| หน้าแรก | ย้อนกลับ | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ |

ข้อปฏิบัติและปกิณกพิธีบางประการ

วิธีแสดงความเคารพพระ
            พระที่ควรแก่การเคารพได้แก่พระพุทธรูป หรือปูชนียวัตถุ มีพระสถูปเจดีย์เป็นต้น และพระภิกษุผู้ทรงเพศอุดมกว่าตน การแสดงความเคารพดังกล่าวนี้ มีอยู่สามวิธีด้วยกันคือ การประณมมือไหว้ การไหว้ และการกราบ


          ประณมมือ ตรงกับภาษาบาลีว่า อัญชลี  คือการกระพุ่มมือทั้งสองขึ้นประณม ให้ฝ่ามือทั้งสองประกบกัน นิ้วมือทุกนิ้วของทั้งสองมือแนบชิดตรงกัน ไม่เหลื่อมกัน ตั้งกระพุ่มมือทั้งที่ประณมไว้ระหว่างอก ให้ตั้งตรงขึ้นข้างบนมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม แนบศอกทั้งสองข้างชิดชายโครง เป็นการแสดงความเคารพเวลาสวดมนต์ หรือฟังพระสงฆ์สวดมนต์ และเวลาฟังเทศน์ แสดงอย่างเดียวกันทั้งหญิง และชาย

          ไหว้  ตรงกับคำบาลีว่า นมัสการ คือการยกมือที่ประณมแล้วขึ้นพร้อมกับก้มศีรษะลงเล็กน้อย ให้มือที่ประณมจดหน้าผาก นิ้วหัวแม่มือทั้งสองอยู่ระหว่างคิ้ว ใช้แสดงความเคารพพระในขณะที่นั่งเก้าอี้ หรือยืนอยู่ไม่ใช่นั่งราบกับพื้น แสดงอย่างเดียวกันทั้งชายและหญิง

          กราบ  ตรงกับคำบาลีว่า อภิวาท คือการแสดงอาการกราบลงบนพื้นด้วยเบญจางคประดิษฐ์ ได้แก่การกราบทั้งองค์ห้า ให้หน้าผาก ฝ่ามือทั้งสอง และเข่าทั้งสองจดพื้น เมื่อกราบอย่างนี้พึงนั่งคุกเข่า ประณมมือไหว้ แล้วหมอบลง ทอดฝ่ามือทั้งสองที่พื้น เว้นช่องระหว่างฝ่ามือให้ห่างกันเล็กน้อย ก้มศีรษะลงตรงช่องนั้นให้หน้าผากจดพื้น เป็นอันครบองค์ห้า
            การกราบแบบนี้ ชายพึงคุกเข่าตั้งฝ่าเท้าชัน ใช้นิ้วเท้ายันพื้น นั่งทับลงบนส้นเท้าทั้งคู่ ผายเข่าออกเล็กน้อยให้ได้ฉากกันเป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วประณมมือ นั่งอย่างนี้เรียกว่า นั่งท่าพรหม เวลากราบก็ยกมือขึ้นไหว้ แล้วก้มตัวลงปล่อยมือให้ทอดกับพื้น ให้ศอกต่อกันกับเข่าตรงกันทั้งสองข้าง แล้วก้มลงให้หน้าผากจดพื้น อยู่ระหว่างฝ่ามือทั้งสอง
            สำหรับหญิง พึงนั่งคุกเข่าราบ คือไม่ตั้งฝ่าเท้ายันอย่างชาย แต่เหยียดฝ่าเท้าราบไปทางหลัง ให้ปลายเท้าทั้งสองทับกันเล็กน้อย แล้วนั่งทับบนฝ่าเท้าทั้งสองนั้นให้ราบกับพื้นให้เข่าทั้งสองชิดกัน ประณมมือ นั่งอย่างนี้เรียกว่า นั่งท่าเทพธิดา ขณะกราบก็ยกมือที่ประณมอยู่ขึ้นไหว้ แล้วก้มตัวลงปล่อยมือให้ทอดกับพื้น ให้ข้อศอกพับทั้งสองข้างขนาบเข่าพับทั้งสองไว้ ไม่ใช่ให้ศอกต่อเข่าแบบชาย แล้วก้มลงให้หน้าผากจรดพื้น อยู่ระหว่างมือทั้งสอง เวลาก้มลงกราบอย่าให้ก้นกระดกขึ้นจึงจะงาม
วิธีประเคนของพระ
            การประเคนของพระ คือการถวายของให้พระได้รับถึงมือ ของที่ประเคนนั้นต้องเป็นของที่คนเดียวพอยกได้ ไม่มีวัตถุอนามาศ คือ เงิน ทอง หรือของกะไหล่ด้วยเงินแท้ หรือทองแท้ปนอยู่ด้วย เพราะเป็นของไม่เหมาะของพระภิกษุที่จะรับได้ ถ้าเป็นของขบฉันต้องประเคนได้เฉพาะในกาล นอกกาลคือเวลาวิกาลตั้งแต่เที่ยงไปแล้ว จนถึงย่ำรุ่งวันใหม่ ไม่ควรนำมาประเคน
วิธีประเคนพึงปฏิบัติ ดังนี้

            สำหรับชาย  พึงนั่งคุกเข่าหรือยืนตามความเหมาะสมแก่สถานที่ ยกสิ่งของนั้นด้วยมือทั้งสองข้าง น้อมสิ่งของนั้นเข้าไปใกล้พระภิกษุผู้รับประเคนยกของให้พ้นจากพื้น ส่งถวายถึงมือพระผู้รับประเคน เมื่อถวายเสร็จแล้วพึงไหว้หรือกราบทุกครั้ง

            สำหรับหญิง  พึงยืนหรือนั่งพับเพียบตามความเหมาะสมแก่สถานที่ แล้วยกสิ่งของนั้นด้วยมือทั้งสอง น้อมเข้าไปใกล้พระภิกษุผู้รับประเคนพอสมควร วางบนผ้าที่พระภิกษุทอดรับประเคนนั้น จะส่งถวายให้ถึงมือพระภิกษุแบบผู้ชายไม่ได้ และระวังรอให้พระภิกษุจับชายผ้าที่ทอดรับประเคนนั้นเสียก่อน แล้วจึงวางของที่จะประเคนลงบนผ้าผืนนั้น เมื่อถวายเสร็จแล้วพึงไหว้ หรือกราบทุกครั้ง
            ข้อพึงระวังคือ สิ่งของที่ประเคนแล้วนั้นห้ามฆราวาสไปจับต้อง หากไปจับต้องถือว่าเป็นการขาดประเคน ต้องประเคนของนั้นใหม่ จึงจะไม่เกิดโทษแก่สงฆ์
            ลักษณะของการประเคนที่ถูกต้อง มีดังนี้
            ๑)  ของที่ประเคนต้องไม่ใหญ่โต หรือหนักมากเกินไป พอขนาดคนเดียวยกได้ และต้องยกของนั้นพ้นพื้นที่ของนั้นวางอยู่
            ๒)  ผู้ประเคนต้องเข้ามาในหัตบาส คือผู้ประเคนต้องอยู่ห่างจากพระภิกษุผู้รับประเคน ประมาณ หนึ่งศอก
            ๓)    ผู้ประเคนน้อมสิ่งของนั้นเข้ามาให้ด้วยอาการแสดงความเคารพ
            ๔)    กิริยาที่น้อมสิ่งของมาให้นั้น จะส่งให้ด้วยมือก็ได้ หรือจะตักส่งให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย เช่น ใช้ทัพพีตักถวายก็ได้
            ๕)    พระภิกษุผู้รับประเคน จะรับด้วยมือใดก็ได้ จะทอดผ้ารับก็ได้ หรือจะเอาภาชนะรับ เช่น เอาบาตรหรือจานรับของที่เขาตักถวายก็ได้
