| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ |

พิธีทำบุญเนื่องด้วยประเพณีในครอบครัว

พิธีทำบุญเลี้ยงพระ
            การทำบุญเลี้ยงพระ มักนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ในสถานที่ ที่ประกอบพิธีในตอนเย็น เรียกกันสามัญว่าสวดมนต์เย็น รุ่งขึ้นเวลาเช้า (บางกรณีเป็นเวลาเพล) ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุที่เจริญพระพุทธมนต์ เรียกกันว่า เลี้ยงพระเช้า (เลี้ยงพระเพล) หรือฉันเช้า (ฉันเพล) และในคราวเดียวกันก็มีการตักบาตรด้วย ถ้ามีเวลาน้อยจะย่นเวลามาทำกันในวันเดียวตอนเช้า หรือในตอนเพลตามสะดวก โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ก่อน จบแล้วถวายภัตตาหารให้เสร็จสิ้นในห้วงเวลาเดียวกัน
            งานทำบุญเลี้ยงพระนี้นิยมทั้งในงานมงคล และงานอวมงคลทั่วไป มีระเบียบพิธีดังนี้
            การทำบุญงานมงคล
                เจ้าภาพจะต้องเตรียมกิจการต่าง ๆ ดังนี้
                ๑)  อาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
                ๒)  เตรียมที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา และตกแต่งสถานที่บริเวณพิธี คือ
                        -  วงด้ายสายสิญจน์ เชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนที่บูชา ปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์เตรียมตั้งเครื่องรับรองพระสงฆ์ และตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์
                ๓)  เมื่อพระสงฆ์มาถึง คอยล้างเท้าให้ และประเคนเครื่องรับรองที่จัดไว้
                ๔)  ได้เวลาแล้วจุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชา บูชาพระแล้วกราบนมัสการสามครั้ง
                ๕)  อาราธนาศีล และรับศีล
                ๖)  อาราธนาพระปริตร เสร็จแล้วไหว้หรือกราบแล้วแต่กรณี
                ๗)  นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อจบแล้วถวายน้ำร้อนหรือเครื่องดื่ม อันควรแก่สมณะ
            พิธีฝ่ายพระภิกษุ  ควรมีพัดไปด้วยทุกรูป และควรใช้พัดงานมงคล ถ้าไม่สามารถนำพัดไปได้ทุกรูปก็มีไปเฉพาะหัวหน้ารูปเดียว จะขาดเสียมิได้ เพราะพัดจำเป็นต้องใช้ในคราวให้ศีล ขัดสคฺเค และขัดตำนาน อนุโมทนาท้ายพิธี และถ้ามีการบังสุกุลอัฐิประกอบด้วยก็ต้องใช้พัดทุกรูป
            เมื่อไปถึงงาน ขณะขึ้นนั่งบนอาสนะ ให้เข้าที่นั่งกันตามลำดับไว้ระยะให้พองาม นั่งแบบพับเพียบ ให้ได้แถวให้ได้แนว ดุเข่าให้เสมอกัน และนั่งอย่างผึ่งผาย เข้าที่แล้ววางพัดไว้ข้างหลังด้านขวามือ
