|หน้าแรก|ย้อนกลับ|หน้าต่อไป|ชาติไทย|ศาสนา|พระมหากษัตริย์|

พิธีสงฆ์ในงานทำบุญ

พิธีเจริญพระพุทธมนต์
            การเจริญพระพุทธมนต์ เป็นพิธีกรรมฝ่ายสงฆ์พึงปฏิบัติโดยเฉพาะในงานมงคลต่าง ๆ ได้แก่ พระสงฆ์ตามจำนวนนิยมของพิธีร่วมกันสาธยายมนต์ จากคาถาพุทธภาษิตบ้าง จากพระสูตรบ้าง จากมนต์ของเกจิอาจารย์ เป็นธรรมคติบ้าง ตามที่พระโบราณาจารย์กำหนดไว้โดยควรแก่พิธีนั้น ๆ การสาธยายมนต์ของพระสงฆ์ในพิธีทำบุญ ถ้าเป็นงานมงคลนิยมเรียกว่า เจริญพระพุทธมนต์ ถ้าเป็นงานอวมงคลนิยมเรียกว่า สวดพระพุทธมนต์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกกันว่า สวดมนต์ ไม่ว่าจะเป็นงานใด
            บทพระพุทธมนต์ที่ใช้ในงานมงคลต่าง ๆ ใช้กันโดยทั่วไป มีดังนี้
            เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มหาสมยสูตร โพชฌงคสูตร คิริมานนทสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร ชยมงคลคาถา คาถาจุดเทียนชัย และคาถาดับเทียนชัย
            การเจริญพระพุทธมนต์ นิยมใช้บทเจ็ดตำนานเป็นพื้น แต่บทสวดมนต์ที่เรียกว่า เจ็ดตำนานนี้ พระโบราณาจารย์ได้กำหนดพระสูตรคาถา และหัวข้อ พุทธภาษิต บรรดาที่มีอานุภาพในทางแนะนำและป้องกันสรรพภัยพิบัติ ซึ่งรวมเรียกว่าพระปริตต์ ไว้ให้เลือกสวดมากบทด้วยกันคือ
            มงคลสูตร รตนสูตร กรณียเมตตสูตร ขันธปริตต์ โมรปริตต์ ธชัคคปริตต์ หรือ ธชัคคสูตร อาฏานาฏิยปริตต์ โพชฌงคปริตต์ มีองคุลิมาลปริตต์ เป็นบทต้น เมื่อรวมโมงปริตต์เข้ากับธชัคคปริตต์ ก็จะเหลือเพียงเจ็ดบท
            ในการสวดโดยทั่วไปนิยมใช้สวดเพียงเจ็ดบท หรือน้อยกว่า ทั้งนี้แล้วแต่ความสำคัญของงาน และเวลาที่สวดมนต์จะอำนวยให้ ดังนั้นในการสวดเจ็ดตำนาน จึงเกิดความนิยมในภายหลังเป็นสามแบบ เรียกว่าแบบเต็ม แบบย่อ และแบบลัด
            การสวดมนต์ จะสวดบทสวดมนต์ อย่างไรก็ตาม บทสวดมนต์นั้น ๆ ต้องมีเบื้องต้นเรียกว่า ต้นสวดมนต์ หรือต้นตำนาน ต่อจากบทเบื้องต้นเป็นท่ามกลางสวดมนต์ ซึ่งได้ตำนานหรือพระปริตร์ หรือสูตรต่าง ๆ ตามกำหนด สุดท้ายเป็นเบื้องปลายของบทสวดมนต์ เรียกกันว่า ท้ายสวดมนต์
            ถ้าเป็นงานใหญ่ จะมีสวดมนต์เย็นวันหนึ่งก่อน รุ่งขึ้นเลี้ยงพระ นิยมสวดเจ็ดตำนานเต็ม ให้พระสงฆ์ขัตตำนานขัตนำทุกตอน และทุกบทที่สวดด้วย ดังนี้
            ต้นตำนาน  ขัตนำ สคฺเค ถ้าสวดในงานพระราชพิธีขัตขึ้นต้นตั้งแต่ สรชฺชํ สเสนํ ฯลฯ แต่ถ้าสวดในงานราษฎร์ทั่วไปขัตขึ้นต้นตรง ผริตฺวาน เมตฺตํ ฯลฯ
                สวดบทนมัสการ   นโม ตสฺส ภควโต ฯลฯ
                สวดบท สรณคมนปาฐะ   พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯลฯ
                สวดบท สมฺพุทฺเธ ฯลฯ แต่ปัจจุบันใช้บท นมการสิทธิคาถา   โย จกฺขุมา ฯลฯ
                สวดบท นมการอัฏฐคาถา   นโม อรหโต ฯลฯ
            ตัวตำนานหรือพระปริตร  จัดขัตตำนาน และต่อนำมงคลสูตร เย สนฺตา ฯลฯ ถึง ญาติภิ ต่อ ยญฺจทฺวาทสวสฺสานิ ฯลฯ จนจบ
                สวดมงคลสูตร   เอวมฺเม สุตํ ฯลฯ
                ขัตนำ รตนสูตร   ปณิธานโต ปฏฺฐาย ฯลฯ
                สวด รตนสูตร   ยานิธ ภูตานิ ฯลฯ
                ขัตนำ กรณียเมตตสูตร   ยสฺสานุ ภาวโต ฯลฯ
                สวด กรณียเมตตสูตร   กรณียมตฺถกุสฺเลน ฯลฯ
                ขัตนำ ขันธปริตต์   สพฺพาสีวิสชาตีนํ ฯลฯ
                สวด ขันธปริตต์   วิรูปกฺเขติ เมตฺตํ ฯลฯ
                ขัตนำ โมรปริตต์   ปูเรนฺตมฺโพธิสมฺภาเร ฯลฯ
                สวด โมรปริตต์   อุเทตยญฺจกฺขุมา ฯลฯ
                ขัตนำ ธชัคฺคปริตต  ์ ยสฺสานุสฺสรเณนาปิ ฯลฯ
                สวด ธชัคคปริตต์   เอวมฺเม สุตํ ฯลฯ
                ขัตนำ อาฏานาฏิยปริตต์   อปฺปสนฺเนหิ นาถสฺส ฯลฯ
                สวด อาฏานาฏิยปริตต์   วิปสฺสิ นมตฺถุ ฯลฯ
                ขัตนำ องคุลิมาลปริตต์   ปริตฺตํ ยมฺภณนฺตสฺส ฯลฯ
                สวด องคุลิมาลปริตต์   ยโตหํ ภคินี ฯลฯ
          ท้ายตำนาน
                สวดบท   ยนฺทุนฺนิมิตฺตํ  ฯลฯ
                สวดบท   ทุกฺขปฺปตฺตา  ฯลฯ
                สวดบท   มหากรุณิโกนาโถ  ฯลฯ
                สวดบท   สกฺกตฺวา พุทฺธรตฺตนํ  ฯลฯ
                สวดบท   ยงฺกิญฺจิ รตนํ โลเก  ฯลฯ
            ถ้าเป็นงานพระราชพิธีต่อไปให้สวดบท รตนตฺตยปฺปภาวาภิยาจนคาถา อรหํ ฯลฯ และสุขาภิยาจนคาถา ยํยํ ฯลฯ หรือจะสวด อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ฯลฯ แทนก็ได้ ต่อไปสวดบทมงคลจักรวาฬใหญ่ สิริธิติ ฯลฯ
                สวดบท   ภวตุ สพฺพมงฺคลํ  ฯลฯ
                สวดบท   นกฺขตฺตยกฺขภูตานํ  ฯลฯ
            การสวดเจ็ดตำนานแบบเต็ม ต้องใช้เวลาสวดประมาณ สองชั่วโมง ส่วนการสวดย่อจะใช้เวลาประมาณ ๓๐ - ๔๕ นาที นอกจากนี้ยังมีสวดแบบลัดใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที หลักการสวดแบบลัด จะเว้นไม่สวดมงคลสูตร กับรตนสูตรไม่ได้ เพราะถือกันว่างานบุญมงคลต้องมีมงคลสูตรเป็นหลัก กับรตนสูตรเป็นบททำน้ำพระพุทธมนต์
พิธีสวดพระพุทธมนต์
            การสวดพระพุทธมนต์ คือการสวดมนต์เป็นพิธีสงฆ์ในงานอวมงคล ระเบียบพิธีพึงจัดเหมือนกับงานทั่วไป ต่างแต่ถ้าเป็นงานทำบุญหน้าศพ ไม่ต้องสงสายสิญจน์ และไม่ต้องตั้งน้ำมนต์ ถ้าปรารภศพแต่ไม่มีศพตั้งอยู่ในบริเวณพิธี จะวางสายสิญจน์โดยถือเป็นการทำบุญบ้านไปในตัวด้วยก็ได้ แม้นำมนต์จะตั้งด้วยก็ได้ ส่วนระเบียบพิธีฝ่ายสงฆ์มีนิยมต่างกันตามประเภทของงานเป็นอย่าง ๆ คือ
            งานทำบุญหน้าศพ  หมายถึงทำในขณะศพยังอยู่ ยังมิได้ปลงด้วยวิธีฌาปนกิจ มีที่นิยมทำกันทั่วไปมีสี่ลักษณะ ได้แก่
              ทำบุญเจ็ดวัน  วันแรกนับแต่วันมรณะ ทำเป็นงานออกแขกใหญ่ เรียกว่า ทักษิณานุสรณ์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า งานทำบุญสัตตมวาร
              ทำบุญทุกเจ็ดวัน  ก่อนครบ ๕๐ วัน  มักนิยมทำเป็นการภายในไม่ออกแขกเรียกว่า ทักษิณานุประทาน
              ทำบุญ ๕๐ วันและ ๑๐๐ วัน  เป็นงานออกแขก
              ทำบุญเปิดศพก่อนปลง  เป็นการทำหน้างานปลงศพ อาจทำเป็นการภายใน แล้วออกแขกใหญ่ในงานปลง งานนี้จะทำเป็นงานสองวัน คือมีสวดพระพุทธมนต์เย็นวันหนึ่ง รุ่งขึ้นมีพิธีเลี้ยงพระ และฌาปนกิจในเวลาบ่ายหรือเย็น จะทำเป็นงานวันเดียวโดยเริ่มต้นตอนเช้าทำพิธีสวดพระพุทธมนต์แล้วเลี้ยงพระ บ่ายหรือเย็นชักศพไปทำการฌาปนกิจ ในงานทำบุญดังกล่าวนี้ มีนิยมจัดให้มีพระธรรมเทศนา สวดมาติกา บังสุกุล และสวดพระอภิธรรมด้วย พระสูตรที่นำมาสวดในงานนี้มักใช้ธรรมนิยามสูตร หรือสติปัฏฐานปาฐะ เป็นพื้น
            ถ้ามีการแสดงพระธรรมเทศนาต่อจากพิธีสวดพระพุทธมนต์ เจ้าภาพไม่ต้องอาราธนาศีลก่อน พอจุดธูปเทียนหน้าพระ และหน้าศพเสร็จก็อาราธนาพระปริตร แล้วพระสงฆ์ดำเนินพิธีสวดพระพุทธมนต์ การรับศีลไปประกอบพิธีเทศน์หลังสวดมนต์จบ แต่ถ้าจะรับศีลทั้งสองวาระก็ทำได้
            งานทำบุญอัฐิ  เป็นการทำบุญหลังการปลงศพแล้ว นิยมทำกันสามลักษณะ คือ
              ทำบุญฉลองธาตุ  ต่อจากวันฌาปนกิจเสร็จแล้วเป็นการทำบุญในบ้าน เมื่อเก็บอัฐิแล้วนำมาไว้ในบ้าน หรือจะทำในสถานที่บรรจุอัฐิธาตุ สำหรับผู้ที่เตรียมที่บรรจุไว้ก่อนแล้วก็ได้
              ทำบุญเจ็ดวัน  ทำหลังจากฌาปนกิจ คือปลงศพแล้ว
              ทำบุญอุทิศให้ผู้มรณะในรอบปี  คือทำในวันคล้ายวันมรณะ ที่เวียนมาบรรจบในรอบปี บางท่านอาจนำไปรวมทำในวันเทศกาลของปี เช่นวันสารท วันตรุษสงกรานต์
            งานทำบุญทั้งสามลักษณะดังกล่าว การจัดบริเวณพิธีเหมือนกับงานทำบุญทั่วไป ต่างแต่นำโกศอัฐิมาตั้งเป็นประธานแทนศพ จะใช้รูปถ่ายของผู้มรณะแทนอัฐิก็ได้ บางท่านก็ใช้บริเวณโต๊ะหมู่เครื่องบูชาพระพุทธรูปหัวอาสนสงฆ์ เป็นที่ตั้งโกศอัฐิด้วย คือตั้งโกศชั้นต่ำกว่าพระพุทธรูปลงมา ถ้ามีวงสายสิญจน์ทำบุญบ้านด้วย ห้ามนำสายสิญจน์วงโกศก่อน ตอนจะบังสุกุลอัฐิท้ายพิธี ถ้าไม่มีภูษาโยง หรือสายสิญจน์ที่จะใช้แทนภูษาโยงต่างหาก จะใช้สายสิญจน์วงบ้านวงพระพุทธ ต้องตัดสายสิญจน์ที่วงบ้านหรือพระพุทธรูปให้ขาดก่อน แล้วตั้งต้นวงเฉพาะโกศอัฐิเท่านั้น ชักไปสู่พระสงฆ์แทนภูษาโยง
            สำหรับระเบียบสวดพระพุทธมนต์ต้องดูให้สมควร ถ้าเจ้าภาพวงสายสิญจน์ตั้งน้ำมนต์ เป็นการฉลองบ้านด้วย ก็สวดมนต์เจ็ดตำนานเหมือนงานมงคลทั่วไป ต่างแต่ตอนท้ายพิธีมีชักบังสุกุลอัฐิเป็นงานอวมงคล และอนุโมทนาทานเพื่อผู้มรณะเท่านั้น ถ้าเจ้าภาพไม่วงสายสิญจน์ไม่ตั้งน้ำมนต์ แต่ตั้งโกศอัฐิเป็นประธาน แสดงว่าเจ้าภาพต้องการให้งานนี้เป็นเพื่อผู้ตายโดยตรง และเป็นงานอวมงคล พระสงฆ์ต้องประกอบพิธีสวดพระพุทธมนต์อย่างเดียวกับงานทำบุญเปิดศพที่กล่าวมาแล้ว
พิธีสวดพระอภิธรรม
            งานทำบุญเกี่ยวด้วยศพ นับตั้งแต่มีมรณกรรม จนถึงวันปลงศพด้วยวิธีฌาปนกิจ มักนิยมจัดให้มีพิธีสวดพระอภิธรรมประกอบงานทำบุญศพนั้นด้วย พิธีสวดพระอภิธรรมมีสองอย่างคือ สวดประจำยามหน้าศพ และสวดหน้าไฟในขณะฌาปนกิจ
            การสวดพระอภิธรรมประจำยามหน้าศพ  นิยมจัดในสถานที่ตั้งศพเป็นพิธีในตอนกลางคืนวันที่ศพถึงแก่กรรม การสวดนี้บางแห่งนิยมจัดนิมนต์พระมาสวดเป็นสำรับ สำรับละยาม สวดตลอดรุ่งสี่ยาม บางแห่งสวดแต่ในยามต้นคือเพียงสามทุ่ม หรืออย่างมากไม่เกินสองยามคือเที่ยงคืน มีระเบียบพิธี ดังนี้
            ๑)  เจ้าภาพเตรียมอาสนสงฆ์ สำหรับสวดสี่รูปไว้หน้าศพด้านใดด้านหนึ่ง แล้วแต่เหมาะ มีตู้พระธรรมหนึ่งตู้ ตั้งหน้าอาสนะพระที่สวด ในกึ่งกลางระหว่างรูปที่สองกับรูปที่สาม ตั้งที่บูชาหน้าตู้พระธรรมออกมาที่หนึ่ง ประกอบด้วยพานดอกไม้ตั้งกลางชิดตู้พระธรรมสองข้างพานตั้งแจกันดอกไม้หนึ่งคู่ ถัดออกมาตั้งกระถางธูปตรงกับพานดอกไม้ สองข้างกระถางธูปตั้งเชิงเทียนหนึ่งคู่ตรงกับแจกัน มีเทียนและธูปสามดอกปักไว้พร้อม
            ๒)  นิมนต์พระสงฆ์มาสวดพระอภิธรรม จะเป็นสำรับเดียวหรือหลายสำรับแล้วแต่ศรัทธา
            ๓)  พระสงฆ์ที่รับนิมนต์ทุกรูปมีพัดไปด้วย ได้เวลาประกอบพิธีแล้ว เข้านั่งยังอาสน วางพัดตั้งเรียงไว้ตามระเบียบ เมื่อเจ้าภาพจุดเทียนหน้าศพแล้ว จุดเทียนหน้าที่บูชา อาราธนาศีล หัวหน้าสงฆ์ให้ศีล จบแล้วเจ้าภาพอาราธนาธรรม การสวดพระอภิธรรม ทุกรูปตั้งพัดพร้อมกันแล้วดำเนินการพิธีสวด บทสวดพระอภิธรรมประจำยามหน้าศพมีสองแบบ ถ้าสวดอย่างสวดมนต์ธรรมดา ใช้บทสัตตัปปกรณาภิธรรม คือบทมาติกา พระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์ในหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวง เริ่มต้นด้วย นโม ฯลฯ นำ แล้วสวดตั้งแต่บทธรรมสังคณีไปจนจบปัฏฐาน หยุดพักพอสมควร แล้วตั้งต้นสวดบทธรรมสังคณีไปจนจบปัฏฐานอีกรอบหนึ่งแล้วพัก ต่อไปเริ่มรอบสาม รอบสี่ จบรอบสุดท้ายคือรอบสี่แล้วเจ้าภาพถวายไทยธรรม พระสงฆ์สวดอนุโมทนาต่อด้วยบท
                ยถา วาริวหา ฯลฯ สพฺพีติโย ฯลฯ อทาสิ เม ฯลฯ ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
            ถ้าเจ้าภาพประสงค์จะให้สวดทำนอง สรภัญญะ หรือจะเป็นฝ่ายสงฆ์เห็นสมควรจะสวดทำนองสรภัญญะ บทสวดก็ใช้บทพระอภิธัมมัตถสังคหเก้าปริเฉท เริ่มตั้งแต่ปริเฉทที่หนึ่งไปจบปริเฉทหนึ่ง ๆ แล้วพักในระหว่างจนครบเก้าประเฉท เวลาก็พอดีหนึ่งยาม สวดจบเก้าปริเฉทแล้ว เจ้าภาพถวายไทยธรรม พึงอนุโมทนาเช่นเดียวกับแบบแรก เป็นอันเสร็จพิธี
            การสวดพระอภิธรรมหน้าไฟ  นิยมสวดในขณะทำการฌาปนกิจ การจัดสถานที่เช่นเดียวกันกับการจัดสวดหน้าศพ ต่างแต่ไปจัดในบริเวณฌาปนสถาน พิธีสวดของพระสงฆ์ใช้สวดบทสัตตัปปกรณาภิธรรมอย่างเดียว การสวดไม่มีพิธีฝ่ายเจ้าภาพอย่างสวดงานหน้าศพ แต่ถือพิธีเริ่มจุดศพเป็นสำคัญ เมื่อใกล้เวลาเริ่มจุดศพ
พระสงฆ์ผู้ได้รับนิมนต์พึงเข้านั่งประจำที่ให้พร้อม พอเริ่มจะจุดศพก็ตั้งพัดพร้อมกัน พอจุดศพเป็นวาระแรกก็ตั้ง นโม ฯลฯ แล้วสวดบทธรรมสังคณีเป็นลำดับไปจนจบปัฏฐาน เมื่อเจ้าภาพถวายไทยธรรมแล้ว อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
พิธีสวดมาติกา
            การสวดมาติกา คือการสวดบทมาติกาของพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์หรือที่เรียกว่า สัตตัปปกรณาภิธรรม ซึ่งมีการบังสุกุลเป็นที่สุด เป็นประเพณีนิยม จัดให้พระสงฆ์สวดในงานทำบุญหน้าศพอย่างหนึ่ง เรียกในงานหลวงว่า สดับปกรณ์ แต่ราษฎรทั่วไปเรียกว่า สวดมาติกา โดยจัดเป็นพิธีต่อจากการสวดพระพุทธมนต์เย็นบ้าง ถ้ามีเทศน์ต่อจากการสวดพระพุทธมนต์เย็นก็จัดพิธีสวดมาติกาจากการเทศน์ และจัดให้มีต่อจากพิธีเลี้ยงพระในวันรุ่งขึ้นบ้าง นับเป็นพิธีทำบุญแทรกในระหว่างงานทำบุญหน้าศพ
            การจัดพิธีสวดมาติกา มีนิยมทำกัน ดังนี้
            ๑)  ฝ่ายเจ้าภาพพึงเผดียงสงฆ์ ตามจำนวนและแจ้งกำหนดเวลา จำนวนพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีสวดมาติกา นิยมเท่าจำนวนอายุของผู้มรณะ หรือเท่าจำนวนพระสงฆ์ทั้งหมดของวัด หรือน้อยกว่าที่กล่าวนี้ก็ได้
            ๒)  เตรียมจัดที่สำหรับพระสงฆ์สวดมาติกา ถ้าอาสนะไม่พอกับจำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์ ก็ให้พระสงฆ์ขึ้นประกอบพิธีเป็นชุด ๆ จนครบจำนวน
            ๓)  พระสงฆ์ที่รับนิมนต์ มีพัดไปด้วยทุกรูปเพื่อใช้ในพิธี ในกรณีที่มีพัดไม่ครบ ก็ให้มีแต่หัวหน้าเพียงรูปเดียว เมื่อได้เวลาก็ขึ้นนั่งบนอาสนะพร้อมกันทั้งหมด ถ้าเป็นงานหลวงใช้พัดยศต้องนั่งเรียงตามศักดิ์พัดที่ตนถือ เมื่อพร้อมแล้วเจ้าภาพจุดธูปเทียนหน้าศพเป็นสัญญาณ ถ้าไม่มีพิธีรับศีลเพราะรับมาก่อนแล้ว พึงตั้งพัดพร้อมกันทุกรูปแล้วหัวหน้าสงฆ์นำสวดบทมาติกา ดังนี้
                นำสวด   นโม ฯลฯ
                นำสวดบท   กสฺลา ธมฺมา ฯลฯ
                นำสวดบท   ปญฺจกฺ ขนฺธา ฯลฯ  (เฉพาะงานหลวงหรืองานใหญ่เป็นพิเศษ)
                นำสวดบท   เหตุปจฺจโย ฯลฯ
            เมื่อจบแล้ววางพัด เพื่อให้เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล
            เมื่อพระสงฆ์สวดจบ  เหตุปจฺจโย ฯลฯ ก่อนจบเจ้าภาพพึงลากผ้าภูษาโยง หรือสายโยงจากศพให้ลาดตรงหน้าพระสงฆ์ พอพระสงฆ์สวดจบก็ทอดผ้าลงบนภูษาโยง เท่าจำนวนพระสงฆ์บนอาสนะ
            ๔)  พอเจ้าภาพทอดผ้าเสร็จ พระสงฆ์ทั้งนั้นพึงตั้งพัดชักบังสุกุล เสร็จแล้วเปลี่ยนมือมาจับด้ามพัดตามแบบสวดอนุโมทนา แล้วพึงอนุโมทนา ด้วยบท
                ยถา ฯลฯ   สพฺพีติโย ฯลฯ
                ในงานหลวงหน้าพระที่นั่ง พระราชาคณะถวายอดิเรก
                อทาสิ เม ฯลฯ
                ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
                ในงานหลวงหน้าพระที่นั่ง พระราชาคณะถวายพระพรลา
            เจ้าภาพกรวดน้ำ เมื่อพระสงฆ์ว่า ยถา ฯลฯ พอพระสงฆ์ว่า สพฺพีติโย ฯลฯ พึงพนมมือรับพร
พิธีสวดแจง
            ในงานฌาปนกิจศพ นิยมจัดให้มีเทศน์สังคีติคาถา หรือที่เรียกกันโดยสามัญว่า เทศน์แจง จะเทศน์ธรรมาสน์เดียว หรือสามธรรมาสน์โดยปุจฉา วิสัชนา ในการนี้นิยมให้มีพระสงฆ์สวดแจงเป็นทำนองการกสงฆ์ ในปฐมสังคายนาด้วย จำนวนพระสงฆ์สวดแจงนี้ ถ้าเต็มที่ก็นับรวมทั้งพระเทศน์ด้วยเต็ม ๕๐๐ รูป เท่าการกสงฆ์ครั้งทำปฐมสังคายนา แต่ในการปฏิบัติจริงอาจลดส่วนพระสวดลงมาเหลือเพียง ๕๐ รูป หรือ ๒๕ รูป อาจจะมากกว่าหรือน้อยกว่านี้ก็มี ถือกันว่าเป็นบุญพิธีพิเศษ ซึ่งอุปถัมภ์ให้พระสงฆ์ได้ทำสังคายนาครั้งหนึ่ง อีกประการหนึ่งก็เป็นอุบายประชุมสงฆ์เพื่อให้งานปลงศพนั้น ๆ คึกคักขึ้นเป็นพิเศษ มีระเบียบดังนี้
            ๑)  การสวดแจงและเทศน์แจง จัดให้มีในงานฌาปนกิจก่อนหน้าเวลาฌาปนกิจ ในวัดหรือฌาปนสถาน พึงจัดธรรมาสน์ และอาสนสงฆ์ตามจำนวนที่นิมนต์
            ๒)  เมื่อพระสงฆ์ผู้รับนิมนต์เข้าประจำที่เรียบร้อยแล้ว พอพระผู้เทศน์ขึ้นธรรมาสน์เทศน์ เริ่มตั้งแต่นโม  เทศน์เป็นต้นไป ทุกรูปพึงประนมมือฟังเทศน์ด้วยความเคารพ เมื่อผู้เทศน์เผดียงให้สวด พึงสวดบทโดยลำดับ ดังนี้
                สวดบทนมัสการ  นโม ฯลฯ
                สวดบาลีพระวินัยปิฎก   ยนฺเตน ภควตา ฯลฯ
                สวดบาลี พระสุตตันตปิฎก   เอวมฺเม สุตํ ฯลฯ
                สวดบาลี พระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์   กุสลา ธมฺมา ฯลฯ
            ๓)  เมื่อเทศน์จบแล้ว รอให้พระสงฆ์ที่สวดแจงบังสุกุลก่อน จบแล้วหากมีไทยธรรมอื่นอีกนอกจากผ้าทอดให้ถวายในระยะนี้ เสร็จแล้วพระผู้เทศน์ตั้งพัด ยถา ฯลฯ อนุโมทนาบนธรรมาสน์นั้น พระสงฆ์ทุกรูปพึงรับ   สพฺพีติโย ฯลฯ   อทาสิ เม ฯลฯ และ   ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ พร้อมกัน เป็นอันเสร็จพิธี
พิธีถวายพรพระ
            ในงานทำบุญเลี้ยงพระต่อเนื่องจากการเจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดพระพุทธมนต์ ก่อนถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุในพิธี มีนิยมถวายพรพระเป็นพิธีสงฆ์นำด้วย ถ้างานในวันเดียว การสวดถวายพรพระให้ต่อท้ายพิธีสวดมนต์ แต่ถ้ามีพิธีสวดมนต์หลังเลี้ยงพระ ก่อนฉันพระสงฆ์ก็ต้องทำพิธีสวดถวายพรพระนำก่อนทุกครั้งนี้ เป็นธรรมเนียมในงานทำบุญเลี้ยงพระจะเว้นเสียมิได้ พิธีถวายพรพระตามธรรมเนียมนี้มีอยู่สองอย่าง มีระเบียบพิธีดังนี้
            การสวดถวายพรพระกรณีสามัญ  ใช้ในงานทำบุญทั่วไปทั้งงานมงคล และงานอวมงคล เมื่อพระสงฆ์ขึ้นนั่งยังอาสนะเรียบร้อยแล้ว มีการดำเนินการต่อไปดังนี้
            ๑)  เจ้าภาพจุดธูปเทียนหน้าที่บูชา ถ้าทำบุญหน้าศพ ให้จุดธูปเทียนหน้าศพก่อน แล้วอาราธนาศีล
            ๒)  หัวหน้าสงฆ์แจกสายสิญจน์แล้วตั้งพัด ถ้าเป็นงานทำบุญหน้าศพไม่มีวงสายสิญจน์ ไม่ต้องแจกสายสิญจน์ เริ่มตั้งพัดอย่างเดียวแล้วให้ศีล จบแล้ววางพัดเข้าที่ พระสงฆ์ทุกรูปประนมมือพร้อมกัน ถ้ามีสายสิญจน์ พึงคล้องสายสิญจน์ที่ง่ามนิ้วแม่มือทั้งสอง จากนั้นหัวหน้าสงฆ์นำสวดบทถวายพรพระตามลำดับ ดังนี้
                สวด    นโม ฯลฯ
