| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
ตอนที่ ๒๓ พระอภัยมณีอภิเษกกับนางสุวรรณมาลี
ค ฝ่ายพระองค์ทรงโฉมประโลมสวาท | บำรุงราษฎรเจริญจิตทุกทิศา |
คิดคะนึงถึงองค์พระธิดา | ยังไม่ลาพรตเลยทำเฉยเชือน |
เสียแรงรักฝักฝ่ายหมายสงวน | เจ้ากระบวนนี่กระไรใครจะเหมือน |
นิ่งกระนี้มิได้จะไปเตือน | แม้นบิดเบือนบาปกรรมก็ทำเนา |
ครั้นสรรพเสร็จเสด็จมามนเทียรทอง | ถึงห้องน้องศรีสุวรรณจำนรรจา |
พ่อไปด้วยช่วยชวนหลวงชีสึก | แม้นสมนึกครั้งนี้ดีหนักหนา |
พระน้องยิ้มพริ้มพักตร์พจนา | อุปมาเหมือนหนึ่งไก่อยู่ในมือ |
ค พระเชษฐาว่าพี่คิดผิดถนัด | สารพัดแพ้รู้แก่ผู้หญิง |
แล้วลูกเต้าเล่าก็หวงคอยท้วงติง | ต้องยุ่งยิ่งยอดยากลำบากใจ |
ค ฝ่ายพระนุชบุตรีฤาษีสาว | เวลาเช้าออกอยู่หน้าพระอาศรม |
ทั้งพี่น้องสองกุมารสำราญรมย์ | ชวนกันชมนกใต้ต้นไทรทอง |
พอผันแปรแลเห็นพระอภัยมณี | เลียบคีรีมากับพระอนุชา |
จึงสั่งสองหน่อไทให้ไปรับ | มาหยุดยับยั้งนั่งบัลลังก์ผา |
พระอภัยให้เอาพานพวงมาลา | กับพานผ้าถวายองค์นางนงเยาว์ |
คุณคะนึงถึงโยมอยู่บ้างหรือ | หรือเพลินถือธรรมขันธ์ไม่หวั่นไหว |
ตัดสวาทขาดเด็ดสำเร็จไป | เจียวหรือใจเจ้าคุณพระมุนี ฯ |
ค นางฟังรสพจมานโองการเกี้ยว | ให้ซาบเสียวเสน่ห์ในใจฤาษี |
แต่มารยามานะกษัตรี | ทำพาทีเพทุบายถวายพร |
ได้ตรวจรำลึกนึกไม่ขาด | ถึงเบื้องบาทบพิตรอดิศร |
มิตรจิตรมิตรใจอาลัยวรณ์ | เว้นแต่นอนหลับไปไม่ได้คิด |
ทั้งทราบว่าวาลีมีความรู้ | เขามาสู่สมภารสำราญจิต |
พอเข้านอกออกในได้ใช้ชิด | สำเร็จกิจข้าน้อยพลอยยินดี |
โปรดบำรุงกรุงผลึกให้ครึกครื้น | สำราญรื่นเรืองเดชของเชษฐา |
เมื่อแก่เฒ่าเล่าจึงกลับมาบรรพชา | จำพรรษาเสียด้วยกันจนวันตาย ฯ |
แต่ไม่งามความอายอยู่ภายหน้า | เขาจะว่าเจ้าเมืองผลึกสึกฤาษี |
นานนานหน่อยคอยท่าพาฤกษ์ดี | อย่าให้มีมลทินที่นินทา |
พระฟังนางช่างฉลาดไม่พลาดเพลี่ยง | รู้หลีกเลี่ยงหลายทำนองคล่องหนักหนา |
จึงแกล้งตรัสตัดคำว่าธรรมดา | วิสัยสามัญทั่วทุกตัวคน |
ที่รักกันสรรเสริญเจริญสิ้น | ที่ชังนินทาแถลงทุกแห่งหน |
การทั้งหลายร้ายดีมิได้พ้น | จะกลัวคนครหาว่ากระไร |
จงสั่งพระอนุชาเสนานาย | ให้บัตรหมายจัดงานการมงคล |
ทั้งการเล่นเต้นรำเครื่องทำขวัญ | อีกเจ็ดวันจะวิวาห์สถาผล |
จะเชิญองค์นงเยาว์เข้ามณฑล | ขึ้นนั่งบนแท่นรัตน์ชัชวาล |
พระตรัสพลางทางเรียกขึ้นร่วมอาสน์ | ทรงสมพาสเพิ่มรักขึ้นหนักหนา |
เหมือนม้าดีขี่ขับสำหรับรบ | ทั้งดีดขบโขกกัดสะบัดย่าง |
ทั้งเรียบร้อยน้อยใหญ่ที่ไว้วาง | สันทัดทางถูกต้องคล่องอารมณ์ |
จงหมายสั่งตั้งพิธีอภิเษก | กับองค์เอกอัคเรศตามเพทไสย |
มีเยี่ยงอย่างปางก่อนประการใด | เสนาในรีบรัดไปจัดแจง |
ให้สำเร็จเจ็ดค่ำเป็นกำหนด | ชนบทบอกทั่วทุกรั้วแขนง |
มีการเล่นเต้นรำนอกำแพง | ตามตำแหน่งน้อยใหญ่เร่งไคลคลา ฯ |
ค มนตรีกราบทราบความตามรับสั่ง | ออกมานั่งเตียงริมทิมดาบขวา |
อยู่พร้อมเพรียงเวียงวังทั้งคลังนา | จึงเรียกหาให้เสมียนมาเขียนคำ |
เป็นหมายบอกนอกในทั้งใหญ่น้อย | ให้เตรียมคอยพร้อมเสร็จขึ้นเจ็ดค่ำ |
ถึงกุฎีที่สถิตพระธิดา | พอเห็นหน้านึกแค้นว่าแสนงอน |
เห็นเขาง้อขอรักแล้วหักหาญ | เหมือนสามานย์มิได้ฟังซึ่งสั่งสอน |
เมื่อเจ็ดค่ำจะทำสยุมพร | ยังนิ่งนอนภาวนาอยู่ว่าไร ฯ |
จึงทูลว่าข้าน้อยไม่ทราบเหตุ | พระทรงเดชคิดการงานไฉน |
พระชนนีตีอกตกพระทัย | นั่นมิใช่หรือเราคิดไม่ผิดนัก |
นางวาลีมิใช่ชั่วเขาตัวโปรด | จะเป็นโสดสูงเสริมเฉลิมศักดิ์ |
ผู้ดีเด่นเหิมฮึกทำคึกคัก | จะต้องหักทางพับอัประมาณ |
เหมือนครั้งนี้วิวาห์ถ้ามิสึก | เมืองผลึกก็จะแหลกต้องแตกฉาน |
เราพรากพลัดรัตนามาช้านาน | ไม่แจ้งการว่าข้างหลังเป็นอย่างไร |
ครั้นตัวพี่นี้จะกลับไม่รับศึก | เมืองผลึกก็ไม่มีที่อาศัย |
คิดจะใคร่ให้พ่อพานัดดาไป | เยี่ยมกรุงไกรกราบทูลมูลความ |
แม่อยู่หลังข้างนี้จะวิตก | ระกำอกอาดูรถึงทูนหัว |
พ่อจะไปใจแม่อยู่แต่ตัว | ไม่มีผัวหรือจะได้ไปด้วยกัน |
แล้วสามองค์ทรงลำกำปั่นใหญ่ | ให้กางใบล้วนแต่ผ้าแพรสี |
ทั้งเรือตามสามร้อยลอยวารี | พอลมดีใช้ใบไรไรมา ฯ |
พระพี่น้องสองกุมารสำราญรื่น | ต่างชวนชื่นชมทะเลพระเวหา |
น้ำสุดใสไหลแลเห็นแต่ปลา | เที่ยวเคลื่อนคลาคล้ายคล้ายในสายชล |
ปลาวาฬใหญ่ไล่คู่ขึ้นฟูฟ่อง | บ้างพ่นฟองฟุ้งฟ้าดังห่าฝน |
จะหลีกทางข้างไหนก็ไม่พ้น | พวกต้นหนสั่งให้ปืนใหญ่ยิง |
เสียงตูมตามสามลูกถูกสีข้าง | พอโบกหางหันวนเป็นก้นสวิง |
สูบกำปั่นหันเหียนเวียนระวัง | บ้างจมดิ่งหายวับแล้วกลับลอย |
เหมือนติดแน่นแล่นไปก็ไม่ออก | ฟูมระลอกเลี้ยววนเป็นก้นหอย |
แต่เช้าตรู่สุริย์ฉายจนบ่ายคล้อย | จึงหลุดลอยแล่นหลามไปตามกัน |