            เมื่อเจ้าภาพเริ่มอาราธนาศีล ผู้เป็นหัวหน้าพึงคลี่กลุ่มสายสิญจน์ แล้วส่งต่อกันไปจนถึงรูปสุดท้าย พออาราธนาศีลถึงวาระที่สามว่า ตติยมฺปิ ฯลฯ ผู้เป็นหัวหน้าพึงตั้งพัดเตรียมให้ศีล การจับพัดให้จับด้วยมือขวาที่ด้ามคอพัดต่ำลงมา ๔ - ๕ นิ้ว หรือกะว่าจับตรงส่วนที่สามตอนบนของด้ามพัด ใช้มือกำด้ามพัดด้วยนิ้วทั้งสี่เว้นนิ้วหัวแม่มือ เฉพาะนิ้วแม่มือยกขึ้นแตะด้ามพัดให้ทาบตรงขึ้นไป นำสายสิญจน์ขึ้นพาดไว้บนนิ้วชี้ ตั้งพัดให้ตรงหน้าปลายด้านอยู่ตรงกึ่งกลาง อย่าให้ห่างตัวหรือชิดตัวนัก และอย่าตั้งนอกสายสิญจน์ หน้าพัดหันออกด้านนอก ให้พัดตั้งตรงได้ฉาก ทั้งซ้ายขวา หน้าหลัง พอจบคำอาราธนาศีลก็ตั้ง นโม ฯลฯ ให้ศีลทันที ให้ไปถึงตอนจบไตรสรณาคมน์ ไม่ต้องว่า ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ เพราะคำนี้ใช้เฉพาะในพิธีสมาทานศีลจริง ๆ เช่น สมาทานศีลอุโบสถ พึงให้ศีลต่อไตรสรณาคมน์ พอให้ศีลจบก็วางพัด
            เมื่อเจ้าภาพอาราธนาพระปริตรถึงครั้งที่สาม รูปที่ต้องขัด สคฺเค เตรียมตั้งพัด พออาราธนาจบก็เริ่มขัดได้ พอขัดจบ พระสงฆ์ทุกรูปยกสายสิญจน์ขึ้นประนมมือพร้อมกัน ใช้ง่ามนิ้วมือทั้งสองรับสายสิญจน์ไว้ในระหว่างประนมมือ แล้วหัวหน้านำว่า นโมและสวดมนต์บทต่าง ๆ ไปตามแบบนิยม
            ในการเจริญพระพุทธมนต์งานมงคลทุกแบบ มีตั้งภาชนะน้ำมนต์ไว้ด้วย เพื่อให้พระสงฆ์ทำน้ำมนต์ในขณะสวด ซึ่งเป็นหน้าที่ของหัวหน้าสงฆ์ เจ้าภาพจะจุดเทียนน้ำมนต์ตั้งแต่พระสงฆ์เริ่มสวดมงคลสูตร พอสวดรตนสูตรถึงตอน ขีณํ ปุราณํ นวํ นตฺถิ สมฺภวํ ฯลฯ หัวหน้าสงฆ์พึงใช้มือขวาปลดเทียนน้ำมนต์ ออกจากที่ปักไว้ แล้วจับเทียนกับสายสิญจน์เอียงเทียนให้น้ำตาเทียนหยดลงในน้ำ พร้อมกับสวดพอสวดถึงคำว่า นิพฺ ในคำว่า ปทีโป จึงยกขึ้น แล้ววางหรือติดเทียนไว้ตามเดิม เป็นอันเสร็จพิธีทำน้ำมนต์ ต่อจากนั้นจึงสวดมนต์ต่อไปจนจบ
            ถ้าเจ้าภาพประสงค์ให้มีการพรมน้ำพระพุทธมนต์ต่อท้าย จะต้องเตรียมสิ่งสำหรับพรมคือ หญ้าคา หรือก้านมะยม มัดไว้เป็นกำ การใช้ก้านมะยมนิยมใช้เจ็ดก้านมัดรวมกัน ในการพรมน้ำพระพุทธมนต์ ควรเป็นหน้าที่ของผู้เป็นหัวหน้าสงฆ์ในพิธีนั้น การพรมพึงจับกำหญ้าคา หรือก้านมะยม ใช้มือขวากำรอบด้วยนิ้วทั้งสี่ เว้นนิ้วชี้ให้ชี้ตรงไปตามกำหญ้าคา หรือกำก้านมะยม มีอาการอย่างชี้นิ้ว เป็นการแสดงปกาสิตของพระสงฆ์ จุมปลายกำหญ้า หรือกำก้านมะยมลงในน้ำพระพุทธมนต์อย่าให้โชกนัก แล้วสะบัดให้น้ำพระพุทธมนต์ออกไปข้างหน้า ขณะเริ่มพรม พระสงฆ์ที่เหลือควรสวดบท ชยนฺโต ฯลฯ พร้อมกัน
    การทำบุญงานอวมงคล
            การทำบุญเกี่ยวกับเรื่องการตาย นิยมทำกันอยู่สองอย่าง ทำบุญหน้าศพ ที่เรียกกันว่า ทำบุญเจ็ดวัน  ๕๐ วัน  ๑๐๐ วัน หรือทำบุญวันปลงศพอย่างหนึ่ง และทำบุญอัฐิ หรือทำบุญปรารภการตายของบรรพบุรุษ หรือผู้หนึ่งผู้ใดในวันคล้ายวันตายของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อีกอย่างหนึ่ง มีระเบียบที่พึงปฏิบัติดังนี้
            งานทำบุญหน้าศพ  มีพิธีฝ่ายเจ้าภาพและฝ่ายภิกษุสงฆ์ ดังนี้
                ๑)  อาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ นิยม ๘ รูป หรือ ๑๐ รูป หรือกว่านั้นแล้วแต่กรณี
                ๒)  ไม่ต้องวงด้าย คือไม่ต้องตั้งภาชนะน้ำสำหรับทำน้ำมนต์ และไม่มีการวงด้ายสายสิญจน์
                ๓)  เตรียมสายโยง หรือภูษาโยง ต่อจากศพไว้เพื่อใช้บังสุกุล สายโยงนั้นก็ใช้ด้ายสายสิญจน์นั่นเอง ถ้าไม่ใช้สายสิญจน์ก็ใช้ทำเป็นแผ่นผ้าแทนเรียกว่า ภูษาโยง ดังที่ของหลวงใช้อยู่ การเดินสายโยงหรือภูษาโยง จะโยงในที่สูงกว่าพระพุทธรูปที่ตั้งในพิธีไม่ได้ และจะปล่อยให้ลาดมากับพื้นดิน หรือนั่งก็ไม่เหมาะ เพราะสายโยงนี้ เป็นสายที่ล่ามโยงออกมาจากกระหม่อมของศพ เป็นสิ่งเนื่องด้วยศพจึงต้องล่ามหรือให้สมควร
                ๔)  เมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้ว เจ้าภาพจุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชา และจุดธูปเทียนที่หน้าศพ
                ๕)  หลังจากพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว นิยมให้มีการบังสุกุล แล้วจึงถวายไทยธรรม เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา พึงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลต่อไป
                ๖)  การสวดมนต์ของพระสงฆ์ มีระเบียบนิยมเหมือนกัน ต่างกันแต่ตอนกลาง มีนิยมเฉพาะงาน ดังนี้
                        -  ทำบุญเจ็ดวัน สวดอนัตตลักขณสูตร
                        -  ทำบุญศพ ๕๐ วัน สวดอาทิตตปริยายสูตร
                        -  ทำบุญศพ ๑๐๐ วัน หรือทำบุญวันปลงศพสวดธรรมนิยามสูตร
                        -  ทำบุญศพในวาระอื่น จะสวดสูตรอื่นใด นอกจากที่กล่าวนี้ก็ได้ แล้วแต่เจ้าภาพประสงค์ แต่มีธรรมเนียมอยู่ว่า ไม่สวดเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ธรรมจักร มหาสมัย
                ๗)  ในการสวดมีระเบียบปฏิบัติคือ เมื่อให้ศีล และเจ้าภาพอาราธนาพระปริตรแล้วไม่ต้องขัด สคฺเค ทุกรูปประนมมือพร้อมกันแล้ว หัวหน้านำสวด
                        -  นมการปาฐะ (นโม ฯลฯ)
                        -  สรณคมนปาฐะ (พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯลฯ)
                        -  ปัพพโตปมคาถาและอริยธนคาถา (ยถาปิ เสสา ฯลฯ)
            พอจบตอนนี้ พระสงฆ์ทั้งหมดลดมือลงแล้วรูปที่นั่งอันดับสามตั้งพัด ขัดบทขัดของสูตรที่กำหนดสวดตามงานดังกล่าวแล้ว เมื่อขัดจบวางพัด ทุกรูปประนมมือพร้อมกัน หัวหน้านำสวดสูตรที่ขัดนำนั้น จบสูตรแล้วนำสวดบทท้ายสวดมนต์ของงานอวมงคลคือ
                        -  ปฏิจจสมุปบาท (อวิชฺชาปจฺจยา สงฺ ขารา ฯลฯ)
                        -  พุทธอุทานคาถา (อทา หเว ฯลฯ )
                        -  ภัทเทกรัตตคาถา (อตีตํ มานฺวาดเมยฺย ฯลฯ)
                        -  ภวตุ สพฺพมงฺคลํ
            ถ้าสวดธรรมนิยามสูตร ใช้สวดติลักขณาทิคาถา (สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ฯลฯ เต โลเก ปรินิพฺพุตาติ) ก่อนสวดปฏิจจสมุปบาท
            ๕)  เมื่อสวดมนต์แล้ว ถ้ามีการชักผ้าบังสุกุลต่อท้าย เจ้าภาพจะลากสายโยง หรือภูษาโยง แล้วทอดผ้า พอทอดถึงรูปสุดท้าย พระสงฆ์ก็ตั้งพัดพร้อมกัน การตั้งพัดในพิธีชักบังสุกุลให้ใช้มือซ้ายจับพัด แล้วใช้มือขวาจับผ้าบังสุกุล การจับผ้าให้จับหงายมือใช้นิ้วมือทั้งสี่นิ้ว เว้นนิ้วแม่มือสอดเข้าใต้ผ้าที่ชักใช้นิ้วแม่มือจับบนผ้า อย่าจับคว่ำมือหรือเพียงใช้นิ้วแตะ ๆ ที่ผ้าเป็นอันขาด เมื่อจับพร้อมกันทุกรูปแล้ว เริ่มว่าบทชักบังสุกุล (อนิจฺจา วต สงฺขารา ฯลฯ) พร้อมกัน จบแล้วชักผ้าออกจากสายโยงหรือภูษาโยงวางไว้ตรงหน้า
            ข้อความที่กล่าวมานี้เป็นงานที่เจ้าภาพทำสองวัน คือสวดมนต์วันหนึ่ง เลี้ยงพระอีกวันหนึ่ง ถ้าเป็นงานวันเดียวให้สวดมนต์ก่อนฉัน ในการสวดมนต์นั้น เมื่อสวด ภัทเทกรัตตคาถา จบแล้วให้สวดถวายพรพระต่อไปจนจบ เป็นอันเสร็จพิธีสวดมนต์
            ในกรณีที่มีเพียงสวดมนต์ ไม่มีการเลี้ยงพระ ไม่ต้องสวดบทถวายพรพระ เมื่อพระสงฆ์รับไทยธรรมแล้ว ในการอนุโมทนาด้วย บทวิเสสอนุโมทนา พึงใช้บท อทาสิ เม ฯลฯ เพราะศพยังปรากฏอยู่
            งานทำบุญอัฐิ  เจ้าภาพพึงจัดเตรียมทำนองเดียวกันกับงานทำบุญหน้าศพ ต่างแต่เพียงงานนี้เป็นงานทำบุญหน้าอัฐิ หรือรูปของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เจ้าภาพต้องเตรียมที่ตั้งอัฐิ หรือที่ตั้งรูประลึกนั้น ๆ ต่างหาก จากโต๊ะบูชา ให้มีดอกไม้ตั้งหรือประดับพองาม และตั้งกระถางธูปกับเชิงเทียน หนึ่งคู่ที่หน้าโต๊ะ หรือรูปนั้นด้วยเพื่อบูชา จะใช้พานหรือกระบะเครื่องห้าสำหรับบูชาแทนก็ได้
            พิธีฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ ส่วนใหญ่ก็พึงปฏิบัติเช่นเดียวกับงานทำบุญหน้าศพ ต่างแต่การสวดมนต์ นิยมใช้สูตรอื่น จากอนัตตลักขณสูตร
   การทำบุญงานมงคล และข้อปฏิบัติบางประการ
            พิธีอย่างย่อคือการทำบุญตักบาตร ในการทำบุญเลี้ยงพระมีเรื่องที่พึงปฏิบัติ ดังนี้
            ๑)  การอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์  ไม่จำกัดจำนวนข้างมาก แต่นิยมกำหนดจำนวนข้างน้อยไว้โดยเกณฑ์ คือไม่ต่ำกว่าห้ารูป เกินขึ้นไปก็เป็นเจ็ดรูป หรือเก้ารูป ไม่นิยมพระสงฆ์จำนวนคู่ เพราะถือว่าการทำบุญครั้งนี้มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานแบบเดียวกับครั้งพุทธกาล โดยตั้งพระพุทธรูปไว้ข้างหน้าแถวพระสงฆ์ นับจำนวนรวมกับพระสงฆ์เป็นคู่ เว้นแต่ในงานมงคลสมรส มักนิยมนิมนต์พระสงฆ์จำนวนคู่ แต่ในพิธีหลวงปัจจุบัน มักอาราธนาพระสงฆ์เป็นจำนวนคู่