                สวด    อิติปิ โส ฯลฯ
                สวด    พาหุ ํ ฯลฯ
                สวด    มหากรุณิโก ฯลฯ
                สวด    ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
            ๓)  ถ้ามีพิธีตักบาตรด้วย เช่นในงานฉลองพระบวชใหม่ ในงานทำบุญแต่งงาน เป็นต้น พอพระเริ่มสวดบท พาหุ ํ ฯลฯ เจ้าภาพพึงลงมือตักบาตรในระหว่างนี้ และทุก ๆ งาน จะมีการตักบาตรหรือไม่ก็ตาม พอพระสงฆ์เริ่มสวดบท มหากรุณิโก ฯลฯ ก็ให้เตรียมยกภัตตาหารเข้าประจำที่พระสงฆ์ทันที พอพระสงฆ์สวดจบ เริ่มประเคนพระ หรือเริ่มถวายทานตามนิยม แล้วคอยอังคาสพระสงฆ์ตลอดเวลาที่ฉัน เมื่อพระฉันเสร็จแล้วถวายไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
            ถ้าในงานที่มีพิธีสวดมนต์ก่อนฉัน ฝ่ายพระสงฆ์พึงสวดบทถวายพรพระตั้งแต่บท พาหุ ํ ฯลฯ ต่อท้ายพิธีสวดมนต์ไปจนจบ
เป็นการผนวกพิธีสวดถวายพรพระเข้าด้วยกันกับพิธีสวดมนต์
            การสวดถวายพรพระในกรณีพิเศษ  ใช้ในงานพระราชพิธีที่ประกอบด้วยพระฤกษ์ เช่น พระฤกษ์โสกันต์ พระฤกษ์เกศากันต์ พระฤกษ์สรงในพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้น ระเบียบสวดถวายพรพระก่อนรับพระราชทานฉัน มีดังนี้
            ๑)  สังฆการี อาราธนาศีล สมเด็จพระราชาคณะหรือพระราชาคณะเป็นหัวหน้าสงฆ์แจกสายสิญจน์แล้วตั้งพัดถวายศีล
            ๒)  จบถวายศีลแล้วได้ฤกษ์เจ้าพนักงานลั่นฆ้องชัยประโคมแตรสังข์ พระสงฆ์ทั้งนั้นเริ่มสวด
                บท ชยนฺโต ฯลฯ หลาย ๆ จบ จนเสร็จพิธี
                บท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ จบแล้วพัก
            พอใกล้เวลาภัตตกิจพึงสวดถวายพรพระตามบท ตั้งแต่ นโม ฯลฯ อิติปิโส ฯลฯ เป็นต้นไปจนจบอีกวาระหนึ่ง แต่ถ้าเวลาฤกษ์อยู่หลังภัตตกิจ ก็ถวายศีล และถวายพรพระอย่างในกรณีสามัญที่กล่าวแล้ว และทำภัตตกิจก่อน เสร็จแล้วได้เวลาพระฤกษ์จึงสวดบท ชยนฺโต ฯลฯ และบท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ ในการประกอบพิธีตามพระฤกษ์นั้น แต่การสวดประกอบพระฤกษ์เฉพาะพระฤกษ์หล่อพระ พระฤกษ์ยกยอดพระปราสาท และพระราชมณเฑียร  และพระฤกษ์ยกช่อฟ้าโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เป็นต้น นอกจากสวดบท ชยนฺโต ฯลฯ และ ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ แล้วจะนิยมใช้วิธีสวดอีกแบบหนึ่ง คือ พอเริ่มต้นฤกษ์ก็สวด
                บท ทิวา ตปฺปติ อาทิจฺโจ ฯลฯ
                บท ชยนฺโต ตัดเฉพาะขึ้น สุนกฺขตฺตํ ฯลฯ
                บท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
            นอกนั้นสวดถวายพรพระก่อนภัตตกิจ อย่างเดียวกับที่กล่าวแล้ว
            สำหรับงานประกอบฤกษ์ของสามัญชนทั่วไป เช่นงานมงคลโกนผมไฟ มงคลตัดจุก โดยประเพณีนิยม ถือฤกษ์พระเวลาเช้าเป็นสำคัญ การสวดถวายพรพระของฝ่ายสงฆ์ จึงเท่ากับเป็นการเริ่มต้นฤกษ์ พระสงฆ์พึงดำเนินพิธีไปแทรกโดยลำดับได้จนถึงสวดบท มหาการุณิโก ฯลฯ ให้สวดบทนี้ไปยุติตรงคำว่า  โหตุ เต ชยมงฺคลํ เท่านี้ก่อน ถ้ามีฤกษ์โหรประกอบด้วยต้องรออยู่จนได้ฤกษ์ พอพร้อมหรือได้ฤกษ์แล้วพระสงฆ์ก็เริ่มสวดบท ชยนฺโต ฯลฯ ต่อ และสวดบทนี้ไม่น้อยกว่าสามจบ หรือซ้ำอยู่จนพิธีของฝ่ายเจ้าภาพเสร็จ แล้วสวดบท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ เป็นอันเสร็จพิธี
พิธีอนุโมทนากรณีต่าง ๆ
            ธรรมเนียมของพระภิกษุสามเณร เมื่อได้รับปัจจัยลาภจะเป็นภัตตาหารหรือทานวัตถุใด ๆ ก็ตามจากทายกทายิกาแล้ว ต้องทำพิธีอนุโมทนาทานนั้นทุกคราว จะเว้นเสียมิได้ ถือว่าผิดพุทธานุญาต ต่างแต่ว่าอนุโมทนาต่อหน้าหรือลับหลัง ทายกทายิกานั้นเท่านั้น ธรรมเนียมนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล การอนุโมทนาลับหลังทายกทายิกามีกรณีเดียวคือ การบิณฑบาต แต่กลับมาวัดฉันอาหารบิณฑบาตนั้นแล้ว พึงอนุโมทนา หรือยกไปรวมอนุโมทนาในพิธีทำวัตรสวดมนต์ทุกตอนเช้าและตอนเย็นก็ได้
            วิธีอนุโมทนา มีนิยมเป็นสองอย่างเรียกว่า สามัญอนุโมทนา และวิเสสอนุโมทนา
            สามัญอนุโมทนา  คือการอนุโมทนาที่นิยมใช้กันทั่วไปปกติ มีระเบียบพิธี ดังนี้
            ๑)  อนุโมทนาในงานต่าง ๆ ร่วมกันหลายรูป ผู้เป็นหัวหน้าตั้งพัดว่าบท ยถา ฯลฯ ถ้าไม่มีพัดพึงประนมมือว่า
            ๒)  เมื่อจบบท ยถา ฯลฯ แล้วรูปที่สองนำรับ สพฺพีติโย ฯลฯ
            ๓)  จบบท สพฺพีติโย ฯลฯ แล้ว หัวหน้านำว่า ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
            ถ้าอนุโมทนารูปเดียว มีพัดก็ตั้งพัด ว่าตั้งแต่บท ยถา ฯลฯ ติดต่อกันไปเป็นจังหวะ ๆ จนจบบท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ถ้าไม่มีพัดก็ประนมมือว่า
            วิเสสอนุโมทนา  คือการอนุโมทนาด้วยบทสวดสำหรับอนุโมทนาเป็นพิเศษเฉพาะทาน เฉพาะกาล และเฉพาะเรื่อง ซึ่งบทสวดพิเศษเฉพาะนี้ แทรกสวดระหว่างดำเนินพิธีสามัญอนุโมทนาดังกล่าวแล้ว พอว่าบท สพฺพีติโย ฯลฯ จบก็ว่าบทอนุโมทนาพิเศษขึ้นแทรกต่อ จบแล้วจึงว่าบท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ เป็นบทสุดท้าย
            บทอนุโมทนาพิเศษ ที่เป็นบทนิยมเฉพาะทาน มีดังนี้
            ๑)  อนุโมทนาอาหารบิณฑบาตทั่วไป นิยมใช้บท โภชนทานานุโมทนาคาถา   อายุโท พลโธธีโร ฯลฯ บางทีใช้บทมงคลจักรวาฬน้อยทั้งบทขึ้น สพฺพพุทธานุภาเวน ฯลฯ หรือตัดขึ้นตั้งแต่ รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ทุกขโรคภายา เวรา ฯลฯ
            ๒)  อนุโมทนาวิหารแทน คือ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ โรงเรียน กุฎี เสนาสนะที่อยู่อาศัยของสงฆ์ รวมทั้งเครื่องเสนาสนะ จะอนุโมทนาในคราวถวาย หรือในคราวฉลองก็ตาม นิยมใช้วิหารทานคาถา   สีตํ อุณฺหํ ปฏิหนฺติ ฯลฯ
            ๓)  อนุโมทนาการสร้างปูชนียวัตถุ หรือถาวรวัตถุ ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น พระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ และหนังสือธรรมวินัยถวายวัด ตลอดถึงที่บรรจุอัฐิ และฌาปนสถาน เป็นต้น จะอนุโมทนาในกาลถวายหรือในการฉลองวัตถุดังกล่าวนั้นก็ตาม นิยมใช้บท อัคคัปปสาทสูตร   อคฺคโต เว ปสนฺนานํ ฯลฯ หรือ บท นิธิกัณฑสูตร ทั้งสูตรขึ้น   นิธิ นิธิเต ปุริโส ฯลฯ หรืออย่างย่อตัดขึ้นตั้งแต่ ยสฺส ทาเนน สีเลน ฯลฯ เป็นต้นไปก็ได้
            บทวิเสสอนุโมทนาที่นิยมเฉพาะกาล ส่วนมากเกี่ยวด้วยกาลทานโดยเฉพาะ คือในกาลที่ทายกทายิกาถวายผ้าอาบน้ำฝน ผ้าวัสสาวาสิก ตักบาตรน้ำผึ้ง ถวายผ้าอัจเจกจีวร และผ้ากฐิน เหล่านี้นิยมใช้กาลทานสุตตคาถา   กาเล ททนฺติ สปญฺญา ฯลฯ ถ้ากาลทานดังกล่าวเป็นของหลวง เช่นในการพระราชทานผ้ากฐิน เป็นต้น ระเบียบการถวายอนุโมทนาทั้งบทสามัญและบทพิเศษ มีดังนี้
            ๑)  ตั้งพัดพร้อม หัวหน้าว่าบท   ยถา ฯลฯ
            ๒)  รูปที่สองนำว่า บท   สพฺพีติโย ฯลฯ พร้อมกัน
            ๓)  หัวหน้าสงฆ์ว่านำเฉพาะรูปเดียวด้วยบท   เกณิยานุโมทนาคาถา อคฺคิหุตฺตํ มุขา ยญฺญา ฯลฯ
            ๔)  รูปที่สองนำรับ กาลทานสุตตคาถา   กาเล ททนฺติ สปญฺญา ฯลฯ พร้อมกัน
            ๕)  หัวหน้าสงฆ์ถวายอดิเรก
            ๖)  รูปที่สองนำรับ   ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ พร้อมกัน
            สำหรับบทวิเสสอนุโมทนาที่นิยม เฉพาะเรื่อง มีอยู่หลายเรื่องด้วยกันดังนี้
            ๑)  อนุโมทนาในงานทำบุญปี ตามที่เคยทำทุกปี นิยมใช้บท อาทิยสุตตคาถา   ภุตฺตา โภคา ภตา ภจฺจา ฯลฯ
            ๒)  อนุโมทนาในงานบุญอายุใหญ่ สวดนพเคราะห์ มีพิธีโหรบูชาเทวดา และในพระราชพิธีสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล และในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษานิยมใช้บท เทวตาทิสสทักขิณานุโมทนาคาถา   ยสฺมึ ปเทเส กปฺเปติ ฯลฯ และบท เทวตาภิสัมมันตนคาถา   ยานิธ ภูตานิ สมาคตานิ ฯลฯ ต่อกัน ถ้าในงานหรือในพระราชพิธีนั้นมีน้ำมนต์ตั้งเทียนไว้เพื่อให้ทำน้ำพระพุทธมนต์ นิยมสวดบท ปริตตกรณปาฐะ   ยาวตา สตฺตา ฯลฯ สำหรับทำน้ำมนต์ ต่อจากบท เทวตาภิสัมมันตนคาถา
            ๓)  อนุโมทนาในงานทำบุญอายุครบรอบปีธรรมดา นิยมใช้บท โส อตฺถลทฺโธ ฯลฯ สำหรับชาย หรือ สาอตฺถลทฺธา ฯลฯ สำหรับหญิง แล้วต่อด้วยมงคลจักรวาฬน้อย
            ๔)  อนุโมทนาในงานบรรพชาอุปสมบท หรืองานฉลองพระบวชใหม่รูปเดียวใช้ โส อตฺถลทฺโธ ฯลฯ หลายรูปใช้ เต อตฺถลทฺธา ฯลฯ บทเดียว
            ๕)  อนุโมทนาในงานมงคลสมรส ใช้บท โส อตฺถลทฺโธ ฯลฯ บทโส อตฺถลทฺธา ฯลฯ และบท เต อตฺถลทฺธา ฯลฯ ควบกันทั้งสามบท ต่อท้ายด้วยมงคลจักรวาฬน้อย
            ๖)  อนุโมทนาในงานแจกประกาศนียบัตร เป็นต้น ซึ่งร่วมกันหลายคน นิยมใช้บท เต อตฺถลทฺธา ฯลฯ ต่อท้ายด้วยมงคลจักรวาฬน้อย
            ๗)  อนุโมทนาในงานอวมงคลเกี่ยวด้วยศพ นิยมใช้บท ติโรกุฑฑกัณฑ์ มีแตกต่างกันคือ
                     -  ถ้าในงานทำบุญหน้าศพ ขึ้น   อทาสิ เม อกาสิ เม ฯลฯ
                     -  ถ้าในงานทำบุญอัฐิ ขึ้น   อยญฺ จ โข  ทุกฺขิณา ทินนา ฯลฯ
                     -  ถ้าในงานทำบุญ บุพพเปตพลีทาน เช่นในวันสารท มักใช้สวดเต็ม ขึ้น   ติโรกุทฺเทสุ ติฏธนฺติ ฯลฯ หรือจะย่อ ขึ้น อยญฺ จ โข ทกฺขิณา ทินฺนา ฯลฯ ก็ได้
พิธีมีพระธรรมเทศนา
            การจัดให้มีพระธรรมเทศนา หรือที่เรียกกันว่า มีเทศน์ คือการแสดงธรรมฟังกันในที่ประชุมตามโอกาสอันควร นับเป็นบุญพิธีที่นิยมสำคัญประการหนึ่ง ส่วนมากนิยมผนวกเข้าในการทำบุญต่าง ๆ ทั้งงานมงคล และงานอวมงคล แม้ไม่ต้องมีงานบุญอะไรก็นิยมจัดให้มีขึ้นตามโอกาสอันควร เช่นจัดให้มีในวัดหรือตามศาลาโรงธรรมประจำในวันธรรมสวนะ และวันอุโบสถ เป็นต้น การมีพระธรรมเทศนาเป็นประเพณีนิยมของพระพุทธศาสนามาแต่ครั้งพุทธกาลถือกันว่า พระพุทธศาสนาจะตั้งอยู่ได้ยั่งยืนก็ด้วยมีการประกาศเผยแผ่พระพุทธธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ปัจจุบันมีพระธรรมเทศนาสองอย่างคือ เทศน์ธรรมดาโดยผู้เทศน์แสดงรูปเดียวอย่างหนึ่ง เทศน์ปุจฉา วิสัชนา โดยมีผู้เทศน์ตั้งแต่สองรูปขึ้นไปแสดงร่วมกันเป็นธรรมสากัจฉาอีกอย่างหนึ่ง การมีเทศน์นิยมทำกันสี่ลักษณะ คือ
            การมีเทศน์ในงานบุญ  สำหรับงานมงคลส่วนใหญ่นิยมจัดให้มีกันเฉพาะงานเกี่ยวด้วยการฉลองเป็นพื้น นิยมทำเป็นรายการสุดท้ายของงานทำบุญ ถ้าเป็นเทศน์ธรรมดามีได้ท้ายรายการ ทั้งก่อนเพล และหลังเพล เพราะเทศน์ธรรมดาใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเทศน์ปุจฉา วิสัชนา นิยมมีตอนหลังเพล เพราะเทศน์หลายธรรมาสน์ ใช้เวลาตั้งแต่สองชั่วโมงขึ้นไป ส่วนงานอวมงคล นิยมมีเทศน์ผนวกงานได้ทุกกรณี ทั้งชนิดเทศน์ธรรมดา และเทศน์ปุจฉา วิสัชนา มีระเบียบพิธีดังนี้
            ๑)  ฝ่ายเจ้าภาพ  อาราธนาพระผู้แสดง แจ้งความประสงค์ว่า จะให้แสดงเรื่องอะไร นิยมทำเป็นหนังสืออาราธนาแบบเดียวกับอาราธนาพระเจริญพระพุทธมนต์ ในวันงานเมื่อการตั้งธรรมาสน์และการอื่น ๆ พร้อมแล้ว เจ้าภาพจุดเทียนใหญ่แล้วนำไปตั้งบนธรรมาสน์ หรือจุดเทียนประจำธรรมาสน์ เป็นสัญญาณเริ่มมีเทศน์ เมื่อพระขึ้นธรรมาสน์เรียบร้อยแล้ว ถ้าเทศน์มีต่อจากพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดมนต์เย็น ต่อเนื่องกัน และการอาราธนาศีลก่อนเริ่มบุญพิธี ได้มีมาแล้วก็ไม่ต้องอาราธนาศีลก่อนเทศน์ เริ่มต้นด้วยอุบาสกอาราธนาธรรม และเริ่มแสดงธรรมเลย แต่ถ้ามีเทศน์ต่อเลี้ยงพระ การมีเทศน์ต่อถือว่าเป็นบุญพิธีตอนใหม่ ให้เริ่มต้นด้วยอุบาสกอาราธนาศีล พระให้ศีลและรับศีล จบแล้วอาราธนาธรรมแล้วจึงเริ่มแสดงธรรม เมื่อจบการแสดงธรรม ถ้ามีสวดธรรมคาถาต่อท้ายในงานศพ เจ้าภาพต้องจุดธูปเทียนบูชาหน้าพระสวดด้วย สวดจบแล้วถวายไทยธรรม พระอนุโมทนาและกรวดน้ำเป็นอันเสร็จพิธีฝ่ายเจ้าภาพ
            ๒)  ฝ่ายพระผู้เทศน์  เมื่อรับอาราธนาแล้ว พึงเตรียมและจัดการตามสมควร เมื่อถึงวันแสดง จะต้องเตรียมคัมภีร์ใบลาน ห่อผ้าสำหรับห่อ หรือใส่ตู้คัมภีร์กับพัดสำหรับให้ศีลและอนุโมทนาไว้ให้พร้อม เมื่อไปถึงบริเวณงาน มีธรรมเนียมพิธีโบราณอย่างหนึ่งว่า ศิษย์ผู้ติดตามจะต้องแบกคัมภีร์พาดบ่าซ้าย ประคองคัมภีร์ด้านล่างด้วยมือซ้ายอย่างท่าแบกอาวุธของทหาร มือขวาถือพัดตั้งทาบกับตัว ห้อยมือลง เดินนำหน้าพระเข้าสู่บริเวณพิธี ธรรมเนียมนี้ถือกันว่าเป็นการยกย่องพระธรรมให้อยู่หน้าพระสงฆ์ ฝ่ายเจ้าภาพต้องคอยต้อนรับ ถ้ายังไม่ถึงเวลาเทศน์ ให้วางคัมภีร์ไว้ในที่ที่สมควรก่อน หรือจะวางบนธรรมาสน์เลยก็ได้วางไว้ข้างขวาของพระผู้เทศน์ เมื่อได้เวลาเจ้าภาพจุดเทียนประจำธรรมาสน์ พระผู้เทศน์ก็ถือพัดขึ้นธรรมาสน์ วางพัดไว้ข้างซ้าย ปกตินิยมนั่งพับเพียบ แต่จะนั่งขัดสมาธิก็ได้ เมื่อเจ้าภาพกล่าวคำอาราธนาธรรมก็คลี่คัมภีร์แสดงธรรมต่อไป มีระเบียบการแสดงธรรมดังนี้
                -    จับคัมภีร์ใบลานขึ้นประคองระหว่างมือทั้งสองที่ประนมแค่อก แล้วบอกศักราชตามธรรมเนียม ทั้งคำบาลี และคำแปล
                -    พอจบคำบอกศักราช ก็ตั้ง นโม เทศน์ คงประนมมืออยู่อย่างเดิม ถ้าเทศน์อ่านคัมภีร์ให้คลี่มือแยกห่างจากกันในขณะ จะตั้ง นโม ครั้งที่สาม แล้วใช้นิ้วแม่มือทั้งสองพลิกใบลานเริ่มอ่าน นิเขปบท ให้ติดต่อกับ นโม ต่อจากนั้นก็อ่านแสดงไปจนจบ
                -    เทศน์จบแล้วเก็บใบลานเข้าที่เดิม แล้วตั้งพัดอนุโมทนาด้วยบท ยถา ฯลฯ บนธรรมาสน์ แต่ถ้าเป็นเทศน์งานอวมงคล มีพระสวดรับเทศน์ต่อท้ายไม่ต้องยถา บนธรรมาสน์ถือพัดลงมานั่งอาสนะข้างล่าง รออนุโมทนาเมื่อเจ้าภาพถวายไทยธรรมแล้ว พร้อมกับพระสงฆ์ที่สวดรับเทศน์ เป็นอันเสร็จพิธี