ตอนที่ ๒๔ กำเนิดสุดสาคร
ค จะกล่าวถึงเงือกน้อยกลอยสวาท | ซึ่งรองบาทพระอภัยเมื่อไกลสถาน |
อยู่วนวังหลังเกาะแก้วพิสดาร | ประมาณกาลสิบเดือนไม่เคลื่อนคลา |
ให้เจ็บครรภ์ปั่นป่วนจวนจะคลอด | ระทวยทอดลงกับแท่นที่แผ่นผา |
จะแลเหลียวเปลี่ยวใจนัยนา | ไม่เห็นหน้าผู้ใดที่ไหนเลย |
สะอื้นอ่อนอ่อนระทวยแทบม้วยมุด | หากบุญบุตรบันดาลช่วยมารดา |
ให้นึกคำพระอภัยเมื่อไปจาก | ว่าจะฝากโยคีมีคาถา |
โอ้ครั้งนี้ชีวิตจะปลิดปลด | พระดาบสเอาบุญเถิดคุณเอ๋ย |
นางครวญคร่ำร่ำไรด้วยไม่เคย | สลบเลยลืมกายดังวายปราณ ฯ |
เอาโคมส่องมองเขม้นเห็นนางเงือก | สลบเสือกอยู่ที่ทรายชายกระแส |
เป่ามหาอาคมให้ลมแปร | ที่ท้อแท้ค่อยประทังกำลังนาง |
แล้วจับยามสามตาตำราปลอด | จวนจะคลอดแล้วหวาสีกาเอ๋ย |
กูถูกต้องท้องไส้ไม่ได้เลย | ยังไม่เคยพบเห็นเหมือนเช่นนี้ |
แล้วหลีกไปให้ห่างเสียข้างเขา | ช่วยเสกเป่าป้องปัดกำจัดผี |
เดชะฤทธิ์อิศโรพระโยคี | มิได้มีเภทภัยสิ่งไรพาน |
ทั้งเทวาอารักษ์ที่ในเกาะ | ระเห็จเหาะมาสิ้นทุกถิ่นฐาน |
ช่วยแก้ไขได้เวลากฤษดาการ | คลอดกุมารเป็นมนุษย์บุรุษชาย |
เนตรขนงวงนลาฎไม่คลาดเคลื่อน | ละม้ายเหมือนพระอภัยนั้นใจหาย |
มีกำลังนั่งคลานทะยานกาย | เข้ากอดกายมารดรไม่อ่อนแอ |
ค นางเงือกน้ำคำรพอภิวาท | ข้าเป็นชาติเชื้อสัตว์เหมือนมัจฉา |
จะกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงมนุษย์สุดปัญญา | ขอฝากฝ่าบาทบงส์พระทรงธรรม์ |
ช่วยเลี้ยงดูกุมารเหมือนหลานเถิด | เสียแรงเกิดกายมาจะอาสัญ |
อันข้านี้วิสัยอยู่ไกลกัน | เช้ากลางวันเย็นลงจะส่งนม ฯ |
ค พระโยคีมีจิตผิดสงสาร | ด้วยเหมือนหลานลูกศิษย์สนิทสนม |
ฤกษ์วันนี้ตรีจันทร์เป็นวันโชค | ต้องโฉลกลัดนามหาอุด |
จะให้นามตามอย่างข้างมนุษย์ | ให้ชื่อสุดสาครอวยพรชัย |
จึงหยิบของสองสิ่งซึ่งซ่อนไว้ | เป็นของพระอภัยให้โอรส |
ทำขวัญลูกผูกธำมรงค์รัตน์ | ไว้กับหัตถ์เบื้องขวาให้ปรากฎ |
กุณฑลทองขององค์พระทรงยศ | ให้ดาบสเก็บไว้ให้กุมาร |
ให้กินนมชมชูพระกุมาร | แล้วให้คลานขึ้นบนเพลาพระเจ้าตา |
ถึงดึกดื่นตื่นนอนป้อนกล้วยน้ำ | กุมารกล้ำกลืนกินจนสิ้นหวี |
ครั้นรุ่งอุ้มดุ่มเดินไปเนินเขา | ให้ดื่มเต้ากษิราสี่ห้าหน |
เป็นแถวเทือกเงือกบุรุษมนุษย์บิน | แรงกว่าคนเราชาวบุรี |
ได้สิบเดือนเหมือนได้สักสิบขวบ | ดูขาวอวบอ้วนท้วนเป็นนวลฉวี |
