล้วจึงจากเวฬุวันพร้อมพระสงฆ์เป็นอันมาก เดินทางไปยังกุกกุฏบรรพต ไปถึงเมื่อเวลาเย็น  แล้วท่านก็แสดงปาฎิหาริย์ต่าง ๆ พลางเทศนาโปรดมหาชนทั้งปวง
ให้ลุล่วงเข้าสู่อริยภูมิเป็นอันมาก  จากนั้นท่านได้อำลาพระสงฆ์ทั้งหลายว่า  ให้อุตสาห์เจริญสมณธรรม อย่าประมาทในคำสั่งสอนของพระบรมศาสดา  เราจะลาท่านทั้งหลายเข้าสู่พระนิพพานแล้ว  จากนั้นท่านจึงเข้าไปสู่ระหว่างภูเขาทั้งสามลูก  คิดอยู่ในใจว่าท่านจะนิพพานในปีนี้  แล้วพระมหาเถระจึงขึ้นสู่ที่ไสยาสน์  นั่งพับพะแนงเชิง  เข้าสู่ผลสมาบัติ  เมื่อออกจากผลสมาบัติแล้ว  จึงตั้งอธิฐานไว้ว่า  ถ้าแหละท่านดับสูญสิ้นอายุสังขาร เข้าสูนิพพานแล้วเมื่อใด  ภูเขาทั้งสามลูกนี้จงมาประชุมกันเป็นลูกเดี่ยว  ให้ปรากฎเป็นห้องหับอยู่ภายในภูผา อุปมาดังห้องที่ไสยาสน์  พระมหาเถระได้ตั้งอธิฐานอีกว่า  ตั้งแต่บัดนี้ไป  มนุษย์ทั้งหลายอายุจะน้อยถอยลงทุกที  ตราบเท่าถึง 10 ปี อายุขัย  กาลครั้งนั้นจะเกิดการฆ่าฟันกันตาย  เกิดมิคสัญญี มนุษย์ทั้งหลายเห็นกันสำคัญว่าเป็นเนื้อ  ต่างเข้าไล่ฆ่าฟันกันตายจนสิ้นสุด  ยังเหลืออยู่แต่มนุษย์ ที่หนีไปหลบซ่อนอยู่ผู้เดียว จึงอยู่ได้  ครั้งต่อมาบรรดาผู้ที่หลบซ่อนนั้น  ออกมาพบกันบังเกิดเมตตาต่อกัน  ประพฤติแต่สุจริตธรรม  เมื่อสืบเชื้อสายกันต่อมา ก็มีอายุเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จนถึงอสงไขยเป็นที่สุด  คนทั้งหลายก็ประมาทมิได้ประพฤติธรรม  อายุก็ลดน้อยถอยลงจนเหลือ 8 หมื่นปี  ในกาลครั้งนั้นชมพูทวีป ก็ราบรื่นเสมอสมาน ปานประหนึ่งหน้ากลอง  สรรพจะมีไพบูลย์ทุกสิ่งทุกประการ

ในกาลครั้งนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่าพระเมตไตรย ก็จะมาตรัสในโลกนี้  พระองค์จะเสด็จมา ณ ที่นี้  แล้วตรัสบอกแก่พระสงฆ์ว่า  ท่านผู้นี้เป็นสาวกผู้ใหญ่ในศาสนา  พระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า  มีนามปรากฎว่า  อริยกัสสปเถระ  ถือธุดงค์ได้สิ้นทั้ง 13 ประการ  ตราบเท่าสิ้นชีวิตของท่านคือ  ถือบังสุกุลิกธุดงค์  เตจีวริกธุดงค์  บิณฑบาติกาธุดงค์  สัปปทานจาริกธุดงค์  เอกาสนิกธุดงค์  ปัตตบินฑิกธุดงค์  ขลุปัจฉาภัตติกธุดงค์  อารัญญิกธุดงค์  รุกขมลิกธุดงค์  อัพโภกาสิกธุดงค์  โสสานิกธุดงค์  ยถาลันตติกธุดงค์  เนสัชชิกธุดงค์  ตั้งแต่วันอุปสมบทมา ตราบเท่าถึงวันเข้าพระนิพพาน

            เมื่อพระมหาเถระ อธิฐานแล้ว จึงเอนองค์ลงเหนือแท่นที่ไสยาสน์โดยบุรพเบื้องทักขิณา  ลำดับหัตถบาทเป็นระเบียบ  บ่ายพระเศียรสู่อุดรทิศา   ก็ดับเบญจขันธ์ เข้าสู่พระอมตมหานิพพาน  สูญสิ้นทั้งวิบากขันธ์และกรรมมัชรูปไม่เหลือ  มิได้สืบต่อรูปกายให้ปรากฎในภพหน้า  ก็ปรากฎชื่อว่า อนุปาทิเสสปรินิพพาน
            พระเจ้าอชาตสัตรู  เมื่อทราบข่าวพระมหาเถรปรินิพพานก็เศร้าโศกเสียพระทัยยิ่งนัก  จึงได้เดินทางไปเคารพศพพระมหาเถระ  แล้วให้จัดการสมโภชพระมหาเถระ 7 วัน  เมื่อครบกำหนดแล้วจึงได้เสด็จกลับคืนสู่พระนคร  ท้าวเธออุตส่าห์รักษาศีลบำเพ็ญทานเป็นเนืองนิจ  ด้วยพระทัยคิดถึงคำสอนแห่งพระมหาเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์  ตกว่าซากศพพระมหาเถระนั้น  ทุกวันนี้ก็ยังปรากฎเป็นปรกติมิได้เปื่อยเน่า  เครื่องสักการะบูชาก็ยังตั้งอยู่เป็นปรกติ  มิได้ดับสาปสูญไป
            สัปบุรุษทั้งหลายผู้มีปัญญาพิจารณา เห็นความอนิจจังดังกล่าวมาฉะนี้  จงมีสติอุตส่าห์ขวนขวายสิ่งอันเป็นแก่นสาร  คือรักษาศีล  บำเพ็ญทานการกุศลสุจริต  ให้ตั้งจิตจำเริญกุศลกรรมบถ 10 ประการ  จงอุตส่าห์สร้างสมไปอย่างได้ขาด  จะเป็นเสบียงเลี้ยงตนไปในมรรคาอันไกลคือ  วัฏฏสงสาร  ตราบเท่าสำเร็จพระนิพพาน

| ย้อนกลับ | หน้าค่อไป | บน |