| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

 

เล่มที่ ๔ ข่อย - คมนาคม       ลำดับที่ ๗๒๓ - ๘๘๒      ๔/ ๑๙๒๕ - ๒๕๘๕

            ๗๒๓. ข่อย  เป็นไม้ต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง พบขึ้นตามป่าดิบแล้งทั่ว ๆ ไป ลำต้นแตกกิ่งก้านสาขามาก เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ผิวใบคายสากทั้งสองด้าน ใช้เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งในตำรายาไทย กล่าวกันว่าเปลือกมีสรรพคุณแก้โรคฟัน เปลือกใช้ทำกระดาษที่เรียกกันว่า กระดาษข่อย            ๔/ ๑๙๒๕
            ๗๒๔.
ข้อเสือ  โดยมากเรียกกันว่า ข้อเหวี่ยงในภาษาช่าง เป็นส่วนประกอบของเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ ที่ทำหน้าที่แปลงการเคลื่อนไหวกลับไปมา ให้เป็นการหมุนหรืออาจทำหน้าที่กลับกันก็ได้            ๔/ ๑๙๒๗
            ๗๒๕.
ขัณฑสกร  สารนี้เป็นผลึกขาว เมื่อละลายน้ำแล้วมีรสหวานกว่าน้ำตาล ประมาณ ๓๐๐ เท่า ไม่มีคุณค่าเป็นอาหาร ใช้แทนน้ำตาลสำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน         ๔/ ๑๙๒๘
            ๗๒๖.
ขันทกุมาร ขันธกุมาร  เป็นอีกชื่อหนึ่งของพระการตติเกยะเทพ แห่งสงครามฮินดู ซึ่งปรากฎอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์ และเพี้ยนมาจากคำสกันท ในคัมภีร์มหาภารต และคัมภีร์รามายณะว่า เป็นโอรสพระศิวะ หรือภาชะ และเกิดขึ้นโดยไม่มีผู้หญิงเป็นผู้ให้กำเนิดกล่าวคือ พระศิวะขว้างเชื้อของพระองค์ลงในไฟ แล้วภายหลังพระคงคาเทวีรับเอาไว้เป็นมารดา เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อัตนิภู แปลว่าเกิดแต่ไฟหรือคงคาชาคือเกิดจากคงคา ต่อมานางกฤติกาทั้งหก (เทวีประจำดาวลูกไก่) เอาไปเลี้ยงไว้ จึงได้ชื่อว่า การตติเกยะ คือเนื่องด้วยนางกฤติกา กำเนิดของเทพองค์นี้ยังมีอีกหลายเรื่อง         ๔/ ๑๙๒๙
            ๗๒๗.
ขันที  ชายที่ถูกตอนแล้ว ในบาลีมีคำว่าบัณเฑาะก์ ซึ่งหมายความถึงขันที แต่เราแปลว่ากะเทย ประเทศในสมัยโบราณเช่นประเทศกรีกและโรมัน ตลอดจนประเทศอาหรับ อิหร่าน อินเดีย และจีน ก็เคยมีขันทีเป็นคนใช้ สำหรับควบคุมดูแลพวกผู้หญิงที่หวงห้าม เช่นในราชสำนักฝ่ายใน หรือในบ้านของเศรษฐี คฤหบดี ในประเทศไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็เข้าใจว่าเคยมีขันทีไว้ในราชสำนัก ดังมีกล่าวไว้ในหนังสือว่าด้วยเรื่องเมืองไทย สมัยสมเด็จพระนารายณ์ ฯ ซึ่งลาลูแบเป็นผู้เขียน            ๔/ ๑๙๓๔
            ๗๒๘.
ขันท์  เป็นคำมาจากภาษาบาลี ให้คำนิยามไว้ว่า ตัว หมู่ กอง พวก หมวด ส่วนหนึ่ง ๆ ของรูป กับนามที่แยกออกเป็นห้ากองคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเรียกว่าขันธ์ทั้งห้า
                      ในคัมภีร์สุตตันตปิฎกเรียกธรรมบัญญัติว่าขันธ์ ก็มี เรียกหัวข้อธรรม ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงว่าธรรมขันธ์ก็มี         ๔/ ๑๙๓๕
            ๙๒๙.
ขันธกะ  เป็นชื่อหมวดพระวินัยนอกพระปาติโมกข์ เรียกสิกขาบทประเภทนี้ว่า อภิสมาจาร แบ่งเป็น ๒๒ ขันธกะ         ๔/ ๑๙๓๖
            ๗๓๐.
ขันธกุมาร  ดูขันทกุมาร    (ลำดับที่ ๗๒๖)         ๔/ ๑๙๓๘
            ๗๓๑.
ขันธปริตร  เป็นชื่อพระปริตรบทหนึ่ง นับเป็นลำดับที่สี่ในเจ็ดตำนานหรือในจุลราชปริตร ใช้เป็นบทสำหรับสวดเพื่อป้องกันภยันตราย และทั้งเพื่อรักษาพระศาสนาด้วย ขันธปริตรแปลว่ามนต์ป้องกันตัว เป็นบทต่อจากกรณียเมตสูตร         ๔/ ๑๙๓๘
            ๗๓๒.
ขันธวารวรรค  เป็นชื่อวรรคใหญ่วรรคหนึ่งในสังยุตนิกาย ซึ่งเป็นนิกายที่สามในนิกายห้าของพระไตรปิฎก ส่วนสุตันตปิฎก ขันธวารวรรคนี้ท่านจัดไว้เป็นวรรคที่สามในวรรคทั้งห้าของสังยุตนิกาย ขันธวารวรรค แบ่งออกเป็น ๑๓ สังยุต            ๔/ ๑๙๓๙
            ๗๓๓.
ขันหมาก  พานหรือขันใส่หมากพลูซึ่งนำไปพร้อมกับของอื่น ๆ ในพิธีหมั้นและพิธีแต่งงานบ่าวสาว เป็นเครื่องคำนับผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาว ในเวลาไปหมั้นหรือแต่งงาน
                      ขันหมากแต่งแบ่งเป็นขันหมากเอก และขันหมากโท            ๔/ ๑๙๔๐
            ๗๓๔.
ขับไม้  ๑. เป็นชื่อวงดนตรีชนิดหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยคนขับลำนำคนหนึ่ง คนสีซอสามสายคนหนึ่ง และคนไกวบัณเฑาะคนหนึ่ง วงดนตรีชนิดนี้เป็นวงดนตรีโบราณของไทย ที่ถือว่าเป็นของสูงศักดิ์อย่างหนึ่ง จะมีได้ก็แต่ของหลวงเท่านั้น และต้องเป็นงานสมโภชชั้นสูง จะต้องเริ่มด้วยพราหมณ์อ่านฉันท์ สดุดีสังเเวยสี่ลาเป็นกำหนดก่อน ต่อจากนั้นจึงเริ่มขับไม้ ในขณะขับไม้บางทีพราหมณ์ก็เบิกแว่นเวียนเทียนไปพร้อม ๆ กัน
                      ๒.  เป็นชื่อบทกวีประเภทกาพย์ชนิดหนึ่งเรียกว่า
กาพย์ขับไม้  มีลักษณะคล้ายกาพย์สุรางคนางค์ แต่มีถึงเก้าวรรค โดยแบ่งเป็นสามบาท ต่อบทหนึ่ง
                      ๓.  เป็นชื่อเพลงดนตรีไทยเพลงหนึ่งคู่กับเพลงขับนก ซึ่งเพลงในตับนี้มีเพลงกระแต ขับนก และขับไม้ รวมสามเพลง          ๔/ ๑๙๔๑
            ๗๓๕. 
ข่า ๑  เป็นชื่อที่ชาวไทยและชาวลาวเรียกเป็นคำรวม หมายถึงชนเผ่าที่มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ตามป่า ตามเขาทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตั้งแต่ตอนใต้ประเทศเวียดนาม ขึ้นไปตามเทือกเขาบรรทัด ซึ่งเป็นเขาปันน้ำระหว่างประเทศลาว และประเทศเวียดนาม จนถึงตอนเหนือของประเทศทั้งสอง และในตอนใต้ของประเทศจีน จีนเรียกพวกข่าว่า ม้อย นัยว่ามีความหมายว่า ป่าเถื่อน ส่วนคำว่า ข่า ว่าเป็นคำเพี้ยนจากคำว่า ข้าทาส เขมรเรียกพวกข่าว่า พนอง
                      พวกข่ามีอยู่ทั่วไป ในราชอาณาจักรลาว และอยู่กระจัดกระจายตามแหล่งที่มีภูเขา พวกข่ามีความเจริญน้อยที่สุด ในบรรดาชนชาติต่าง ๆ ในลาว พวกข่ายังแยกออกเป็นหลายพวก แต่ละพวกมีภาของตน มีขนบธรรมเนียมประเพณี และเครื่องแต่งตัวต่าง ๆ  กันแยกกันอยู่ ๔/ ๑๙๔๔
            ๗๓๖. 
ข่า ๒  เป็นพืชมีอยู่หลายชนิด ข่าที่รู้จักกันดีใช้เป็นเครื่องประกอบอาหารคือ ข่าใหญ่ ส่วนข่าและข่าเล็กเป็นชนิดที่สมัยก่อน เคยใช้เป็นยาของชาวยุโรป และอเมริกัน เป็นชนิดที่ชาวกรีก และชาวอาหรับโบราณ รู้จักใช้เป็นยามาก่อน            ๔/ ๑๙๖๙
            ๗๓๗. 
ขาไก่, หางแข็ง อีลอง - ปลา  รูปร่างเหมือนสีกุน ตัวแบนข้าง เป็นปลาน้ำเค็ม            ๔/ ๑๙๗๐
            ๗๓๘. 
ข้างไก่, กด, กดโคกกะโส, กดส้มอุย, กดหนวด, อุก, อุกหัวสั้น อุกหัวอ่อน - ปลา  เป็นปลาทะเลไม่มีเกล็ด อยู่ในวงศ์ปลากด ชื่อปลาแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นเรียกรวมกับปลากด            ๔/ ๑๙๗๐
            ๗๓๙.
ข้างเขือ,ข้าวลาย - ปลา  เป็นปลาทะเล            ๔/ ๑๙๗๑
            ๗๔๐.
ข้างตะเภา - ปลา  เป็นปลาทะเลขนาดเล็ก หรือขนาดกลาง ตามปรกติอยู่ในน้ำเค็ม แต่บางชนิดเข้ามาตามกระแสน้ำขึ้นลง และอาศัยอยู่ในน้ำจืด เป็นการชั่วคราว          ๔/ ๑๙๗๑
            ๗๔๑.
ข้างลวด, ข้างเหลือง กิมซัว - ปลา  ดูกิมซัว - ปลา    (ลำดับที่ ๔๕๕)        ๔/ ๑๙๗๓
            ๗๔๒.
ข้างลาย - ปลา  เรียกชื่อโดยถือเอาลายที่พาดข้างตัว จะเป็นลายที่พาดข้างตัวหรือลายขวางก็ตาม ชื่อข้างลายนำมาใช้เรียกปลาหลายวงศ์ และหลายสกุลด้วยกัน            ๔/ ๑๙๗๓
            ๗๔๓.
ข้างใส - ปลา  อยู่ในลำดับเดียวกับปลาจิ้มฟันจระเข้ แต่ต่างวงศ์กัน เป็นปลาขนาดเล็ก มักอยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก ๆ ปลาชนิดนี้ว่ายน้ำตั้งตัวตรง ปากชี้ขึ้นทางผิวน้ำ            ๔/ ๑๙๗๔
            ๗๔๔.
ข้างเหลือง - ปลา  ใช้เรียกปลาถึงสองสกุลและอยู่ต่างวงศ์กัน สกุลหนึ่งอยู่ในสกุลเดียวกับปลากะพงแดง รูปร่างก็เหมือนกันหลังเป็นสีแดง ใต้เส้นข้างตัวลงมาเป็นสีเหลือง และมีเส้นเหลืองทแยงตามตัวอีก ครีบเหลือง ปลาสกุลนี้เป็นปลาทะเลขนาดใหญ่ ใช้เป็นอาหารได้ดี          ๔/ ๑๙๗๕
            ๗๔๕.
ขาณุวรลักษบุรี   อำเภอขึ้น จ.กำแพงเพชร เดิมเป็นเมืองชื่อเมืองขาณุ ตั้งอยู่ที่ต.แสนตอ ยุบเป็นอำเภอขาณุ  เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒     ย้ายที่ว่าการอำเภอไปตั้งที่ ต.คลองขลุง ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้ง กิ่ง อ.คลองขลุง ถึงปี พ.ศ.๒๔๘๒ เปลี่ยนชื่อเป็น กิ่ง อ.ขาณุวรลักษบุรี ยกฐานะเป็นอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑
                      ภูมิประเทศเป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำนา มีป่าดงและเขาเล็ก ๆ บ้าง      ๔/ ๑๙๗๕
            ๗๔๖.
ข่าน  ผู้เป็นประมุขหรือหัวหน้า ในภาษามองโกล เช่น เจงกิสข่าน เมื่อชนชาติเตอรกี ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามได้มาเป็นใหญ่ในอินเดีย กษัตริย์เตอรกีซึ่งครองราชย์ ณ กรุงเดลฮี ใช้เรียกขุนนางผู้ใหญ่ซึ่งสืบเชื้อสายมาจาก ชาวเปอร์เซียน และชาวปาทาน (ชาวอัฟกานิสถาน) ว่า ข่าน เป็นตำแหน่งบรรดาศักด์ชั้นสูงสุด ต่อมาคำว่า ข่าน ใช้เป็นคำยกย่องให้เกียรติกันฟั่นเฝือ ในที่สุดปัจจุบันคำว่า ข่าน ใช้เป็นคำประกอบชื่อของชาวอินเดีย ที่นับถือศาสนาอิสลามได้ทั่วไป โดยเฉพาะชาวฮินดูที่มาเข้ารีตศาสนาอิสลาม หรือที่มีเชื้อสายมาจากชาวปาทาน มักใช้ข่านเป็นชื่อนามสกุล เมื่ออังกฤษมาปกครองอินเดีย ใช้ข่านเป็นชื่อบรรดาศักดิ์แก่ข้าราชการชั้นรอง ๆ ที่เป็นชาวอินเดีย          ๔/ ๑๙๗๗
            ๗๔๗.
ขานกยาง - ปลา  อยู่ในสกุลเดียวกับปลาสละ มีรูปร่างเหมือนกัน เป็นปลาทะเลขนาดใหญ่ ใช้เป็นอาหารได้ดี          ๔/ ๑๙๗๗
            ๗๔๘.
ข่าย  เป็นเครื่องมือจับสัตว์น้ำที่ถักด้วยด้าย ป่านหรือปอ ฯลฯ ให้เป็นตาขนาดต่า งๆ กัน สุดแต่จะจับสัตว์น้ำชนิดไหน เช่น ข่ายปลาฉลาด          ๔/ ๑๙๗๘
            ๗๔๙.
ขาว ๑ - กุ้ง  ใช้เรียกกุ้งสองชนิด ซึ่งอยู่ต่างสกุลกันคือ กุ้งขาว เป็นกุ้งทะเลขนาดใหญ่ อีกสกุลหนึ่งอยู่ในวงศ์เดียวกับกุ้งกามกราม รูปร่างก็คล้ายกัน          ๔/ ๑๙๗๙
            ๗๕๐.
ขาว ๒ - ทะเล  อยู่ทางตอนเหนือของสหภาพโซเวียตรุสเซีย ในยุโรปเปรียบเสมือนเป็นอ่าวใหญ่ ซึ่งมีทางติดต่อกับทะเลบาเรนทส์      มีพื้นที่ประมาณ ๙๕,๐๐๐ ตร.กม. ในปี พ.ศ.๒๔๗๔ ๗๕ รุสเซียได้ขุดคลองเชื่อมทะเลขาวกับทะเลบอลติก โดยผ่านทะเลสาบสามแห่ง    ๔/ ๑๙๗๙
            ๗๕๑.
ขาว ๓ แม้ - ปลา  รูปร่าเหมือนปลาตะเพียน และจัดให้อยู่ในวงศ์เดียวกัน เป็นปลาน้ำจืดชอบอยู่ในลำธารบนเกาะ และภูเขา           ๔/ ๑๙๘๐
            ๗๕๒.
ข้าว  เป็นธัญชาติที่สำคัญยิ่งของโลกชนิดหนึ่ง เป็นพืชที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่ทราบ ได้ปลูกกันมาแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ในประเทศจีน อินเดีย ชวาและอัฟริกาตะวันตก ในภาษาจีน และภาษาแขก มีคำที่มีความหมายถึงข้าว ใช้มากว่าสี่พันปี ถิ่นเดิมของข้าวเข้าใจกันว่าคงจะเป็นอินเดีย หรือตะวันออกเฉียงใต้ของเอเซีย และแหล่งปลูกข้าวส่วนใหญ่ของโลก ในปัจจุบันก็ยังคงอยู่ในเอเซีย
                      ข้าวที่ปลูกในประเทศไทยอาจจำแนกออกได้เป็นสามประเภท ตามสภาวะของน้ำในการเจริญเติบโตคือ ข้าวไร่ ข้าวนาสวน และข้าวนาเมือง
                      ๑.
ข้าวไร่  เป็นข้าวที่ไม่ต้องการน้ำหล่อเลี้ยงในการเจริญเติบโต และมักจะตายเมื่อมีน้ำขังอยู่นาน แต่คงต้องการความชุ่มชื้นของดิน จึงมักนิยมปลูกกันในที่สูงหรือตามไหลเขา
                      ๒.
ข้าวนาสวน  ข้าวนาสวน ต้องการน้ำหล่อเลี้ยงในระหว่างเจริญเติบโต และปลูกกันเป็นส่วนใหญ่ ทนความลึกของน้ำได้ไม่เกิน ๑ เมตร การปลูกใช้วิธีดำนาเป็นส่วนใหญ่
                      ๓.
ข้าวนาเมือง  เป็นข้าวที่ปลูกในแหล่งที่มีระดับน้ำสูงกว่า ๑ เมตรขึ้นไป เป็นข้าวพันธุ์พิเศษที่เรียกกันว่า ข้าวขึ้นน้ำ หรือข้าวลอยหรือข้าวฟ่างลอย เพราะเป็นพันธุ์ที่มีลำต้นยาวและทอดออกไปแตกแขนงตามข้อและออกรากตามข้อได้ ลำต้นเจริญเติบโตได้รวดเร็วกว่าพันธุ์นาสวนในเมื่อระดับน้ำเปลี่ยนแปลงสูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ข้าวนาเมืองจึงปลูกกันในที่ลุ่มมากในภาคกลาง การปลูกใช้วิธีหว่าน  โดยปรกติ ข้าวนาเมืองมักจะมีคุณภาพต่ำ มีมันน้อยและมีท้องไข่ข้าวทั้งสามประเภทดังกล่าว อาจแบ่งออกเป็นสองชนิดตามคุณสมบัติของเมล็ดคือ ข้าวเจ้า และข้าวเหนียว
                     
ข้าวเจ้า  เป็นข้าวที่เนื้อเมล็ดใส  เมื่อหุงแล้วเมล็ดจะร่วนและสวย ไม่ใคร่ติดกัน ใช้บริโภคกันเป็นประจำในภาคกลาง ภาคใต้ และภาคอีสานตอนใต้
                     
ข้าวเหนียว  เป็นข้าวที่เนื้อเมล็ดขุ่นกว่าข้าวเจ้า เมื่อหุงหรือนึ่งแล้วเมล็ดจะเหนียวติดกัน ใช้บริโภคกันเป็นประจำในภาคเหนือ และภาคอีสานตอนเหนือ กับใช้ทำขนมต่าง ๆ ในภาคกลางและภาคใต้
            ๗๕๓.
ข้าวตอก ๑  ชื่อเรียกพรรณไม้ชนิดหนึ่ง เป็นไม้พุ่มแกมไม้เถา พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไป ใบรูปรียาว ดอกเล็กสีม่วงออกเป็นช่อแน่นสั้น ๆ ตามปลายกิ่ง ผลกม สุกสีขาว             ๔/ ๑๙๙๓
            ๗๕๔.
ข้าวตอก ๒ - เห็ด  เป็นเห็ดขอนชนิดหนึ่งสีขาวหรือเทา มีขนาดเล็ก บริโภคไม่ได้ พบตามเปลือกไม้แห้งทั่ว ๆ ไป            ๔/ ๑๙๙๔
            ๗๕๕.
ข้าวประดับดิน  ดูกระยาสารท (ลำดับที่ ๑๑๕)            ๔/ ๑๙๙๕
            ๗๕๖.
ข้าวเม่า - ปลา  เป็นปลาที่มีตัวใสหรือสีขาวคล้ายสีข้าวเม่า มีหลายวงศ์หลายสกุลด้วยกัน เป็นปลาทะเล          ๔/ ๑๙๙๕
            ๗๕๗.
ข้าวเย็นใต้  เป็นหัวของพืชจำพวกหนึ่งเช่นเดียวกับข้าวเย็นเหนือ แต่นำมาจากประเทศจีน มักใช้หัวข้าวเย็นทั้งสองชนิดนี้ผสมยารักษาโรค          ๔/ ๑๙๙๗
            ๗๕๘.
ข้าวเย็นเหนือ  เป็นพืชที่มีลำต้นใต้ดินเป็นหัว ลำต้นบนดินเป็นเถามีหนามจำพวกต้นกลอยมีชื่อเรียกกันอย่างอื่นว่า เข้าเย็นโคกแดง (ภาคกลาง)  ยาหัวข้อ ค้อนกระแต (อุบล ฯ)
                       หัวข้าวเย็นเหนือเป็นส่วนของพืชที่นำมาเป็นยาไทยแผนโบราณ เป็นตัวยาสำคัญที่ใช้ในการผสมยารักษาฝีพุพอง ผื่นคันตามผิวหนัง ตลอดจนกามโรค          ๔/ ๑๙๙๗
            ๗๕๙.
ข้าวสมอมุก - ปลา บางทีก็เรียกปลาปก ปลาส้ม ลาบก และหางแดง  ดูแก้มช้ำ - ปลา (ลำดับที่ ๕๙๗)           ๔/ ๑๙๙๗
            ๗๖๐.
ข้าวสาก  ดูกระยาสารท (ลำดับที่ ๑๑๕)            ๔/ ๑๙๙๗
            ๗๖๑.
ขิง  เป็นพันธุ์ไม้พื้นเมืองของประเทศไทย มีประมาณ ๗๐ ชนิดด้วยกัน ขิงเป็นพืชที่มีลำต้นใต้ดินชนิดถาวร แผ่ขยายตัวออกทางด้านราบ มีลำต้นชนิดล้มลุกงอกขึ้น ตั้งตรงเหนือพื้นดิน เมื่อโตเต็มที่แล้วก็แห้งตายไปในปีเดียว
                      ขิงมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวของมัน มีกลิ่นหอมและรสเผ็ดพอสมควร โดยทั่วไปใช้เป็นอาหารประเภทผักดอง และประเภทปรุงแต่งกลิ่น
และรสประกอบกับอาหารอื่น ๆ ตลอดจนเครื่องดื่มบางชนิด
                      ในทางยาใช้ขิงเป็นยาสำหรับประกอบแต่งกลิ่นของยาต่าง ๆ  สรรพคุณในตัวของมันเองเป็นยาเร่งและขับกาซในระบบทางเดินของอาหาร          ๔/ ๑๙๙๗
            ๗๖๒.
ขิม  เป็นเครื่องดนตรีจีนชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายพระจันทร์ครึ่งซึก ใช้บรรเลงด้วยการตี ขิมในสมัยโบราณของจีนเป็นทั้งเครื่องตี เครื่องดีดและเครื่องสี แต่ในสมัยต่อมาจนถึงปัจจุบันรู้จักกันแต่ขิมที่เป็นเครื่องตีเท่านั้น
                      ขิมเข้ามาในประเทศไทยเมื่อประมาณสมัยรัชกาลที่สี่ โดยชาวจีนนำมาบรรเลงรวมในวงเครื่องสายจีนประกอบการแสดงงิ้วบ้างบรรเลงในงานเทศกาล และรื่นเริงอื่น ๆ บ้าง และบรรเลงเป็นเอกเทศบ้าง
                      ถึงสมัยต้นรัชกาลที่หก นักดนตรีไทยจึงได้นำมาบรรเลงโดยแก้ไขบางอย่างคือ เปลี่ยนสายใช้ลวดทองเหลืองให้มีขนาดโตขึ้นเปลี่ยนไม้ตีให้ใหญ่ และก้านแข็งขึ้น          ๔/ ๒๐๐๐
            ๗๖๓.
ขิมเล็ก, ขิมใหญ่  เป็นชื่อเพลงไทยในสำเนียงจีน เกิดขึ้นเมื่อประมาณปลายรัชกาลที่สี่ โดยพระประดิษฐ์ไพเราะ (มี  ดุริยางกูร) ที่เรียกกันว่า ครูมีแขก  จำสำเนียงจีนแล้วจึงมาแต่งขึ้นเป็นเพลงในอัตราสองชั้น ให้มีสำเนียงเพลงจีนสองเพลง ตั้งชื่อว่าขิมเล็กเพลงหนึ่ง ขิมใหญ่เพลงหนึ่ง สำหรับบรรเลงเป็นเพลงก็ได้ หรือจะบรรเลงติดต่อกันก็ได้          ๔/ ๒๐๐๓
            ๗๖๔.
ขี้กา  ชื่อพรรณไม้เถาชนิดหนึ่งที่มีมือเกาะพันไม้อื่นอยู่หลายชนิดด้วยกัน มีดอกสีขาว และผลกลม ๆ สุกสีแดงจัด ขี้กาใหญ่ หรือขี้กาแดงมีเมล็ดที่เมื่อบริโภคเข้าไปแล้ว ทำให้เกิดเบื่อเมาได้            ๔/ ๒๐๐๔
            ๗๖๕.
ขี้ขม ซ่า นกเขา พรมหัวเหม็น สร้อยนกเขา อีกันตูโบ - ปลา  เป็นปลาน้ำจืด รูปร่างเหมือนปลาสร้อยตอนหลังสีเขียวสด สีข้างนวล ท้องขาว มีจุดดำบนเกล็ดติดต่อกัน เป็นปลาที่งดงามชนิดหนึ่ง            ๔/ ๒๐๐๔
            ๗๖๖.
ขี้ขุย ขี้ควาย - ปลา  เป็นปลาทะเล อยู่ในวงศ์เดียวกับปลากะรังหัวโขน แต่คนละสกุล รูปร่างค่อนข้างยาว ไม่มีเกล็ด หัวสั้น มีครีบหลังอันเดียว ปากกว้าง นัยน์ตาเล็ก โดยทั่วไปเป็นสีน้ำตาล บางทีก็มีจุดขาวประปราย เป็นปลามีพิษเพราะก้าน หรือเงี่ยงซึ่งอยู่ตามสันหลัง          ๔/ ๒๐๐๔
            ๗๖๗.
ขี้ควาย - ปลา  ดูขี้ขุย - ปลา (ลำดับที่ ๗๖๖)          ๔/ ๒๐๐๕
            ๗๖๘.
ขีณาสพ - พระ  เป็นคำใช้เรียกพระอรนหันต์ และแปลว่าพระผู้สิ้นอาสวะแล้ว คำว่าอาสวะแปลว่าหมักดอง อีกอย่างหนึ่งใช้เรียก เจตสิกธรรม อันเศร้าหมอง ซึ่งติดอยู่ในสันดานว่าอาสวะ
                      ในคัมภีร์มหาวรรคทีฆนิกาย สุตตันตปิฎก จำแนกอาสวะออกเป็นสามคือ
กามาสวะ - อาสวะเป็นเหตุอยากได้ ภวาสวะ - อาสวะเป็นเหตุอยากเป็น อวิชชาสวะ - อาสวะคือความเขลา
                      ในคัมภีร์จตุกนิบาต อังคุตรนิกาย สุตตันตปิฎก จำแนกอาสวะออกเป็นสี่คือ เพิ่ม
ทิฏฐาสวะอาสวะอันเป็นเหตุให้เห็นผิด เข้าไปด้วย          ๔/ ๒๐๐๕
            ๗๖๙.
ขีดขิน  ชื่อเมืองของพาลี พญาวานรในเรื่องรามเกียรติ์ ในคัมภีร์รามายณะเป็นชื่อกีษกินธ์ อันเป็นชื่อแคว้นหนึ่งในประเทศอินเดียตอนใต้ เข้าใจกันว่าเป็นแคว้นไมโสรในปัจจุบัน และเรียกเมืองหลวงของแคว้นนี้ว่ากีษกินธยา           ๔/ ๒๐๐๕
            ๗๗๐.
ขีปนวิทยา  เดิมใช้ว่า วิชาขีปนวิธี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในวงการทหารปืนใหญ่และสรรพวุธ
                      ขีปนวิทยาคือ วิชาที่ศึกษาความเป็นไปของลูกกระสุนทั้งภายใน และภายนอกลำกล้องปืน และยังศึกษาการเคลื่อนไหวของลูกระเบิดที่ทิ้งจากอากาศยาน และลูกจรวดที่ยิงจากอากาศยานอีกด้วย กล่าวโดยทั่วไปขีปนวิทยา อาจแบ่งออกศึกษาได้เป็นสองตอนใหญ่ ๆ คือ ขีปนวิทยาภายใน กับขีปนวิทยาภายนอก
                      
ขีปนวิทยาภายใน  เป็นการศึกษาความเป็นไปของลูกกระสุนและสิ่งที่เกี่ยวข้อง นับตั้งแต่ลูกกระสุนอยู่ในรังเพลิง แล้วเคลื่อนที่ไปถึงปากลำกล้องปืน อันมีปัญหาหลักทางเมแคนิกส์ (กลศาสตร์ - เพิ่มเติม) ที่จะต้องศึกษาอยู่หลายประการด้วยกัน
                      
ขีปนวิทยาภายนอก  เป็นการศึกษาความเป็นไปของลูกกระสุน นับตั้งแต่ปากลำกล้องปืนถึงตำบลกระสุนตก          ๔/ ๒๐๐๘
            ๗๗๑.
ขีปนาวุธ  คำว่า ขีปน แปลตามศัพท์ว่าซัดไป พุ่งไป ดีดไป หรือปล่อยให้ขับเคลื่อนไป ดังนั้นคำว่าขีปนาวุธ จึงหมายถึงอาวุธทั้งหลายที่ถูกส่งออกไปจากผิวพิภพโดยกรรมวิธีหนึ่ง โดยมีการบังคับวิถีในตัวของมันเอง เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ซึ่งอาจอยู่บนพื้นดิน ในอากาศหรือในน้ำ และการบังคับวิถีนี้บังคับแต่ตอนกิ่งขึ้นของวิถีเท่านั้น ส่วนกิ่งลงไม่มีการบังคับ ฉะนั้นอาวุธดังกล่าวนี้จะตกลงมาสู่ผิวภิภพโดยอิสระ
                      พึงสังเกตว่า ขีปนาวุธนั้นเมื่อยิง หรือปล่อยออกจากที่ตั้งไปแล้ว จะมีการบังคับวิถีของตนเอง โดยไม่มีการบังคับจากแหล่งภายนอกอื่น ๆ มาเกี่ยวข้อง
            ๗๗๒.
ขี้ผึ้ง, แขนง - เต่า  เป็นสัตว์มีกระดองหุ้มตัว หัว และคอยืดได้ หัวคลุมด้วยเกล็ด ขาสั้นหรือปานกลางมีเกล็ดหุ้ม มีเล็บสี่หรือห้าเล็บไม่ติดกันเป็นพืด เล็บหนาและตรงหางสั้น กระดองเหลืองหรือสีน้ำตาลอ่อน คล้ายสีขี้ผึ้ง เป็นเต่าอยู่บนบก กินผักเป็นอาหาร          ๔/ ๒๐๒๔
            ๗๗๓
ขี้ยอก - ปลา  อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน และมีรูปร่างเหมือนปลาตะเพียน แต่อยู่คนละสกุล          ๔/ ๒๐๒๕
            ๗๗๔
ขี้ราด - เต่า  เป็นเต่าน้ำจืด มีกระดองแข็งหุ้มตัว แต่กระดองที่ด้านท้อง หับได้ตรงกลางเหมือนบานพับ จึงเรียกว่าเต่าหับ มักอยู่ตามที่น้ำตื้น และกินผักได้เกือบทุกชนิด          ๔/ ๒๐๒๕
            ๗๗๕.
ขี้เรื้อน หรือเรื้อน  เป็นโรคติดต่อเชื้อเรื้อรังชนิดหนึ่ง พบมากในเขตร้อน เชื่อกันว่าโรคนี้ได้เป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาล          ๔/ ๒๐๒๖
            ๗๗๖.
ขี้เรื้อนกวาง  เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังชนิดหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเป็นผื่นคัน ทำให้ผิวหนังหนา หยาบและอาจแตกมีน้ำเหลืองไหล หรือตกสะเก็ดในระยะหลัง โดยมากมักเป็นตามขาส่วนล่าง          ๔/ ๒๐๓๕
            ๗๗๗.
ขี้ลิง กดข้างลาย กดขี้ลิง - ปลา  เป็นปลาไม่มีเกร็ด สกุลเดียวกับปลากด แต่หัวแบนลงกว้างมาก ปลานี้อาศัยอยู่ตามชายทะเล และปากแม่น้ำ      ปลาขี้ลิงฟักไข่ในปาก ในเวลาฟักไข่มันจะไม่กินอาหารเลย     ๔/ ๒๐๓๕
            ๗๗๘.
ขี้หนอน  เป็นต้นไม้ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นกลม เปลาเปลือกเรียบ ผลัดใบหน้าแล้ง ใบย่อยเรียงตรงกันข้าม ดอกขนาดเล็กสีขาว ผลเป็นแคปซูล มีปีกแผ่ออกทางด้านข้าง เป็นสามแฉก          ๔/ ๒๐๓๗
            ๗๗๙.
ขี้เหล็ก  เป็นไม้ต้นขนาดกลาง กิ่งใหญ่มีดอกสีเหลือง ดอกอ่อนใช้ประกอบอาหารได้  ใบหนึ่งมี ๖ ๑๐ คู่ ใบย่อยรูปรี ออกดอกเป็นสช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง กลีบดอกสีเหลือง ฝักแบน ๆ สีน้ำตาลเข้ม         ๔/ ๒๐๓๗
            ๗๘๐.
ขื่อคา  เป็นชื่อเรียกรวมเครื่องจองจำลองอย่างคือ ขื่อ และคา ทั้งขื่อและคาเป็นเครื่องพันธนาการที่ใช้จองจำนักโทษในสมัยโบราณ ซึ่งอยู่ในบรรดาเครื่องจองจำห้าประการ ดังที่เรียกกันว่า จำความ หรือจำห้าประการได้แก่ ตรวนใส่เท้า เท้าติดขื่อไม้ โซ่ล่ามคอ คาใส่คอทับโซ่ สองมือสอดเข้าไปในคา และไปติดกับขื่อทำด้วยไม้
                      ขื่อและคานี้ใช้เป็นเครื่องลงโทษ เครื่องทรมาน และเครื่องพันธนาการ ป้องกันการหลบหนีของนักโทษ ได้ใช้กันมาอย่างแพร่หลายตั้งแต่สมัยต้นกรุงศรีอยุธยา และได้ยกเลิกโดย พ.ร.บ.ยกเลิกวิธีพิจารณาโจรผู้ร้ายตามจารีตนครบาล ร.ศ.๑๑๕ แต่ยังนำมาใช้ในเรือนจำเป็นการลงโทษทางวินัยแก่นักโทษผู้ทำผิดวระเบียบ ข้อบังคับของเรือนจำ
                      ขื่อและคาได้เลิกใช้โดยเด็ดขาด เมื่อได้ประกาศใช้ พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ.๒๔๗๙            ๔/ ๒๐๓๘
            ๗๘๑.
ขุขันธ์  อำเภอขึ้น จ.ศรีสะเกษ เป็นเมืองโบราณ และเคยใช้ชื่อนี้เป็นชื่อจังหวัด
                      ภูมิประเทศตอนเหนือ และทางตะวันตก เป็นที่ราบทำนาได้ทั่วไป ตอนใต้เป็นเนินสูง และป่าทึบติดต่อกับเขาบรรทัด ทางตะวันออกเป็นป่าทึบ มีที่ราบ เป็นบางตอน มึหนองน้ำและบึงมาก
                      เมืองขุขันธ์ภายหลังย้ายไปตั้งที่ ต.เมืองเก่า อ.เมืองศรีษะเกษ แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น จ.ศรีษะเกษ ส่วน อ.ขุขันธ์ เดิมเรียก อ.เมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ห้วยเหนือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ แล้วเปลี่ยนเป็น อ.ขุขันธ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑            ๔/ ๒๐๔๕
            ๗๘๒.
ขุทกนิกาย  แปลว่า นิกายน้อย หรือหมวดเบ็ดเตล็ด เป็นชื่อคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนในพระพุทธศาสนาษเรียก<แม่น้ำสาละวิน/font> หรือบรรจุพระพุทธพจน์เป็นคัมภีร์หนึ่งในห้าคัมภีร์ด้วยกัน ตามนัยหนึ่งว่าคัมภีร์สุตตันตปิฎก แบ่งออกเป็นห้านิกายคือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย และขุทกนิกาย เรียกย่อเป็นหัวใจของพระสุตตันตปิฎกว่า ที. ม. สัง. อัง ขุ. คัมภีร์ขุทกนิกาย แบ่งออกอีกเป็น ๑๕ คัมภีร์คือ  ขุทกปาฐะว่าด้วยข้อธรรมเบ็ดเตล็ด ธรรมบทว่าด้วยข้อธรรมย่อ ๆ  อุทานว่าด้วยข้อธรรมที่เปล่งออกมาในวาระต่าง ๆ กัน  อิติวุตกว่าด้วยข้อธรรมที่กล่าวอ้างถึงพระพุทธเจ้า สุตนิบาตว่าด้วยหมวดสูตร วิมานวัตถุว่าด้วยเทวดาที่เกิดในสวรรค์ เปตวัตถุว่าด้วยเรื่องเปรตนรก เถรคาถาว่าด้ยวหมวดสูตร  วิมานวัตถุว่าด้วยเทวดา เถรีคาถาว่าด้วยเรื่องบุรพจริยาของพระเถระบางรูป ชาดกว่าด้วยข้อธรรมที่อ้างตัวอย่าง นิทเทสว่าด้วยหัวข้อธรรมพร้อมทั้งคำอธิบาย ปฏิสัมภิทามรรคว่าด้วยข้อธรรมส่วนปรมัตถ์ ซึ่งมิได้จัดเข้าไว้ในพระอภิธรรมปิฎก  อปทานว่าด้วยบุรพจริยาของพระพุทธเจ้า และพระพุทธสาวกของพระพุทธเจ้า  พุทธวงศ์ว่าด้วยวงศ์พระพุทธเจ้าต่างพระองค์ จริยาปิฎกว่าด้วยบรรพจริยาของพระพุทธเจ้า
                     อีกนัยหนึ่งแบ่งพระไตรปิฎกออกเป็นห้านิกาย เรียกชื่อเหมือนดังกล่าวข้างต้น แต่ขุทกนิกายนั้นกำหนดเอาคัมภีร์ที่บรรจุพระพุทธพจน์ไว้คือวินัยปิฎกทั้งสิ้น อภิธรรมปิฎกทั้งสิ้น และพระพุทธพจน์ที่มิได้จัดเข้าในนิกายทั้งสี่รวมเรียกว่าขุทกนิกาย            ๔/ ๒๐๔๕
            ๗๘๓.
ขุนเจี๋ยง  เป็นชื่อวีรกษัตริย์สมัยโบราณองค์หนึ่งว่ามีอานุภาพ และเป็นธรรมิกราช ปราบดินแดนได้ไว้เป็นอาณาจักรอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่แคว้นลานนาไทย หลวงพระบาง สิบสองปันนา สิบสองจุไทย และเลยไปทางตะวันออกถึงแคว้นตังเกี๋ย ในพงศาวดารโยนกว่าขุนเจี๋องประสูติ เมื่อปี พ.ศ.๑๖๔๑ ครองราชย์เมื่อชนมายุได้ ๒๖ ปี ครองลานนาไทยได้ ๒๔ ปี ครองเมืองแกวได้ ๑๗ ปี รวมชนมายุได้ ๖๗ ปี
                      ตามพงศาวดารโยนกก็ว่า ขุนเจี๋ยงเป็นกษัตริย์สืบเชื้อสายมาจากกษัตริย์ไทยต่อกันขึ้นไปถึง
ปู่เจ้าลาวจก หรือพระยาลวจังกราชผู้เป็นปฐมกษัตริย์ แต่พวกข่าจรายหรือข่าเจี๋ยงก็อ้างว่าเป็นกษัตริย์ของเขา
                      ในตำนานเมืองเงินยางกล่าวว่า เมื่อขุนจอมธรรมผู้บิดาสิ้นพระชนม์แล้ว ขุนเจี๋ยงได้ครองเมืองพะเยาสืบต่อไป ขณะนั้นพระยาจันทบุรี (ล้านช้าง) และพระยาแกว (ตังเกี๋ย) ยกกำลังมาแย่งนางโอกำแพง ธิดาพระยาลาวชินผู้ครองเมืองเงินยาง และเป็นอาว์ของขุนเจี๋ยง ขุนเจี๋ยงมาช่วยรบวกับสองพระยา ทั้งสองพระยาถูกขุนเจี๋ยงฟันขาดคอช้าง พระยาลาวชินยกธิดาให้เป็นมเหสีขุนเจี๋ยง เมื่อพระยาลาวชินสิ้นพระชนม์แล้วขุนเจี๋ยงก็ได้ครองราชย์เมืองเงินยางสืบมา          ๔/ ๒๐๔๖
            ๗๘๔.
ขุนช้าง  เป็นลูกนางเทพทอง กับขุนศรีวิชัย ในเรื่องขุนช้างขุนแผน เกิดที่บ้านรั้วใหญ่ แขวงเมืองสุพรรณ เมื่อเป็นหนุ่มได้นางแก่นแก้วเป็นเมีย อยู่กันได้ปีกว่านางก็ตาย จึงไปขอแต่งงานกับนางพิม แต่ไม่สำเร็จ เมื่อพลายแก้วได้นางพิมเป็นภริยาแล้ว ต้องไปทัพปราบเมืองเชียงใหม่ ขุนช้างจึงไปลวงนางศรีประจัน แม่ของนางพิม จนได้นางพิมเป็นภริยา เมื่อพลายแก้วกลับจากศึกเชียงใหม่ได้ลักนางพิม ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็นนางวันทอง พานางไปหลบซ่อนอยู่ในป่าเขาพระ ขุนช้างไปฟ้องสมเด็จพระพันวสา ขุนแผนถูกขังคุก ขุนช้างจึงพาพวกมาฉุดนางวันทอง ซึ่งกำลังท้องไปสุพรรณ ต่อมาได้มีเรื่องทะเลาะกับพระไวย ลูกนางวันทองกับขุนแผน เรื่องไปถึงสมเด็จพระพันวสา ได้มีการพิสูจน์โดยการดำน้ำ ขุนช้างแพ้จึงถูกสั่งให้ประหารชีวิต  นางวันทองขอโทษไว้ แล้วพาวันทองกลับไปครองตามเดิม            ๔/ ๒๐๔๙
            ๗๘๕.
ขุนช้างขุนแผน  เป็นเรื่องที่แต่งเป็นเสภา เข้าใจกันว่าเป็นนิทานอิงประวัติศาสตร์ แต่นักปราชย์ฝ่ายประวัติศาสตร์ สันนิษฐานว่า เป็นเรื่องจริงเกิดขึ้นในแผ่นดินพระรามาธิบดีที่ ๒ แห่งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสามัญชนในครั้งนั้นเรียกพระองค์ว่า พระพันวสา            ๔/ ๒๐๕๐
            ๗๘๖.
ขุนทอง - นก  ในประเทศไทยมีอยู่สองชนิดย่อยคือ นกขุนทองแกลบหรือนกขุนทองเมืองเหนือ กับนกขุนทองควายหรือนกขุนทองปักษ์ใต้          ๔/ ๒๐๕๑
            ๗๘๗.
ขุนบรม  ปฐมกษัตริย์ไทยในตำนานปรัมปรา อันมีอยู่ในตอนต้นของพงศาวดารล้านช้าง ในตำนานนั้นว่าพระยาแถนหลวง (พระอินทร์) ให้ท้าวผู้มีบุญชื่อขุนบรมกับบริวารเมืองสวรรค์ ลงมาอยู่ที่เมืองนาน้อยอ้อยหนู (เมืองแถงหรือแถน ญวนเรียกเมืองเดียนเบียนฟู) แล้วให้โอรสเจ็ดองค์ไปสร้างเมืองต่าง ๆ คือ ขุนลอไปสร้างเมืองชวา (ล้านช้าง) ยี่ผาลานไปสร้างเมืองหอแต (ตาลีฟูในยูนนาน)  สามจูสงไปสร้างเมืองแถวช่องบัว (ตังเกี๋ย)  ไสผงไปสร้างเมืองยวนโยนก (เชียงแสน)  งัวอินทร์ไปสร้างเมืองอโยธยา ลกกลมไปสร้างเมืองคม เจ็ดเจือง ไปสร้างเมืองฟวน
                     ในหนังสือประชุมพงศาดาร ภาค ๑๑ กล่าวรายละเอียดการสร้างเมืองของโอรสทั้งเจ็ดออกไปอีกอย่างหนึ่ง            ๔/ ๒๐๕๓
            ๗๘๘.
ขุนแผน ดู แผน - ขุน   (ลำดับที่ ...)          ๔/ ๒๐๕๕
            ๗๘๙.
ขุนยวม อำเภอขึ้น จ.แม่ฮ่องสอน เดิมเป็นเมือง เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ขุนยวม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ที่เรียกชื่อนี้เพราะอำเภอตั้ง อยู่ทางยอดแม่น้ำยม (ขุนแปลว่ายอดน้ำ)  อาณาเขตทางทิศตะวันตก จดประเทศพม่า ภูมิประเทศเป็นป่า และเขาโดยมาก มีที่ราบเล็กน้อย ตามลุ่มแม่น้ำยม น้ำปอน น้ำเงา น้ำลา
                     เมืองยวม ตั้งที่ว่าการบริเวณที่แขวงขุนยวม (อ.แม่สะเรียง) ก่อน แล้วจึงย้ายมาตั้งที่แขวงขุนยวม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖ ภายหลังจึงย้ายไปตั้งที่แขวงแม่ฮ่องสอน (อ.เมืองแม่ฮ่องสอน) เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ขุนยวม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐          ๔/ ๒๐๕๕
            ๗๙๐.
เข็ม ๑ - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก รูปร่างยาวเรียวเป็นรูปเข็ม ปลาเข็มออกลูกเป็นตัวแทนที่จะเป็นไข่เหมือนปลาอื่น ปลาเข็มกินลูกน้ำเป็นอาหาร จึงช่วยกำจัดยุง          ๔/ ๒๐๕๕
            ๗๙๑.
เข็ม ๒  เป็นชื่อพรรณไม้ชนิดต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนประกอบเช่นใบ ดอกตูม หรือช่อดอก มีลักษณะคล้ายคลึงกับเข็มโลหะที่เป็นเล่มเล็กเรียวยาว          ๔/ ๒๐๕๖
            ๗๙๒.
เข็ม ๓  เป็นส่วนหนึ่งของต้นถั่วลิสง หมายถึงส่วนที่เป็นฝัก และก้านฝักในขณะที่งอกออกมาจากต้น จะมีลักษณะเป็นท่อนเล็ก ๆ เรียวคล้ายเล่มเข็ม ก่อนที่จะเจริญยึดตัวแทงปลายลงไปเจริญเป็นฝักอยู่ใต้ผิวดิน            ๔/ ๒๐๕๘
            ๗๙๓.
เข้มขาบ  เป็นผ้าชนิดหนึ่งเอาเงินแผ่บาง กะไหล่ทองหุ้มเส้นไหมหรือที่เรียกกันว่า ไหมทอง ทอกับไหมสี ยกเป็นลายริ้วเห็นทองกับพื้นเท่ากัน ในทางจิตรกรรมไทยมักเขียนสนับเพลาของพวกยักษ์ อสูรมีลายเข้มขาบ และเรียกลายที่เป็นริ้ว ๆ ตามยาวว่า ลายเข้มขาบ            ๔/ ๒๐๕๘
            ๗๙๔.
เข็มทิศ  เป็นเครื่องมือชนิดหนึ่งใช้สำหรับชี้แนวทางในโลก การสำรวจภูมิประเทศในสมัยก่อนใช้เข็มทิศเป็นส่วนมาก วิธีการสำรวจสมัยนั้นถือเอาแนวทาง และมุมเป็นส่วนสำคัญ
                      เข็มทิศเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเดินเรือ ปัจจุบันเข็มทิศแบ่งออกเป็นสองประเภทคือ
เข็มทิศแม่เหล็ก ซึ่งอาศัยอำนาจชักนำของสนามแม่เหล็กโลก  อีกประเภทหนึ่งคือ เข็มทิศไจโร ซึ่งอาศัยการหมุนวรอบแกนตนเองของโลกเป็นแรงสำคัญ
                      
เข็มทิศแม่เหล็ก คือเครื่องมือที่อาศัยอำนาจชักนำของสนามแม่เหล็กโลกกระทำต่อแท่งแม่เหล็ก ซึ่งอยู่ในเครื่องมือนั้น อำนาจแม่เหล็กโลก จะดึงดูดที่ปลายข้างหนึ่งของแท่งแม่เหล็กชี้ไปทางทิศเหนือ แม่เหล็กไม่ได้ชี้ไปยังทิศเหนือจริง แต่จะชี้ผิดไปทางตะวันออกหรือตะวันตก กระทำมุมในทางพื้นราบกับแนวเมอริเดียนจริง มุมนี้เรียกว่ามุมเห มีค่าเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ ๓๐ องศาตะวันออกไปจนถึง ๔๕ องศาตะวันตกของแนวเมอริเดียนจริง มุมเหตะวันตกอยู่ในหมาสมุทรแอตแลนติก และมหาสมุทรอินเดีย ส่วนมหาสมุทรแปซิฟิก มีมุมเหตะวันออก
                       
เข็มทิศไจโร  การหมุนรอบแกนตนเองของโลกนั้นเป็นสิ่งที่ประจำและไม่เปลี่ยนแปลงแกนของโลก ย่อมอยู่ในแนวเดียวกับขั้วภูมิศาสตร์ทั้งสองของโลกเสมอ เข็มทิศไจโรแสดงทิศเหนือจริงเสมอ เข็มทิศไจโรชี้ทิศเหนือลักษณะเดียวกับเข็มทิศแม่เหล็ก            ๔/ ๒๐๕๘
            ๗๙๕.
เขมร - ชนชาติ เขมรเป็นชนชาติในตระกูลมอญ - เขมร สันนิษฐานว่า เดิมเมื่อหลายพันปีมาแล้ว อพยพจากอินเดียเข้ามาทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของแหลมอินโดจีน เพราะยังมีชนชาวป่าที่พูดภาษาตระกูลมอญ - เขมร เรียกว่าพวกมณฑ์ เหลือตกค้างในประะทศอินเดียอยู่ แต่ทฤษฎีใหม่ว่าชนมอญ - เขมร เดิมอยู่ทางทิศตะวันออกของแหลมอินโดจีน
                      เขมรแบ่งลักษณะ รูปร่างหน้าตา และผิวพรรณของชาวเขมรตามหลักของอินเดีย ซึ่งสืบมาแต่สมัยโบราณ ออกเป็นสองชนิดคือ ลักษณะอย่างโคและอย่างกวาง ลักษณะอย่างโคคือ มีรูปร่างสูงใหญ่ ล่ำสัน มีอยู่ในหมู่เขมรชาวชนบท ส่วนลักษณะอย่างกวางคือมีรูปร่างเล็ก เอวบาง อกเล็ก อ้อนแอ้น เป็นจำพวกผู้หญิงชาวเมืองชาววัง ดังนั้นผู้หญิงควรมีลักษณะอย่างกวาง ส่วนผู้ชายควรมีลักษณะอย่างโค
                      
ประวัติศาสตร์  เขมรเป็นชื่อชนเผ่าหนึ่ง อาศัยอยู่ในประเทศกัมพูชา ทางทิศตะวันออกของประเทศไทย ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเวียดนาม เขมรเป็นชนชาติหนึ่ง ไทยเรียกเขมรโบราณว่าขอม ขอมเป็นชนชาติที่มีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในดินแดนแถบนี้มาเป็นเวลาประมาณสองพันปีมาแล้ว พวกขอมได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียที่แผ่ขยายมายังดินแดนบริเวณคาบสมุทรอินโดจีน ตั้งแต่ก่อนที่ไทยจะลงมาตั้งเป็นถิ่นฐานมั่นคงอยู่
                      ในสมัยเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ลงมาตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น ได้โปรดให้สมเด็จพระราเมศวร ราชโอรสเป็นแม่ทัพไปตีเมืองเขมร ยึด
พระนครหลวงไว้ได้ เขมรคงเป็นประเทศราชชึ้นกรุงศรีอยุธยามาแต่ครั้งนั้น ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๓๖ ในรัชการสมเด็จพระราเมศวร เขมรยกทัพมากวาดต้อนราษฎรเมืองชลบุรี จันทบุรี จึงโปรดให้ยกกองทัพไปตีได้ชัยชนะ แต่ไม่สามารถยึดเมืองเขมรไว้ได้ จึงให้กวาดต้อนราษฎรเข้ามายังกรุง ต่อมาในปี พ.ศ.๑๙๗๕ เขมรเป็นศัตรูกับกรุงศรีอยุธยาอีก สมเด็จพระบรมราชาที่ ๒ ยกกองทัพไปล้อมพระนครอยู่เจ็ดเดือนจึงตีได้
                      หลังจากที่เขมรย้ายราชธานีไปที่
เมืองพนมเปญ แล้วก็ห่างจากประเทศไทยออกไป แม้กระนั้นในสมัยใดที่ไทยเพลี้ยงพล้ำในการศึกกับประเทศอื่น เขมรก็จะยกกำลังเข้ามาซ้ำเติมอยู่เสมอ จนถึงปี พ.ศ.๒๑๓๖ สมเด็จพระนเรศวร ฯ ได้กรีธาทัพไปตีเขมรอีกครั้ง การศึกครั้งนี้ทำให้ไทยกับเขมรยุติกรณีพิพาทลงเป็นเวลาช้านาน จนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี
                      ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และในตอนต้นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ทางเขมรเกิดความยุ่งยากขึ้น
พระรามราชาต้องหนีมาพึ่งสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเหตุให้ไทยกับเขมรต้องทำศึกกันอีกวาระหนึ่ง เขมรต้องหนีไปพึ่งอำนาจญวน พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกรีธาทัพไปตีเขมรถึงสองครั้งในปี พ.ศ.๒๓๑๒ และ พ.ศ.๒๓๑๔  ไทยสนับสนุนพระรามราชา ญวนสนับสนุนสมเด็จพระนารายณ์ ต่อมาญวนหมดอำนาจลง สมเด็จพระนารายณ์ต้องหันหน้ามาพึ่งไทย พระรามราชาได้เป็นใหญ่ในเขมร
                      ความวุ่นวายในเมืองเขมรมาสงบลงเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้า ฯ เสวยราชย์และได้ทรงนำ
นักองค์เองมาเลี้ยงไว้เป็นราชบุตรบุญธรรม แล้วโปรดให้อภิเษกเป็นสมเด็จพระนารายณ์ราชา ออกไปครองประเทศเขมร และได้ตรัสขอเขตแดนเมืองพัตบอง และเสียมราฐ จากเขมร ให้เป็นบำเหน็จแก่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ที่ได้รักษาการเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินเขมร มาในระหว่างที่สมเด็จพระนารายณ์ราชายังเยาว์อยู่
                      ในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ญวนกลับมีกำลังเข้มแข็งขึ้น เขมรที่ไม่สมัครใจอยู่กับไทยก็หันเข้าหาญวนเช่นเคย เป็นเหตุให้ไทยและญวนต้องพิพาทกันในรัชกาลที่สาม และมาสงบเรียบร้อยลงได้เมื่อญวนได้ตกอยู่ใต้อำนาจฝรั่งเศส ก่อนหน้านั้นจากการวิวาทของเจ้าเขมร เป็นเหตุให้
องค์นโรดมเจ้าเขมรต้องหนีเข้ามาอยู่เมืองพัตบอง และที่สุดได้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารที่กรุงเทพ ฯ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ทรงชุบเลี้ยงไว้  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๗ เมื่อเหตุการณ์ในเขมรสงบราบคาบ ก็ได้ทรงจัดการให้องค์นโรดมออกไปเป็นกษัตริย์เขมรสืบไป เขมรก็เป็นประเทศราชของไทยมาโดยเรียบร้อย
                      ในปีต่อมา ฝรั่งเศสแผ่ขยายอำนาจจากญวนมาในเขมร ไทยเพียงแต่รักษาเขตเมืองพัตบอง และเสียมราฐไว้ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๖ (ร.ศ.๑๑๒) เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยและฝรั่งเศส ไทยต้องยอมยกดินแดนในเขตพัตบอง และเสียมราฐ รวมทั้งเขตอื่น ๆ ให้แก่ฝรั่งเศส ทำให้อำนาจของไทยในเขมรหมดลง  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๓ ไทยกับฝรั่งเศสได้พิพาทกันอีกในกรณีดินแดนในเขมร ฝรั่งเศสยอมคืนเขตพัตบอง เสียมราฐบางส่วน รวมทั้งกำพงธมและสตึงเตรงบางส่วนให้ไทย แต่เมื่อเสร็จสงครามโลกครั้งที่สอง ไทยก็จำต้องคืนดินแดนดังกล่าวให้แก่ฝรั่งเศสอีก
                      
โบราณคดี  ศิลปะเขมรสมัยโบราณเป็นศิลปะที่สำคัญที่สุดศิลปะหนึ่งซึ่งเจริญรุ่งเรืองขึ้นในแหลมอินโดจีน วิวัฒนาการของศิลปะเขมรนั้น สืบเนื่องต่อกันอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๑๙ ในด้านสถาปัตยกรรม ลวดลายเครื่องประดับ ภาพจำหลัก และประติมากรรมชนิดที่ดูได้รอบด้าน
                   
  ภาษา  ภาษาเขมรเป็นคำโดดอยู่ในตระกูลภาษามอญ - เขมร มีตัวอักษรเป็นสระและพยัญชนะ พยัญชนะมี ๓๓ ตัว และมีสระลอย ๑๘ ตัว           ๔/ ๒๐๖๖
            ๗๙๖.
เขมร-เพลง เพลงไทยที่มีชื่อต้นเป็นภาษาต่าง ๆ นั้นมีอยู่มากมายบางเพลงก็นำเพลงของภาษานั้น ๆ มาใช้ บางเพลงก็แต่งขึ้นเองโดยคัดทำนองให้เป็นสำเนียงของภาษานั้น ๆ เพลงที่มีชื่อเขมรนำก็มีนัยอันเดียวกัน บางเพลงก็นำมาจากเขมรจริง ๆ เช่นเพลงเขมรพายเรือ เพลงเขมรกล่อมลูกเป็นต้น บางเพลงไทยเราแต่งขึ้นเองเช่นเพลงเขมรเขาเขียว เพลงเขมรปากท่อ และเพลงเขมรราชบุรีเป็นต้น
            ๗๙๗.
เขมราฐ  อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี เดิมเป็นหมู่บ้านเรียกว่าโคกกงพะเนียง ยกขึ้นเป็นเมืองเขมราฐบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๓๕๖           มีอาณาเขตทางทิศเหนือ และทิศตะวันออก ตกแม่น้ำโขง
                      ภูมิประเทศทางทิศเหนือ ริมฝั่งแม่น้ำโขงเป็นที่ราบลุ่ม ทางทิศตะวันออกเป็นป่าใหญ่ มีเขาเตี้ย ๆ ทางทิศตะวันตกเป็นป่าไม้เบญจพรรณ ทางทิศใต้มีดงใหญ่ เรียกว่า ดงบังอี่ ตอนกลางเป็นที่ราบ
                      เมืองเขมราฐ มีอำเภอขึ้น ๖ อำเภอ เมื่อเกิดพวกผีบุญขึ้นในมณฑลอีสาน เจ้าเมืองเขมราฐไปเข้ากับพวกผีบุญ ถึงปีพ.ศ.๒๔๕๒ ยุบเมืองเขมราฐ ลงเป็น อ.เขมราฐ            ๔/ ๑๑๕๘
            ๗๙๘.
เขมา ๑ - คาบสมุทร  เป็นคาบสมุทรซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศเวียดนาม มีสัณฐานเกือบสามเหลี่ยม หันปลายไปทางอ่าวไทย           ๔/ ๒๑๖๐
            ๗๙๙.
เขมา ๒ - แหลม  บางครั้งก็เรียกกันว่า แหลมเขมร อยู่บนปลายคาบสมุทรเขมา เป็นแหลมโค้งปัดอันเกิดจากกระแสน้ำทะเลพัดพาเอาโคลนตม และทรายมาจากบริเวณปากแม่น้ำโขง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้อยู่ตลอดเวลา ทำให้แนวของแหลมไม่แน่นอน แหลมนี้ถือเป็นแนวสุดปลายเขตตะวันออกเฉียงใต้ของอ่าวไทย           ๔/ ๒๑๖๐
            ๘๐๐.
เขมา ๓ - เมือง  บางครั้งเรียกว่าเมืองคาโม เป็นเมืองท่าเล็ก ๆ ตั้งอยู่บริเวณป่าลุ่มริมแม่น้ำ ไม่ห่างไกลจากทะเลบนคาบสมุทรเขมา           ๔/ ๒๑๖๑
            ๘๐๑.
เขมาเถรี  เป็นนามพระภิกษุณีองค์หนึ่ง ผู้เป็นราชธิดาของพระเจ้าสาคลราช ผู้ครองสาคลนคร แค้วนมัทราษฎร์ ต่อมาได้เป็นพระอัครมเหสีของพระเจ้าพิมพิสาร พระนางหลงพระรูปโฉมของตนเอง เมื่อได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเวฬุวัน พระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงทรงเนรมิตรูปหญิงที่ทรงโฉมสวยงามกว่าพระนางมากให้อยู่งานฟัด แล้วทรงเนรมิตให้รูปนั้นล่วงวัยตามลำดับ เป็นสาวแก่ กลางคน มีความชรา ผิวหนังเหี่ยวย่น ผมหงอก ฟันหัก ล้มลงถึงมรณะเฉพาะพระพักตรของนาง แล้วพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงพระธรรมเทศนาว่า สัตว์ที่ถูกความรักย่อมจัดอยู่ ย่อมหมุนไปตามกระแสความรัก เหมือนแมงมุมกกไข่ ย่อมยุ่มย่ามไปตามสายใยที่ทำไว้เอง ฝ่ายพวกปราชญ์กำจัดความรักเสียได้ย่อมสิ้นห่วงหมดทุกข์ทั้งปวง
                      พระนางเขมาได้ฟังแล้วส่งญาณไปตามกระแสพระธรรมเทศนา ตัดความรักเสียได้เด็ดขาด ก็ทรงบรรลุพระอรหันต์เป็นพระอรหันต์พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งสี่ ในที่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า แล้วทูลขอบรรพชา เมื่อได้บรรพชาอุปสมบทแล้วต่อมาพระพุทธเจ้าทรงแต่งตั้งพระเขมาเถรีไว้ในตำแหน่ง
พระเถรีผู้มีปัญญา อัครสาวกเบื้องขวาเป็นเยี่ยมกว่าภิกษุณีทั้งหลาย           ๔/ ๒๑๖๑
            ๘๐๒.
เขมาภิรตาราม - วัด  เป็นวัดโบราณตั้งอยู่ใต้ตัวเมืองนนทบุรี บนฝั่งซ้ายแม่น้ำเจ้าพระยา วัดนี้เดิมเรียกว่าวัดเขมา ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า ฯ ได้ปฏิสังขรณ์จึงพระราชทานนามใหม่ว่า วัดเขมาภิรตาราม กล่าวกันว่า ผู้เฒ่าผู้แก่ในครั้งกระโน้นถือกันว่าวัดแห่งนี้เป็นวัดของพระเจ้าอู่ทอง ผู้มีบรรดาศักดิ์น้อยจะปฏิสังขรณ์ไม่ได้ ผู้ที่ทำได้จะต้องเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์สูง และมีบุญญาธิการยิ่งใหญ่ ได้มีการปฏิสังขรณ์มาก่อนหน้านี้โดยสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระอัครมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย           ๔/ ๒๑๖๗
            ๘๐๓.
เขยา - ปลา  อยู่ในวงศ์ปลาวตะเพียน แต่รูปร่างค่อนข้างยาว เป็นปลาน้ำจืด พบตามลำธารบนภูเขา           ๔/ ๒๑๖๙
            ๘๐๔.
เขลง  เป็นไม้ต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นกลม ค่อนข้างเปลา เนื้อไม้สีน้ำตาลเข้ม แข็งและหนักมาก นิยมใช้ในการก่อสร้างที่ถาวร
                      เรือนใบค่อนข้างโปร่ง เป็นพุ่มกลม ใบช่อหนึ่งมี ๔ ๘ ใบ เรียงสลับกัน ดอกสีขาวเขียวเป็นช่อโปร่ง ๆ ออกตามปลายกิ่ง ผลรูปไข่ แก่จัดสีดำ           ๔/ ๒๑๖๙
            ๘๐๕.
เขลางนคร  ชื่อเมืองโบราณ ซึ่งมีกล่าวอยู่ในหนังสือชินกาลมาลินี จามเทวีวงศ์ และมูลศาสนาว่า เจ้าอินทวรกุมาร โอรสองค์ที่สองของพระนางจามเทวี แห่งนครหริภุญชัย ประสงค์จะสร้างเมือง ฤษีชื่อสุพรหม และพราหมณ์เขลางค์ ซึ่งอยู่ยังเขาเขลางค์เป็นผู้สร้างถวาย จึงได้ชื่อว่าเมืองเขลางค์ เมืองนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เมืองผากอง และในพงศาวดารโยนกเรียกว่า เมืองศรินครชัย ว่าอยู่ใกล้กับเมืองนครลำปาง แต่อยู่กันคนละฝั่งแม่น้ำ           ๔/ ๒๑๖๙
            ๘๐๖.
เขา - นก  เป็นนกจำพวกหนึ่ง ซึ่งรวมไปถึงนกเขาเปล้า นกหลุมพู และนกพิราบด้วย นกเขาที่ชอบเลี้ยงกันมากมีนกเขาหลวง และนกเขาชวา นกเขาพม่า  นอกจากนี้ก็มีนกเขาแขก นกเขาไฟหรือนกเขาทอง นกเขาเขียว นกเขาเปล้า และนกลุมพู นกพิราบป่า นกพิราบแดง นกเขาตู้ใหญ่       ๔/ ๒๑๗๐
            ๘๐๗.
เข้าข้อ - โรค  หมายถึง อาการขัดหรือเจ็บปวดบริเวณข้อกระดูกอันเกิดจากกามโรค คำนี้ใช้กันทั่วไปไม่ใช่ศัพท์แพทย์ จึงตีความหมายรวมถึงการปวดเอ็นหุ้มข้อ และเอ็นใกล้ข้อด้วย ตำราแพทย์แผนปัจจุบันไม่มีคำเข้าข้อ แต่เรียกว่าข้ออักเสบ เอ็นอักเสบ  มีคำที่คู่กับเข้าข้อคือ ออกดอก          ๔/ ๒๑๙๖
            ๘๐๘.
เขาไชยสน  อำเภอขึ้น จ.พัทลุง เดิมเป็นกิ่งอำเภอ  เมื่อตั้งอยู่ที่ ต.ลำปำ อ.เมืองพัทลุง เรียกกิ่ง อ.ลำปำ  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้ย้ายจาก ต.ลำปำ มาตั้งที่ ต.เขาไชยสน จึงใช้ชื่อว่า กิ่ง อ.เขาไชยสนได้ยกฐานะเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๖    ภูมิประเทศทิศเหนือเป็นที่ราบสูง ยตอนใต้เป็นที่ราบต่ำ เหมาะแก่การทำนา ทำสวนยาง        ๔/ ๒๑๙๗
            ๘๐๙.
เข้าตรีทูต  หมายถึง ผู้ป่วยมีอาการหนักมาก อุปมาว่าคนเรามีเจตภูติทั้งสี่  คนจะตาย เจตภูติออกจากตัวไปสาม ยังเหลือหนึ่ง แปลว่า อาการร่อแร่ หรือสี่เกลียว เหลือเกลียวเดียว เรียกว่า ตรีภูติ  แต่ผิดไปเป็นตรีทูต  อีกนัยหนึ่งอ้างว่าคนจะตาย ยมบาลส่งทูตมาสี่ทูตเพื่อจะมาเอาตัวไป ทูตมาสามแล้ว ถ้ามาอีกทูตเดียวก็ตาย           ๔/ ๒๑๙๗
            ๘๑๐.
เข้าผี  เป็นลัทธิพิธีเกี่ยวกับเชิญผีให้เข้ามาสิงในตัวคนทรง เรียกกันว่า ทรงเจ้าเข้าผี ผีในที่นี้ มายถึง เจ้าผีนายผีซึ่งเป็นผีชั้นดี ส่วนผีชั้นเลวแม้เชิญให้มาเข้าสิงก็ไม่มา นอกจากจะมาเอง และทำความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่มันเข้าสิงอย่างที่เรียกกันว่า ผีเข้า
                      พวกหมอผีที่เป็นคนทรงคงจะเป็นผู้หญิงมีอายุเป็นส่วนมากจึงได้เรียกว่า
แม่มด แต่เดิมหมู่บ้านหนึ่งมักมีแม่มดคนหนึ่ง ซึ่งสืบตระกูลเรื่องทรงเจ้าเข้าผีต่อกันมา           ๔/ ๒๒๐๐
            ๘๑๑.
เข้าพรรษา  เป็นพุทธบัญญัติและคำนี้แปลว่าอยู่ฝน พักฝน หมายความว่าจำพรรษา คือหยุดพักในฤดูฝน หรือในคราวฝน เป็นธรรมเนียมของบ้านเมืองในครั้งพุทธกาล โดยเฉพาะในประเทศอินเดีย สมัยนั้นการคมนาคมยังไม่สะดวก เมื่อถึงฤดูฝนต้องหยุดไปมาหาสู่กันชั่วคราว
                      วันที่พระพุทธเจ้ากำหนดให้เข้าพรรษาเรียกว่า
วัสสูปนายิกา คือวันเข้าพรรษาต้นกับวันเข้าพรรษาหลัง วันเข้าพรรษาต้นมีกำหนดว่า
เมื่อพระจันทร์เสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้ววันหนึ่ง คือ วันแรมค่ำหนึ่ง เดือนแปด 
วันเข้าพรรษาหลัง เมื่อพระจันทร์เพ็ญเสวยฤกษ์อาสาฬหะล่วงไปแล้วเดือนหนึ่ง วันที่จำพรรษาอยู่นั้นมีกำหนดสามเดือน วันเข้าพรรษาต้นเริ่มตั้งแต่วันแรมค่ำหนึ่ง เดือนแปด ไปสิ้นสุดในวันเพ็ญเดือนสิบเอ็ด
                      พระภิกษุจำพรรษาต้องมีเสนาสนะที่มุงบัง มีบานประตูเปิดปิดได้ ทรงห้ามจำพรรษาในกระท่อมผี ในกุฎีผ้า เช่น กลดหรือร่มใหญ่ หรือกระโจมผ้า ในตุ่ม ในกุฎีดินดิบหรือดินเผา ในโพรงต้นไม้ บนค่าคบไม้  ในวัดคือในสังฆารามเป็นหน้าที่ของภิกษุผู้ที่สงฆ์สมมติให้เป็นเสนาสนคาหาปก จะแจกเสนาสนะแก่ภิกษุทั้งหลายให้พอกัน
                      ในคราวจำพรรษานั้นเป็นเวลาที่พระภิกษุหยุดพักกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นก้อน เวลาที่ภิกษุบำเพ็ญสมณธรรมจะตั้งข้อกติกานัดหมายกัน
ห้ามตั้งข้อกติกาอันไม่เป็นธรรม ให้ตั้งข้อกติกานัดหมายกันแต่ในข้อที่เป็นธรรม เมื่อได้อธิษฐานพรรษาแล้วต้องอยู่ในเขตที่กำหนดนั้นตลอดสามเดือน ถ้าหลีกไปในระหว่างนั้นเกินเจ็ดวัน พรรษาขาด ไม่ได้รับประโยชน์ของการจำพรรษา
                      
เทศกาล  การเข้าพรรษานี้ พุทธศาสนิกชนย่อมถือโอกาสบำเพ็ญกุศลเป็นพิเศษ กล่าวแต่เฉพาะหลักก็คือให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา  ฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ ก็ถือเอาโอกาสนั้นบำเพ็ญสมณธรรม เมื่อออกพรรษาแล้วก็พากันมาเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลให้ทรงทราบถึงพฤติกรรม ที่ตนได้บำเพ็ญในระหว่างพรรษานั้น เป็นปรกติจริยาของพุทธศาสนิกชนในครั้งพุทธกาล
                      ในประเทศไทยพุทธศาสนิกชนก็อนุวัตรตามหลักเดินคือ ให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา แต่จริยาวัตรแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ เป็นการหลวงอย่างหนึ่ง และเป็นการราษฎรอย่างหนึ่ง มีมาแล้วแต่ครั้งกรุงสุโขทัย ดังข้อความในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ตอนที่ ๑ ล่วงมา
สมัยกรุงศรีอยุธยา การพิธีเนื่องด้วยเทศกาลเข้าพรรษา น่าจะแพร่หลายไปทั่วประเทศ ยิ่งกว่าครั้งกรุงสุโขทัย และน่าจะได้ทำกันจนเป็นสามัญแล้ว ต่อมาในชั้นกรุงรัตนโกสินทร์ การพิธีอันเนื่องในเทศกาลเข้าพรรษานั้น ก็มีเหมือนเดิมทุกอย่างเป็นแต่ได้ดัดแปลงแก้ไข ในส่วนที่มิใช่พระพุทธบัญญัติ ให้เหมาะสมกับกาลสมัย           ๔/ ๒๒๐๒
            ๘๑๒.
เขาย้อย  อำเภอขึ้น จ.เพชรบุรี เดิมตั้งที่ว่าการอำเภอที่ ต.ห้วยท่าช้าง เรียกว่า อ.ห้วยสะพาน  แล้วย้ายไปตั้งที่ ต.เขาย้อย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๓ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.เขาย้อย อำเภอนี้มีชาวกะเหรี่ยงอยู่มาก และมีลาวโซ่งอยู่ทั่วไป
                      ภูมิประเทศตอนเหนือ ตอนกลางและตอนใต้เป็นที่ราบลุ่ม ทางตะวันตกเป็นที่ดอน มีป่าและเขา ทางตะวันออกเป็นชายทะเล  ๔/ ๒๒๑๕
            ๘๑๓.
เขาสมิง  อำเภอขึ้น จ.ตราด เดิมชื่อ อ.สีบัวทอง เปลี่ยนเป็น อ.ทุ่งใหญ่ แล้วย้ายมาตั้งที่ท่ากระท้อน ต.เขาสมิง เรียกว่า อ.เขาสมิง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๗
                      ภูมิประเทศตอนใต้เป็นป่าดงและที่ราบ        ๔/ ๒๒๑๘
            ๘๑๔.
เข้าสุหนัด  ภาษาอาหรับเรียกว่า คอตนุ คือ การขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศของผู้ชาย สืบเนื่องมาจากศาสนาครั้ง นาบี อิบรอเฮม ทั้งคัมภีร์กุรอ่านก็ได้บัญญัติให้เจริญรอยตามนั้น ทางศาสนาอิสลามได้บัญญัติไว้ดังนี้คือ
                      ก. ผู้ใดอายุถึง ๑๕ ปี แล้วไม่ได้เข้าสุหนัด มีโทษร้ายแรง
                      ข. ผู้ที่ไม่ได้ทำจะต้องล้างภายในหนังหุ้มอวัยวะเพศเสียก่อน จึงจะทำการละหมาดได้
                      ค. ผู้ที่ไม่ได้ทำจะเป็นพยานในคดีศาสนาอิสลามไม่ได้
                      ง. ผู้ที่ไม่ได้ทำจะไปเป็นผู้ปกครองผู้ที่จะเข้าพิธีสมรสไม่ได้          ๔/ ๒๒๑๘
            ๘๑๕.
เขิง  เป็นชื่อเรียกเครื่องมือจับสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง ทางภาคอีสานที่ทางภาคกลางเรียกว่า ตะแกรง ทำเป็นรูปกลมก้นลึก ช่องตาถี่เพื่อใช้ช้อนปลาขนาดเล็ก ในน้ำตื้น           ๔/ ๒๒๑๙
            ๘๑๖.
เขิน ๑  เป็นชื่อชาวไทยพวกหนึ่งในแคว้นเชียงตุง ประเทศพม่า ซึ่งอยู่ต่อแดนกับประเทศไทย ทางจังหวัดเชียงราย เขินเป็นสาขาตะวันออกของพวกไทยใหญ่  และมีจำนวนมากกว่าพวกไทยใหญ่อื่นๆ ทางตะวันตก ขนบประเพณี และสำเนียงภาษาไทย ที่ใช้อยู่ เขินมีลักษณะใกล้กันกับไทยชาวพายัพมาก เพราะได้มีความใกล้ชิดกันมาช้านาน           ๔/ ๒๒๑๙
            ๘๑๗.
เขิน ๒ - เครื่อง  คำว่าเครื่องเขิน หมายความ ถึงเครื่องใช้สอยที่ทำขึ้นโดยวิธีการเฉพาะอย่างหนึ่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วยไม้หรือไม้ไผ่ ทำเป็นรูปเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ แล้วใช้กรรมวิธีตกแต่งเพิ่มเติมให้สำเร็จ สวยงามโดยใช้ยางรัก สีชาด มุก ทองคำเปลว หรือเงินเปลว เป็นวัตถุสำคัญในการทำ เครื่องใช้สอยเหล่านี้มี แจกัน ตลับ พาน ขันน้ำ เชี่ยนหมาก กล่องบุหรี่ โอ ตะลุ่ม เป็นต้น
                      ที่เรียกกันว่า เครื่องเขินนี้มีผู้เชื่อว่า เรียกตามนามชนเผ่าผู้ประดิษฐ์คือ ไทยเขิน ทางเชียงตุง
                      เอนไซโคลบิเดีย บริแตนนิกา กล่าวไว้ว่า จีนเป็นต้นตำรับทำเครื่องเขินมาเก่าแก่ ไม่น้อยกว่า ๓,๐๐๐ ปี มาแล้ว และในสมัยราชวงศ์เหมง ก็ได้มีโรงงานทำเครื่องเขินหลายโรงงาน ทำอยู่ที่เมืองตาลีฟู (หนองแส) ในยูนนาน และที่ในตังเกี๋ย
            ๘๑๘.
เขียด  เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ชนิดที่มีอยู่ทั่วไป ตัวเล็ก ชอบอยู่ในน้ำ ฤดูฝนเวลาฝนตกและะมีน้ำขังอยู่ตามพื้นดิน มักจะโผล่หัวขึ้นมาจากน้ำมองเห็นแต่จมูก และลูกตา และพร้อมเสมอที่จะหนีศัตรู ที่เข้ามาใกล้ ต้องเสียงดังมาก เวลาร้องจะมองเห็นใต้คอโป่งออกมา           ๔/ ๒๒๓๙
            ๘๑๙.
เขียว - งู  มีอยู่สองชนิด ชนิดหนึ่งเรียกว่า งูเขียวปากจิ้งจก มักชอบอยู่บนพุ่มไม้และบนต้นไม้ อีกชนิดหนึ่งคือ งูเขียวหางไหม้ เป็นงูซึ่งอยู่ในเครืองูแมวเซา หัวรูปสามเหลี่ยม ตาโปน คอเล็ก ชอบอยู่ตามพุ่มไม้ และในบ้าน งูนี้เมื่อกัดแล้วไม่มีอันตรายถึงชีวิต           ๔/ ๒๒๔๑
            ๘๒๐.
เขี้ยวกระแต  เป็นพรรณไม้อยู่ในหมู่ต้นกาแฟ เป็นไม้พุ่มขนาดกลาง มักแตกกิ่งก้านเป็นชั้น ๆ ดอกออกตามข้อลักษณะคล้ายดอกมะลิ แต่เล็กกว่า มีกลิ่นหอมแรง มักจะส่งกลิ่นเวลาเย็น ๆ ใช้ปลูกเป็นไม้ประดับ           ๔/ ๒๒๔๑
            ๘๒๑.
เขี้ยวแก้ว - พระ  เป็นคำใช้เรียกพระทาฐธาตุของพระพุทธเจ้า หนังสือปฐมโพธิกล่าวไว้ว่า พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนฝ่ายขวา กับพระรากขวัญเบื้องบน ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณี ณ ดาวดึงส์เทวโลก พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำฝ่ายขวา ไปประดิษฐานอยู่ ณ เมืองกลิงคราษฎร์ และบัดนี้อยู่ ณ ลังกาทวีป พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนฝ่ายซ้ายไปประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธาราฐ พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำฝ่ายซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ ณ นาคพิภพ           ๔/ ๒๒๔๑
            ๘๒๒.
เขี้ยวหนุมาน  เป็นแร่ประกอบหินชนิดหนึ่ง เกิดแพร่หลายในภูเขาตลอดจนหาดทราย แร่นี้เกิดอยู่ในลักษณะรูปร่างต่าง ๆ กัน มีทั้งแบบผลึกหยาบ และแบบผลึกละเอียด ทำให้เกิดมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันไป เช่น พลอยสีดอกตะแบก โมรา หินเหล็กไฟ
                      คำว่าเขี้ยวหนุมาน ได้ชื่อมาจากรูปผลึกของมัน ซึ่งเป็นผลึกหกเหลี่ยม หัวท้ายแต่ละเหลี่ยมมีดาน สามเหลี่ยมเอนเข้าไปบรรจบกันเป็นยอดแหลม ดูคล้ายกับฟันลิง สีของแร่นี้มีเกือบทุกสี เขี้ยวหนุมานชนิดเป็นผลึกใสเรียกว่า
แก้วผลึก บางแห่งเรียก หินแว่นตา
                      แร่เขี้ยวหนุมาน เป็นตระกูลหนึ่งในรัตนชาติ มีผู้เอามาเจียระไนเป็นพลอยสีต่าง ๆ เช่น พลอยสีดอกตะแบก โมรา เพชรตาเสือ และโอปอล์            ๔/ ๒๑๔๔
            ๘๒๓.
เขือ - ปลา  เป็นชื่อเรียกปลาที่คล้ายปลาบู่ขนาดเล็ก ตัวกลมยาว           ๔/ ๒๒๔๖
            ๘๒๔.
เขื่องใน  อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ เดิมชื่อ อ.ประจิมูปลนิคม  ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๕๖ เปลี่ยนชื่อเป็น อ.ตระการพืชผล แล้วเปลี่ยนเป็น อ.เขื่องใน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐
                      ภูมิประเทศทางทิศเหนือและทางทิศตะวันตกเป็นทุ่งนา ป่าละเมาะและป่าโปร่ง ทางทิศยตะวันออกเป็นป่าทึบและทุ่งนา         ๔/ ๒๒๔๗
            ๘๒๕.
เขื่อน  ในการชลประทานมีอยู่สองแบบคือ
                      ๑.
เขื่อนระบายน้ำ  สำหรับกักน้ำในลำน้ำให้สูงขึ้น ถึงระดับที่ต้องการเมื่อระดับน้ำสูงเกินกว่าที่ต้องการ ก็ระบายน้ำไปทางท้ายเขื่อนได้ เช่น เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนพลเทพ เขื่อนพระราม ๖ เขื่อนนายก เขื่อนเพชร
                      ๒.
เขื่อนเก็บกักน้ำ  สำหรับกักน้ำไว้ในหุบเขา แล้วค่อย ๆ ระบายน้ำส่งไปใช้ในการเพาะปลูก แต่ในขณะที่ระบายน้ำนี้ เนื่องจากระดับน้ำทางเหนือเขื่อน กับทางท้ายเขื่อน มีระดับต่างกันมาก ทำให้น้ำที่จะระบายออกไป มีแรงดันมาก จึงใช้น้ำนั้นให้หมุนเครื่องกังหันน้ำ เพื่อทำไฟฟ้าเสียก่อน เป็นผลพลอยได้ เช่น เขื่อนภูมิพล           ๔/ ๒๒๔๘
            ๘๒๖.
แขก ๑  เป็นชื่อรวมที่ใช้เรียกชนชาติต่าง ๆ ทางตะวันตกของประเทศไทย ที่เป็นชาวอินเดีย ปากีสถาน อัฟานิสถาน เปอร์เซีย และชาวอาหรับ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือลัทธิอิสลาม จึงได้ชื่อรวมว่าเช่นนั้น เพื่อแยกชื่อให้ผิดกับชาวตะวันตก พวกใหญ่อีกพวกหนึ่ง รวมเรียกว่า ฝรั่ง ชนชาติอื่น ๆ ที่อยู่ทางตะวันตกซึ่งไม่ใช่พวกฝรั้ง หรือพวกแขกที่นับถือศาสนาอิสลาม ก็เรียกว่า แขก ได้โดยอนุโลม เช่น แขกฮินดู แขกธิเบต ภายหลังชนชาติชวามลายู ก็เรียกว่าแขกไปด้วย เหตุที่นับถือศาสนาอิสลามกันเป็นพื้น
                      แขกเป็นคำไทย ที่มีมาแต่เดิม หมายความว่า คนต่างบ้านต่างเมือง หรือเป็นคนมาแต่อื่น ไทยใหญ่เรียกประเทศจีนว่า
เมืองแข่ ซึ่งเป็นคำมีเสียงกร่อนไปจากคำว่า แขก ส่วนคำว่า แคะ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ซึ่งแปลว่า คนมาแต่อื่น ชาวไทยที่อยู่ในเขตแดนจีน พวกไทยใหญ่ก็เรียกว่า ไตแข่ คือไทยแขก           ๔/ ๒๒๗๒
            ๘๒๗.
แขก ๒ - การลง  ประเพณีการรวมแรงทำงานของคนที่มีอาชีพอย่างเดียวกัน โดยเฉพาะการทำนา ทำไร่ ทำสวน การทำนานิยมทำในเวลาไถ ถอนกล้า ดำกล้า เก็บเกี่ยว หรือนวดข้าว ทำไร่ มักทำในขณะลงพืชหรือเก็บผล ทำสวน กำหนดเอาการฟันดิน ลอกท้องร่อง
                      ลักษณะการลงแขกมีสองวิธีคือ
ลงแขกขอแรง อย่างนี้ทำแล้วแล้วกันไป ไม่มีพันธะที่จะตอบแทน ลงแขกเอาแรง วิธีนี้มีพันธะที่เจ้างาน จะต้องทำตอบแทนในเมื่อแขกแจ้งมา            ๔/ ๒๒๗๒
            ๘๒๘.
แขก ๓ - นก  ดูแขกเต้า - นก  (ลำดับที่ ๘๒๙)          ๔/ ๒๒๗๓
            ๘๒๙.
แขกเต้า - นก  ดูนกแก้วแขก (ลำดับที่ ๖๒๑)           ๔/ ๒๒๗๓
            ๘๓๐.
แขนง - เต่า    ดูขี้ผึ้ง - เต่า (ลำดับที่ ๗๗๒)             ๔/ ๒๒๗๓
            ๘๓๑.
แขม  เป็นพรรณไม้ในวงศ์หญ้า จัดอยู่ในสกุลเดียวกับต้นอ้อย มีหลายชนิดเรียกชื่อต่าง ๆ กันไป ตามแหล่งสถานที่บ้าง ตามลักษณะบ้าง
                      มีพรรณไม้อีกชนิดหนึ่งซึ่งในบางแห่งเรียกแขมเหมือนกัน มักพบตามที่แห้งแล้ง ดูคล้ายกัน แต่ดอกเป็นสีเหลือง จึงแรียกว่า แขมเหลือง          ๔/ ๒๒๗๓
            ๘๓๒.
แขยง - ปลา  เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ด แต่มีหนวด มีครีบหลังอันเดียวซึ่งมีก้านแข็ง มีอยู่สองวงศ์           ๔/ ๒๒๗๓
            ๘๓๓.
แขยงข้างลาย  - ปลา  ดูปลาแขยง  (ลำดับที่ ๘๓๒)           ๔/ ๒๒๗๖
            ๘๓๔.
แขยงขาว แขยงใบข้าว - ปลา  ดูปลาแขยง (ลำดับที่ ๘๓๒)           ๔/ ๒๒๗๖
            ๘๓๕.
แขยงเจ้า แขยงทอง แขยงธง แขยงใบข้าว แขยงหมู - ปลา  ดูปลาแขยง (ลำดับที่ ๘๓๒)           ๔/ ๒๒๗๖
            ๘๓๖.
แขยงใบข้าว แขยงวัง - ปลา  ดูปลาแขยง (ลำดับที่ ๘๓๒)           ๔/ ๒๒๗๖
            ๘๓๗.
แขยงใบข้าว - ปลา  ดูปลาแขยง (ลำดับที่ ๘๓๒)            ๔/ ๒๒๗๖
            ๘๓๘.
แขยงวัง แขยงหนู แขยงหิน - ปลา  ดูปลาแขยง (ลำดับที่ ๘๓๒)            ๔/ ๒๒๗๖
            ๘๓๙.
แขยงหมู - ปลา  อยู่ในสกุลเดียวกับปลาแขยง และรูปร่างคล้ายกัน  (ลำดับที่ ๘๓๒)        ๔/ ๒๒๗๗
            ๘๔๐.
แขยงหิน กดหิน แค้หมู - ปลา  อยู่ในวงศ์ปลาแขยง เป็นปลาขนาดเล็ก อาศัยอยู่ในลำธารน้ำจืด   (ลำดับที่ ๘๓๒)        ๔/ ๒๒๗๗
            ๘๔๑.
แขวก - นก  เป็นนกยางชนิดหนึ่งซึ่งออกหากินแต่กลางคืน หัวค่อนข้างโต คอสั้น และขาสั้นกว่านกยางอื่น ๆ มีขนาดโตกว่านกยาวกรอก เวลาบินมักส่งเสียงร้องดัง แขวก แขวก ชาวบ้านจึงเรียกว่า นกแขวก กลางวันชอบเกาะนอนเป็นฝูงในต้นไม้ที่มีใบปกคลุมค่อนข้างมึดทึบ ชอบกินลูกกุ้งลูกปลาและแมลง ชอบทำรังบนต้นไม้ที่ขึ้นรก ๆ ตามริมน้ำ                   ๔/ ๒๒๗๘
            ๘๔๒.
โขง - แม่น้ำ  เป็นแม่น้ำปันแดนด้านเหนือ และด้านตะวันออกเฉียเหนือ บางตอนของประเทศไทย และประเทศลาว เป็นแม่น้ำใหญ่และยาวที่สุดในทวีปเอเชีย ยอดน้ำเกิดจากเทือกเขาสูงประมาณ ๕,๔๐๐ เมตร (เหนือยอดน้ำเป็นแนวประมาณแบ่งแขตแดนประเทศธิเบตกับประเทศจีน) ห่างจากเมืองกันรกของธิเบต ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ประมาณ ๕๐ กม.
                      ยอดน้ำอยู่ในเขตประเทศจีน รวมอยู่ในเขตประเทศธิเบตและจีนประมาณ ๑,๘๘๐ กม. ต่อไปเป็นเส้นแบ่งเขตแดนประเทศพม่ากับจีน ยาวประมาณ ๓๐ กม. แล้วหักต่อไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ จนถึงปากแม่น้ำรวก มาบรรจบแม่น้ำโขง เป็นเส้นแบ่งแขตแดนประเทศพม่ากับลาวยาวประมาณ ๒๒๐ กม. จากปากแม่น้ำรวก วกไปทางทิศเหนือแล้ววกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ จนถึงทิวเขาซึ่งแบ่งเขตแดนประเทศไทยกับลาว จดแม่น้ำโขง (ตรงข้ามกับบ้านทรายในประเทศลาว) ตอนนี้ยาวประมาณ ๑๐๕ กม. ถึดไปอยู่ในเขตประเทศลาว จากบ้านทรายตัดไปทางตะวันออก แล้ววกไปทางทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้ จนถึงปากแม่น้ำเหือง ซึ่งไหลมาบรรจบแม่น้ำโขง รวมความยาวประมาณ ๕๔๕ กม. จากปากแม่น้ำเหืองถึงสันทิวเขาพนมดงรัก ซึ่งแบ่งเขตแดนจดแม่น้ำโขง แม่น้ำโขงเป็นเส้นแบ่งเขตแดนประเทศไทยกับลาว รวมความยาวประมาณ ๘๒๕ กม.
                      แม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศไทยในเขตจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย นครพนม  (มุกดาหาร - เพิ่มเติม) และอุบลราชธานี จากนั้นไหลเข้าเขตประเทศลาวประมาณ ๑๙๐ กม. แล้วไหลเข้าเขตประเทศกัมพูชา เป็นความยาวประมาณ ๕๗๕ กม.  ไหลเข้าสู่ประเทศเวียดนามเป็นความยาวประมาณ ๒๑๐ กม. จึงไหลลงสู่ทะเลจีน รวมความยาวทั้งสิ้นประมาณ ๔,๕๙๐ กม.           ๔/ ๒๒๘๐
            ๘๔๓.
โข่ง - หอย  เป็นหอยกาบเดียวมม้วนเป็นวงยอดสั้นแบนลง บางครั้งเกือบเป็นวงราบ ฝาปิดปากเป็นแผ่นบาง เป็นหอยขนาดใหญ่ (เป็นหอยน้ำจืด - เพิ่มเติม)  อยู่ได้ทั้งในน้ำและบนบก เพราะมีเหงือกอยู่ในช่องหายใจใหญ่ ซึ่งช่วยให้หอยอยู่นอกน้ำได้ ในหน้าแล้งหอยโข่งอาจฝังตัวอยู่ในโคลน โดยทำให้ห้องอากาศชื้นอยู่เสมอ           ๔/ ๒๒๙๒
            ๘๔๔.
โขงเจียม  อำเภอขึ้น จ.อุบลราชธานี เดิมเป็นเมืองเก่าอยู่ใน ต.นาโพธิกลาง อ.สุวรรณวารีเดิม ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๖ ต่อมายุบเป็น อ.โขงเจียม แล้วลดเป็นกิ่งอำเภอ ขึ้น อ.พิบูลมังสาหาร  ต่อมาย้ายไปฝั่งซ้ายของปากมูลใน ต.โขงเจียม ให้ชื่อว่า อ.สุวรรณวารี แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น อ.โขงเจียม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๑
                      ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นป่าและเขาซับซ้อนกันมาก เป็นที่ราบสูงประมาณหนึ่งส่วนในสามส่วน       ๔/ ๒๒๙๓
            ๘๔๕.
โข่งทะเล - เป๋าฮื้อ - หอย  เป็นหอยจัดอยู่ในพวกกาบเดียว เปลือกเป็นมุก รูปเหมือนใบหู เปลือกหอยโข่งทะเลขนาดใหญ่ให้มุก เนื้อหอยบริโภคได้จีนเรียก เป๋าฮื้อ           ๔/ ๒๒๙๕
            ๘๔๖.
โขน ๑  นาฎกรรมสวมหัว เป็นนาฎกรรมแบบฉบับของไทยชนิดหนึ่ง โดยปกติผู้แสดงโขนต้องสวมหัวปิด๔/ จึงไม่พูดและไม่ขับร้องด้วยตนเอง หากแต่มีผู้พูดและขับร้องแทน ผู้แสดงจะต้องเต้นรำท่า ให้เข้ากับคำพูดและบทขับร้อง
                      
พากย์ - เจรจา  ผู้พูดแทนตัวโขนเรียกกันว่า คนพากย์ บทที่ใช้พากย์เป็นคำร้อยกรองจำพวกหนึ่ง ซึ่งกวีได้แต่งขึ้นสำหรับในการเล่นหนัง เรียกแยกไว้เป็นสองชนิดคือ คำพากย์ กับคำเจรจา คำพากย์แต่ก่อนคงจะเป็นคำฉันท์ ภายหลังเป็นกาพย์ กาพย์ที่ใช้พากย์โขนมีสองชนิดคือ กาพย์ฉบัง และกาพย์ยานี ผู้พากย์มักนิยมแทรกคำสุภาษิต คติพจน์ หรือคำพังเพย หรือแทรกหลักฐาน และเหตุผลไว้เป็นกระทู้ความ ให้ผู้ดูได้ความรู้สึกเป็นคติสอนใจไปในตัวด้วย
                      คนพากย์และเจรจานี้ ต่อมามีหน้าที่เป็นผู้บอกบทละครด้วย เสียงดัง ๆ ให้นักร้องขับร้องด้วย
                      
วงดนตรีประกอบการแสดงโขน ประกอบด้วยวงปี่พาทย์ สำหรับใช้บรรเลงประกอบอิริยาบท และความรู้สึกของตัวโขน แต่โบราณใช้เพียงเครื่องห้า ต่อมาเมื่อวงปี่พาทย์ได้วิวัฒนาการมาเป็นเครื่องคู่ และเครื่องใหญ่ วงปี่พาทย์ประกอบโขนก็วิวัฒนาการตามไปด้วย
                       
บทแสดงโขน  เรื่องที่ใช้แสดงโขนคือ เรื่องรามเกียรติ์
                       
เครื่องแต่งตัวและเครื่องโรง  เครื่องแต่งตัวที่สำคัญคือ หัวโขน ซึ่งมีลักษณะและสีต่าง ๆ กันมีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว การแต่งกายของตัวโขนก็สอดคล้องกับบทบาท และทีท่าของตัวโขนนั้น ๆ นอกจากนั้นยังต้องมีเครื่องอุปกรณ์ ประกอบการแสดงอีก เช่น เตียงทอง รถศึก ศร พระขรรค์ คทา ตรี  กลด และเครื่องอุปกรณ์อื่นๆ เรียกกันว่า เครื่องโรง
                       
จัดชุดแสดง  ตอนที่นำมาแสดงเรียกว่า ชุด ไม่เรียกว่าตอน เหมือนการแสดงนาฎกรรมอย่างอื่น การที่เรียกว่า ชุด เข้าใจว่าคำนี้สืบเนื่องมาจากการเล่นหนังแต่โบราณ เมื่อโขนได้นำเอาศิลปบางอย่างของการเล่นหนังมาใช้ จึงนำเอาคำว่าชุดของหนังมาใช้ด้วย เช่น ชุดปราบกากนาสูร ชุดนางลอย ชุดมัยราพณ์สะกดทัพ ชุดนาคบาศ ชุดพรหมมาศ ชุดหนุมานอาสา ชุดสีดาลุยไฟ และชุดปราบบรรลัยกัลป์ เป็นต้น
                       
วิธีเล่นโขน  ได้มีการดัดแปลงวิธีเล่นกันสืบมาหลายอย่าง ปัจจุบันจำแนกออกเป็นห้าอย่างคือ โขนกลางแปลง โขนโรงนอก หรอืโขนนั่งราว โขนโรงใน และโขนฉาก            ๔/ ๒๒๙๕
            ๘๔๗.
โขน ๒ - หัว  เป็นเครื่องสวมหัวของผู้แสดงนาฎกรรม ซึ่งแสดงเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งส่วนใหญ่ของเรื่องเป็นสงคราม ระหว่างพระราม พระลักษณ์ แห่งกรุงอโยธยา กับบรรดาวานร ฝ่ายหนึ่ง  โดยรบกับทศกัณฐ์ราชาแห่งยักษ์ เจ้ากรุงลงกา กับบรรดาอสูร รากษส และยักษ์ อีกฝ่ายหนึ่ง  คู่สงครามแต่ละฝ่ายมีมากด้วยกัน ตัวโขนที่ออกแสดงจึงมีเป็นจำนวนมาก และต้องสวมใส่หัวโขนต่าง ๆ กัน
                      ในจำพวกยักษ์ และสิ่งที่ใช้สวมหัวนั้น ได้มีการแบ่งพวกไว้กว้าง ๆ ตามประเภทของหัวโขนที่ใช้สวม อย่างละสองจำพวกคือ
ยักษ์ยอด ยักษ์โล้น และลิงยอด ลิงโล้น
                      จำพวกกองทัพฝ่ายพลับพลา ซึ่งมีวานรชั้นต่าง ๆ นั้น อาจแยกประเภทออกได้ตามชนิดของหัว ซึ่งมีรูปลักษณะต่าง ๆ กันคือ
มงกุฎยอดปัด เช่น พาลี สุครีพ มงกุฏยอดชัย หรือยอดแหลม เช่น ชมพูพาน ชามภูวราช มงกุฎยอดสามกลีบ เช่น องคต (เฉพาะตัวเดียว)  นอกนั้นเป็นพวกไม่มีมงกุฎ เรียกรวมว่า ลิงโล้น ที่เป็นพญาวานร เช่น หนุมาน นิลพัท นิลนนท์ ที่เหลือเป็นวานรสิบแปดมงกุฎ พวกเตียวเพชร และจังเกียง
                      จำพวกยักษ์ก็มีต่างกันถึงร้อยกว่าหัว จึงต้องบัญญัติและประดิษฐ์หัวโขนให้มีลักษณะแตกต่างกันเป็นพวก ๆ  อาจแบ่งประเภทออกตามชนิดของหัวโขนกว่า ๑๐ ชนิดคือ
มงกุฎยอดกระหนก เช่น พญาทูษณ์ มัยราพย์  มงกุฎยอดจีบ เช่น พญาขร สัทธาสูร มงกุฎยอดหางไก่ เช่น วิรุญจำบัง บรรลัยจักร  มงกุฎยอดน้ำเต้า เช่น พิเภก ชิวหา มงกุฎยอดน้ำเต้ากลม เช่น กุเวรนุราช เปาวนาสูร มงกุฎยอดก้านไผ่ เช่น ทศคีรีวัน ทศคีรีธร รามสูร  มงกุฎยอดสามกลีบ เช่น ตรีเมฆ (เฉพาะตัวเดียว)  มงกุฎยอดนาค เช่น มังกรกัณฐ์ (เฉพาะตัวเดียว) มงกุฎดาบหัวหรือหน้า เช่น ทศกัณฐ์มีสิบหน้า ตรีเศียรมีสามหน้า  ที่เหลือเป็นพวกไม่มีมงกุฎ เช่น กุมภกรรณ มูลพลัม
            ๘๔๘.
โขมด - ผี  เป็นผีชนิดหนึ่งในจำพวกผีกระสือ ผีโพงหรือผีโพลงของถิ่นพายัพและอีสาน เพราะไปไหนมีแสงเรืองวาวในเวลากลางคืน  แต่ผีโขมดเป็นชนิดไม่มีรูปร่างเป็นคนหรือเป็นอะไร นอกจากเห็นแต่ไกลเป็นดวงไฟแวบ ๆ ดวงโตในเวลากลางคืนในที่ซึ่งมีน้ำขังแฉะ           ๔/ ๒๓๓๕
            ๘๔๙.
โขลญลำพง  เป็นชื่อของข้าหลวงขอมที่ควบคุมเมืองสุโขทัยเมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๐๐ ก่อนที่ไทยจะเข้าครอบครองอาณาจักรสุโขทัย  สมัยนั้นพ่อขุนศรีนาวนำถมทรงปกครองเมืองสุโขทัยอยู่ พ่อขุนผาเมืองเป็นโอรสของพ่อขุนศรีนาวนำถม ร่วมกับพ่อขุนบางกลางท่าวยกทัพเข้าตีเมืองสุโขทัย  โขลญลำพงสู้ไม่ได้ ยอมแพ้และทิ้งเมืองไป           ๔/ ๒๓๓๕
            ๘๕๐.
ไข  ใช้เรียกไขมันชนิดเป็นของแข็งของวัว แกะหรือม้า คุณภาพของไขเปลี่ยนแปลงไปโดยขึ้นอยู่กับฤดูกาลอาหาร อายุของสัตว์ และวิธีสกัดไข  ในท้องตลาดจำแนกออกเป็นไขที่ใช้บริโภคกับไขที่ไม่ใช้บริโภค ไขที่มีคุณภาพดีต้องมีสีเกือบขาว ไขใช้กันมากในการทำสบู่            ๔/ ๒๓๓๖
            ๘๕๑.
ไข่  เป็นตัวสืบพันธุ์ รูปส่วนมากกลม ผลิตโดยตัวเมีย ประกอบด้วยเซลล์สืบพันธุ์เพศเมียกับสิ่งห่อหุ้ม ส่วนที่ห่อหุ้มนั้นอาจเป็นไข่ขาว วุ้น เยื่อ ถุงไข่ หรีอเปลือก สุดแต่ชนิด
                      ขนาดของไข่มีตั้งแต่ชนิดเล็กที่เห็นยากด้วยตาเปล่า จนถึงฟองโตเช่นไข่ห่าน ไข่เป็นอาหารอันมีค่า ช่วยบำรุงร่างกายได้ดีไม่มีคาร์โบไฮเดรต สมควรใช้เลี้ยงเด็ก         ๔/ ๒๓๓๘
            ๘๕๒.
ไข้  เป็นชื่อโรคประเภทหนึ่ง มีอาการตัวร้อน มีชื่อต่าง ๆ กัน เช่น ไข้จับ ไข้พิษ ไข้หวัด แยกอธิบายเป็นสองตอน คือแผนโบราณกับแผนปัจจุบัน
                       ก.
แผนโบราณ  ตำราแพทย์แผนโบราณของไทยไม่มีข้อความนิยาม "ไข้" ไว้แจ่มแจ้ง เป็นแต่กล่าวถึงลักษณะอาการของไข้
เท่านั้น เช่น ไข้เพื่อลมมีลักษณะอาการอย่างนั้น ไข้เพื่อโลหิตมีลักษณะอาการอย่างนั้น เป็นต้น
                       ข.
แผนปัจจุบัน  ตำราแพทย์แผนปัจจุบันสากลได้ให้คำนิยามไว้มีใจความดังนี้
                        ๑. หมายถึง ความรู้สึกไม่สบาย ร้อนผิวกาย และบางรายร้อนในด้วย อาจมีอาการอื่นร่วมด้วย
                        ๒. หมายถึง อุณหภูมิของกายขึ้นสูงกว่าปกติ เนื่องจากโรคหรือพยาธิสภาพ ใช้กับสัตว์ด้วย
                        ๓. หมายถึง ชื่อเฉพาะของโรคที่มีอาการไข้เป็นสำคัญ จึงใช้คำว่าไข้นำหน้า            ๔/ ๒๓๔๐
            ๘๕๓.
ไข่ดัน  หมายถึง ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใต้ผิวหนังบริเวณขาหนีบ ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นแนวผิวหนังย่น บริเวณระหว่างลำตัวและต้นขา            ๔/ ๒๓๖๘
            ๘๕๔.
ไข่เน่า  เป็นไม้ต้นขนาดกลาง ลำต้นมักคดงอ เรือนยอดแผ่สาขา มีผลรูปไข่ขนาดหัวแม่มือ เมื่อสุก บริโภคได้ มีรสหวานเล็กน้อย ใบช่อหนึ่งใบย่อยห้าใบ เรียงแผ่เป็นรัศมีอยู่ปลายก้เนใบ ดอกเล็กสีม่วงอ่อน ออกเป็นช่อใหญ่ตามปลายกิ่ง           ๔/ ๒๓๗๑
            ๘๕๕.
ไข่มุก  ประกอบขึ้นด้วยหินปูนส่วนใหญ่ และยึดประสานกันแน่นด้วยอินทรียวัตถุซึ่งเรียกกันว่า คอนดิโอลิน ไข่มุกจะเกิดขึ้นเมื่อวัตถุภายนอกบังเอิญ พลัดเข้าไปในตัวของหอยมุก หอยมุกไม่สามารถขับวัตถุที่หลุดเข้าไป จึงหาทางบรรเทาความระคายเคืองโดยหุ้มสิ่งนั้นด้วยวัตถุอันเป็นมุก เมื่อคัลเซียมคาร์บอเนตเกิดขึ้นแล้ว วิธีกรรมคงดำเนินเรื่อยไปจนกระทั่งหอยตาย ไข่มุกจึงถูกพ่นออกเอง หรือหัวหอยถูกจับขึ้นมา
                      ไข่มุกอาจเกิดขึ้นในส่วนต่าง ๆ ของหอย แต่บางครั้งก็เกิดจากส่วนหนึ่งส่วนใดของเปลือก แลดูขรุขระ ไม่กลมงามเหมือนไข่มุก และเรียกชื่อใหม่ว่า เทียนหอย
                      ไข่มุกน้ำเค็มที่งดงามที่เรียกว่า
ไข่มุกตะวันออก ในวงการค้านั้นจำกัดเฉพาะไข่มุกซึ่งพบในอ่าวเปอร์เซ๊ยหรือเก็บได้จากน่านน้ำลังกา
                      สีของไข่มุกแท้แปลกและแตกต่างกันมาก จากสีกุหลาบ (ชมพู) นวลเจือขาว ทอง ดำ ม่วงอ่อน น้ำเงิน เหลือง ส้ม น้ำตาล และเขียว สีไข่มุกโดยทั่วไปจะเหมือนกับเยื่อบุเปลือกหอย
                      
ไข่มุกเลี้ยง  เกิดจากการเอาวัตถุภายนอกสอดใส่เข้าในตัวหอยอายุสามปี แล้วนำไปเลี้ยงไว้ในกรงลวด ให้จมอยู่ใต้ผิวน้ำ ลึกประมาณ ๔.๕๐ - ๖.๐๐ เมตร และทิ้งไว้ประมาณห้าปีจึงนำหอยนั้นขึ้นมาดู มักจะพบไข่มุกในตัวหอยประมาณกึ่งจำนวน
                      
ไข่มุกน้ำจืด ไข่มุกเหล่านี้แม้จะงดงาม ก็ไม่ได้ราคาเท่าไข่มุกน้ำเค็ม            ๔/ ๒๓๗๑
            ๘๕๖.
ไข่แหน  เป็นพรรณไม้น้ำขนาดเล็ก และอาจจัดได้ว่าเป็นพืชที่มีดอกที่เล็กที่สุดในโลก    ใบสีเขียวสดรูปคล้ายเม็ดทราย เกาะกันอยู่เป็นกลุ่มลอยอยู่ตามผิวน้ำในบึงและหนอง ปนไปกับแหนและจอก        ๔/ ๒๓๗๓

            ๘๕๗. ฃ พยัญชนะตัวที่สามในพยัญชนะไทย  นับเป็นพวกอักษรสูง มีฐานกรณ์ที่เดียวกับพยัญชนะ ค ต่างกันเพียง ก เป็นเสียงเบา  แต่ ฃ เป็นเสียงหนักคือออกเสียง ก + ห ไปพร้อมกัน โบราณอ่านออกเสียงเป็นสามัญว่า ขอ  เดี๋ยวนี้เลิกใช้แล้ว

            ๘๕๘. ค พยัญชนะตัวที่สี่ของอักษรไทย  ในจำพวกอักษรต่ำ โดยรูปมีลักษณะอย่างเดียวกับ ข คือเป็นเสียงหนักไม่ก้อง ในจำพวกพยัญชนะระเบิดต่างกับ ข เพียงมีลักษณะอ่อนกว่าเสียง ข เท่านั้น โดยฐานกรณ์หรือที่ตั้งของเสียง ค เป็นเสียงเกิดที่คอ
            ๘๕๙.
คง ๑  แม่น้ำใหญ่สายหนึ่งของแหลมอินโดจีน แผนที่อังกฤษเรียกแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเพี้ยนจากคำซันลิวินในภาษาพม่า อันเป็นชื่อที่พม่าเรียกแม่น้ำสายนี้ จีนเรียกแม่น้ำลูหรือนู ส่วนแม่คงเป็นชื่อที่ไทยใหญ่เรียก
                      แม่น้ำคงมียอดน้ำอยู่บนที่ราบสูงประเทศธิเบต ตอนใต้ของเทือกเขาคุนหลุน  ห่างกรุงลาสะ นครหลวงประเทศธิเบตไปทางทิศเหนือประมาณ ๔๐๐ กม. มีความสูงประมาณ ๘,๐๐๐ เมตร รวมความยาวตั้งแต่อยู่ในเขตประเทศธิเบต และประเทศจีนประมาณ ๑,๙๑๐ กม.
                      แม่น้ำคงไหลขนานมากับแม่น้ำโขง โดยมีทิวเขากินหลงกั้นเป็นสันปันน้ำ แม่น้ำคงเมื่อไหลเข้าสู่ประเทศพม่า แล้วไหลลงทางใต้จนถึงทิวเขาแดนลาว อันเป็นเขาปันแดนประเทศพม่าและประเทศไทยทางตะวันตกเฉียงเหนือ รวมแม่น้ำคงในเขตพม่าตอนนี้ประมาณ ๙๓๐ กม. จุดที่แม่น้ำคงเริ่มเป็นเส้นแบ่งเขตแดนไทยกับพม่า อยู่ตรงที่เรียกว่า
ท่าผาแดง มีหลักเขตแดนที่ ๑๖ อยู่ในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน แล้วเป็นเส้นเขตแดนไปจนถึงปากน้ำเมย รวมความยาวตอนนี้ประมาณ ๑๒๐ กม. ต่อจากนั้นก็ไหลเข้าสู่ประเทศพม่า ในเขตรัฐกะเหรี่ยงและไปออกทะเลที่อ่าวมะตะยัน รวมความยาวของแม่น้ำคงทั้งสิ้นประมาณ ๓,๑๕๑ กม.            ๔/ ๒๓๗๔
            ๘๖๐. 
คง ๒  อำเภอขึ้น จ.นครราชสีมา ตั้งเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ ยกเป็นอำเภอ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐
                      ภูมิประเทศเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา แต่ต้องอาศัยน้ำฝน          ๔/ ๒๓๗๘
            ๘๖๑. 
คงคา ๑  เป็นแม่น้ำใหญ่สายหนึ่ง ในประเทศอินเดียตอนเหนือจัดเป็นแม่น้ำสายหนึ่งในห้าสายใหญ่ ที่เรียกว่า ปัญจมหานที ซึ่งมี คงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู และมหี
                      แม่น้ำคงคาเป็นแอ่งรับน้ำจากแม่น้ำสายต่าง ๆ ซึ่งไหลมาจากเทือกเขาหิมาลัย ลงมาสู่มัธยมประเทศยอดน้ำเกิดจาก ถ้ำน้ำแข็งแห่งหนึ่งที่เชิงเขาหิมาลัย ซึ่งปกคลุมด้วยหิมะ อยู่เหนือเทวาลัยคงโคตริในรัฐครหวาล อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ของแคว้นอุตรประเทศ มีความสูง ๑๓,๘๐๐ ฟุต จากระดับน้ำทะเล มีความยาวประมาณ ๒,๔๙๔ กม. เมื่อไหลมาถึงเขตเมืองอัลหาบาท มีระยะทางจากยอดน้ำได้ ๑,๐๖๔ กม. มีแม่น้ำยมุนาไหลมาบรรจบจุดที่บรรจบเรียกว่า
ประยาค (บาลีเป็นปยาค) ชาวฮินดูถือว่าเป็นสถานศักดิ์สิทธิ์ที่สุด เพราะกล่าวกันว่า แม่น้ำสรัสวดี ไหลมุดดินมาโผล่ขึ้นรวมกับแม่น้ำคงคา ณ ที่นั้นด้วย จึงเรียกตรงนี้ว่า ตริเวณี อีกชื่อหนึ่ง ซึ่งในเรื่องกามนิตเรียกว่า จุฬาตรีคูณ ณ สถานที่นี้ ทุกระยะครบรอบสิบสองปี ครั้งหนึ่งมีงานออกร้านเป็นงานใหญ่เรียกว่า กุมภเมลา เพราะเป็นขณะที่ดาวพฤหัสบดี ยกเข้าสู่ราศีกุมภ์ และพระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ มีประชาชนชาวฮินดูนับจำนวนเป็นล้าน พากันทำบุญยาตรา มาสระบาปสนานกาย ในแม่น้ำคงคาตรงที่นี้ เชื่อว่าสามารถล้างบาปให้หมดสิ้นไป
                      ชาวฮินดูมักเรียกแม่น้ำนี้ว่า คงคามาตา หรือ
แม่พระคงคา นับแต่ยอดน้ำที่เชิงเขาหิมาลัย จนถึงปากน้ำออกทะเลที่อ่าวเบงกอล เรื่องราวของแม่น้ำคงคามีปรากฎเป็นครั้งแรก ในมหากาพย์มหาภารต และรามายณะ แล้วจึงมีเรื่องอยู่มากมายในหมวดคัมภีร์ปราณะ ซึ่งได้เค้าเรื่องจากกาพย์ทั้งสองดังกล่าว
                       ตามคติพุทธศาสนาฝ่ายมหายายของจีนกล่าวว่า แม่น้ำคงคาไหลออกจากช่องพระกรรณข้างหนึ่งของพระศิวะ ลงสู่สระอนวตัปตะ (
สระอโนดาด) แล้วจึงไหลออกจากช่องโคมุขีของสระนั้น ผ่านมัธยมประเทศลงสู่ทะเลทางตะวันออก
                       ทางพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทกล่าวไว้ในคัมภีร์อรรถกถาว่า มีแม่น้ำไหลจากสระอโนดาด ในป่าหิมพานต์อยู่สี่สาย สายที่อยุ่ทางทิศใต้ของสระ ได้ไหลไปในรูปแบบต่าง ๆ ในที่สุดได้ไหลมาถึงหินลาดชื่อ วิชฌ แยกเป็นห้าสายคือ แม่น้ำใหญ่ทั้งห้า หรือ
ปัญจมหานที           ๔/ ๒๓๗๙
            ๘๖๒. 
คงคา ๒  เป็นชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่ง ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี           ๔/ ๒๓๘๗
            ๘๖๓.
คงคาเดือด  เป็นชื่อพรรณไม้ชนิดหนึ่งทางภาคกลาง สูงประมาณ ๑๕ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มทึบ ลำต้นคดงอ บางท้องที่เรียกว่า ตะไล หรือตะไลคงคา หรือช้างเผือก ใบเป็นช่อเรียงสลับกัน ช่อหนึ่งมีใบย่อย ๕ ๗ ใบ ดอกสีเขียว ๆ เหลือง ๆ ขนาดย่อม ออกเป็นช่อเรียว ๆ ตามง่ามใบ ผลเล็กสีเขียวอ่อน แก่จัดแห้งเป็นสีน้ำตาล          ๔/ ๒๓๘๗
            ๘๖๔.
คงเครา - นาย  พ่อเมืองละโว้ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๗๘๑ แผ่นดินซึ่งเป็นประเทศไทย ในปัจจุบันมีบางส่วนเป็นอาณาเขตที่ขอมปกครองอยู่ โดยเฉพาะเมืองละโว้ (ลพบุรีก็เป็นเมืองส่วยขึ้นกับขอมเช่นกัน และที่เมืองละโว้มีทะเลชุบศร ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในลัทธิศาสนาพราหมณ์ ที่เชื่อว่าเป็นห้วงน้ำที่พระรามเอาพระแสงศรมาชุบ ก่อนที่จะแผลงศรไปผลาญศัตรู ด้วยเหตุนี้น้ำในทะเลชุบศร จึงถือว่าเป็นน้ำที่ทำให้เกิดศิริมงคล พระเจ้าแผ่นดินขอมได้กำหนดให้ พ่อเมืองละโว้ตักน้ำในทะเลชุบศร ส่งไปยังพระนครหลวงกำหนดสามปีครั้งหนึ่ง
                      ในสมัยดังกล่าว นายคงเคราเป็นพ่อเมืองละโว้ จึงต้องทำหน้าที่ส่งส่วยน้ำไปให้ขอม นายคงเครามีบุตรหนึ่งคน
ชื่อนายร่วง เมื่อนายคงเคราตาย นายร่วงก็ได้เป็นพ่อเมืองละโว้ต่อมา           ๔/ ๒๓๘๙
            ๘๖๕.
คชศาสตร์  เป็นตำราลักษณะช้าง ได้ความว่าไทยได้มาจากอินเดีย มีเป็นสองคัมภีร์คือ คัมภีร์คชลักษณ์ ว่าด้วยลักษณะช้าง และคัมภีร์คชกรรม ว่าด้วยวิธีหัดช้างเถื่อน และวิธีหัดขี่ช้าง กับมนต์สำหรับบังคับช้าง และระเบียบพิธีต่าง ๆ
                      ชาวอินเดียสามารถคิดจับช้างมาใช้งานได้ ก่อนมนุษย์จำพวกอื่นมาช้านาน จนถึงพวกพราหมณ์สามารถรวบรวมความรู้ในการจับช้างเข้าเป็นตำราเรียกว่า คชศาสตร์ขึ้นแล้วแพร่หลายออกไปถึงประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย
                      วิธีจับช้างเถื่อน ที่ชาวอินเดียมาสอนไว้มีสามอย่างอย่างหนึ่งเรียกว่า วังช้าง คือ จับช้างเถื่อนหมดทั้งโขลง อย่างหนึ่งเรียกว่าโพนช้าง คือ ไล่จับช้างเถื่อนแต่ละตัว อย่างหนึ่งเรียกว่า เพนียด คือต้อนโขลงช้างเข้ามาในคอกมั่นคง ซึ่งเรียกว่า เพนียดแล้วเลือกจับแต่ช้างบางตัวที่ต้องการ แล้วปล่อยให้โขลงช้างกลับไป
                      การจับช้างเกือบทั้งสามวิธีนี้ ในตำราว่าต้องมี ช้างต่อ คือช้างที่ได้ฝึกหัดเชื่องแล้ว ใช้ช่วยกำลังของผู้จับด้วย จึงสามารถจับช้างเถื่อนได้        ๔/ ๒๓๙๐
            ๘๖๖.
คชสีห์  เป็นสัตว์ในนิยายมีรูปเหมือนราชสีห์ แต่มีงวงเหมือนช้าง ใช้เป็นตราเครื่องหมายประจำตำแหน่ง เจ้าพระยามหาเสนาบดี สมุหกลาโหม เรียกว่า ตราคชสีห์ ภายหลังใช้เป็นตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ต่อเนื่องกันมาตามลำดับ และใช้เป็นเครื่องหมายประจำกระทรวงกลาโหมด้วย
                    ตราเครื่องหมายประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และสำนักนายกรัฐมนตรี ก็มีคชสีห์รวมเป็นเครื่องหมายอยู่ด้วย โดยนำเอาตราประจำตำแหน่งสมุหนายก และสมุหกลาโหมของเดิม มาประกอบกันเป็นรูปรักษารัฐธรรมนูญ            ๔/ ๒๓๙๓
            ๘๖๗.
คชาธาร  คือการผูกช้างพระที่นั่งสำหรับพระมหากษัตริย์ ทรงเสด็จออกศึก การผูกช้างแบบนี้เรัยกว่า ผูกเครื่องมั่น ใช้สับคับคชาธารเรียกว่า พระที่นั่งพุดตาลทอง ตั้งกลางหลังช้างผูกโยงด้วยเชือก ให้ยึดมั่นกับตัวช้าง กลางพระที่นั่งพุดตาลปักเศวตฉัตรคันดาน มีกองซ้ายขวา ด้านหน้าและตรงกลาง ด้านหลังสองข้างพระที่นั่งพุดตาล ผูกศัตราวุธทั้งซ้ายและขวา เหมือนกันดังนี้ ทวน ง้าว โตมร ปืน หอกซัด มีนายท้ายช้างทำหน้าที่บังคับช้าง และมีกลางช้าง นั่งบนเปลตาข่าย ซึ่งมีหลักปักแขวนอยู่กลางพระที่นั่งพุดตาล สองมือถือแพนหางนกยูง ทำหน้าที่ให้อาณัติสัญญา พระมหากษัตริย์ทรงถือกระแสงของ้าว ประทับเหนือคอช้างรบกับข้าศึก ที่เรียกว่า ยุทธหัตถี           ๔/ ๒๓๙๑
            ๘๖๘.
คณบดี  ตามรูปศัพท์แปลว่า หัวหน้าหมู่ ที่ใช้กันในปัจจุบันหมายเฉพาะตำแหน่งหัวหน้าคณะ ในมหาวิทยาลัย ใช้เป็นตำแหน่งหัวหน้าคณะวิชา           ๔/ ๒๓๙๕
            ๘๖๙.
คณะราษฎร  เป็นบุคคลคณะหนึ่งได้ออกประกาศยึดอำนาจการปกครองประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศไทย จากระบอบเดิมที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุด มาเป็นการปกครองตามระบอบรัฐธรรมนูญ
                      คำว่าคณะราษฎรได้เปลี่ยนใช้เป็นคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕        ๔/ ๒๓๙๖
            ๘๗๐.
คณะสงฆ์  ได้แก่องค์คณะของภิกษุสงฆ์ ซึ่งได้รับการบรรพชาอุปสมบทตามพระวินัยพุทธบัญญัติ ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มีจำนวนตั้งแต่สองรูปขึ้นไป ประพฤติพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัย อันเดียวกัน
                     คณะสงฆ์แต่เดิมนั้น เมื่อพระพุทธเจ้ารับผู้ที่เลื่อมใสในสัจธรรมของพระพุทธศาสนา และประสงค์เข้าเป็นพวก พระพุทธองค์ก็ทรงรับไว้ด้วยพระองค์เอง ผู้ที่สมัครเข้ามามีสองประเภทด้วยกัน ประเภทหนึ่งเป็นผู้เห็นธรรมแต่ยังไม่สิ้นกิเลส พระองค์จะทรงอนุญาตด้วยพระวาจาว่า "
ท่านจงเป็นพระภิกษุเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด"  อีกประเภทหนึ่งเป็นผู้เห็นธรรมทั่วถึง สิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์แล้ว พระองค์จะทรงอนุญาตด้วยพระวาจาว่า   "ท่านจงเป็นภิกษุเถิด ธรรมเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด"
                    คำว่าสงฆ์เมื่อกำหนดในสังฆรัตนะได้แก่ภิกษุตั้งแต่หนึ่งรูปขึ้นไป เมื่อกำหนดตามพระวินัยเนื่องด้วยการปกครองได้แก่ ภิกษุตั้งแต่สี่รูปขึ้นไปบ้าง ห้ารูปบ้าง สิบรูปบ้าง ยี่สิบรูปบ้าง ตามจำนวนองค์ประชุมอย่างต่ำในกิจนั้น ๆ ที่เรียกว่า
สังฆกรรม
                   
การปกครองคณะสงฆ์  เมื่อมีผู้สมัครเข้ามาบวชเป็นพระภิกษุ  ในระยะแรก ๆ พระภิกษุสงฆ์ก็จะพามาเฝ้าพระพุทธเจ้า แล้วพระพุทธเจ้า ก็ประทานอุปสมบทเป็นคราว ๆ ไป  เมื่อขยายวงกว้างออกไป การพามาเฝ้าเช่นนั้นย่อมเป็นการลำบาก จึงทรงอนุญาตให้พระสาวก รับผู้สมัครเข้าบวชได้ด้วยวิธี ให้ผู้สมัครนั้นปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสวะตามธรรมเนียมของพระภิกษุแล้วให้รับสรณะคมณ์ถึงพระรัตนตรัย เป็นสรณะด้วยความเคารพอย่างแท้จริง แล้วก็เป็นอันสำเร็จความเป็นพระภิกษุ วิธีนี้เรียกว่า ติสรณคมนูปสมบท
                      ในยุคต้นแห่งปฐมโพธิกาลนี้ การรับคนเข้าบวช พระพุทธเจ้าทรงเองบ้าง โปรดให้พระสาวกรับบ้าง  ต่อมาในราวมัชฌิมโพธิกาล จึงโปรดให้การรับคนเข้าบวช เป็นอำนาจของสงฆ์ กำหนดด้วยองค์ประชุมอย่างต่ำเพียงสิบรูปเป็นใช้ได้  ต่อมาโปรดให้ลดจำนวนลงมาเป็นห้า เฉพาะในถิ่นที่หาพระภิกษุได้ยาก  วิธีนี้เรียกว่า
ญัตติจตุตถกรรมอุปสมบท เป็นวิธีที่พระสงฆ์ปฏิบัติกันอยู่เวลานี้
                      เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรนิพพานแล้ว พระองค์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดเป็นผู้แทนพระองค์ แต่ได้ตรัสบอกไว้ว่า "
พระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงแสดงแล้ว ทรงบัญญัติแล้วนั้นแลเป็นศาสดาของภิกษุสงฆ์"
                      การปกครองคณะสงฆ์ กล่าวโดยทั่วไปก็อนุวัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของถิ่น และระบอบการปกครองฝ่ายอาณาจักรมาแต่ดั้งเดิมแล้ว ใน
สมัยสุโขทัยในจารึกครั้งพ่อขุนรามคำแหง ฯ ประมาณปี พ.ศ.๑๘๒๓ ว่าที่นครสุโขทัยมีสังฆราชมีปู่ครู มีมหาเถร มีเถร ทำให้เข้าใจว่าการปกครองคณะสงฆ์ในยุคสุโขทัยตอนต้นคงมีแต่คณะเดียว มีพระสังฆราชเป็นสังฆปรินายกชั้นสูงสุด และมีตำแหน่งรองลงมาเป็นลำดับ  ตกมาถึงสมัยสุโขทัยตอนปลาย พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานสมณศักดิ์แก่พระสงฆ์ผู้เป็นหัวหน้าผู้ปกครอง ซึ่งกลายมาเป็นพระราชาคณะและพระครูมีชื่ออย่างทุกวันนี้ มีการกำหนดว่าในหัวเมืองใหญ่มีสังฆราชาปกครองทุกเมือง ในเมืองเล็กมีพระครูปกครอง แต่ในราชธานีกำหนดไว้ว่าคณะคามวาสีมีพระพุทธโฆษาจารย์เป็นเจ้าคณะใหญ่ คณะอรัญวาสีมีพระวันรัตเป็นเจ้าคณะใหญ่
                      ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในยุคต้น การปกครองคณะสงฆ์คงเป็นไปตามที่ปฏิบัติมาในสมัยกรุงสุโขทัย  ต่อมาได้แบ่งการปกครองคณะสงฆ์ออกเป็นฝ่ายขวา กับฝ่ายซ้าย คือ แบ่งคามวาสีฝ่ายซ้ายให้สมเด็จพระอริยวงศญาณปกครอง คามวาสีเดิมให้สมเด็จพระวันรัตว่า แต่คณะปักษ์ใต้ฝ่ายขวา และคณะอรัญวาสีมีพระพุฒาจารย์เป็นเจ้าคณะใหญ่ ในสมัยอยุธยาได้ทรงสถาปนาตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เป็นสมเด็จหมด คำว่าสมเด็จ ไทยเรานำมาจากคำเขมร
                      ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์มีการจัดการปกครองคณะสงฆ์เหมือนสมัยอยุธยา ก่อนประกาศใช้ พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ.๑๒๑ (พ.ศ.๒๔๔๕) คณะสงฆ์มีอยู่สามนิกายคือ
มหานิกาย ธรรมยุติกนิกาย และรามัญนิกาย ยังมีพวกอานัมนิกาย และจีนนิกาย ซึ่งไม่ใช้ภาษาบาลีสันสกฤต คงไว้แต่ภาษาของตนเอง สองนิกายหลังดังกล่าวไม่ได้รับยกย่องเป็นภิกษุสงฆ์ เป็นแต่นับว่าเป็นนักพรต
                      การปกครองอันต่างโดยนิกายเหล่านี้จัดเป็นสี่คณะคือ
คณะเหนือ คณะใต้ คณะกลาง และคณะธรรมยุติกนิกาย ทั้งสามคณะข้างต้นมีสมเด็จพระราชาคณะเป็นเจ้าคณะใหญ่ ส่วนคณะธรรมยุติกนิกาย มีเจ้านายปกครองติดต่อตลอดมาจนถึงประกาศใช้ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๔๘๔ มีสมณศักดิ์เป็นสมเด็จเจ้าคณะใหญ่ มีฐานานุกรมเป็นพิเศษกว่าสมเด็จเจ้าคณะอื่น
                      คณะอรัญวาสีนั้นเป็นคณะพิเศษ และเป็นคณะอิสระ มีมาแต่ครั้งโบราณ  ต่อมาเมื่อมีการตั้งคณะเหนือและคณะใต้ แล้วก็รวมคณะอรัญวาสีเข้าไว้ในเขตของตน ๆ
                      คณะรามัญนั้นรวมจัดคณะสงฆ์เป็นรามัญเข้าไว้เช่นเดียวกับคณะธรรมยุตินิกาย พระสุเมธาจารย์เป็นเจ้าคณะ มีสมณศักดิ์สุดแต่จะโปรดเกล้า ฯ เสมอพระราชาคณะชั้นธรรมเป็นอย่างสูง
                      เนื่องในการปกครองนี้ ผู้มีตำแหน่งในการปกครองได้โปรดให้มีสมณศักดิ์ ตามลำดับชั้นดังนี้
                      ๑. สมเด็จพระสังฆราช ทรงปกครองสังฆมณฑลทั่วไป
                      ๒. สมเด็จพระราชาคณะ เจ้าคณะใหม่
                      ๓. พระราชาคณะผู้ใหญ่มีสี่ชั้นคือ ชั้นเจ้าคณะรอง ชั้นธรรม ชั้นเทพ ชั้นราช
                      ๔. พระราชาคณะสามัญมีสามประเภทคือ พระราชาคณะเปรียญ พระราชาคณะสมถและฝ่ายวิปัสสนา พระราชาคณะยก
                      วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ หากจะเรียกนามวัดกันให้เต็มที่ จะต้องเรียกว่า “วัดป่าสิริวัฒนวิสุทธิ์ ในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณีวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” วัดนี้จัดสร้างขึ้นบนที่ดินของกรมธนารักษ์ ตั้งอยู่บนยอดเขาโคกแผ่น บ้านโคกแผ่น ตำบลทำนบ อำเภอท่าตะโก จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ ๙๖ ไร่เศษ เริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ รูปแบบเป็นรูปเหมือนเรือที่ยกเอาเรือไปตั้งอยู่บนภูเขาชื่อราชญาณนาวาฑีฆายุมงคล อันมีความหมายถึงที่ซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง และได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า
                      การศึกษาของคณะสงฆ์ การเล่าเรียนในพระพุทธศาสนานั้น เมื่อแรกตั้งพระศาสนาผู้ที่สมัครเข้ามาถือพระพุทธศาสนามีสองพวกด้วยกัน พวกหนึ่งฟังธรรมแล้วรู้ทั่วถึงธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อบวชแล้วกิจที่จะศึกษาเป็นอันไม่มี อีกพวกหนึ่งเป็นแต่พอใจในหลักธรรม เมื่อบวชแล้วต้องศึกษาให้ถึงที่สุด
                      หลักสูตรที่จะศึกษาในโอวาทปาติโมกข์มีศีลสิกขา จิตสิกขา และปัญญาสิกขา และท่านแสดงธุระในพระศาสนาไว้สองอย่างคือคันถธุระและวิปัสสนาธุระ
            ๘๗๑.
คณาจารย์  เป็นชื่อตำแหน่งฝ่ายปริยัติของคณะสงฆ์ในประเทศไทย มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖  สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชทรงปรารถนาจะแยกการปกครองที่เรียกว่าฝ่ายบริหารกับการศึกษาที่เรียกว่าฝ่ายปริยัติออกจากกันเพื่อต่างฝ่ายต่างได้โอกาสจัดการ ในฝ่ายนั้น ๆ ให้เจริญรุ่งเรืองไปตามควรแก่กาลสมัย มีการจัดตั้งตำแหน่งฝ่ายปริยัติขึ้นเทียบตำแหน่งฝ่ายบริหารชั้นนั้น ๆ คือ อาจารย์เอก อาจารย์โท อาจารย์ตรี อาจารย์ใหญ่และอาจารย์รอง เทียบกับเจ้าคณะมณฑล เจ้าคณะเมือง เจ้าคณะแขวง เจ้าอาวาส และรองเจ้าอาวาส ตามลำดับ
                    ตำแหน่งในฝ่ายปริยัติมีหน้าที่เป็นผู้สอนพระศาสนา แต่งหนังสือสอนพระศาสนา และเป็นผู้สอนความรู้ในพระธรรมวินัยของภิกษุสามเณร            ๔/ ๒๔๓๐
            ๘๗๒.
คณิตศาสตร์  ในแง่ตรรกวิทยาเกี่ยวกับคุณลักษณะมากพอ ๆ กับที่เกี่ยวกับความนึกคิดและเหตุผลที่เป็นไป ในทางรูปร่าง การจัดลำดับและปริมาณ            ๔/ ๒๔๓๔
                    คณิตศาสตร์ประยุกต์ เป็นคณิตศาสตร์แขนงหนึ่งซึ่งนำไปใช้กับฟิสิกส์ ชีววิทยาและสังคมวิทยา
                    คณิตศาสตร์การคลัง เป็นคณิตศาสตร์ใช้ในการธนาคารและการประกัน
                    คณิตศาสตร์บริสุทธิ์ เป็นการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับหลักคณิตศาสตร์เพื่อให้เกิดประโยชน์ในทันทีทันใด
            ๘๗๓.
คเณศ - พระ  เป็นเทพองค์หนึ่งในลัทธิศาสนาฮินดู ตัวเป็นคน หัวเป็นช้าง ปรกติมีสี่มือ ชาวฮินดูถือว่า พระคเณศเป็นเทพประจำความขัดข้อง และเป็นผู้อำนวยความสำเร็จให้แก่กิจการต่าง ๆ  เหตุนี้พระคเณศโดยนัยหนึ่งจึงเป็นเทพประจำศิลปวิทยาด้วย
                    พระคเณศเป็นเชษฐโอรสของพระอิศวรกับพระอุมา กำเนิดของพระคเณศมีอยู่มากมายหลายเรื่องด้วยกัน บางเรื่องก็มีข้อความขัดแย้งกัน           ๔/ ๒๔๓๕
            ๘๗๔.
คด  เป็นของขลังอยู่ในพวกเครื่องราง มีชื่อเรียกตามฐานะที่เกิด คือเกิดแต่ปลาหมอ เรียกว่า คดปลาหมอ เกิดแต่หอยเรียกว่า คดหอย เกิดจากไม้สักเรียกคดไม้สัก เกิดแต่จอมปลวกเรียกคดปลวก เกิดแต่หินเรียกว่า คดหิน ฯลฯ           ๔/ ๒๔๔๓
            ๘๗๕.
คทาจอมพล  หมายถึงวัตถุอย่างหนึ่ง รูปลักษณะคล้ายคทา และกำหนดให้จอมทัพ และจอมพล ใช้ถือเป็นเครื่องประดับเกียรติยศ
                    ตำนานคทา ในสมัยดึกดำบรรพ์ การถือไม้หรือคทา เพื่อเป็นเครื่องหมายประดับเกียรติยศ หรือบอกตำแหน่งนั้นได้ ใช้กันในประเทศต่าง ๆ ตามริมฝั่งทะเลเมดิเตอเรเนียนมาแต่โบราณกาลแล้ว ทั้งในวงการทหาร พลเรือน และศาสนา ต่อมาสมัยกรีกและโรมัน ได้มีการดัดแปลงรูปลักษณะของไม้ถือให้ผิดแผกออกไปตามคตินิยมของตน ประเพณีแพร่ออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วยุโรป แต่ได้ดัดแปลงรูปลักษณะเสียใหม่
                    คทาจอมพลของกองทัพไทย อันแรกนั้น นายพลโท พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นนครไชยศรีสุรเดช ได้สร้างขึ้นและนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๖
                    สำหรับประเทศไทยได้เริ่มประเพณีให้จอมพลเรือ และจอมพลอากาศ ได้รับคทาจอมพลเมื่อไม่นานมานี้เองคือ จอมพลอากาศเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๗ และจอมพลเรือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๙           ๔/ ๒๔๔๕
            ๘๗๖.
คนทา,สีฟันคนทา   เป็นไม้พุ่มที่ลำต้นมักทอดพาดไปตามต้นไม้อื่นบ้าง ตามผิวเปลือก มีหนามแหลมใบเป็นช่อเรียงสลับกัน ใบย่อยเรียงตรงข้ามกัน มีใบยอดอยู่ปลายช่อดอกออกเป็นช่อสั้น ๆ ตามง่ามใบ หรือปลายกิ่ง สีม่วงน้ำตาล ผลกลม ๆ เป็นพู ห้าพู ราง ๆ สีเขียว            ๔/๒๔๗๓
               ๘๗๗.
คนทิสอ, คนสอ  เป็นไม้พุ่มลักษณะคล้ายคนทีเขมา ใช้เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งในตำรายาไทย            ๔/ ๒๔๗๓
               ๘๗๘.
คนทีเขมา  เป็นไม้พุ่ม ต้นสูง ๒ - ๓ เมตร กิ่งก้านสี่เหลี่ยม ใช้เป็นสมุนไพร ใบเป็นช่อเรียงตรงกันข้าม ดอกออกเป็นช่อโปร่ง ๆ ตามปลายกิ่ง ดอกเล็กสีม่วงน้ำเงินอ่อน ผลกลมแก่จัดสีดำ           ๔/ ๒๔๗๕
               ๘๗๙.
คนธรรพ์  เป็นชาวสวรรค์จำพวกหนึ่ง ตามคติลัทธิศาสนาฮินดูว่ามีกำเนิดจากพรหม แต่บางทีก็ว่าเป็นโอรสพระกัตยปฤษี ตามปกติพวกคนธรรพ์มีบ้านเมืองของตนเองอยู่ระหว่างสวรรค์และมนุษยโลก และกล่าวว่าเป็นพวกมีนิสัยเป็นเจ้าชู้ มีเสน่ห์ทำให้ผู้หญิงหลงรัก
                          คนธรรพ์มีหน้าที่ปรุงน้ำโสม (เหล้าเทวดา) สำหรับเทวดาเสวย และพวกที่อยู่บนสวรรค์ของพระอินทร์ มีหน้าที่ขับร้องและเล่นดนตรีบำเรอเทวดา ดังนั้นวิชาดนตรีจึงได้ชื่อว่าคนธรรพวิทยา
                         วรรณคดีอินเดียรุ่นหลังบางทีก็เอาพวกคนธรรพ์ไปปนกับพวกกินนร ในตำราดนตรีของอินเดียว่ากินนรมีหน้าที่ทำเพลงดนตรี คนธรรพ์เป็นผู้ร้องลำนำ และนางอัปสรเป็นผู้ทำระบำ รูปร่างคนธรรพ์ของชาวฮินดู มีรูปตามที่เขียนไว้ ตอนบนเป็นมนุษย์ตอนล่างเป็นนกคล้ายรูปนางกินนรของไทย ส่วนรูปกินนรของฮินดู มีหน้าเป็นม้าตัวเป็นคน
                         ทางพระพุทธศาสนาว่าคนธรรพ์เป็นจำพวกอมนุษย์ครึ่งเทวดา อาศัยอยู่บนสวรรค์จาตุมหาราชิกา อันเป็นสวรรค์ชั้นต่ำสุดและมีท้าวธตรฐผู้เป็นโลกบาล ประจำทิศตะวันออกเป็นบดีแห่งหมู่คนธรรพ์และกล่าวว่าคนรธรรพ์ อสูร นาค รวมเป็นอมนุษย์จำพวกเดียวกัน            ๔/ ๒๔๗๙
               ๘๘๐.
คนธรรพศาสตร์  ดูคานธรรพเวท       ( ลำดับที่ ๑๐๓๖)    ๔/ ๒๔๗๙
                ๘๘๑.
คบเพลิง  ของใช้สำหรับจุดไฟให้สว่าง ทำด้วยวัตถุที่ติดไฟได้นานเช่นน้ำมันยาง เทียนไข เอามามัดเป็นด้ามยาว ถือไปได้ หรือทำเป็นกระบอกโลหะบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิง   คบเพลิงนี้ใช้ในงานกีฬาโอลิมปิค และการแห่เวลาค่ำ       ๔/ ๒๔๗๙
               ๘๘๒.
คมนาคม  มีความหมายว่าทางไปและทางมาหรือการติดต่อ คำนี้จะได้เริ่มแพร่หลายในภาษาไทย ตั้งแต่เมื่อใดยังค้นหาไม่พบ ตามหลักฐานที่หาได้ปรากฎว่าทางราชการได้ใช้คำนี้เป็นชื่อกระทรวงใหม่ ซึ่งเปลี่ยนจากกระทรวงโยธาธิการเดิม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๖ กระทรวงคมนาคม มีหน้าที่ดำริและจัดการส่งข่าวสาร และทำทางน้ำ ทางบก มีกรมขึ้นสามกรมคือ กรมรถไฟ กรมไปรษณีย์โทรเลข และกรมทาง            ๔/ ๒๔๗๙

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |