| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป| ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ |

งานวันสารท
            วันสารท  คือวันทำบุญกลางปีตามประเพณีนิยมของคนไทย มีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุพพการี หรือญาติที่ล่วงลับไปแล้วในวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ นับจากวันสงกรานต์ตามจันทรคติ จนถึงวันสาร์ทจะครบหกเดือนพอดี วันสารทในแต่ละท้องถิ่นของไทย จะมีการคลาดเคลื่อนไปบ้าง เช่น ในภาคกลางกำหนดวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันรับตายาย หรือทำบุญกลางเดือนสิบ วันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันทำบุญอีกวันหนึ่ง เรียกว่า วันส่งตายาย ชาวรามัญกำหนด วันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนสิบเอ็ด เป็นวันสารทมอญ ชาวลาวกำหนดวันแรม ๑๔ ค่ำเดือนสิบเอ็ด เรียกว่า วันสารทลาว
            วันสารทเป็นวันที่ถือคติสืบต่อกันมาว่า ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว จะมีโอกาสได้กลับมารับส่วนบุญ จากญาติพี่น้องที่มีชีวิตอยู่ ดังนั้นจึงมีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ญาติที่ล่วงลับไปแล้วในวันนี้
            ขนมในวันสารทที่ใช้ในวันสารทจะขาดเสียมิได้อย่างหนึ่งคือ กระยาสารท เป็นขนมที่ต้องทำด้วยข้าวตอก กวนกับน้ำตาล ใส่ถั่วลิสง และงาลงไปด้วย เป็นของประเพณี นอกจากนี้บางแห่งก็มี ขนมกง ขนมเจาะหู ข้าวต้มลูกโยน ก็มี
            เมื่อถึงวันสารทไทย ชาวบ้านจะเตรียมแต่งตัว จัดแจงข้าวปลาอาหาร ขนมสารท พากันไปทำบุญตักบาตรที่วัดประจำหมู่บ้านของตน ทายกทายิกาก็ไปถือศีลกินเพลอยู่ที่วัดบ้าง บรรดาหนุ่มสาวก็เอากระยาสารทไปส่งตามหมู่บ้านญาติ เป็นการเยี่ยมเยียนถามสารทุกข์สุกดิบกันในโอกาสนี้
            มีประเพณีของชาวพุทธที่แทรกอยู่ในเรื่องของสารทไทย คือบางแห่งนิยมตักบาตรน้ำผึ้ง บางแห่งมีตักบาตรน้ำตาลทรายด้วย โดยถือคติตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จประทับจำพรรษาอยู่ที่ป่าลิไลยก์พระองค์เดียว มีช้างป่าลิเลยยกะ กับลิง เป็นผู้คอยถวายอุปัฏฐาก ช้างเป็นผู้คอยถวายน้ำฉันน้ำใช้ ลิงคอยหาผลไม้มาถวาย และเอาน้ำผึ้งรวงมาถวายด้วย ชาวไทยเราจึงถือเป็นประเพณีว่าควรมีการตักบาตรน้ำผึ้งถวายในโอกาสนี้ เพราะยังอยู่ในฤดูจำพรรษาของพระสงฆ์
การทอดกฐิน

            การทอดกฐิน เป็นประเพณีที่สำคัญของพุทธศาสนิกชนอย่างหนึ่ง นิยมทำกันตั้งแต่วันแรมค่ำเดือนสิบเอ็ด ไปจนถึงกลางเดือนสิบสอง คำว่ากฐิน แปลว่ากรอบไม้หรือสะดึง สำหรับใช้ขึงผ้าเย็บจีวรของพระภิกษุ การทอดกฐินคือ การนำผ้ากฐินไปวางไว้ต่อหน้าพระสงฆ์อย่างต่ำห้ารูป แล้วให้พระสงฆ์รูปใดรูปหนึ่งที่ได้รับมอบหมาย จากคณะสงฆ์ทั้งนั้นเป็นเอกฉันท์ให้เป็นผู้รับกฐินนั้น
