| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

พระราชหัตถเลขา ถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ แลหม่อมราโชทัย


            จดหมายมาถึง พระยามนตรีสุริยวงศ์ราชทูต  หม่อมราโชทัย ล่าม.....
            อนึ่งสำเนาพระราชสาสนเปนของสำคัญอยู่  มีความมาว่าอย่างไรก็ให้ดูเสียให้เข้าใจ  แล้วให้หม่อมราโชทัย  ลอกคัดออกเปนภาษาอังกฤษให้หลายฉบับ  เมื่อใคร ๆ เขาขอจะได้ให้ดู.....
            ฉบับสำเนาเดิมนั้นให้รักษาไว้ให้ดี  สำหรับมือทูตอย่าสั่งให้ใครไป
        ....................
            อนึ่งเมื่อทูตไปแล้ว  อังกฤษชื่อมิศเตอร์ ทอมาศคริศตี..... ขึ้นมาหาข้าพเจ้ามาบอกว่า..... แลบ่นว่าเสียใจนักหนา  ด้วยการทูตครั้งนี้ไปผิดรดู  เพราะว่าไปจากที่กรุงล่านักจวนรดูหนาว  คาดการว่าทูตจะไปถึงในราวเดือน ๑๑ ข้างแรม  เดือน ๑๒  ข้างขึ้นจะไปอยู่ในลอนดอนสองสามเดือนก็เปนเดือนอ้ายเดือนยี่  กำลังรดูหนาวแก่ทีเดียว  ก็ในรดูหนาวนั้น   ขุนนางในลอนดอนที่เปนพวกประชุมว่าราชการ  ก็ย่อมแยกย้ายกันไปหมด  ไม่ได้ประชุมกัน  เพราะเป็นรดูหนาวเที่ยวเตร่ไปไม่ได้  ถึงทูตไทยไปอยู่ก็จะต้องอยู่แต่ในตึก  เที่ยวเตร่ไม่ได้ด้วยหนาวนัก..... แลว่าถ้าทูตได้ไปจากกรุงนี้ในเดือนยี่  เดือนสาม  จะไปถึงเมืองโน้น ราวเดือน ๕ เดือน ๖  เปนฤดูร้อนสบายทีเดียว..... ในรดูนั้นขุนนางทุกตำแหน่งในกรุงแลเมืองก็มาประชุมกันมาก.....
            อนึ่งบอกมาให้ทราบว่า  ตั้งแต่ทูตไปแล้ว  บุตรภรรยาบ้านช่องของพวกทูตที่มีบันดาศักดิ์  ซึ่งไปในการทูตครั้งนี้  ข้าพเจ้าจะช่วยรับระวังดูแลเอาใจใส่.....
            จดหมายมา ณ วัน.......... ปีมะเสง นพศก  เปนปีที่ ๗  ในราชกาลปะจุบันนี้
 

พระราชหัตถเลขา ถึงเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี

            จดหมายมายังเจ้าหมื่นเพธภักดี..... หนังสือถุงแดงที่ฝากลงไปให้ที่ปากน้ำ  ว่าให้ให้แก่เลอรดกลาเรนดอนนั้น  จงให้แก่เขาก่อนถวายพระราชสาสน..... เมื่อเอาไปให้เขาจงพร้อมกันกับพระยาราชทูต  แลบอกเขาว่าเปนหนังสือลับของข้า  ไม่ใช่หนังสือตามธรรมเนียมตามพนักงาร.....
        ....................
            จดหมายมา ณ วัน.......... ปีมะเสง นพศก  เปนปีที่ ๗  ในราชกาลปะจุบัน


พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน

            จดหมายมายัง  พระยามนตรีสุริยวงศ์ราชทูต..... ให้ทราบ..... ว่าหนังสือที่เข้าชื่อกันบอกเข้าไปจากเมืองสิงคโปร์..... ผิดกับเยี่ยงอย่างหนังสือบอกมาแต่หัวเมืองต่าง ๆ ฤาข้าหลวงไปราชการทั้งปวง  เพราะฉนั้นครั้งนี้ข้าเปนแต่คนกินเดนดอก  เขาอ่านให้ฟังแล้วเขาก็เอาฉบับไปเสีย  ด้วยหนังสือไม่ได้ถึงตัวข้า  เขาจะเก็บไว้กราบเรียนเจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดีตามสั่งมา
            แต่จะว่าตามสังเกตได้บ้าง  ความเรื่องที่เกิดรบกันที่เบงคล  ที่พม่าเข้ารีดแขกหลอกไทย  ว่าเปนแขกเทศอยู่ที่กรุง  เรียกว่าบั้งกะหล่านั้น   ความเรื่องนี้ข้าได้รู้นานแล้ว..... ก็เปนเพราะทูตพูด  ภาษาพม่าเข้ารีดแขกที่กรุง  เพราะคำว่าเบงคล  ที่พม่าเข้ารีดแขกเรียกว่าบั้งกะหล่านั้น  ที่แท้เปนชื่อทั้งแผ่นดิน  เหมือนคำว่าเซียมเปนชื่อเมืองไทย  แต่พวกแขกพม่าที่กรุงเรียกเมืองกาลกัตตา  เมืองหลวงว่าเมืองกะหล่า  ผิดกับคำคนนอกไป  จึงชวนให้ทูตเข้าใจผิด  แลต้นความที่ทหารชาวเบงคลกำเริบนั้น  กำเริบที่เมืองเมียรุด  เมืองดิลิฮีก่อน  ที่อื่น ๆ ก็กำเริบตามต่อ ๆ กันไป..... เลอรดคันนิงโคโวเนอเยเนรัล  ที่พม่าเข้ารีดแขก  เรียกว่าเจ้าเมืองมังกะหล่านั้น  จึงรวบรวมทหารขาว  เข้ารักษาตัวในป้อมที่แขงกับอังกฤษ  นายห้าง  นายร้าน  กลัวจะมีไภยแก่ตัว  จึงโดยสารออกจากเมืองกาลกัตตา  มาอยู่ที่เมืองอื่น ๆ เอาตัวรอด  ถ้าเกิดที่เมืองกาลกัตตาเองแล้ว  อังกฤษคงตายหมด  ไม่ทันนีออกทเลเลย..... อนึ่งจะได้เอาใจช่วยแขกบงคาลี  อย่างแผ่นดินเก่าก็หามิได้  เพราะเหนเปนแท้ว่าแขกจะสู้ไม่ได้..... เลอรดคันนิง  คิดอ่านจะได้คนเบงคาลี  คือคนชาวเบงคลทั้งปวง  ที่เรียกว่ามังกะหรีนั้น  เข้ารีดถือศาสนาเยซูให้หมด  จึงกดขี่กันด้วยอุบายต่าง ๆ พวกทหารชาวเมืองนั้นจึงควบคุมกันกำเริบขึ้น..... มิใช่จะคิดโต้ทานรักษาบ้านเมืองต่อไปดอก  เข้าใจความแต่เพียงนี้ จึงหาได้เอาใจช่วยไม่..... อนึ่งการทูตครั้งนี้ข้าวิตกนัก  ถ้าเปนแต่อย่างนี้แล้วข้าจะรู้งารรู้การที่นี้ยากนัก  ด้วยหนังสือที่บอกมาไม่ได้ออกชื่อข้า  วางเวรกรมท่าไม่ได้สั่งให้กราบทูล  เขาจะบอกก็ได้  เขาไม่บอกก็ไม่ได้รู้..... ข้าวิตกอยู่ว่าการครั้งนี้  มาถือขนบธรรมเนียมอย่างนี้  ตัวข้าก็ลำบากยากหนักหนา  ที่จะว่างารการไป  ก็เมื่อหนังสือฝากซ้าอยู่กลางทางกลางทะเล..... ก็ไม่ควรเสียใจ..... ก็แต่หนังสือมากับเรือมาถึงกรุงนี้แล้ว  ควรจะรู้ข่าวในวันมาถึง  ก็ได้รู้ข่าวช้าไป ๓ วันบ้าง ๗ วันบ้าง  เพราะผู้รับหนังสือเขาปิดความเสีย  เพราะในหนังสือนั้นมีเรื่องความถึงการเย่าการเรือนของพวกทูต ฤาของผู้ที่รับหนังสืออยู่สักประทัด  ฤาสองประทัด  ก็พาเอาเรื่องที่จะเปนกระทู้แก่ราชการสูญไปเสียด้วยก็ดีช้าอยู่ก็ดี..... การก็จะเปนไปเหมือนอย่างว่า  คือการที่เปนข้อราชการก็จะช้าอยู่  ฤาสูญไปเสียบ้าง  ก็ถ้าการที่บอกเข้ามานั้น  เปนการจะต้องตอบออกไปจากกรุงนี้โดยเร็ว  ให้ทันท่วงทีในราชการ  ถ้าว่าเรือที่เอาหนังสือมานั้น  จะมาถึงเมืองสมุทปราการ ณ วันอาทิตย์  ต่อไปในวันอังคาร  ฤาวันพุธ  จะมีเรือล่องลงไปลำหนึ่ง  ฤาสองลำจะไปสิงคโปร์  เมื่อเปนดังนี้  ฤาหนังสือที่บอกมา ถ้าได้รับในวันเรือมาถึง  จะแต่งตอบไปให้ทันในวันสองวันก็ได้  ถ้าพ้นวันอังคารวันพุธนั้นไปสิ้นคราวเรือล่อง  จะต้องคอยอยู่อีก ๑๕ วัน   ฤา ๒๐ วัน  ฤาเดือนหนึ่งจึงจะได้ฝากไปได้  ก็จะคลาศครั้งคราวเสียใจใหญ่โตทีเดียว.....
        ....................
            จดหมายมา ณ วัน.......... ปีมะเสง นพศก


พระราชหัตถเลขา ถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ แลเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี

            จดหมายมายัง พระยามนตรีสุริยวงศ์..... ให้ทราบว่า เมื่อ ณ วัน.......... มีเหตุบังเกิดขึ้นเปนที่ตกใจมาก..... ข้าออกไปดูนาที่ท้องสนามหลวง  ตัวข้าขี่ม้าออกไป  แต่ลูกข้า ๔ คน  ยิ่งเยาวลักษณ์  ทักษิณชา  โสมาวดี  ชายจุฬาลงกรณ์ไปบนรถที่ข้าเคยขี่..... เมื่อกลับมาตัวข้าไปขึ้นรถกับลูก ๔ คนด้วยกัน  ขับรถกลับเข้ามาแล้วหาได้เข้าประตูวิเศษไชยศรีไม่  เลยลงไปดูการที่โรงทานนอก  แลดูการที่ป้อมอินทรังสรรค์  จะก่อแท่นเปนที่ยิงปืน..... ครั้นกระบวนมาถึงที่ทางเลี้ยวจะไปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  พวกทหารแห่เลี้ยวเข้าไปนั้นแล้วยืนอยู่ตามเคย  ครั้นรถมาถึงมุมทิมสงฆ์ก็เป่าแตรตีกลองตามเคย  ม้าก็กระโชกวิ่งหนักเข้า..... ข้าเห็นม้าเดิรเชือนไปผิดทางซ้าย  จึงแก้บังเหียนข้างขวาชักหนักมาสายเดียว  ปลายสายแถบก็หลุดออกมา  ข้าเห็นแล้วก็ร้องให้คนช่วย  ก็ไม่มีใครช่วยทัน  รถก็กระแทกกับแท่นปากกลางต้นไชยพฤกษ์แลรั้วล้อม..... ตัวข้าก็นั่งลอยนักแก้ตัวไม่ทัน  ผลัดตกหกตะแคงลงมากับลูกทั้ง ๔ คน  ตัวข้ากลัวรถจะทับตายเอามือขวาดันไว้  รถจึงทับได้ที่ตคากข้างขวา.....ชายจุฬาลงกรณ์ศีรษะแตกสามแห่ง..... ขณะนั้นลูกก็ร้องไห้วุ่นทั้ง ๔ คน  แต่เดชะบุญคุณเทวดาช่วย  ม้าก็หยุดไม่วิ่งไป  คนวิ่งตามมาช่วยยกรถที่ล่มขึ้นได้  ข้าก็ลุกขึ้นวิ่งมาได้ในขณะนั้น ลูก ๔ คน  ก็มีคนมาอุ้มขึ้นได้  แต่ทักษิณานั้นอาการน่ากลัวมาก..... ในเหตุนี้ข้ากลัวคนจะตื่นไปต่าง ๆ ก็ไม่ได้บอกป่วยออกมาตามเวลาเสมอทุกวันแล..... หน้าตาแลหัวดีอยู่แล้ว แลเดิรได้อยู่แล้ว  ก็ไม่เปนไรดอก
            ตัวข้านี้คนรักเท่าผืนหนัง  คนชังเท่าผืนเสือก็ดี  ถึงจะไม่สู้มีใครรักก็คงมีคนรักบ้าง..... ตัวข้าถึงจะมีบาปมากก็จะมีบุญบ้าง  ชตาไม่ดีแล้วก็จะมีที่ดีบ้าง  จึงได้เปนพระเจ้าแผ่นดิน  อยู่ให้คนนั่งแช่งนอนแช่งมาหลายปี  จนคนที่แช่งตายไปก่อนก็จะมี..... ข้าคิดว่าชรอยเทวดาจะบันดาล  พอให้เปนเหตุให้ได้เห็นใจคนต่าง ๆ ใครจะซื่อตรงฤาลอกแลก คิดลึก ๆ ดัน ๆ อย่างไร  ก็ได้รู้จัก  ครั้งนี้ให้เห็นใจขาวใจดำใจขลาดใจกล้าต่าง ๆ  ข้าขอบใจเทวดาอารักษ์หนักหนาทีเดียว
            ข้ากลัวคนอื่นเขาจะมีหนังสือบอกมาผิด ๆ  ฤาอังกฤษจะไปเล่าความผิด ๆ จะวิตกไปถึงข้าถึงเมืองนี้  ข้าจึงรีบบอกมาให้ (รู้)..... ใครบอกมาฤาใครเล่าให้ฟังเกิน ๆ ติด ๆ กว่านี้อย่าเชื่อเลย  เอาหนังสือนี้เถียงแทนเถิด ฯ
            จดหมายมา ณ วัน.......... ปีมะเสง  นพศก


พระราชหัตถเลขา ถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ แลเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี

            จดหมายมาถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์.....ให้ทราบว่า ฯข้าฯ  ได้ยินท่านผู้ใหญ่ในกรุง  ท่านพูดจากะการกันว่า  เห็นจะได้หนังสือทูตฝากมาให้ข่าวกรุงก่อนถึงเมืองลอนดอนนั้น ๔ ครั้ง  คือทูตจะได้เขียนฝากที่เมืองสิงคโปร์ครั้งหนึ่ง  ที่เมืองอะไรไม่รู้ข้าจำชื่อไม่ได้ว่าอยู่ที่ช่องทีเดียว  ว่ายักะตราแลชวานั้นแห่งหนึ่ง  ที่ขึ้นบกที่เมืองสุเอศแห่งหนึ่ง  ท่านคอยจะฟังอยู่  แต่หนังสือที่ไปจากกรุงเนือง ๆ นั้น ท่านคาดกันว่า  เห็นจะไปคอยอยู่ที่เมืองลอนดอนที่แขกพม่าแลไทยเชื่อพวกนั้น  เรียกว่าเมืองวิลาศนั้น  ก่อนทูตไทยไปถึง ฯ
            แต่ ฯข้าฯ  ไม่ได้หมายว่า  จะได้ฟังกลางทางเลย  ถึงจะมีเข้ามาก็คงจะสูสีซุบซิบกัน  สูญหายไปอย่างก่อนนั้นแล..... ถ้าท่านคิดถึงข้าพเจ้าอยู่ จงคิดยักย้ายอย่างธรรมเนียมไปเสียบ้าง  ข้าพเจ้าจะได้ฟังบ้างดอกกระมัง  ซึ่งท่านจะไว้ใจให้ข้าพเจ้าฟังเดนความ  คนอื่นอ่านแล้วอ่าเล่า  ได้ดูหนังสือของคนอื่นฉีกแล้วนั้น  ไม่ดู  ไม่ฟัง  ไม่อ่าน  เปนแน่  ไหน ๆ ข้าพเจ้าก็เปนคนคนหนึ่ง  เปนเจ้าชื่อเจ้าเสียงในราชสาสน  การทูตานุทูตครั้งนี้  จะให้กินเดนท่านผู้อื่นนั้น  ไม่กินแล้วในครั้งนี้เปนอันขาด..... ว่ามาเปนคำขาดอย่าคาดอย่าหมายอย่างอื่นเลย  ตั้งเมื่อขึ้น ฯ ๑๐ นี้มา  หนังสือของพวกทูต  จะฝากเข้ามาที่กรุงถึงใคร่บ้าง  ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบเลย  ถึงใครจะบอกก็ไม่ฟัง  อย่าไว้ใจว่าความที่บอกมาข้าพเจ้าจะทราบแล้ว
            จดหมายมา ณ วัน.......... ปีมะเสง  นพศก


พระราชหัตถเลขา ถึงเจ้าหมื่นเพธภักดี

            พ่อเพง  ข้าเองตั้งแต่วัน.......... ค่ำ ป่วยเปนไข้หวัด..... ข้าก็กินยาหอลอเวหลายถ้วย..... อาการทั้งปวงก็คลายหายหมด..... ข้าก็ออกข้างหน้าเวลากลางวัน  ขุนนางเจ้านายตื่นกันเข้ามาเฝ้า  เหมือนวันถือน้ำ  เวลาค่ำข้าก็ออกโดยปรกติ.....
        ....................
            อังกฤษบุตรนายห้างชื่อทอมาศคริศตีมาอยู่ที่กรุงนานแล้ว  บัดนี้จะไปเมืองลอนดอน  รับว่าจะเอาธุระทูตไทย..... ข้าได้ให้ถือหนังสือมาให้พ่อเพงด้วยฉบับหนึ่ง  ความคล้ายฉบับนี้แล
        ....................
            จดหมายมา ณ วัน.......... ปีมะเสง นพศก
 

พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน

            จดหมายมาถึง พระยามนตรีสุริยวงศ์..... ให้ทราบข่าวจืด ๆ ตามเดือนตามปี  พอสิ้นวิตกถึงบ้านเมืองแลแผ่นดิน ณ วันอังคาร แรม ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐  เปนวันถือน้ำพระพิพัฒสัตยา  เจ้านายทุกพระองค์  ขุนนางทุกตำแหน่งทั้งพระบรม (มหา) ราชวัง  พระบวรราชวัง  ทั้งภรรยาข้าราชการทั้งปวงที่เคยมา  ก็มาประชุมพร้อมกัน  รับน้ำพระพิพัฒสัตยาตามอย่างที่เคยมาแต่ก่อนไม่มีเหตุอะไร  เจ้านายแลข้าราชการฝ่ายใน  ทั้งในวังนอกวังก็มาพร้อมกัน.....
            แลการถือน้ำนี้  ทำได้แต่ในแขวงเมืองที่เรียกว่า  เมืองน้ำพิพัฒสัตยาเท่านั้น  จะทำจะถือในเขตแดนผู้อื่น คือเมืองประเทศราชขึ้นไทยก็ดี ไม่ได้ขึ้นก็ดี นั้นไม่ได้ห้ามอยู่  เพราะถ้าไปถือในแขวงอื่น  ก็เปนอันถือน้ำของเจ้าของแขวงไป  เพราะฉนั้นทูตอย่าหลงชวนกันถือน้ำในเรือก็ดี  แผ่นดินก็ดี  ของเจ้าอื่นนายอื่นเลย  จะกำชับมาแต่เดิมก็ลืมไป  เสียการงารมากนัก  เมื่อเวลาส่งทูตไปนั้น  ถึงจะฝากน้ำพระพิพัฒสัตยาไปแต่กรุง  ถึงได้ก็จะถือในแผ่นดินเจ้าอื่นนายอื่นไม่ได้ห้ามอยู่  จะถือได้เพียงแขวงเมืองสงขลา  เมืองถลางพังงา  แลเมืองประจันตคีรีเขตเข้ามา  ฤาจะถือแต่บนเรือกำปั่นแลสำเภาเปนของกรุงเทพ ฯ เท่านั้น  ที่อื่นไม่ได้ห้ามอยู่  ถึงข้าราชการไปการทัพนอกประเทศก็ดี  เปนทูตไปญวนไปจีนก็ดี  ไม่เคยถือเลย  จงรู้อย่างธรรมเนียมในการถือน้ำพระพิพัฒสัตยาดังนี้แล
            ตั้งแต่วันนั้นมา  ก็ตั้งพิธีสารทตามธรรมเนียม  จนกวนข้าวปายาสในวันนี้แล..... ปีสุริยุปราคาเห็นที่กรุงเทพ ฯ นี้..... จับมากกว่าที่เคยเห็นมาแต่ก่อนทุกครั้ง.....
            เพราะฝนยังติดจะแล้งอยู่  ในข้างแรมนี้ฝนตกสามครั้ง ๆ หนึ่งก็ได้น้ำเพียง ๑๔,๑๕,๑๖  ทสางค์..... ราคาเข้าเปลือกกรุงเก่า
เกวียนละ ๔ ตำลึง.....  บัดนี้ท่านเสนาบดีคิดกันว่า  ถ้าเห็นฝนน้อยก็จะไปปิดน้ำนากรุงเก่าในข้างขึ้น เดือน ๑๑  ด้วยกลัวน้ำจะลดเร็ว.....

