| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ |

ทานพิธี
การถวายทาน

            หลักสำคัญของการถวายทานเป็นการสงฆ์ จะต้องตั้งใจถวายแก่สงฆ์จริง ๆ อย่างเลือกว่าเป็นผู้ใด มิฉะนั้นจะเกิดความยินดียินร้ายไปตามบุคคลผู้รับ ซึ่งจะเสียพิธีสังฆทานไป
            การเตรียมทานวัตถุ  ที่ต้องการถวายให้เสร็จเรียบร้อยตามศรัทธา และทันเวลาถวาย ถ้าเป็นภัตตาหาร จีวร และคิลานเภสัช ซึ่งเป็นของยกประเคนได้ จะเป็นของถวายเนื่องด้วยกาลหรือไม่ก็ตาม ต้องจัดให้ถูกต้องตามนิยมของทานชนิดนั้น ๆ แต่ถ้าเป็นเสนาสนะหรือเครื่องเสนาสนะ ซึ่งต้องก่อสร้างกับที่ และเป็นของใหญ่ใช้ติดที่ต้องเตรียมการตามสมควร
            การเผดียงสงฆ์  คือแจ้งความจำนงที่จะถวายทานนั้น ๆ ให้สงฆ์ทราบ ถ้าเป็นภัตตาหาร จีวร คิลานเภสัช ซึ่งมีจำนวนจำกัดไม่ทั่วไปแก่สงฆ์ทุกรูปในวัด ก็ขอให้เจ้าอธิการสงฆ์ จัดพระสงฆ์ผู้รับให้ตามจำนวนที่ต้องการ และนัดแนะสถานที่กับกำหนดเวลาให้เรียบร้อย ถ้าเป็นเสนาสนะหรือเครื่องเสนาสนะ ซึ่งปกติจะต้องก่อสร้างภายในวัดอยู่แล้ว ก็ขอผู้แทนสงฆ์ตามจำนวนที่ต้องการ และกำหนดวันเวลารับ สำหรับสถานที่รับ ควรเป็นบริเวณที่ตั้งเสนาสนะ หรือเครื่องเสนาสนะนั้นๆ
            ในการถวายทานถ้ามีพิธีอื่น ๆ ประกอบด้วยก็เป็นเรื่องของพิธีแต่ลำอย่างๆ ไป พิธีถวายทาน ฝ่ายทายกพึงดำเนินพิธี ดังนี้
                ๑)  จุดธูปเทียน หน้าที่บูชาพระ
                ๒)  อาราธนาศีล และรับศีล
                ๓)  ประนมมือกล่าวคำถวายทานนั้น ๆ ตามแบบในการกล่าวคำถวายทุกครั้งต้องตั้งนโม ก่อนสามจบ ถ้าถวายรวมกันมากคน ควรว่านมโมพร้อมกันก่อน แล้วหัวหน้ากล่าวคำถวายให้ผู้อื่นว่าตามเป็นตอน ๆ ทั้งคำบาลี และคำแปลจนจบ ต่อจากนั้นถ้าเป็นของควรประเคนก็ประเคน แต่จะประเคนสิ่งของประเภทอาหารหลังเที่ยงไม่ได้ เสนาสนะหรือวัตถุที่มีขนาดใหญ่ ไม่สามารถยกประเคนได้ ใช้หลั่งน้ำลงบนหัตถ์ของพระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธี ก็ถือว่าได้ประเคนแล้ว
            พระสงฆ์ที่ได้รับอาราธนา เมื่อรับสังฆทานในขณะที่ทายกกล่าวคำถวายทาน จะประนมมือเป็นอาการแสดงถึงการับทานโดยเคารพ เมื่อทายกกล่าวคำถวายทานจบแล้ว เปล่งวาจาสาธุพร้อมกัน บางพวกเมื่อทายกกล่าวคำถวายทานจบแล้ว จึงประนมมือเปล่งวาจาสาธุพร้อมกัน เมื่อเสร็จการประเคนแล้ว พึงอนุโมทนาด้วยบท
                ๑)  ยถา...
                ๒)  สพฺพีติโย...
                ๓)  บทอนุโมทนาโดยควรแก่ทาน
                ๔)  ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ...
            ขณะพระสงฆ์อนุโมทนา ทายกพึงกรวดน้ำ เมื่อพระสงฆ์เริ่มบทยถา... พอถึงบท สพฺพีติโย... เป็นต้นไป พึงประนมมือรับพรไปจนจบ แล้วกราบสามหน เป็นอันเสร็จพิธีถวายทาน
การถวายสังฆทาน
            สังฆทาน  คือทานที่อุทิศให้แก่สงฆ์ มิได้เจาะจงแก่บุคคล โดยนิยมที่เข้าใจกันทั่วไปก็คือ การจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์ไม่เกี่ยวกับการถวายทานวัตถุอย่างอื่น การจัดภัตตาหารถวายพระสงฆ์อย่างนี้เรียกว่าสังฆทาน มีแบบแผนมาแต่ครั้งพุทธกาล แต่ในครั้งนั้นท่านแบ่งสังฆทานไว้ถึงเจ็ดประการด้วยกันคือ
                ๑)  ถวายแกหมู่ภิกษุ และภิกษุณี มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
                ๒)  ถวายแก่หมู่ภิกษุ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
                ๓)  ถวายแก่หมู่ภิกษุณี มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
                ๔)  ถวายแก่หมู่ภิกษุ และภิกษุณี
                ๕)  ถวายแก่หมู่ภิกษุ
                ๖)  ถวายแก่หมู่ภิกษุณี
                ๗)  ข้อร้องต่อสงฆ์ให้ส่งใคร ๆ ไปรับแล้วถวายต่อผู้นั้น
            ในการถวายสงฆ์ดังกล่าว นิยมตั้งพระพุทธรูปเป็นประธาน ซึ่งอนุโลมเข้าในประเภทถวายแก่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข และทานวัตถุที่ถวายเป็นสังฆทาน มีภัตตาหารเป็นที่ตั้ง นอกนั้นจะมีของบริวารอื่น ๆ ตามสมควรก็ได้ ข้อสำคัญของการถวายสังฆทานมีอยู่ว่า ต้องตั้งใจถวายเป็นสงฆ์จริง ๆ ผู้รับจะเป็นบุคคลชนิดใดก็ตาม ผู้ถวายต้องตั้งใจต่อพระอริยสงฆ์ มีระเบียบพิธีนิยมดังนี้
                ๑)  พึงเตรียมภัตตาหารใส่ภาชนะให้เรียบร้อย จะถวายกี่รูปก็ได้และแต่ศรัทธา การเผดียงสงฆ์นิยมทำกันสองวิธีคือ เผดียงจากรูปที่ออกบิณฑบาตในตอนเช้า ผู้มาถึงเฉพาะหน้าในขณะนั้นให้ครบตามจำนวนที่ต้องการวิธีหนึ่ง อีกวิธีหนึ่งเผดียงต่อภัตตุเทศน์ในวัดหรือเจ้าอาวาส ให้จัดพระสงฆ์ตามจำนวนที่ต้องการไปรับ
                ๒)  สถานที่ถวายถ้าเป็นในบ้าน ควรจัดสถานที่ให้เรียบร้อย ถ้ามีพระพุทธรูปควรตั้งที่บูชาด้วยพอสมควร เมื่อพระสงฆ์มาพร้อมกันแล้ว ให้นำภัตตาหารที่จัดเตรียมไว้มาตั้งตรงหน้าพระสงฆ์ พร้อมแล้วอาราธนาศีล แล้วรับสมาทาน จบแล้วกล่าวคำถวาย ควรว่าทั้งคำบาลี และคำแปลด้วย
            คำถวายสังฆทาน (ประเภทสามัญ)
                อิมานิ มยํ ภนฺเต , ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ภิกฺขุสงฺฆสฺส, โอโณ ชยาม, สาธุ โน ภนฺเต, ภิกขุสงฺโฆ,
                อิมานิ ภตฺตานิ, สปริวารานิ, ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ, ฑีฆรตฺตํ , หิตาย สุขาย.
                ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายภัตตาหาร กับบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหาร กับบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายสิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            คำถวายสังฆทาน (ประเภทอุทิศให้ผู้ตาย)
                อิมานิ มยํ ภนฺเต , มตกภตฺตานิ , สปริวารานิ , ภิกฺขุสงฺฆสฺส , โอโณชยาม , สาธุ โน ภนฺเต , ภิกขุสงฺโฆ ,
                อิมานิ, มตกภตฺตานิ , สปริวารานิ. ปฏิคคณฺหาตุ , อมฺหากณฺเจว. มาตาปิตุ อาทีนญฺจ ญาตกานํ, กาลกตานํ ,
                ฑีฆรตฺตํ , หิตาย, สุขาย
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายมตกภัตตาหาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับภัตตาหาร กับบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายด้วย แก่ญาติของข้าพเจ้าทั้งหลายมีมารดาบิดาเป็นต้น ผู้ทำกาละล่วงลับไปแล้วด้วย สินกาลทาน เทอญ ฯ
            ในขณะกล่าวคำถวาย พระสงฆ์พึงประนมมือ พอกล่าวคำถวายจบพึงรับ "สาธุ" พร้อมกัน จากนั้นประเคนภัตตาหาร และของบริวารแก่พระสงฆ์ บทวิเสสอนุโมทนาที่นิยมในทานนี้ ใช้บทมงคลจักรวาลน้อยเป็นพื้น
            ขณะพระสงฆ์ว่า ยถา... พึงกรวดน้ำ แล้วประนมมือรับพรต่อไปจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี
การถวายสลากภัตต์
            สลากภัตต์  คือภัตตาหารที่ทายกทายิกาถวายตามสลาก นับเข้าในสังฆทาน พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอนุญาตไว้ในอนุศาสน์แผนกนิสสัยสี่ ว่าเป็นอดิเรกลาภส่วนหนึ่ง เมื่อครั้งพุทธกาล ถวายกันโดยไม่นิยมกาล สุดแต่ศรัทธาเมื่อใดก็ถวายเมื่อนั้น ในประเทศไทยปัจจุบันนิยมทำกันในเดือนที่มีผลไม้ต่าง ๆ บริบูรณ์มาก จัดถวายภัตตาหารพร้อมด้วยผลไม้นั้น ๆ ด้วยสลาก เช่นจัดถวายหน้ามะม่วงก็เรียกว่า สลากภัตต์มะม่วง ระยะถวายสลากภัตต์ ส่วนมากอยู่ระหว่างเดือนหกถึงเดือนเจ็ด ก่อนเข้าพรรษา สงเคราะห์เข้าในการถวายผลอันเป็นเลิศที่เกิดแต่พืชในสวนในไร่ของตน ซึ่งนิยมกันมาแต่ครั้งโบราณ แต่สลากภัตต์ส่วนมากเป็นสังฆทานหมู่ ซึ่งทายกทายิการ่วมกันทั้งหมู่บ้านถวาย จึงเป็นทานสามัคคีของชาวบ้าน
            วิธีทำสลากภัตต์ ที่ทำกันเป็นประเพณีโดยมาก มีหัวหน้าทายกทายิกาป่าวร้องกัน แล้วกำหนดวันเวลาสถานที่ตามแต่สะดวก ส่วนมากจะถวายตามวัดในหมู่บ้านนั้น ๆ หรือตามศาลาโรงธรรมในละแวกบ้านนั้น เมื่อถึงวันกำหนด ผู้รับสลากภัตต์ก็จัดภัตตาหารกับไทยธรรม ซึ่งมักประกอบด้วยผลไม้ในฤดูนั้น ๆ นำไปยังสถานที่กำหนด บางรายทำอย่างครึกครื้นแห่แหนกันไป ครั้นประชุมพร้อมกันในสถานที่กำหนดแล้ว หัวหน้าทายกทายิกา ก็ให้ผู้รับสลากภัตต์ทุกคนจับฉลาก เมื่อจับได้ชื่อรูปใดก็ถวายรูปนั้น บางทีเขียนเป็นตัวเลข ให้เท่ากับจำนวนสงฆ์ที่จะรับ แล้วทำเป็นธงให้ทายกทายิกาจับ จับได้แล้วก็เสียบไว้ที่ทานวัตถุของตน แล้วทำเป็นธงให้ทายกทายิกาจับ จับได้แล้วก็เสียบไว้ที่ทานวัตถุของตน แล้วทำสลากอีกส่วนหนึ่งลงเลขจำนวนตรงกันกับที่ให้ทายกทายิกาจับไปแล้วม้วนเป็นชิ้นเล็ก ๆ ให้ภิกษุสามเณรจับ ถ้ารูปใดจับได้ตรงกับเลขของใคร ก็ให้ผู้นั้นถวายแก่รูปนั้นโดยนำไปตั้งไว้ตรงหน้าผู้รับ
            เมื่อเสร็จพิธีจับสลากของทายกทายิกาแล้ว จึงกล่าวถวายสลากภัตต์พร้อมกัน เมื่อจบคำถวายเป็นภาษาบาลีแล้วควรว่าคำแปลด้วย
            คำถวายสลากภัตต์
                เอตานิ มยํ ภนฺเต  , สลากภตฺตานิ , สปริวารานิ , อสุกฏฺฐาเน , ฐปิตานิ , ภิกขุสงฺฆสฺส , โอโณชยาม , สาธุโน ภนฺเต , ภิกขุสงฺโฆ
                เอตานิ , สลากภตฺตานิ , สปริวารานิ ปฏิคคณฺหาตุ , อมฺหากํ ฑีฆรตฺตํ , หิตาย , สุขาย.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ภัตตาหารกับบริวารทั้งหลาย ซึ่งตั้งไว้ ณ ที่โน้นที่นั้น ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายแก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งภัตตาหารกับทั้งบริวารเหล่านนั้น ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            ในขณะกล่าวคำถวาย ภิกษุสามเณรทั้งหมดพึงประนมมือ พอกล่าวคำถวายจบรับสาธุพร้อมกัน ถ้ากำหนดให้ฉันในที่ถวาย ก็ให้เจ้าของสลากประเคนภัตตาหาร ภิกษุสามเณรฉันเสร็จแล้วจึงประเคนไทยธรรม แล้วพระสงฆ์อนุโมทนา วิเสสอนุโมทนาใช้บทมงคลจักรวาลน้อย เช่นกัน
            ระหว่างพระสงฆ์อนุโมทนา ทายกทายิกาทุกคน พึงกรวดน้ำตอนพระว่า ยถา... กรวดน้ำเสร็จแล้วประนมมือรับพรต่อไปจนจบ
            การถวายสลากภัตต์ มักนิยมถวายเวลาภัตตาหารเช้าก็มี ภัตตาหารเพลก็มี บางแห่งพระฉันท์แล้วมีเทศน์อนุโมทนาอีก หนึ่งกัณฑ์ จบแล้วจึงกรวดน้ำ รับพร เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนาแล้วเป็นอันเสร็จพิธี
การตักบาตข้าวสาร
            การถวายข้าวสารเป็นประเพณีที่เกิดขึ้นในเมืองไทยในยุคหลัง การถวายข้าวสารไม่นิยมกาลถวายในพิธีต่าง ๆ เช่น ติดกัณฑ์เทศน์ก็มี อุทิศถวายเข้าในสงฆ์ หรือเฉพาะบุคคลก็มี ที่ทำกันจนเป็นประเพณี เช่นทำบุญตักบาตรข้าวสารในพรรษาก็มี การตักบาตรข้าวสารในเทศกาลเข้าพรรษานับเนื่องในสังฆทาน มีระเบียบปฏิบัติกันส่วนใหญ่ดังนี้
            ในระหว่างเข้าพรรษา เมื่อมีการกำหนดวันใดวันหนึ่งเพื่อการนี้แล้ว เมื่อถึงวันกำหนดทายกทายิกา ก็จะนำข้าวสารพร้อมด้วยเครื่องบริวาร มีพริก กะปิ กระเทียม ปลาแห้ง ปลาเค็ม เป็นต้น ไปกองรวมกันในที่ที่กำหนดในวัด เมื่อพร้อมแล้วจะตีระฆังสัญญาณ พระภิกษุสามเณรทั้งวัดลงมาประชุม ทายกทายิกาอาราธนาศีล และรับศีลร่วมกัน เสร็จแล้วอาราธนาธรรม ภิกษุสามเณรรูปหนึ่งแสดงธรรมอนุโมทนาทาน จบแล้วทายกทายิกากล่าวคำถวายข้าวสาร และบริวารทั้งคำบาลีและคำแปล เมื่อกล่าวคำถวายจบ ภิกษุสามเณรทั้งนั้นรับ "สาธุ" พร้อมกัน แล้วอนุโมทนา บทวิเสสอนุโมทนาที่ใช้คือ ถ้าถวายเนื่องในสารทกาลระยะตักบาตรน้ำผึ้งในบท กาเล ททนฺติ... ต่อ ยสฺส
ทาเทนฺ... แต่ถ้าถวายไม่เนื่องด้วยกาลนั้น พึงใช้บท สพฺพพุทฺธานุภาเวน...
