>
| หน้าแรก | ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
พระราชสาสนในสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ
พระเจ้ากรุงรัตนโกสินทรมหินทรายุธยา ขอคำนับเจริญทางพระราชไมตรีมายัง
สำนักสมเด็จพระเจ้านโปเลียนที่สาม
อัมเปรอผู้เปนเจ้าเปนใหญ่ ในพระราชอาณาจักรกรุงฝรั่งเศสให้ทรงทราบ
ด้วยในเดือนแปด ปีมะโรง นักษัตรอัฐศก ปีที่ ๖ ในรัชกาลอันเปนปัจจุบันนี้
มองซิเออร์ซาเลศเตมองติงงี
เปนราชทูตมาด้วยกำปั่นรบของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส
ด้วยหนังสือสำคัญของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส
เป็นที่เชื่อถือมาว่ากล่าวจัดแจงสัญญาการไมตรี
และการค้าขายคืนต่อกับการซึ่งได้เป็นแล้วแต่หนหลัง
ครั้งแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเจ้ากรุงลพบุรีโน้น
มองติงงีทูตฝรั่งเศสมาขอให้กรุงสยามให้อิสรานุภาพแก่ขุนนางบางนาย
ออกไปคิดอ่านปรึกษาด้วยข้อสัญญา..... การทำหนังสือสัญญาก็เป็นอันเสร็จแล้ว.....
จึงมองซิเออร์ซาเลศเตมองติงงี
ราชทูตได้มอบสิ่งของเครื่องมงคลราชบรรณาการหลายสิ่งแก่กรุงสยาม.....
ขอให้ทางพระราชไมตรีของสองพระมหานคร ติดพันอยู่เย็นเป็นสุขไปนานชั่วฟ้าและดินเทอญ.....
ครั้งนี้กรุงสยามได้ส่งเครื่องราชบรรณาการบางสิ่ง
มีบัญชีมากับพระราชสาส์นนี้.....
พระราชสาส์นมา ณ วัน.......... ปีมะโรง นักษัตรอัฐศก เป็นปีที่ ๖
แห่งรัชกาลปัจจุบันนี้ เป็นวันที่ ๑๙ แห่งเดือน เสบเตมเบอร์
ศักราชคริสต ๑๘๕๖ เป็นปีที่ ๔ ของรัชกาลปัจจุบัน กรุงฝรั่งเศส
ฯ
พระราชสาส์น
กำกับสุพรรณบัตร
ซึ่งมองซิเออมองติงงี ราชทูตฝรั่งเศส
เชิญไปถวายพระเจ้านโปเลียนที่ ๓
เมื่อปีมะโรง พ.ศ.
๒๓๙๙
พระราชสาส์น ในพระปรเมนทรมหามงกุฎ..... พระจอมเกล้าเจ้าแผ่นดินสยาม
ผู้เปนใหญ่แก่ประเทศราชต่าง ๆ ใกล้เคียงคือเมืองลาว เมืองกัมพูชา
เมืองมลายู
หลายเมืองขอเจริญทางพระราชไมตรีคำนับมายังสมเด็จนโปเลียนที่สาม
ซึ่งเปนพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสในกาลบัดนี้ให้ทรงทราบ ด้วยเมื่อเดือน ๘
ปีมะโรง นักษัตรอัฐศก เป็นปีที่ ๖
ในรัชกาลปัจจุบันในสยามราชอาณาจักรนี้ มีเรือรบของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ๓
ลำ เรือใบ ๑ ลำ เรือกลไฟสองลำ มาถึงสยามประเทศนี้
มองซิเออซาเลศเดมองติงงีเป็นราชทูต..... ขอทำสัญญาทางพระราชไมตรี
และไมตรีของชนชาวสอง
พระราชอาณาจักรให้ถึงกันสืบไป ด้วยการค้าขายด้วยกรุงสยาม
ฝ่ายกรุงสยามทั้งปวงถึงไม่เคยพบกับพวกฝรั่งเศส ที่มิใช่บาดหลวงมานานแล้วก็ดี
และไม่เคยเห็นดวงตราพระราชลัญจกรสำหรับกรุงฝรั่งเศสมาแต่ก่อนก็ดี
ก็ตกลงใจเห็นว่าควรจะเชื่อได้..... มีความยินดีรับด้วยความนับถือเป็นอันมาก
จัดแจงการทั้งปวงเป็นยศในราชการ รับสมควรแก่พระยศของเจ้ากรุงฝรั่งเศส
เป็นพระราชอาณาจักรใหญ่ ครั้น ณ วัน..... ค่ำ เป็นวันที่ ๒๔
ในเดือนยุไลย เพลากลางวัน กรุงสยามได้พบกับมองติงงีราชทูต
และกอมโมโตร์ และขุนนางฝรั่งเศสหลายนายในที่ประชุมใหญ่ พร้อมพระราชวงศานุวงศ์
และขุนนางผู้ใหญ่น้อยฝ่ายสยามชุมนุมกัน ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท
ได้รับพระรูปพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสกับรูปพระมเหสี.....
บอกความพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสกับพระมเหสี ทรงมอบให้มองติงงีราชทูต
นำมามอบแก่กรุงสยามแทนแผ่นราชนามบัตร สำหรับใช้ในการเยี่ยมเยียน
ด้วยได้สดับคำนี้กรุงสยามมีความยินดียิ่งนัก
แล้วจึงมองติงงีราชทูตฝรั่งเศส ได้อ่านประกาศในที่ประชุม สำแดงความยืนยันว่า
เป็นราชทูต ถือรับสั่งพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ให้เข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี
และการค้าขายกับกรุงสยาม คำมองติงงีอ่านเป็นภาษาฝรั่งเศส
แล้วบาดหลวงฝรั่งเศสที่เป็นล่าม จึงอ่านคำแปลเป็นคำอังกฤษ
ให้กรุงสยามฟังทราบความแล้ว กรุงสยามจึงได้แปลเป็นคำสยาม
ประกาศแก่ราชวงศานุวงศ์ และขุนนางในที่ประชุมนั้นให้ทราบทั่วกันแล้ว
จึงได้ปรึกษากับพระราชวงศานุวงศ์ และเสนาบดีผู้ใหญ่เป็นประธานในแผ่นดิน
ลงความเห็นพร้อมกัน แต่งตั้งท่านทั้งห้าคือ
พระเจ้าน้องยาเธอพระองค์หนึ่ง แทนพระราชตระกูลทั้งสิ้น
กับเสนาบดีผู้ใหญ่สี่..... ท่านทั้ง ๕ นี้ให้มีอำนาจเต็ม
เพื่อจะทำสัญญากับทูตกรุงฝรั่งเศสแทนกรุงสยามทุกประการ
สำเร็จด้วยใบบังคับรับสั่งพระเจ้าแผ่นดินทั้งสองฝ่าย
แปลกันให้รู้ว่าเป็นผู้รับสั่งแท้ แล้วก็ได้ปรึกษาหารือกัน
แล้วก็ได้เขียนข้อสัญญาต่าง ๆ ลงในลำดับคำภาษาฝรั่งเศสและภาษาสยาม
สอบสวนให้ต้องกัน การทำสัญญาปรึกษานี้จัดแจงอยู่ ๑๕ วัน
ก็สำเร็จ ได้ลงลายมือและดวงตราของผู้รับสั่งทุกคนทั้งสองฝ่าย
ในฉบับอักษรสยามและฝรั่งเศสกำกับกันเขียนเป็นสามฉบับ ในวัน..........
และเป็นวันที่ ๑๕ แห่งเดือน ออคุสต์ ปีศักราชคริสต ๑๘๕๖
มองซิเออร์ซาเลศ เดมองติงงีราชทูต ได้มอบหนังสือสัญญาไว้ที่กรุงเทพ ฯ
ฉบับหนึ่ง นำไปจะส่งเมืองปารีสกรุงฝรั่งเศสสองฉบับ
เพื่อจะรับพระราชลัญจกรกรุงฝรั่งเศส
แล้วจะกลับคืบมาส่งเปลี่ยนกับฉบับที่ไว้ในพระนครนี้..... อนึ่งมองติงงีราชทูต.....
ก็ได้จัดแจงนำสิ่งของเครื่องมงคลราชบรรณาการ
คือปืนทองใหญ่เครื่องใช้พร้อมหีบปืนหันซั่น หีบเครื่องแต่ตัวอย่างดี
หีบใส่แก้วครอบนกร้องระย้าเทียนแขวนแก้วสำหรับทับกระดาษ รวมแผ่นภาพต่าง ๆ
สองห่อ กล้องสเตอริยอทั้งแผ่นคู่สำหรับกล้องนั้น
และแผ่นพับที่เล่นพนันวิ่งม้า กับหีบใส่เครี่องใช้เล่นทอดบาท.....
กรุงสยามเพ่งพิศดูได้เห็นอักษรจารึกในหลังหีบปืนหันซั่น
และหีบเดรื่องแต่งตัวเป็นอักษรฝรั่งเศสว่า.....
แปลว่าถวายมาแด่สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส
เป็นเอมเปรอทรงพระนามนโปเลยอนที่สาม..... สิ่งของทั้งปวงนั้น
กรุงสยามก็ได้มีความยินดีคำนับรับไว้แล้ว.....
อนึ่งกรุงสยามขอสำแดงความมาให้ทราบตามที่จริงว่า
อันประเทศแผ่นดินชึ่งเป็นพระราชอาณจักรกรุงสยามนี้ ถึงเป็นที่เกิดแห่งของต่าง
ๆ หลายอย่างหลายสิ่งก็ล้วนเป็นสินค้าของป่า
จำนวนที่ราษฎรหามาเปิดเผยในทางค้าขายได้ในปีหนึ่ง ๆ ก็ไม่สู้มากนัก.....
ในพระราชอาณาจักรนี้ และพระราชอาณาจักรอื่นใกล้เคียงก็ยังเป็นการชาวบ้านชาวป่า.....
ชาวบ้านชาวเมื่องทั้งปวงก็เป็นคนปะปนหลายเพศหลายภาษา
ถือศาสนาและปลูกจารีตต่าง ๆ กัน ใช้ตัวหนังสือต่างกัน
อ่านกันได้ตามแต่พวก ๆ.....
คนที่รู้หนังสือได้นั้นก็มีน้อยกว่าคนที่ไม่รู้ใช้รู้หนังสือเลยหลายเท่า
และบัดนี้พระราชอาณาจักรกรุงสยามซึ่งเป็นดังว่านี้
ก็ต้องมารับพระราชไมตรี
และทำสัญญาการค้าขายด้วยมหานครอันใหญ่ ที่มีอำนาจในทะเลถึงสามประเทศแล้ว
คือฝรั่งเศสและอังกฤษและอเมริกา ดังนี้
ฝ่ายชาวประเทศไกลที่มีอย่างธรรมเนียมดี ๆ
เมื่อมาพบคบหากับชาวสยาม ที่มีปรกติธรรมดาตัวเป็นดังว่ามาแล้วนั้น
เกลือกจะมีความเข้าใจเห็นชอบไม่ต้องกันต่าง ๆ ไปบ้าง......
และในครั้งนี้กรุงสยามเห็นแก่ทางราชไมตรี
ได้จัดแจงสิ่งของเครื่องมงคลราชบรรณาการบางสิ่ง.....
เป็นฝีมือชาวสยามประเทศนี้ทำขึ้น.....
และมองติงงีราชทูตฝรั่งเศส..... กรุงสยามเห็นว่าเป็นคนดีมีสติปัญญาอัธยาศัย.....
กรุงสยามได้ให้ของบางสิ่งเป็นรางวัล.....
แล้วได้อนุเคราะห์ตามใจให้เที่ยวเล่นในที่ต่าง ๆ ตามหัวเมืองใกล้ ๆ
กรุงหลายตำบล
อนึ่งกรุงสยามกับเสนาบดีที่ปรึกษาราชการพร้อมกัน มีความปรารถนายิ่งนัก
ว่าจะแต่งราชทูตสยามที่มีบรรดาศักดิ์ ให้จำทูลพระราชสาส์น
และคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ ออกมาคำนับเจริญทางพระราชไมตรี
แก่สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสให้ถึงกรุงปารีส
และได้เฝ้าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส..... ชาวสยามในการบัดนี้
ก็ยังไม่เคยไปข้างประเทศยุโรปเลย.....
พระราชดำริพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจะโปรดอย่างไรยังไม่ทราบถนัด.....
ขอพระราชดำริอันควรจะโปรดประการใด
ขอให้มีพระราชสาส์นตอบไปให้ทราบโดยเร็วจะคอยฟัง พระราชสาส์นนี้ได้มอบให้ ณ
พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ฯ..... ในวัน.......... เป็นวันที่ ๑๙ แห่งเดือน เสบ เตม
เบอร์ ในปีมีคริสตศักราช ๑๘๕๖ คิดเป็นปีที่ ๖
ในรัชกาลปัจจุบันของแผ่นดินสยามนี้
พระราชหัตถเลขาถึงพระเจ้านโปเลียน ที่ ๓
พระราชทานไปยังประเทศฝรั่งเศส
เมื่อปีระกา พ.ศ.
๒๔๐๔
พระยาศรีพิพัฒน์ราชทูตเชิญไป
พระราชสาส์นในสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏพระเจ้ากรุงรัตนโกสินทร์ ฯ .....
ขอคำนับเจริญทางพระราชไมตรีมายังสำนักสมเด็จพระเจ้านโปเลยอนที่ ๓
พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส..... ตั้งแต่ทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรี
และการค้าขายในปีมะโรง อัฐศก ศักราชสยาม ๑๒๑๘ คริสตศักราช ๑๘๕๖
ได้เห็นผลแห่งการทำสัญญา เป็นความเจริญต่าง ๆ แก่บ้านเมือง.....
อนึ่งได้เห็นความดีของกงสุลและผู้ว่าการแทนกงสุล.....
ซึ่งผลัดเปลี่ยนกันเข้ามา..... ด้วยเหตุนี้กรุงสยาม.....
จึงมีความยินดีด้วยทางพระราชไมตรีกับกงสุลฝรั่งเศสยิ่งนัก
เมื่อเวลาแล้วของหนังสือสัญญานั้น กรุงสยามได้มีพระราชสาส์นเป็นประถมถึง
กรุงฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง ให้มองซิเออร์ชาเลศมองติงงีเชิญออกไป.....
กรุงสยามมีความปรารถนาจะใคร่ส่งทูตานุทูตฝ่ายสยาม จำทูลพระราชสาส์น
และคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการออกไปเจริญทางพระราชไมตรีให้ถึงเฉพาะพระพักตร์
สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสสักครั้งหนึ่ง.....
จึงขอหารือไปตามแต่สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสจะโปรด.....
ถ้าผู้ครองนครฝ่ายฝรั่งเศสมีความอนุเคราะห์ จัดเรือทะเลมารับทูตานุทูตไปดังครั้งก่อนนั้นจึงจะส่งไปได้....
สมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้มีพระราชสาส์น ลงวันที่ ๕ เดือน ดีเซมเบอ
คริสตศักราช ๑๘๕๗ ตอบเข้ามา..... และมีความในข้างปลายในพระราชสาส์นนั้นว่า
ทูตานุทูตฝ่ายสยามซึ่งกรุงสยามจะส่งออกไปยังท้องพระโรงหลวงกรุงฝรั่งเศส
กรุงฝรั่งเศสจะยินดีรับทุกเมื่อทุกทาง.....
ครั้นภายหลังกรุงสยามได้ทราบแต่ทางที่สดับต่าง ๆ
ว่ากรุงฝรั่งเศสมีราชการศึกมาเป็นหลายทิศหลายทาง
กรุงฝรั่งเศสไม่มีเวลาว่างซึ่งจะได้รับทูตไป แต่ต่างประเทศ
การจึงได้รอช้ามาถึงสามปี
บัดนี้กรุงสยามมีความยินดีด้วยได้ช่องได้คราวที่จะส่งทูตไป
เพราะมีเรือรบกลไฟของสมเด็จพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสชื่อยิโรนเต.....
ได้เข้ามาถึงปากน้ำเจ้าพระยา.....
เรือกลไฟลำนี้ได้มาโดยรับสั่งบังคับของพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ให้เข้ามารับทูตานุทูตสยาม
ไปโดยความประสงค์..... กรุงสยามได้ทราบดังนี้มีความยินดียิ่งนัก
จึงได้แต่งตั้งให้พระยาศรีพิพัฒรัตนราชโกษาธิบดีเป็นราชทูต
เจ้าหมื่นไวยวรนาถเป็นอุปทูต พระณรงค์วิชิตเป็นตรีทูต..... รวมเป็น ๒๗
คน ให้ทูตพวกนี้จำทูลพระราชสาส์น และคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ.....
ได้มอบให้ทูตพร้อมไปกับด้วยพระราชสาส์นและเครื่องมงคลบรรณาการ
เป็นส่วนในพระบวรราชวัง.....
อนึ่งกรุงสยามมีความปรารถนา
และไว้ใจว่าเมื่อทางพระราชไมตรีกรุงสยามกับกรุงฝรั่งเศส ได้เป็นอันติดต่อสนิท.....
ถ้าความต้องการจะมีราชเลขาของกรุงสยามแสดงความอื่นซึ่งไม่เป็นการบ้านเมืองเรื่องสลักสำคัญ
เป็นแต่ความสำลับเล็กน้อย
โดยฉันทางพระราชไมตรีอันสนิทชิดชอบ มอบให้ทูตไปถวายในครั้งนี้ก็ดี
จะมอบให้กงสุลฝรั่งเศสส่งไปในครั้งอื่นก็ดี
ถ้าการจะใช้พระราชเลขาดังนี้ ไม่ผิดแก่กฎหมายฝ่ายฝรั่งเศสแล้ว
เห็นกรุงฝรั่งเศสจะทรงรับ และตอบโดยฉันทางพระราชไมตรี.....
แล้วจงโปรดมาให้ทราบตามอย่างที่ควรนั้นเทอญ ฯ
บัญชีรายชื่อทูตานุทูต
พระราชหัตถเลขาถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน
จดหมายมายังพระยาศรีพิพัฒ ฯ ..... ให้ทราบว่า หนังสือบอก ลงวันที่.....
ได้อ่านแล้วด้วยความยินดี.....
.....
ครั้งนี้ได้ส่งพระราชสาส์นที่จะไปถึงกวินวิคตอเรียมาฉบับหนึ่ง
กับทั้งสำเนาและคำสำหรับอ่านกราบทูล เมื่อถวายพระราชสาส์น
เมื่อได้พระราชสาส์นฉบับนี้แล้ว..... จงเอาหนังสือเจ้าพระยาพระคลังฉบับที่ ๒
วางแก่เลอรดผู้ว่าการต่างประเทศ ในเมืองฝรั่งเศสเถิดจงฟังเขาดู
ถ้าเขายอมรับจะพาส่งไปก็เป็นดี จงคุมพระราชสาส์นและสิ่งของนั้นไป
จนได้เฝ้ากวินวิคตอเรียแล้ว
จึงเอาคำสำหรับอ่านกราบทูลฉลองแล้วถวายพระราชสาส์นเถิด
ถ้าเลอรดผู้ว่าการต่างประเทศในเมืองฝรั่งเศสเขาไม่ยอมส่งไป
ก็จงมีหนังสือของพวกทูตไปถึงเลอรดผู้ว่าการต่างประเทศของอังกฤษในเมืองอังกฤษว่า
พระเจ้ากรุงสยามได้มอบพระราชสาส์นกับสิ่งของเล็กน้อย ให้ทูตานุทูตพวกนี้ไปเฝ้ากวินวิกตอเรีย
พระเจ้ากรุงบริตาเนีย
แล้วถวายแต่ผู้ครองฝ่ายอังกฤษจะโปรด.....
หรือเขาจะให้มีผู้รับใช้มารับแต่พระราชสาส์นกับสิ่งของไป ก็จงมอบพระราชสาส์น
กับสิ่งของให้เขาไปเถิด..... คิดอ่านราชการพอให้เป็นเสร็จแล้วลง
ราชสาส์นที่ไปถึงเมืองฝรั่งเศสก็ดีไปถึงโปรตุเกตก็ดี เขียนในเวลาจวนจะไปนัก
เสมียนที่เขียนก็เป็นแต่คนโปรตุเกต ไม่สู้ถ้วนถี่ในภาษาอังกฤษนัก.....
ถ้าเขาต่อว่าว่าทำไมจึงไม่มีพระราชดำรัสแผ่นทองไปตามธรรมเนียมไทย ก็จงว่าแก้ไขแก่เขาว่า
พระราชสาส์นฉบับนี้ข้าพเจ้าคิดอ่านทำขึ้นเมื่อจวนวันทูตจะไป
ทำพระราชสาส์นแผ่นทองไม่ทัน ขอโทษเสียเถิด.....
อนึ่งได้ข่าวมาว่าเมื่อก่อนทูตไปเมืองสิงคโปร์วันหนึ่ง
พระยาตรังกานูไปถึงเมืองสิงคโปร์
เจ้าเมืองสิงคโปร์มารับพระยาตรังกานูขึ้นไปบนเมือง การนี้ทูตทราบหรือไม่.....
ถ้าดังนี้จะใครทราบว่า พระยาตรังกานูมาหาทูตหรือไม่
ด้วยเห็นพระยาตรังกานูเป็นเมืองขึ้นฝ่ายไทยควรจะต้องมาหาทูต
แต่ถ้าว่าไว้ใจยาก เพราะพระยาตรังกานูมักคิดอ่านและประพฤติการเชือน ๆ
อยู่
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีระกา ตรีศก
ศักราช ๑๒๒๓
พระราชหัตถเลขา ถึงคณะ ทูตานุทูตรวมกัน
จดหมายมายัง..... ให้ทราบ
หนืงสือบอกกับจดหมายเหตุที่สอง ที่ส่งไปแต่คาลลีเกาะสิงหฬนั้น
ได้รับเมื่อ..... คราวนี้ราชการที่กรุงก็ไม่มีเหตุอันใด
มีแต่ที่เมืองอุดงมีไชย
องค์พระนโรดมพรหมบุรีรักษ์มหาอุปราชวิวาทกับองค์วรรดถา
องค์สิริวงศ์น้องชายจนรบกันขึ้น.....
น้องชายสองคนหนีมาบัดนี้เข้ามาอยู่เมืองนครเสียมราบแล้ว.....
ตั้งซ่องสุมผู้คนขึ้นไม่มากนักเพียง ๓๐๐ ร้อยเศษ
อุปราชให้ไปว่ากล่าวก็ไม่มาอ่อนน้อม จึงให้ไปล้อมจู่กำจัดเสีย
ถ้าเขาจะทำจริง สองคนนั้นคงตายที่ไหนจะมาได้
เขาก็บอกข้อราชการตามเหตุที่เปนนั้นเข้ามาแล้ว
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีระกา ตรีศก ศักราช
๑๒๒๓
พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูตานุทูตารวมกัน
จดหมายถึง..... ให้ทราบ หนังสือบอกกับจดหมายเหตุที่ ๓
ที่ส่งมาแต่เมืองเอเดนนั้นได้มาถึงกรุงเทพ ฯ
เมื่อวัน..........
เมื่อมีหนังสือบอกมาถึงคราวไร ก็ได้เขียนตอบไปทุกที
พระราชสาส์นที่จะไปถึงกวินวิกตอเรีย ก็ได้ตกแต่งใส่หีบส่งตามไปแล้ว
แต่หนังสือทั้งปวงนั้นเห็นจะไปกับเรือเมล์จะไปถึงก่อน
ก่อนพวกท่านทั้งปวงไปถึงเป็นแน่
และมีความไว้ใจว่าท่านทั้งปวงไปถึงแล้วก็คงจะได้รับอ่านทุกฉบับ
ราชการที่กรุงเทพ ฯ จะมีเหตุการณ์อันใดเป็นสลักสำคัญก็หาไม่
มีแต่ข่าวไข้ข่าวตายบ้าง..... การก็ไม่เกี่ยวข้องในครอบครัว
บุตรภรรยาและญาติอันสนิทของท่านทั้งหลายทั้งปวงดอก
พวกนั้นอยู่เย็นเป็นสุขดีอยู่หมด
ข้าพเจ้าได้ให้ทนายเรือนและโขลนไปเยี่ยมเยียนอยู่มิได้ขาด ฯ
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีระกาตรีศก ศักราช
๑๒๒๓
พระราชหัตถเลขา ถึงขุนมหาสิทธิโวหาร
จดหมายมาถึง
ขุนมหาสิทธิโวหาร ว่าซึ่งจัดให้ขุนมหาสิทธิโวหารออกไปครั้งนี้
ด้วยประสงค์จะให้เจริญความรู้ในการทำหนังสือพิมพ์
เพื่อจะให้ไปดูเห็นการเห็นงานในการซึ่งเป็นต้น ๆ อ่อน ๆ เบา ๆ
พอไทยจะทำได้นั้น..... เพราะในเมืองไทยนี้หนังสือคนอ่านก็ได้น้อย ก. ข.
นโม. ก็ไม่เป็นรสเรื่องอะไรเท่าไรนัก ซึ่งให้ไปทั้งนี้
คือจะให้สังเกดการซึ่งเป็นร้าน ๆ สิ่งไรที่ยากมาแต่ก่อนจะให้ง่ายเข้า
สิ่งไรที่ไม่สู้ดีมาแต่ก่อนจะให้ดีขึ้น อันนั้นก็คือ
เมื่อทำตัวเหล็กตัวทองแดง ซึ่งเป็นแบบหล่อ ทำอย่างไรจะเที่ยวจะงามดี
หนังสือจะไม่เลอะเทอะนัก และจะได้แล้วได้เร็วได้ง่ายต่อไปเล่า
คือการหล่อตัวดีบุกแต่งตัวดีบุก อย่างไร
จะเที่ยวดีจะง่ายจะเร็วเข้าไม่หนักแรง
จะมีเครื่องมือแปลกประหลาดไปอย่างไรบ้าง ให้คิดอ่านร่ำเรียนหามา.....
คิดแบ่งเอาแต่พอสมควรกับการในเมืองไทย
....................
ออกไปครั้งนี้ อย่าไปตื่น ๆ ต่าง ๆ
ทำให้เสียงานเสียการที่ประสงค์ไป ให้ได้ประโยชน์ที่ประสงค์มา
ทำให้การโรงพิมพ์ของเราดีขึ้นกว่าแต่ก่อนบ้าง เพราะการอื่น ๆ
เหมือนอย่างเครื่องกลไฟและอะไร ๆ ในเมืองนี้เป็นอันมาก
แต่การพิมพ์นี้ไม่มีใครเอาใจใส่ การก็ใช้ประโยชน์มากทั้งราชศาสตร์
พุทธศาสตร์ คิดเอาราชการของเจ้านายให้เป็นเกียรติยศ
เป็นคุณแก่การแผ่นดิน และการศาสนาไว้บ้างเถิด
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓
พระราชหัตถเลขา ถึงหมื่นจักรวิจิตร
จดหมายมาถึงหมื่นจักรวิจิตร ว่าซึ่งให้ออกไปด้วยครั้งนี้
ก็เพราะประสงค์จะให้ไปเรียนแก้นาฬิกาให้ดี ขุนทิพยมงคลออกไปครั้งก่อน
ก็ได้เครื่องมือ และเครื่องอะไหล่เข้ามามาก
แต่ฝีมือนั้นทำอ่อนแอนัก..... ครั้งนี้จงอุตส่าห์สังเกตสังการ่ำเรียนมาให้ดี ๆ
กว่าขุนทิพยมงคลให้ได้ เมื่อจะลงทุนจ้างครูสอนหรือจักซื้อเครื่องมือ
ถ้าเงินลงทุนในทูตไม่พอ
ก็จงหยิบยืมแต่ผู้ครองฝ่ายฝรั่งเศสหรืออังกฤษให้ออกเงินให้ก่อน จึงค่อยคิดใช้
แก่กงสุลของเขาที่อยู่ที่กรุงได้ดอก
อนึ่ง
จงหาหลอดแก้วที่ขังน้ำมันเป็นระดับ เขื่องบ้างย่อมบ้างมาให้หลาย ๆ อัน
เพื่อจะใส่แทนเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว หลอดแก้วแตกเสีย
เครื่องนาฬิกาแดดอย่างใหม่ ๆ ที่ประหลาด
ควรจะเชื่อได้ใช้ได้จะหามาบ้างก็ตาม
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓
พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูต
จดหมายมายัง...... ให้ทราบว่า พระพิเทศพาณิช ฯ เขาบอกว่า
ได้ฟังข่าวแต่หนังสือพิมพ์ว่า พวกทูตถึงเมืองปารีสแล้ว
แต่คอยหนังสือพวกทูตยังหาได้ไม่
ถ้าหาได้เมื่อใดจึงจะบอกเข้ามาภายหลัง
ที่กรุงเทพ ฯ ท่านเสนาบดีทั้งปวงได้ปรึกษากัน
ต่อว่าแก่กงสุลต่างประเทศ ด้วยเรื่องคนต่างประเทศเอาสุราเข้ามาขาย
การหาตกลงกันไม่ จึงได้คิดกันแต่งหนังสือมาถึงท่านทั้งปวงที่เป็นทูต
ขอให้ท่านทั้งปวงช่วยต่อว่าให้ ความนั้นข้าพเจ้าได้เรียงให้ท่านกรมท่า
แต่งเป็นหนังสือประทับตราบัวแก้วมาให้ท่านทั้งปวง
ด้วยเข้าใจว่าหนังสือกรมท่า เป็นการตามพนักงานของเสนาบดี
ที่เรียกว่าควอเวอนแมน จะได้เอาออกชี้แจงให้บาดหลวงลุวิศผู้ล่าม
หรือหมื่นจรเจนทะเลแปลให้เขาฟัง
จะทำเป็นภาษาฝรั่งเศสหรือภาษาอังกฤษไปทีเดียว ก็ไม่ทันในคราวนี้
จะรอช้าไปก็กลัวจะเสียเวลา จึงให้มาแต่ฉบับไทยก่อน.....
ครอบครัว บุตรภรรยาของท่านทั้งปวง ที่อยู่กรุงเทพ ฯ
อยู่ดีหมด.....
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓
พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูตรวมกัน
จดหมายมายัง..... ให้ทราบว่า หนังสือบอกหลายฉบับกับจดหมายเหตุที่ ๔.....
ฉบับที่ส่งถึงข้าพเจ้าได้อ่านทราบความทุกประการแล้ว.....
ในกรุงเทพ ฯ นี้ตั้งแต่แรมเดือน ๗ มาจน แรมเดือน ๙ นี้
ราชการอื่นซึ่งเป็นการสำคัญอันใดก็ไม่มี มีแต่ราชการเมืองเขมร
การนั้นกำเริบมากมายใหญ่โตไป องค์วรรดถาศิริวงศ์กับมารดา
และครอบครัวบุตรภรรยา และบ่าวไพร่ยกหนีมาอยู่ ณ เมืองศรีโสภณ
ในเมืองพระตะบองเข้ามาแล้วจะเข้ามากรุงเทพ ฯ ในแรม ๆ
แต่ที่เมืองอุดงมีไชยนั้น พวกขององค์วรรดถาเกลี้ยกล่อมพระยาพระเขมร
ตามหัวเมืองนั้นๆ เข้าพวกได้ ๑๑-๑๒ หัวเมือง
ชักชวนผู้คนเป็นอันมากได้ ๙๐๐๐ คน เศษ ยกไปล้อมเมืองอุดงมีไชย
ทำการต่อสู้องค์นโรดมราช ๆ จะต้านทานพวกนั้นมิได้ จึงพาครอบครัว
บุตรภรรยาญาติพี่น้อง และพระยาพระเขมรผู้ใหญ่หลายนาย กับทั้งบ่าวไพร่เป็นคน
๗๐๐ เศษ หนีออกจากเมืองอุดงมีไชย เข้ามาอยู่ ณ เมือง พระตะบองแล้ว
เจ้าและพระยาเขมรทั้งสองพวกนี้ ต่างคนต่างว่ากล่าวโทษกัน
และว่ากล่าวอ่อนน้อมเข้ามา ขอให้กรุงเทพฯ เป็นที่พึ่ง
ทั้งสองข้างไม่ได้ไปหาที่พึ่งอื่น ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ขัดแข็งกระด้างกระเดื่องอันใดต่อกรุงเทพ ฯ
และราชการครั้งนี้ผู้ครองแผ่นดินฝ่ายสยาม จะคิดอย่างไร ทำอะไรอย่างไร
ได้มีแจ้งอยู่ในหนังสือพิมพ์ คำประกาศ..... ที่ในกรุงปารีสนั้น
เมื่อผู้ครองฝ่ายฝรั่งเศสจะพูดจาได้ถามประการใดบ้าง ก็จงบอกให้เขาฟังตามในหนังสือคำประกาศนั้นเถิด.....
.....................
คุณศรีสุริยวงศ์กับ กรมหมื่นวิศณุนารถนิภาธร และชายคัดณางคยุคล
ลงเรือกลไฟไปเที่ยวเยี่ยมเยือนหัวเมืองปักษ์ใต้
ฝั่งทะเลตะวันตกถึงเมืองกลันตัน และเมืองตรังกานู เมืองสิงคโปร์
และเมืองมลากา เมืองเกาะหมาก
และข้ามขึ้นเมืองไทยเดินบกมาลงเรือที่เมืองสงขลา.....
เจ้าหมื่นไวยวรนารถเอาใจใส่เสาะหาซื้อปืนอย่างหนึ่งเรียกว่าอามสตรอง
ซึ่งเป็นปืนใหญ่บรรจุข้างท้ายมาให้ข้าพเจ้าเล่นเอง เป็นปืนทองเหลืองย่อม
ๆ กระสุนตั้งแต่นิ้วหนึ่งขึ้นไปสองนิ้วลงมาสักบอกหนึ่งว่าเขาใช้อย่างไร.....
ปืนนี้ยิงได้เร็ว ๑๕ เสกันยิงได้นัดหนึ่ง.....
ปืนนอกนั้นรางก็เป็นทองเหลืองหล่อหนักสองหาบทั้งบอกเป็นงามนัก ราคา ๑๐๐๐
เหรียญเล็ก
....................
พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูต
จดหมายมายัง..... ให้ทราบอาการแมเ่พอยด้วย.....
แม่เพอยนี้ในกรุงเทพ ฯ ท่านทั้งปวงรู้ว่าเป็นแต่เจ้าเล็กนายน้อยก็ดี
ในเมืองที่มาทำสัญญาไมตรี และลูกค้าพาณิชต่างประเทศเป็นอันมาก
เขานับถือว่าเป็นคนใหญ่คนโต ตั้งแต่วันสิ้นชีวิตลงแล้ว
กงสุลต่างประเทศบรรดาที่มีธง เขาก็ลดธงครึ่งเสาให้สามวัน
เรือกำปันที่ทอดอยู่ในแม่น้ำทุกวัน
กงสุลเขาก็ป่าวร้องให้ลดธงแลไขว้เชือก
สำแดงความให้รู้ว่าเศร้าโศกสามวัน
ก็หนังสือนี้จะมาถึงท่านทั้งปวงเมื่อใดที่ตำบลใดก็ยังไม่ทราบ
ถ้าได้หนังสือนี้ที่เรือหรือที
พวกกงสุลอังกฤษเขายกธงกึ่งเสาสิบสี่วัน
แล้วเขาแต่งเครื่องดำด้วยสิบสี่วัน
แต่รายนี้จะทำสามวันหรือเจ็ดวันก็ควรอยู่แล้ว
พวกทูตถ้ามีเครื่องดำจะแต่งเครื่องดำด้วยก็ตาม พอให้เป็นเกียรติยศ
แต่ถ้าสำแดงอาการอย่างนี้จะประกาศการให้ปรากฎก่อน
อย่าให้กิตติศัพท์ลือผิด กลายเป็นตัวข้าพเจ้าเองไปได้
เพราะคนในประเทศเป็นอันมาก และคนนอกประเทศบางคนบางพวก
มันนั่งเร่งนอนเร้าข้าพเจ้าอยู่ ท่านก็จะรู้อยู่แล้ว
.....ข่าวที่ว่าเข้าเฝ้า แล้วนั้นเป็นแต่ได้เห็นในหนังสือพิมพ์บ้าง
มีผู้บอกเล่าบ้าง ยังหาได้หนังสือมาแต่ท่านทั้งปวงไม่
ท่านทั้งปวงจะไปเมืองอังกฤษเมื่อไร จะกลับจากเมืองปารีสเมื่อไร
จะได้แวะเมืองโรมหรือไม่การทั้งปวงจะอย่างไร
ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้ฟังจากท่านทั้งปวงเลย ยังประมาณการไม่ถูกได้
ยินแต่คุณศรีสุริยวงศ์ท่านว่า ท่านทั้งปวงจะกลับคืนในเดือน เสบเตมเบด้แวะเมืองโรมหรือไม่การทั้งปวงจะอย่างไร
ข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้ฟังจากท่านทั้งปวงเลย ยังประมาณการไม่ถูกได้
ยินแต่คุณศรีสุริยวงศ์ท่านว่า ท่านทั้งปวงจะกลับคืนในเดือน เสบเตมเบอร์.....
ราชการเมืองเขมรนั้น ได้จัดให้เจ้าพระยามุขมนตรีกับพระยาสิงหราชฤทธิไกร
แม่ทัพนายกองเป็นคน ๑๐๐๐ เศษ ยกออกไปทางเมืองพระตะบองแล้ว
ได้ให้พระยาฤทธิไกรเกรียงหาร คุมเรือกันโบตออกไปทางเมืองกำปอดด้วยแล้ว
นักองค์วรรดถา กับนักองค์ศิริวงศ์ กับนักมารดาและยายบัดนี้ก็เข้ามาอยู่กรุงเทพ ฯ
นี้แล้ว แต่องค์พระนโรดมอุปราช กับสมเด็จเจ้าฟ้าทละหะ พระยาพระเขมร
และครอบครัวมาด้วยกันนั้น ก็ยังค้างอยู่ที่เมืองพระตะบอง และมีใบบอก
องค์พระหริราชดไนยไกรแก้วฟ้าเข้ามาว่า ที่เมืองอุดงมีไชยนั้น เมื่อองค์
พระนโรดมอุปราชยกครอบครัวหนีมาแล้ว
มีเขมรหัวเมืองยกเข้ามาล้อมเมืองอุดงมีไชย มากทุกทิศทุกทาง เป็นคนถึง
๙๐๐๐ เศษ ครั้นล้อมไว้แล้วจึงใช้คนให้เข้ามาหาองค์
พระหริราชดไนยไกรแก้วฟ้า แล้วยืนยันว่าพวกกองทัพยกมาครั้งนี้
จะคิดคดประทุษร้ายแก่เจ้านายหามิได้ มาทั้งนี้ จะขอแต่พระยาพระเขมรผู้ใหญ่ ๗
นายในเมืองอุดงมีไชย คือสมเด็จเจ้าฟ้าทละหะ พระยากลาโหม และอื่น
ๆ ผู้คิดการบ้านเมืองทำให้ราษฎรได้ความเดือดร้อนต่าง ๆ
แต่ก่อนนั้นไปฆ่าเสีย..... องค์พระหริราชดไนยไกรแก้วฟ้ากับพระยาพระเขมร
ในเมืองก็ได้เกลี้ยกล่อมพวกกองทัพให้ระงับสงบ คอยฟังบังคับกรุงเทพ ฯ
และได้พร้อมกันถือน้ำทำสัตย์ ต่อหน้าศพพระองค์สมเด็จองค์พระหริรักษ์ธิบดี
ว่าไม่ประทุษร้ายต่อเจ้านายและแผ่นดิน.....
อนึ่ง ได้มีท้องตราไปถึง เจ้าพระยามุขมนตรี พระยาสิงหราชฤทธิไกร
ว่าให้ยกลงไปฟังการถึงเมืองอุดงมีไชยด้วยแล้ว องค์พระนโรดมอุปราชนั้น
เมื่อเขมรพวกองค์วรรดถาคิดอ่านต่อสู้นั้น
ได้ยืนข่าวลือว่าแต่งคนให้ไปหาแม่ทัพฝรั่งเศสที่เมืองญวน
ขอให้มาช่วย แม่ทัพฝรั่งเศสว่าเป็นการเขมรรบกันเอง
ฝรั่งเศสจะเอาธุระช่วยไม่ได้ องค์พระนโรดมสิ้นที่พึ่งแล้ว
จึงคิดหนีมาพึ่งข้างฝ่ายกรุงเทพ ฯ ต่อภายหลัง
อนึ่งมิศเตอร์ไวสกอนลือโดวิกแกศดินอ ผู้ว่าแทนกงสุลฝรั่งเศสแจ้งความว่า พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมีรับสั่งมาให้บิดาของกงสุลนั้น
ไปนำสัญญากับเมืองเขมร
ด้วยเขตแดนจะต่อกันทางเมืองญวนและการไมตรีและการค้าขาย
กงสุลฝรั่งเศสจะได้เข้ามากรุงเทพ ฯ แล้วจะให้ผู้ครองแผ่นดินฝ่ายกรุงเทพ ฯ
นี้พาไปทำสัญญาที่เมืองเขมร แล้วมิศเตอร์ไวสกอนลือโดวิกแกศดินอ
จดหมายมาถึงข้าพเจ้าขอว่าให้ข้าพเจ้า แต่งเรือกลไฟของไทยลำหนึ่ง
พาตัวมิศเตอร์ไวสกอนลือโดวิกแกศตินอไปเมืองเขมร จะไปดูการงานต่าง ๆ
ล่วงหน้าไว้ก่อน และว่าพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้มีคุณแก่ข้าพเจ้า
ด้วยให้เรือรบมารับทูตไป
เหมือนกับให้ยืมเรือเป็นเรือทูตไทย ควรที่ให้ข้าพเจ้าทำคุณตอบ
ข้าพเจ้าได้ตอบไปว่า ที่เมืองเขมรเดียวนี้กำลังวุ่นนัก เจ้าเขมรเก่าก็ตาย แล้วยังอยู่แต่ศพ
เจ้าอุปราชก็หนีจากเมืองมาพึ่งหัวเมืองของไทยอยู่ เมืองหลวงของเขมรนั้น บัดนี้ศัตรูก็ล้อมไว้ ครั้นจะพาไปตามใจจะถูกโจรผู้ร้ายแย่งชิง หรือเป็นอันตรายใดๆก็ไม่ทราบ ถ้ามีเหตุ ข้าพเจ้าผู้พาไปจะเป็นที่ดำริติเตียนด้วย และการที่กงสุลจะไปทำสัญญานั้น ถ้าบ้านเมืองเขมรยังเป็นดังนี้อยู่ จะไปทำสัญญากับใครได้ ผู้ครองฝ่ายไทยจะรับจัดแจงบ้านเมืองเขมรให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วจึงจะว่ากล่าวให้ได้ทำสัญญากับผู้ครองฝ่ายฝรั่งเศสต่อภายหลัง บอกมาให้ทราบทุกประการ
ถ้าผู้ครองแผ่นดินฝ่ายฝรั่งเศสเขาจะว่าอย่างไรบ้าง
คิดอ่านโต้ต้อบกับเขาให้ดีเถิด อย่าให้เสียราชการไป
จดหมายมา ณ วัน.......... ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓
พระราชหัตถเลขา ถึงคณะทูตานุทูตรวมกัน
จดหมายมายัง..... ให้ทราบว่า ตั้งแต่ท่านทั้งปวงไปจากกรุงเทพ ฯ
แล้วมีหนังสือฝากมาถึงข้าพเจ้า..... แต่ที่ต่าง ๆ ที่ไปถึงนั้น
ตั้งแต่สิงคโปร์ไปจนฉบับที่เขียนฝากมาแต่เมืองปารีสเมื่อแรกไปถึงยังไม่ได้เข้าเฝ้านั้น.....
แต่นั้นมาข้าพเจ้าไม่ได้รับหนังสือจากท่านทั้งปวงเลย
เป็นแต่ได้อ่านจากหนังสือพิมพ์บ้าง.....
และได้ฟังแต่พวกกงสุลฝรั่งเศสที่กรุงบ้าง บาดหลวงบ้าง บอกข่าวต่าง
ๆ จนถึงว่าไม่ได้ไปเมืองลอนดอน
ไปแต่เจ้าหมื่นไวยวรนารถ เสียเงินของตัวไปเที่ยวเล่นเองไม่ได้เข้าเฝ้า.....
หนังสือของท่านไม่มีถึงข้าพเจ้าสามเดือนเศษแล้ว.....
เพราะฉะนั้นจงสืบว่าหนังสือนั้นไปตกอยู่ที่ไหน
หรือความคิดของท่านเกิดขึ้นใหม่ว่า ต่อเมื่อกลับมาถึงกรุงเทพ ฯ
แล้วจึงเล่าเอาด้วยปากทีเดียว จะเขียนฝากก็ไม่มีเวลาจะเขียน
ถ้าคิดอย่างนี้ เมื่อถึงครอบครัวบุตรภรรยาทำไมจึงมีเวลาเขียน
ท่านทั้งปวงได้เป็นทูตไปครั้งนี้ ได้ไปเพราะบุตรภรรยาหรือ
ข้าพเจ้าเห็นมีเหตุขัดข้องหรือสำคัญผิดเป็นแน่
จึงไม่มีหนังสือฝากมาถึงข้าพเจ้าเลย สามเดือนเศษมาแล้ว
ราชการที่กรุงบัดนี้ ก็มีแต่เรื่องทางเมืองเขมร.....
ความว่านักองค์วรรตถากับองค์ศิริวงศ์ วิวาทกันกับองค์พระนโรดม ๆ
มหาอุปราชวิวาทรบกันขึ้นแล้วพากันหนีมา
บัดนี้สองนักองค์นั้นก็มาอยู่ในกรุงเทพ ฯ นี้แล้ว..... องค์พระนโรดม ฯ
กับพระยาพระเขมรผู้ใหญ่หลายนาย ก็พากันหนีเข้ามาอยู่เมืองพระตะบองแล้ว
ฝ่ายที่กรุงเทพ ฯ ได้แต่งให้เจ้าพระยามุขมนตรี
พระยาสิงหราชฤทธิไกร ยกทัพลงไปเมืองเขมรระงับการนั้น
ได้ยินว่าบาดหลวงฝรั่งเศสที่เมืองอุดงมีไชย
ไปขอกำปั่นเรือรบฝรั่งเศสมาต่อว่า ว่าพวกเขมรที่ทำลุกลามขึ้นนั้น
แย่งเอาของบาดหลวงและญวนเข้ารีดไป จะให้ชำระเงินคืนให้
และกงสุลฝรั่งเศสก็มากรุงเทพ ฯ จะขอไปทำสัญญากับเมืองเขมร
เมืองเขมรก็ยังวุ่นวายอยู่ยังไม่ได้เผาศพ องค์พระหริรักษ์ ฯ
และตั้งเจ้าเมืองเขมรใหม่ สัญญาก็ยังทำไม่ได้ ที่กรุงเทพ ฯ
ปีนี้เป็นเคราะห์ร้าย มีแต่การไข้การตาย ไม่ใคร่มีความสบาย
เมื่อเดือน ๙-๑๐ ฝนก็แล้งมาก แต่ปีนี้น้ำมาก.....
วังหน้าท่านประชวรตั้งแต่เดือนเก้า....
มาจนบัดนี้ท่านไม่เสด็จออกเลย.....
กรมวงษาธิราชสนิท เจ็บเป็นโรคลม.....
พระยาเพชรพิไชยก็ป่วย..... แม่เพอยเมียข้าพเจ้า..... ตายเสียแล้ว
นางแพเมียข้าพเจ้า....ตายเสียแล้ว แต่บุตรที่ออกใหม่นั้นยังอยู่
ฯ
จดหมายมา ณ วัน..... ปีระกาตรีศก ศักราช ๑๒๒๓
พระราชสาส์น
ถึงพระสันตปาปาที่ ๙
เห็นจะพระราชทานไปกับพระยาศรีพิพัฒน์
พระราชสาส์นสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ ฯลฯ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยาม
ผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ซึ่งด้วยอำนาจทิพยมหาธิฤทธานุภาพของต้นเหตุใหญ่
ซึ่งเป็นประธานแก่สิ่งทั้งปวงในโลก และชนในโลกที่ถือลัทธิต่าง ๆ
ย่อมสำคัญรู้จักเข้าโดยนามและอาการต่าง ๆ ตามที่ได้ส้องเสพย์และศึกษานั้น
มาอวยพรประคับประคองทำนุบำรุงให้ได้เป็นเจ้าเป็นใหญ่
มีอำนาจในแผ่นดินที่ควรจะเรียกว่าสยาม ทั้งปากใต้ฝ่ายเหนือและเมืองขึ้นอื่น ๆ
ใกล้เคียง คือลาวเฉียง ลาวแกว ข่า กะเหรี่ยง และเมืองกัมพูชา
และเมืองมลายู หลายเมืองและอื่น ๆ .....
ขอเจริญทางพระราชไมตรี คำนับมาถึงความบริสุทธิ์ของท่านนั้นปรากฏนามว่า
ซางตูศปาปาบีเยียด ที่ ๙
ผู้บิดาศักดิ์บริสุทธิ์ของโลกที่ถือศาสนาโรมันคาธอลิกคฤศตางทั้งปวง
ซึ่งได้ดำรงอยู่เย็นเป็นสุขในนครโรม แผ่นดินอิตาลีให้ทราบ
ว่าเพราะเหตุเมื่อกรุงสยามยังไม่ได้บรมราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินนั้น
ได้รู้จักรักใคร่ชอบพอคุ้นเคยกับบาดหลวงยวงบาบติศซึ่งได้ตั้งแต่งมาแต่ซางตูซปาปากเรกอรี่
ที่ ๑๖ ให้เป็นบิฉบสำหรับเมือง ว่าที่แทน อปอศ ตอ ลอ อยู่ในกรุงเทพ ฯ นี้
เพื่อเป็นประธานจะอนุเคราะห์สั่งสอน
และทำนุบำรุงศาสนาโรมันคาธอลิกคริสตาง ในแผ่นดินสยามนี้นั้นมานาน
ครั้นเมื่อกรุงสยามได้บรมราชาภิเษก เป็นเจ้าแผ่นดินแล้ว
ก็ได้ยอมให้บาดหลวงบาบติศ บิฉบ เมืองแมลอศนั้นไปสู่มาหาอยู่เนืองมิได้ขาด.....
พระเจ้าแผ่นดินกรุงสยามทุก ๆ พระองค์สืบมานาน หาได้เป็นศัตรูแก่ศาสนาต่าง ๆ
ของชนที่อยู่ในพระราชอาณาจักรนี้ไม่เลย ถึงศาสนชนต่าง ๆ
จะถือไม่ถูกต้องกันกับพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นของดำรงสำหรับพระนคร
เป็นที่เชื่อของพระเจ้าแผ่นดินทุกพระองค์นั้นก็ดี
ก็ย่อมทำนุบำรุงให้คนทั้งปวงที่เชื่ออยู่ในศาสนานั้น ๆ
ได้ทำตามความเชื่อ และสั่งสอนผู้อื่นไปตามความรู้
ว่าโดยวิเศษไม่ได้เป็นศัตรูแก่ศาสนาคริสตางเหมือนอย่างเจ้าแผ่นดินจีน
เจ้าแผ่นดินญวน และอื่น ๆ ..... ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
พระเจ้ากรุงศรีอยธยา แต่ก่อนกรุงสยามบัดนี้ขึ้นไป ๑๐
แผ่นดิน
นับกาลมาเกือบ ๒๐๐ ปี แล้ว ซางตูศปาปา ณ เมืองโรม.....
ในเวลานั้นได้ถวายสมณสาส์นถวายพระพรเข้ามาว่า ฝากศาสนาคริสตาง.....
รักษาแก่พวกถือศาสนาคริสตางบรรดาอยู่ในพระราชอาณาจักร
แผ่นดินสยาม สมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ทรงรับสมณสาสน์ฉบับนั้น
เป็นเกียรติยศปรากฏอยู่ครั้งหนึ่ง เพราะฉนั้น กรุงสยามจึงได้หารือบาดหลวงยวงบาบติศบิฉบว่า
ถ้าได้ไปเฝ้าบังคมพระบาทท่านบิดาผู้บริสุทธิ์แล้ว จะว่ากล่าวชักโยงท่านบิดาผู้บริสุทธิ์ให้รู้จักกรุงสยาม.....
บาดหลวงยวงบาบติศบิฉบรับว่าได้..... เพราะฉนั้นกรุงสยามจึงได้เขียนราชหัตถเลขาเป็นภาษาอังกฤษ สำแดงความคำนับไปถึงท่าน.....
ครั้นล่วงไปได้ปีเศส บาดหลวงยวงบาบติศบิฉบได้ฝากสมณสาส์นของท่านบิดาผู้บริสุทธิ์มาแต่กรุงปารีส
แผ่นดินฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง ลงวันที่ ๒๐ ดีเสมเบอร์ คริสตศักราช ๑๘๕๒
ฉบับหนึ่งแล้ว ภายหลังเมื่อบาดหลวงยวงบาบติศบิฉบกลับมาถึงกรุงเทพ ฯ
ได้ยื่นสมณสาส์นของท่านผู้บิดาบริสุทธิ์ เป็นหนังสือคู่ เหมือนกับฉบับก่อนอีกครั้งหนึ่ง
สมณสาส์นทั้งสองฉบับนั้นเขียนเป็นภาษาลาติน มีคำแปลเป็นภาษาอังกฤษกำกับมาด้วย.....
อนึ่งบาดหลวงยวงบาบติศบิฉบได้นำฉากกรอบไม้ปิดทอง มีลายประดับด้วยกรวดแก้วสีต่างๆ
เรียบเรียงเป็นรูปตึกวัดโบราณ..... ยืนยันความว่า ฉากนั้นท่านบิดาบริสุทธิ์ได้มอบฝากมาเป็นบรรณาการ
แสดงความยินดีถึงกรุงสยาม.....
ในกาลครั้งนี้กรุงสยามได้ช่องโอกาศอันดี เครื่องส่งทูตานุทูต..... ไปยังแผ่นดินยุโรป.....
กรุงสยามจึงได้ระลึกถึงความไมตรีซึ่งบังเกิดแก่ท่านผู้บริสุทธิ์แต่ก่อนนั้น
แล้วได้มีความปรารถนาจะใคร่ให้ทูตานุทูตนั้น ได้ไปถึงที่เฉพาะหัตถ์
คำนับแก่ท่านผู้บริสุทธิ์แทนกรุงสยามด้วย..... เป็นแต่หวังเชื่อได้เป็นแท้ว่าพระราชสาส์น
และเครื่องราชบรรณาการนั้น คงจะได้ไปถึงท่านผู้บริสุทธิ์โดยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่แท้
......ท่านผู้บริสุทธิ์มีน้ำใจเมตตาอารีแก่ชนทั้งปวงในโลก..... กรุงสยามเห็นว่าเป็นความชอบความดี
สมควรสถานที่เป็นผู้ใหญ่ที่ยิ่งอยู่แล้ว พระราชสาส์น มา ณ วัน.........
ค่ำ ปี ฯ
พระราชสาส์น
ถึงสมเด็จพระเจ้านโปเลียนที่ ๓
พระราชทานไปยังประเทศฝรั่งเศส
พระราชสาส์น ในพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯ..... ขอคำ
นับเจริญทางพระราชไมตรีมายังสำนักสมเด็จพระเจ้านโปเลยอนที่ ๓
......
ว่าพระยาศรีพิพิพัฒ ฯ ราชทูต..... ซึ่งเชิญพระราชสาส์น
และคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการกรุงสยามไปเฝ้าเจ้ากรุงฝรั่งเศส
ส่งให้กลับมาโดยสุขสวัสดิ์ถึงกรุงเทพ ฯ ในเดือน..... เป็นเดือนยันนุวารี
ในปีมีคริสตศักราช ๑๘๖๒.....
แล้วแจ้งความว่า กรุงฝรั่งเศสได้มีพระราชสาส์นตอบ มอบให้พวกทูตสยามเชิญมา
แต่เพราะรู้ธรรมเนียมฝ่ายสยาม
พระราชสาส์นที่มาแต่สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินใหญู่เมืองอื่น
ต้องรับโดยเคารพด้วยการแห่อย่างสูงสมควร
จึงได้รอพระราชสาส์นไว้ในเรือกลไฟที่มา กรุงสยามได้ทราบดังนี้แล้ว
จึงได้แต่งกระบวนเรือกระบวนกลไฟ แห่รับพระราชสาส์นนั้นมา.....
เปิดออกอ่านทราบความทุกประการ..... พระราชสาส์นนั้นลงกำหนตว่าเขียนที่วังมิยาริศ
วันที่ ๒๒ ของเดือนเสบเตมเบอร์ คริสตศักราช ๑๘๖๑.....
เครื่องราชบรรณาการบางสิ่งซึ่งกรุงฝรั่งเศสทรงยินดีมาถึงกรุงสยาม.....
กรุงสยามขอแสดงความยินดี ..... กรุงสยามหวังเป็นแน่ว่าทางพระราชไมตรีนี้
จะมีความวัฒนาถาวรสิ้นกาลนาน ..... ครั้นภายหลังมา
เมื่อมองซิเออกอนติแขศติโน กลับคืนไปเมืองฝรั่งเศส
มองซิเออซาโนนเข้ามาถึงกรุงเทพ ฯ เมื่อเดือน..... ตรงกันกับเดือน
เฝปรุวารี คริสตศักราช ๑๘๖๒ มองซิเออโนน
ได้แสดงหนังสือสำคัญที่กรุงฝรั่งเศสตั้งให้มองซิเออโนนนั้นเป็นกงสุล.....
แก่เจ้าพนักงานว่าการต่างประเทศ
ครั้นผู้ครองแผ่นดินฝ่ายสยามเชื่อถือเป็นแน่ยอมให้ว่าการกงสุลแล้ว
จึงได้ขอแก่เจ้าพนักงานฝ่ายสยามให้นัดชุมนุมใหญ่...... แล้วมองซิเออซาโนน.....
ได้ยื่นแผทอง ๑ แปเงิน ๑
เป็นทองแดงขนาดใหญ่ มีรูปภาพสำแดงที่เห็นปทูตานุทูตฝ่ายสยามเข้าเฝ้ากรุงฝรั่งเศส
ให้ต่อพระราชหัตถ์ของกรุงสยาม อ้างพระนามกรุงฝรั่งเศส.....
เพราะธรรมเนียมฝรั่งเศสเมื่อเวลาได้รับทูตต่างเมือง.....
ก็ย่อมสร้างเป็นทองเงินทองแดงอย่างนี้ขึ้นไว้
เป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดินสืบไปภายหน้า.....
อีกสำรับหนึ่งมองซิเออซาโนนได้นำไปถวายแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอแห่งสยาม ณ
พระบวรราชวัง.....
มองซิเออซาโนน กงสุลนั้นเรียบร้อยดีนักหนา..... แต่กรุงสยามเสียใจนักหนา
เพราะมองซิเออซาโนนอยู่ไปไม่ได้นาน และเมื่อมองซิเออซาโนนยังอยู่นั้น
มีเรือกลไฟของกรุงฝรั่งเศสชื่อกรานนาดา เข้ามาแต่เมืองไซ่ง่อน
กอลอเนเรบุนเป็นนายใหญ่ เข้ามากับขุนนางฝรั่งเศสหลายนาย
กงสุลซาโนนได้มาแจ้งความแก่เจ้าพนักงานฝ่ายสยามว่า
กรุงฝรั่งเศสได้มีรับสั่งบังคับให้อัดมิราลปนาค
แม่ทัพฝรั่งเศสที่เมืองไซ่ง่อน
เป็นทูตคุมเครื่องยศสำหรับนามในลำดับยศสำหรับแครนกรอศ และแครนออฟีเซอร์
ซึ่งกรุงฝรั่งเศสได้ทรงตั้งมาแต่ก่อน
เพื่อจะมอบให้กรุงสยามและพระเจ้าน้องยาเธอของกรุงสยาม.....
ได้นัดประชุมใหญ่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม
เป็นที่ว่าราชการแผ่นดินของกรุงสยาม.....
แล้วให้เจ้าพนักงานยิงปืนสลุดรับเครื่องราชอิสริยยศ
ซึ่งทูตฝรั่งเศสเชิญมานั้น ๒๑ นัด
เมื่อถึงท่าแล้วได้แห่มายังที่ประชุมนั้น กอลอเนนเรบุน
ได้เชิญเครื่องประดับราชอิสริยยศนั้น..... ถือเอาเครื่องประดับนั้น
แต่งเข้าในกายกรุงสยามตามอย่างธรรมเนียมฝรั่งเศส.....
กอลอเนนเรบุนกับพวกขุนนางฝรั่งเศสที่มาด้วย ได้ไปยังพระบวรราชวัง
แล้วมอบเครื่องประดับสำหรับยศ..... แกรนออฟีเซอร์นั้น.....
กรุงสยามกับพระราชวงศานุวงศ์ และเสนาบดีมีความชื่นชมยินดีมาก.....
บัดนี้กรุงสยามมีความประสงค์จะใคร่ทำ.....จึงได้คิดให้ช่างทองชาวสยาม ทำรูปดวงดาวหรือดอกไม้ด้วยทองคำประดับเพชร.....
เป็นรูปสำคัญนามของกรุงสยาม จัดลงในหีบเดียวกัน.....
ขอส่งมาถวายกรุงฝรั่งเศส.....
....................
อนึ่งซึ่งกรุงฝรั่งเศสและเสนาบดียอมยกมองซิเออดิเครแหน
ซึ่งเป็นเจ้าของกรุงฝรั่งเศส
ให้กรุงสยามตั้งเป็นกงสุลรับนามในภาษาสันสกฤตว่า พระสยามธุรานุรักษ์.....
และขอให้ทรงพระราชไมตรีทั้ง ๒ พระนคร
ติดพันอยู่เย็นเป็นสุขสืบไปภายหน้าชั่วฟ้าและแดนดินเทอญ
พระราชสาส์นนี้ได้ส่งไปแต่พระที่นั่งอนันตสมาคม..... เป็นวันที่ ๕
ของเดือนเอปริล ในปีคริสตศักราช ๑๘๖๔ เป็นปีที่ ๑๔ หรือวันที่
๔๗๑๐ ในรัชกาลปัจจุบัน ฯ
พระราชสาส์น
ถึงสมเด็จพระเจ้านโปเลียนที่ ๓
พระราชทานไปยังประเทศฝรั่งเศส
เมื่อปีฉลู พ.ศ.
๒๔๐๘
สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ..... ขอคำนับเจริญทางพระราชไมตรี.....
กอมแมนดันออบาเรศ ซึ่งได้รับยศกรุงฝรั่งเศสทรงแต่งตั้งให้เป็นกงสุล.....
ได้มาด้วยเรือรบของกรุงฝรั่งเศสถึงกรุงเทพ ฯ..... ตรงกันกับวันที่ ๙
ของเดือนเอเปริล ในปีมีคริสตศักราช ๑๘๖๔..... ได้แจ้งความยืนยันว่า
กรุงฝรั่งเศสโปรดให้เป็นผู้เชิญพระราชสาส์นมาสองฉบับ ๆ
หนึ่งถึงผู้ใหญ่ที่ยิ่งในกรุงสยาม
อีกฉบับหนึ่งถึงผู้เป็นใหญ่ที่สองในกรุงสยาม..... จัดกระบวนแห่ทางบก
ทางเรือไปรับพระราชสาส์นของกรุงฝรั่งเศส..... เมื่อถึงท่าที่จอดจะขึ้นแห่บนบก
ก็ได้ยิงปืนใหญ่เคารพ ๒๑ นัด ยิงรับกอมแมนดันออบาเรศ ผู้เชิญพระราชสาส์น ๗
นัด แล้วได้แห่ไปถึงที่ประชุมใหญ่ในสถานที่ราชการ
ชื่ออนันตสมาคม.....
....................
ความในพระราชสาส์น.....
มองสิเอออาบาเรศรีบร้อนศึกษาอ่านเขียนและเรียนพูดภาษาสยาม
รู้ได้มากเร็วทีเดียว
.....
กรุงสยามเห็นว่า
กอมแมนดันออบาเรศผู้นี้เป็นผู้ฉลาดมากในกฎหมายเอนเตอรนาแชนนาลอ และขนบธรรมเนียม
แลลกระบวนราชการบ้านเมืองต่าง ๆ มาก.....
ครั้งมาเมื่อ..... ตรงกันกับเดือนเอปริล ในปีมีคริสตศักราช ๑๘๖๕
กอมแมนดันออบาเรสมาแจ้งความ.....
ว่ากรุงฝรั่งเศสทรงพระเมตตาดำริจะให้เป็นยศยิ่งใหญ่แก่ผู้เป็นบรรทัดฐานในแผ่นดินสยามทั้งสอง.....
มีสลักสำคัญสัญญาบัตรว่าดิโปลมา มีพระราชลัญจกรตราสำหรับแผ่นดินฝรั่งเศส
และพระราชหัตถเลขา และรายมือเสนาบดีผู้ใหญ่ลงไว้ด้วยเป็นสำคัญ.....
เพื่อนำมายื่นนำแก่กรุงสยามและพระเจ้าน้องยาเธอ.....
ตามกำหนดราชอิสริยยศซึ่งได้รับแล้ว.....
.....
ครั้งนี้กรุงสยาม..... จึงได้จัดธำมรงค์ประดับพลอยเก้าอย่าง
ซึ่งเป็นเครื่องยศฝ่ายสยาม ตามธรรมเนียมเก่าโบราณ
และประคตเป็นเครื่องยศฝ่ายสยาม สำหรับกันกับธำมรงค์นั้นสำรับหนึ่ง
กับให้คิดให้ช่างทำเครื่องประดับสำหรับยศลงอย่างใหม่มีรูปช้างเผือกและมงกุฎ
และเครื่องสูงและธงสำคัญอย่างสยามแวดล้อมเป็นเครื่องลงยา
และฝังเพชรพลอยต่างสี
เพื่อจะแสดงสำคัญของแผ่นดินสยาม.....
....................
พระราชสาส์นนี้ได้ส่งไปแต่พระที่นั่งอนันตสมาคม..... เป็นวันที่ ๑๙
ของเดือนเม ในปีมีคริสตศักราช ๑๘๖๕ เป็นปีที่ ๑๕ หรือวันที่
๕๑๑๙ ในรัชกาลปัจจุบันนี้
พระราชสาส์น
ถึงประธานาธิบดีอเมริกา
เมื่อ ปีมะโรง พ.ศ.
๓๒๙๙
พระราชสาส์น สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ ฯ .....
ขอเจริญพระราชไมตรีมายัง
แฝรงกลิน เปียศ ปริศเดน
ผู้บังคับการแผ่นดินยุไนติศเตศอเมริกา แสดงความแจ้งให้มิศตาโตน เซน ฮาริด ซึ่งปริศเดนของยุไนติสเตศ ทวีปอเมริกา
ได้ตั้งให้เป็นผู้มาเจรจาความไมตรี ขอทำสัญญาใหม่นั้น
ได้นำเอาหนังสือและเครื่องบรรณาการของปริศเดน
มาถึงท่าทเลเมืองสยามด้วยกำปั่นรบกลไฟ ชื่อแซนแยกซนโต
ได้มาทอดอยู่นอกหลังเต่า ตรงปากน้ำเจ้าพระยาออกไป ณ
วันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๗ ค่ำ ปีมะโรง นักษัตรอัฐศก
เป็นปีที่หกในแผ่นดินปัจจุบันนี้..... ขุนนางเจ้าท่าฝ่ายสยาม.....
ได้ส่งเรือกลไฟ..... ออกไปรับมิสตะโตน เซนฮาริดกับพวกพ้อง
และหีบสิ่งของเป็นอันมาก
ข้ามหลังเต่าเข้าปากน้ำเจ้าพระยามาแล้ว ได้พักอยู่ครู่หนึ่ง
รับเสียงยิงปืนคำนับแก่อักษรสาส์นของท่าน ๒๑ นัด และเลี้ยงดู
เสร็จแล้ว..... แล้วก็ได้จัดแจงที่พักที่อยู่อันสมควร ครั้น ณ วันศุกร์.....
ฝ่ายกรุงสยามได้นัดชุมนุมราชตระกูลและขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย..... คอยรับ ณ
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท..... แล้วให้จัดขบวนเรือลงไปรับอักษรสาส์น.....
ตามเกณฑ์แห่ที่ได้รับอักษรสาส์นมาแต่ยุไนติศเตศอเมริกาแต่ครั้งก่อน
เมื่อมิศเตอร์แอดแมนรอเบิดถือเข้ามาขอทำไมตรี และความสัญญา แต่ ณ
ปีมะเส็ง เบญจศก เป็นปีที่ 10 ในรัชกาล
แห่งพระบาทสมเด็จพระปรมาธิวรเสรฐมหาเจษฏาบดินทร์ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
นั้นทุกประการ ครั้นมาถึงท่าพระได้ยิงปืน คำนับ ๒๑ นัด
แล้วแห่มาโดยขบวนยกจนถึงที่ชุมนุม..... ทูตของท่านจึงได้ประกาศความ.....
จะขอแก้สัญญาเก่าทางไมตรี
และการค้าขายในแผ่นดินสยามนี้.....กรุงสยามจึงได้แต่งตั้งผู้รับสั่งฝ่ายสยาม
เพื่อจะให้ไปปรึกษาทำสัญญาในส่วนฝ่ายสยาม.....ครั้นมาเมื่อ วันศุกร์......
โตเซนฮาริศอิศเกวทูตของท่านกับพวกอเมริกันทุกคน
ก็ได้ขึ้นไปในพระบวรราชวังเข้าเฝ้า สมเด็จพระปวเรนทราเมศวรมหิศเรศรังสรร
พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว....... ต่อข้างแรม เดือน ๖
จึงได้มาชุมนุมกับทูตของท่าน..... เขียนหนังสือสัญญาใหม่.....
มีข้อความคล้ายกันกับหนังสือสัญญาใหม่ที่ได้ทำกับอังกฤษนั้น.....
เสร็จกันในวัน..... เวลานั้นได้ยิงปืนคำนับ ๒๑ นัด
เป็นยศแก่เมืองใหม่ทั้งสองฝ่าย.....
กรุงสยามไม่ทันจะจัดแจงพระราชสาส์นตอบอักษรสาส์นของท่าน.....
และจะจัดแจงเครื่องมงคลราชบรรณาการ..... ก็ไม่ทัน.....
อนึ่งทูตของท่านในวันนั้นได้ทำหนังสือยื่นชี้ตัว
แต่งตั้งครูมตูนคนหนึ่ง อยู่ในครูสอนศาสนาพวกอเมริกัน ซึ่งเข้ามาอยู่ ณ
กรุงเทพ ฯ กว่า ๑๐ ปี แล้ว ให้ได้รับยศ เป็นที่กงสุลอเมริกัน.....
บัดนี้กรุงสยามได้มีเวลาว่างจึงได้จัดแจง
พระราชสาส์นฉบับนี้เขียนในลำดับภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษความต้องกัน.....
กรุงสยามมีความยินดีนักด้วยได้พบครั้งคราวอันดี
เพื่อจะได้เจรจาปราศัยกับด้วยเมืองใหญ่อันมีอานุภาพมาก.....
จงเป็นที่พึ่งอันดีแก่แผ่นดินสยาม ซึ่งมีอำนาจเล็กน้อยพอประมาณนี้.....
เมื่อเวลาไร ๆ ลางทีหากจะมีถ้อยความเกี่ยวข้องข่มขู่แต่อำนาจในทะเลใหญ่
อันใดอันหนึ่งที่จะมีมาแต่บ้านเมืองใหญ่ ๆ อันอื่นที่มีอำนาจมาก
ขออย่าได้เพิกเฉยละเลยเสียไม่เอาธุระ..... พระราชสาส์นนี้ได้จัดแจงสำเร็จ ณ
พระที่นั่ง อมรินทรวินิจฉัย ฯ..... เป็นวันที่ ๑๐ เดือนยุนในปีมีคริสตศักราช ๑๘๕๖
คิดเป็นปีที่ ๖ ในรัชกาลปัจจุบันของแผ่นดินสยามนี้ ฯ
พระราชสาส์น
ถึงประธานาธิบดีอเมริกา
เมื่อปี มะแม พ.ศ. ๒๔๐๒
สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯ.....
ขอเจริญทางพระราชไมตรีมายังเยมบุขแนนปริไสเดนต์
ผู้บังคับการแผ่นดินยุไนติศเตศอเมริกา แสดงความให้ทราบ เมื่อเดือน ๑๐
ปีมะแม เอกศก เป็นเดือนเสบเตมเบอร์ คริสตศักราช ๑๘๕๙ นี้
มิศเตอร์จันเดลอร์ว่าการแทนกงสุล......
มาแจ้งความแก่กรุงสยามว่าท่านผู้เป็นปริไสเดนต์...... ได้ฝากอักษรสาส์นส่งต่อ ๆ
มา..... ในวัน...... เป็นวันที่ ๙ แห่งเดือน เสบเตมเบอร์ คริสตศักราช ๑๘๕๙
แล้วให้พนักงานไปแห่รับอักษรสาส์นของท่านกับตัวมิศเตอร์จันเดลอร์ผู้ได้อำนาจ.......
อนึ่งตั้งแต่ได้ทำหนังสือสัญญายุไนติศเตศอเมริกากับกรุงสยามใหม่ในครั้งนี้แล้ว
และมีตำแหน่งกงสุลอเมริกา มาตั้งอยู่กรุงเทพ ฯ นี้แล้ว
พวกลูกค้าบ้างครูสอนศาสนาบ้าง ชาวประเทศอเมริกาบ้าง
ดูกริยาเห็นเป็นสบายใจมากกว่าแต่ก่อน.....
มีลูกค้าชาวอเมริกาพวกหนึ่งได้เอาเครื่องจักรสีข้าวมาตั้งทำโรงสีข้าวอยู่ในแขวงกรุงเทพ
ฯ นี้แห่งหนึ่ง
พวกหนึ่งได้เอาเรือกลไฟเหล็กมารับจ้างลากเรือลำเลียงอยู่พวกหนึ่งได้เอาเครื่องจักรเรือกลไฟใหญ่น้อยต่าง
ๆ มาขายแก่ชาวสยามในพระมหานครนี้อยู่หลายสำรับ
และมีคนอเมริกันหลายคนเข้ามารับจ้างเป็น เอนยิเนียให้ตั้งเครื่องจักรบ้าง
เป็นคนกำกับใช้เครื่องจักรเดินเรือของไทยบ้าง
ครูสอนคริสตศาสนามีหลายคนตั้งตีพิมพ์หนังสือแจกมากกว่าชาวยุโรป
แต่ลูกค้าค้าขายนั้นน้อยกว่าคนชาวยุโรปอยู่.....
พระราชสาส์นนี้ได้ส่งมาแต่พระที่นั่งอนันตสมาคมในวัน.......... เป็นวันที่ ๒๒
ในเดือนเสบเตมเบอร์ คริสตศักราช ๑๘๕๙ เป็นปีที่
๙ในรัชกาลปัจจุปันนี้ ฯ
พระราชสาส์น
ถึงประธานาธิบดีอเมริกา
เมือปีวอก พ.ศ.
๒๔๐๓
สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯ มหา
.....
ขอเจริญทางพระราชไมตรีมายังท่าน...... ปลายเดือนออคูสต์ คริสตศักราช ๑๘๕๙
มิศเตอร์เหดเสดจันเดลอร์ ผู้ว่าการกงสุลอเมริกันในกรุงเทพ ฯ นี้มาแจ้งความว่า
ท่านมุขแมน..... ฝากอักษรสาสนมากับทั้งสมุดดีพิมพ์เป็นอันมาก
มาถึงเราเจ้ากรุงสยาม ๆ ได้ทราบแล้ว
จึงได้สั่งเจ้าพนักงานไปแห่รับมาด้วยยศตามอย่างธรรมเนียมฝ่ายสยาม.....
.....
พระเจ้ากรุงสยามขอแสดงความยินดียิ่งนัก ขอบคุณความไมตรี......
มีอารีรักตอ่เราพระเจ้ากรุงสยาม คิดจะให้รุ่งเรื่องด้วยความรู้ต่าง ๆ จึงฝากมานั้น
ฯ.....
.....
และซึ่งในแผ่นดินยุไนติศเตศอเมริกามีขนบธรรมเนียมตั้งไว้และสืบมาแต่ครั้งปริไสเดนต์ยอดวัดชิงทัน
ให้ราษฎรทั้งแผ่นดินพร้อมใจกันเลีอกสรรบุคคลที่ควรจัดไว้เป็นชั้นและตั้งให้เป็นปริไสเดนต์ใหญ่และปริไสเดนต์รอง
ครอบครองแผ่นดินผู้ชี้ขาดว่าราชการบ้านเมืองเป็นวารเป็นคราวกำหนดเพียง ๔ ปี และ ๘
ปี..... เป็นขนบธรรมเนียมที่ควรสรรเสริญ
และครั้งนี้ได้ทราบความตามอักษรสาส์นมาว่า เครื่องราชบรรณาการทั้งหลายนั้น
ได้เก็บรวบรวมเรียบเรียงไว้ในห้องอันหนึ่ง เป็นของกลางแผ่นดิน
เพื่อจะให้ชนทั้งปวงไปมาดูแลและรู้เห็นมากด้วยกัน
เป็นเกียงติยศแก่แผ่นดินยุไนติศเตศและแผ่นดินสยามทั้งสองฝ่ายนั้น
เราพระเจ้ากรุงสยามก็มีความยินดีด้วยยิ่งนัก.....
ครั้งนี้เราพระเจ้ากรุงสยามขอฝากดาบเหล็กลายทำที่เมืองสยามตามรูปอย่างดาบญีปุ่น
มีฝักเงินถมยาดำกะไหล่ทอง
และมีเครื่องประดับทองคำเล่มหนึ่งกับรูปถ่ายคล้ายเงาของเรา.....
พระราชสาส์นนี้ได้มอบส่ง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม..... ในวัน.......... เป็นวันที่
๑๔ เดือนเฟบบรุวารี คริสตศักราช ๑๘๖๑ เป็นปีที่ ๑๑ หรือเป็นวันที่ ๓๕๖๔
ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ฯ
พระราชสาส์น
ถึงพระราชาธิบดีเดนมาร์ค
เมื่อปีมะแม พ.ศ.
๒๔๐๒
สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ ฯ .....
ขอเจริญทางราชไมตรีมายังสมเด็จพระเจ้าเฝรเดอริกที่ ๗ เป็นพระเจ้ากรุงเดนมาร์ค
และคนแวนดาล และโคช และอธิบดีในประเทศ เสลศวิกโหลเสตนและประเทศสตอมาร์น
และประเทศดิสมารเฉศ และเมืองลอนเบิค และเมืองโอลเดนเบิค
ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินใหญ่ควรแก่การพระราชไมตรีอันสนิทแลเสมอกับกรุงสยาม
ให้ทราบว่า..... ในปีคริสตศักราช ๑๘๕๘
ยอนยาเวอิศเกวร์กงสุลเดนมาร์คที่ตั้งอยู่เมืองสิงคโปร์
ได้โดยสารเรือกลไฟเข้ามาถึงพระนครนี้แล้ว
ได้แสดงหนังสือสำคัญสำหรับตัวที่ได้รับมาจากกรุงเดนมาร์ค.....
เป็นผู้รับสั่งบังคับมา มีอำนาจอันเต็ม
เพื่อจะได้ทำสัญญาในหว่างชาวประเทศสยามและคนขึ้นแก่ประเทศเดนมาร์ค .....
ครั้งนี้ได้ขอให้กรุงสยาม แต่งตั้งผู้รับสั่งคนหนึ่งหรือพวกหนึ่ง
ออกไปเจรจาปรึกษาในการและสิ่งที่ควรทีต้องการจะทำสัญญา.....
ปรึกษาหารือการทั้งปวงนั้น ๆ ตามประสรค์ในข้อสัญญาต่าง ๆ
ตกลงเป็นอันสำเร็จแล้วใน..... เป็นวันที่ ๑๐ แห่งเดือนเม ในปีมีคริสตศักราช
๑๘๕๘ ..... ครั้นมาครั้งนี้ ด.ก. แมสอนอิศเกวร์ผู้ว่าการกงสุลเดนมาร์ค.....
มาแจ้งความแค่แก่กรุงสยามว่ากรุงเดนมาร์คได้ส่งพระราชสาส์นมา..... ในวัน..........
เป็นวันที่ ๑๕ แห่งเดือนเสบเตมเบอร์คริสตศักราช ๑๘๕๙
แล้วให้พนักงานไปแห่รับพระราชสาส์น.....
กรุงสยามขอแสดงความมาให้กรุงเดนมาร์คทราบว่ามิศเตอร์วิลโสน ซึ่งยอนยาเวอิศเกวร์
ได้มอบหมายให้รับธุระทำราชการแทนกงสุล.....
มิศเตอร์วิลโสนได้ปฏิบัติถูกต้องตามอย่างกงสุล..... ไม่มีที่จะติเตียนได้เลย
ครั้นมาเมื่อ ..... คือเป็นเดือนยุไลย มิศเตอร์วิลโสนเข้ามาอำลากรุงสยาม .....
จะขอกลับไปอยู่เมืองสิงคโปร์ และมอบธุระราชการกงสุล..... ให้มิศเตอร์
ด.ก. แมสอน ลูกค้าอังกฤชคนหนี่งซึ่งอยู่ ในพระนครนี้มานานแล้ว
เป็นคนสมควรให้ทำแทนที่กงสุล..... ฝ่ายกรุงสยามเห็นว่ามิศเตอร์ ด.ก.
แมสอนนั้นเป็นคนสมควรอยู่..... ครั้งนี้กรุงสยามก็ได้ทำหนังสือฉบับหนึ่ง
เป็นคำรับทำให้หมั้นแก่ข้อสัญญาและกฏหมายผ่อนปรน ให้เสมอแก่ลูกค้า
และพิกัดจังกอบภาษีซึ่งผู้รับสั่งทั้งสองฝ่ายได้ทำแล้วแต่ก่อนนั้น.....
พระราชสาส์นนี้ลงราชลัญจกรของกรุงสยาม ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ..... เป็นวันที่ ๑๑
ในเดือน นอ เวม เบอร์ คริสตศักราช ๑๘๕๙ เป็นปีที่ ๙ และวันที่ ๓๑๐๓
ในรัชกาลปัจจุบันนี้ ฯ
พระราชสาส์น
ถึงสมเด็จพระราชาธิบดีเยอรมัน
เมื่อปีระกา พ.ศ.
๒๔๐๔
พระราชสาส์นในสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ..... ขอคำนับ
เจริญทางพระราชไมตรีมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงปรุสเซีย..... ให้ทราบก่อนว่า
กอนเอวเลนเบิค ราชทูตของกรุงปรุสเซีย
เป็นผู้ถือรับสั่งเข้ามาขอทำสัญญาทางพระราชไมตรี และทางค้าขายในพระนครนี้นั้น
ได้เข้ามาด้วยเรือกลไฟ ๓ ลำ..... กรุงสยามได้ทราบแล้วมีความยินดี
จึงสั่งให้เจ้าพนักงานจัดเรือกลไฟ ๒ ลำ ลงไปรับ..... ทูตก็ได้ตั้งข้อสัญญาต่างๆ
ตามที่เห็นพร้อมกันทั้งสองฝ่าย.....
การทำสัญญานั้นก็เป็นอันเสร็จแล้ว
.......
พระราชสาส์นนี้ ลงราชลัญจกรของกรุงสยาม ส่งมาแต่ท้องพระโรงหลวงมีนามว่า
พระที่นั่งอนันตสมาคม..... เป็นวันที่.......... ในเดือน เฝบรุวารี
คริสตศักราช ๑๘๖๒ เป็นปีที่ ๑๑ และวันที่ ๓๙๓๒ ในรัชกาลปัจจุบันนี้
ฯ
กรุงสยามได้แต่งพระราชสาส์นฉบับนี้ในภาษาเองคลิสห์
ซึ่งเป็นภาษากรุงสยามเข้าใจพอแต่งได้.....
อนึ่ง
เพราะเหตุที่พระราชเทวีของกรุงสยามสิ้นพระชนม์ชีพ..... ตรงกันกับวันที่ ๙ ในเดือน
เสบเตมเบอร์ ปีหลัง จึงต้องเขียนพระราชสาส์น ลงในกระดาษขอบดำ
เป็นธรรมเนียมสำแดงความเศร้าโศก เพราะความสิ้นพระชนม์ชีพของพระเชษฐาธิราช
ซึ่งเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงปรุสเซียพระองค์ก่อนนั้น
อนึ่งกรุงสยามขออำนวยความสวัสดีด้วยความยินดีในการราชาภิเษก ของกรุงปรุสเซีย
และพระราชเทวีปรุสเซีย.....
พระราชสาส์นนี้..... ส่งมาแต่..... พระที่นั่งอนันตสมาคม..... เป็นวันที่ ๑๗
ในเดือน เฝบรุวารี คริสตศักราช ๑๘๖๒ เป็นปีที่ ๑๑ และเป็นวันที่ ๓๙๓๒
ในรัชกาลปัจจุบันนี้
พระราชสาส์น
ถึงพระราชาธิบดีฮอลันดา
เมื่อปีกุน พ.ศ. ๒๔๐๖
พระราชสาส์นสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฏ เจริญทางพระราชไมตรี
คำนับมายังสมเด็จพระเจ้าวิเลียมที่สามในพระนามอย่างเดียวกัน
ซึ่งเป็นพระเจ้าแผ่นดินกรุงนิเทอแลนด์ และเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในเมืองออเรญ
เมืองนอแลนด์ และเมืองอื่นๆ และเป็นใหญ่เป็นอธิบดีเมืองลุกเษนเบิค
และอื่น ๆ อีก ให้ทราบความดังนี้
คอเวอเนอเยเนราล์นิเทอแลนด์ในอินเดีย ผู้รับสั่งของกรุงนิเทอแลนด์.....
ได้จัดให้กัปแตนยิปีเซมอศเสล์
เชิญพระราชสาส์นคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการของกรุงนิเทอแลนด์
ทรงยินดีมาถึงกรุงสยามด้วยเรือรบของกรุงนิเทอแลนด์ ชื่อ......
ถึงที่ทอดสมอตรงปากแม่น้ำเจ้าพระยา..... เป็นวันต้นเดือนยุน คริสตศักราช ๑๘๖๓.....
เจ้าพนักงานการแผ่นดินก็ได้พร้อมกันจัดเรือกลไฟน้อยที่สมควร
ลงไปรับพระราชสาส์น และเครื่องราชบรรณาการ
ทั้งตัวทูตานุทูตของกรุงนิเทอแลนด์ขึ้นมากรุงเทพ ฯ ครั้น ณ วัน.....
กรุงสยามกับเสนาบดี และเจ้าพนักงานได้จัดการเคารพรับพระราชสาส์น
และทูตานุทูตโดยอย่างที่สมควรแก่ราชอิสริยยศของกรุงนิเทอแลนด์
เหมือนเช่นรับพระราชสาส์นที่มาแต่พระเจ้าแผ่นดินใหญ่เมืองอื่น ๆ
ในยุโรป.....
ก็ราชสาส์นของกรุงนิเทอแลนด์นั้น ลงกำหนดว่าเขียนที่เมืองเฮกวันที่ ๒๗
ของเดือน นอเวมเบอร์ ในคริสตศักราช ๑๘๖๒..... รูปภาพของกรุงนิเทอแลนด์
และพระมเหสีนั้น
ก็ได้คิดไว้ในฝาผนังที่ประชุมว่าราชการเป็นที่เห็นแก่ท่านทั้งปวง
กระบี่ราชบรรณาการนั้นก็เป็นที่ชอบใจมาก
เพราะมีสำคัญตราแผ่นดินเมืองทั้งสองฝ่าย
เป็นเครื่องแสดงพระราชไมตรีสองพระนครยั่งยืนสืบไปนาน
คนซึ่งทั้งสองฝ่ายจะค้าขายต่อกันโดยสุขสวัสดิ์
เรือลูกค้าเล็กน้อยฝ่ายสยามก็ย่อมแต่งบรรทุกสินค้าไปค้าขายอยู่ที่เมืองบตาเวียทุกปีมิได้ขาดตั้งแต่ก่อนทำสัญญามา
ในครั้งนี้มิสเตอร์ยิปีเซอมิศเสล์ ราชทูตกับพวกขุนนาง.....
ได้เที่ยวไปมาหาสู่ผู้มีบรรดาศักดิ์ในพระนครนี้ประมาณกึ่งเดือน
ก็มีกิริยาปรากฎเป็นอันประพฤติชอบทุกที่ทุกทาง......
พระราชสาส์นนี้ส่งมาแด่พระที่นั่งอนันตสมาคม..... เป็นวันที่ ๑๙ เดือนยุน
คริสตศักราช ๑๘๖๓ เป็นปีที่ ๑๓ หรือวันที่ ๔๔๑๙ ในรัชกาลปัจจุบันนี้
ฯ