            หลักสำคัญของการประเคน ต้องแสดงออกด้วยความเคารพ ไม่เลือกไสให้หรือทิ้งให้โดยไม่เคารพ
วิธีทำหนังสืออาราธนา และทำใบปวารณาถวายจตุปัจจัย
            การอาราธนาพระสงฆ์ คือการนิมนต์พระสงฆ์ไปประกอบพิธีต่าง ๆ ต้องทำให้เป็นกิจจะลักษณะ แต่เดิมใช้อาราธนาด้วยวาจาเป็นพื้น แต่ปัจจุบันนิยมทำหนังสืออาราธนา ความมุ่งหมายก็เพื่อแจ้งกำหนดงาน และรายการให้พระสงฆ์ทราบ หนังสืออาราธนาพระสงฆ์เรียกกันว่า ฎีกานิมนต์พระ มีข้อความที่เป็นตัวอย่าง ดังนี้
            "ขออาราธนาพระคุณเจ้า (พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ในวัดอีก ....รูป) เจริญพระพุทธมนต์ (หรือสวดพระพุทธมนต์ หรือ
แสดงพระธรรมเทศนา) ในงาน......ที่บ้านเลขที่.......ตำบล........อำเภอ.........กำหนดวันที่....... เดือน........... พ.ศ....... เวลา........ น."
            ในการถวายไทยธรรมแก่พระภิกษุสงฆ์ที่นิมนต์มาประกอบพิธีต่าง ๆ นิยมถวายค่าจตุปัจจัยเป็นพิเศษ จากไทยธรรมอีกส่วนหนึ่งด้วย การถวายจตุปัจจัย นิยมทำใบปวารณาถวายเพื่อให้พระภิกษุได้รับค่าจตุปัจจัยนั้นโดยชอบด้วยพระวินัย ใบปวารณามีแบบนิยม ดังนี้
            "ขอถวายจตุปัจจัยอันควรแก่สมณบริโภค แด่พระคุณเจ้า เป็นจำนวน............ บาท...... สตางค์  หากพระคุณเจ้าต้องประสงค์สิ่งใด อันควรแก่สมณบริโภคแล้ว ขอได้โปรดเรียกร้องกับปิยการถผู้ปฏิบัติของพระคุณเจ้า เทอญ"
วิธีอาราธนาศีล อาราธนาพระปริตร และอาราธนาธรรม
            การอาราธนาคือ การเชื้อเชิญให้พระภิกษุสงฆ์ในพิธีให้ศีล ให้สวดพระปริตรหรือให้แสดงธรรม เป็นธรรมเนียมที่มีมาแต่เดิม
ที่จะต้องอาราธนาก่อน พระภิกษุสงฆ์จึงจะประกอบพิธีกรรมนั้น ๆ
            วิธีอาราธนา นิยมกันว่า ถ้าพระสงฆ์นั่งบนอาสนะยกสูง เจ้าภาพและแขกที่นั่งเก้าอี้ ผู้อาราธนาจะเข้าไปยืนระหว่างเจ้าภาพกับแถวพระสงฆ์ ตรงกับรูปที่สามหรือที่สี่ ห่างจากแถวพระสงฆ์พอสมควร หันหน้าไปทางโต๊ะบูชา ประณมมือไหว้พระพุทธรูปก่อน แล้วยืนประณมมือกล่าวคำ อาราธนาตามแบบที่ต้องการ ถ้าพระสงฆ์นั่งอาสนะต่ำ เจ้าภาพและแขกที่นั่งกับพื้น ผู้อาราธนาต้องเข้าไปนั่งคุกเข่าต่อหน้าแถวพระสงฆ์ตรงหัวหน้า กราบพระพุทธรูปที่โต๊ะบูชาสามครั้งก่อน แล้วประณมมือกล่าวคำอาราธนาที่ต้องการตามแบบคือ
            พิธีสวดมนต์เย็น      อาราธนาศีล   อาราธนาพระปริตร
            พิธีเลี้ยงพระ      อาราธนาศีล
            พิธีถวายทานทุกอย่าง      อาราธนาศีล
            พิธีเทศน์  ถ้าเทศน์ต่อจากสวดมนต์ ตอนสวดมนต์ไม่ต้องอาราธนาศีล เริ่มต้นด้วยอาราธนาพระปริตร แล้วอาราธนาศีลตอนพระขึ้นเทศน์ รับศีลแล้วอาราธนาธรรมต่อ แต่ถ้าสวดมนต์กับเทศน์ไม่ได้ต่อเนื่องกัน ถือว่าเป็นคนละพิธี ตอนสวดมนต์ก็อาราธนาตามแบบพิธีสวดมนต์เย็นดังกล่าวแล้ว ตอนเทศน์ให้เริ่มอาราธนาศีลก่อน จบรับศีลแล้วจึงอาราธนาธรรม
            พิธีสวดศพต่าง ๆ  ถ้าไม่มีพิธีอื่นนำหน้าให้อาราธนาศีลก่อน ถ้ามีพิธีอื่นนำหน้าไม่ต้องอาราธนาศีล
    คำอาราธนาศีลห้า
                มยํ  ภนฺเต  วิสุ ํ  วิสุ ํ   รกขณตฺ  ถาย,     ติสรเนน  สห ,  ปญฺจ  สีลานิ  ยาจาม
                ทุติยมฺปิ  มยํ  ภนฺเต  วิสุ ํ  วิสุ ํ   รกขณตฺ  ถาย ,     ติสรเนน  สห , ปญฺจ  สีลานิ  ยาจาม
                ตติยมฺปิ  มยํ  ภนฺเต  วิสุ ํ  วิสุ ํ   รกขณตฺ  ถาย ,     ติสรเนน  สห ,  ปญฺจ  สีลานิ  ยาจาม
    คำอาราธนาพระปริตร
                วิปตฺติปฏิพาหาย   สพฺพสมฺปตฺติสิทธิยา     สพฺพทุกฺขวินาสาย   ปริตฺตํ   พฺรูถ   มงฺคลํ
                วิปตฺติปฏิพาหาย   สพฺพสมฺปตฺติสิทธิยา     สพฺพภยวินาสาย   ปริตฺตํ   พฺรูถ   มงฺคลํ
                วิปตฺติปฏิพาหาย   สพฺพสมฺปตฺติสิทธิยา     สพฺพโรควินาสาย   ปริตตํ   พฺรูถ   มงฺคลํ
     คำอาราธนาธรรม
                พฺรหมา  จ  โลกาธิปติ  สหมฺปติ     กตฺ  อญฺชลี  อนฺธวรํ  อยาจถ
                สนฺตีธ  สตฺ  ตาปฺ  ปรชกฺขชาติกา     เทเสตุ  ธมฺมฺ  อนุกมฺปิมํ  ปชํ
วิธีกรวดน้ำ
            การกรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล ต้องคำนึงถึงประเพณีที่มีมาแต่โบราณกาลด้วย วิธีที่นิยมคือ เริ่มต้นเตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะไว้พอสมควร พอพระสงฆ์เริ่มอนุโมทนาด้วยบท ยถา ฯลฯ ก็เริ่มกรวดน้ำโดยตั้งใจนึกอุทิศส่วนบุญ มือขวาจับภาชนะรินน้ำใช้มือซ้ายประคอง แล้วว่าบทกรวดน้ำในใจไปจนจบ การหลั่งน้ำกรวดถ้าเป็นพื้นดิน ควรหลั่งลงในที่สะอาดหมดจด ถ้าอยู่บนเรือนหรือสถานที่ที่มิใช่พื้นดิน ต้องหาภาชนะอื่นที่สมควร เช่น ถาดหรือขันน้ำมารองน้ำที่กรวดไว้ แล้วจึงนำไปเทลงบนพื้นดินตรงที่สะอาด อย่าใช้ภาชนะที่สกปรกและไม่ควรเป็นอันขาด เพราะน้ำที่กรวดเป็นสักขีพยานในการทำบุญ
