| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

 

เล่มที่ ๖ คุหยัก - แค้       ลำดับที่ ๑๑๐๖ - ๑๑๔๗      ๖/๓๒๕๕ - ๓๘๗๙

            ๑๑๐๖. คุหยัก  เป็นชื่ออมนุษย์จำพวกหนึ่ง เป็นบริวารท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งเป็นจตุโลกบาลประจำทิศเหนือ มีหน้าที่ดูแลขุมทรัพย์ใต้ดินของท้าวกุเวร           ๖/๓๒๕๕
            ๑๑๐๗. คู่โค  เป็นคำเรียกนาประเภทหนึ่ง เนื่องในการเก็บอากรค่านาว่า นาคู่โค
                       คำว่า นาคู่โค นี้ สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ประทานอธิบายไว้ว่า พระองค์เพิ่งทรงทราบความหมายเมื่อเสด็จไปเห็นประเพณีเก็บค่านาที่เมืองปัตตานี ซึ่งเดิมเขาไม่รังวัดที่ดินทีเดียว สำรวจเอาจำนวนโคที่ใช้ทำนาตั้งเป็นหลัก ของอัตราค่านา ด้วยถือเป็นยุติว่าโคคู่หนึ่ง คงจะทำนาในที่เช่นนั้นได้ผลประมาณปีละเท่านั้น           ๖/๓๒๕๕
            ๑๑๐๘.
คูน  เป็นไม้ต้นขนาดย่อมถึงขนาดกลางสูง ๑๐ - ๑๕ เมตร เปลือกสีเทาเรียบ ใบเป็นชื่อเรียงสลับกัน ช่อหนึ่งมี ๗ - ๙ ใบ ดอกสีเหลืองออกเป็นช่อห้อยยาว ๒๐ - ๓๐ ซ.ม.  ผลเป็นฝักกลมเกลี้ยงสีดำยาว ๓๐ - ๔๐ ซ.ม. เนื้อไม้สีแดงแกมเหลือง แข็งทนทานใช้ทำเสา เครื่องประกอบเกวียน คันไถและเครื่องกลึง           ๖/๓๒๖๖
            ๑๑๐๙.
คูราเซา  ๑. ดินแดนซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของเนเทอร์แลนด์ ปัจจุบันมีฐานะเป็นดินแดนโพ้นทะเล ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรเนเทอร์แลนด์ด้วย ดินแดนแห่งนี้รวมอยู่ในหมู่เกาะแอนทีลิสน้อย ซึ่งรวมอยู่ในหมู่เกาะอินเดียตะวันตก ในทะเลคาริบเบียน
                       ๒. เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในดินแดนโพ้นทะเล ของราชอาณาจักรเนเทอร์แลนด์ ชาวเสปญเป็นผู้ค้นพบ เมื่อปี พ.ศ.๒๐๔๒ และเข้าครอบครอง เมื่อปี พ.ศ.๒๐๗๐ บริษัทดัทช์เวสต์อินเดียยึดจากเสปญ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๗๗ ต่อมาอังกฤษเข้ายึดครองระหว่างปี พ.ศ.๒๓๕๐ - ๒๓๕๗ เมื่อทำสนธิสัญญาปารีสแล้ว ก็กลับมาเป็นของเนเทอร์แลนด์อีก           ๖/๓๒๖๘
            ๑๑๑๐. 
คูรี  เป็นชื่อครอบครัวนักฟิสิกส์ ชาวฝรั่งเศส ที่มีชื่อเสียงในทางวิทยาศาสตร์กายภาพครอบครัวหนึ่ง มาดามคูรี และเปียร์ คูรี สามีภรรยาคู่นี้ได้ร่วมกันศึกษากัมมันตภาพรังสี และพบธาตุโปโลเนียม และธาตุเรเดียม ส่วนบุตรีของมาดามคูรี ชื่อ ไอรีน กับสามี เฟรดเดอริก โจลิโอท์ คูรี ก็พบวิธีสังเคราะห์ธาตุกัมมันตภาพรังสีเทียมขึ้น ทั้งสี่คนได้ค้นพบสิ่งต่าง ๆ หลายสิ่งที่เป็น ประโยชน์ในทางพลังงานอะตอมมาก          ๖/๓๒๖๕
            ๑๑๑๑.
คูลิคช์, คาลวิน  (พ.ศ.๒๔๑๕ - ๒๔๗๖)  เป็นประธานาธิบดีคนที่ ๑๐ ของสหรัฐอเมริกา
                       สืบเชื้อสายมาจากครอบครัวกสิกรซึงตั้งหลักแหล่งอยู่ในแถบนิวอิงแลนด์ เป็นพวกฟิวริแตนต์ที่เคร่งครัดมาก คูลิช ศึกษาวิชากฎหมายและเริ่มอาชีพเป็นทนายความ ต่อมาได้เข้าสังกัดพรรครีพับลิกัน ได้ผ่านงานบริหารประเทศมาเป็นลำดับ จนได้รับเลือกเป็นผู้ว่าการมลรัฐมาสซา จู เซตต์ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๑ ได้เป็นรองประธานาธิบดี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓ และได้เป็นประธานาธิบดี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ หลังจากที่ประธานาธิบดีวอร์เรน จี. ฮาร์ดิง ถึงแก่กรรมอย่างกะทันหัน
                       ในปี พ.ศ.๒๔๖๙ คูลิชได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง โดยได้รับชัยชนะเหนือคู่ต่อสู้อย่างมากมาย ความสนใจส่วนใหญ่ของคูลิช อยู่กับกิจการภายในประเทศ มุ่งปรับปรุงเศรษฐกิจ ตัดรายจ่ายลง ควบคุมการอพยพของคนต่างด้าว สนับสนุนการจัดตั้งศาลโลก การลดอาวุธ
            ๑๑๑๒. 
เคฟเทาน์  เป็นชื่อเมืองอยู่ตอนใต้สุดของทวีปอัฟริกา เป็นเมืองหลวงของมณฑลเคฟออฟ กูดโฮป ซึ่งเป็นมณฑลหนึ่งในสหภาพอัฟริกาใต้ และเป็นเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของอัฟริกาใต้
                       เมืองเคฟเทาน์ เป็นเมืองเก่าแก่ที่สุดของชาวยุโรปในอัฟริกาใต้ ในปี พ.ศ.๒๑๙๕ ผู้แทนของบริษัทดัชอิสท์อินเดียคอมปานี ได้เข้าไปจับจองและตั้งเมืองขึ้น เป็นอาณานิคมของฮอลันดา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๓๕๙ เมื่ออังกฤษทำลายกำลังทางเรือของฝรั่งเศส ในการยุทธที่ทราฟัลการ์ แล้วอังกฤษก็เข้าครอบครองบริเวณดังกล่าว           ๖/ ๓๒๗๘
            ๑๑๑๓.
เคฟแวร์เด  เป็นหมู่เกาะของประเทศโปร์ตุเกส ประกอบด้วยเกาะใหญ่ ๑๐ เกาะ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติก  ห่างจากฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ ของทวีปอัฟริกาประมาณ ๕๑๒ กม. มีเมืองไปรอาเป็นเมืองหลวงของหมู่เกาะ
                       คา ดามอสโต ชาวเรือนครเวนิส ซึ่งทำงานกับเจ้าชายเฮนรี นาวิกบุรุษแห่งประเทศโปร์ตุเกส ได้แล่นเรือไปพบหมู่เกาะเคฟแวร์เด ในปี พ.ศ.๑๙๙๙ ต่อมาในปี พ.ศ.๒๐๓๘ โปร์ตุเกสได้ประกาศให้หมู่เกาะนี้ เป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรโปร์ตุเกส          ๖/๓๒๗๙
            ๑๑๑๔.
เคมบริดช์  ๑. เป็นชื่อจังหวัดที่มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเข้านั่งในสภาสามัญของอังกฤษ ในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ทางราชการอังกฤษยกฐานะเคมบริดช์ เป็นนคร นอกจากนี้เมืองเคมบริดช์ เป็นศูนย์กลางของมณฑลเคมบริดช์ เมืองนี้ตั้งอยู่ในที่ราบภาคตะวันออกของประเทศอังกฤษ ห่างจากกรุงลอนดอนไปทางเหนือประมาณ ๙๐ กม.  สันนิษฐานว่า เมืองนี้มีกำเนิดสืบเนื่องมาจากนิคม ที่ชาวโรมันตั้งขึ้นเมื่อประมาณ สองพันปีมาแล้ว
                       ๒. เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่แห่งหนึ่งในทวีปยุโรป และเป็นมหาวิทยาลัยเก่าที่สองรองจากมหาวิทยาลัยออกสฟอร์ด ในประเทศอังกฤษ มหาวิทยาลัยนี้ตั้งขึ้นที่เมืองเคมบริดช์ ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ (ประมาณปี พ.ศ.๑๖๕๓)
                       ๓. เป็นชื่อมณฑล ตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มเป็นส่วนใหญ่ ในภาคตะวันออกของประเทศอังกฤษ
                       ๔. เป็นชื่อเมืองในสหรัฐอเมริกาเป็นเมืองเก่า เมื่อแรกตั้งในปี พ.ศ.๒๑๗๓ มีชื่อว่านิวทาวน์ ต่อมาอีกหกปี จึงเปลี่ยนชื่อเป็น เคมบริตช์ ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ของรัฐมาสซาจูเซตต์ มีชื่อเสียงเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด วิทยาลัยแรคคลิฟฟ์ และสถาบันเทคโนโลยีแห่งมาสซาจูเซตต์           ๖/๓๒๘๐
            ๑๑๑๕.
เคมี  เป็นวิชาที่อธิบายถึงส่วนประกอบของวัตถุ และการเปลี่ยนแปลงของส่วนประกอบ
                       เรื่องราวของวิชาเคมี ได้เริ่มต้นมาเป็นเวลานานมาก มีการแสดงความคิดเห็น การทดลองตั้งกฎเกณฑ์อธิบายปรากฎการณ์ต่าง ๆ และสิ่งอื่น ๆ อีกมาก จนกระทั่งเจริญรุ่งเรืองมาถึงปัจจุบัน ประวัติเรื่องราวของวิชาเคมี แบ่งออกเป็นยุคต่าง ๆ คือ
                        ๑.
ยุคโบราณ  เริ่มต้นแต่เมื่อใดยังไม่มีผู้ใดกำหนดได้ แต่คาดคะเนว่า ยุคนี้ได้สิ้นสุดลง เมื่อปี พ.ศ.๗๕๙ วิชาเคมีที่ศึกษากันสมัยนี้หนักไปทางประยุกต์ เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ความเจริญในวิทยาศาสตร์แขนงนี้ ได้เริ่มขึ้นในประเทศไอยคุปต์ อิหร่าน กรีก อินเดีย และจีน
                        ๒.
ยุคเล่นแร่แปรธาตุ  (พ.ศ.๗๕๙ - ๒๐๔๓)  ตลอดยุคนี้ชนชาติกรีก ฮินดู และชาวอาหรับ ได้พยายามที่จะแปรวัตถุต่าง ๆ ที่มีราคาต่ำให้กลายเป็นธาตุที่มีราคาสูง ๆ เช่น การแปรทองแดง หรือดีบุก ให้กลายเป็นทองคำ
                        ๓.
ยุคไอแอไทรเคมี  ยุคนี้อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๒๐ ถึง พ.ศ.๒๑๙๓  พวกปราชญ์ทั้งหลายหันมาสนใจในทางการแพทย์ หาสารเคมีต่าง ๆ มาใช้บำบัดโรค
                        ๔.
ยุคโฟลจิสตอน  (พ.ศ.๒๑๙๓ - ๒๓๒๓)  เป็นระยะที่นักปราชญ์ทั้งหลายพยายาม อธิบายการเผาไหม้ของสารต่างๆ โดยเชื่อว่าสารทุกสารมีฟลอกซ ปนอยู่ด้วยเสมอ เมื่อสารถูกเผาไหม้ ฟลอกซจะระเหยไปเหลือแต่เนื้อของสาร ซึ่งต่อมาพบว่าไม่เป็นความจริง           ๖/๓๒๘๗
                        ๕. 
ยุคปัจจุบัน  เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.๒๓๒๓ เป็นต้นมา ผู้ตั้งต้นในยุคนี้ได้แก่ ลาวัวซิเย เป็นผู้พิสูจน์ให้เห็นว่า ทฤษฎีโฟลจิสตอนไม่เป็นความจริง และได้ตั้งทฤษฎีแห่งการเผาไหม้ขึ้นมาใหม่ ดอลตัน ได้ตั้งทฤษฎีของอะตอม อะโวคาโดร ได้แถลงกฎเกี่ยวกับกาซ
                        วิชาเคมีในสมัยแรก ๆ เป็นวิชาอนินทรีย์เคมีส่วนใหญ่
            ๑๑๑๖.
เคย ดู กุ้ง  (ลำดับที่ ๔๘๒)           ๖/๓๒๙๗
            ๑๑๑๗.
เคเยนน์  ๑. ชื่อเมืองหลวงของแคว้นกิอานาของฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ของทวีปเอมริกาใต้ เมืองนี้เป็นเมืองท่าด้วย ฝรั่งเศสสร้างเมืองนี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๑๔๗
                        ๒. เป็นชื่อพริกชนิดหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่ในเขตร้อนในทวีปอเมริกาเหนือและใต้          ๖/๓๒๙๗
            ๑๑๑๘.
เครดิต  ตามรากศัพท์ในภาษาลาตินหมายถึง เชื่อหรือไว้ใจ ไทยใช้ทับศัพท์ตามความหมายในภาษาอังกฤษ มีผู้แปลคำ "เครดิต" ว่า "สินเชื่อ"  บ้างเหมือนกัน
                       คำว่า เครดิต มีความหมายกว้าง โดยทั่วไปหมายถึง หนี้ การให้กู้ยืม การให้เบิกเกินบัญชี การให้เครดิตด้วยการซื้อลด และซื้อลดช่วงตั๋วเงิน นอกจากนี้ยังใช้หมายถึง ชื่อเสียงหรือความเชื่อถือ เกี่ยวกับความสามารถที่จะชำระหนี้ของบุคคล หรือสถาบันอีกด้วย
                       คำว่า "เครดิต"  ยังใช้ในวงการศึกษาในต่างประเทศ หมายถึง มาตรฐานความรู้ของนักศึกษา          ๖/๓๒๙๗
            ๑๑๑๙.
เครียด ดู กัตรา ผีหลอก - เรือ    (ลำดับที่ ๓๐๔)      ๖/๓๒๙๘
            ๑๑๒๐.
เครื่องต้น  หมายถึง เครื่องทรงและสิ่งของทรงใช้ และเสวยของกษัตริย์ซึ่งถือกันว่าเป็นของสูง
                       พระเครื่องต้น ตามที่ปรากฎอยู่ในกฎมณเฑียรบาล (กฎหมายเก่า)  แต่เรียกว่า เครื่อง
                       เครื่องทรงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวมแปดพระองค์ จะเห็นได้ว่า เครื่องทรงหาได้ถือตามตำราพระเครื่องต้น เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอไปไม่ ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย          ๖/๓๒๙๘
            ๑๑๒๑.
เครื่องถม  ตามคำนิยามคือ วิธีทำภาชนะโดยลงยาตะกั่วทับ หรือถมรอยเป็นลวดลายต่าง ๆ
                       ไม่มีการยืนยันแน่ชัดว่า การทำถม หรือเครื่องถมนั้น ชาติใดเป็นต้นคิด ในประเทศไทยจากหลักฐานในกฎมณเฑียรบาล ซึ่งตราขึ้นครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทำให้คิดว่า เครื่องถมดำ เป็นของไทยเราคิดทำได้ ตั้งแต่ในสมัยอยุธยาตอนต้นแล้ว
                       เครื่องถมนครศรีธรรมราช เรียกกันว่า
ถมนคร ทำสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน ในกรุงเทพ ฯ มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อ บ้านพานถม ชาวบ้านทำพานถม ขันถมขาย ไม่ปรากฎว่า ทำกันมาแต่เมื่อใด
                       เครื่องถมเป็นหัตถกรรม อันวิจิตรตระการแสดงศิลปะ และวัฒนธรรมของชาติไทย ควรแก่การที่จะสงวน และรักษาไว้ตลอดไป          ๖/๓๘๑๖
            ๑๑๒๒.
เครื่องเทศ  เป็นของหอมฉุน และเผ็ดร้อนที่ได้จากส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ เช่น ลูกจันทน์เทศ  ดอกจันทน์เทศ ลูกกระวาน ใบกระวาน กานพลู ลูกผักชี ยี่หร่า อบเชย พริกไทย ดีปลี ขิง ขมิ้น
                       เครื่องเทศ ใช้ในการปรุงอาหารเพื่อชูรส และแต่งกลิ่น มีหลายชนิดที่ใช้เป็นยาแผนโบราณและยาแผนปัจจุบัน บางชนิดใช้แทรกเล็กน้อย แต่งและปรุงกลิ่นยาดม เครื่องสำอางค์ บางชนิดใช้ประกอบปรุงเข้ากับเครื่องดื่ม บางจำพวก
                       พืชเครื่องเทศส่วนมากขึ้นในเขตร้อน และเป็นสินค้าออกของทวีปเอเชีย ชาวยุโรปเริ่มใช้เครื่องเทศกันมาก มาตั้งแต่สมัยกลาง เครื่องเทศจากอินเดียตะวันออกและเมืองใกล้เคียง ยังคงเป็นสินค้าออกที่สำคัญ ส่งไปยุโรปและอเมริกา จนถึงปัจจุบัน          ๖/๓๓๓๗
            ๑๑๒๓.
เครื่องบูชา  เครื่องบูชาของไทยตามแบบแผนใช้ของสี่สิ่งเป็นสำคัญคือ เทียน ๑ ธูป ๑ ข้าวตอก ๑ ดอกไม้ ๑  แต่ตามที่ใช้กันเป็นปรกติในพื้นเมืองไทย ทางฝ่ายใต้เช่น ในกรุงเทพ ฯ เป็นต้น ชอบใช้แต่ดอกไม้ ธูป เทียน ส่วนไทยทางเหนือ เช่น ในมณฑลพายัพ ชอบใช้แต่เทียนกับข้าวตอก ดอกไม้ แต่เครื่องนมัสการของหลวง ยังคงใช้ของสี่สิ่งตามแบบ
                       เครื่องบูชาสี่สิ่งที่ไทยใช้อยู่ก็มีอยู่ในตำราพราหมณ์เหมือนกัน เครื่องบูชาของประเทศอื่นเช่น จีน และญี่ปุ่น หรือที่ถือศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก หรือศาสนาอิสลาม วัตถุที่ใช้เป็นเครื่องบูชา ก็ดูเป็นทำนองเดียวกันกับไทยคือ
                        ๑.  สิ่งซึ่งให้แสงสว่าง เช่น เทียน ตะเกียง โคม
                        ๒.  สิ่งซึ่งเผาให้เกิดควัน ใช้ธูป เนื้อไม้ และกำยาน
                        ๓.  สิ่งซึ่งให้เกิดกลิ่นหอม ใช้ดอกไม้ และข้าวตอก เป็นต้น
                       
เครื่องบูชาอย่างไทย  เครื่องบูชาที่ใช้อยู่เป็นอย่างบริบูรณ์คือ เครื่องนมัสการของหลวงอย่างหนึ่งเรียกว่า เครื่องทองทิศ สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงบูชาพระรัตนตรัย ในงานพระราชพิธีใหญ่ มีเตียงทองตั้งเชิงเทียนแถวหนึ่งห้าเชิง เชิงธูปแถวหนึ่ง ห้าเชิง พานข้าวตอกแถวหนึ่ง ห้าพาน พานดอกไม้แถวหนึ่ง ห้าพาน
                        รองลงมาคือ
เครื่องห้า สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงบูชาพระธรรม เวลาทรงสดับพระธรรมเทศนา มีเชิงเทียนสอง กระถางปักธูปหนึ่ง กรวยปักดอกไม้ห้า กรวยตั้งในพานทองลงยาราชาวดี
                        อีกอย่างหนึ่งเรียกว่า
เครื่องทองน้อย สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงบูชาเฉพาะวัตถุ เช่น พระบรมอัฐิ มีเชิงเทียนหนึ่ง เชิงธูปหนึ่ง กรวยปักดอกไม้สามกรวย ตั้งในพานทองลงยาราชาวดี
                        มีเครื่องบูชาซึ่งเป็นเครื่องย่อลงมาจากสามชนิดที่กล่าวมาแล้วอีกหลายอย่าง แต่ที่ใช้กันมากคือ
                        อย่างที่หนึ่งเรียกว่า
กระบะเครื่องนมัสการ มีแต่ของหลวง สำหรับทรงบูชาพระรัตนตรัยในงานพระราชพิธีขนาดน้อย มีกระบะเชิงถมยา หรือประดับมุก จัดเครื่องตั้งเหมือนอย่างเครื่องทองทิศ แต่ขนาดย่อลง
                        อย่างที่สอง
กระบะเครื่องห้า มีของหลวงสำหรับบูชาพระธรรมตั้งที่เตียงพระสวด และมักใช้เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย เวลามีงานตามวังเจ้านาย และบ้านขุนนางผู้ใหญ่
                        อย่างที่สาม  เป็นเครื่องบูชาอย่างน้อย มีเชิงเทียน หนึ่ง เชิงธูป หนึ่ง พานหรือถ้วยใส่ดอกไม้ สอง แต่เครื่องรองใช้ผิดกัน ตามชนิดบุคคล
                        ถ้าเป็นพระภิกษุสงฆ์ ใช้กระบะเชิงอย่างเล็ก เช่น กรวยในบริขารบวชนาค และบริขารกฐิน  พระภิกษุมักใช้เครื่องบูชาอย่างนี้ เมื่อนั่งวิปัสสนา จึงเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า
เครื่องบูชาวิปัสสนา
                        รองลงไปมีแต่เทียนเล่มหนึ่ง ธูปดอกหนึ่ง ดอกไม้ช่อหนึ่ง ถือไปปัก และวาง ณ ที่ซึ่งเตรียมไว้ ในที่มีงาน
                        ในหนังสือราชูปโภค และเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์ กล่าวถึงเครื่องนมัสการอันเป็นเครื่องบูชา ของหลวงไว้มีเจ็ดอย่างด้วยกันคือ เครื่องนมัสการทองใหญ่ เครื่องนมัสการลองลงยา เครื่องนมัสการพานทองสองชั้น เครื่องบูชาตะบะถม เครื่องทรงธรรม เครื่องห้า และเครื่องทองน้อย
            ๑๑๒๔.
เครื่องแบบ  คือเครื่องแต่งกายที่กำหนดขึ้นเป็นพิเศษให้แต่งเหมือน ๆ กัน เฉพาะหมู่หนึ่งหรือคณะหนึ่งเช่น ทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน นางพยาบาล บุรุษไปรษณี และอื่น ๆ

                       อย่างไรก็ดีตามกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้ที่ถืออาวุธในสงครามต้องสวมเครื่องแบบ เพื่อแสดงตนให้เด่นชัด ฉะนั้นจะกล่าวหนักไปในเรื่องเครื่องแบบทหาร และเครื่องแบบตำรวจ
                        เครื่องแบบทหารบก  ในพุทธศตวรรษที่ ๑๗ ถือได้ว่าทหารในยุโรปมีเครื่องแบบใช้เป็นครั้งแรก
                       
เครื่องแบบทหารบกไทย
                        ก.
สมัยอ้ายลาว (ก่อน พ.ศ.๑๑๗๓) ชายไทยสมัยอ้ายลาว ไว้ผมสูง มีผ้าโผก สวมเสื้อทั้งที่มีแขนและไม่มีแขน นุ่งกางเกงขายาว (ครึ่งแข้ง) และสักลายตามตัว จึงพออนุมานได้ว่าทหารไทย สมัยนั้นคงแต่งกายในทำนองเดียวกันนี้
                        ข.
สมัยน่านเจ้า (พ.ศ.๑๑๗๓ - ๑๖๐๐) เครื่องแต่งกายของทหารไทย สมัยนี้ได้รับอิทธิพลการแต่งกายของทหารจีนเข้ามาปนอยู่ไม่น้อย โดยจะสวมหมวกทหารสีแดง บางเหล่ามีหางวัวหรือหางแมวปักบนหมวก นุ่งกางเกงสีดำหรือสีคราม สวมเสื้อตัวสั้นไม่มีแขน ข้างนอกมีเสื้อเกราะสั้นกับหน้าอกและท้อง และมีหนังรัดเอวสีต่าง ๆ คาด เพื่อบอกชั้นยศ ไม่สวมรองเท้า อาวุธที่ใช้มีหอก ดาบ และเกาทัณฑ์ ใช้โล่ห์ทำด้วยหนังแรด สำหรับป้องกันตัว
                        ค.
สมัยเชียงแสนและสมัยสุโขทัย (พ.ศ.๑๖๐๐ - ๑๙๘๑) เครื่องประดับศีรษะ ใช้หมวกทรงฝาชี พลทหารใช้ผ้าขาวโพกผม สวมหมวกกลีบลำดวนสีต่าง ๆ เสื้อและกางเกง ถ้าเป็นกษัตริย์หรือเจ้านาย ทรงกางเกงสองชั้น ชั้นในขายาวลงมาถึงแข้ง ชั้นนอกขาสั้นขึ้นไปถึงเข่า เสื้อสวมทับกันสองชั้น ตัวนอกสั้น ตัวในยาว แขนสั้นสีต่าง ๆ คาดเข็มขัด (สายเอว) ระหว่างชายเสื้อพับแขน ชั้นนอกคาดทับด้วยผ้าคาดเอว ปล่อยให้ชายยาวห้อยลงมาทั้งสองชาย ส่วนทหารชั้นต่ำคงนุ่งกางเกง สวมเสื้อแขนสั้นมีผ้าคาดเอว ในเวลาต่อมาไทยอาจจะได้รับวัฒนธรรมขอมมาใช้ จึงมีผ้านุ่งมาร่วมอีกผืนหนึ่ง โดยได้เปลี่ยนกางเกงชั้นนนอกให้เป็นผ้านุ่ง แต่ถกขึ้นไปสูง คงเห็นแต่กางเกงยาวชั้นในที่เห็นขาแลบลงมาถึงหน้าแข้ง ปลายขากางเกงนี้จะมีลายปักสวย ๆ และเรียกใหม่ว่า สนับเพลา รองเท้า เจ้านายน่าจะสวมรองเท้าหนังที่ทำมาจากหนังวัว แต่ไพร่เลวคงจะไม่ได้สวมรองเท้า
                        ง.
สมัยอยุธยาจนถึงต้นสมัยรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๑๘๙๓ - ๒๔๑๔) เครื่องประดับศีรษะ นอกจากหมวกแล้ว ผ้าโผกก็ยังนิยมใช้กันอยู่ ในเวลารบพวกไพร่พลจะใช้ผ้าโผก หรือไม่ก็สวมมงคลชนิดต่าง ๆ เพื่อบอกหน่วยสังกัด และเป็นเครื่องรางคุ้มตัว เสื้อและกางเกง โดยธรรมดาทหารประจำการจะไม่ใคร่สวมเสื้อ แบบเสื้อคงเป็นแบบคอกลม แขนแค่ศอก เวลาออกรบอาจไม่ใส่เสื้อ หากจะสวมบ้างก็เป็นเสื้อยันต์แบบเสื้อกั๊ก ส่วนกางเกงค่อย ๆ หายไป แต่ปล่อยริมผ้านุ่ง ถกไว้สูงแบบขัดเขมร ให้ลดต่ำลงถึงหน้าแข้งแทนกางเกงเรียกว่า นุ่งโจงกระเบน  รองเท้า มีใช้กันเฉพาะนายทหารชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น
                        สรุปได้ว่า ในสมัยที่กล่าวถึงทหารไทยมีเครื่องแบบใช้แล้ว ทหารที่ปฏิบัติงานอยู่ในพระราชฐาน ใช้ผ้านุ่งแทนกางเกงเช่น กองทหารหน้า
                        จ.
สมัยรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ.๒๔๑๔ - ปัจจุบัน) หลังจากมีการจัดการฝึกทหารแบบยุโรป ได้มีการจัดระเบียบการแต่งกายของทหารเป็นแบบใหม่ มีทั้งเครื่องแบบเต็มยศและแบบปรกติในหน่วยทหารประจำการ
                       
เครื่องแบบทหารเรือไทย ในที่นี้จะกล่าวเป็นสองประเภทคือ เครื่องแบบทหารเรือพระราชพิธีและ เครื่องแบบทหารเรือปัจจุบัน
                       
เครื่องแบบทหารเรือพระราชพิธี  หมายถึง เครื่องแบบทหารเรือที่พายเรือหลวงในสมัยโบราณ ที่ใช้เป็นเรือพระที่นั่งและเรือรบในแม่น้ำลำคลอง ที่ยังเก็บรักษาไว้ใช้ประกอบพระราชพิธี แบ่งออกเป็นสองจำพวกคือ จำพวกนุ่งผ้าโจงกระเบน และจำพวกนุ่งกางเกง แต่ละจำพวกยังแบ่งออกเป็นชนิดอีกหลายชนิดคือ จำพวกนุ่งผ้าโจงกระเบน มีชุดนายเรือ ชุดนายท้ายเรือ ชุดคนนั่งคฤห์ในกันยา ชุดคนเห่ ชุดคนเส้า ชุดภูษามาลา และพนักงานศุภรัตน์ ชุดมหาดเล็กเชิญนอกและถวายงานพัด ชุดผู้ควบคุมแตรสังข์ ชุดคนเชิญพระกลด ชุดคนธง ชุดคนสัญญาณ  จำพวกนุ่งกางเกง มีชุดฝีพายเรือพวกที่นั่งทรง และพระที่นั่งรอง ชุดฝีพายเรือรูปสัตว์ ชุดฝีพายเรือเสือ ชุดฝีพายเรือกลอง ชุดฝีพายเรือตำรวจ ชุดฝีพายเรือสีตำรวจ ชุดพายเรือดั้ง ชุดฝีพายเรือแซง ชุดฝีพายเรือประตู ชุดคนตีกลองชนะ ชุดคนสังข์แตร ชุดจ่าปี่จ่ากลอง ชุดคนเชิญเครื่องสูง ชุดคนตับโหรทึก
                       
เครื่องแบบทหารเรือปัจจุบัน ได้เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๗๙ ดังปรากฎพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้า ฯ ทรงเครื่องยศทหารเรือ
                        มีพระราชบัญญัติว่าด้วยเครื่องแบบทหารเรือเป็นหลักฐานฉบับแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๘ และได้มี พ.ร.บ.แก้ไขปรับปรุงมาเป็นลำดับ ได้แก่เครื่องแบบพลทหาร นักเรียนจ่า นายทหารประทวนชั้นจ่า เครื่องแบบนักเรียนนายเรือ และนายทหารประทวนชั้นพันจ่า
เครื่องแบบนายทหารสัญญาบัตร ซึ่งประกอบด้วยเครื่องแบบ ๑๒ ชุดคือ ชุดปกติขาว ชุดปกติขาวคอแบะ ชุดปกติกากีคอแบะ ชุดฝึก ชุดสนาม ชุดเต็มยศ กับชุดครึ่งยศ ชุดสโมสรเต็มยศ ชุดสโมสรปกติ ชุดสโมสรลำลอง
                       
เครื่องแบบทหารอากาศไทย เดิมอยู่ในกรมจเรทหารช่าง จึงแต่งเครื่องแบบเช่นเดียวกับทหารบก ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙ ได้แยกออกจากกองทัพบก และได้มีกฎกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเครื่องแบบทหารอากาศ พ.ศ.๒๔๗๙ ประกอบด้วยเครื่องแต่งตัวพลทหาร มี ๕ ประเภท เครื่องแต่งตัวนายสิบ เครื่องแต่งตัวจ่านายสิบ มี ๖ ประเภท เครื่องแต่งตัวนายทหาร มี ๗ ประเภท ได้แก่ เครื่องแบบปกติ เครื่องแบบฝึกหัด เครื่องแบบทำงาน เครื่องแบบสนาม เครื่องแบบเต็มยศ เครื่องแบบสโมสร และเครื่องแบบกันหนาว
                       
เครื่องแบบตำรวจไทย ได้มีการเปลี่ยนแปลงกันมาหลายยุคหลายสมัย อาจแบ่งออกได้เป็นสามยุคใหญ่ ๆ คือ
                      
ยุคที่ ๑ (ก่อนใช้ พ.ร.บ.เครื่องแบบตำรวจ พ.ศ.๒๔๗๗) เครื่องแบบตำรวจในระยะนี้คงจะเป็นทำนองเดียวกับทหารรักษาพระองค์หรือพวกมหาดเล็ก ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๐๕ การแต่งกายของตำรวจเป็นไปตามแบบอย่างของอังกฤษ มีการเปลี่ยนแปลงในรัชกาลที่ ๕ เมื่อตั้งกองตระเวณขึ้นแล้ว
                       
ยุคที่ ๒ (พ.ศ.๒๔๗๗ - ๒๕๐๑) ได้มีกำหมายกำหนดไว้ครบถ้วน มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหลายครั้ง แบ่งออกเป็น ๕ ประเภทคือ เครื่องแบบปกติ เครื่องฝึกหัด เครื่องสโมสร เครื่องเต็มยศขาว เครื่องเต็มยศ
                       
ยุคปัจจุบัน  เริ่มใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๑ มีเครื่องแบบ ๖ ประเภทคือ เครื่องแบบปกติ เครื่องแบบฝึก เครื่องแบบสโมสร เครื่องแบบครึ่งยศ และเครื่องแบบพิเศษ
            ๑๑๒๕. 
เครื่องปั้นดินเผา  นับว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เก่าแก่และยืนยาวที่สุด เชื่อกันว่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คำว่าเครื่องปั้นดินเผา หมายถึง ผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่ปั้นด้วยดิน แล้วเอาไปเผา ส่วนคำว่าเครื่องเคลือบดินเผา หมายถึง ครื่องปั้นดินเผาชนิดที่อาบหรือชุบน้ำเคลือบก่อน แล้วจึงเผา
                        เครื่องปั้นดินเผา อาจแบ่งออกได้เป็นหลายชนิดคือ
                         ๑.
เครื่องดินแดง หมายถึง เครื่องปั้นดินเเผาชั้นต่ำ ไม่เคลือบและซึมน้ำ
                         ๒.
เครื่องดิน คือ เครื่องปั้นดินเผาที่ซึมน้ำ และเคลือบชั้นเดียว เผาด้วยความร้อนประมาณ ๙๐๕ - ๑๐๐๐ ํ ซ.
                         ๓.
เครื่องหิน คือ เครื่องปั้นดินเผาที่ทึบแสงไม่ซึมน้ำ เผาด้วยความร้อนประมาณ ๑,๒๐๐ - ๑,๓๐๐ํ ซ.
                         ๔. เครื่องหินเหล็ก เป็นเครื่องหินชนิดที่ใช้น้ำเคลือบ มีส่วนผสมเป็นเหล็ก เผาแล้วเป็นสีน้ำตาล
                         ๕.
เครื่องปอร์ชเลน หรือเครื่องจีน เป็นเครื่องปั้นดินเผาชั้นดี ตัวดินมีสีขาว หรือสีอื่น ไม่ทึบแสง น้ำซึมไม่ได้ ผิวพื้นอาจเป็นลายเสื่อ หรืออาบด้วยน้ำเคลือบ เครื่องชนิดนี้เรียกเป็นภาษาไทยว่า เครื่องถ้วย หรือเครื่องกระเบื้อง หรือเครื่องลายคราม ใช้อุณหภูมิสูง ๑,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ํซ.
                         อิจิปต์ ทำเครื่องปั้นดินเผาก่อนผู้อื่น ประมาณอายุ ๑๐,๐๐๐ ปีหรือกว่านั้น แล้วแพร่ไปเกาะไซปรัส และเกาะครีต แล้วจึงไปสู่กรีก และกรุงโรม
                        ในทวีปเอเชีย ได้ขุดพบเศษเครื่องปั้นดินเผา ที่กลางทุ่งราบเปอร์เซีย มีอายุประมาณ ๔,๔๕๗ ปี ก่อนพุทธศักราช เป็นชนิดที่ตกแต่งสีดำไว้ที่ผิว ประเทศในเอเชียที่ก้าวหน้าอย่างยิ่งคือ ประเทศจีน
                        คนไทยคุ้นเคยกับเครื่องปั้นดินเผาของญี่ปุ่นเป็นอันมาก เครื่องปั้นดินเผาของไทยรุ่งโรจน์ที่สุด ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง ฯ ที่เรียกกันว่า
เครื่องสังคโลก ทำได้มากถึงกับส่งออกไปขายในต่างประเทศ           ๖/๓๖๔๕
             ๑๑๒๖.
เครื่องมือจับเปรียง  ใช้จบไส้เดือนทะเล ซึ่งคงจะเรียกกันว่า เพรียงมากกว่าเปรียง เครื่องมือนี้ทำด้วยหวาย ยาวประมาณ ๘๐ ซม. หัวท้ายยควนเป็นปุ่ม ใช้จับเพรียงตามหาดทราย
            ๑๑๒๗.
เครื่องราง  คือ ของที่นับถือว่าป้องกันอันตราย เป็นของที่เกิดเองโดยธรรมชาติ มีหลายอย่างต่างกัน หลายประเภทคือ
                        เม็ดขนุนทองแดง เม็ดหรือฝักมะขามทองแดง เม็ดหรือผักกะถินเทศทองแดง เม็ดหรือลูกประดู่ทองแดง เม็ดสะบ้าทองแดง เม็ดมะค่าทองแดง ปูทองแดง ปูหิน กระดูกไก่ทองแดง ไข่หิน เหล็กไหล แร่บางชนิด ทองคำบางสะพานหนักหนึ่งบาท
                        เพชรตาแมว เพชรตาหนู เพชรในหิน เขี้ยวหมูตัน เขี้ยวเสือ เขี้ยวสาง เขี้ยวหมูหักคาต้นไม้ เขาวัวเขาควายลุกเป็นแสง คดต่าง ๆ มีคดปลาหมอ คดปลาวาฬ เป็นต้น นอกจากนี้มีพระเครื่อง และเครื่องปลุกเสก ซึ่งเรียกรวมกันว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์
                       
พระเครื่อง  เป็นคำย่อมาจากพระเครื่องราง ได้แก่ พระพุทธรูปมีขนาดพอที่จะไว้กับตัวได้ เป็นพระปั้น พิมพ์ หล่อ แกะสลัก
                       
 เครื่องปลุกเสก  มีหลายอย่างต่างชนิดกันคือ ตะกรุด ผ้าประเจียด มงคลสวมศีรษะ หรือสวมคอ ผ้าลงเลขยันต์ และธง เป็นต้น ลูกอมขี้ผึ้ง ลูกอมปรอท แหวนสวมนิ้ว แหวนสวมแขน ซึ่งทำด้วยผ้า ด้วยเงิน ทอง นาค หรือโลหะต่างชนิด หวายคาดเอว ตระบอง และมีด เช่น มีดหมอ ปลัดขิก และลูกสะกด ทำด้วยตะกั่ว ไม้ หรือวัตถุอื่น หนังหน้าเสือ ขี้ผึ้งสีปาก ของเหล่านี้ลงด้วยเลขยันต์คาถา และอักขระ           ๖/๓๖๙๓
            ๑๑๒๘.
เครื่องราชอิสริยาภรณ์  คือ สิ่งที่เป็นเครื่องหมายแสดงเกียรติยศ และบำเหน็จความชอบ เป็นของพระมหากษัตริย์ทรงสร้างขึ้น สำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบ ในราชการหรือส่วนพระองค์ เรียกเป็นสามัญว่า ตรา หรือเหรียญตรา
                       ในประเทศไทย ปรากฎว่าสังวาลพระนพ ได้มีมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ พระองค์ได้ทรงตราระเบียบเครื่องราชอิสริยาภรณ์สยามขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๒ และโปรดเกล้า ฯ ให้เรียกว่า เครื่องราชอิสริยยศ ต่อมาเปลี่ยนเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์
                       เครื่องราชอิสริยาภรณ์ของไทย อาจแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้สี่ประเภทคือ
                        ๑.
เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับพระราชทานแก่ประมุขของรัฐ  มีชนิดเดียวคือ เครื่องราชอิสริยาภรณ์วอันเป็นมงคลยิ่ง ราชมิตราภรณ์
                        ๒.
เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในราชการแผ่นดิน  มี ๖ ชนิดคือ
                            เครื่องขัตติยราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่ง มหาจักรีบรมราชวงศ์
                            เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นโบราณมงคล นพรัตนราชวราภรณ์
                            เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า
                            เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีศักดิ์รามาธิบดี
                            เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก
                            เครื่องราชอิสริยาภรณ์ อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย
                        ๓.
เครื่องราชอิสริยาภรณ์สำหรับบำเหน็จความชอบในพระองค์พระมหากษัตริย์ มี ๓ ชนิดคือ
                            เครื่องราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์ ตราวัลลภาภรณ์ ตราวชิรมาลา
                        ๔.
เหรียญราชอิสริยาภรณ์ต่าง ๆ มี ๔ ชนิดคือ
                            เหรียญบำเหน็จกล้าหาญ  เหรียญบำเหน็จในราชการ เหรียญบำเหน็จในพระองค์ เหรียญที่ระลึกต่าง ๆ           ๖/๓๖๙๕
            ๑๑๒๙.
เครื่องราชูปโภค  หมายถึง เครื่องใช้ซึ่งเป็เครื่องสำหรับแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ มีสี่อย่างคือ พานพระขันหมาก มณฑปรัตนกรัณฑ์ พระสุพรรณศรี (บัวแฉก)  และพระสุพรรณราช
                       เครื่องราชูปโภคทั้งสี่อย่างนี้ ทำด้วยทองลงยา มีสองสำรับ สำรับใหญ่สร้างในรัชกาลที่ ๑ อีกสำรับคือ สำรับเล็ก สร้างในรัชกาลที่ ๔
                        ๑.
พานพระขันหมาก  เป็นพานสองชั้น สี่เหลี่ยมย่อมุม มีซองพานและตลับพร้อม สำหรับใส่หมาก
                        ๒.
พระมณฑปรัตนกรัณฑ์  มีรูปทรงมณฑป มีพานฝา และจอกสำหรับใส่น้ำเย็น
                        ๓.
พระสุพรรณศรี  เป็นกระโถนเล็ก ทำเป็นรูปบัวแฉก ฝีมือทำงามมาก
                        ๔.
พระสุพรรณราช  เป็นกระโถนใหญ่            ๖/๓๗๖๕
            ๑๑๓๐.
เครื่องลายคราม  เครื่องลายครามตามที่เข้าใจกันเป็นส่วนมาก หมายถึงเครื่องภาชนะกระเบื้อง หรือเครื่องถ้วยของจีน ชนิดที่เขียนลายเป็นสีคราม เฉพาะที่นิยมกันว่า เป็นของดีมีราคา
                       เครื่องถ้วยจีน คงจะมีเข้ามาขายในประเทศไทย พร้อม ๆ กับที่จีนส่งสินค้าเข้ามาขายในประเทศไทย ประเทศไทยได้จัดทำเครื่องถ้วยขึ้นใช้เอง จนถึงเป็นสินค้าจำหน่ายไปยังประเทศใกล้เคียง ตั้งแต่ปี พ.ศ.๑๘๓๗
                       ในสมัยอยุธยา เครื่องถ้วยที่ไทยสั่งออกไปทำในเมืองจีน เท่าที่พบมีเพียงสามอย่างคือ ชาม จานเชิง และโถ สีก็มีก็มีสามอย่างคือ ลายครามอย่างหนึ่ง ลายสีเขียนบนพื้นถ้วยขาวอย่างหนึ่ง และเบญจรงค์ ลายไทยที่ทำให้ตัวอย่างไปเขียนเครื่องถว้วย มีลายก้านขด และลายก้านแย่ง เป็นต้น บางทีก็มีภาพปลายกระหนก ภาพเทพพนม และภาพเทพพนมนรสิงห์
                       ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ใน
รัชกาลที่ ๑ เครื่องถ้วยที่สั่งไปทำเมืองจีนได้โปรดให้ช่างหลวง เขียนลายตัวอย่างขึ้นใหม่ แต่ดำเนินตามตัวอย่างที่ดี ครั้งกรุงเก่าเป็นพื้น ถึงรัชกาลที่ ๒ เครื่องถ้วยที่สั่งไปทำเมืองจีนได้คิดแก้ไขผิดจากเดิม ทั้งรูปร่างและลวดลาย มีลายผูกขึ้นใหม่หลายอย่าง เช่น ลายดอกกุหลาบ เป็นต้น ในรัชกาลที่ ๓ นิยมลวดลายไปข้างแบบจีนมากขึ้น ในรัชกาลที่ ๔ สั่งให้ทำแต่ลายน้ำทองกับลายคราม ในรัชกาลที่ ๕ เครื่องถ้วยจีนที่เป็นของดี มีตกเข้ามามากกว่ารัชกาลก่อน ๆ  เพราะกลับเกิดนิยมเล่นเครื่องถ้วยและเครื่องโต๊ะกันขึ้นอีก            ๖/๓๗๖๐
            ๑๑๓๑.
เครื่องสาย  เป็นชื่อวงดนตรีประเภทหนึ่ง ซึ่งบรรดาเครื่องดนตรีต่าง ๆ ที่ผสมอยู่ในวงนั้นมีเครื่องดนตรี ที่มีสายเป็นประธาน เครื่องดนตรีที่เป็นประธานนี้ จะเป็นเครื่องมีสายที่สีเป็นเสียง หรือดีดเป็นเสียงก็ได้
                       เครื่องสายไทย มีขนาดวงและลักษณะการผสมเครื่องดนตรี แตกต่างกันไปได้หลายอย่าง และเรียกชื่อวงไปตามขนาด และสิ่งที่ผสมนั้น ๆ เช่น เครื่องสายไทยวงเล็ก เครื่องสายไทยเครื่องคู่ และเครื่องสายปี่ชวา เป็นต้น
                       
เครื่องสายไทยวงเล็ก  เป็นวงเครื่องสายที่มีเครื่องดนตรีที่ผสมเพียงอย่างละหนึ่งชิ้น จึงมักจะเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า เครื่องสายไทยเครื่องเดี่ยว เครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวงซึ่งถือเป็นหลักคือ
                        ๑.
ซอด้วง  เป็นเครื่องสีที่มีระดับเสียงสูง และกระแสเสียงดัง มีหน้าที่ดำเนินทำนองเพลง เป็นผู้นำวงและเป็นหลักในการดำเนินทำนอง
                        ๒.
ซออู้   มีเสียงทุ้ม มีหน้าที่หยอกล้อยั่วเย้า กระตุ้นเตือนให้เกิดความครึกครื้น สนุกสนาน
                        ๓.
จะเข้  เป็นเครื่องดีด ดำเนินทำนองโดยเก็บสอดแทรกแซง ไปกับทำนองเพลง
                        ๔.
ขลุ่ย  เป็นเครื่องเป่า ในวงนี้ใช้ขลุ่ยขนาดกลางเรียกว่า ขลุ่ยเพียงออ ดำเนินทำนองโดยใช้เสียงโหยหวนบ้าง เก็บบ้างตามโอกาส
                        ๕.
โทน และรำมะนา  เป็นเครื่องตี ต้องตีให้สอดสลับรับกัน เสมือนเป็นของสิ่งเดียวกัน มีหน้าที่ควบคุมจังหวะหน้าทับ และกระตุ้นเตือนให้เกิดความสนุกสนานในทางประกอบจังหวะ
                        ๖.
ฉิ่ง  มีหน้าที่ควบคุมจังหวะย่อยให้การบรรเลง ดำเนินจังหวะไปโดยสม่ำเสมอ หรือช้าเร็ว ตามความเหมาะสม
                       
เครื่องสายไทยเครื่องคู่  มีการเพิ่มเครื่องดนตรีขึ้นเป็นสอง แต่เพียงบางอย่างคือ ซอด้วง สองคัน ซออู้สองคัน จะเข้สองตัว ขลุ่ยสองเลา ส่วนฉาบ (เล็ก) และโหม่ง ถ้าจะใช้ก็คงมีจำนวนเท่ากับในวงเล็ก
                        ในสมัยหลังต่อมาได้มีผู้คิดผสมวง เป็นวงใหญ่ขึ้นโดยเพิ่มเครื่องบรรเลง จำพวกดำเนินทำนอง เช่น ซอด้วย ซออู้ จะเข้ และขลุ่ย ขึ้นเป็นอย่างละสามชิ้นบ้าง สี่ชิ้นบ้าง
                       
เครื่องสายปี่ชวา  ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้มีผู้คิดผสมวงขึ้นอย่างหนึ่งคือ รวมวงกลองแขก หรือกลองปี่ชวานี้ เข้าร่วมบรรเลงกับวงเครื่องสายไทย โดยเอาโทน และรำมะนา ในวงเครื่องสายออก เพราะมีกลองแขกเป็นเครื่องขัดจังหวะหน้าทับอยู่แล้ว และขลุ่ยเพียงออ ก็ไม่ใช้ ใช้แต่ขลุ่ยขลิบอย่างเดียว ซอด้วงต้องเปลี่ยนเสียงเทียบใหม่ ให้มีเสียงเป็นทางชวา ผู้นำวงต้องโอนไปเป็นของปี่ชวา เรียกวงที่ผสมนี้ว่า กลองแขกเครื่องใหญ่ ต่อมาเรียกว่า เครื่องสายปี่ชวา           ๖/๓๗๙๖
            ๑๑๓๒.
เครื่องสูง  หมายถึง ของสำหรับประดับเกียรติยศ เช่น ฉัตร พัดโบก จามร กลด เครื่องสูง มีมาแต่โบราณกาล แต่เครื่องสูงสมัยครั้งกระโน้น คงจะไม่เหมือนปัจจุบัน และยังไม่พบตำราใด ที่ได้กำหนดไว้แน่นอนว่า เครื่องสูงประกอบด้วยสิ่งใด และน่าสันนิษฐานได้อีกว่า เครื่องสูงมีที่มาจากอินเดีย
                       เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๖  สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดพิมพ์ไว้ในหนังสือวัฒนธรรมไทย เรื่องกษัตริย์ราชูปโภค และพระราชฐาน ระบุว่า เครื่องสูงสำหรับพระราชอิสริยยศพระมหากษัตริย์มีรวมแปดสิ่งคือ ฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรห้าชั้น บังแทรก ฉัตรชุมสาย จามร พระกลด บังสูรย์ และพัดโบก
                       เครื่องสูงดังกล่าวใช้สำหรับพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมราชินี และสมเด็จพระยุพราชด้วย
                        สำหรับเจ้านายชั้นเจ้าฟ้า และพระองค์เจ้า (ซึ่งเป็นพระราชโอรส และพระราชธิดาในพระเจ้าแผ่นดิน) มีเครื่องสูงประกอบพระเกียรติยศคือ ฉัตรเจ็ดชั้น ฉัตรห้าชั้น บังแทรก ฉัตรชุมสาย จามร พระกลด บังสูรย์ และพัดโบก
                       เครื่องสูงสำหรับพระมหากษัตริย์และเจ้านายดูคล้ายกันมาก ที่ต่างกันคือ เครื่องสูงสำหรับพระมหากษัตริย์ เกือบจะทุกสิ่งระบุลักษณะว่า
ปักหักทองขวาง และสำหรับเจ้านายส่วนมากระบุว่า ปักทองแผ่ลวดฉลุลาย เรียกกันย่อ ๆ ว่า เครื่องปักทองขวาง และเครื่องทองแผ่ลวด
                       เจ้านายที่รองลงมาจากที่กล่าวข้างต้น ก็มีเครื่องสูงลดหลั่นตามพระเกียรติยศ            ๖/๓๘๐๕
            ๑๑๓๓.
เคเรนสกี้, อเล็กซานเดอร์ เฟโอโดโรวิช  (พ.ศ.๒๔๒๔)  เป็นนักการเมืองชาวรัสเซีย สมาชิกพรรคกรรมกร หลังปฎิวัติรุสเซียในปี พ.ศ.๒๔๖๐ เขาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเป็นนายกรัฐมนตรี ตามลำดับ และได้ประกาศตั้งรุสเซียเป็นสาธารณรัฐ            ๖/๓๘๑๐
            ๑๑๓๔.
เคลมองโว จอร์ซ  (พ.ศ.๒๓๘๔ - ๒๔๗๒)  เป็นรัฐบุรุษฝรั่งเศส หลังจากการปฎิวัติในปี พ.ศ.๒๔๑๓ ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกเทศมนตรีของท้องถิ่นที่ ๑๘ คือ มองต์มาร์ค แห่งกรุงปารีส ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๑๔ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย ประจำเขตแซน หลังจากปี พ.ศ.๒๔๑๙ เคลมองโซได้เข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ เช่น รัฐมนตรี ผู้ช่วยประธานาธิบดี ในที่สุดได้เป็นประธานาธิบดี          ๖/๓๘๑๓
            ๑๑๓๕.
เคลลอก แฟรงค์ บิลลิงล์  (พ.ศ.๒๓๙๙ - ๒๔๘๐)  เป็นนักกฎหมายและนักการเมืองอเมริกัน เคยเป็นวุฒิสมาชิกรัฐมินนิโซตา เป็นเอกอัครราชทูตอเมริกัน ประจำกรุงลอนดอน และรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้จำทำกติกาสัญญาเคลลอก - บริอังค์ มีภาคีถึง ๖๒ ประเทศ ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ เป็นหนังสือสัญญากำจัดการสงคราม           ๖/๓๘๒๒
            ๑๑๓๖. 
เคลวิน, วิลเลียม ทอมสัน  (พ.ศ.๒๓๖๗ - ๒๔๕๐)  เป็นนักปราชญ์ในแขนงวิชาฟิสิกส์ สามารถคำนวณอายุขัยของโลก โดยใช้หลักวิธีคำนวณจาการนำความร้อน เป็นผู้มีชื่อเสียงรู้จักกันทั่วโลก ในเรื่องวางสายโทรเลขใต้มหาสมุทร           ๖/๓๘๒๖
            ๑๑๓๗. 
เคลือบ  มีความหมายหลายอย่าง เช่น เคลือบที่ติดเครื่องปั้นดินเผา เคลือบที่ติดกับโลหะ เคลือบที่ทับบนภาชนะที่ส่วนมากเป็นไม้ และเคลือบที่หมายถึง การหุ้มภายนอก ซึ่งบางทีก็ใช้คำว่า ชุบ หรืออาบ
                       
เคลือบ  หมายถึง ผิวของเครื่องเคลือบดินเผา ที่มีลักษณะคล้ายแก้วหุ้มปิดทับ โดยเผาให้ละลายติดกับเนื้อดินปั้น ตามประวัติเข้าใจว่า อิยิปต์ เป็นประเทศแรกที่ได้ค้นพบวิธีทำยาเคลือบ ใช้สำหรับภาชนะดินปั้น
                       -เคลือบ หมายถึง การชุบ หรือกะไหล่ โลหะด้วยโครเมียม นิเกิล ดีบุก เงิน หรือทอง
                       -เคลือบ หมายถึง การเคลือบภาชนะด้วยครั่ง รวมทั้งการลงรัก หุ้มปิดภาชนะซึ่งทำด้วยไม้เป็นส่วนมาก ขัดมันเป็นเงางดงาม  หรือจะเคลือบด้วยน้ำยาเคลือบ ที่ทำจากสารเคมีก็ได้
                       -เคลือบ หมายถึง การเคลือบเม็ดยาด้วยน้ำตาล หรือเคลือบเหล็กด้วยสังกะสี หรือการเคลือบเหล็กด้วยดีบุก เคลือบชนิดนี้บางทีก็เรียกว่า ชุบ หรืออาบ
            ๑๑๓๘.
เควกเกอร์  เป็นสมาชิกของนิกายหนึ่ง ในศาสนาคริสต์ เชื่อกันว่าการเข้าถึงพระเจ้าเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล และเป็นไปอย่างกระทันหัน คำสอนของพระเจ้าจะปรากฎ ในดวงจิตของแต่ละคน
                       ลัทธินี้เป็นหลักการดำรงชีวิตมากกว่าเป็นการปฎิบัติ ในการเตรียมตัวเพื่อชีวิตหน้า ยึดหลักว่าจงรักและช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน การไม่รุนแรงต่อกัน และมีวินัยควบคุมตัวเองอย่างเคร่งครัด
                       ประวัติของพวกเควกเกอร์ เริ่มเมื่อปี พ.ศ.๒๑๙๐ โดยชาวอังกฤษชื่อ ยอร์ช ฟอกซ์
                       พวกเควกเกอร์ ในสหรัฐอเมริกาเริ่มแต่ปี พ.ศ.๒๒๐๓  ได้ตั้งรกรากในอาณานิคมที่เพนซิลวาเนีย มี
วิลเลียม เพนน์ เป็นหัวหน้า พวกเควกเกอร์ในอเมริกาได้ชือ่ว่า เป็นผู้ริเริ่มการปฎิรูปสังคม เป็นมิตรที่แท้จริงของพวกอินเดียนแดง และไม่นิยมการมีทาส มีชื่อเสียงในการจัดการศึกษา
                       พวกเควกเกอร์ คัดค้านคำสอนของลัทธิกัลวิน ที่ว่าชีวิตมนุษย์มีกำหนดล่วงหน้า เขาเชื่อว่ามนุษย์สามารถเอาชนะบาปได้ อย่างเด็ดขาดในโลกนี้ โดยการดำรงชีวิต และปฎิบัติตามคำสอน ในพระคัมภีร์ใหม่            ๖/๓๘๓๒
            ๑๑๓๙.
เควเบก, ควิเบก  . เป็นชื่อมณฑลหนึ่งในประเทศแคนาดา ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นมณฑลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด อาณาเขตทางเหนือเป็นช่องแคบฮัดสัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทรอาร์คติก ทางใต้จดสหรัฐอเมริกา ทางตะวันออกจดอ่าวเซนต์ ลอเรนซ์ และมณฑลลาบราดอร์ เมืองเควเบกเป็นเมืองหลวง เมืองใหญ่ที่สุดคือ เมืองมอนทรีออล ซึ่งเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของประเทศ
                    ผู้ที่เดินทางมาถึงมณฑลเควเบก เป็นชาวฝรั่งเศส เดินทางมาถึงเ มื่อปี พ.ศ.๒๐๙๘
                    ๒. เป็นชื่อเมืองหลวงของมณฑลเควเบก เป็นเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่ง พลเมืองส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายฝรั่งเศส
            ๑๑๔๐.
เคาฑะ  เป็นชื่อสมัยโบราณของแคว้นเบงกอลตอนกลาง และเป็นชื่อเมืองหลวงของแคว้นนี้ เคยเป็นแคว้นที่เจริญรุ่งเรือง ยังมีซากโบราณสถานเหลืออยู่           ๖/๓๘๔๐
           ๑๑๔๑. 
เค้าแมว - นก  นกนี้ทั่วโลกมี ๑๓๓ ชนิด ในประเทศไทยมี ๑๘ ชนิด เป็นนกที่ชอบหากินตอนกลางคืน จึงมีระบบตาและหูที่เจริญพิเศษเหนือนกอื่น ๆ นกเค้าแมวกินสัตว์เล็กต่าง ๆ เป็นอาหาร ขนของมันอ่อนนุ่ม ขนปลายปีกก็อ่อนมาก เป็นพิเศษ มันจึงบินได้เงียบมาก เหมาะที่จะบินโฉบเหยื่อไม่ให้มีเสียงดัง ในเวลากลางคืนที่เงียบสงัด
                       นกเค้าแมว ส่วนมากอยู่ประจำถิ่น มันทำประโยชน์ให้แก่ชาวนามาก เพราะมันชอบกินหนู บางชนิดก็ทำลายตั๊กแตน และแมลงต่าง ๆ นกเค้าแมวในประเทศไทยมี ๑๘ ชนิดคือ
                      
นกแสก  ตัวใหญ่ขนาดกา พบบ่อยตามทุ่งนา วงหน้าขาวของมันดูน่ากลัวคล้ายหน้าปีศาจ เวลาบินชอบร้องเสียงดังแสก เสียงเหมือนฉีกผ้า ชาวบ้านจึงชอบเรียกชื่อตามเสียงที่มันร้อง กลางวันชอบนอนตามฉางข้าว ตัวผู้ตัวเมียอยู่คู่กันตลอดไป ไม่ค่อยเปลี่ยนคู่
                      
นกเค้าแดง  เป็นนกเค้าแมวขนาดกลาง ขนาดเท่า ๆ นกพิราบ คล้ายนกแสกขนาดเล็ก ชอบอยู่ตามป่าดงดิบ จึงไม่ใคร่พบบ่อย
                      
นกเค้าหน้าผากขาว  เป็นนกเค้าแมวขนาดกลาง ขนาดนกพิราบ มีเฉพาะทางปักษ์ใต้ลงไปทางมลายู ชอบอยู่ตามป่าดงดิบและตามเขาสูง ไม่พบบ่อยนัก
                       
นกเค้าหูยาวเล็ก  เป็นนกเค้าแมวขนาดเล็ก เป็นนกป่าดง พบทางภาคเหนือแและภาคอีสาน
                       
นกเค้าคู่  เป็นนกเค้าแมวขนาดเล็ก ชอบอยู่ทั้งในป่าและในเมือง ร้องเสียงคล้ายคนกู่
                       
นกเค้าเล็กลายจุด  เป็นนกเค้าแมวขนาดเล็ก เล็กกว่านกเอี้ยงสาลิกา พบทั่วไปทุกภาค เว้นทางปักษ์ใต้
                       
นกเค้าโมง  เป็นนกเค้าแมวขนาดเล็ก ชอบอยู่ตามป่าทั่วไป
                       
นกเค้าเหยี่ยว  เป็นนกเค้าแมวขนาดกลาง ชอบอยู่ตามทุ่งริมป่า
                       
นกเค้าใหญ่พันธุ์เนปาล  เป็นนกเค้าแมวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คล้ายนกถืดทือ แต่ตัวใหญ่กว่า หนากว่า ชอบอยู่ตามป่าดงดิบ มีทุกภาค ยกเว้นทางภาคใต้
                       
นกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตรา  เป็นนกเค้าแมวขนาดใหญ่ ชอบอยู่ตามป่าดง
                       
นกเค้าใหญ่สีคล้ำ  เป็นนกเค้าแมวขนาดใหญ่ มีอยู่ทางภาคใต้
                       
นกทึดทือพันธุ์มลายู  เป็นนกเค้าแมวชนิดใหญ่มาก ชอบอาศัยอยู่ตามป่ารกทึบ พบอยู่ทางภาคตะวันออกและปักษ์ใต้
                       
นกทึดทือพันธุ์ภาคเหนือ  มีทั่วทุกภาค
                       
นกเค้าป่าหลังจุด  เป็นนกเค้าแมวขนาดใหญ่ ชอบอยู่ตามป่า มีทางภาคอีสาน ภาคกลาง ลงไปถึงปักษ์ใต้
                       
นกเค้าป่าสีน้ำตาล  เป็นนกเค้าแมวชนิดใหญ่ ชอบอยู่ตามป่าดงตีนเขาและป่าต่ำ ในไทยมีสองชนิดย่อย
                       
นกเค้าแมวหูสั้น  เป็นนกเค้าแมวขนาดกลาง เป็นนกย้ายถิ่น จากประเทศหนาวเหนือ มาหากินในไทยในฤดูหนาว           ๖/๓๘๔๐
            ๑๑๔๒.
เคาหตี   เป็นเมืองหลวงของแคว้นอัสสัม หรือกามรูป ในประเทศอินเดีย เป็นศูนย์กลางย่านค้าขาย และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดของแคว้นนี้ เคาหตีมีชาวไทยอาหมและไทยอื่น ๆ ซึ่งสืบเชื้อสายจากไทยใหญ่อยู่           ๖/๓๘๕๒
            ๑๑๔๓.
เคียนหลง เฉียนหลุง  เป็นจักรพรรดิ์เชื้อชาติแมนจูแห่งประเทศจีน ในราชวงศ์ต้าชิงหรือไต้เช็ง (พ.ศ.๒๑๘๗ - ๒๔๕๕) ครองราชย์ เมื่อปี พ.ศ.๒๒๗๙ พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ทรงสามารถในการปกครอง เอาพระทัยใส่เรื่องความรู้ ได้ทรงชำระประวัติศาสตร์จีน และจัดทำสารานุกรมจีนเป็นจำนวนสามเล่ม โปรดให้รวบรวมหนังสือต่าง ๆ ที่หายากและจัดทำบัญชีรายชื่อหนังสือเหล่านี้ไว้           ๖/๓๘๕๓
            ๑๑๔๔.
เคียม  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ สูง ๒๐ - ๓๐ เมตร ลำต้นเปลากลม พบตามป่าดิบชื้น ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป เนื้อไม้แข็ง ทนแดดทนฝน ใช้ทำสะพานและการก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงทนทานมาก  ๖/๓๘๕๓
            ๑๑๔๕.
เคี่ยมคะนอง  เป็นไม้ต้นขนาดใหญ่ มีลักษณะคล้ายไม้เคี่ยม พบขึ้นทั่วไปในป่าดิบทางภาคอาคเนย์และภาคใต้           ๖/๓๘๕๔
            ๑๑๔๖.
แค - พรรณไม้  เป็นชื่อเรียกพรรณไม้หลายชนิด เป็นไม้ต้นขนาดกลาง สูงประมาณ ๑๐ เมตร ดอกสีขาว ออกเป็นช่อห้อยสั้น ๆ รูปลักษณะเหมือนดอกถั่ว ผลเป็นฝัก
                       แคขน แคปิด แคพอง หรือแคคร้าว ต้นสูง ๑๕ เมตร พบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่ว ๆ ไป
                       แคแดง ต้นสูง ๒๐ - ๒๕ เมตร ถิ่นกำเนิดเดิมทางทวีปอัฟริกา นับว่าเป็นต้นใหญ่ที่สุด
                       แคทราย แคก้อง หรือแคดง ต้นสูง ๑๕ เมตร พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ
                       แคมา แคป่า แคตุ้ยหรือแคปี่ฮ่อ ต้นสูง ๑๕ เมตร พบขึ้นทั่วไปตามหัวไร่ปลายนา และป่าเบญจพรรณชื้น
                       แคฝอย ต้นสูง ๑๕ - ๒๐ เมตร พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ
                       แคยอดดำ แคหมู แคหัวหมู ต้นสูง ๑๐ - ๒๐ เมตร พบขึ้นทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ
                       แคหางค่าง คล้ายแคยอดดำ           ๖/๓๘๕๔
            ๑๑๔๗.
แค้, ตุ๊กแก - ปลา  เป็นปลาไม่มีเกล็ด หัวโตแบนลง รูปเพรียวไปทางหาง รูปร่างและสีสะดุดตาพอใช้ มีแถบดำใหญ่ ไม่สม่ำเสมอกัน พาดตามลำตัว ตอนปลายครีบเป็นแถบหรือจุดดำ จึงเรียกกันว่าปลาตุ๊กแก ปลาตุ๊กแกเป็นปลาขนาดใหญ่ ปรากฎว่ายาวถึง ๒ เมตร เป็นปลาดุ กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร           ๖/๓๘๖๖

| ย้อนกลับ | บน | หน้าต่อไป |