            การเทศน์ปุจฉาวิสัชนา คือ เทศน์สองรูป ผู้อาวุโสให้ศีลและบอกศักราช อีกรูปหนึ่งแสดงอานิสงส์หน้าธรรมาสน์ตามธรรมเนียมแล้วสมมติหน้าที่ ต่อจากนั้นจึงเริ่มเรื่อง ปุจฉาวิสัชนากันจนจบ แล้วรูปปุจฉา หรือรูปอาวุโสสรุปท้ายเทศน์ จบแล้วอีกรูปหนึ่ง ยถา ฯลฯ สพฺพีติโย ฯลฯ เป็นอันเสร็จพิธี
            ถ้าเทศน์มากกว่าสองรูป ให้ผู้เทศน์ตกลงแบ่งหน้าที่ดำเนินพิธีกันก่อนขึ้นธรรมาสน์
            การมีเทศน์ตามกาลนิยม  การมีเทศน์ตามกาลนิยมคือ การเทศน์ในวันธรรมสวนะ และวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเป็นพิเศษ เช่น วันวิสาขบูชา วันอัฏฐมีบูชา วันมาฆบูชา และวันอาสาฬหบูชา เป็นต้น การเทศน์ตามกาลนิยมปรกติมีในวัด มีระเบียบพิธีดังนี้
            ๑)  เมื่อถึงกำหนดเทศน์ อุบาสกจุดธูปเทียนประจำธรรมาสน์ แล้วพระผู้เทศน์ขึ้นธรรมาสน์
            ๒)  ถ้าเป็นการเทศน์กัณฑ์เช้าที่นิยมเรียกกันว่า กัณฑ์อุโบสถ ต้องให้ศีลตามอาราธนา บอกศักราช แต่ถ้าเป็นกัณฑ์บ่าย หรือกัณฑ์ในเวลาอื่น ไม่มีรับศีล และไม่ต้องให้ศีล ไม่ต้องบอกศักราช เพราะถือว่าได้ทำในตอนเช้าแล้ว
            ๓)  เมื่ออุบาสกอาราธนาธรรมเสร็จ ก็เริ่มพิธีแสดงธรรมต่อไป
            ๔)  เมื่อเทศน์จบ ถ้าเป็นกัณฑ์อุโบสถ ไม่ต้องอนุโมทนา ถ้าเป็นกัณฑ์อื่นพึงพิจารณาดูตามควร ถ้ามีถวายไทยธรรม พึงอนุโมทนาให้เสร็จบนธรรมาสน์แล้วลง ถ้าไม่มีถวายไทยธรรมจะไม่อนุโมทนาก็ได้
            การมีเทศน์พิเศษ  หมายถึงเทศน์ที่จัดให้มีเป็นพิเศษนอกจากงานบุญ หรือนอกจากที่มีตามกาลนิยม เช่นเทศน์สั่งสอนประชาชน เทศน์อบรมคนเป็นหมู่คณะโดยเฉพาะ และเทศน์ไตรมาสที่มีผู้นิยมจัดตามวัด ตามบ้านหรือตามชุมชนใหญ่ เพื่อฟังกันทุกวันในระหว่างพรรษา เป็นต้น
            การเทศน์มหาชาติ  เทศน์มหาชาติ คือ เทศนาเวสสันดรชาดก เป็นบุญพิธีที่นิยมจัดให้มีกันมาแต่โบราณ ส่วนมากจัดให้มีในวัดเป็นหน้าที่ของชาวบ้านและวัดนั้น ๆ จะตกลงร่วมกันจัด ปกตินิยมให้มีหลังฤดูทอดกฐิน ผ่านไปแล้วจนตลอดฤดูเหมันต์ นิยมจัดเป็นงานสองวัน คือ วันเทศน์เวสสันดรชาดกทั้ง ๑๓ กัณฑ์วันหนึ่ง และวันเทศน์จตุราริยสัจจกถา ท้ายเวสสันดรชาดกอีกวันหนึ่ง
            วันแรกเริ่มงานด้วยพิธีทำบุญตักบาตรพระทั้งวัด หรือเลี้ยงพระตามจำนวนที่เห็นสมควร แล้วเริ่มเทศน์เวสสันดรชาดก ตามแบบเทศน์ต่อกันไปจนสุด ๑๓ กัณฑ์ ถึงเวลากลางคืนบางแห่งจัดปีพาทย์ประโคมระหว่างกัณฑ์หนึ่ง ๆ ตลอดทั้ง ๑๓ กัณฑ์ด้วย
            วันรุ่งขึ้น ทำบุญเลี้ยงพระอีกแล้วมีเทศน์ จตุราริยสัจจกถาในระหว่างเพลจบแล้วเลี้ยงพระเพลเป็นอันเสร็จพิธี
            ระเบียบพิธีในการเทศน์มหาชาติ ที่นิยมกันเป็นหลักใหญ่ ๆ ดังนี้
            ๑)  ตกแต่งบริเวณพิธีให้มีบรรยากาศคล้ายอยู่ในบริเวณป่า ตามท้องเรื่องเวสสันดรชาดก โดยนำเอา ต้นกล้วย ต้นอ้อย และกิ่งไม้มาผูกตามเสา และบริเวณรอบ ๆ ธรรมาสน์ ประดับธงทิว และ ราวัติ ฉัตร ตามสมควร
            ๒)  ตั้งขันสาครใหญ่ หรือจะใช้อ่างใหญ่ที่สมควรก็ได้ใส่น้ำสะอาดเต็ม สำหรับปักเทียนบูชาประจำกัณฑ์ ในระหว่างที่พระเทศน์ น้ำในภาชนะที่ตั้งนี้เสร็จพิธีแล้ว ถือว่าเป็นน้ำพระพุทธมนต์ที่สำคัญ ภาชนะใส่น้ำนี้ตั้งหน้าธรรมาสน์ กลางบริเวณพิธี
            ๓)  เตรียมเทียนเล็ก ๆ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม แล้วนับแยกจำนวนเป็นมัด มัดหนึ่งมีจำนวนเท่าคาถาของกัณฑ์หนึ่ง แล้วทำเครื่องหมายไว้ให้ทราบ ว่ามัดไหนสำหรับบูชาคาถากัณฑ์ใด เมื่อถึงคราวเทศน์กัณฑ์นั้นก็จะเอาเทียนมัดนั้นออกจุดบูชาติดรอบ ๆ ภาชนะน้ำ ต่อกันไปจนจบกัณฑ์ให้หมดมัดพอดี ครบ ๑๓ กัณฑ์ถ้วน จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม เท่าจำนวนคาถา บางแห่งนิยมทำธงเล็ก ๆ ๑,๐๐๐ คัน แบ่งจำนวนเท่าคาถาประจำกัณฑ์เช่นอย่างเทียน แล้วปักธงบูชาระหว่างกัณฑ์บนหยวกกล้วย แต่การใช้ธงไม่เป็นที่นิยม เช่น เทียน การจุดเทียนหรือปักธงบูชากัณฑ์ดังกล่าวเป็นหน้าที่ของเจ้าภาพผู้รับกัณฑ์นั้น ๆ
            การเทศน์เวสสันดร มีวิธีเทศน์เป็นทำนองโดยเฉพาะ จะต้องได้รับการฝึกอบรมศึกษาต่อท่านผู้ทรงคุณวุฒิทางนี้เป็นพิเศษ ส่วนการเทศน์จตุราริยสัจจกถา มีระเบียบพิธีอย่างเทศน์ในงานดังกล่าวแล้วข้างต้น
|หน้าแรก|ย้อนกลับ|หน้าต่อไป|ชาติไทย|ศาสนา|พระมหากษัตริย์|บน |