            คำกรวดน้ำ ที่นิยมว่ากันทั่วไปมีอยู่สามแบบ คือ แบบสั้น แบบย่อ และแบบยาว ว่าเฉพาะคำบาลีเท่านั้น ดังนี้
            คำกรวดน้ำแบบสั้น
                 อิทํ  เม  ญาตีนํ  โหตุ  (ว่าสามหน)
                 ขอบุญนี้จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้าเถิด
                 หากจะเติมพุทธภาษิตว่า  สุขิตา  โหนฺตุ  ญาตโย  ก็ได้
            คำกรวดน้ำแบบย่อ   เรียกว่า คาถาติโลกวิชัย
                ยงฺกิญฺจิ  กุสลํ  กมฺมํ      กตฺตพฺพํ  กิริยํ  มม
                กาเยน  วาจามนสา      ติทเส  สุคตํ  กตํ
                เย  สตฺตา  สญฺญิโน  อตฺถิ      เย  จ  สตฺตา  อสญฺญิโน
                กตํ  ปุญฺญผลํ  มยฺหํ      สพฺเพ  ภาคี  ภวนฺตุ  เต
                เย  ตํ  กตํ  ุวิทิตํ      ทินฺนํ  ปุญฺญผลํ  มยา
                เย  จ  ตตฺถ  น  ชานนฺติ        เทวา  คนฺตวา  นิเวทยุ ํ
                สพฺเพ  โลกมฺหิ  เย  สตฺตา      ชีวนฺตาหาร  เหตุกา
                มนุญฺญํ  โภชนํ  สพฺเพ      ลภนฺต  มม  เจตสา
            กุศลกรรมที่เป็นกิริยาควรทำอันหนึ่งด้วยกาย วาจาใจ อันจะเป็นเหตุนำไปให้เกิดในสวรรค์ชั้นไตรทศเทพ ข้าพเจ้าได้ทำแล้ว ขอสัตว์ซึ่งมีสัญญาและไม่มีสัญญาทุกหมู่เหล่า จะเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำแล้วนั้น เหล่าสัตว์ที่ไม่รู้ผลบุญที่ข้าพเจ้ากระทำแล้ว ขอจงเป็นผู้มีส่วนได้รับผลบุญที่ข้าพเจ้าอุทิศให้ ในบรรดาสรรพสัตว์จำพวกใดไม่รู้ข่าว ถึงบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำแล้ว ขอเทพพยาดาทั้งหลาย จงนำไปบอกแก่สัตว์จำพวกนั้น ขอสัตว์ทุกหมู่ในชีวโลก ซึ่งเสพอาหารเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ จงได้เสวยซึ่งโภชนะอันพึงใจ ด้วยอำนาจเจตนาอุทิศของข้าพเจ้านี้เถิด ฯ
            คำกรวดน้ำแบบยาว
                อิมินา  ปุญฺญกมฺเมน      อุปชฺฌายา  คุณุต์ตรา
                อาจริยูปการา  จ      มาตา  ปิตา  จ  ญาตกา (ปิยา มมํ)
                สุริโย  จนฺทิมา  ราชา      คุณวนฺตา  นราปิ  จ
                พฺรหมมารา จ  อินฺท  จ      โลกปาลา  จ  เทวตา
                ยโม  มิตฺตา  มนุสฺสา  จ      มชฺฌตฺตา เวริกาปิ  จ
                สพฺเพ  สตฺตา  สุขี  โหนฺตุ      ปุญฺญานิ  ปกตานิ  เม