            จดหมายมา ณ วัน.......... ปีมะเสง  นพศก


พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน

            จดหมายมายังพระยามนตรีสุริยวงศ์.....ให้ทราบ  ด้วยข้าพเจ้าขึ้นไปทอกกฐินกรุงเก่า.....
        ....................
            แลซึ่งว่ากัปเตนโอโกฮานมาชวนให้ไปทางอ้อมทวีปอาฟริกา  ทูตตอบดังเขียนมานั้นชอบดวยราชการแล้ว  อนึ่งทูตไม่ขึ้นที่ท่าอาเดน  เพราะอังกฤษเจ้าท่าไม่มาหานั้นก็ชอบแล้ว.....
        ....................
            จดหมายมา ณ วัน.......... ปีมะเสง นพศก


พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน

            จดหมายมายังพระยามนตรีสุริยวงศ์..... ให้ทราบ  ข่าวที่กรุงเทพ ฯ ว่าราชการไม่มีอะไร  บ้านเมืองก็เปนปกติดีอยู่  ไม่มีความไข้ความเจ็บ  ฝนกลางมือแล้ง  แต่ปลายมือก็ชุกมาก  น้ำกรุงเก่าก็งามน้อยกว่าปีหลัง ๑๖ นิ้งเท่านั้น  ราคาเข้าเมื่อฝนแล้งสูงมากขึ้นไปน้อยหนึ่ง  เพียงอย่างสูงเข้าเปลือกกรุงเก่าเพียงเกวียนละ ๔ ตำลึง ๓ บาท  บัดนี้ราคาเข้าก็ตกลงแล้ว  เรือก็เข้ามาบันทุกเข้ามามาก  ถึงวันละสองสามลำทุกวันในเดือน ๑๒ ปีนี้  รำคาญอยู่แต่กงสุลอังกฤษ  แลกงสุลอเมริกันรบกวนนัก  ด้วยราษฎรที่เอาสินค้ามาขาย  ไม่รับเงินเหรียญจะเอาเงินบาท  ถึงมีหนังสือพิมพ์ประกาศก็ไม่ใคร่เชื่อฟัง  อยากได้แต่เงินบาทตามเคย แลเงินบาทที่ราษฎรขายของได้  ก็เอาไปเสียหัวเมืองแลบ้านนอก  แล้วก็พากันตื่นว่ามั่งมี  เอาเงินซ่อนฝังดินเสีย..... ถึงจะส่งภาษีอากรก็ส่งเป็นเงินเหรียญเสียโดยมาก  เพราะฉนั้นผู้ครองแผ่นดินก็มีเงินบาทน้อยไป  มีแต่เงินเหรียญ  ถึงเบี้ยหวัดก็จะต้องแจกกันด้วยเงินเหรียญ  ช่างเงินทำเงินบาทก็ไม่ใคร่จะทันคนต้องการใช้  เพราะกงสุลรบกวน  ที่กรุงก็ได้จัดช่างทำเงินให้มากขึ้น จนถึงทำได้วันละ ๘๐ ตำลึง  ๙๐ บาท แล้ว  ก็ยังไม่ใคร่จะพอประสงค์ของลูกค้าผู้จะแลกใช้  เพราะเหตุนี้ เดียวนี้ข้าพเจ้าจะใคร่ได้เครื่องมือที่จะทำเงินเหรียญ  ตามอย่างตราไทย..... ขอท่านทูตานุทูตจงเอาใจใส่ในการนี้  พอจะพูดชี้แจงแก่เลอรดกลาเรนดอน  ให้เขาช่วยคิดอ่านก็ว่าแก่เขาเถิด  จะได้ทำนุบำรุงบ้านเมือง  เพราะว่าเปนเงินตราไทยน้ำเงินอย่างไทยแล้ว  เห็นราษฎรจะเชื่อถือใช้สอยเหมือนเงินบาท  แลประสงค์ของข้าพเจ้าจะใคร่ให้เปนเงินเหรียญละบาท  แลกึ่งบาท  แลสลึง  แลเฟื้อง  ให้เห็นตราชัดงดงามดี  เปนเกียรติยศต่อไปด้วย  จะให้ทำได้ง่ายได้เร็วด้วย..... แลเครื่องซึ่งจะทำนั้นเอาแต่กำลังไทยจะทำได้  ถึงจะทำได้เพียงวันละ ๑๐,๐๐๐ บาท - ๒๐,๐๐๐ บาท  เท่านั้นก็เปนดีอยู่แล้ว  ถึงจะต้องลงทุนเงิน ๒๐๐ ชั่ง - ๓๐๐ ชั่งก็ตาม  แต่อย่าตื่นเครื่องกลไฟกลฟืนไปมากนัก  จะยากหลายอย่างไป  ถึงจะหนักแรงคนบ้างก็ตาม  คิดอ่านการต้น ๆ ไปก่อน..... เครื่องกลไฟดี คนไม่ต้องเหนื่อยประหลาดดี  คนพวกที่ว่ายุดังนี้ คือเรียกว่าคนตื่นไฟ ไม่คิดถึงการต้นแลความต้องการเลย ว่าให้ซื้อเครื่องกลไฟเปลืองทุนเปล่า ๆ ...... การแรกเริ่มจะทำตีพิมพ์เงินเหรียญนี้ ก็เหมือนกัน เมืองไทยการช่างมือก็หยาบ  วิชาก็น้อย  ทุนก็ยังน้อย  ถึงถ้าทองและเงินเหรียญทำขึ้นได้  ผู้จะต้องการใช้และจับจ่ายซื้อขายก็ยังน้อย..... เมื่ออย่างนั้นจะไม่คิดทำเล่า  ก็คิดอายแก่เจ้าเวียดนามมินมาง  เขายังคิดทำเงินเหรียญมังกรมีชื่อเขาใช้ในเมืองญวนได้  แลองค์พระหริรักษ์รารามมหาอิศราธิบดี  เขาก็ได้ทำเงินเหรียญเขมรใช้ในเมืองเขา  ถึงเขาเปนเมืองขึ้นแก่เรา  การทำเงินเหรียญเสียดังนี้ก็เปนการกันเงินแดงดียิ่งนัก  ถ้าหากว่าเราจะทำแล้ว  เราจะไล่เลียงเนื้อน้ำเงินเสียให้เหมือนเงินไทย  แล้วทำตามน้ำหนักบาท  สลึง  เฟื้อง  ตามน้ำหนักที่ราษฎรฝ่ายเราเคยใช้รู้ทั่วกันแล้ว เห็นว่าจะเปนที่เชื่อที่ไว้ใจใช้ได้เร็วกว่าเงินเหรียญตราเมืองอื่น.....
            จดหมายมา ณ วัน.....ปีมะเสง  นพศก
 

พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน

            จดหมายมายัง พระยามนตรีสุริยวงศ์..... ให่ทราบว่า  ข่าวคราวที่กรุงเทพ ฯ ก็ไม่มีอะไรมากนัก  มีแต่ราชการเล็กน้อยข้างหัวเมืองมหาดไทย  เมืองอัตปือมีใบบอกลงมาว่า  ข่าส่วยทองเมืองนั้นขัดขว่างไม่เสียส่วย  เมื่อให้ท้าวเพี้ยไปเร่งส่วยก็จับท้าวเพี้ยฆ่าเสีย  จะขอให้มีตราขึ้นไปถึงหัวเมืองลาว  ใกล้เคียงให้รวบรวมกองทัพสักพันหนึ่ง  แล้วยกขึ้นไปตีข่าขัดส่วยทองพวกนั้น..... แต่ฝ่ายเจ้าแผ่นดินแลเสนาบดีที่กรุงปรึกษาเห็นพร้อมกันว่า  เหตุนี้จะเปนอย่างไรไม่ทราบ  เปนแต่ได้ฟังความข้างเดียวจะเอาแน่ไม่ได้..... จึ่งได้คิดพร้อมกันมีตราขึ้นไปให้เจ้าพระยานครราชสิมา  จัดแจงคนขึ้นไปสืบการดูให้รู้การที่จริง  แลคิดอ่านจัดแจงระงับเสียให้เรียบร้อยเปนปรกติ.....
            อนึ่งเมืองตากบอกลงมาว่า  เมืองเชียงใหม่มีหนังสือบอกมาถึงว่า  พวกยางแดงคุมกันตั้งตัวเปนผู้มีบุญ..... คุมกันไปรบตีเอาบ้านหลายบ้านในเขตแดนมาลเมียน  อังกฤษก็ได้กะเกณฑ์คนขึ้นไปรบ  พวกยางแดงหนีข้ามแม่น้ำสาลวินมาข้างแขวงเมืองเชียงใหม่..... แต่ข่าวอันนี้เมืองเชียงใหม่ก็หาได้บอกมาที่กรุงไม่
            อนึ่งเจ้าเมืองมาลเมียน  มีหนังสือมาที่เมืองตากสามฉบับ  ฉบับหนึ่งกล่าวโทษลาวขึ้นฝ่ายไทย  ว่าไปจับช้างผู้ร้ายลักในเขตแดนเมืองมาลเมียน.....
            ในกรุงเทพ ฯ นี้ ปีนี้แจกเบี้ยหวัดในจำนวนเงินใหญ่ ๆ  แจกเปนเงินเหรียญที่สิบตำลึงให้ ๒๕ เหรียญ..... ที่ชั่งหนึ่งให้ ๕๐ เหรียญ..... ที่สิบชั่งให้ ๕๐๐ เหรียญ  ที่สามสิบชั่งให้ ๑๕๐๐ เหรียญ  ฝ่ายเจ้านาย  กรมหลวงวงศาธิราชสนิทปีนี้ให้ ๒๐๐๐ เหรียญ  สมเด็จเจ้าพระยาองค์ก็ให้ ๒๐๐๐ เหรียญ  เจ้าพระยาศรีสุริยวงค์ให้ ๑๕๐๐ เหรียญ  เจ้าพระยารวิวงศมหาโกษาธิบดีให้ ๑๐๐๐ เหรียญ  เจ้าพระยายมราชให้ ๖๐๐ เหรียญ  เพราะมีความชอบที่ได้คิดอ่านเจรจากับอังกฤษ  อเมริกัน  แลฝรั่งเศส  จัดแจงการแผ่นดินให้มีประโยชน์มากขึ้น  เซอรอเบิตจอมเบิก  กงสุล (อังกฤษ) คนใหม่ได้ข่าวว่ามาถึงเมืองสิงคโปร์แล้ว  แต่ไม่โดยสานเรือลูกค้าเข้ามายังคอยเรือรบอยู่  ฤาไม่ได้เรือรบก็จะเช่าเรือเข้ามาทั้งลำ  เพราะว่าจะเชิญพระราชสาสน  สมเด็จพระนางวิกตอเรียเข้ามาด้วย  ได้ข่าวมาว่าดังนี้
            อนึ่งแจ้งข่าวมาให้ทราบว่า ณ วัน.......... ค่ำ เพลายามเศษ  เกิดเพลิงใหม้ขึ้นที่โรงของพระองค์เจ้ามหาหงส์ในกรมหมื่นสุรินทรรักษ์.....  เพราะเปนเจ้าแผ่นดิน ต้องเสียค่าทำขวัญหม่อมเจ้าพวกในกรมหมื่นสุรินทรารักษ์ แลข้าราชการซึ่งเพลิงไหม้เรือนนั้น..... เงินที่ให้ไปนั้นก็ไม่ได้เอาเงินคลัง.....
        ....................
            จดหมายมา ณ วัน.......... ปีมะเสง  นพศก


พระราชหัตถเลขา ถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ แลเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี

            จดหมายถึง..... ให้ทราบ  ว่าบัดนี้วังหน้าท่านซื้อเรือสกุเนอลำหนึ่ง  เปนเรืออเมริกัน  ท่านจัดแจงเปนเรือรบเรือพระที่นั่ง  พระราชทานชื่อว่า  เรือพระที่นั่งมงคลราชปักษี..... ครั้นการเสร็จแล้วใน แรม เดือน ๑๒  ท่านรับเงินไปแจกเบี้ยหวัดข้าราชการสิ้นเงิน ๑๐๐๐ ชั่ง  แล้วให้มารับเงินไปรวมหยุดไว้อีก ๑๐๐๐ ชั่ง  ยังไม่แจกก่อน  ท่านมาลาข้าพเจ้า ว่าจะไปประพาสลมทะเลสักเดือนเศษ..... ท่านจะเสด็จไปถึงเมืองจันทบุรี.....
        ..................
            อนึ่งเรือพระที่นั่งสกุเนอมงคลราชปักษีของวังหน้านั้น  เขาเล่าลือกันมาก..... ก็ถ้าท่านทูตานุทูตได้ไปเมืองลอนดอนทั้งที  ถ้าแม้นจะคิดอ่านหาเรือกำปั่นสกุเนอที่ทำด้วยเหล็กย่อม ๆ ให้ข้าพเจ้าใช้เล่นสักลำหนึ่งได้ฤาไม่..... จะเปนเรือกลไฟฤาเรือแล่นใบก็ตามสมควร  ถ้าทุนจะเสียเพื่อเรือเหล็กนั้นไม่มากนัก อยู่ในสามร้อยชั่งลงมาแล้ว  ข้าพเจ้าก็จะยินดีซื้อไว้ใช้เล่นสักลำหนึ่ง  พอเปนเกียรติยศแก่ข้าพเจ้า.....
        ..................
            จดหมายมา ณ วัน.......... ปีมะเสง  นพศก


พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน

            จดหมายมายัง..... ให้ทราบ  ด้วยข้าพเจ้ากับกรมหลวงวงศาธิราชสนิทกับท่านเสนาบดี  คิดอ่านพร้อมกันว่า  ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย..... คิดเปนคฤศตศักราช ๑๘๑๓  มีแขกเทศปลอมเปนพระสงฆ์เข้ามาในกรุง  เอาสิ่งของมาถวาย..... อ้างว่าพระสังฆราชในลังกาทวีป ให้เข้ามาเยี่ยมเยียนพระพุทธศาสนาในกรุงเทพ ฯ  ด้วยเหตุนี้เปนเดิม  ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  จึ่งได้ทรงปรารภเหตุนั้น  ทรงพระราชศรัทธาให้มีสมณสาสนสมเด็จพระสังฆราช  แลให้พระภิกษุสงฆ์ ๘ รูป..... คุมเครื่องพระราชอุทิศ เปนพุทธบรรณาการ ออกไปถวายบูชาพระทันตธาตุ ในมาลิกมาฬก ณ เมืองเสงขัณฑนคร ในปี..... คิดเปนคฤศตศักราช ๑๘๑๕ นั้น  ครั้งหนึ่งแล้ว  ครั้นในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว..... คิดเป็นคฤศตศักราช ๑๘๔๑  มีพระสงฆ์ชาวลังกาทวีปเที่ยวชนบทจาริกมาถึงกรุงเทพ ฯ  แลเมื่อจะกลับได้ชักพาพระสงฆ์ในกรุงเทพ ฯ นี้อออกไปลังกาทวีป  ครั้นพระสงฆ์กลับมาแจ้งการในลังกาทวีป  ในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบแล้ว  จึ่งได้ทรงพระราชดำริห์ จะจัดแจงการเหมือนครั้งในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย..... เมื่อ ณ ปีมะโรง..... คิดเป็นคฤศตศักราช ๑๘๔๔  จึ่งได้ให้มีสมณสาสนสมเด็จพระสังฆราช  แลสิ่งของเครื่องพระราชอุทิศบูชาพระบรมทันตธาตุ..... กับไทยธรรมบางสิ่งเพื่อถวายพระสงฆ์ในลังกาทวีป  มอบให้พระภิกษุ ๕ รูป.... กับข้าราชการบางนายคุมออกไปบูชาที่พระทันตธาตุ..... กับสืบทราบว่า ครั้งแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเก่า  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายพระองค์  ก็ได้ให้มีพระสงฆ์ผู้ใหญ่ ๆ  กับขุนนาง..... ออกไปลังกาทวีปบูชาพระทันตธาตุ  แลจัดแจงการพระพุทธศาสนาให้ตั้งอยู่แลเปนไป  ได้เปนเกียรติยศแก่กรุงสยามสืบมาทุกวันนี้  แลครั้งนี้จึงคิดกันว่าจะจัดแจงให้พระสงฆ์บางรูป  แลข้าราชการบางนาย คุมสิ่งของเครื่องบูชาเปนพุทธบรรณาการอุทิศ  ออกไปบูชาที่พระทันตธาตุอีกสักครั้งหนึ่ง..... เพราะฉนั้น ขอสั่งให้ทูตานุทูตคิดอ่านกัน ไปพูดกับเลอรดกลาเรนดอน  เสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศว่า  พระทันตธาตุ..... เปนที่นับถือของชาวสิงหฬทวีป..... ชาวประเทศอื่นที่ถือลัทธิพุทธศาสนา  อย่างเดียวกันกับชาวสิงหฬทวีปนั้นคือ ไทย  มอญ  พม่า  เขมร  ลาว  ชาวประเทศจีนอินเดียเหล่านี้  ก็พลอยนับถือตามแต่โบราณมา..... แต่ครั้งอำนาจเจ้าลังกาเก่ายังเปนไปอยู่นั้น  ได้ทราบว่าข้างฝ่ายสยาม  พระเจ้าแผ่นดินก็ได้ทรงจัดแจง ให้มีทูตานุทูตเชิญพระราชสาสน  แลคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการออกไป ทรงยินดี  เจริญทางพระราชไมตรีแก่พระเจ้าแผ่นดินด้วย  ฝ่ายพระสังฆราชก็ได้จัดแจงสมณสาสนกับเครื่องไทยธรรมของฝาก ถึงพระสงฆ์ผู้ใหญ่ในสิงหฬทวีปด้วย  แลผู้ครองฝ่ายสิงหฬทวีปที่เปนพวกเจ้าลังกาเก่า ก็ได้รับรองโดยทางพระราชไมตรี.....  แลเมื่อทูตานุทูตกลับ ก็ได้มีพระราชสาสนตอบมาโดยทางพระราชไมตรี  พร้อมกับสมณสาสนของพระสงฆ์ผู้ใหญ่ในสิงหฬทวีป..... ครั้นเมื่อ..... แผ่นดินสิงหฬทวีปทั้งสิ้นเปนของอังกฤษแล้ว  ฝ่ายพระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามก็ยังไม่ทรงทราบ อย่างธรรมเนียมฝ่ายข้างอังกฤษถนัด  เมื่อจะแต่งทูตานุทูตไปนมัสการพระทันตธาตุ..... ก็ไม่ทรงทราบว่าผู้ครองฝ่ายอังกฤษจะชอบใจรับฤาไม่ ..... พระทันตธาตุตกเปนแต่ของพระสงฆ์ แลชาวเมืองที่ยังถือพระพุทธสาสนาอยู่  จึงได้ให้มีแต่สมณสาสน..... แลหนังสือขุนนางพนักงารการต่างประเทศ  นำไปถึงผู้ครองฝ่ายอังกฤษพอให้ทราบว่า..... เพื่อธุระเยี่ยมเยียนด้วยการพระพุทธสาสนาเท่านั้นดอก  ไม่เกี่ยวข้องด้วยการแผ่นดินเลย  แลผู้ซึ่งออกไปนั้น.....  ทั้งสองครั้งแต่ลำบากบ้างด้วยเหตุต่าง ๆ เพราะผู้ใหญ่ในแผ่นดินไม่ได้รับรอง..... สิ่งของที่ส่งออกไป.....ครั้นขึ้นบกแล้วก็มีผู้เกาะครองยึดไว้ให้ต้องเสียภาษี.....
            ด้วยเหตุนี้ก็หาเปนเกียรติยศแก่กรุงสยามนักไม่..... บัดนี้กรุงสยามได้รับความพระราชไมตรีอันสนิทด้วยพระเจ้าบริตาเนีย ชึ่งเปนพระเจ้าแผ่นดินใหญ่เปนเจ้าของเกาะสิงหฬลังกาแล้ว..... ถ้าแม้นแต่งทูตออกไปถ้าผู้ครองข้างอังกฤษ..... รับรองให้เรียบร้อยสมควรแก่ทางพระราชไมตรีให้ดีกว่าครั้งก่อนได้  จะดีจะสมควรหนักหนา..... อนึ่งถ้าได้ช่องจะว่าต่อไปก็คิดพูดว่าเล่น..... คือว่าเล่าเรื่องเก่าว่า  ได้ยินเล่าสืบมาว่าก่อนนี้ไป ๓๐๐ ปี  เมื่อครั้งพวกโปรตุเกศ  ได้ครองทวีปลังกาสิงหฬอยู่  พระเจ้ากรุงหงสาวดี..... ได้แต่งทูตไปขอซื้อพระทันตธาตุกับฝ่ายผู้ครองโปรตุเกศ  ว่ากล่าวราคากันเปนเงิน ๓๓๓๐ ชั่ง  ครั้นยอมกันแล้ว  พวกชาวลังกาที่รักษาพระทันตธาตุอยู่  จะเอาส่วนเงินให้มาก  พวกผู้ครองข้างโปรตุเกศจะให้แต่น้อยวิวาทกันขึ้น..... ก็บัดนี้ตั้งแต่โปรตุเกศครองเมืองมา จนถึงแผ่นดินเกาะลังกาสิงหฬตกเปนของอังกฤษ ก็มานานกว่า ๓๐๐ ปีมาแล้ว  คนชาวทวีปสิงหฬลังกาก็กลายไปเข้ารีตศาสนาพระเยซูคริสต์เสียมากแล้ว..... ถ้าแม้นเลอรดกลาเรนดอน  จะชักชวนให้พวกชาวลังกายินดียอมพร้อมกับผู้ครองข้างอังกฤษ  ให้ขายพระทันตธาตุให้ผู้ครองข้างฝ่ายสยาม ด้วยราคาคล้ายครั้งผู้ครองข้างโปรตุเกศ  จะขายแก่พระเจ้าหงสาวดีครั้งโน้นได้  ถ้าเลอรดกลาเรนดอนคิดอ่านให้สำเร็จ  พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามเห็นจะทรงขอบคุณมาก..... พระทันตธาตุนั้น  ก็ไม่เปนของต้องการของอังกฤษดอก  เห็นจะอยากได้เงินมากกว่า  จะหวงพระทันตธาตุไว้กระมัง  ว่ามาทั้งนี้ก็เปนการว่าเล่นดอก  ถ้ามีที่ว่าก็ว่าเปนว่าเล่นเถิด ฯ
            จดหมายมา ณ วัน ๗ ค่ำ ปี
            (พระราชหัตถเลขาฉบับนี้ไม่ปรากฎวัน เดือน ปี  บางทีจะเปนแต่ทรงร่างแล้วมิได้ส่งไป)
 

พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูตรวมกัน

            จดหมายมายัง..... ให้ทราบว่า วัน.......... ค่ำ  เรือสลุปกลไฟอังกฤษชื่อผูรี  รับเซอรอเบิตจอมเบิก  กงสุลอังกฤษคนใหม่  เข้ามาส่งถึงนอกหลังเต่าปากน้ำเจ้าพระยา  เซอรอเบิตจอมเบิก  จึ่งให้คนอังกฤษลงเรือโบต  คุมหนังสือห่อหนึ่งซึ่งได้รับมาแต่พระพิเทศพาณิช รีบขึ้นมาส่งเวรกรมท่าว่าให้ถวายโดยเร็ว..... แต่ฉบับที่วางเวรกรมท่า  ท่านกรมท่าฉีกออกที่นั่นเอง  แล้วท่านก็อ่านให้ฟัง  เนื้อความก็เล่าเรื่องที่ต่อไปจากเมืองอาเดน..... จนถึงเมืองอาเลกแซนเถอรียา  จะลงเรือข้ามทะเลแดงไปนั้น..... แลการซึ่งทูตานุทูตรับความเชิญเจ้าเมืองแขกที่พูดไม่รู้จักภาษากัน เปนแต่ได้ไปกินโต๊ะด้วยกันก็ดี แลความที่พูดจากันกับเจ้าแขกเตอเกเมืองอะไรจำไม่ได้แล้วนั้นก็ดี  ก็ชอบด้วยราชการอยู่แล้ว.....
            ณ วัน... ค่ำ ข้าพเจ้าชักชวนพระสงฆ์แลราษฎร  แล้วพากันขึ้นไปพร้อมด้วยกระบวรหลวง  แห่พระไสยพระแสนมาแต่วัดเขมาภิรตาราม  ชักไป ณ วัดประทุมวนาราม.... ตัวข้าพเจ้ากับบุตรภรรยาก็ออกไปค้างอยู่ที่วังสระปทุมถึง 4 วัน.....
            อนึ่ง เมื่อวัน ... ค่ำ มีคนอังกฤษสองคนถือปืนเข้าไปในวัดโสมนัสวิหาร  ไปยิงนกพิราบที่พระเจดีย์หลังพระวิหาร..... พระอริยมุนีมาห้าม  อังกฤษสองคนก็กลับไป..... มีอังกฤษพวกหนึ่ง.... ประมาณ ๑๐ คน ไปยิงนกที่พระเจดีย์อีก.... พระสงฆ์จับเอาพวกนั้นมาส่งที่วังกรมวงศา  พวกพ้องของอังกฤษเข้ามาอ้อนวอนรับผิดชอบ  ขอให้ปล่อยเสียเถิดอย่าเอาไปส่งเลย  รับทำหนังสือสัญญาให้ว่าถ้อยความไม่ว่าแล้ว  พระอริยมุนีเอาหนังสือสัญญาไว้แล้วปล่อยตัวไป....
            แลการซึ่งอังกฤษเข้าไปยิงนกในวัดวาอารามนี้  แต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว  ก็ได้เกิดวิวาทที่วัดเกาะวัดสำเพ็งครั้งหนึ่งแล้ว  พระสงฆ์กับอังกฤษตีกัน..... ครั้งนั้นตัดสินกันอย่างไรข้าพเจ้าไม่ทราบการก็สงบไป......
            อนึ่งกฎหมายฝ่ายไทย .... ถ้ามีผู้บุกรุกอุกอาจเข้ามาก่อการวิวาทตีรันฟันแทงในรั้วในกำแพง  ที่ถิ่นฐานบ้านของใคร  ให้เจ้าบ้านชนะผู้บุกรุกเปนแพ้..... ก็แลที่อังกฤษยิงนกวิวาทกับพระสงฆ์ครั้งนี้ก็เปนที่ริมพระเจดีย์  อยู่ในกำแพงชั้นในของวัด.... ซึ่งบอกมาทั้งนี้พอให้ท่านรู้ไว้  ถ้าไม่มีใครว่ากล่าวอย่างไรก่อน  ก็อย่าเพ่อไปเกากวนวุ่นวายขึ้นก่อนเลย ฯ
            จดหมายมา ณ วัน..... ปีมเสง นพศก


พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน

            จดหมายมาถึง..... ให้ทราบ  ด้วยเซอรอเบิตสจอมเบิก  กงสุลอังกฤษคนใหม่  มาถึงกรุงเทพ ฯ  แล้ว...... แล้วให้หนังสือมาถึงข้าพเจ้าว่าได้ถือพระราชสาสน สมเด็จพระนางเจ้ากรุงลอนดอนวิกตอเรีย  เข้ามาสองฉบับ  ให้ข้าพเจ้าฉบับหนึ่ง  ถวายวังหน้าฉบับหนึ่ง  กับเครื่องราชบรรณาการหลายสิ่ง  แต่ได้มากับตัวแต่ ๓ สิ่ง..... แต่ยังมากับเรือกำปั่นแล่นใบอ้อมทางเขปคุดโหบ..... แลเซอรอเบิตสจอมเบิกได้ส่งมาแต่หนังสือของเลอรดกลาดอนถึงข้าพเจ้าก่อน  ความในหนังสือนั้นว่า  บอกความว่าพระเจ้ากรุงลอนดอน ตั้งเซอรอเบิตสจอมเบิกคนนี้มาเปนกงสุลในเมืองไทย..... แลว่าตั้งแต่นี้ไปผู้ปกครองฝ่ายสยาม จะให้หนังสือบอกกล่าวขึ้นไปถึงผู้ครองฝ่ายอังกฤษ ณ กรุงลอนดอน..... ก็มอบให้เซอรอเบิตสจอมเบิกไปเถิด  อย่าให้ต้องส่งไปเมืองฮ่องกงอย่างแต่ก่อนเลย...... ครั้นวัน.... ค่ำ  ก็ได้พร้อมกันแห่พระราชสาสน.......
            ..... จงให้ข่าวแก่เลอรดกลาเรนดอนเถิดว่า พระราชสาสนแลหนังสือเลอรดกลาเรนดอนได้รับแล้ว..... แต่ตัวกงสุลเซอรอเบิตสจอมเบิกนั้นเป็นคนพึ่งมาถึงใหม่...... ดูหน้าตาท่วงทีไม่ไกลกว่าปรกตินัก  เหมือนอย่างกงสุลหิลลิเยอ  เมื่อแรกพอเข้ามาก็ทำหน้าบึ้งปั้นปึ่งขึงโส  พอมาอยู่ได้สองสามวัน ก็จะเร่งเอานั่นเอานี่ ครั้นตอบไม่ทันให้ไม่ทัน  ก็ขู่ข่มขี่ว่าจะฟ้องจะร้องจะเอาเรือรบเข้ามาทีเดียว  ใช้สายเอกไปทุกประการ  ขู่ไทยก็เว้นแต่ละวัน....
            แลความเรื่องอังกฤษกับพระสงฆ์วัดโสมนัสวิหารตีกัน...... กงสุลคนใหม่กับกงสุลคนเก่า  พร้อมกันขึ้นมาที่วังกรมวงศา  ขอให้นิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่มาหลายองค์  แล้วรับว่า ซึ่งพวกอังกฤษเข้าไปยิงนกภายในกำแพงวัดนั้น พวกอังกฤษผิด.....
            แลเครื่องพิมพ์ทำเงินเหรียญนั้น  จะเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้ ยังมาไม่ถึง........
            วังหน้านั้น เมื่อวัน..... ค่ำ ท่านแล่นเรืออยู่ที่ทะเล  แต่พอเห็นเรือกลไฟฝูรี  แล่นเข้ามาถึงที่ทอดสมอนอกหลังเต่า  ท่านก็แล่นเรือมาประทับริมเรือกลไฟฝูรียิงสลุตรับแล้วเสด็จไปทอดพระเนตร......
            จดหมายมา ณ วัน...... ปีมะเสง นพศก


พระราชหัตถเลขา ถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์แลเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี

            จดหมายมายัง..... ให้ทราบ  ว่าตั้งแต่ทูตออกไปแล้ว  หนังสือของทูตที่ฝากมาได้เข้าหูข้าพเจ้าแต่สามครั้ง..... เมื่อท่านถึงกรุงลอนดอนแล้ว..... ยังไม่ได้ข่าวเข้าหูข้าพเจ้าสักฉบับหนึ่งเลย  แลเดี๋ยวนี้กาลก็จวนกลางเดือนยี่แล้ว  ถ้าข้าพเจ้าจะฝากหนังสือขึ้นไป  เห็นว่าทางก็ไกลนัก..... กว่าจะถึงเมืองสิงคโปร์ ๒๐-๒๕ วันบ้าง  ตั้งแต่เมืองสิงคโปร์กว่าจะถึงกรุงนี้ก็ช้าเหมือนกัน ตั้งแต่ ๖๐ วัน ขึ้นไป......
            อนึ่งท่านกรมวงศากับคุณศรีสุริยวงศ์ ท่านว่า  ท่านสืบทราบธรรมเนียมในกรุงลอนดอนว่า  ทูตต่างเมืองไปจะมีธรรมเนียมให้อยู่ได้แต่ ๖๐ วัน......
            .....................
            จดหมายมา ณ วัน....ปีมะเสง  นพศก


พระราชหัตถเลขา ถึงพระยามนตรีสุริยวงศ์ แลเจ้าหมื่นสรรเพธภักดี

            จดหมายมายัง..... ให้ทราบ...... ครั้งนี้มีความยินดีหนักหนากว่าทุกครั้ง  ซึ่งราชทูตอุปทูตเขียนหนังสือให้ถึงตรงตัวข้าพเจ้านั้น ชอบนักหนาแล้ว..... ตั้งแต่ทูตไปก็ถึงเจ็ดเดือนแล้ว.......
            ข้อความพรรณาการทั้งปวงในหนังสือสามฉบับนั้นควรฟังด้วยความยินดี...... เรื่องเช่นทูตไปเมืองเซา (เซเวส ?) ข้ามไปเมืองอาแลกแสนเตอ  เมื่อกลางเดือน ๑๑ นั้น  ก็ได้ทราบมาก่อนหนังสือทูตบอกหลายวัน  เมื่อทูตถึงท่าปอดสต์มัด  รับรองขึ้นบกอย่างไร  ก็มีหนังสือพิมพ์มาได้อ่านเสียแล้ว..... แลเรื่องที่ได้เฝ้าที่วังวินเซออย่างไรกวินตอบอย่างไร  ก็ได้ข่าวมาแต่หนังสือพิมพ์...... แลการทั้งปวงซึ่งทูตประกอบด้วยอัธยาศรัย  รู้ระวังรักษาเกียรติยศ  แลประสงค์ของผู้ครองฝ่ายข้างไทย  ได้ไปประพฤติแลเจรจาอ่อนน้อม อนุโลมแก่ผู้ครองฝ่ายอังกฤษ ไม่ให้มีความผิดต้องตำหนิติเตียน เสียท่วงทีแลเกียรติยศได้นั้น  ข้าพเจ้าเห็นชอบด้วยทุกอย่าง...... แลซึ่งเลอรดคลาเรนดอนชี้แจงอธิบายว่า การทำสัญญาไม่ประสงค์อะไรนักดอก  จะเอาแต่เกียรติยศว่าได้ทำหนังสือเปนไมตรีด้วยหลายเมือง  แล้วสั่งพระยาราชทูตให้มีหนังสือหารือข้าพเจ้าเข้ามาว่า  ขออำนาจให้พระยาราชทูตทำหนังสือสัญญาด้วยเมืองต่างๆ  ซึ่งจะขอทำสัญญากับพระยาราชทูตนั้น  ขอท่านทูตานุทูตจงได้ตอบกับ เลอรดกลาเรนดอนว่า...... จะให้เจรจาทำสัญญาในที่นอกประเทศไทย ไกลตาไกลหูของผู้ครองข้างไทย..... ผู้ครองฝ่ายไทยจะยอมตามไม่ได้ ยังเห็นอยู่ว่าไม่ควร..... ถึงว่าข้อสัญญาของไทยซึ่งจะได้ทำด้วยเมืองอื่น ๆ ใด ๆ ในยุโรป ยิ่งไปกว่าสัญญาที่ทำแล้วกับอังกฤษ ฝรั่งเศส  อเมริกันนั้น  จักมีความลม้ายคล้ายคลึงกันกับสัญญาทั้งสามนั้น  ความสำคัญของสัญญาทั้งสามนั้นคงจะเปนโครงก็ดี  ก็ต้องพูดกันทำอีกฉบับๆ ไป ...... เพราะฉนั้นบัดนี้ ข้าพเจ้ากับเสนาบดี  พร้อมใจกันสั่งมาว่า  เมืองใด ๆ ซึ่งจะใคร่ทำสัญญาทางไมตรี แลการค้าขายด้วยเมืองไทย  ก็ขอให้เมืองนั้น ๆ มีหนังสือมาถึงท่านเสนาบดีผู้ว่าการต่างประเทศในกรุงไทย.......
            อนึ่งเมื่อ เดือน ๔ ปีมะโรง อัฐศก  มิศเตอรยอนยาเว  เปนกงสุลเมืองเดนมาร์กอยู่ที่สิงคโปร์  มีหนังสือมาถึงข้าพเจ้า..... ใจความในหนังสือนั้นว่า...... ขอเข้ามาว่าให้ผู้ครองข้างไทยตั้งพระยาราชทูต ให้มีอำนาจทำสัญญาด้วยทางไมตรีแลการค้าขาย  ในระวางเมืองไทยแลเมืองเดนมาร์กได้..... ข้าพเจ้ากับเสนาบดีปฤกษาพร้อมเห็นว่า จะยอมอย่างนั้นไม่ได้  จึงมีหนังสือตอบออกไป..... มิศเตอรยอนยาเวเห็นชอบด้วยทุกประการ  ตัวมิศเตอรยอนยาเวจะขอเข้ามาทำสัญญาเองกับเสนาบดีฝ่ายไทย..... มิศเตอรยอนยาเวจะเข้ามาด้วยเรือกลไฟ  เปนเรือลูกค้าชื่อว่า เซอเยมบรุค..... ขอเสียว่า อย่าให้ต้องเอาปืนสำหรับลำขึ้นที่ปากน้ำเลยทุกเที่ยวทุกคราว  ท่านกรมท่าตอบไปว่า..... แต่ซึ่งจะขอไม่ให้เอาปืนขึ้นที่ปากน้ำนั้นจะยอมไม่ได้  เพราะเรือลำนี้เปนเรือลูกค้า  มิใช่เรือของผู้ครองเมืองเดนมาร์ค มาส่งมิศเตอรยอนยาเว  แลไม่ใช่เรือหลวงของอังกฤษ  ครั้นจะยอมแล้วจะผิดกับข้อความในสัญญาไป......
            อนึ่งเมื่อ ณ เดือน ๓ ปีมะเสง นพศกนี้  กงสุลเมืองเบลเคมมาอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ..... ขอให้ข้าพเจ้ามีหนังสือไปถึงพระยาราชทูต ซึ่งบัดนี้อยู่ที่เมืองแองแคลนให้มีอำนาจอันเต็มอาจทำสัญญาได้..... ให้เปนเสร็จกันที่เมืองสิงคโปร์ทีเดียว  หนังสือฉบับนี้เขียนเข้ามาเปนภาษาฝรั่งเศส..... เดี๋ยวนี้ยังหาได้ตอบไปไม่  ข้าพเจ้าคิดจะตอบไปคล้ายกับความที่ตอบมิศเตอรยอนยาเวไปก่อนนั้น  เล่ามาทั้งนี้เพื่อจะให้ท่านทูตานุทูตเห็นว่า เมืองข้างใกล้ข้าพเจ้าได้พูดเสียอย่างนี้แล้ว  ท่านทูตานุทูตควรจะพูดกับเลอรดกลาเรนดอน  ให้เนื้อความต้องกัน.....
            อนึ่งจงแจ้งความแก่เลอรดกลาเรนดอนว่า  พระราชสาสนของกวินวิกตอเรีย  แลหนังสือของ เลอรดคลาเรนดอนฝากมาถึงข้าพเจ้า..... ได้รับแล้ว..... ครั้นข้าพเจ้าจะรีบตอบพระราชสาสนแลหนังสือเลอรดกลาเรนดอนมาโดยเร็ว  มอบให้กงสุลทีเดียวก็จะต้องว่าของยังไม่ได้ครบ..... จึ่งต้องงดรออยู่  การซึ่งงดอยู่นี้  กงสุลก็เห็นชอบด้วยแล้ว
            เซอรอเบิตสจอมเบิกกงสุลคนใหม่นี้ดีอยู่  เปนคนซื่อว่าอะไรตรง ๆ  แล้วเปนคนสนุกยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาเล่นก็สนุกด้วยการความรู้ต่าง ๆ  ไม่ขึงไปแต่ด้วยถ้อยความอย่างเดียว เหมือนกงสุลก่อน ๒ คน  แล้วไม่จองหองแลโกงมากเหมือนกงสุลหิลลิเยอ  แลไม่ทำหน้าเจ้าทุกข์เจ้าร้อนเหนียวเตียวเหมือนกงสุลยินเยล  ข้าพเจ้าแลเสนาบดีชอบใจกงสุลนี้มาก.....
            บัดนี้ในพวกกงสุลอังกฤษ  ก็มีอยู่แต่ตัวกงสุล..... กับมิศเตอน๊อกล่าม  กับหมอกอมเบล ๓ คน เท่านั้น  มิศเตอเบลก็ออกไปเสียแล้ว..... หมอแคมเบลอังกฤษนับถือว่าเปนหมอหลวง  ให้มาสู้กับไข้บิดที่เมืองไทย เพราะได้ทราบไปว่ากงสุลหิลลิเยอตายด้วยไข้บิดลง..... มาครั้งนี้ไม่ได้ยินว่ารักษาไข้ใครหายเลย..... แต่หมอบรัดเลนั้น  เอาเปลือกมังคุดตำปิดให้คนพวกอเมริกันกิน  ลางไข้ก็หายบ้าง.....
        .......................
            อนึ่งซึ่งได้ข่าวว่าญวนจะเข้ามาขอเปนไมตรีนั้น  การก็เปนจริงแล้ว  บัดนี้ญวนแต่งให้องมีชื่อคนหนึ่งกับไพร่ ๔๓ คน มากับเรือสามลำบรรทุกปืนที่จับไว้แก่กองทัพไทย  ทั้งใหญ่ทั้งน้อย ๓๐ บอก  ว่าจะมาคืนให้พวกญวนมาถึงเมืองจันทบุรี วัน......... ค่ำ  แลในวันนั้นเวลากลางวัน  ก่อนญวนมาถึง  วังหน้าท่านเสด็จลงไปถึงเมืองจันทบุรี  เอาไปคุมไว้ที่หน้าเมืองเนินวง  วังหน้าท่านเสด็จแล่นเลยไปเที่ยวเสียข้างเกาะช้าง ไม่ขึ้นเมืองจันทบุรี  บัดนี้ที่กรุงก็ได้มีหนังสือไปเชิญเสด็จให้กลับมา  ก่อนญวนจะมาถึงกรุง  แลญวนก็ได้มีตราให้เมืองจันทบุรีคุมเข้ามาส่งถึงเมืองสมุทรปราการ  แต่บัดนี้ยังไม่มาถึง
            อนึ่งเมื่อวังหน้า เสด็จไปเที่ยวทะเลครั้งก่อน  มีพวกญวนทหารวังหน้าประมาณ ๖๐ คน มาร้องทุกข์ถวายฎีกาว่า  อยู่วังหน้าร้อนนักทนเจ้าขุนมูลนายไม่ได้  จะขอมาอยู่ในวังหลวง  ข้าพเจ้าไม่รับ  เปนแต่บังคับว่า มีทุกข์อย่างไรก็ให้ทำเรื่องราวร้องทุกข์ที่วังหน้าเถิด..... ครั้นท่านเสด็จกลับมาข้าพเจ้าก็ได้ว่าแก่ท่าน..... การก็หาสำเร็จกันดังนั้นไม่ กลับไปไล่เลียงจะเอาตัว ว่าใครเปนคนต้นคิดต้นอ่านจะโจทหมู่หมวด  แลใครเข้าชื่อบ้าง..... ครั้นข้าพเจ้ากลับมาได้สองวัน  ท่านก็เสด็จออกทเลจนบัดนี้แล  ฝ่ายพวกญวน  เมื่อท่านเสด็จออกไปแล้ว  มันก็ทำเรื่องราวร้องฎีกาหน้าพลับพลาสูงอีก..... ข้าพเจ้ากลัวกลัวท่านจะขัดเคืองมากไป  ข้าพเจ้าก็คืนเรื่องราวไปเสียดังก่อน  ภายหลังพระยาวิเศษสงครามตกใจมาแจ้งความว่า  อ้ายญวนทหารวังหน้าเปนอันมากซ่องสุมกัน..... แล้วคิดกันว่า  จะอยู่กับเจ้าขุนมูลนายวังหน้าก็ไม่ได้  ไปร้องวังหลวงก็ไม่รับ  เมื่อบ้านเมืองไม่เปนที่พึ่งได้ดังนี้จะทนไปไม่ได้..... เพราะฉนั้นเปนทีตายทีก็ตามมากด้วยกัน  จะคิดวุ่นไปตามภาษาคนสิ้นคิดแล้ว..... เมื่อได้ข่าวมาดังนี้  กรมวงศากับคุณศรีสุริยวงศ์  จึ่งให้ไปว่าเกลี้ยกล่อมว่าอย่าวุ่นวายไปเลย  เสนาบดีจะช่วยเปนที่พึ่งให้พ้นจากวังหน้า  มาอยู่ข้างวังหลวงตามสมัค  ญวนได้ฟังดังนั้นก็สงบไป  ข้าพเจ้ากับท่านทั้งสองนั้น  ได้เข้าชื่อกันจดหมายเหตุ  ซึ่งเปนนั้นบอกออกไป..... วังหน้าท่านก็เห็นจะได้รับหนังสือแล้ว แต่ยังนิ่งอยู่ไม่ตอบมา  ครั้งนี้ญวนนอกมันเข้ามาว่าจะทำไมตรี  ญวนพวกนี้จะแตกตื่นไปอย่างไรอีกไม่ทราบเลย  สืบฟังดูได้ยินว่าพวกญวนข้างคลองผดุงกรุงเกษม  พูดกันว่าถ้าไทยจะเปนไมตรีกับญวน  ยอมญวนที่กรุงกลับไปเมืองญวนแล้ว  ที่จะสมัคไปยินดีไปส่วนหนึ่ง  ที่ไม่สมัคไปสัก ๔ ส่วน  แต่ญวนข้างวังหน้านั้น..... อยากจะไปแทบหมด  เดี๋ยวนี้ต้องวิตกระวังอยู่  ด้วยอ้ายญวนเปนคนใจเบามุทลุ กลัวมันจะคิดผิด ๆ ไป  เหมือนใจพม่าครั้งแหกคุก
            อนึ่งข้าพเจ้ามีความเสียใจว่า  ชื่อเจ้าฟ้าอิศราพงศนี้  อ้ายชาวบ้านนอกชาวป่าพอใจฟังนัก เดี๋ยวนี้ก็เกิดความอีก  แลมีอ้ายเขมรคนหนึ่ง  ทำตราตั้งตัวเปนหลวงจำนงวารี  คนถือธงทหารขวาของพระเจ้าอยู่หัววังบน  เจ้าฟ้าอิศราพงศเปนผู้รับสั่ง  ให้ไปตั้งกองรับผู้ร้ายลักกระบือ  ให้เอาไว้ทั้งคนทั้งกระบือทำนาถวาย  ทาสลูกหนี้ของใครสมัคเข้าไปเปนกองนา  อย่าให้เจ้าหนี้นายเงินตาม.....ห้ามอย่าให้เก็บทุกภาษีอากร  แล้วอ้ายเขมรนั้นทำตราชื่อเจ้าฟ้าอิศราพงศ  ตั้งอ้ายอิ้นเปนพระพิพิธนายกองอีกกองหนึ่ง  ขึ้นแก่อ้ายหลวงจำนงวารี ๆ เอาตรานั้นมาสู้ความ  ทาสที่มันลักไปเอามาอ้างเจ้าพระยามหาศีริธรรม  แลกรมการกรุงเก่า  กล้าเกินนักยังชำระอยู่  ตัวเจ้าฟ้านั้นเดี๋ยวนี้ก็ไม่อยู่ที่กรุงออกไปทางเมืองปราจิณบุรี  ว่าจะไปตามเสด็จวังหน้า ๆ
            จดหมายมา ณ วัน.......... ปีมเสง  นพศก


พระราชหัตเลขา ถึงพระยามตรีศรีสุริยวงศ  แลเจ้าหมึ่นสรรเพธภักดี
ปีมะเมีย  พ.ศ . ๒๔๐๑

            จดหมายมายัง.....ให้ทราบ..... หนังสือครั้งนี้ดีหนักหนา..... ความก็สนุกดี..... ข้างในฟังด้วยกันมาก  ทั้งพระทั้งคฤหัสถ์ทั้งวัดทั้งบ้าน  แต่คนป่า ๆ เขิน ๆ นั้น  ดูทีเขาจะยิ้ม ๆ อยู่ว่า  ชึ่งว่าทูตได้เข้าไปนั่งโต๊ะกินน้ำชากับควินวิกตอเรียนั้นจะไม่จริง  แต่ข้าพเจ้าแลท่านผู้ใหญ่ ๆ  ทั้งปวงไม่ได้สงสัยเลย เพราะเข้าใจธรรมเนียมข้างอังกฤษอยู่  แลทราบเปนแน่แท้ว่าการทูตครั้งนี้  ปดกันไม่ได้เหมือนทูตไปปกิ่งแต่ก่อน  เพราะสารพัดจะมีจะเล่าจะว่าในหนังสือพิมพ์หมดทุกสิ่ง..... แลข่าวว่าทูตไทยกำหนดว่าได้ออกจากกรุงลอนดอนในวัน.......... ค่ำ  แต่เลื่อนต่อไปฤาอย่างไรนั้น  แลว่ามาทางเมืองฝรั่งเศส ได้เฝ้าเจ้าฝรั่งเศสด้วยฤาอย่างไรนั้น..... แลว่าทูตไทยได้ไปขอยืมเงินที่คลังของกวินวิกตอเรียอีก  ๔๐๐ ปอนด์  แลพระพิเทศพาณิชบอกเข้าไปว่า  ทูตไปเอาเงินที่เอเชนของเขา  ๑๔๐๐๐  เหรียญเศษสามครั้ง.....  การซึ่งทูตไปประพฤติข้าพเจ้าไม่ติเตียนอะไรหามิได้  เห็นว่าชอบอยู่หมด  วิตกอยู่น่อยหนึ่งซึ่งไปพูดว่าทหารวังหลวงมี ๑๐๐๐ คน  ทหารวังหน้ามี ๕๐๐ คน นั้นผิด..... ที่จริงทหารวังหลวงมีที่กองพระพหลจำนวน ๘๐๐ เศษ  รักษาองค์ปืนปลายหอก ๔๐๐ เศษ  กับพวกเกณฑ์หัดทหารใหม่อีก ๓๐๐ เศษ เท่านั้น  ทหารวังหน้าพวกญวนถึง ๖๐๐ เศษ ฤา ๗๐๐  ทหารใหม่ถึง ๒๐๐๐ ไม่ใช่ฤา  ถึงที่กรุงนี้ก็เล่าฤาทั้งเมืองด้วยกำลังทหารนี้..... ความ ๔ อย่างนี้ไม่เปลี่ยนแปลงบ้างเลย  แม่น้ำกรุงชื่อแม่น้ำไม่มีชื่ออื่นเลยเปนอันขาด  เรือนเมืองบางกอกลอยอยู่ในน้ำแทบทั้งนั้นสัก ๓ ส่วน ๔ ส่วน ปลูกอยู่บนดินสักส่วนหนึ่ง  ชาวเมืองไทยเปนแต่ล้วนจีนสัก ๙ ส่วน ๑๐ ส่วน เปนไทยอยู่ส่วนหนึ่ง  ขุนหลวงวังหลวงแก่ชราคร่ำคร่าผอมโซเอาราชการไม่ได้  ไม่แขงแรงโง่เขลา  ได้เปนขุนหลวงเพราะเปนพี่วังหน้า ราชการแผ่นดินสิทธิ์ขาดแก่วังหน้าหมดทั้งนั้น..... ข่าวฤาดังนี้ตลอดทั่วเมืองไทย  ลาว  แลจีนฝรั่งอังกฤษทั้งปวงไม่ใช่ฤา..... ฤาลางคนลางพวกอย่างเจ๊กล่าก็ขยับจะสำคัญไปว่า  ข้าพเจ้าไม่ใช่ลูกสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เปนแต่คนไม่มีมารดา  ท่านเอามาเลี้ยงไว้ก่อน..... ความอย่างนี้วุ่นมานานแล้ว.....
            ราชการที่กรุงเปนสลักสำคัญก็ไม่มี  มีแต่มิศเตอรยอนยาเวเข้ามาทำหนังสือสัญญา  เพื่อเมืองเดนมาร์ค  การก็เสร็จแล้วจะลงตราลงลายมือในวันนี้  อนึ่งเมื่อเดือน ๕ ข้างขึ้น  มีญวนรับใช้เจ้าเมืองไซ่ง่อนเข้ามาเจรจาความ  จะเอาปืนมาแลกเปลี่ยนเอาญวนไป  ความมีในหนังสือราชกิจจานุเบกษาตีพิมพ์แล้ว.....
            พระอินทราทิตย์เผือกทำชู้กับภรรยาสรรเพธภักดีนั้น  ข้าพเจ้าให้ลูกขุนเขาปฤกษา  เขาว่าเปนเงิน ๒๘ ชั่งเศษ  ทั้งสินไหมพินัย  แลว่าพินัยก็เปนหลวงไม่ได้  ด้วยข้าพเจ้าใช้สสรรเพธไปไกล  ต้องให้แก่สรรเพธคนเดียว  พินัยหลวงมีเรื่องที่ เลมิดลักคนในเรือข้างในไปจากเรือหลวงนั้น  เปนเงินชั่งเศษ ฯ
            จดหมายมา ณ วัน.......... ปีมเมีย  สัมฤทธิศก


พระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัย

            พระราชสาสนในสมเด็จพระปรเมทรมหามงกุฎ  พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา  ผู้เปนใหญ่ในสยาม  แลเมืองขึ้นใก้ลเคียงต่าง ๆ  คือเมือง  ลาวกาว  ลาวเฉียง  เมืองกัมโพชา  แลเมืองมลายู  หลายเมืองแลเมืองอื่น ๆ ขอเจริญทางพระราชไมตรีอันสนิท   คำนับมายังสำนักสมเด็จพระนางเจ้าวิกตอเรีย.....ให้ทราบว่า  เซอรรอเบิตสจอมเบิก  ผู้เปนกงสุลของกรุงบริตาเนีย..... ได้แจ้งความแก่กรุงสยาม  เปนความเศร้าโศกของกรุงบริตาเนีย  ด้วยความวิโยค  เพราะความสิ้นพระชนมชีพของพระราชชนนี..... ทรงนามว่าดุกเชศออฟเกนต์..... กรุงสยามมีความโทมนัสเพื่อจะได้ฟังความเรื่องนี้.....
            อนึ่งกรุงสยามได้สดับ  แต่ผู้แจ้งความเปนอันมากว่า  พระราชชนนีของกรุงบริตาเนียนั้น  ได้อยู่กรุงบริตาเนียด้วยความสนิทเสน่หาใหญ่ที่สุดติดต่อมามาน.....
            เพราะเหตุซึ่งกรุงสยามได้มีเกียรติยศ..... ว่ามีพระราชไมตรีกับกรุงบริตาเนีย  ใช้พระราชสาสนไปมาโดยตรง   แลกรุงบริตาเนียได้มีคุณแก่กรุงสยาม ด้วยความสำแดงความยกย่องในเมื่อจาฤกพระนามของกรุงบริตาเนียว่า  เปนพระราชภคินีที่รักของกรุงสยาม  ลงในพระราชสาสนที่มีมาทุกฉบับ..... กรุงสยามไม่อาจอดกลั้นความประสงค์  เพื่อจะสำแดงความร้อนใจอาไลยพร้อมด้วยกรุงบริตาเนีย..... ถึงว่าพระราชชนนีนั้น  จะทรงพระชนมยืนมากถึง ๗๕ ปี แล้ว.....
            เพราะเหตุซึ่งกรุงบริตาเนียได้มีความดีแลความประพฤติชอบธรรมเปนเดิมเหตุให้สำเร็จผล..... แลว่าโดยวิเศษ  คือไพร่บ้านพลเมืองที่ตั้งอยู่ในเมืองของกรุงบริตาเนียที่กว้างขวางโตใหญ่มากที่สุด  จนถึงดวงพระอาทิตย์ได้เวียนส่องแสงอยู่เปนนิตย์ ไม่ได้ลับไปจากเมืองทั้งปวง  ซึ่งเปนเมืองขึ้นของกรุงบริตาเนียเลย.....
            อนึ่งกรุงสยามได้มีความยินดี  เพื่อจะได้ฟังคำยืนยันบอกความมั่นคง..... กรุงบริตาเนียได้โปรดรับว่า กรุงบริตาเนียจะรับทูตสยาม..... เพื่อจะให้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส โดยการการเจริญทางพระราชไมตรี  ซึ่งมีขึ้นด้วยการทำสัญญาโดยแบบอย่าง  เหมือนกันกับครั้งเมื่อกรุงสยามได้ส่งทูตานุทูตไปเฝ้ากรุงบริตาเนีย  เมื่อปีมเสง นพศก  ศักราช ๑๒๑๙  ตรงกันกับคฤศตศักราช ๑๘๕๗ นั้น  ครั้งนี้กรุงสยามมีความปรารถนายิ่งขึ้นไป  เพื่อจะให้ทูตต่อไปกรุงลอนดอน  เจริญทางพระราชไมตรีแก่กรุงบริตาเนีย โดยความในพระราชสาสนอีกฉบับหนึ่ง..... ก็เพราะเหตุที่กรุงสยามได้ฟังข่าวความสิ้นพระชนม์แห่งพระราชชนนี ของกรุงบริตาเนียนั้น  เปนภายหลังแต่เวลาเมื่อทูตไปจากกรุงเทพ ฯ นี้นั้นนานแล้ว  จึ่งต้องส่งพระราชสาสนนี้มอบให้กงสุลต่อไป.....
            พระราชสาสนนี้ส่งมาแต่ท้องพระโรงของกรุงสยาม  มีนามว่าพระที่นั่งอนันตสมาคม..... เปนวันที่ ๑๕ แห่งเดือนยุไล  ในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๑ เปนปีที่ ๑๑ ฤาวันที่ ๓๗๑๕  ในรัชกาลประจุบันนี้


พระราชสาส์นเรื่องกงสุลที่จะมาแทนเซอรอเบิตสจอมเบิก
เมื่อปีชวด  พ.ศ. ๒๔๐๘

            พระราชสาสน..... ให้ทราบว่า เซอรอเบิตสจอมเบิก  ซึ่งกรุงบริตาเนีย..... ทรงตั้งให้เปนกงสุล เซอรอเบิตสจอมเบิกอยู่ในกรุงเทพ ฯ นี้หกปีเศษ  ก็อุตส่าห์ประพฤติราชการ..... ไม่ย่อหย่อน  แลเมื่อความดีเปนที่ชอบใจแก่เสนาบดีฝ่ายสยาม  จนเสนาบดีฝ่ายสยามได้รับจดหมายเปนคำสรรเสริญ..... เปนเนื้อความหลายข้อ  มอบให้เซอรอเบิตสจอมเบิกมาเปนสำคัญ..... เซอรอเบิตสจอมเบิกมีอายุก็เท่ากับกรุงสยาม  แก่กว่ากรุงสยามเพียงสามเดือน  บัดนี้คิดเห็นอายุเจริญได้ถึงหกสิบปีแล้ว..... ขอพระเดชพระคุณกรุงบริตาเนียได้โปรดแก่เซอรอเบิตสจอมเบิกจงมากเทอญ
            อนึ่งกรุงสยามขออ้อนวอนกรุงบริตาเนีย..... เลือกหาผู้มียศบันดาศักดิ์ซึ่งสมควร  มีความดีเสมอเหมือนเซอรอเบิตสจอมเบิก  ตั้งเปนกงสุลแทนที่.....โดยเร็ว
            กรุงสยามขอพระเดชพระคุณกรุงบริตาเนีย ได้โปรดให้จัดผู้ซึ่งจะส่งมาเปนกงสุลอังกฤษใหม่ในเมืองสยามนั้น  ได้ให้ผู้ซึ่งมีสติปัญญาเข้าใจในกฎหมาย แลขบวรราชการต่าง ๆ ..... ถ้าได้ที่ฉลาดในอินเตอรนาแชนนาลลอ  ว่าถึงการใหญ่ ๆ ในการบ้านเมือง  ควรเปนที่ปฤกษาหารือ ให้ช่วยผู้ครองแผ่นดินฝ่ายสยาม..... ในที่จะคิดอ่านการใหญ่ ๆ กันไภยซึ่งจะมีเพราะความเข้าใจผิดแต่ผู้มีอำนาจต่าง ๆ ที่ไปมาแลตั้งอยู่ไกล้เคียงทั้งปวงนั้นได้ด้วย  จะเปนดียิ่งนัก  แผ่นดินสยามบัดนี้ตั้งอยู่ในที่ติดต่อกัน  แผ่นดินมีอำนาจใหญ่ ๆ แผ่นดินสยามได้ติดต่อกับแผ่นดินอยู่ในพระราชอาณาจักรของกรุงบริตาเนีย  ตั้งแต่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ขึ้นไปจนทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มานานเกือบสี่สิบปีแล้ว  การเกี่ยวข้องถ้อยความสงสัยเข้าใจไม่ต้องกันก็มีบ้าง..... ถึงกระนั้นผู้ครองฝ่ายสยามรู้ตัวว่าเปนผู้อยู่ไกลแต่ยุโรป  ยังไม่สู้เข้าใจชัดแท้  แลคุ้นเคยในกฎหมายอย่างธรรมเนียมอันดีของบ้านเมืองในยุโรป..... ก็ย่อมยอมความทั้งปวงนั้น  ให้กรุงบริตาเนียกับเสนาบดีในกรุงลอนดอนตัดสินใจไม่สงสัย..... เพราะเชื่อว่าปาลิยาแมนในนอกแลอินเตอรนาแชนนาลลอสอไสยิตี้  จะคิดการและพิพากษาสิ่งใด  ก็ล้วนเปนยุติธรรมดีทุกประการ.....
            อนึ่งเมื่อก่อนเวลานี้ไป  กรุงสยามกับเสนาบดีมีความปรารถนาจะใคร่ตั้งกงสุลของกรุงสยาม  มาคอยอยู่ฟังราชการในกรุงลอนดอนนายหนึ่ง  ได้ขอแก่เซอรอเบิตสจอมเบิกกงสุลก็มีความตอบว่ายอมให้ตั้งไม่ขัดขวาง  กรุงสยามกับเสนาบดีมีความยินดีเลือกได้มิศเตอ ด, ก, มาสอนเปนอังกฤษสับเยค  ขึ้นในพระราชอาณาจักรกรุงบริตาเนียนายหนึ่ง   ซึ่งเปนผู้เข้ามาตั้งค้าขายในกรุงเทพ ฯ นี้ นานถึงแปดปีมาแล้ว  เข้าใจฝ่ายขนบธรรมเนียมสยามมาก..... จึงได้ตั้งให้มิศเตอ ด, ก,  มาสอน  เปนกงสุลฝ่ายสยาม  ได้นามตามยศโดยธรรมเนียมสยาม  เคยใช้ในภาษาสันสฤกตว่า  พระสยามธุระพาห.....
            กรุงสยามมีความเสียใจ  เพื่อจะได้ฟังความเสื่อมเสียสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระราชชนนี  แลสมเด็จพระภัสดากรุงบริตาเนียซึ่งเปนมาแล้วในปีหลังถึงสองซ้ำ..... การพิบัติเสื่อมเสียเช่นนี้ย่อมมีราชตระกูลทุกบ้านทุกเมืองที่อื่นยกไว้  แต่กรุงสยามนี้เองในปีทั้งสามที่ล่วงมาแล้ว  กรุงสยามก็ต้องวิโยคเสื่อมเสียจากพระราชเทวีมีชนมายุยี่สิบเจ็ดปี  แลราชโอรสใหญ่ที่สองชนมายุสามสิบแปดปี  แลราชธิดาซึ่งประสูติจากราชเทวีนั้นมีพระชนมายุแปดขวบ..... แต่บัดนี้กรุงสยามมีความดียิ่งนักที่ได้ฟังว่า  กรุงบริตาเนียได้มีพระราชนัดดา.....
            กรุงสยามขออาราธนา  แลสิ่งซึ่งเปนประธานแก่สกลโลก  จงได้อนุเคราะห์รักษาสมเด็จพระเจ้ากรุงบริตาเนีย  ให้ได้ดำรงในความสุขความเจริญ  แลติดต่อไปพร้อมของชนมชีพ แลราชสมบัติทวีทั้งอาณาจักร  แลขอให้ทางพระราชไมตรีทั้งสองพระนคร ติดพันธ์อยู่เย็นเปนสุขสืบไปภายหน้าชั่วฟ้าดินเทอญ.
            พระราชสาสานี้ได้ส่งไปแต่พระที่นั่งอนันตสมาคม..... ในวันศุกร์เปนดิถีที่ ๗ ในข้างแรมของจันทรมาศชื่อวิสาข เปนเดือนที่ ๖ นับแต่ต้นรดูหนาวมา  ในปีชวดฉศก  ศักราชโหรสยาม ๑๒๒๖  ตรงกันกับกำหนดสุริยคติกาลฝ่ายยุโรป  เปนวันที่ ๒๗ เดือน เม  ในปีมีคฤศตศักราช ๑๘๖๔ เปนวันที่ ๑๔ ฤาวันที่ ๔๗๖๒ ในรัชกาลประจุบันนี้ ฯ
 

| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |