| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

สภาวการณ์หลังสงคราม
            เมื่อประเทศไทยได้ประกาศสันติภาพ ในวันที่ 16 สิงหาคม 2488  มีใจความสำคัญว่า การประกาศสงครามต่ออังกฤษและสหรัฐ ฯ เป็นโมฆะ สหรัฐ ฯ ก็ได้ให้การรับรองการประกาศสันติภาพของไทยทันที แต่อังกฤษยังคงบ่ายเบี่ยง เพราะหวังผลประโยชน์บางประการ และได้หาทางบีบบังคับไทยทั้งด้านการเมือง การทหาร และ เศรษฐกิจ
               ในตอนปลายสงคราม สภาวะทางเศรษฐกิจของไทยเสื่อมโทรมลงมาก ไทยต้องยึดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราของไทยเทียบกับเงินเยนของญี่ปุ่น 1 บาท ต่อ 1 เยน ทำให้ค่าเงินบาทลดลงถึงร้อยละ 36  สินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ มีราคาแพงและขาดแคลน เกิดตลาดมืดค้าของเถื่อน รัฐบาลได้พยายามแก้ไขปัญหาโดยการจัดตั้ง องค์การสรรพาหาร ออกบัตรปันส่วนแก่ข้าราชการและประชาชน เพื่อซื้อสิ้นค้าที่เป็นอาหารประจำวันมี  ข้าวสาร น้ำตาล หมู เนื้อ แต่ก็ได้เป็นเพียงการบรรเทาความเดือดร้อนได้ส่วนหนึ่ง
การทำความตกลงสมบูรณ์แบบ

                คณะผู้แทนไทยได้เดินทางไปสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2488 ได้มีการประชุมเจรจากับฝ่ายอังกฤษหลายครั้ง และในวันที่ 1 มกราคม 2489 ไทยได้ยินยอมลงนามใน ความตกลงสมบูรณ์แบบ (Formal Agreement for The Temination  of The State of War Between Siam and Great Britain and India) มีสาระสำคัญดังนี้
                    1. รัฐบาลไทยตกลงบอกปฏิเสธการประกาศสงคราม เมื่อวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1942
                    2. รัฐบาลไทยแถลงว่าเป็นโมฆะบรรดาการที่ได้มาซึ่งอาณาเขตของบริติช ที่ประเทศไทยได้กระทำหลัง
จากวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 จะถอนบรรดาเจ้าหน้าที่และทหารไทยออกจากอาณาเขตบริติช คืนทรัพย์สินที่ได้เอาไปจากอาณาเขตเหล่านี้ จะใช้ค่าทดแทนอันเกิดจากที่ประเทศไทยยึดครองอาณาเขตเหล่านี้ จะไถ่ถอนเป็นเงินสเตอร์ลิงจากทุนสำรองสเตอร์ลิงที่เคยมีอยู่ซึ่งธนบัตรไทยที่เดินสะพัดอยู่
                    3. รัฐบาลไทยตกลงว่า จะยอมรับผิดชอบชดใช้บรรดาทรัพย์สิน สิทธิ และผลประโยชน์ทุกชนิด  ของฝ่ายบริติชในประเทศไทย
                    4. รัฐบาลไทยตกลงว่า  จะเลิกพิทักษ์ธุรกิจจากธนาคารพาณิชย์ฝ่ายบริติช และยอมให้ดำเนินธุรกิจต่อไป
                    5. รัฐบาลไทยตกลงยอมรับผิด  โดยบวกดอกเบี้ยตามอัตราส่วนร้อยที่สมควรในส่วนการใช้เงินค้างจ่าย
เกี่ยวกับเงินกู้
                    6. รัฐบาลไทยตกลงว่า  จะร่วมมือเต็มที่ในบรรดาข้อตกลงเพื่อความมั่นคงระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การสหประชาชาติเห็นชอบแล้ว
                    7. รัฐบาลไทยรับว่า จะไม่ตัดคลองข้ามอาณาเขตไทย เชื่อมมหาสมุทรอินเดีย กับอ่าวไทย โดยที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรมิได้เห็นพ้องด้วยก่อน
                    8. รัฐบาลไทยตกลงว่า จะจัดการเพื่อสถาปนา การค้าระหว่างประเทศไทย กับอาณาเขตบริติชที่ใกล้เคียง
                    9. รัฐบาลไทยรับว่า จะเจรจากับรัฐบาลสหราชอาณาจักรโดยเร็วที่สุด เพื่อทำสนธิสัญญาการตั้งถิ่นฐานการพาณิชย์ และการเดินเรือฉบับใหม่
                    10. ข้อความเหมือนข้อ 9 แต่ทำกับรัฐบาลอินเดีย
                    11. ระหว่างที่ยังไม่ได้ทำสนธิสัญญาดังกล่าวในข้อ 9 และข้อ 10 รัฐบาลไทยรับว่าจะถือตามบทบัญญัติ แห่งสนธิสัญญาการพาณิชย์และเดินเรือ เมื่อปีวันที่ 23 พฤศจิกายน ค.ศ. 1937
                    12. รัฐบาลไทยรับว่า จะมีส่วนร่วมในข้อตกลงระหว่างประเทศทั่วไปใด ๆ  เกี่ยวกับดีบุกหรือยาง    ซึ่งอนุโลมตามหลักการข้อตกลงว่าด้วยโภคภัณฑ์ ตามแต่องค์การสหประชาชาติหรือคณะมนตรีเศรษฐกิจและ  การสังคมแห่งองค์การนั้นจะได้ตกลงกัน
                    13. ไม่ช้ากว่าวันที่ 1 กันยายน 1947  รัฐบาลไทยรับว่า นอกจากจะเป็นไปตามคำแนะนำของ
คณะกรรมการผสม ณ วอชิงตัน หรือองค์คณะใด ๆ  ที่จะมาทำการแทน และในกรณีข้าว  นอกจากจะได้เป็นไปตามคำอำนวยขององค์การพิเศษ ที่จะจัดตั้งขึ้นเพื่อการนั้นแล้ว จะห้ามบรรดาการส่งข้าว  ดีบุก  ยางและไม้สักออกนอก ประเทศ และจะจัดระเบียบการค้าและเร้าการผลิตโภคภัณฑ์เหล่านี้
                    14. รัฐบาลไทยรับว่า เมื่อเอาข้าวไว้ให้พอเพียงแก่ความต้องการภายในของไทยแล้ว จะจัดให้มีข้าวสาร  ณ กรุงเทพ ฯ โดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้องค์การที่รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรจะได้แจ้งให้ทราบนั้น
ใช้ประโยชน์ได้เป็นปริมาณเท่ากับข้าวส่วนที่เหลือ ซึ่งสะสมไว้และมีอยู่ในประเทศไทย ณ บัดนี้ แต่ไม่เกินหนึ่งกับกึ่งล้านตัน เป็นอย่างมาก หรือจะได้ตกลงกันให้เป็นข้าวเปลือก หรือข้าวกล้องอันมีค่าเท่ากันก็ได้
                    15. ไม่ช้ากว่าวันที่ 1 กันยายน 1947  รัฐบาลไทยตกลงว่า จะจัดให้องค์การข้าวดังกล่าวในข้อ 13
และข้อ 14  ใช้ประโยชน์ได้ในข้าวทั้งหมด  อันเป็นส่วนที่เหลือจากความต้องการภายในประเทศไทย
                    16. รัฐบาลไทยจะให้สายการเดินอากาศฝ่ายพลเรือนแห่งจักรภพประชาชาติบริติช ได้รับผลปฏิบัติ  โดยความตกลงอันจะได้เจรจากันกับรัฐบาลแห่งสมาชิกของจักรภพประชาชาติบริติช
                    17. รัฐบาลไทยรับว่า จะทำความตกลงกับรัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดีย
เพื่อต่างฝ่ายต่างบำรุงรักษาที่ฝังศพสงคราม
                    18. รัฐบาลไทยตกลงว่า ยังคงใช้อยู่ซึ่งบรรดาสนธิสัญญาสองฝ่าย ระหว่างสหราชอาณาจักรกับ ประเทศไทย และระหว่างอินเดียกับประเทศไทย ตามแต่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียจะได้ ระบุแล้วแต่กรณี ภายใต้บังคับแห่งข้อแก้ไขใด ๆ  ที่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรือรัฐบาลอินเดียจะแจ้ง ให้ทราบ และถือสนธิสัญญาใด ๆ  ซึ่งมิได้ระบุไว้ดังกล่าวนั้น เป็นอันยกเลิกไป
                    19. รัฐบาลไทยตกลงถือว่า ยังใช้อยู่ระหว่างสหราชอาณาจักรกับประเทศไทย และระหว่างอินเดียกับ ประเทศไทย บรรดาสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงหลายฝ่าย ซึ่งทำไว้ก่อนวันที่ 7 ธันวาคม 1941  ในกรณีที่ประเทศไทยมิได้เป็นภาคี รัฐบาลของประเทศทั้งสองดังกล่าวจะได้แจ้งให้ประเทศไทยทราบ รัฐบาลไทยจะได้จัดการที่จำเป็นโดยทันที ตามความในสนธิสัญญา อนุสัญญา หรือความตกลงดังกล่าว
                    20. ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับให้เข้าเป็นภาคีแห่งองค์การระหว่างประเทศใด ๆ  ซึ่งตั้งขึ้นภายหลังวันที่ 7 ธันวาคม 1941  อันเป็นองค์การที่สหราชอาณาจักรหรืออินเดียเป็นสมาชิกอยู่  รัฐบาลไทยตกลงว่า จะปฎิบัติตามข้อผูกพันใด ๆ  ซึ่งเกิดขึ้นหรือเนื่องด้วยองค์การนั้น ๆ  หรือเอกสารที่จัดตั้งองค์การนั้น ๆ ขึ้นตามแต่รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักรหรืออินเดีย  แล้วแต่กรณี  จะได้ระบุในเวลาใด ๆ
                    21. โดยคำนึงถึงคำมั่นสัญญาซึ่งรัฐบาลไทยให้ไว้ข้างบนนี้ รัฐบาลแห่งสหราชอาณาจักร และรัฐบาลอินเดีย  ตกลงถือว่าสงครามสิ้นสุดลง และจะดำเนินการโดยทันที ในอันจะกลับเจริญความสัมพันธไมตรี กับประเทศไทย  และแลกเปลี่ยนผู้แทนทางทูตกัน
                    22. รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรและรัฐบาลอินเดียรับรองด้วยว่า  จะสนับสนุนการที่ประเทศไทย  สมัครเข้าเป็นสมาชิกแห่งสหประชาชาติ
                    23. ภาคีผู้ทำสัญญานี้ตกลงกันว่า  คำว่า  "บริติช"  ในความตกลงนี้
                                1)  เมื่อใช้แก่บุคคลธรรมดา  หมายความว่า  บรรดาในข้อบังคับของพระมหากษัตริย์แห่งบริเตนใหญ่ไอร์แลนด์  และอาณาจักรบริติชโพ้นทะเล  จักรพรรดิ์แห่งอินเดีย  ตลอดจนบุคคลในอารักขาของพระมหากษัตริย์
                                2)  เมื่อใช้แก่อาณาเขต  หมายความว่า  บรรดาเขตใด ๆ ในอธิปไตย  อธิราช  อารักขา  หรืออาณัตของพระมหากษัตริย์แล้วแต่กรณี
                                3)  เมื่อใช้แก่นิติบุคคล  หมายความว่า  บรรดานิติบุคคลซึ่งได้รับสถานภาพเช่นนั้น  จากกฏหมายที่ใช้อยู่ในอาณาเขตใดๆดังกล่าวแล้ว
                                4)  เมื่อใช้แก่ทรัพย์สิน  สิทธิ  หรือผลประโยชน์  หมายความว่าทรัพย์สิน  สิทธิหรือ ผลประโยชน์  ของบุคคลดังระบุไว้ใน  1) หรือ   3)  ข้างต้น
                    24. ความตกลงนี้ใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
            ทำควบกันเป็นสามฉบับ  เป็นภาษาอังกฤษ ณ สิงคโปร์  เมื่อวันที่ หนึ่ง มกราคม คริสตศักราช  พันเก้าร้อยสี่สิบหก  ตรงกับ พุทธศักราชสองพันสี่ร้อยแปดสิบเก้า

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |บน |