                สุขญฺจ  ติวิธํ  เทนฺตุ      ขิปปํ  ปาเปถ  โว  มตํ
                อิมินา  ปุญฺญกมฺเมน      อิมินา  อุทฺทิเสน  จ
                ขิปฺปาหํ  สุลเภ  เจว      ตณฺหุปาทานเฉทนํ
                เย  สนฺตาเน  หินา  ธมฺมา      ยาว  นิพฺพานโต  มมํ
                นสฺสนฺตุ  สพฺพทา  เยว      ยตฺถ  ชาโต  ภเว  ภเว
                อุชุจิตฺตํ  สติปญฺญา      สลฺเลโข  วิริยมฺหินา
                มารา  ลภนฺตุ  โนกาสํ      กาตุญฺจ  วิริเยส  เม
                พุทฺธาธิปวโร  นาโถ      ธมฺโม  นาโถ  วรุตฺตโม
                นาโถ  ปจฺเจพุทฺโธ  จ      สงฺโฆ  นาโถตฺตโร
                เตโสตฺตมานุภาเวน      มาโรกาสํ  ลภนฺตุ  มา
            ด้วยผลบุญที่ข้าพเจ้ากระทำนี้ ขอพระอุปัชฌาย์ผู้มีพระคุณอันยิ่งใหญ่ไพศาล อีกทั้งอาจารย์ผู้ได้สั่งสอนข้าพเจ้ามา ทั้งมารดาบิดาและคณาญาติทั้งสิ้น ตลอดจนพระอาทิตย์ พระจันทร์ และพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นใหญ่ในเอกเทศแห่งเมทนีดล และนรชนผู้มีคุณงามความดีทั้งหลายทุกถิ่นฐาน อีกท้าวมหาพรหมกับหมู่มาร และท้าวมัฆวานเทวราช ทั้งเทพเจ้าผู้รักษาโลกทั้งสี่ทิศ และพญายมราช อีกมวลมิตรสหาย ทั้งผู้ขวนขวายวางตนเป็นกลาง และผู้เป็นศัตรูของข้าพเจ้าทุก ๆ เหล่า จงมีความเกษมสุขนิราศภัย ขอบุญที่ข้าพเจ้ากระทำไว้ด้วยไตรทวาร จงบันดาลให้สำเร็จไตรพิชสุข ถึงความเกษมปราศจากทุกข์ คือ พระอมตมหานฤพานโดยพลัน อีกโสตหนึ่งนั้น ด้วยกรรมนี้และอุทิศเจตนานี้ ขอให้ข้าพเจ้าบรรลุทันทีซึ่งการตัดขาดตัณหา อุปาทาน ธรรมอันชั่วในสันดานจงพินาศไปหมด จนตราบเท่าถึงนิพพานสิ้นกาลทุกเมื่อ แม้ว่าข้าพเจ้ายังท่องเที่ยวไปเกิดในภพใด ๆ ก็ขอให้มีจิตซื่อตรงดำรงสติปัญญาไวชาญฉลาด ให้มีความเพียรกล้า สามารถขัดเกลากิเลส ให้สูญหาย ขอหมู่มารเหล่าร้าย อย่าได้กล้ำกรายสบโอกาส เพื่อทำให้ข้าพเจ้าพินาศคลายความเพียรได้ อนึ่งไซร้ พระพุทธเจ้าผู้เป็นที่พึ่งอันยิ่งอย่างประเสริฐ พระธรรมเป็นที่พึ่งอันล้ำเลิศยิ่งประมาณ พระปัจเจกพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งอันไพศาล และพระสงฆ์เป็นที่พึ่งอันอุดมยิ่งประมาณของข้าพเจ้านี้ ด้วยอานุภาพอันอุดมดี พิเศษสูงสุดของพระรัตนตรัย ขออย่าให้หมู่มารได้โอกาสทุกเมื่อไป เทอญ ฯ
วิธีบอกศักราช
            การแสดงพระธรรมเทศนาในงานทำบุญทุกกรณี ยกเว้นที่แสดงตามกาลในวันธรรมสวนะ นิยมให้ผู้แสดงธรรมบอกศักราช คือ บอก วัน เดือน ปี ของวันนั้น ก่อนเริ่มเทศน์ จุดมุ่งหมายก็เพื่อให้พุทธบริษัทได้ทราบปฏิทิน เพราะในสมัยก่อนปฏิทินรายวันไม่มีแพร่หลาย
            วิธีบอกศักราชให้บอกเป็นภาษาบาลีก่อน แล้วแปลเป็นภาษาไทย ดังนี้
            อิมานิ ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส ปรินิพฺพานโต ปฏฺฐาย จตุตฺตรปญฺจสตาธิกานิ ,  เทฺว สํวจฺฉรสหสฺสานิ อติกฺกนฺตานิ ,  ปจฺจุปนฺนกาลวเสน อสฺสยุชมาสสฺส เตวีสติมํ ทินํ วารวเสน ปน จนฺทวาโร โหติ ,   เอวํ ตสฺส ภควโต ปรินิพฺพานา ,  สาสนายุกาลคณนา สลฺลกฺเขตพฺพาติ ฯ
            ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนายุกาล จำเดิมแต่ปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น บัดนี้ล่วงแล้วสองพันห้าร้อยสี่พรรษา ปัจจุบันสมัย ตุลาคมมาส สุรทินที่ ยี่สิบสาม วันนี้ จันทรวาร ศานายุกาล แห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น มีนัยอันพุทธบริษัทจะพึงกำหนดนับด้วยประการ ฉะนี้ ฯ
            หลักการเปลี่ยนคำตาม วัน เดือน ปี  สำหรับคำบาลีมีที่ต้องเปลี่ยนสีแห่งตามอักษรสีแดง ให้รู้ไว้ในแบบ
                ๑)  คำบอกจำนวนศักราช  ถ้าจำนวนท้าย พ.ศ.เลื่อนไป ต้องเปลี่ยนดังนี้
                    ปญฺจจุตฺตร (๐๕)   ฉฬุตฺตร (๐๖)   สตฺตุตตร (๐๗)   อฏฺฐุตฺตร (๐๘)   นวุตฺตร (๐๙)   ทสุตฺตร (๑๐)   เอกาทสุตฺตร (๑๑)   ทฺวาทสุตฺตร (๑๒)   เตวสุตฺตร (๑๓)   จตุทฺทสุตฺตร (๑๔)   ปณฺนรสุตฺตร (๑๕)   โสฬสุตฺตร (๑๖)   สตฺตรสุตฺตร (๑๗)   อฏฺฐารสุตฺตร (๑๘)   อูนวีสุตฺตร (๑๙)   วีสุตฺตร (๒๐)   ตึสุตฺตร (๓๐)   จตฺตาวีสุตฺตร (๔๐)   ปณฺณาสุตฺตร (๕๐)   สฏฺฐยุตฺตร (๖๐)   สตฺตตฺยุตฺตร (๗๐)   อสีตยุตฺตร (๘๐)   นวุตยุตฺตร (๙๐)
            จำนวนในระหว่างสิบ ต่อจากยี่สิบไป มีหลักเปลี่ยนคล้ายกันคือ เอ็ดเติมเอก สองเติม ทวา สามเติม เต สี่เติม จตุ ห้าเติม ปญฺจ หกเติม ฉ เจ็ดเติม สตฺต แปดเติม อฏฺฐ ทั้งนี้ให้เติมเข้าข้างหน้าจำนวนครบสิบนั้น ๆ เช่น
            ยี่สิบเอ็ด (เอกวีสุตฺตร)   สามสิบสอง (ทฺวตฺตึสุตฺตร)   สี่สิบสาม (เตจตฺตาฬีสุตฺตร)   ห้าสิบสี่ (จตุปณฺณาสุตฺตร)   หกสิบห้า (ปณฺจสฏฺฐยุตฺตร)   เจ็ดสิบหก (ฉสตฺตตฺยุตฺตร)   แปดสิบเจ็ด (สตฺตาสีตยุตฺตร)   เก้าสิบแปด (อฏฺฐนวุตฺตร)