            ๒)  การเตรียมที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา  ที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชาในงานพิธีต่างนิยมเรียกว่า โต๊ะบูชา โต๊ะบูชาประกอบด้วยโต๊ะรอง และเครื่องบูชา โต๊ะรองเป็นที่ตั้งพระพุทธรูปและเครื่องบูชา ที่นิยมใช้เป็นโต๊ะหมู่ ซึ่งสร้างไว้โดยเฉพาะเรียกกันว่า โต๊ะหมู่บูชา มีหมู่ห้า หมู่เจ็ด และหมู่เก้า หมายความว่าหมู่หนึ่ง ๆ ประกอบด้วยโต๊ะห้าตัว เจ็ดตัว และเก้าตัว ถ้าหาโต๊ะหมู่ไม่ได้จะใช้ตั่งหรือโต๊ะอะไรที่สมควรก็ได้ มีหลักสำคัญอยู่ว่าต้องใช้ผ้าขาวปูก่อน ถ้าจะใช้ผ้าสีก็ต้องเป็นผ้าสะอาด ที่ยังไม่ได้ใช้งานอย่างอื่นมาก่อน
            การตั้งโต๊ะบูชามีหลักว่า  ต้องหันหน้าโต๊ะออกไปทางเดียวกับพระสงฆ์ สำหรับทิศทางที่จะประดิษฐานพระพุทธรูป มักให้ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ด้วยถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นโลกอุดร หรือมิฉะนั้นก็ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก็ถือว่าเป็นทิศที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออกในคืนวันตรัสรู้
            การตั้งเครื่องบูชา  ถ้าเป็นโต๊ะเดี่ยว เครื่องบูชาควรมีแจกันประดับดอกไม้หนึ่งคู่ ตั้งสองข้างพระพุทธรูป หน้าพระพุทธรูปตั้งกระถางธูปกับเชิงเทียนหนึ่งคู่ เชิงเทียนตั้งตรงกับแจกัน สำหรับโต๊ะหมู่มีการตั้งเชิงเทียนมากกว่าหนึ่งคู่ แจกันดอกไม้มากกว่าหนึ่งคู่ และมีพานดอกไม้ตั้งเป็นคู่และอยู่กลางหนึ่งพาน
            ๓)  การวงด้ายสายสิญจน์  คำว่าสิญจน์แปลว่าการรดน้ำ สายสิญจน์ทำด้วยด้ายดิบ โดยวิธีจับด้ายในเข็ด สาวชักออกเป็นห่วง ๆ สาวชักออกมาเป็นห่วง ๆ ให้สัมพันธ์เป็นสายเดียวกัน จากด้ายในเข็ดเส้นเดียวจับออกครั้งแรกเป็นสามเส้น ม้วนเข้ากลุ่มไว้ ถ้าต้องการให้สายใหญ่ก็จับอีกครั้งหนึ่ง จะกลายเป็นเก้าเส้นในงานมงคลทุกประเภท นิยมใช้สายสิญจน์เก้าเส้น
            การวงสายสิญจน์ มีเกณฑ์ถืออยู่ว่า ถ้าเป็นบ้านมีรั้วรอบ ให้วงรอบรั้ว ถ้าไม่มีรั้วรอบหรือมีแต่กว้างเกินไป ก็ให้วงเฉพาะอาคารพิธีโดยรอบ ถ้าไม่ต้องการวงสายสิญจน์รอบรั้ว หรือรอบอาคาร จะวงสายสิญจน์ที่ฐานพระพุทธรูปบนโต๊ะบูชาเท่านั้น แล้วโยงมาที่ภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์ก็ได้ พึงวางกลุ่มด้ายสายสิญจน์ไว้บนพานสำหรับรองสายสิญจน์ ซึ่งอยู่ทางหัวอาสนะสงฆ์ใกล้ภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์ การวงสายสิญจน์ถือหลักวงจากซ้ายไปขวา ของสถานที่หรือวัตถุ ขณะที่วงสายสิญจน์อย่าให้สายสิญจน์ขาด สายสิญจน์ที่วงพระพุทธรูปแล้วจะข้ามกรายไม่ได้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องผ่าน ให้ลอดมือหรือก้มศีรษะลอดใต้สายสิญจน์
            ๔)  การปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์  นิยมใช้กันอยู่สองวิธีคือ ยกพื้นอาสนะสงฆ์ให้สูงขึ้น โดยใช้เตียงหรือม้าวางต่อกันให้ยาวพอแก่จำนวนสงฆ์ อีกวิธีหนึ่งปูลาดอาสนะบนพื้นธรรมดา จะใช้เสื่อหรือผ้าที่สมควรปู ข้อสำคัญคืออย่าให้อาสนะพระสงฆ์กับที่นั่งของคฤหัสถ์เป็นอันเดียวกัน ควรปูลาดให้แยกจากกัน ถ้าปูเสื่อหรือพรมไว้เต็มห้อง ควรให้ผ้าขาวหรือผ้านิสีทนะก็ได้ปูทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง
            ๕)  การเตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์  ตามแบบและตามประเพณีก็มีหมากพลู บุหรี่ น้ำร้อน น้ำเย็น กระโถน การวางเครื่องรับรองเหล่านี้ ต้องวางทางด้านขวามือของพระ วางกระโถนข้างในสุดเพราะไม่ต้องประเคนถัดออกมาเป็นภาชนะน้ำเย็น ถัดออกมาอีกเป็นภาชนะใส่หมากพลู บุหรี่ ซึ่งรวมอยู่ในที่เดียวกัน เมื่อพระสงฆ์นั่งก็ประเคนของตั้งแต่ข้างในออกมาข้างนอก
            ๖)  การตั้งภาชนะทำน้ำมนต์ ถ้าไม่มีครอบน้ำมนต์  จะใช้บาตรพระหรือขันน้ำพานรองแทนก็ได้ แต่ขันต้องไม่ใช่ขันเงินหรือขันทองคำ หาน้ำสะอาดใส่ในภาชนะน้ำมนต์ ห้ามใช้น้ำฝน ใส่น้ำเพียงค่อนภาชนะ ควรจะหาใบเงินใบทองใส่ลงไปด้วยเล็กน้อย หรือจะใช้ดอกบัวแทนก็ได้ ต้องมีเทียนน้ำมนต์หนึ่งเล่ม ควรเป็นเทียนขี้ผึ้งแท้ขนาดหนักหนึ่งบาทเป็นอย่างต่ำติดที่ขอบภาชนะ ไม่ต้องจุด เอาไปวางไว้ข้างหน้าโต๊ะบูชา ให้ค่อนมาทางอาสนะพระสงฆ์ ใกล้กับรูปที่เป็นหัวหน้า จะได้ทำพิธีได้สะดวก
            ๗)  การจุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชา  และที่ทำน้ำมนต์ เจ้าภาพควรเป็นผู้จุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชา ควรจุดเทียนก่อน โดยจุดด้วยไม้ขีดไฟ หรือเทียนชนวน อย่าต่อจากไฟอื่น เมื่อเทียนติดแล้วใช้ธูปสามดอกจุดต่อที่เทียนจนติดดีจึงปักธูปตรง ๆ ในกระถางธูป
            ต่อจากนั้นจึงเริ่มพิธีไปตามลำดับ คืออาราธนาศีล รับศีล อาราธนาพระปริตร จบแล้วพระสงฆ์เริ่มสวดมนต์ ทุกคนที่อยู่ในพิธีพึงนั่งประนมมือ ฟังพระสวดด้วยความเคารพ พอพระเริ่มสวดมงคลสูตรขึ้นต้นบท   อเสวนา จ พาลานํ เจ้าภาพพึงเข้าไปจุดเทียนน้ำมนต์ แล้วประเคนบาตร หรือครอบน้ำมนต์นั้น ต่อหัวหน้าพระสงฆ์
            ๘)  ข้อปฏิบัติในวันเลี้ยงพระ  ถ้าเป็นงานสองวันพึงจัดอย่างวันสวดมนต์เย็น เมื่อพระภิกษุสงฆ์มาพร้อมแล้ว เจ้าภาพพึงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระ แล้วอาราธนาศีลรับศีลเช่นเดียวกับวันก่อน ไม่ต้องอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์จะเริ่มสวดถวายพรพระเอง ก็มีการตักบาตรด้วย พึงเริ่มลงมือตักบาตรขณะพระสงฆ์สวดถึงบท พาหํ และให้เสร็จก่อนพระสวดจบ เตรียมยกบาตร และภัตตาหารมาตั้งไว้ให้พร้อม พระสวดจบก็ประเคนให้พระฉันได้ทันที ถ้าไม่มีตักบาตร เจ้าภาพก็นั่งประนมมือฟังพระสวดไปจนจบ
            ถ้าเป็นงานวันเดียว คือสวดมนต์ก่อนฉัน ควรตระเตรียมต่าง ๆ คงจัดครั้งเดียว พระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ก่อน แล้วสวดถวายพรพระต่อท้าย เจ้าภาพพึงนั่งประนมมือฟัง เมื่อพระสงฆ์สวดบทถวายพรพระจบ ก็ยกภัตตาหารประเคนได้
            เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา ขณะพระว่าบท ยถา ฯลฯ ให้เริ่มกรวดน้ำให้เสร็จก่อนจบบท พอพระว่าบท สพฺพีติโย ฯลฯ พร้อมกันพึงประนมมือรับพรไปจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี
            การเลี้ยงพระในพิธีทำบุญเลี้ยงพระ มีประเพณีโบราณสืบเนื่องกันมานานคือ ประเพณีถวายข้าวพระพุทธ ถ้ามีตักบาตรก็ต้องตั้งบาตรพระพุทธไว้หัวแถวด้วย ข้าวพระพุทธที่ถวายนั้นนิยมจัดอย่างเดียวกันกับที่ถวายพระสงฆ์ เมื่อเสร็จภัตกิจแล้วข้าวพระพุทธนั้นตกเป็นของมรรคทายกวัด หรืออุบาสกอุบาสิกาในงาน การถวายนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพ พึงใช้ผ้าขาวปูบนโต๊ะที่จะนำมาตั้งรองข้าวพระพุทธตรงหน้าโต๊ะบูชา แล้วตั้งสำรับคาวหวานพร้อมทั้งข้าวน้ำให้บริบูรณ์ เสร็จแล้วจุดธูปสามดอก ปักในกระถางธูปหน้าโต๊ะบูชา นั่งคุกเข่าประนมมือตรงหน้าที่ตั้งข้าวพระพุทธและโต๊ะบูชา ว่า นโมสามจบ แล้วว่าคำถวายดังนี้   อิมํ สูปพยยญฺชนสมฺปนฺนํ ,สาลีนํ โอทนํ , อุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ จบแล้วกราบสามครั้ง ต่อนี้จึงจัดถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ตามวิธีที่กล่าวมาแล้ว เมื่อเสร็จภัตกิจ และพระสงฆ์อนุโมทนาแล้ว เป็นหน้าที่ของอุบาสกหรืออุบาสิกา จะลาข้าวพระพุทธนั้นมารับประทาน ผู้ลาข้าวพระพุทธพึงเข้าไปนั่งคุกเข่าหน้าสำรับที่หน้าโต๊ะบูชา กราบสามครั้ง ประนมมือกล่าวคำว่า   เสสํ มงฺคลา ยาจามิ แล้วไหว้ต่อนั้นยกข้าวพระพุทธออกไปได้
ประเพณีเกี่ยวกับการตาย
            มีพิธีทำบุญ เรียกว่า ทำบุญงานอวมงคล คืองานทำบุญหน้าศพ และงานทำบุญอัฐิ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ประเพณีเกี่ยวกับการตายได้แก่ การจัดการศพ การสวดพระอภิธรรม การทำบุญเจ็ดวัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน การฌาปนกิจ และการทำบุญอัฐิ หรือการทำบุญในวันคล้ายวันตายของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
            การจัดการศพ  การจัดการศพเริ่มจากการอาบน้ำศพ การตั้งศพ การสวดพระอภิธรรม พิธีเหล่านี้นิยมทำที่บ้านของผู้ตาย แต่ปัจจุบันในเมืองนิยมทำที่วัด
            การอาบน้ำศพเป็นพิธีทำความสะอาดศพ ถ้าถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลทางโรงพยาบาลจะทำความสะอาดตกแต่งศพมาแล้ว เจ้าภาพเพียงแต่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้ศพ แล้วจัดพิธีรดน้ำศพ โดยจัดศพวางบนตั่ง ยื่นมือขวาของศพไว้บนพาน ผู้ที่มารดน้ำศพรดน้ำอบน้ำหอมลงบนมือศพ เป็นการขอขมา เวลารดน้ำศพควรคลุมศพด้วยผ้าขาว หรือผ้าอย่างอื่น หากเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ผู้อื่นตลอดเจ้าภาพจะรดน้ำศพก่อน เมื่อประธานในพิธีรดน้ำอาบศพพระราชทานแล้ว ก็จะมีการบรรจุศพลงหีบเลยทีเดียว