            คำถวายข้าวสาร
                อิมานิ มยํ ภนฺเต , ตณฺฑลานิ , สปริวารานิ , ภิกฺขุสงฺฆสฺส , โอโณชยาม
                สาธุโน ภนฺเต , ภิกฺขุสงฺโฆ , มิมานิ ตณฺฑลานิ , สปริวารานิ , ปฏิคฺคณฺหาตุ ,
                อมฺหากํ ฑีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายข้าวสาร กับทั้งบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับข้าวสาร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            จากนั้นทายกทายิกากรวดน้ำ แล้วประนมมือรับพรจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี
การตักบาตรน้ำผึ้ง
            การถวายน้ำผึ้งแก่สงฆ์ นับเข้าในเภสัชทาน เป็นกาลทานส่วนหนึ่งซึ่งทำในสารทกาล ห้วงเวลาตั้งแต่ระหว่างข้างแรมเดือนสิบ โดยพุทธานุญาต มีปฐมเหตุมาแต่ครั้งพุทธกาล คือครั้งหนึ่งในระหว่างเดือนสิบ ภิกษุทั้งหลายมีการชุ่มด้วยน้ำฝน เกิดอาพาธฉันจังหันอาเจียน มีกายซูบผอมเศร้าหมอง เมื่อพุทธองค์ทรงทราบ จึงทรงอนุญาตเภสัชห้าอย่างคือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย ให้ภิกษุรับและฉันได้ในเวลาวิกาล เพื่อระงับโรค และบำรุงกำลัง จึงเป็นประเพณีที่ทายกทายิกานิยมถวายเภสัชทานขึ้นในเทศกาลนี้ มาจนถึงทุกวันนี้ และได้ถวายแต่น้ำผึ้งเป็นพื้น เรียกกันว่าตักบาตรน้ำผึ้ง มีระเบียบพิธีดังนี้
            เมื่อถึงข้างแรมเดือนสิบ มีการป่าวร้อง หรือแจกฎีกาให้ชาวบ้านนำน้ำผึ้งบริสุทธิ์ พร้อมทั้งน้ำมัน น้ำอ้อย น้ำตาล ไปทำบุญตักบาตรร่วมกันในวัด ส่วนมากจะกำหนดทำในวันพระแรมสิบค่ำ เมื่อถึงวันกำหนด จะมีการตั้งบาตรหรือภาชนะ ที่สมควรไว้ในศาลาการเปรียญ หรือในโรงอุโบสถ เพื่อให้ชาวบ้านนำน้ำผึ้งมาใส่รวมกัน สำหรับน้ำมัน น้ำอ้อย และน้ำตาล ก็ให้ใส่ภาชนะต่างหากไม่ปะปนกัน เมื่อใส่เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ตีระฆังสัญญาณให้ภิกษุสามเณรในวัดลงมารวมพร้อมกัน ทายกทายิกาอาราธนาศีล รับศีลพร้อมกันแล้วอาราธนาธรรม ภิกษุผู้สามารถพึงแสดงธรรม อนุโมทนาเภสัชทานนั้น จบแล้วทายกทายิกากล่าวคำถวายพร้อมกัน ว่าเฉพาะคำบาลีเท่านั้น
            คำถวายเภสัชทานมีน้ำผึ้งเป็นต้น
                สรโท นามายํ ภนฺเต , กาโลสมฺปตฺโต , ยตฺถ ตถาคโต อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ สารทิกาปาเชน อาพาธิกานํ , ภิกขูนํ , เภสชฺชานิ , อนุญฺญาสิ , สปฺปนวนีตํ ,เตลํ มธุ ํ ผาณิตํ , มยนฺทานิ , ตกฺกาลสทิสํ , สมฺปตฺตา , ตสฺส ภควโต , ปุญญตฺตานุคํ , ทานํ, สาธุโนภนฺเต , อยฺยา ยถาวิภตฺตา , มธุทานํ จ , เตลํ จ, ผาณิตํ จ ปฏิคฺคณฺหาตุ , อมฺหากํ , ฑีฆรตฺตํ , หิตาย , สุขาย
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ บัดนี้สารทกาล มาถึงแล้วในกาลใดเล่า พระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตเภสัชห้าอย่างคือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย แก่ภิกษุทั้งหลายผู้อาพาธ ด้วยโรคเกิดในสารทกาล บัดนี้ข้าพเจ้าทั้งหลายมาถึงกาลเช่นนี้แล้ว ปรารถนาจะถวายทานตามพระพุทธานุญาต ของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น จึงถวายน้ำผึ้ง น้ำมัน และน้ำอ้อย อันนับเข้าในเภสัชห้าอย่างนั้น แก่ภิกษุสงและสามเณรทั้งหลาย ขอพระเป็นเจ้าทั้งหลายจงรับมธุทาน เตลทาน และผาณิตทานของข้าพเจ้าทั้งหลาย ตามที่แจกถวายนั้น ๆ เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลายบ สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            ขณะทายกทายิกากล่าวคำถวาย ภิกษุสามเณรทั้งหมดในที่นั้นพึงประนมมือ พอกล่าวคำถวายจบ ให้รับ "สาธุ" พร้อมกัน แล้วอนุโมทนาบทวิเสสอนุโมทนาที่นิยมในทานนี้ ใช้บท กาเล ททนฺติ... ต่อท้ายด้วยบท ยสฺส ทาเนน...
            ทายกทายิกากรวดน้ำ แล้วประนมมือรับพรไปจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี
การถวายเสนาสนะกุฎีวิหาร
            เสนาสนะกุฎีวิหาร  เป็นที่อยู่อาศัยของภิกษุสงฆ์สามเณร ที่สร้างไว้ในวัด นิยมให้สร้างขึ้นเป็นของสงฆ์ ผู้ใดจะถือกรรมสิทธิ์เป็นของตนโดยเฉพาะไม่ได้ ถือเป็นเพียงอยู่อาศัยใช้สอยได้เฉพาะกาลเท่าที่สงฆ์มอบหมายเท่านั้น จึงนิยมให้ผู้สร้างทำพิธีถวายให้เป็นของสงฆ์ด้วย จะได้สงเคราะห์เป็นทานเรียกว่า เสนาสนะทานพิเศษ
ส่วนหนึ่งซึ่งพระผู้มีพระภาคทรงสรรเสริญว่าเป็นทานอันเลิศ ได้สร้างกันเป็นประเพณีมาแต่ครั้งพุทธกาลแล้ว
            การสร้างเสนาสนะถวายนี้ นิยมสร้างกันในฤดูร้อนให้แล้วเสร็จก่อนฤดูฝน และนิยมถวายก่อนเข้าพรรษา เพื่อพระสงฆ์ได้ทันใช้สอยในการจำพรรษา มีพิธีเกี่ยวด้วยการสร้าง และการถวาย อันเนื่องด้วยพระวินัยบัญญัติ และขนบธรรมเนียม ดังนี้
                ๑)  ถ้าภิกษุสร้างเสนาสนะอยู่เองในวัด เป็นถาวรวัตถุที่ต้องก่อหรือโบกด้วยปูนหรือดินเหนียว ต้องสร้างได้โดยประมาณจำกัด คือ วันเฉพาะร่วมใน ยาวเพียง ๑๒ คืบ พระสุคต กว้างเพียง ๘ คืบ พระสุคต คือ ประมาณ ยาว ๘ ศอก ๓ นิ้วเศษ กว้าง ๕ ศอก ๑๐ นิ้วเศษ ในการสร้างต้องให้สงฆ์แสดงที่ก่อนจึงจะสร้างได้ มิฉะนั้นจะผิดพระวินัย
                ๒)  ถ้ามีทายก เป็นเจ้าของเสนาสนะขึ้นในวัดนั้น ขนาดของเสนาสนะไม่จำกัด แต่ก่อนจะสร้างต้องได้รับอนุมัติจากทางวัด และให้สงฆ์แสดงที่ให้ก่อน
                ๓)  เมื่อสร้างเสร็จแล้ว นิยมให้เจ้าของผู้สร้างถวายเสนาสนะนั้นเป็นของสงฆ์ ในวันถวายให้ภิกษุสามเณรในวัดทั้งหมดมาประชุมกันที่เสนาสนะที่สร้างใหม่นั้น เมื่อพร้อมแล้วให้เจ้าของผู้สร้างกล่าวคำถวาย ดังนี้
                อิมานิ มยํ ภนฺเต , เสนาสนานิ , อาคตา นาคตสฺส , จาตุทฺทิสสฺส , ภิกขุสงฺฆสฺส , โอโณชยาม ,
                สาธุ โน ภนฺเต , ภิกขุสงฺโฆ , อิมานิ เสนาสนามิ , ปฏิคฺคณฺหาตุ , อมฺหากํ , ฑีฆรตฺตํ , หิตาย, สุขาย.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายเสนาสนะเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้มีในทิศทั้งสี่ ที่มาแล้วก็ดี ที่ยังไม่มาก็ดี ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ เสนาสนะเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขของข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            ขณะกล่าวคำถวาย พระสงฆ์ทั้งนั้นพึงประนมมือ พอกล่าวคำถวายจบพึงรับ "สาธุ" พร้อมกัน ต่อจากนั้นให้ผู้ถวายหลั่งน้ำลงในหัตถ์ของพระภิกษุผู้เป็นประธานในพิธี พระสงฆ์พึงอนุโมทนา บทวิเสสโมทนาในทานนี้นิยมใช้บท สีตํ อุณหํ... ต่อด้วย สพฺพพุทฺธานุภาเวนะ...
            ทายกทายิกา พึงกรวดน้ำ แล้วประนมมือรับพรจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี
การถวายศาลาโรงธรรม
            ศาลาโรงธรรม  คือศาลาที่แสดงธรรมหรือสวดพระธรรม ใช้เป็นที่เรียนพระธรรมวินัยก็ได้ จึงนิยมเรียกว่า ศาลาการเปรียญ เป็นต้น สงเคราะห์โรงเรียนพระปริยัติธรรม เข้าในศาลาโรงธรรมด้วย ส่วนมากศาลาโรงธรรมมักสร้างไว้ตามวัด และที่สร้างไว้ในละแวกบ้านที่เรียกว่า ศาลากลางบ้านก็มี
            การถวายศาลาโรงธรรมเป็นของสงฆ์ มีพิธีกรรมเช่นเดียวกับการถวายเสนาสนะ ต่างแต่คำถวายดังนี้
                มยํ ภนฺเต , อิมํ สาลํ , ธมฺมสภาย , อุทฺทิสฺสํ , จาตุทฺทิสสฺส,
                ภิกขุสงฺฆสฺส , โอโณชยาม , สาธุโน ภนฺเต , ภิกฺขุสงฺโฆ , อิมํ สาลํ , ปฏิกคณฺหาตุ อมฺหากํ ฑีฆรตฺตํ หิตาย , สุขาย.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายศาลาหลังนี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ผู้มีในทิศทั้งสี่ อุทิศเพื่อเป็นสถานที่แสดงธรรม ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับศาลาหลังนี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
การถวายผ้าวัสสิกสาฎก
            ผ้าวัสสิกสาฏก คือผ้าป่าสำหรับใช้นุ่งเวลาอาบน้ำฝน เรียกว่า ผ้าอาบน้ำฝน แต่เดิมพระพุทธองค์ทรงอนุญาต ให้ภิกษุทรงไว้แต่ผ้าสามผืนที่เรียกว่า ไตรจีวร คือ สังฆาฏิ ผ้าคลุมชั้นนอก อุตราสงค์ ผ้าห่ม และอันตรวาสก ผ้านุ่ง เท่านั้น นางสิสาขา ได้ทูลขอพรต่อพระพุทธองค์เพื่อจะถวายผ้าสำหรับผลัดอาบน้ำฝนแก่ภิกษุทั้งหลาย พระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาต
            ผ้าอาบน้ำฝน ต้องทำให้ถูกต้องตามพระวินัยบัญญัติ คือ เป็นผ้าผืนยาว ๖ คืบ พระสุคต กว้าง ๒ คืบ พระสุคต ประมาณยาว ๔ ศอกกับ ๓ กระเบียด  กว้าง ๑ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว ๑ กระเบียด ถ้ากว้างยาวเกินขนาดดังกล่าว ภิกษุผู้ใช้สอยต้องอาบัติ ต้องตัดส่วนที่กว้างยาวเกินประมาณนั้นออกเสีย จึงแสดงอาบัติได้ ทรงบัญญัติเขตกาลที่จะแสวงหาเขตกาลที่จะทำเขตกาลที่จะนุ่งห่ม และเขตกาลอธิษฐานใช้สอยไว้ดังนี้
                ๑)  ตั้งแต่แรมค่ำเดือนเจ็ด ถึงวันเพ็ญเดือนแปด รวมเวลาสองปักษ์เป็นเวลาหนึ่งเดือน ในปลายฤดูร้อนเป็นเขตแสวงหา
                ๒)  ตั้งแต่ขึ้นค่ำเดือนแปดถึงวันเพ็ญ เป็นวันกึ่งเดือนท้ายฤดูร้อน เป็นเขตกาลทำนุ่งห่ม
                ๓)  ตั้งแรมแรมค่ำเดือนแปด ไปจนสิ้นฤดูฝน คือวันเพ็ญเดือนสิบสอง รวมเวลาสี่เดือน เป็นเขตกาลอธิษฐานใช้สอย
            ถ้ายังไม่ถึงเขตกาลที่ทรงอนุญาตไว้นี้ ภิกษุแสวงหาได้มา หรือทำนุ่งห่ม หรืออธิษฐานใช้สอยท่านปรับอาบัติ
            ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อถึงกาลที่ภิกษุจะต้องแสวงหาผ้าอาบน้ำฝน ตั้งแต่แรมค่ำเดือนเจ็ดเป็นต้นไป จนถึงวันเพ็ญเดือนแปด ทายกจึงมักถือโอกาสบำเพ็ญกุศล โดยจัดหาผ้าอาบน้ำฝน แล้วนำไปถวายในที่ประชุมสงฆ์ กำหนดถวายระหว่างข้างขึ้นเดือนแปด ตั้งแต่วันขึ้นค่ำหนึ่งเป็นต้นไป ปัจจุบันกำหนดวันถวายเป็นหมู่ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนแปด คือก่อนวันเข้าพรรษาหนึ่งวัน ในการถวายมีระเบียบปฏิบัติดังนี้
                ๑)  ในวันกำหนดถวายผ้า ภิกษุสามเณร และอุบาสกอุบาสิกา ควรประชุมพร้อมกันในโรงอุโบสถ หรือในศาลาการเปรียญ ก่อนถวายผ้าภิกษุ ผู้สามารถรูปหนึ่งพึงแสดงธรรมอนุโมทนา ๑ กัณฑ์ ถ้าวันถวายกำหนดในวันธรรมสวนะ เทศน์กัณฑ์ธรรมสวนะควรต่อท้ายอนุโมทนาทานด้วยเลย
                ๒)  เมื่อแสดงธรรมจบแล้ว ทายกกราบพระและว่า นโม พร้อมกันสามจบ ต่อจากนั้นกล่าวคำถวายผ้า ฯ ซึ่งตั้งไว้ ณ เบื้องหน้าต่อหน้าพระสงฆ์ ทั้งคำบาลี และคำแปล ดังนี้
                อิมานิ มยํ ภนฺเต , วสฺสิกสาฏิกานิ , สปริวารานิ , ภิกฺขุสงฺฆสฺส , โอโนชยาม , สาธุโน ภนฺเต , ภิกขุสงฺโฆ ,
                อิมานิ , วสฺสิกสาฏิกานิ , สปริวารานิ , ปฏิคฺคณฺหาตุ , อมฺหากํ ฑฆรตฺตํ หิตาย , สุขาย.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายผ้าอาบน้ำฝน กับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าอาบน้ำฝน กับทั้งบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน  เทอญ ฯ
            ระหว่างกล่าวคำถวาย พระสงฆ์ทั้งหมดควรประนมมือ จบคำถวายแล้วรบ "สาธุ" พร้อมกัน แล้วเจ้าอธิการแจกจีวรของวัดนั้นออกรับผ้าแทนสงฆ์ ประเคนเสร็จแล้วพระสงฆ์อนุโมทนา บทวิเสสอนุโมทนาในทานนี้นิยมใช้บทกาเล ททนฺติ... ทายกพึงกรวดน้ำเสร็จแล้วประนมมือรับพรจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี
การถวายผ้าจำนำพรรษา
            ผ้าจำนำพรรษา หมายถึงผ้าที่ถวายแก่ภิกษุผู้อยู่จำพรรษาครบ สามเดือน เว้นผ้ากฐิน เป็นพิเศษส่วนหนึ่ง ที่พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตให้ ภิกษุผู้จำพรรษาครบสามเดือน กราบอนุโมทนากฐินแล้วรับและบริโภคใช้สอยได้ ภายในกำหนดห้าเดือน อันเป็นเขตอานิสงส์กฐิน คือนับตั้งแต่แรมค่ำเดือนสิบเอ็ด ถึงขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนสิบสองเท่านั้น ถ้าถวายผ้านอกกาลนี้ไม่นับเป็นผ้าจำนำพรรษา การถวายผ้าในเขตดังกล่าวนี้เป็นการสงเคราะห์ภิกษุ กำลังต้องการจีวรมาผลัดเปลี่ยนของเก่าในระหว่างจีวรกาล จึงนิยมทำกันมาแต่ครั้งพุทธกาล ในทางราชการของไทยปรากฏทำเป็นแบบแผนขึ้นในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีแจ้งอยู่ในพระราชพิธีสิบสองเดือน ในปัจจุบันงดมานานแล้ว สำหรับชาวบ้านยังทำกันอยู่บ้าง มีระเบียบปฏิบัติที่ทำกันทั่วไปคือ
            ผ้าที่ถวายนั้นไม่จำกัดให้เป็นอย่างเดียวกัน จะเป็นผ้าไตรจีวรสำเร็จรูปทั้งไตร หรือผืนใดผืนหนึ่งก็ได้ แม้ผ้าขาวก็ได้ บางทีมีไทยธรรมอย่างอื่นเป็นบริวารด้วย เมื่อถึงกำหนดทายก และชาวบ้านนำผ้าและไทยธรรม ไปพร้อมยังสถานที่นัดภายในวันมีโรงอุโบสถ หรือศาลาการเปรียญ เมื่อได้เวลาพระสงฆ์ลงประชุม ถ้าเจ้าภาพคนเดียวมีไทยธรรมเหมือน ๆ กัน ก็กล่าวคำถวายแล้วประเคนเรียงไปโดยลำดับ แต่ถ้าทำร่วมกัน ผ้าและของไม่เหมือนกัน ก็ต้องติดเลขหมายแล้วถวายให้พระสงฆ์ไปจับสลาก ก่อนจับสลากทายกกล่าวคำถวาย ดังนี้
            อิมานิ มยํ ภนฺเต วสฺสาวาสิกจีวรานิ , สปริวารานิ , ภิกขุสงฺฆสฺส , โอโณชยาม ,
            สาธุโน ภนฺเต , ภิกฺขุสงฺโฆ , อิมานิ , วสฺสาวาสิกจีวรานิ , สปริวารานิ , ปฏิคณฺหาตุ ,
            อมฺหากํ , ฑีฆรตฺตํ , หิตาย , สุขาย.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจำนำพรรษา กับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าจำนำพรรษา กับทั้งบริวารเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            ระหว่างทายกกล่าวคำถวายพระสงฆ์ควรประนมมือ พอจบคำถวายก็รับ "สาธุ" พร้อมกัน ทายกถวายของแล้วอนุโมทนา
บทวิเสสอนุโมทนาในทานนี้นิยมใช้บท กาเล ททนฺติ... ทายกกรวดน้ำ แล้วประนมมือรับพรไปจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี
การถวายผ้าอัจเจกจีวร
            ผ้าอัจเจกจีวร คือผ้าจำนำพรรษาที่ทายกรีบด่วนถวายก่อนกำหนดกาลดังกล่าวแล้วในเรื่องการถวายผ้าจำนำพรรษา แต่อยู่ในเขตที่มีพุทธานุญาตให้รับได้ ผ้าอัจเจกจีวรถวายก่อนออกพรรษา ภายในกำหนดสิบวัน คือนับแต่วันขึ้นห้าค่ำเดือนสิบเอ็ด ไปถึงวันกลางเดือนสิบเอ็ด ซึ่งเป็นวันออกพรรษา มีประเพณีถวายกันมาแต่ครั้งพุทธกาล มีคำถวาย ดังนี้
            อิมานิ มยํ ภนฺเต , อจฺเจกจีวรานิ , สปริวารานิ , ภิกฺขุสงฺฆสฺส , โอโณชยาม ,
            สาธุโน ภนฺเต , ภิกขุ สงฺโฆ , อิมานิ , อจฺเจกจีวรานิ , สปริวารานิ , ปฏิคฺคณฺหาตุ
            อมฺหากํ , ฑีฆรตฺตํ , หิตาย , สุขาย.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ผ้าอัจเจกจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับผ้าอัจเจกจีวรกับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            การประเคน พระสงฆ์สวดอนุโมทนา ทายกกรวดน้ำ ตามแบบเดียวกับเรื่องการถวายผ้าจำนำพรรษา จนเสร็จพิธี
การทอดผ้าป่า
            ผ้าป่า ครั้งพุทธกาลเรียกว่า ผ้าบังสุกุลจีวร คือผ้าเปื้อนฝุ่นที่ไม่มีเจ้าของหวงแหน ทิ้งอยู่ในที่สาธารณะ ประเพณีการทอดผ้าป่ามีมาแต่ครั้งพุทธกาล เมื่อยังไม่ทรงอนุญาตให้ภิกษุรับคฤหบดีจีวร คือจีวรที่ชาวบ้านถวายโดยเฉพาะ ทรงอนุญาตแต่เพียงให้ภิกษุแสวงหาผ้าบังสุกุล นำมาซักฟอกตัดเย็บเป็นจีวรผืนใดผืนหนึ่งที่ต้องการ แล้วใช้นุ่งห่ม พุทธศาสนิกชนเห็นความลำบากของภิกษุในเรื่องนี้ ประสงค์จะบำเพ็ญกุศล ไม่ขัดต่อพุทธบัญญัติ จึงได้จัดหาผ้าที่สมควรแก่สมณบริโภค ไปทิ้งไว้ตามที่ต่าง ๆ โดยมากเป็นป่าช้าที่รู้ว่าภิกษุผู้แสวงหาเดินไป จึงเรียกว่าผ้าป่าในภาษาไทยเรา
            ในครั้งนั้น การทอดผ้าป่าไม่ได้นิยมกาล ต่อมาเมื่อทรงบัญญัติจีวรกาล คือการแสวงหา และทำจีวรขึ้น จำกัดอยู่หนึ่งเดือน นับแต่ออกพรรษาแล้ว และถ้าได้กรานกฐินด้วย จะขยายออกไปอีกสี่เดือนจนถึงวันเพ็ญเดือนสี่ การทอดผ้าป่าจึงนิยมทำขึ้นกันในระยะนี้ ส่วนมากในฤดูออกพรรษาใหม่ ๆ
            การทอดผ้าป่าที่ทำในประเทศไทย มีทำกันหลายอย่างคือ ทอดผ้าป่าและเลยทอดกฐินด้วยก็มี ทำกันอย่างสัณฐานประมาณ คือ เอาเครื่องไทยธรรมใส่ภาชนะ แล้วเอากิ่งไม้ปักเอาผ้าห้อย อุทิศตั้งไว้ตามทางที่พระเที่ยวบิณฑบาตรผ่านมา หรือนำไปตั้งไว้ตามพระอาราม แล้วให้สัญญาณให้พระภิกษุรู้ว่า มีผ้าป่ามาถึงที่ก็มี ที่ทำกันอย่างขนานใหญ่ให้ทายกรับไปคนละองค์จนครบจำนวนภิกษุสามเณรทั้งวัด แล้วนำมาทอดพร้อมกันตามกำหนด แห่แหนกันมา แล้วประชุมถวายอุทิศต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ก็มี บางแห่งทำผ้าป่าบรรทุกเรือพ่วงไปทางน้ำเรียกกันว่าผ้าป่าโยง ผ่านไปถึงวัดไหนก็ทอดวัดนั้นเรื่อยไปก็มี
            พิธีทอดผ้าป่า มีข้อสำคัญอยู่ว่าให้อุทิศเป็นผ้าป่าจริง ๆ อย่าเจาะจงถวายแก่ผู้ใดโดยเฉพาะ ถ้าทอดลับหลังพระภิกษุสงฆ์ผู้รับ เพียงแต่ตั้งใจขณะทอดว่าขออุทิศผ้า และเครื่องบริวารเหล่านี้แก่พระภิกษุผู้ต้องการผ้าบังสุกุลมาถึงเฉพาะหน้าเท่านี้ก็ถือว่าได้ทอด และถวายผ้าป่าแล้ว
            ถ้าเป็นการทอดผ้าป่าหมู่ต่อหน้าสงฆ์ผู้รับ พึงว่าคำอุทิศถวายทั้งบาลี และคำแปล ดังนี้
                อิมานิ มยํ ภนฺเต , ปํสุกุลจีวรานิ , สปริวารานิ , ภิกขุสงฺฆสฺส , โอโณชยาม ,
                สาธุโน ภนฺเต , ภิกขุสงฺโฆ , อิมานิ , ปํสุกุลจีวรานิ , สปริวารานิ , ปฏิคฺคณฺหาตุ
                อมฺหากํ , ฑีฆรตฺตํ , หิตาย , สุขาย.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าบังสุกุลจีวรกับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ผ้าบังสุกุลจีวร กับทั้งบริวารเหล่านี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            สำหรับภิกษุผู้ชักผ้าป่า ไม่ว่าเป็นผ้าแบบใด พึงยืนสงบตรงหน้าผ้า เอื้อมมือขวาจับผ้าให้จับหงายมือ แล้วกล่าววาจาหรือบริกรรมในใจว่า
                อิมํ ปํสุกุลจีวรํ อสฺสมมิกํ มยฺหํ ปาปุณาติ
            กล่าวจบแล้วชักผ้านั้นมา เป็นอันเสร็จพิธี
            ถ้าเป็นผ้าป่าถวายหมู่เมื่อชักแล้ว พึงอนุโมทนาด้วยบท วิเสสอนุโมทนา ในทานนี้นิยมใช้บท สพฺพพุทฺธานุภา เวน... หากเป็นผ้าป่าเฉพาะรูป อนุโมทนาด้วยสามัญ อนุโมทนาเท่านั้นก็ได้
            ทายกพึงกรวดน้ำ และประนมมือรับพรจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี การถวายธูปเทียน และดอกไม้เพื่อบูชา
            การถวายธูปเทียนดอกไม้ในที่นี้หมายถึงการถวายให้พระสงฆ์ นำไปบูชาพระอีกต่อหนึ่ง เท่าที่นิยมโดยทั่วไป ได้แก่การถวายในวันเข้าพรรษา เช่นถวายธูปเทียนประจำพรรษา ถวายธูปเทียนดอกไม้ เพื่อภิกษุสามเณรนำไปสัการะในพิธีเข้าพรรษา
            วิธีถวายธูปเทียนดอกไม้ นิยมทำกันสองแบบ แบบหนึ่งจัดถวายโดยประเคนเป็นรูป ๆ เช่นเดียวกับการถวายในงานต่าง ๆ หรือนำเอาไปตั้งเป็นที่ ๆ แล้วให้ภิกษุสามเณรเดินเรียงเข้ามารับตามลำดับอย่างรับบาตร มักใช้ในการถวายวันเข้าพรรษา แบบนี้ไม่ต้องกล่าวคำถวาย พระสงฆ์ไม่ต้องอนุโมทนาทันที อีกแบบหนึ่งนำมาตั้งต่อหน้าพระภิกษุสงฆ์ แล้วกล่าวคำถวาย เช่นนำ เทียนประจำพรรษา พร้อมทั้งเครื่องสัการะต่าง ๆ มาถวายประจำพระอุโบสถในวันเข้าพรรษา แบบนี้ต้องให้พระภิกษุสงฆ์ประชุมพร้อมกัน แล้วทายกกล่าวคำถวายทั้งคำบาลี และคำแปล ดังนี้
            อิมานิ มยํ ภนฺเต , ทีปธูปปุปฺผวรานิ , รตนตฺตยสฺเสว , อภิปูเชม , อมฺหากํ ,
            รตนุตฺตยสฺส บูชา , ฑีฆรตฺตํ หิตสุขาวหา , โหตุ , อาสวกฺขยปฺ ปตฺติยา
            ข้าแต่พระคุณเจ้าทั้งหลายผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชาธูปเทียนและดอกไม้ อันประเสริฐเหล่านี้แก่พระรัตนตรัย กิริยาที่บูชาแก่พระรัตนตรัยนี้ จงเป็นผลนำมาซึ่งประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน จงเป็นไปเพื่อให้ถึงซึ่งพระนิพพาน เป็นที่สิ้นไปแห่งอาสวกิเลส เทอญ ฯ
            เมื่อทายกกล่าวคำถวายจบ พระสงฆ์รับ "สาธุ" พร้อมกัน แล้วอนุโมทนา วิเสสอนุโมทนา ในทานนี้นิยมใช้ บท เต อตฺถลทฺธา... ทายกกรวดน้ำแล้วประนมมือรับพรไปจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี
การถวายธงเพื่อบูชา
            ธงเป็นหลักกุศลทานอย่างหนึ่ง ใช้สำหรับยกขึ้นเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าที่ตรงนั้นเป็นที่วัด หรือที่ตั้งปูชนียสถาน สำหรับประดับบูชาปูชนียวัตถุสถานให้งดงาม และประกอบการศาสนพิธีอย่างอื่น ๆ อีกประการหนึ่ง ถือเป็นประเพณีนานมาแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ธงที่นิยมใช้ในพระพุทธศาสนา เป็นธงทำด้วยผ้าผืนยาวทั้งผืน
สำหรับยกขึ้นเหนือที่ตั้งปูชนียวัตถุสถาน เพื่อเป็นเครื่องหมายให้รู้ เป็นธงขนาดใหญ่ หน้ากว้างประมาณหนึ่งศอก หรือศอกเศษทำเป็นธงปฏาก คือเย็บผ้าด้านหนึ่งติดกับก้านไม้  ซึ่งเหลาให้แข็งแรงพอสมควร ให้ก้านไม้นั้นยาวเลยหน้าผ้าออกไปทั้งสองข้าง สำหรับผูกสายโยงติดธงริ้วรูปสามเหลี่ยมเล็กที่หัวก้านไม้ทั้งสองข้าง และผูกเชือกทำสายโยงที่หัวก้านไม้แต่ละเส้น รวบปลายเชือกโยงสองเส้นนั้นให้ติดกันในตอนบน มัดกับคันธงที่ทำด้วยเสาหรือไม้ไผ่ทั้งลำ ส่วนหน้าผ้าตอนปลายอีกด้านหนึ่ง ก็เย็บติดกับก้านไม้เหลายาวกว่าหน้าผ้า และติดธงริวเล็กที่หัวก้านไม้ทั้งสองข้าง ผืนผ้าจะเขียนลวดลายหรือรูปประกอบก็ทำได้ตามที่เห็นสมควร ธงดังกล่าวเป็นแบบธงปฏากของโบราณ อาจทอเป็นธงทั้งผืนโดยเฉพาะเป็นรูปตัวตะขาบ โดยใส่ซี่ไม้ไผ่หรือหวายในขณะทอเป็นระยะ ๆ ติดธงริ้วเล็ก ๆ ที่หัวซี่ที่ใส่นั้นด้วย เมื่อเสร็จเป็นผืนธงแล้วยกขึ้นดูไกล ๆ คล้ายตัวตะขาบ บางแห่งวัวัฒนาการรูปธงมาเป็นธงชาย คือทำด้วยผืนผ้ายาวขนาดเท่าหน้ากว้างของผ้าส่วนครึ่งเศษเล็กน้อย ติดหน้ากว้างของผ้ากับคันธง เมื่อยกคนธงขึ้นแล้วปล่อยให้ผืนธงเป็นชายสบัดพริ้วไปตามลม ธงแบบนี้เรียกว่า ธงชาย มักนิยมทำด้วยผ้าสีเหลือง กลางผืนธงมีรูปเสมาธรรมจักร เรียกกันว่า ธงธรรมจักร เป็นเครื่องหมายของพระพุทธศาสนาโดยเฉพาะ
            สำหรับธงประดับปูชนียวัตถุสถาน และสำหรับประกอบศาสนพิธีอื่น ๆ ส่วนมากนิยมทำเป็นธงชาย และธงริ้วขนาดเล็ก สำหรับใช้ห้อย และติดบูชาตามบริเวณปูชนียวัตถุสถาน หรือบริเวณพิธี
            การถวายธง  มีเรื่องเล่าว่า ผู้ไปในทางกันดาร ไปพบเจดีย์สถานที่ควรบูชา ไม่มีอะไรจะบูชา จึงเอาผ้าสาฏกแบบผ้าห่มของตนผูกปลายไม้ยกขึ้นปักบูชา ดังนั้น ธงบูชาจึงเป็นรูปธงปฏากแต่ดังเดิม และธงนี้นับเข้าเป็นเครื่องบูชาอย่างสูงประการหนึ่ง ทำกันเป็นประเพณีมานานแล้ว ในคราวถวายผ้ากฐินวัดใดแล้ว นิยมถวายยกธงขึ้นไว้หน้าวัดนั้นด้วย เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย และเป็นเครื่องหมายให้รู้ว่าวัดนั้นได้รับกฐินไปแล้ว บางแห่งนิยมถวายธงบูชาในเทศกาลตรุษสงกรานต์ อันเป็นเทศกาลเปลี่ยนปีศักราชในสมัยก่อน
            การถวายธงผู้ถวายไม่ต้องประกอบพิธีอะไรมาก นอกจากเตรียมธงถวายพร้อมที่จะยกขึ้นบูชา แล้วนำไปยังสถานที่ที่ต้องการจะยกขึ้นบูชา ก่อนยกพึงตั้งจิตระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ด้วยการจุดธูปเทียน กล่าวคำบูชาพระรัตนตรัยก่อน แล้วกล่าวคำถวายธงตามแบบ ถ้าร่วมกันถวายหลายคนให้กล่าวคำถวายพร้อม ๆ กัน ดังนี้
            มยํ อิมินา , ธชปฏาเกน , รตนตฺตยํ , อภิปูเชม , อยํ ธชปฏาเกน , รตนตฺตยํปูชา ,
            อมฺหากํ ฑีฆรตฺตํ , หิตาย , สุขาย , สํวตฺตตุ
            ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชาพระรัตนตรัย ด้วยธงแผ่นผ้านี้ กิริยาที่บูชา พระรัตนตรัยด้วยธงแผ่นผ้านี้
            ขอจงเป็นไปเพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
การถวายเวจกุฎี
            เวจกุฎี ได้แก่ส้วมหรือสถานที่สำหรับถ่ายอุจจาระ และปัสสาวะในวัด มีพุทธานุญาตไว้ให้ภิกษุสงฆ์สร้างขึ้น ให้เป็นส่วนสัดโดยเฉพาะ ห้ามภิกษุสามเณรถ่ายไม่เป็นที่ ยิ่งกว่านั้นยังทรงตั้งธรรมเนียมที่พึงปฏิบัติในเวจกุฎีไว้หลายประการ จัดเป็นกิจวัตรหนึ่งในพระวินัย
            การถวายเวจกุฎี นับเข้าในเสนาสนะทานประการหนึ่ง แต่เวจกุฎีตั้งอยู่ในที่ไม่เปิดเผย ไม่สมควรที่จะไปประกอบพิธียังสถานที่ตั้ง ควรใช้สถานที่สมควรในวัด เช่น ศาลาการเปรียญ เป็นบริเวณพิธี แล้วล่ามสายสิญจน์จากเวจกุฎีที่จะถวายมายังบริเวณพิธี พิธีถวายให้เจ้าภาพจับสายสิญจน์ประนมมือ ตั้งนโมสามจบ แล้วกล่าวคำถวายตามแบบ ดังนี้
            มยํ ภนฺเต อิมํ , วจฺจกุฎึ อาคตา นาคตสฺส จาตุทฺทิสสฺส , ภิกษุสงฺฆสฺส ,
            โอโณชยาม , สาธุโน ภนฺเต , ภิกขุ สงฺฆสฺโฆ  อิมํ วจฺจกฎี ปฏิคฺคณฺหาตุ
            อมฺหากํ , ฑีฆรตฺตํ , หิตาย , สุขาย.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย เวจกฎีหลังนี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ที่มีในทิศทั้งสี่ ที่มาแล้วก็ดี ที่ยังไม่มาก็ดี ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ เวจกุฎี หลังนี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            พระสงฆ์รับ "สาธุ" และอนุโมทนา ใช้วิเสสอนุโมทนาบทวิหารทานคาถา สีตํ อุณหํ ปฏิหนฺติ...อย่างอนโมทนาทานอื่น ๆ เป็นอันเสร็จพิธี
การถวายสะพาน
            สะพานท่านจัดเข้าไว้ในอนวัชชกรรม การกระทำที่ไม่มีดโทษ มีแต่ประโยชน์เดียว ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่า เป็นมงคลประการหนึ่ง เหมือนการขุดบ่อสระ และปลูกสวนผลไม้ไว้ในวัด เป็นต้น การสร้างสะพานในวัด หรือเป็นทางเข้าวัด ต้องหวังผลให้เป็นสาธารณประโยชน์ คือต้องอุทิศให้เป็นของกลาง
            พิธีถวาย จะประกอบขึ้นในสถานที่ตั้งสะพานนั้น หรือจะทำที่ศาลาการเปรียญในวัดก็ได้ ถ้าประกอบห่างจากที่ตั้งสะพาน พึงล่ามสายสิญจน์จากสะพานไปยังบริเวณพิธี การถวายเช่นเดียวกับการถวายเสนาสนะอื่น ๆ ที่กล่าวแล้ว ผู้ถวายบูชาพระรัตนตรัยก่อนด้วย ตั้ง นโมสามจบ แล้วกล่าวคำถวายตามแบบ ถ้าล่ามสายสิญจน์พึงประกอบพิธีถวายด้วย คำถวายมี ดังนี้
            มยํ ภนฺเต , อิมํ เสตํ , มหาชนานํ , สาธารณตฺถาย , นิยาเทม , สาธุโน ภนฺเต ,  สงฺโฆ ,
            อิมสฺมึ , เสตุมฺหิ , นิยาทิเต  สกฺขิโก โหตุ , อิทํ เสตุ ทานํ , อมฺหากํ , ฑีฆรตฺตํ , หิตาย , สุขาย , สํวตฺตตุ.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวาย ซึ่งสะพานนี้ เพื่อประโยชน์ทั่วไปแก่มหาชนทั้งหลาย ขอพระสงฆ์จงเป็นพยาน แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ในสะพานที่ข้าพเจ้าทั้งหลายได้มอบให้แล้วนี้ ขอเสตุทานนี้ จงเป็นไปเพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            จบคำถวายแล้วพระสงฆ์รับ "สาธุ" แล้วอนุโมทนา นิยมใช้บทวิเสสอนุโมทนา บทนิธิกัณฑ์ จบอนุโมทนาแล้ว เป็นอันเสร็จพิธี
การถวายทานพิเศษ

            มีการถวายสิ่งอื่น ๆ นอกจากวัสดุสิ่งของอันเป็นปัจจัยสี่ ในการครองเพศบรรพชิต เรียกว่า ทานพิเศษ ได้แก่ การถวายปราสาทผึ้ง การถวายโรงอุโบสถ การถวายยานพาหนะ การถวายคัมภีร์พระไตรปิฎก และการถวายคัมภีร์พระธรรม
            พิธีถวายทำเช่นเดียวกับการถวายสิ่งอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกันดังกล่าวมาแล้ว แตกต่างกันเพียงคำถวาย ดังนี้
            คำถวายปราสาทผึ้ง  มยํ  ภนฺเต , อิมํ , สปริวารํ มธุปุปฺผปาสาทํ , อิมสฺมึ วิหาเร , ภิกฺขุสงฺฆสฺส , โอโณชยาม , สาธุโน ภนฺเต , ภิกฺขุสงฺโฆ ,
            อิมํ , สปริวารํ , มธุปุปผปาสาทํ ปฏิคคณฺหาตุ อมฺหากํ , ฑีฆรตฺตํ , หิตาย , สุขาย
            ข้าแต่พระสงฆ์เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายปราสาทผึ้งกับบริวาร แก่พระภิกษุสงฆ์ ในวิหารวัดนี้ ขอภิกษุสงฆ์จงรับปราสาทผึ้งนี้ กับทั้งบริวาร ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            คำถวายโรงอุโบสถ  มยํ ภนฺเต , อิมํ อุโปสถาคารํ , สงฺฆสฺส , นิยฺยาเทม , สาธุโน ภนฺเต , สงฺโฆ , อิมํ , อุโปสถาคารํ , ปฏิคฺคณฺหาตุ , อมฺหากํ ฑีฆรตฺตํ , หิตาย , สุขาย.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวาย ซึ่งโรงอุโบสถหลังนี้ แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับ ซึ่งอุโบสถหลังนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            คำถวายยานพาหนะ  มยํ ภนฺเต , อิมํ มานํ , ภิกฺขุสงฺฆสฺส , นิยฺยาเทม , สาธุโน ภนฺเต , ภิกฺขุ สงฺโฆ , อิมํ , ยานํ , ปฏิคฺคณฺหาตุ , อมฺหากํ ฑีฆรตฺตํ , หิตาย , สุขาย.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอมอบถวายซึ่งยานพาหนะนี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งยานพาหนะนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            คำถวายคัมภีร์พระไตรปิฎก  มยํ ภนฺเต , อิมํ , สปริวารํ , เตปิฎก คนฺถํ สาตถํ  สพฺพยญฺชนํ , เกวลปริปุณณํ ปริสุทฺธํ , จาตุทฺทิสสฺส ภิกฺขุสงฺฆสฺส , โอโณชยาม, สาธุโน ภนฺเต , ภิกฺขุสงฺโฆ , อิมํ , สปริวารํ , เตปิฎกคนฺถํ , สาตฺกํ สพยญฺชนํ , เกวลปริปุณณํ , ปริสุทธํ ปฏิคฺคณฺหาตุ อมฺหากํ , ฑีฆรตฺตํ หิตาย , สุขาย.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวาย ซึ่งคัมภีร์พระไตรปิฎก อันมีอรรถะและพยัญชนะครบถ้วนกระบวนความ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง กับทั้งบริวารเหล่านี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ผู้มีในทิศทั้งสี่ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งคัมภีร์พระไตรปิฎก อันมีอรรถะพยัญชนะครบถ้วนกระบวนความ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง กับทั้งบริวารนี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์ และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
            คำถวายคัมภีร์พระธรรม  มยํ ภนฺเต , อิมํ , สปริวารํ , โปฏฐกคนฺถํ พหุชฺชนหิตาย , พหุชฺชนสุขาย , มหาเถเรหิ ยุตฺตปฺปยุตฺตํ ธมฺมลทฺธํ จาตุทฺทิสสฺส , ภิกฺขุสงฺฆสฺส โอโณชยาม. สาธุโน ภนฺเต , ภิกฺขุสงฺโฆ , อิมํ , สปริวารํ , โปฏฐกลนฺถํ. พหุชฺชนหิตาย , พหุชฺชนสุขาย มหาเถเรหิ ยุตฺตปฺปยุตฺตํ ธมฺมลทฺธํ , ปฏิคฺคณฺหาตุ , อมฺหากํ , ฑีฆรตฺตํ หิตาย , สุขาย.
            ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวาย ซึ่งคัมภีร์พระธรรม อันพระมหาเถรทั้งหลาย ชำระสอบทานแล้ว อันเกิดขึ้นโดยธรรม อันได้มาโดยธรรม กับทั้งบริวารนี้ แก่พระภิกษุสงฆ์ ผู้มีในทิศทั้งสี่ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับ ซึ่งคัมภีร์พระธรรมอันพระมหาเถรทั้งหลาย ชำระสอบทานแล้ว อันเกิดขึ้นแล้วโดยธรรม อันได้มาโดยธรรม กับทั้งบริวารนี้ ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ

| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ | บน |