            ส่วนจำนวนครบเก้าในระหว่างสิบให้เติมอูน หน้าจำนวนครบสิบข้างหน้าทุกจำนวน เช่น  ยี่สิบเก้า เป็น อูนตึสุตฺตร สามสิบเก้าเป็น อูนจตฺตาฬีสุตฺตร เป็นต้น
                ๒)  การบอกเดือน  ในตัวอย่างใช้สำหรับเดือนตุลาคม ถ้าเป็นเดือนอื่นก็เปลี่ยนไป มีหลักการเปลี่ยนดังนี้
            เดือนมกราคม (ปุสฺส)   เดือนกุมภาพันธ์ (มาฆ)   เดือนมีนาคม (ผคฺคุณ)   เดือนเมษายน (จิตฺต)   เดือนพฤษภาคม (วิสาข)   เดือนมิถุนายน (เชฏฺฐ)   เดือนกรกฎาคม (อาสาฬฺห)   เดือนสิงหาคม (สาวน)   เดือนกันยายน (โปฏฺฐปทฺ หรือภทฺทปท)   เดือนตุลาคม (อสฺสยุช)   เดือนพฤศจิกายน (กตฺติก)   เดือนธันวาคม (มิคสิร)
            พึงเปลี่ยนชื่อตามที่ต้องการใส่ไปหน้าคำ มาสสฺส
                ๓)  คำบอกวันที่ของเดือนนั้น  ต้องเปลี่ยนไปตามปฏิทินให้ตรงตามวันที่ที่ต้องการ หลักในการเปลี่ยนจำนวนวัน มีดังนี้
            วันที่หนึ่ง (ปฐมํ)   วันที่สอง (ทุติยํ)   วันที่สาม (ตติยํ)   วันที่สี่ (จตุตฺถํ)   วันที่ห้า (ปญฺจมํ)   วันที่หก (ฉฏฐํ)   วันที่เจ็ด (สตฺตมํ)   วันที่แปด (อฏฐมํ)   วันที่เก้า (นวมํ)   วันที่สิบ (ทสมํ)   วันที่สิบเอ็ด (เอกาทสมํ)  วันที่สิบสอง (ทฺวาทสมํ)   วันที่สิบสาม (เตรสมํ)   วันที่สิบสี่ (จตุรสมํ)   วันที่สิบห้า (ปณฺณเรสมํ)   วันที่สิบหก (โสฬสมํ)   วันที่สิบเจ็ด (สตฺตรสมํ)   วันที่สิบแปด (อฏฺฐารสมํ)   วันที่สิบเก้า (อูนวีสติมํ)   วันที่ยี่สิบ (วีสติมํ)   วันที่ยี่สิบเอ็ด (เอกวีสติมํ)   วันที่ยี่สิบสอง (ทฺวาวีสติมํ)   วันที่ยี่สิบสาม (เตวีสติมํ)   วันที่ยี่สิบสี่ (จตุวีสติมํ)   วันที่ยี่สิบห้า (ปญฺจวีสติมํ)   วันที่ยี่สิบหก (ฉพฺพีสติมํ)   วันที่ยี่สิบเจ็ด (สตฺตวีสติมํ)   วันที่ยี่สิบแปด (อฏฺฐวีสติมํ)   วันที่ยี่สิบเก้า (อูนตึสติมํ)   วันที่สามสิบ (ตึสติมํ)   วันที่สามสิบเอ็ด (เอกตึสติมํ)
                ๔)  คำบอกวารในเจ็ดวาร  เพื่อให้รู้ว่าวันนั้น ๆ ตรงกับวารอะไร ต้องเปลี่ยนชื่อวารทั้งเจ็ดให้ถูกต้องมีหลักกำหนดไว้ ดังนี้
            วันอาทิตย์ (รวิวาโร)   วันจันทร์ (จนฺทวาโร)   วันอังคาร (ภุมฺมวาโร)   วันพุธ (วุธวาโร)   วันพฤหัสบดี (ครุวาโร)   วันศุกร์ (สุกฺกวาโร)   วันเสาร์(โสรวาโร)

|หน้าแรก|ย้อนกลับ|ชาติไทย|ศาสนา|พระมหากษัตริย์|บน |