            การที่มีประเพณีทอดกฐินมีเรื่องว่า ในครั้งพุทธกาล พระภิกษุชาวปาไถยรัฐ (ปาวา) ผู้ทรงธุดงค์ จำนวน ๓๐ รูป เดินทางไกลไปไม่ทันเข้าพรรษา เหลือทางอีกหกโยชน์จะถึงนครสาวัตถี จึงตกลงพักจำพรรษาที่เมืองสาเกตตลอดไตรมาส เมื่อออกพรรษาจึงเดินทางไปเฝ้าพระบรมศาสดา ณ เชตวันมหาวิหารนครสาวัตถี ภิกษุเหล่านั้นมีจีวรเก่า เปื้อนโคลน และเปียกชุ่มด้วยน้ำฝน ได้รับความลำบากตรากตรำมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงถือเป็นมูลเหตุ ทรงมีพุทธานุญาตให้ภิกษุที่จำพรรษาครบสามเดือนกรานกฐินได้ และให้ได้รับอานิสงส์ ห้าประการคือ
            ๑)  เที่ยวไปไหนไม่ต้องบอกลา
            ๒)  ไม่ต้องถือไตรจีวรไปครบ
            ๓)  ฉันคณะโภชน์ได้
            ๔)  ทรงอติเรกจีวรได้ตามปรารถนา
            ๕)  จีวรอันเกิดขึ้นนั้นจะได้แก่พวกเธอ และได้ขยายเขตอานิสงส์ห้าอีกสี่เดือน นับแต่กรานกฐินแล้วจนถึงวันกฐินเดาะเรียกว่า มาติกาแปด คือการกำหนดวันสิ้นสุดที่จะได้จีวร คือ
            กำหนดด้วยหลีกไป กำหนดด้วยทำจีวรเสร็จ กำหนดด้วยตกลงใจ กำหนดด้วยผ้าเสียหาย กำหนดด้วยได้ยินข่าว กำหนดด้วยสิ้นหวัง กำหนดด้วยล่วงเขต กำหนดด้วยเดาะพร้อมกัน
            ฉะนั้น เมื่อครบวันกำหนดกฐินเดาะแล้ว ภิกษุก็หมดสิทธิ์ต้องรักษาวินัยต่อไป พระสงฆ์จึงรับผ้ากฐินหลังออกพรรษาไปแล้ว หนึ่งเดือนได้ จึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้
            การทอดกฐินในปัจจุบัน ถือว่าเป็นทานพิเศษ กำหนดเวลาปีหนึ่งทอดถวายได้เพียงครั้งเดียว ตามอรรถกถาฎีกาต่าง ๆ พอกำหนดได้ว่าชนิดของกฐินมีสองลักษณะ คือ
         จุลกฐิน  การทำจีวร พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท ทุกฝ่ายต้องช่วยกันทำให้เสร็จภายในกำหนดหนึ่งวัน ทำฝ้าย ปั่น กรอ ตัด เย็บ ย้อม ทำให้เป็นขันธ์ได้ขนาดตามพระวินัย แล้วทอดถวายให้เสร็จในวันนั้น
         มหากฐิน  คืออาศัยปัจจัยไทยทานบริวารเครื่องกฐินจำนวนมากไม่รีบด่วน เพื่อจะได้มีส่วนหนึ่งเป็นทุนบำรุงวัด คือทำนวกรรมบ้าง ซ่อมแซมบูรณของเก่าบ้าง ปัจจุบันนิยมเรียกกันว่า กฐินสามัคคี
            การทอดกฐินในเมืองไทย แบ่งออกตามประเภทของวัดที่จะไปทอด คือพระอารามหลวง ผ้าพระกฐินที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานด้วยพระองค์เอง หรือโปรดเกล้า ฯ ให้พระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ไปพระราชทาน เครื่องกฐินทานนี้จัดด้วยพระราชทรัพย์ของพระองค์เอง เรียกว่า กฐินหลวง บางทีก็เสด็จไปพระราชทานยังวัดราษฎร์ด้วย นิยมเรียกว่า กฐินต้น ผ้ากฐินทานนอกจากที่ได้รับกฐินของหลวงโดยตรงแล้ว พระอารามหลวงอื่น ๆ จะได้รับ กฐินพระราชทาน ซึ่งโปรดเกล้า ฯ พระราชทานผ้ากฐินทาน และเครื่องกฐินแก่พระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ส่วนราชการ หรือเอกชนให้ไปทอด โดยรัฐบาลโดยกรมศาสนาจัดผ้าพระกฐินทาน และเครื่องกฐินถวายไป ผู้ได้รับพระราชทานอาจจะถวายจตุปัจจัย หรือเงินทำบุญที่วัดนั้นโดยเสด็จในกฐินพระราชทานได้
            ส่วนวัดราษฎร์ทั่วไป คณะบุคคลจะไปทอดโดยการจองล่วงหน้าไว้ก่อนตั้งแต่ในพรรษา ก่อนจะเข้าเทศกาลกฐินถ้าวัดใดไม่มีผู้จอง เมื่อใกล้เทศกาลกฐิน ประชาชนทายกทายิกาของวัดนั้น ก็จะรวบรวมกันจัดการทอดกฐิน ณ วัดนั้นในเทศกาลกฐิน
         การจองกฐิน  วัดราษฎร์ทั่วไป นิยมทำเป็นหนังสือจองกฐินไปติดต่อประกาศไว้ยังวัดที่จะทอดถวาย เป็นการเผดียงสงฆ์ให้ทราบวันเวลาที่จะไปทอด หรือจะไปนมัสการเจ้าอาวาสให้ทราบไว้ก็ได้ สำหรับการขอพระราชทานผ้าพระกฐินไปทอด ณ พระอารามหลวงให้แจ้งกรมการศาสนา เพื่อขึ้นบัญชีไว้กราบบังคมทูลและแจ้งให้วัดทราบ ในทางปฏิบัติผู้ขอพระราชทานจะไปติดต่อกับทางวัดในรายละเอียดต่าง ๆ จนก่อนถึงวันกำหนดวันทอด จึงมารับผ้าพระกฐิน และเครื่องกฐินพระราชทานจากกรมศาสนา
         การนำกฐินไปทอด  ทำได้สองอย่าง อย่างหนึ่งคือนำผ้ากฐินทานกับเครื่องบริวารที่จะถวายไปตั้งไว้ ณ วัดที่จะทอดก่อน พอถึงวันกำหนดเจ้าภาพผู้เป็นเจ้าของกฐิน หรือรับพระราชทานผ้ากฐินทานมาจึงพากันไปยังวัดเพื่อทำพิธีถวาย อีกอย่างหนึ่ง ตามคติที่ถือว่าการทอดกฐินเป็นการถวายทานพิเศษแก่พระสงฆ์ที่ได้จำพรรษาครบไตรมาส นับว่าได้กุศลแรง จึงได้มีการฉลองกฐินก่อนนำไปวัดเป็นงานใหญ่ มีการทำบุญเลี้ยงพระที่บ้านของผู้เป็นเจ้าของกฐิน และเลี้ยงผู้คน มีมหรสพสมโภช และบางงานอาจมีการรวบรวมปัจจัยไปวัดถวายพระอีกด้วยเช่น ในกรณีกฐินสามัคคี พอถึงกำหนดวันทอดก็จะมีการแห่แหนเป็นกระบวนไปยังวัดที่จะทอด มีเครื่องบรรเลงมีการฟ้อนรำนำขบวนตามประเพณีนิยม
         การถวายกฐิน นิยมถวายในโบสถ์ โดยเฉพาะกฐินพระราชทาน ก่อนจะถึงกำหนดเวลาจะเอาเครื่องบริวารกฐินไปจัดตั้งไว้ในโบสถ์ก่อน ส่วนผ้ากฐินพระราชทานจะยังไม่นำเข้าไป พอถึงกำหนดเวลาพระสงฆ์ที่จะรับกฐิน จะลงโบสถ์พร้อมกัน นั่งบนอาสนที่จัดไว้ เจ้าภาพของกฐิน พร้อมด้วยผู้ร่วมงานจะพากันไปยังโบสถ์ เมื่อถึงหน้าโบสถ์เจ้าหน้าที่จะนำผ้าพระกฐินไปรอส่งให้ประธาน ประธานรับผ้าพระกฐินวางบนมือถือประคอง นำคณะเดินเข้าสู่โบสถ์ แล้วนำผ้าพระกฐินไปวางบนพานที่จัดไว้หน้าพระสงฆ์ และหน้าพระประธานในโบสถ์ คณะที่ตามมาเข้านั่งที่ ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย แล้วกราบพระพุทธรูปประธานในโบสถ์แบบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง แล้วลุกมายกผ้าพระกฐินในพานขึ้น ดึงผ้าห่มพระประธานมอบให้เจ้าหน้าที่ รับไปห่มพระประธานทีหลัง แล้วประนมมือวางผ้าพระกฐินบนมือทั้งสอง หันหน้าตรงพระสงฆ์แล้วกล่าวคำถวายผ้าพระกฐิน จบแล้วพระสงฆ์รับ สาธุการ ประธานวางผ้าพระกฐินลงบนพานเช่นเดิม แล้วกลับเข้านั่งที่ ต่อจากนี้ไปเป็นพิธีกรานกฐินของพระสงฆ์
            กฐินของประชาชน หรือ กฐินสามัคคี หรือในวัดบางวัดนิยมถวายกันที่ศาลาการเปรียญ หรือวิหารสำหรับทำบุญ แล้วเจ้าหน้าที่จึงนำผ้ากฐินที่ถวายแล้วไปถวายพระสงฆ์ ทำพิธีกรานกฐินในโบสถ์เฉพาะพระสงฆ์อีกทีหนึ่ง
         การทำพิธีกฐินัตการกิจของพระสงฆ์  เริ่มจากการกล่าวคำขอความเห็นที่เรียกว่า อปโลกน์ และการสวดญัตติทุติยกรรม คือการยินยอมยกให้ ต่อจากนั้นพระสงฆ์รูปที่ได้รับความยินยอม นำผ้าไตรไปครองเสร็จแล้วขึ้นนั่งยังอาสนเดิม ประชาชนผู้ถวายพระกฐินทาน ทายกทายิกา และผู้ร่วมบำเพ็ญกุศล ณ ที่นั้น เข้าประเคนสิ่งของอันเป็นบริวารขององค์กฐินตามลำดับจนเสร็จแล้ว พระสงฆ์ทั้งนั้นจับพัด ประธานสงฆ์เริ่มสวดนำด้วยคาถาอนุโมทนา ประธานหรือเจ้าภาพ กรวดน้ำ และรับพรจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี
         คำถวายกฐิน  มีอยู่สองแบบด้วยกันคือ แบบเก่า และแบบใหม่ ดังนี้
                คำถวายแบบเก่า อิมํ  สปริวารํ  กฐินจีวรทสฺสํ  สงฺฆสฺส  โอโณชยาม (กล่าวสามหน)
  ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน พร้อมกับของบริวารนี้แก่พระสงฆ์ (กล่าวสามหน)
                คำกล่าวแบบใหม่  อิมํ  มยํ  ภนฺเต  สปริวารํ กฐินจีวรทสฺสํ   สงฺฆสฺส  โอโณชยาม  สาธุ  โน  ภนฺเต  สงฺโฆ  อิมํ
  ปริวารํ  กฐินจีวรทุสฺสํ  ปฏิคฺคณฺหาตุ  ปฏิคฺคเหตฺวา  จ  อิมินา  ทุสฺเสน  กฐินํ  อตฺถรตุ  อมฺหากํ  ฑีฆรตฺตํ  หิตาย  สุขาย
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอน้อมถวายผ้าจีวรกฐิน กับของบริวารนี้แก่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับผ้ากฐิน พร้อมกับของบริวารของข้าพเจ้าทั้งหลาย ครั้งรับแล้วจงกราลกฐินด้วยผ้าผืนนี้ เพื่อประโยชน์ และความสุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนาน เทอญ ฯ
งานลอยกระทงตามประทีป

            การลอยกระทงตามประทีป ถือเป็นประเพณีมาแต่โบราณว่า เพื่อบูชารอยพระพุทธบาท ซึ่งประดิษฐานอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำนัมมทาในชมพูทวีป โดยคติตามเรื่องที่กล่าวไว้ในอรรถกถาปุณโณวาทสูตรว่า
            สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาได้เสด็จไปยังแม่น้ำนัมมทานที พญานัมมทานาคราช อาราธนาให้เสด็จไปสู่นาคพิภพด้วยศรัทธาเลื่อมใส เพื่อจะถวายสักการบูชา พระองค์จึงเสด็จไปตรัสเทศนาแก่พญานาคราชพร้อมทั้งบริวารแล้วเสด็จกลับ พญานาคราชได้กราบทูลขอสิ่งที่ระลึกอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ เพื่อเป็นอนุสาวรีย์ที่กราบไหว้บูชาในกาลต่อไป พระผู้มีพระภาคจึงประทานให้ตามความประสงค์โดยประดิษฐาน รอยพระพุทธบาทไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมมทานทีนั้น ให้เป็นที่สักการบูชาของพญานาคราชสืบต่อไป
            ด้วยความเป็นมาดังกล่าว จึงได้เกิดมีประเพณีลอยกระทงตามประทีปขึ้นในหมู่พุทธศาสนิกชน เพื่อบูชารอยพระพุทธบาทดังกล่าวนั้น ประเพณีนี้มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี และนิยมทำกันเป็นประเพณีในวันเพ็ญเดือนสิบสอง ซึ่งเป็นฤดูน้ำเหนือลด ดังปรากฏในหนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระสนมเอกของพระมหาธรรมราชาลิไทย และเป็นธิดาพระศรีมโหสถ ได้เรียบเรียงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยพระราชพิธีสิบสองเดือน ในราชสำนัก มีความตอนหนึ่งว่า
            เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง พระร่วงเจ้ารับสั่งให้บรรดาพระสนมนางในเถ้าแก่ชะแม่ท้าวนางทั้งหลาย ตกแต่งกระทงประดับดอกไม้ธูปเทียนนำลงลอยน้ำ หน้าพระที่นั่งตามประเพณีของกษัตริย์โบราณที่มีมา ตัวท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งขณะนั้นมีชื่อว่า นางเรวดีนพมาศ ก่อนถวายตัวเข้ามาอยู่ในพระราชวังคิดเห็นว่า ในวันเพ็ญเดือนสิบสองตามปกติย่อมมีบัวสายชนิดหนึ่งบานในเวลากลางคืน ผิดกว่าบัวสายอื่น ๆ ที่ดอกบานเวลากลางวัน ดอกบัวดังกล่าวนี้เรียกว่า ดอกกมุท เป็นดอกบัวพิเศษปีหนึ่งมีดอกบานครั้งเดียวในวันนี้เท่านั้น จึงเห็นสมควรว่ากระทงที่จะแต่งประทีปลอยบูชาพระพุทธบาท ให้เข้ากับพิธีพราหมณ์โบราณ และตกแต่งเป็นเครื่องสักการะด้วยดอกไม้ที่มีในสมัย จึงได้จัดเย็บกระทงเป็นรูปดอกกมุท แต่ละกลีบติดประทีปน้ำมันเปรียวพระโคนำ ลงลอยหน้าพระที่นั่ง เป็นที่สะดุดตาคนทั่วไป
            พระร่วงจึงรับสั่งถามความหมายนางก็ทูลอธิบายเหตุผลได้จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงได้รับสั่งในที่ประชุมวันนั้นว่า ต่อไปเบื้องหน้าขอให้ทุกคนเอาอย่างนางเรวดีนพมาศนี้ จงแต่งกระทงประทีปลอยในวันเพ็ญเดือนสิบสองให้เป็นรูปดอกกมุทสืบไป
            การลอยกระทงตามประทีป ที่ราษฎรนิยมทำกันเป็นประเพณีในปัจจุบันคือ ถ้าเป็นพิธีที่ร่วมกันทำเป็นหมู่คณะเช่นที่ ทำกันทางภาคเหนือ วัดทั้งหลายเป็นหัวหน้านำศรัทธาวัดของตน จัดทำกระทงใหญ่เป็นประธานของวัดขึ้น กระทงหนึ่งตกแต่งประกวดกัน เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสิบสอง ตั้งแต่เวลาย่ำค่ำเป็นต้นไป แต่ละวัดจะแห่กระทงประธานของวัดตนไปสู่ท่าน้ำตามที่นัดหมายเป็นที่สนุกสนาน มีกระทงอื่น ๆ ของศรัทธาแห่เข้าขบวนตามกันไปแล้วไปตั้งประกวดกันที่ท่าน้ำ เมื่อได้เวลาสมควรก็ร่วมกันบูชากระทงของตนแล้วนำไปลอยในแม่น้ำ ให้กระทงลอยไปตามกระแสน้ำ เมื่อลอยหมดทุกวัดและทุกหมู่คณะแล้วก็เป็นอันเสร็จพิธี
            สำหรับพิธีในภาคอื่น มักทำกันเป็นบุคคล ระเบียบพิธีจึงง่าย เป็นเรื่องเฉพาะตัว  ผู้ลอยกระทงจะเตรียมกระทงแล้วนำไปที่ท่าน้ำ จุดเทียนในกระทง แล้วกล่าวคำบูชา จบแล้วลอยกระทงตามประทีปนั้นลงในน้ำเป็นอันเสร็จพิธี
         คำถวายกระทงสำหรับลอยประทีป
                มยํ อิมินา ปทีเปน, อสุกาย, นมฺมทาย, นทิยา, ปุลิเน ฐิตํ, มุนิโน, ปาทวลญฺชํ, อภิปูเชม, อยํ, ปทีเปน, มุนิโน ปาทวลญฺชสฺส, ปูชา, อมฺหากํ, ฑีฆรตฺตํ, หิตาย, สุขาย, สํวตฺตตุ
            ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอบูชารอยพระพุทธบาทที่ตั้งอยู่เหนือหาดทราย ในแม่น้ำชื่อนัมมทานที ด้วยประทีปนี้ กิริยาที่บูชารอยพระพุทธบาทด้วยประทีปนี้ ขอจงเป็นไปเพื่อประโยชน์และความสุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย สิ้นกาลนาน เทอญ ฯ
งานวันขึ้นปีใหม่
            งานวันขึ้นปีใหม่ เป็นวันเทศกาลที่ประชาชนมีประเพณีทำบุญ และมีงานรื่นเริงต่าง ๆ ได้แก่มหรสพ หรือการละเล่นพื้นเมือง รวมทั้งการเที่ยวเตร่หาความสนุกสนาน เป็นการเฉลิมฉลองการขึ้นปีใหม่ เพื่อความสุข และความมีศิริมงคล งานวันปีใหม่นิยมมีงานสองวันติดต่อกัน คือวันสิ้นปีเก่า และวันขึ้นปีใหม่
            ประเทศไทยได้กำหนดเอาวันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๓๒ และได้เปลี่ยนมาเป็นวันที่ ๑ มกราคม ตามแบบสากล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔
            สมัยเมื่อใช้วันที่ ๑ เมษายน เป็นวันขึ้นปีใหม่ มีการจัดงานพระราชพิธีส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ต่อเนื่องกันเป็นพระราชพิธีตรุษ และพระราชพิธีเถลิงศกสงกรานต์ เริ่มต้นงานตั้งแต่วันที่ ๒๘ มีนาคม ไปสิ้นสุดในวันที่ ๒ เมษายน ในระหว่างนี้มีงานบำเพ็ญพระราชกุศล และงานพระราชพิธีอื่นแทรกหลายอย่าง ปัจจุบันเมื่อเปลี่ยนเป็นวันที่ ๑ มกราคมเป็นวันขึ้นปีใหม่งานพระราชพิธีอย่างเก่าจึงเปลี่ยนแปลงไป และยกเลิกไปก็มีมีการแยกงานพระราชพิธีตรุษ และพระราชพิธีเถลิงศก สงกรานต์เป็นสองงานคือ พระราชพิธีขึ้นปีใหม่งานหนึ่ง และพระราชพิธีสงกรานต์อีกงานหนึ่ง
            พระราชพิธีขึ้นปีใหม่ คงจัดให้มีแต่การพระราชกุศลทรงบาตร เรียกว่า พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทรงบาตรวันขึ้นปีใหม่ กำหนดทรงบาตรในตอนเช้าวันขึ้นปีใหม่ ต่อมาเห็นว่าไม่สดวกทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายฆราวาส เพราะในวันขึ้นปีใหม่ได้มีงานบำเพ็ญกุศล ฉลองวันขึ้นปีใหม่กันทั่วไป ทั้งทางราชการ และประชาชน จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้กำหนดเป็นวันที่ ๓๑ ธันวาคม ของปีเก่าแทน
           สมัยก่อนพระสงฆ์ที่นิมนต์มารับบิณฑบาตในพระบรมมหาราชวังต้องใช้บาตรมีถลกสพาย พร้อมกับถือย่าม สำหรับผลไม้และของหวาน ปัจจุบันใช้อุ้มบาตรอย่างบิณฑบาตธรรมดา แต่ถือย่ามด้วย งานพระราชพิธีทรงบาตรวันขึ้นปีใหม่ บางปีก็นิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ตามวัดต่าง ๆ มีจำนวน ๕๒๕ รูปบ้าง ๕๐๐ รูปบ้าง แบ่งออกเป็นสาย ๆ ละ ๒๕ รูป เว้นแต่สายที่เข้ารับพระราชทานจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สายนี้นิมนต์พระสงฆ์ ๕๐ รูป มีสมเด็จพระราชาคณะ หรือพระราชาคณะผู้ใหญ่เป็นหัวหน้าสายนำเข้ารับ ผู้ที่เตรียมของมาใส่บาตรจึงเตรียมมาให้พอดีกับ จำนวนพระ ๒๕ รูป เมื่อพระสงฆ์รับบิณฑบาตหมดเรียบร้อยแล้ว ทุกสายแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปทรงทักทายปราศรัยกับท่านที่มาตั้งบาตร ได้เวลาอันสมควรแล้วจึงเสด็จขึ้น
            สำหรับงานของทางราชการ และประชาชนในวันขึ้นปีใหม่ จะมีตั้งแต่คืนวันที่ ๓๑ ธันวาคม จนถึงวันที่ ๑ มกราคม คือในวันสิ้นปีทางราชการ หรือประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ จะจัดให้มีการรื่นเริงและมหรสพจนเที่ยงคืน มีการเชิญบุคคลสำคัญของบ้านเมืองเช่น ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา กล่าวคำปราศรัยทางสื่อมวลชนต่าง ๆ และในตอนสุดท้ายก่อนถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ก็จะมีพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรปีใหม่แก่ประชาชน สมเด็จพระสังฆราชประทานพรปีใหม่แก่พุทธศาสนิกชน
            เมื่อถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. วัดวาอารามต่าง ๆ จะจัดพระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ย่ำฆ้องกลองประโคม โดยทั่วกัน
            ตอนเช้า ๑ มกราคม จะมีการทำบุญตักบาตรที่วัดหรือที่ใด ๆ สุดแต่จะพอใจ
| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป| ชาติไทย | ศาสนา | พระมหากษัตริย์ |บน |