ออกวิ่งเต้นเล่นได้ไกลกุฎี | เที่ยวไล่ขี่วัวควายสบายใจ |
แล้วลงน้ำปล้ำปลาโกลาหล | ดาบสบ่นปากเปียกเรียกไม่ไหว |
สอนให้หลานอ่านเขียนร่ำเรียนไป | แล้วก็ให้วิทยาวิชาการ |
รู้ล่องหนทนคงเข้ายงยุทธ | เหมือนสินสมุทพี่ยาทั้งกล้าหาญ |
เห็นแต่แม่มัจฉากับอาจารย์ | จนกุมารอายุได้สามปี |
ม้าตัวนี้ดีจ้านเจียวหลานเอ๋ย | เป็นกระเทยเขี้ยวเพชรไม่เข็ดขาม |
จับไว้ขี่สง่ากล้าสงคราม | จะได้ตามบิตุเรศไปเขตคัน |
แล้วบอกมนต์กลเล่ห์กระเท่ห์ให้ | จะจับได้ด้วยพระเวทวิเศษขยัน |
สุดสาครนอนบ่นมนต์สำคัญ | ได้แม่นมั่นเหมือนหนึ่งจิตไม่ผิดเพี้ยน |
จึงลงหวายสายเอกเสกประทับ | ไว้สำหรับผูกรั้งเช่นบังเหียน |
แล้วท่องบ่นมนต์เก่าที่เล่าเรียน | พอสิ้นเทียนเพลินหลับระงับไป |
พอเช้าตรู่รู้สึกให้นึกแค้น | ฉวยเชือกแล่นลงมหาชลาไหล |
เอาวงหวายสายสิญจน์สวมศีรษะ | ด้วยเดชะพระเวทวิเศษขลัง |
ม้ามังกรอ่อนดิ้นสิ้นกำลัง | ขึ้นนั่งหลังแล้วกุมารก็อ่านมนต์ |
ได้เจ็ดคาบปราบม้าสวาหะ | แล้วเป่าลงตรงศีรษะสิ้นหกหน |
อาชาชื่นฟื้นกายไม่วายชนม์ | ให้รักคนขี่หลังดังชีวา |
พระนักสิทธิ์พิศดูเป็นครู่พัก | หัวร่อคักรูปร่างมันช่างขัน |
เมื่อตัวเดียวเจียวกลายเป็นหลายพันธุ์ | กำลังมันมากนักเหมือนยักษ์มาร |
กินคนผู้ปูปลาหญ้าใบไม้ | มันทำได้หลายเล่ห์อ้ายเดรฉาน |
เขี้ยวเป็นเพชรเกล็ดเป็นนิลลิ้นเป็นปาน | ถึงเอาขวานฟันฟาดไม่ขาดรอน |
เจ้าได้ม้าพาหนะตัวนี้ไว้ | จะพ้นภัยภิญโญสโมสร |
ให้ชื่อว่าม้านิลมังกร | จงถาวรพูนสวัสดิ์แก่นัดดา |
ตรงมืองชี้นี่นะจำเอาตำบล | เป็นมณฑลทิศพายัพอยู่ลับลิบ |
อันพ่อเจ้าไม่แก่ไม่หนุ่มนัก | อายุสักยี่สิบเก้าเข้าสามสิบ |
พระบอกพลางทางประทานไม้เท้าทิพย์ | ไปทางนี้ผีดิบมันดุดัน |
สำหรับมือถือไว้อย่าให้ห่าง | เปรียบเหมือนอย่างศรแผลงพระแสงขรรค์ |
ทั้งแคล้วคลาดศาสตราสารพัน | ประกับกันผีสางปะรางควาน |
อันปิ่นทองของพระอภัยให้ | ช่วยแซมใส่เกศีเมาลีหลาน |
บิดาเจ้าเผ่าพงศ์พวกวงศ์วาน | ใครพบพานจะได้เห็นเป็นสำคัญ |
แล้วจัดแจงแต่งนุ่งหนังเสือให้ | ครบเครื่องไตรครองประทานพระหลานขวัญ |
ผูกชฎาหนังรัดสะพัดพัน | ฝนแก่นจันทน์เจิมมหาอุณาโลม |
นางดูหน้าอาลัยใจจะขาด | ดังฟ้าฟาดทรวงแยกให้แตกฉาน |
สะอื้นอั้นตันใจอาลัยลาน | แสนสงสารโศกาแล้วว่าพลาง |
โอ้ทูนหัวตัวแม่นี้ไม่ห้าม | สุดแต่ตามใจปองอย่าหมองหมาง |
แต่ปรานีที่ไม่แจ้งรู้แห่งทาง | จะอ้างว้างวิญญาในวารี |
ทั้งผีสางกลางชลาล้วนน่ากลัว | จะจับตัวตัวฉีกเนื้อเป็นเหยื่อกิน |
สารพัดมัจฉาก็กล้าหาญ | ในกลางย่านยมนาชลาสินธุ์ |
ทั้งครุฑาวายุภัสนกหัสดิน | เที่ยวโบยบินบนอากาศไม่ขาดวัน |
เห็นเดินหนคนเดียวจะเฉี่ยวฉาบ | พิฆาตคาบเข่นฆ่าให้อาสัญ |
น่าใจหายตายเป็นไม่เว้นวัน | แม่พรั่นพรั่นเพราะว่าเจ้ายังเยาว์นัก |
ถึงสิบรู้บุราณท่านเฉลย | ไม่เหมือนเคยฝึกสอนด้วยอ่อนหัด |
อย่าจู่ลู่ดูถูกนะลูกรัก | จงคิดหนักหน่วงใจดูให้ดี ฯ |
ถึงยังเด็กเหล็กเพชรไม่เข็ดขอน | จะเจาะชอนเชิงลำเนาภูเขาขุน |
จะลำบากยากแค้นเพราะแทนคุณ | ก็ได้บุญเบื้องหน้าขอลาไป ฯ |
พ่อไปถึงจึงทูลเหตุ | ให้ทรงเดชทราบความตามประสงค์ |
ว่าชาตินี้มิได้ปะกับพระองค์ | ขอดำรงรองบาททุกชาติไป |
ค ฤาษีสุดสาครรับพรแม่ | จะห่างแหหวนจิตคิดสงสาร |
จึงสั่งซ้ำว่าไม่ช้านาน | สำเร็จการจะมาหามารดร |
ค ถึงเมืองล่มจมสมุทรมนุษย์ม้วย | ประกอบด้วยยักขินีพวกผีดิบ |
เห็นมนุษย์สุดอยากปากยิบยิบ | ทำซุบซิบเสแสร้งจำแลงกาย |
เป็นถิ่นฐานบ้านเมืองเรืองอร่าม | ทั้งตึกรามเรือนเรือดูเหลือหลาย |
ตลาดน้ำเรือสัญจรเที่ยวคอนพาย | บ้างร้องขายข้าวของที่ต้องการ |
สุดสาครอ่อนแอครั้นแลเห็น | คิดว่าเป็นปัถพินที่ถิ่นฐาน |
ทั้งแลเห็นเต้นรำน่ารำคาญ | เขาเรียกขานขับม้าเขาธานี |
เข้าประตูดูกำแพงตะแคงคว่ำ | อยู่ในน้ำเก่าแก่เห็นแต่ผี |
เป็นเงาเงาเข้ากลุ้มรุมราวี | กุมารตีด้วยไม้เท้าพระเจ้าตา |
ม้ามังกรถอนถีบกีบสะบัด | เอาหางรัดราวกับนาคทั้งปากขบ |
สังหารผีรี้พลอยู่จนพลบ | เห็นเพลิงคบล้อมรอบขอบกำแพง |
พวกผีดิบสิบโกฎิมันโลดไล่ | จะเข้าใกล้กลัวมนต์ขนแสยง |
ถึงเจ็ดวันมันไม่แตกไม่แยกย้าย | จนม้าว่ายน้ำเวียนเจียนจะจม |
ทั้งตัวสุดสาครก็อ่อนจิต | รำลึกคิดถึงเจ้าตาที่อาศรม |
พอเสียงดังหวังหง่างมากลางลม | ปีศาจจมหายวับไปลับตา |
ค โยคีครูผู้เฒ่าจึงเล่าเรื่อง | นี่คือเมืองท้าวปักกาภาษาไสย |
เพราะพรากพระโดดมจึงจมไป | เห็นแต่ใบเสมาอยู่ช้านาน |
ไปข้างหน้าถ้าพบมันรบอีก | จงเลี่ยงหลีกเลยไปในวิถี |
มันเข้าใกล้ใช้ไม้ถือที่มือดี | พระมุนีแนะอุบายแล้วหายไป ฯ |
ค จะกล่าวความพราหมณ์แขกซึ่งแปลกเพศ | อยู่เมืองเทศแรมทางที่กลางหน |
ครั้นเสียเรือเหลือตายไม่วายชนม์ | ขึ้นอยู่บนเกาะพนมในยมนา |
ไม่นุ่งห่มสมเพชเหมือนเปรตเปล่า | เป็นคนเจ้าเล่ห์สุดแสนมุสา |
ทำเป็นทีชีเปลือยเฉื่อยเฉื่อยชา | ไม่กินปลากินข้าวกินเต้าแตง |
พวกสำเภาเลากาก็พาซื่อ | ชวนกันถือผู้วิเศษทุกเขตแขวง |
คิดว่าขาดปรารถนาศรัทธาแรง | ไม่ตกแต่งแต่คิดอนิจจัง |
ใครขัดสนบนบานการสำเร็จ | เนื้อแท้เท็จถือว่าวิชาขลัง |
คนมาขอก่อกุฎิ์ให้หยุดยั้ง | นับถือทั้งธรณีเรียกชีเปลือย |
ส่วนชายปลอมพร้อมหมดไม่อดอยาก | มีโยมมากเหมือนหมายสบายเรื่อย |
จนหนวดงอกออกขาวดูยาวเฟื้อย | ทั้งผมเลื้อยลากสันอยู่คนเดียว |
จึงขับม้ามากุฎีเห็นชีเปลือย | ยังหลับเรื่อยรูปร่างโตว่าคร่างครัน |
ไม่นุ่งผ้าคากรองครองหนังเสือ | ประหลาดเหลือโล่งโต้งโม่งโค่งขัน |
น่าเหียนรากปากมีแต่ขี้ฟัน | กรนสนั่นนอนร้ายเหมือนป่ายปีน |
ประหลาดใจใยหนอไม่นุ่งผ้า | จะเป็นบ้าไปหรือว่าถือศีล |
หนวดถึงเข่าเคราถึงนมผมถึงตีน | ฝรั่งจีนแขกไทยก็ใช่ที |
เราตัดขาดปรารถนาไม่อาลัย | ด้วยเห็นภัยวิปริตอนิจจัง |
อันร่างกายหมายเหมือนหนึ่งเรือนโรค | แสนโสโครกคืออายุกเป็นทุกขัง |
เครื่องสำหรับยับยุบอสุภัง | จะปิดบังเวทนาไว้ว่าไร |
เราถือศิลจินตนาศิวาโมกข์ | สละโลกรูปนามตามวิสัย |
บังเกิดเป็นเบญจขันธ์มาฉันใด | ก็ทิ้งไว้เช่นนั้นจึงฉันนี้ |
ไม่รักรูปร่างกายเสียดายชาติ | อารมณ์มาดมุ่งหมายจะหน่ายหนี |
นี่ตัวท่านการธุระอะไรมี | มาเดี๋ยวนี้จะไปหนตำบลใด ฯ |
แต่แถวทางข้างหน้านั้นปรากฎ | มีน้ำกรดลีกเหลวเป็นเปลวไหล |
ต่อมีมนต์กลเวทวิเศษไป | จึงข้ามได้โดยง่ายไม่วายชนม์ |
นี่ตัวเจ้าเล่าเรียนมาแล้วหรือ | จะดึงดื้อไปแล้วเห็นไม่เป็นผล |
ซึ่งเดินน้ำร่ำมาในสาชล | ด้วยเวทมนต์เชี่ยวชาญประการใด ฯ |
บอกให้นั่งประนมพรหมพรต | วางไม้เท้าดาบสไว้ริมกาย |
เห็นได้ทีชีเมียวเข้าเคียงข้าง | กระซิบพลางผลักตกหัวหกหาย |
กระทบหินสิ้นแรงพลิ้วแพลงกาย | ทรวงทลายล้มซบสลบไป ฯ |
ส่วนตาเฒ่าเจ้าเล่ห์เพทุบาย | เรามาหมายโปรดสัตว์กำจัดภัย |
ด้วยบัดนี้ผีห่ามันกล้าหาญ | จะเกิดการโกลาโรคาไข้ |
ให้รากพ้นคนตายฉิบหายไป | จงบอกให้กันรู้ทุกผู้คน |
แม้นกลัวตายชายหญิงอย่านิ่งช้า | จงออกมานั่งข้างทางถนน |
กูจะประพรำด้วยน้ำมนต์ | ให้รอดพ้นความตายสบายใจ |
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน | |