| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ |

พิธีกรรมที่สงฆ์พึงปฏิบัติ
พิธีเข้าพรรษา

            การเข้าพรรษา คือการที่พระภิกษุผูกใจว่าจะอยู่ประจำเสนาสนะวัดใดวัดหนึ่งตลอดเวลาสามเดือนในฤดูฝน ไม่ไปค้างแรมให้ล่วงราตรีในที่แห่งอื่นระหว่างที่ผูกใจนั้น
            ฤดูฝนสามเดือนนับแต่วันแรมหนึ่งค่ำเดือนแปด ถึงวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด
การเข้าพรรษามีระเบียบพิธีดังนี้
            เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พระภิกษุ สามเณรทั้งหมดในวัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียน หรือภาชนะที่สมควรเพื่อใช้สักการะปูชนียวัตถุต่าง ๆ ในวัด และใช้สามีจิกรรมกันตามธรรมเนียม การประกอบพิธีต้องประชุมพร้อมกันในพระอุโบสถในตอนเย็นก่อนค่ำ
            ก่อนหน้าวันนี้หนึ่งหรือสองวัน มักมีธรรมเนียมสำหรับทายกทายิกา นำเครื่องสักการะมาถวายภิกษุสามเณรที่ตนเคารพนับถือ มีดอกไม้ ธูปเทียน ผ้าอาบน้ำฝน เป็นต้น นอกจากนี้ยังนิยมหล่อเทียนขนาดใหญ่ กะให้จุดตลอดสามเดือนถวายสงฆ์ เพื่อจุดเป็นพุทธบูชา ในพระอุโบสถ เริ่มแต่วันเข้าพรรษา บางแห่งร่วมกันหล่อเทียนเป็นงานใหญ่ก่อนวันเข้าพรรษาเจ็ดวันก็มี
            เมื่อถึงกำหนดเวลาตีระฆังสัญญาณ ให้ภิกษุสามเณรลงพร้อมกันในพระอุโบสถ จัดให้นั่งตามลำดับอาวุโส ไม่ใช่นั่งตามศักดิ์ เรียงแถวจากขวามือไปซ้ายมือ หันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปประธาน เป็นแถว ๆ ไป สามเณรแยกกลุ่มออกไปให้พ้นหัตถบาสของกลุ่มภิกษุ
            กรณียที่พึงปฏิบัติต่อไปคือ ทำวัตรเย็น แสดงพระธรรมเทศนา หรืออ่านประกาศ วัสสูปนายิกากถา ทำสามิจิกรรมคือขอขมาโทษต่อกัน อธิษฐานพรรษา เจริญพระพุทธมนต์ และสักการะบูชาปูชนียวัตถุภายในวัด
            คำประกาศเรื่องวัสสูปนายิกา ควรมีสาระสำคัญดังนี้
                ๑)  บอกให้รู้เรื่องเข้าพรรษา
                ๒)  แสดงที่มาในบาลีวัสสูปนายิกาขันธกะวินัย โดยใจความ
                ๓)  บอกเขตของวัดนั้น ๆ ที่จะต้องรักษาพรรษา หรือที่เรียกกันว่ารักษาอรุณ
                ๔)  บอกเรื่องการถือเสนาสนะ และประกาศให้รู้ว่า จะให้ถืออย่างไร และจะต้องปฏิบัติอย่างไร
            การทำสามีจิกรรม  ขอขมาโทษต่อกัน เป็นหน้าที่ของภิกษุสามเณรทุกรูปในวัดนั้น ๆ จะต้องทำตามวินัยนิยม ควรทำร่วมกันทั้งวัดให้เสร็จภายในพระอุโบสถในวันเข้าพรรษา ทำเรียงตามลำดับอาวุโส มีระเบียบพึงปฏิบัติดังนี้
                ๑)  ผู้รับขมาโทษ นั่งพับเพียบหันหน้ามาทางผู้ขอขมา เมื่อผู้ขอขมากราบเริ่มประนมมือรับ
                ๒)  ผู้ขอขมาโทษคุกเข่ากราบสามครั้ง เฉพาะรูปที่เป็นพระสังฆเถระและเจ้าอาวาส
                ๓)  กราบแล้วยกพานเครื่องสักการะขึ้นประคองแค่อกน้อมกายลงเล็กน้อย กล่าวคำขอขมา
                ๔)  เมื่อผู้รับขมากล่าวคำอภัยโทษตามแบบแล้ว ผู้ขอขมาทั้งหมดรับคำให้อภัยตามแบบพร้อมกัน ด้วยอาการยกพานเครื่องสักการะขึ้นในท่าจบเล็กน้อย
                ๕)  เสร็จจากรูปหนึ่งแล้วทำกับอีกรูปหนึ่ง ต่อเนื่องกันไปจนถึงสามเณรรูปสุดท้ายเป็นอันเสร็จพิธี
            การอธิษฐานพรรษา  เมื่อเสร็จพิธีเบื้องต้นแล้ว ให้ภิกษุสามเณรทั้งหมดคุกเข่าพร้อมกัน หันหน้าไปทางพระพุทธรูปประธาน กราบพระสามครั้ง แล้วพระเถระผู้เป็นประธานนำประนมมือว่า นโมพร้อมกันสามจบ จากนั้นเปล่งคำอธิษฐานพรรษาพร้อมกันสามจบว่า
            อิมสฺสึ อาวาเส เตมาสํ วสฺสํ อุเปมิ แล้วกราบพระอีกสามครั้ง จากนั้นนั่งพับเพียบราบ
            การเจริญพระพุทธมนต์ต่อท้ายอธิษฐานพรรษา จะสวดบทใดแล้วแต่จะเห็นสมควร
พิธีถือนิสัย
            การถือนิสัยเป็นธรรมเนียมในพระวินัย พระภิกษุผู้ยังอยู่ในเขตเป็นนวกะคือพรรษายังไม่พ้นห้า จะต้องถือนิสัยต่อพระภิกษุผู้ใหญ่ในสำนักที่ตนอาศัยอยู่ และสามเณรทุกรูป ถ้ามิได้อยู่ในสำนักพระอุปัชฌายะ สมควรถือนิสัยต่อพระภิกษุผู้ใหญ่ในสำนักที่ตนอาศัยอยู่ พระภิกษุนวกะหรือสามเณร ถ้าเป็นผู้ย้ายมาจากสำนักอื่น ที่เรียกว่าพระอาคันตุกะ หรือสามเณรอาคันตุกะ ทุกรูปต้องประกอบพิธีถือนิสัยต่อท่านเจ้าอาวาสที่ตนมาสำนักใหม่นั้น ตั้งแต่ในระยะแรกที่ย้ายเข้ามา แต่ถือเป็นธรรมเนียมว่า พิธีถือนิสัยนี้ควรทำในวันเข้าพรรษาพร้อมกับพิธีเข้าพรรษาต่อหน้าพระสงฆ์ สามเณรทั้งวัดที่ชุมนุมกันเพื่อประกอบพิธีพรรษาในวันนั้น
            การถือนิสัยมีระเบียบพิธีดังนี้
            ภิกษุสามเณรผู้จะประกอบพิธีถือนิสัย พึงเตรียมเครื่องสักการะ มีพาน หรือกระบะใส่ดอกไม้กระทงหรือดอกบัวหนึ่งดอก และวางธูปสามดอกเทียนหนึ่งเล่ม แล้วพึงปฏิบัติดังนี้
                ๑)  เข้าไปนั่งยังที่ที่จัดเตรียมไว้ พร้อมแล้วเจ้าอาวาสจะมานั่งรับอยู่ข้างหน้า
                ๒)  คุกเข่าขึ้นพร้อมกัน กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์ สามครั้ง
                ๓)  ใช้สองมือยกเครื่องสักการะถือประคองแค่อก น้อมตัวลงเล็กน้อย แล้วกล่าวคำขอนิสัยต่ออาจารย์ตามแบบในพระวินัย
                ๔)  กล่าวคำปฏิญาณท้ายคำขอนิสัยจบแล้ว พึงประเคนเครื่องสักการะต่ออาจารย์ แล้วถอยกลับมาคุกเข่าอยู่ที่เดิม แล้วกราบอาจารย์สามครั้ง แล้วนั่งพับเพียบประนมมือ ฟังโอวาทของอาจารย์ จบโอวาทแล้วเป็นอันเสร็จพิธี
พิธีทำสามีจิกรรม
            การทำสามีจิกรรม เป็นธรรมเนียมของสงฆ์อย่างหนึ่ง ที่ภิกษุสามเณรพึงทำความชอบต่อกันเพื่อความสามัคคี อยู่ร่วมกันด้วยความสงบนสุข หมายถึงการขอขมาโทษกัน ให้อภัยกัน โอกาสที่ควรทำสามีจิกรรมโดยนิยมมีดังนี้
                ๑)  ในวันเข้าพรรษา ทำกับภิกษุสามเณรในวัดเดียวกัน
                ๒)  ในระยะเข้าพรรษา หลังเข้าพรรษาระยะประมาณเจ็ดวัน ทำกับท่านที่เคารพนับถือ ซึ่งอยู่ต่างวัดกัน
                ๓)  ในโอกาสที่จะจากกันไปอยู่วัดอื่น หรือถิ่นอื่น นิยมทำต่อผู้มีอาวุโสกว่า เป็นการลาจากกัน
            สามีจิกรรมแบบขอขมาลาโทษ  ทำนอกพระอุโบสถ หรือนอกวัด
                ๑)  จัดเครื่องสักการะ คือ ดอกไม้ ธูปเทียน ครองผ้าให้เรียบร้อย ถ้าเป็นพระภิกษุให้พาดสังฆาฏิด้วย
                ๒)  ถือพานดอกไม้ ธูปเทียน ประคองสองมือเข้าไปหาท่านที่จะขอขมา คุกเข่าลงตรงหน้า ระยะห่างกันศอกเศษ วางพานทางซ้ายมือของตน กราบด้วยเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วยกพานขึ้นประคองสองมือแค่อก กล่าวคำขอขมา
                ๓)  เมื่อท่านที่ตนขอขมากล่าวคำให้อภัยโทษแล้ว พึงรับคำตามแบบนิยม ถ้าท่านที่ตนขอขมาให้พรต่อท้าย พึงรับคำว่า สาธุ ภนฺเต แล้วน้อมพานเข้าไปประเคน และกราบอีกสามครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี
            สามีจิกรรม แบบถวายสักการะ  เตรียมเครื่องสักการะอย่างเดียวแบบขอขมา ในการทำแบบนี้ผู้ที่ตนทำไม่จำเป็นต้องแก่อาวุโสกว่าตน ถ้าตนอาวุโสอ่อนกว่าพึงกราบสามครั้ง ถ้าอาวุโสแก่กว่าไม่ต้องกราบ เพียงแต่รับไหว้โดยนั่งพับเพียบประนมมือในเมื่อผู้อ่อนอาวุโสกว่ากราบ เป็นอันเสร็จพิธี
            คำขอขมาและคำอวยพร  (เว้น)
พิธีทำวัตรสวดมนต์
            การทำวัตร คือการทำกิจวัตรของพระภิกษุสามเณรและ อุบาสก อุบาสิกา เป็นการทำกิจที่ต้องกระทำเป็นประจำ จนเป็นวัตรปฏิบัติเรียกสั้น ๆ ว่า ทำวัตร ภิกษุสามเณร และอุบาสก อุบาสิกา ผู้เข้าวัดรักษาศีลอุโบสถเป็นประจำ มีหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติประจำอย่างหนึ่งคือ ทำวัตร และต้องทำประจำ วันละสองเวลา คือเช้ากับเย็น กิจที่ต้องทำในการทำวัตรคือ สวดบูชาพระรัตนตรัย สวดพิจารณาปัจจัยที่บริโภคทุกวันตามหน้าที่ สวดเจริญกัมมัฏฐานตามสมควร และสวดอนุโมทนาทานของทายก กับสวดแผ่ส่วนกุศล
            การสวดมนต์ คือการสวดบทพุทธมนต์ต่าง ๆ ที่เป็นส่วนของพระสูตรก็มี ที่เป็นส่วนของพระปริตรก็มี ที่เป็นส่วนเฉพาะคาถาอันนิยม กำหนดให้นำมาสวดประกอบในการสวดมนต์เป็นประจำก็มี นอกเหนือจากบทสวดทำวัตร เมื่อเรียกรวมการสวดทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน ก็เรียกว่า ทำวัตรสวดมนต์
            ความมุ่งหมายของการทำวัตรสวดมนต์ ถือว่าเป็นอุบายสงบจิต นอกจากนั้นยังมีผลทางพระวินัย ที่สามารถเปลื้องมลทิลบางอย่างในการบริโภคปัจจัย โดยไม่ทันพิจารณาได้ และมีผลในการอนุโมทนาทานของทายกที่ถวายมาเป็นประจำ กับเป็นโอกาสให้ได้แผ่ส่วนบุญของตนแก่ผู้อื่นด้วยจิตใจบริสุทธิ์อีกด้วย
            ได้มีการกำหนดระเบียบและแบบการทำวัตรสวดมนต์ แยกประเภทบุคคลได้เป็นสามแบบใหญ่ ๆ คือ ภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา และเด็กนักเรียน
แบบทำวัตรสวดมนต์ สำหรับภิกษุสามเณร
            ทำวัตรเช้า  ในวันปกติที่ไม่ใช่วันธรรมสวนะ เมื่อเสร็จภัตกิจตอนเช้าแล้ว เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ตีระฆัง ภิกษุสามเณรประชุมพร้อมกันที่หอสวดมนต์ หรือในพระอุโบสถ แล้วปฏิบัติกิจวัตรคือ
                ๑)  เมื่อหัวหน้าลุกขึ้นจุดธูปเทียนหน้าที่บูชา ทั้งหมดลุกขึ้นยืนประนมมือ หรือนั่งคุกเข่าประนมมือ แล้วกล่าวคำบูชาสักการะว่า
                      โย โส ภควตา อรหํ สมฺมา สมฺ พุทฺโธ
                ๒)  จบบูชาสักการะแล้ว กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัย อรหํ สมฺมา สมฺ พุทฺโธ ภควา ฯลฯ
                ๓)  นโมตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทฺธสฺส (ว่าสามจบ)
                ๔)  สวดบท พุทฺธาภิถุติ ธมฺมาภิถุติ สงฺฆาภิถุติ ต่อกัน
                ๕)  นั่งราบพับเพียบ แล้วสวดบท รตนตฺตยปฺปณาม คาถา และบท สํเวค ปริกิตฺตนปาฐ ต่อกัน
                ๖)  ถ้าจะสวดมนต์ประกอบด้วยก็สวดมนต์บทต่าง ๆ ที่กำหนดสวดในตอนเช้า
                ๗)  จบสวดมนต์แล้ว นำว่าบท ตงฺขณิกปจฺจเวกขณปาฐ แล้วสวดบท ปตฺติทาน คาถา
            ทำวัตรเย็น  ในวันปกติ เมื่อถึงเวลากำหนด ก็ตีระฆังสัญญาณเช่นกัน ภิกษุสามเณรลงประชุมในที่กำหนด พร้อมแล้วพึงปฏิบัติกิจวัตรดังนี้
                ๑)  ปฏิบัติเช่นเดียวกับ ทำวัตรเช้า
                ๒)  ว่านโม...แล้วต่อ บท พุทธานุสสติ ต่อด้วยบท พุทธาภิคีติ แล้วกราบขอขมาโทษพระพุทธ
                ๓)  สวดบท ธมฺมานุสฺสติ ต่อด้วย บท ธมฺมาภิคีติ แล้วกราบขอขมาโทษพระธรรม
                ๔)  สวดบท สงฺฆานุสฺสติ ต่อด้วยบท สงฺฆาภิคีติ แล้วกราบขอขมาพระสงฆ์
                ๕)  นั่งราบพับเพียบ แล้วสวดมนต์ที่กำหนดไว้สวดในตอนเย็น หรือจะสวดเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ตามที่เห็นควร
                ๖)  สวดมนต์จบแล้ว ว่าบท อดีตปจฺจเวกฺขณปาฐ แล้วตามด้วยบท อุทฺทิสนาธิฏฐานคาถา
พิธีกรรมวันธรรมสวนะ
            วันธรรมสวนะ คือวันกำหนดประชุมฟังธรรมที่เรียกเป็นคำสามัญทั่วไปว่า วันพระ เป็นประเพณีนิยมของพุทธบริษัท ที่ได้ปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่ครั้งพุทธกาล โดยถือว่าการฟังธรรมตามกาล ย่อมก่อให้เกิดศิริมงคลและสติปัญญาแก่ผู้ฟัง วันกำหนดฟังธรรมนี้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้สี่วันในเดือนหนึ่ง ๆ คือ วันแปดค่ำ วัน ๑๔ ค่ำ หรือ ๑๕ ค่ำ ของปักษ์ทั้งข้างขึ้นและข้างแรมทางจันทรคติ ทั้งสี่วันนี้ถือเป็นวันกำหนดประชุมฟังธรรมโดยปกติ และนิยมรักษาปกติอุโบสถ
            การประชุมฟังธรรมในวันธรรมสวนะ มีพิธีกรรมที่ปฏิบัติโดยนิยม ดังนี้
                ๑)  ตอนเช้า เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกันในสถานที่กำหนดแสดงธรรม จะเป็นอุโบสถ วิหาร ศาการเปรียญภายในวัด มีพระพุทธรูปและที่บูชา ประดิษฐานอยู่ในที่เหมาะสม
                ๒)  ภิกษุสามเณรทำวัตรเช้า ด้วยการบูชาพระรัตนตรัย (อรหํ สมฺมา สมฺ พุทฺโธ ภควา ฯลฯ)
                ๓)  สวด ปุพฺพภาคนมการ นโม...
                ๔)  สวดพุทฺธาภิถุติ (โยโส ตถาคโต) ธมฺมาภิตุติ (โยโส สฺวากฺขาโต...) สงฺฆาภตุติ(โยโส สุปฏิปนฺโน...)
                ๕)  สวด รตนตฺตยปฺปณามคาถา และ สงฺเวคปริกิตฺคนปาฐ ต่อ (พุทฺโธ สุสุทฺโธ...)
            เมื่อภิกษุสามเณรทำวัตรจบเพียงนี้ อุบาสกอุบาสิกาเริ่มทำวัตรตามบทที่กล่าวแล้วในเรื่องพิธีรักษาอุโบสถ
            เสร็จพิธีทำวัตร ประกาศอุโบสถ พระธรรมกถึกขึ้นธรรมาสน์ อุบาสกอุบาสิกาทั้งหมดคุกเข่าพนมมือกล่าวคำ อาราธนาอุโบสถศีลพร้อมกัน พระธรรมกถึกให้ศีลแปด เป็นอุโบสถศีล รับศีลแล้วพระธรรมกถึกแสดงธรรม พึงประนมมือฟังด้วยความตั้งใจจนจบ
            เมื่อเทศน์จบแล้วกล่าวคำสาธุการตามแบบที่กล่าวในเรื่องการรักษาอุโบสถ
พิธีทำสังฆอุโบสถ
            สังฆอุโบสถ เป็นธรรมเนียมของพระภิกษุตามพุทธบัญญัติ พระภิกษุทุกรูปต้องทำอุโบสถกรรมทุกกึ่งเดือน ถ้าไม่มีเหตุจำเป็นที่มีพุทธานุญาตไว้ จะเว้นหรือขาดการกระทำเสียมิได้ อุโบสถกรรมนี้ ต้องทำในสีมาชนิดใดชนิดหนึ่งตามพระวินัย วัดส่วนมากมีพัทธสีมาประจำวัด พระภิกษุทั้งวัดต่างร่วมกันทำภายในเขตพัทธสีมา คือโรงอุโบสถทุกวันอุโบสถ ถ้าวัดไหนยังไม่มีพัทธสีมา และจะกำหนดสีมาชนิดอื่นตามพระวินัย ใช้เป็นเขตสังฆกรรมไม่เหมาะ ก็ให้ไปรวมทำกับสงฆ์วัดใกล้ที่สุด อุโบสถกรรมที่พระภิกษุร่วมกันทำตั้งแต่สี่รูปขึ้นไปเรียกว่า สังฆอุโบสถ ทำเป็นการสงฆ์ ต้องสวดพระปาฏิโมกข์ ในท่ามกลางสงฆ์เป็นหลักของการกระทำ ถ้าพระภิกษุต่ำกว่าสี่รูป ร่วมกันทำเรียกว่า ปาริสุทธิอุโบสถ ทำเป็นการคณะห้ามสวดพระปาติโมกข์ ให้พระภิกษุแต่ละรูปบอกความบริสุทธิ์ของตน ๆ เป็นการปฏิญาณตนต่อกันว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ปราศจากอาบัติโทษ เป็นหลักของการทำ ถ้ามีรูปเดียวเท่านั้นเรียกว่า อธิษฐานอุโบสถ ทำเป็นการบุคคล ทำด้วยอธิษฐานใจตนเอง เป็นหลักของการทำ สำหรับอุโบสถกรรมทั้งสามอย่างดังกล่าว สังฆอุโบสถเป็นสำคัญยิ่ง และทำกันเป็นหลักสืบต่อกันมา มีระเบียบแบบแผนที่ถือปฏิบัติเป็นหลัก
            หลักการทำสังฆอุโบสถ  มีอยู่เจ็ดประกอบด้วยกัน ดังนี้
                ๑)  สังฆอุโบสถต้องทำภายในสีมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ถูกต้องตามพระวินัย
                ๒)  วันที่ทำนั้นเป็นวันดิถีที่ ๑๔ หรือ ๑๕ ทางจันทรคติ หรือเป็นวันสามัคคีตามพระวินัยกำหนด คือต้องเป็นวันกึ่งเดือน วันสิ้นเดือน หรือวันที่สงฆ์ตกลงปรองดองกันวันใดวันหนึ่งจึงทำได้
                ๓)  ในการทำนั้นมีภิกษุประชุมร่วมกันเป็นสงฆ์ตั้งแต่สี่รูปขึ้นไป
                ๔)  ภิกษุที่ประชุมทำร่วมกันนั้นไม่เป็นผู้ต้องสภาคาบัติ หรือเป็นผู้ต้องสภาคาบัติ แต่ได้สวดประกาศก่อนทำแล้วโดยชอบด้วยพระวินัย
                ๕)  ในที่ประชุมสงฆ์นั้นไม่มีบุคคลที่ว่างเว้นอยู่ภายในหัตถบาส
                ๖)  พระสงฆ์ทั้งนั้นได้ทำบุพกรณ์ และบุพกิจของอุโบสถกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว
                ๗)  มีการสวดพระปาฏิโมกข์ให้ได้ฟังทั่วกันในท่ามกลางสงฆ์เป็นกรณียะสุดท้าย
            ระเบียบพิธี  เพราะหลักการทำอุโบสถตามพระวินัยมีดังกล่าว การทำสังฆอุโบสถจึงเกิดมีระเบียบพิธีนิยมกันเป็นหลักทั่ว ๆ ไป ดังนี้
                ๑)  กำหนดเวลาทำแล้วแต่วันนั้น ๆ จะกำหนดให้ตายตัว ตามความเหมาะสมแก่ท้องถิ่นว่าจะทำในเวลาใด เมื่อกำหนดเวลาทำอุโบสถกรรมในวันอุโบสถไว้ตายตัวแล้ว พระภิกษุสงฆ์ทุกรูปจะได้มาประชุมทำอุโบสถกรรมร่วมกันได้ตามเวลา
                ๒)  ในวันอุโบสถก่อนถึงเวลากำหนดทำอุโบสถกรรม เจ้าอาวาสจะต้องจัดการให้ปัดกวาดโรงอุโบสถให้สะอาดเรียบร้อย ตั้งหรือปูลาดอาสนะหรือตั้งเตียงสวดพระปาฏิโมกข์ไว้กลางให้พร้อม ตั้งน้ำใช้เช่นน้ำล้างเท้าไว้ในที่ที่ควร และจัดตั้งน้ำฉันไว้ภายในอาสนะสงฆ์ตามสมควรด้วย ถ้าเวลาทำอุโบสถกรรมเป็นเวลาค่ำ ต้องเตรียมประทีปสำหรับตามในโรงอุโบสถไว้ให้พร้อม เมื่อถึงกำหนดเวลาก็ให้ตีระฆังสัญญาณให้พระสงฆ์ทั้งวัดทราบ
                ๓)  ก่อนถึงเวลาทำอุโบสถกรรมเล็กน้อย เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ทุกรูปในวัด ถ้ารูปใดรู้ว่าตนเองมีอาบัติโทษประเภทเทศนาคามินีอยู่ ก็แสดงแก่เพื่อนสหธรรมิกรูปใดรูปหนึ่งเสียให้เรียบร้อย เมื่อได้ยินสัญญาณให้ลงทำอุโบสถกรรมแล้วให้รีบลงไปพร้อมกันในโรงอุโบสถ นั่งภายในอาสนะสงฆ์ตามลำดับอาวุโส หันหน้าไปทางพระพุทธรูปประธานก่อน
                ๔)  เมื่อพร้อมแล้วผู้เป็นประธานสงฆ์ให้พระภิกษุเจ้าหน้าที่จัดการนับจำนวนพระสงฆ์ที่ประชุมในวันนั้น สมัยก่อนนับด้วยติ้ว คือมีราวร้อยไม้ติ้ว ซึ่งทำด้วยซี่ไม้ไผ่จำนวนมากกว่าสงฆ์ที่ประจำในวัดนั้น โดยปกติรูดติ้วไปรวมไว้ซีกของราว ตั้งราวติ้วไว้ท้ายอาสนะสงฆ์ เมื่อพระภิกษุลงมาประชุม ก่อนเข้านั่งยังอาสนะต้องรูดติ้วอันหนึ่งไปทางราวติ้วอีกซีกหนึ่ง การนับจำนวนสงฆ์ที่เข้าประชุมก็จะนับจากไม้ติ้วนี้ แต่ในปัจจุบันใช้บัญชีเรียกชื่อ ซึ่งสะดวกและแน่นอนกว่า
                ๕)  เริ่มทำวัตรเย็นจบแล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นล้อมวงนั่งพับเพียบหันหน้าเข้าหาเตียงปาติโมกข์ ซึ่งตั้งอยู่กลางชุมนุม นั่งให้เข่าชิดเข่าของรูปอื่นไปเป็นลำดับ และได้หัตถบาสตั้งแต่เตียงปาติโมกข์ออกไปจนสุดแนวสงฆ์ ควรปิดประตูทางเข้าโรงอุโบสถด้วย เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่สังฆกรรมในขณะทำอุโบสถ
                ๖)  เมื่อพร้อมดังนี้แล้ว ก็เริ่มดำเนินการสวดพระปาติโมกข์ตามแบบของวัดนั้น ๆ ไปจนจบ ให้ชอบด้วยพระวินัยทุกประการ
                ๗)  จบพระปาติโมกข์แล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นกระจายออกนั่งเป็นแถว หันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปประธาน พระเถระนำสวดมนต์ต่อท้ายพระปาติโมกข์พอสมควร สวดสีลุทฺเท เป็นหลัก นอกนั้นสุดแต่จะเลือกสวด จบลงด้วยบทกรวดน้ำแผ่ส่วนกุศล หรือ อิมินา ปญฺญกมฺเมน...เป็นอันเสร็จพิธี
            ระเบียบทำปาริสุทธิอุโบสถ  ท่านห้ามสวดพระปาติโมกข์ ให้บอกความบริสุทธิ์แก่กัน แทนการสวดพระปาติโมกข์ ดังนี้
            เมื่อถึงวันอุโบสถ ให้ภิกษุที่มีอยู่สามรูป ประชุมกันในโรงอุโบสถ ช่วยกันทำบุพกรณ์แห่งอุโบสถกรรม และกิจที่สมควรแก่คณะพึงทำให้เสร็จก่อน ให้รูปหนึ่งตั้งญัติประกาศทำปาริสุทธิอุโบสถ เป็นการคณะ แล้วภิกษุเถระพึงคุกเข่าประนมมือ บอกความบริสุทธิ์ของตนตามแบบสามหน ภิกษุนอกนี้พึงทำอย่างเดียวกัน เรียงตัวตามลำดับพรรษา เป็นอันเสร็จ
           ระเบียบทำอธิษฐานอุโบสถ  ให้ทำกิจที่ควรทำในการทำอุโบสถกรรมนั้นก่อน แล้วรอภิกษุจากที่อื่นจะมีมาร่วมด้วยบ้างจนหมดเวลา เห็นว่าไม่มีใครมาแล้ว ให้อธิษฐานใจของตนเองว่า อชฺช เม อุโปสโถ แปลว่า วันนี้อุโบสถของเรา เพียงเท่านี้เป็นอันเสร็จพิธี
            ภิกษุจะเลือกทำอุโบสถกรรมที่ง่ายกว่าที่ยากไม่ควร มีห้ามไว้ว่า อย่าได้ปลีกตัวไปไหน แม้ในอาวาสที่ไม่มีภิกษุพอสวดพระปาติโมกข์ได้ ก็ให้พระเถระจัดส่งภิกษุรูปใดรูปหนึ่งไปเรียนมาจากสำนักอื่น ถ้าจัดการไม่สำเร็จตามนี้ ท่านห้ามไม่ให้จำพรรษาอยู่ในที่นั้น แต่ข้อนี้ถ้าอาจจะไปรวมทำสังฆอุโบสถในอาวาสอื่นได้ ตามกำหนดก็ไม่ห้ามเด็ดขาด จะจำพรรษาอยู่ในอาวาสนั้นก็ควร
พิธีออกพรรษา
            ออกพรรษา หมายถึงกาลสิ้นสุดกำหนดอยู่จำพรรษาของภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ มีพิธีเป็นสังฆกรรมพิเศษโดยเฉพาะ เรียกว่า ปวารณากรรม คือการทำปวารณาของพระภิกษุที่อยู่ร่วมกันมาตลอดสามเดือน คือ ยินยอมให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ทุกกรณี ไม่ต้องเกรงกันว่าเป็นผู้ใหญ่ผู้น้อย การทำปวารณากรรมนี้ ทำในวันสุดท้ายที่ครบสามเดือนนับแต่วันเข้าพรรษา จึงตกในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ดของทุกปี ในวันนี้พระภิกษุสงฆ์ไม่ต้องทำอุโบสถกรรม คือสวดปาติโมกข์อย่างวันเพ็ญ หรือวันสิ้นเดือนอื่น ๆ แต่มีพระวินัยบัญญัติให้ทำปวารณากรรมแทนการสวดพระปาติโมกข์ ในปีหนึ่ง ๆ วัดหนึ่งจะมีปวารณากรรมได้เพียงครั้งเดียว เป็นหน้าที่บังคับให้พระภิกษุทุกรูปต้องทำ เพราะภิกษุที่ทำปวารณากรรมแล้ว พ้นข้อผูกพันที่ต้องอยู่ประจำ
            ปวารณากรรมหรือการออกพรรษา มีพิธีที่ต้องปฏิบัติเป็นธรรมเนียม ถือเป็นระเบียบได้ดังนี้
                ๑)  ในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด ต้องทำบุพกรณ์ และบุพกิจ เหมือนการทำอุโบสถสังฆกรรม เว้นแต่ในส่วนบุพกิจไม่นำปาริสุทธิ เปลี่ยนเป็นนำปวารณาของภิกษุไข้มา เมื่อถึงกำหนดเวลาที่พระสงฆ์เคยลงทำอุโบสถกรรม สวดพระปาติโมกข์ตามปกติ จะมีการตีระฆังสัญญาณให้พระภิกษุสามเณรทั้งวัดลงประชุมพร้อมกันในโรงอุโบสถ ภิกษุครองผ้าสังฆาฏิ สามเณรครองผ้าตามแบบแผนของวัดนั้น ๆ พระภิกษุนั่งบนอาสนะสงฆ์ตามลำดับพรรษา แก่อ่อนจากขวามาซ้ายเรียงเป็นแถว ๆ ไป หันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปประธาน สุดแถวพระสงฆ์แล้ว เว้นระยะพอสมควรไม่ต่ำกว่าสองศอก ให้สามเณรนั่งตั้งแถวของตนใหม่ต่างจากแถวพระภิกษุ จัดนั่งเช่นพิธีเข้าพรรษา
                ๒)  เริ่มต้นทำวัตรเย็น เมื่อทำวัตรจบแล้วให้สามเณรกลับออกไป เพราะพิธีต่อไปเป็นพิธีของพระภิกษุสงฆ์โดยเฉพาะ
                ๓)  เจ้าอาวาสหรือพระสังฆเถระผู้ฉลาดในสังฆกรรมขึ้นนั่งเตียงปาติโมกข์ ประกาศชี้แจงเรื่องการทำปวารณากรรมให้เข้าใจทั่วกันก่อน แล้วเริ่มบอกบุพกรณ์บุพกิจของปวารณากรรม เสร็จแล้วตั้งญัตติปวารณากรรม ต่อจากนั้นพระสงฆ์พึงปวารณากรรมกันตามแบบโดยลำดับอาวุโส ถ้ามีพระภิกษุเป็นจำนวนมาก จะปวารณาเรียงตัวรูปละสามจบ ตามแบบไม่สะดวก เพราะต้องใช้เวลามาก จะประกาศให้สงฆ์ปวารณาเพียงว่าจบเดียว และให้ผู้มีพรรษาเท่ากันปวารณาพร้อมกันก็ได้ ทั้งนี้ต้องบอกแจ้งในญัติว่า จะใช้เอกวาจิกาสมานวัสสิกาปวารณาก่อน
                ๔)  ระเบียบการปวารณาที่นิยมกัน ให้พระสงฆ์ทั้งนั้นนั่งพับเพียบเรียงแถวไม่ละหัตบาส ตามลำดับอาวุโส ทุกรูปหันหน้าเข้าหาพระพุทธรูปประธาน ผู้แก่อาวุโสปวารณาก่อน เมื่อถึงลำดับตนแล้วพึงคุกเข่าว่าคำปวารณา จบแล้วนั่งพับเพียบตามเดิม โดยนัยนี้จนได้ปวารณาครบทุกรูป
                ๕)  เมื่อปวารณาเสร็จ มีสวดมนต์ต่อท้าย นอกจาก นโม  พุท์ธํ แล้วสวด สีลุท เทสปาฐ เจ็ดตำนานย่อ สาราณียธรรมสูตร อปริหานิยธรรมสูตร  อรหํ ยํยํ ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ...ยา เทวตา..หรือ อิมินา... เมื่อสวดจบเป็นอันเสร็จพิธี
                ๖)  ภิกษุทุกรูปเมื่อปวารณาแล้ว ในวันปวารณานั้นจะต้องพักรักษาราตรีอยู่ประจำที่อีกหนึ่งคืน เมื่อพ้นคืนวันปวารณาไปแล้ว จึงจะจาริกไปแรมคืนที่อื่นได้
พิธีทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ

            วันเทโวโรหณะ คือวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงมาจากเทวโลก หลังจากเสด็จขึ้นไปจำพรรษาอยู่ในดาวดึงส์ พิภพถ้วนไตรมาส และตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระพุทธมารดาในเทวโลก มาตลอดสามเดือน พอออกพรรษาแล้ว ก็ได้เสด็จกลับมายังมนุษย์โลก โดยเสด็จลงทางบันไดสวรรค์ที่ประตูเมืองสังกัสสนคร ซึ่งตั้งอยู่เหนือเมืองสาวัตถี วันเสด็จลงจากเทวโลกนั้นเรียกว่า วันเทโวโรหณะ ตรงกับวันมหาปวารณาเพ็ญเดือนสิบเอ็ด ถือกันว่าเป็นวันบุญวันกุศลที่สำคัญวันหนึ่ง โบราณเรียกว่า วันพระเจ้าเปิดโลก รุ่งขึ้นจากวันนั้นเป็นวันแรมหนึ่งค่ำเดือนสิบเอ็ด จึงมีการทำบุญตักบาตรเทโวโรหณะ เพื่อเฉลิมฉลองการเสด็จลงมาจากเทวโลกของพระพุทธเจ้า
            พิธีตักบาตรเทโว ฯ ที่นิยมกันทั่วไปในปัจจุบันจัดทำขึ้นในวัด มีระเบียบพิธี ดังนี้
            ก่อนถึงวันแรม หนึ่งค่ำ เดือนสิบเอ็ด ซึ่งกำหนดเป็นวันทำบุญตักบาตร ทางวัดที่จะจัดให้มีงานทำบุญตักบาตร จะต้องเตรียมคือ
               ๑)  รถทรงพระพุทธรูป หรือ คานหามพระพุทธรูป เพื่อชักหรือหามนำหน้าพระสงฆ์ในการรับบาตร มีที่ตั้งพระพุทธรูปตรงกลาง ประดับรถหรือคานหามด้วยราชวัติ ฉัตร ธง โดยรอบพอสมควร มีที่ตั้งบาตร สำหรับรับบิณฑบาตตรงหน้าพระพุทธรูป ส่วนตัวรถหรือคานหามจะประดับอย่างไรก็ตามแต่ศรัทธา ถ้าไม่สามารถจัดรถหรือคานหาม จะใช้อุบาสกเป็นผู้เชิญพระพุทธรูปก็ได้ และมีผู้ถือบาตรตามสำหรับรับบิณฑบาต
                ๒)  พระพุทธรูปยืนหนึ่งองค์ สำหรับเชิญขึ้นประดิษฐานบนรถทรงหรือคานหาม แล้วชักหรือหามนำขบวนรับบาตรเทโว ฯ แทนองค์พระพุทธเจ้า จะใช้พระปางห้ามญาติ ปางห้ามสมุทร ปางรำพึง ปางถวายเนตร หรือปางลีลา ปางใดปางหนึ่งก็ได้
                ๓)  เตรียมสถานที่ให้ทายกทายิกาตั้งเครื่องใส่บาตร โดยจะจัดลานวัดหรือบริเวณรอบ ๆ โรงอุโบสถเป็นที่กลางแจ้งแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ จัดให้ตั้งเป็นแถวเป็นแนวเรียงรายติดต่อกันเป็นลำดับ
                ๔)  แจ้งกำหนดการต่าง ๆ ให้ทายกทายิกาทราบล่วงหน้าก่อนว่า จะกำหนดให้ทำบุญตักบาตรพร้อมกันเวลาใด
            สำหรับทายกทายิกา จะต้องเตรียมและดำเนินการดังนี้
                ๑)  เตรียมภัตตาหารสำหรับใส่บาตร มีสิ่งหนึ่งซึ่งถือเป็นประเพณีจะขาดเสียมิได้ คือ ข้าวต้มลูกโยน เพราะถือกันว่าเป็นสัญลักษณ์ของงานนี้คือ ข้าวต้มลูกโยน
                ๒)  เมื่อถึงกำหนดก็นำเครื่องใส่บาตรทั้งหมดไปตั้งที่วัดตามที่ทางวัดเตรียมให้ รอจนขบวนพระมาถึงหน้าคนจึงใส่บาตร ให้ใส่ตั้งแต่พระพุทธรูปที่นำหน้าพระสงฆ์ไปเป็นลำดับ
                สำหรับภิกษุสามเณรผู้เข้ารับบิณฑบาตร ให้ชักแถวเดินมีรถทรงหรือคานหามพระพุทธรูปนำหน้าแถว

| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | บน |