| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | พระวินัยปิฎก | พระสุตตันตปิฎก |

3 อัมพฏฐสูตร

            สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเสด็จไปในโกศลชนบท  พร้อมภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่  บรรลุถึง พราหมณคาม  ชื่ออิจฉานังคลคาม ทรงประทับอยู่ ณ  ราวป่า  อิจฉานังคลวัน
            สมัยนั้น  พราหมณ์โปกขรสาติิ อยู่ครองนคร อุกกัฏฐะ ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล  พระราชทานให้
            พราหมณ์โปกขรสาติได้สดับข่าวและเกียรติศัพท์ อันงามของพระสมณโคดม  ศากยบุตร
เรื่อง อัมพัฏฐมาณพ
            อัมพัฏฐมาณพ  ศิษย์ของพราหมณ์โปกขรสาติ เป็นผู้จบไตรเพท  พร้อมทั้งคัมภีร์ต่าง ๆ และ มหาปุริสลักษณะ
            พราหมณ์โปกขรสาติ  บอกให้อัมพัฏฐมาณพไปเฝ้าพระสมณโคดม  เพื่อให้รู้ว่าเกียรติศัพท์ของพระองค์    จริงอย่างนั้นหรือไม่ โดยดูจาก มหาปุริสลักษณะ 32 ประการ
            อัมพัฏฐมานพไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค  แล้วปราศรัยกับพระองค์ด้วยการเดินบ้าง  ยืนบ้าง ในขณะที่พระผู้มีพระภาคประทับนั่งอยู่  พระองค์จึงตรัสถามว่า เคยทำอาการเช่นนี้กับผู้เฒ่าผู้แก่
ผู้เป็นอาจารย์มาก่อนหรือ  อัมพัฏฐมาณพก็ทูลตอบว่า  ผู้เดินควรเจรจากับผู้เดิน  ผู้ยืน  ผู้นั่ง ผู้นอน ก็ควรจะเจรจากับผู้ที่อยู่ในอาการเดียวกัน
            พระผู้มีพระภาคตำหนิอัมพัฏฐมาณพว่า  เป็นคนไม่ได้รับการศึกษา  อัมพัฏฐมาณพจึงใช้วาจา กล่าวข่มว่า พวกศากยะเป็นพวกคฤหบดี  ยังไม่เคารพนับถือพวกพราหมณ์ ซึ่งไม่สมควรเลย   เพราะตนไปยังนครกบิลพัสดุ์  ไม่มีใครเชื้อเชิญให้นั่ง   และได้กล่าวข่มพวกศากยะถึงสามครั้ง
            พระผู้มีพระภาคทรงพระดำริว่า  มาณพผู้นี้กล่าวเหยียบย่ำพวกศากยะ จึงทรงถามถึงโครตรของมาณพ
ก็ได้รับคำตอบว่าเป็น กัณหายนโคตร  จึงทรงเตือนให้ระลึกถึงโคตรเก่าแก่ของมารดาบิดาของมาณพว่า
พวกศากยะเป็นลูกเจ้า  เธอเป็นลูกนางทาสีของพวกศากยะ  เพราะพวกศากยะอ้างถึง พระเจ้าอุกกากราช
ว่าเป็นบรรพบุรุษ
ว่าด้วยศากยะวงศ์
            ทรงตรัสเรื่องเดิมให้ฟังว่า  พระเจ้าอุกกากราชเป็นบรรพบุรุษของพวกศากยะ  และ นางทิสา เป็นทาสีของพระเจ้าอุกกากราช นางคลอดบุตรคนหนึ่งชื่อ กัณหะ  และกัณหะนั้นเป็นบรรพบุรุษของพวก กัณหายนะ  ตอนแรกอัมพัฏฐมาณพไม่ยอมรับ
            ในที่สุดอัมพัฏฐมาณพก็ยอมรับว่า  กัณหะ  เป็นบรรพบุรุษของพวกกัณหายนะ   บรรดามาณพที่ไปด้วยต่างพากัน  เหยียดหยามอัมพัฏฐมาณพ   แต่พระผู้มีพระภาคทรงปลดเปลื้องให้   โดยได้ตรัสว่ากัณหะได้เป็นฤๅษีสำคัญ   ได้พระราชธิดาพระเจ้าอุกกากราช   พระนามมัททรูปีเป็นคู่ครอง  และได้ตรัสถามอัมพัฏฐมาณพถึง  การที่ขัตติยกุมารได้นางพราหมณ์กัญญาเป็นคู่ครอง  และพราหมณ์กุมาร ได้นางขัตติยกัญญาเป็นคู่ครอง  บุตรที่เกิดจากเขาเหล่านั้นสมควรเป็นอะไร  อัมพัฏฐมาณพตอบว่า สมควรเป็นพราหมณ์  แต่ไม่สมควรเป็นกษัตริย์  เพราะไม่บริสุทธิ์ข้างฝ่ายมารดาในกรณีแรก และไม่บริสุทธิ์ฝ่ายบิดาในกรณีหลัง
            พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า  เมื่อเทียบหญิงกับหญิง  เทียบชายกับชายก็ดี  กษัตริย์พวกเดียวประเสริฐ  พวกพราหมณ์เลว
คาถาสินังกุมารพรหม
            กษัตริย์เป็นประเสริฐสุดในหมู่ชนผู้รังเกียจด้วยโคตร
            ท่านผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเป็นประเสริฐสุด  ในหมู่เทวดาและมนุษย์   สินังกุมารพรหมภาษิตไว้ถูกไม่ผิด   ประกอบด้วยประโยชน์   พระผู้มีพระภาคเห็นด้วยและก็กล่าวเช่นนั้น
วิชาจรณสัมปทา
            อัมพัฏฐมานพทูลถามถึงเรื่อง   จรณะและวิชชา
            พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า   ในวิชชาสมบัติและจรณสมบัติอันเป็นคุณยอดเยี่ยม  เขาไม่พูดอ้างชาติ อ้างโคตรหรืออ้างมานะว่า  ท่านควรแก่เราหรือท่านไม่ควรแก่เรา  ชนเหล่าใดยังเกี่ยวข้องอยู่ด้วย  การอ้างดังกล่าวชื่อว่ายังห่างไกลจาก  วิชชาและจรณสมบัติ   การทำให้แจ้งซึ่งวิชชาและจรณสมบัติ  ย่อมมีได้เพราะละการเกี่ยวข้องด้วยการอ้างชาติ   อ้างโคตร  อ้างมานะ  และอาวาหวิวาหมงคล
            พระคถาคตเสด็จอุบัติในโลกนี้  เป็นพระอรหันต์  ตรัสรู้เองโดยชอบ  ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ ฯลฯ  ทรงประกาศพรหมจรรย์ ฯลฯ   ผู้ใดผู้หนึ่งได้ฟังธรรมนั้น   แล้วได้ศรัทธาในพระคถาคต ฯลฯ   ออกบวชเป็นบรรพชิต ฯลฯ ประกอบด้วยกายกรรม วจีกรรมที่เป็นกุศล  มีอาชีพบริสุทธิ์ ถึงพร้อมด้วยศีล ฯลฯ
จุลศีล       (ดูรายละเอียดจาก  พรหมชาลสูตร  ในหัวข้อจุลศีล)          นี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
มัชฌิมศีล   (ดูรายละเอียดจาก  พรหมชาลสูตร  ในหัวข้อมัชฌิมศีล)    นี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
มหาศีล    (ดูรายละเอียดจาก  พรหมชาลสูตร  ในหัวข้อมหาศีล)        นี้เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง
อินทรัยสังวร   (ดูรายละเอียดจาก สามัญญผลสูตร  หัวข้ออินทรียสังวร  สติสัมปชัญญะ  สันโดษ)
            ทรงสรุปว่า  ด้วยประการดังกล่าว  ภิกษุชื่อว่า  เป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย เป็นผู้ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ  และเป็นผู้สันโดษ
            เมื่อภิกษุประกอบด้วยศีลขันธ์   อินทรีย์สังวร  สติสัมปชัญญะ  และสันโดษ  อันเป็นอริยเช่นนี้แล้ว  ย่อมเสพเสนาสนะอันสงัด   นั่งคู้บัลลังก์   ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า   ละความเพ่งเล็งในโลก  ชำระจิตให้บริสุทธิ์
จากความเพ่งเล็งได้ ฯลฯ
ว่าด้วยอุปมานิวรณ์ 5       (ดูรายละเอียดจาก  สามัญญผลสูตร  หัวข้อ  เปรียบนิวรณ์)
รูปฌาณ 4                        (ดูรายละเอียดจาก  สามัญญผลสูตร  หัวข้อ  เปรียบนิวรณ์)
            ทรงสรุปว่า  นี้คือจรณะนั้น
วิชชา 8 - วิปัสสนาญาณ  (ดูรายละเอียดจาก  สามัญญผลสูตร  ในหัวข้อเดียวกัน)
            ทรงสรุปว่า  ทั้งหมดนี้เป็นวิชชา
            ภิกษุผู้ปฏิบัติเช่นนี้เรียกว่าผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาบ้าง  ผู้ถึงพร้อมด้วยจรณะบ้าง  ผู้ถึงพร้อมด้วยทั้งวิชชา และจรณะบ้าง   อันวิชชาและจรณะสมบัติอย่างอื่น   ซึ่งดียิ่งกว่าหรือประณีตกว่านี้ไม่มี
อบายมุขของวิชชาจรณสัมปทา
            วิชชา และจรณะสมบัติ อันเป็นคุณยอดเยี่ยมนี้  มีทางเสื่อมอยู่  4  ประการ
            1. สมณพราหมณ์บางคน   เมื่อไม่บรรลุวิชชา และจรณะสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้  หาบบริขารดาบส เข้าไปสู่ป่าด้วยตั้งใจว่าจักบริโภคผลไม้ที่หล่น เขาต้องเป็นคนบำเรอท่านที่ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะโดยแท้  นี้เป็นทางเสื่อมข้อที่หนึ่ง
            2. สมณพราหมณ์บางคน  ไม่บรรลุ ฯ  ถือเสียมและตะกร้าเข้าป่าด้วยตั้งใจว่า  จักบริโภคเหง้าไม้  รากไม้  และผลไม้  เขาต้องเป็นคนบำเรอ ฯ   นี้เป็นทางเสื่อมข้อที่สอง
            3. สมณพราหมณ์บางคน   เมื่อไม่บรรลุ ฯ  ไม่สามารถหาผลไม้ที่หล่น   และเหง้าไม้  รากไม้  และผลไม้บริโภคได้   จึงสร้างเรือนไฟไว้ใกล้บ้านหรือนิคม  และบำเรอไฟอยู่  เขาต้องเป็นคนบำเรอ ฯ  นี้เป็นทางเสื่อมข้อที่สาม
            4. สมณพราหมณ์บางคน  เมื่อไม่บรรลุ ฯ  ไม่สามารถหาผลไม้ที่หล่น ฯลฯ  และไม่สามารถบำเรอไฟได้  จึงสร้างเรือนมีประตูสี่ด้านไว้ที่หนทางใหญ่  4 แพร่ง  แล้วตั้งสำนักอยู่ด้วยตั้งใจว่า ผู้ใดที่มาจากทิศทั้ง 4 นี้  เราจักบูชาท่านผู้นั้นตามสติกำลัง  นี้เป็นทางเสื่อมข้อที่สี่
            ทรงตรัสถามว่า  ตัวเขาและอาจารย์ปรากฏในวิชชา และจรณะสมบัติอันยอดเยี่ยมนี้บ้างหรือไม่  ก็ได้รับการกราบทูลตอบว่า  ตัวเขาและอาจารย์ยังห่างไกลจากสมบัติดังกล่าวอยู่มาก
            ทางตรัสถามต่อไปว่า  เมื่อเขาและอาจารย์ไม่บรรลุ ฯ  และไม่ได้ดำเนินการตาม  4  ประการ
ดังกล่าวข้างต้น  เขากับอาจารย์จึงเสื่อม  และคลาดจากทางเสื่อมของวิชชา และจรณะอันเป็นคุณยอดเยี่ยม  4  ประการนี้ด้วย
            ทรงตรัสต่อไปว่า  พราหมณ์โปกขรสาติได้พูดว่า  สมณะโล้นบางเหล่า  เป็นเชื้อสายคฤหบดี  กัณหโคตร  เกิดแต่บาทของพรหม   ประโยชน์อะไรที่พวกพราหมณ์ผู้ทรงไตรวิชชาจะสนทนาด้วย
แม้แต่ทางเสื่อมตนก็ยังไม่ได้บำเพ็ญ   ความผิดของพราหมณ์โปกขรสาตินี้เพียงใด  ถึงแม้กินเมืองที่พระเจ้าปเสนทิโกศลพระราชทาน   แต่ก็ไม่ได้รับโอกาสให้เข้าเฝ้าหน้าพระที่นั่ง   เวลาจะปรึกษาด้วยก็ทรงปรึกษานอกพระวิสูตร
            ทรงตรัสถามว่า  เมื่อพระเจ้าปเสนทิโกศล  จะทรงปรึกษาราชกิจกับมหาอำมาตย์ หรือ พระราชวงศานุวงศ์   แล้วเสด็จไปประทับอยู่  ณ  ที่แห่งหนึ่งจากที่นั้น  ภายหลังคนชั้นศูทร หรือ
ทาสคนชั้นศูทรมา ณ  ที่นั้น  แล้วพูดอ้างว่า  พระเจ้าปเสนทิโกศลตรัสอย่างนี้ ๆ  เพียงเขาพูดเหมือน พระราชาตรัส  หรือปรึกษาได้เหมือนพระราชาทรงปรึกษา  จะจัดว่าเป็นพระราชาหรือราชอำมาตย์ได้หรือไม่  อัมพัฏฐมาณพกราบทูลตอบว่า  ข้อนี้เป็นไปไม่ได้
บุรพฤๅษี 9 ตน
            ทรงตรัสต่อไปว่า  เธอก็เช่นนั้นเหมือนกัน  บรรดาฤๅษีผู้เป็นบุรพาจารย์  ของพวกพราหมณ์ ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์  บอกมนต์ในปัจจุบัน  พวกพราหมณ์ขับตาม  กล่าวตาม  ซึ่งบทมนต์ของเก่านี้ที่ท่านขับแล้ว    บอกแล้ว   กล่าวได้ถูกต้อง   ตามที่ท่านกล่าวไว้   เพียงคิดว่าเรากับอาจารย์เรียนมนต์จากท่านเหล่านั้น   เธอจักเป็นฤๅษีหรือปฏิบัติเพื่อเป็นฤๅษีได้   นั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้
            เธอได้ฟังพราหมณ์ผู้เป็นอาจารย์ และปาจารย์เล่ามาว่าอย่างไร   บรรดาฤๅษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์  บอกมนต์    ในปัจจุบันนี้  พวกพราหมณ์ขับตาม  กล่าวตาม  ฤๅษีเหล่านั้น  อาบน้ำ ฯลฯ  บำเรออยู่ด้วยกามคุณห้า   เหมือนเธอกับอาจารย์ในบัดนี้หรือไม่  อัมพัฏฐมาณพกราบทูลรับว่า  ไม่เหมือน
            ทรงตรัสว่า  เธอกับอาจารย์มิได้เป็นฤๅษีเลย   ทั้งมิได้ปฏิบัติเพื่อเป็นฤๅษี  ด้วยประการฉะนี้  ผู้ใดมีความเคลือบแคลงสงสัยในตัวเรา  จงถามเราด้วยปัญหา  เราจักชำระให้ด้วยการพยากรณ์ ฯ
            พระผู้มีพระภาคเสด็จออกจงกรม   อัมพัฏฐมาณพได้พิจารณาดูมหาปุริสลักษณะ  32  ประการ โดยมากเว้นอยู่  1  ประการ   คือพระคุยหะเร้นอยู่ในฝัก 1    พระชิวหาใหญ่ 1    จึงยังเคลือบแคลงสงสัย พระผู้มีพระภาคจึงทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร   ให้อัมพัฏฐมาณพได้เห็น   เมื่อได้เห็นแล้วก็ได้ทูลลากลับไป
โปกขรสาติพราหมณ์
            อัมพัฏฐมาณพได้ไปพบโปกขรสาติพราหมณ์  แจ้งให้ทราบถึงเกียรติศัพท์ และมหาปุริสลักษณะของพระผู้มีพระภาค  ว่าเป็นเช่นนั้นจริง  และได้เล่าเรื่องที่ตนได้สนทนาปราศรัยกับ พระผู้มีพระภาคให้ทราบ   พราหมณ์ ฯ  ได้ทราบแล้วก็ขัดใจ  กล่าวตำหนิอัมพัฏฐมานพ  แล้วเตรียมตัวไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
            วันรุ่งขึ้นพราหมณ์ ฯ เดินทางไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ   และทูลถามถึงเรื่องที่อัมพัฏฐมาณพมาเฝ้า พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเล่าเรื่องให้พราหมณ์ ฯ  ทราบทุกประการ   พราหมณ์ ฯ  ได้ทูลขอโทษแทนอัมพัฏฐมาณพ   แล้วพิจารณาดูมหาปุริสลักษณะ  32  ประการ   ก็ได้เห็นว่ามีครบบริบูรณ์ไม่บกพร่อง   จึงได้ทูลขอให้พระองค์    พร้อมพระภิกษุสงฆ์รับภัตตาหารในวันนี้  ที่นิเวศน์ของพราหมณ์
            เมื่อพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ  ได้ตรัสอนุบุพพิกกถา แก่พราหมณ์ ฯ  คือ
            ทรงประกาศทานกถา  สีลกถา  สัคคกถา  โทษของกามที่ต่ำช้า  เศร้าหมอง และอานิสงส์ในการออกจากกาม
            เมื่อทรงทราบว่าพราหมณ์มีจิตคล่อง  มีจิดอ่อน  มีจิตปราศจากนิวรณ์  มีจิตสูง  มีจิตผ่องใสแล้ว
            จึงประกาศพระธรรมเทศนาที่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย  ทรงยกขึ้นแสดงด้วยพระองค์เอง  คือ ทุกข์ สมุทัย  นิโรธ  มรรค  โปรดพราหมณ์ฯ

            ดวงตาเห็นธรรมอันปราศจากธุลี  ปราศจากมลทิน  ได้เกิดขึ้นแล้วแก่พราหมณ์โปกขรสาติว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับไปเป็นธรรมดา
เหมือนผ้าที่สะอาด  ปราศจากมลทินควรรับน้ำย้อมด้วยดี  ฉะนั้น
พราหมณ์โปกขรสาติแสดงตนเป็นอุบาสก
            ลำดับนั้น พราหมณ์โปกขรสาติ  เห็นธรรม  ถึงธรรม  รู้แจ้งธรรม  หยั่งทราบธรรม ข้ามความสงสัย ปราศจากความเคลือบแคลง  ถึงความแกล้วกล้าแล้ว  ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในสัตถุศาสนา ได้ทราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
            ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก  ทรงประกาศธรรมโดยเอนกปริยาย  เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ  เปิดของที่ปิด    บอกทางแก่คนหลงทาง   หรือส่องประทีปในที่มืด ด้วยคิดว่า   ผู้มีจักษุจักเห็นรูป  ดังนี้
            ข้าพระองค์พร้อมทั้งบุตรภริยา บริษัทและอำมาตย์  ขอถึงพระองค์ และพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์ เป็นสรณะ  ขอพระสมณโคดมผู้เจริญ จงทรงจำข้าพระองค์  ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
จบอัมฟัฏฐสูตร ที่ 3



| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | พระวินัยปิฎก | พระสุตตันตปิฎก | บน |