            เมื่อบรรจุศพลงหีบแล้ว ก็จะจัดการตั้งศพเพื่อสวดพระอภิธรรม นิยมสวดสามคืน  ห้าคืน  เจ็ดคืน  แล้วจะจัดการเก็บศพ หรือทำการฌาปนกิจ ก่อนเก็บศพหรือฌาปนกิจ หรือเมื่อครบเจ็ดวัน  ๕๐ วัน  ๑๐๐ วัน หรือในวันคล้ายวันถึงแก่กรรมของผู้นั้น เจ้าภาพจะมีการทำบุญเลี้ยงพระในตอนเช้า หรือตอนเพล แล้วอาจมีเทศน์หลังจากทำบุญเลี้ยงพระ จะมีการบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายทุกครั้ง
            พิธีทำบุญเจ็ดวัน นิยมนิมนต์พระสงฆ์เจ็ดรูปเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นงานอวมงคล การจัดไทยทานก็จัดเจ็ดที่ และในที่บางแห่งอาจมีการจัดสังฆทานประเภท มตกภัตต์ด้วย คือบรรจุสิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นของแห้งใส่ลงในชามอ่าง กะละมัง หรือกระบุง พอพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้วจึงถวาย ใช้คำถวาย ดังนี้
            อิมานิ มยํ ภนฺเต มตกภตฺตานิ สปริวารานิ ภิกขุ สงฺฆสฺส โอโณชยามะ สาธุโน ภนฺเต ภิกฺขุ สงฺโฆ มตกภตฺตานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคนฺหาตุ อมฺหากญฺเจว มาตาปิตุ อาทีนญฺจ ญาตถานํ ฑีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย ฯ
            พิธีทำบุญ ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน หรือวันครบรอบวันตายของผู้ตาย นิยมนิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูป และนิยมทอดผ้าบังสุกุลด้วย
            การฌาปนกิจศพ  งานฌาปนกิจศพจะทำวันเดียวหรือสองวันก็ได้ ถ้าทำวันเดียวก็จะมีการตั้งศพ แล้วสวดพระอภิธรรมกลางคืนนั้น รุ่งเช้าถวายภัตตาหาร หรือทำบุญเลี้ยงพระเช้าหรือเพลแล้วมีเทศน์ หลังจากเทศน์ก็จัดการฌาปนกิจ
            พิธีฌาปนกิจ จะเริ่มขึ้นเมื่อได้มีการสวดพระอภิธรรม ทำบุญเลี้ยงพระ เทศน์ แล้วเมื่อถึงเวลาก็เชิญศพขึ้นเมรุ หรือ ฌาปนสถาน การเคลื่อนศพขึ้นสู่เมรุ มีการนำศพเวียนซ้ายรอบเมรุสามรอบ แล้วจึงนำศพขึ้นตั้งบนเมรุ พอใกล้เวลาฌาปนกิจก็เริ่มพิธีการทอดผ้าบังสุกุลที่ศพ โดยเชิญแขกผู้ใหญ่ หรือเจ้าภาพเองเป็นผู้ทอดผ้า แล้วนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นชักบังสุกุล เสร็จแล้วก็ถึงพิธีประชุมเพลิง มักจะเชิญแขกผู้ใหญ่หรือญาติผู้ใหญ่เป็นผู้จุดเพลิงเป็นคนแรก ถ้าเป็นศพที่ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ประธานในพิธีจะเป็นผู้จุดเพลิงพระราชทาน โดยการวางดอกไม้ขมาศพของพระราชพิธีก่อนแล้วจุดเพลิง หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมพิธีก็เข้าจุดเพลิงตามลำดับ
            หลังจากเผาจริงเสร็จ หรือในเช้าวันรุ่งขึ้น ก็จะมีพิธีเก็บอัฐิ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของวัดจะเป็นผู้ช่วยเหลือ ทำพิธีให้แก่เจ้าภาพจนเสร็จ ในสมัยก่อนหรือศพเจ้านายในปัจจุบัน ในพิธีเก็บอัฐิ จะมีพิธีเดินสามหาบด้วย
            การทำบุญอัฐิ  หลังจากพิธีเก็บอัฐิแล้ว ก็จะมีพิธีทำบุญอัฐิ
| หน้าแรก| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | ชาติไทย |ศาสนา|พระมหากษัตริย์ |บน |