อุทยานแห่งชาติเขาหลวง

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |

ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติเขาหลวง  อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช มีเนื้อที่ 567 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 355,000 ไร่  เป็นอุทยานที่เหมาะสมยิ่งสำหรับการท่องเที่ยวหาความเพลิดเพลินกับธรรมชาติที่แท้จริง มีสถานที่น่ารื่นรมย์สำหรับพักผ่อนหย่อนใจเช่น  น้ำตก  ภูเขา  ทิวทัศน์ และยังเป็นที่น่าสนใจสำหรับหาความรู้ และค้นคว้าทางวิชาการ
ยอดเขาหลวงมีความสำคัญมาก และมีความสูงที่เห็นเด่นชัดจากเทือกเขาที่มีอยู่อย่างสลับซับซ้อนมากมายหลายลูก ซึ่งยอดเขาหลวงนี้ตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของเนื้อที่ มีอยู่ 3 ยอดด้วยกัน  ยอดเขาหลวงนี้อยู่อำเภอลานสกา มีความสูง 1,435 เมตร จากระดับน้ำทะเล อีกสองตอนที่อยู่ใกล้เคียงก็มีความสูงลดหลั่นกันลงมา นอกจากนี้ยังมีเขามหาชัย เขากล้วยไม้ เขาขี้แรด เขาไปร์ห เขาอบ เขาสำโขง เขาปริง เป็นต้น


ลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ
ป่าเขาหลวงมีลักษณะเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน ทอดยาวเหนือจดใต้ ระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร ทิศเหนือจดครองกลาย อำเภอท่าศาลา ทิศใต้จดป่าเขาเหม มียอดหลวงเป็นยอดเขาสูงสุด (สูง 1,835 เมตร จากระดับน้ำทะเล) อยู่บริเวณตอนกลางของเนื้อที่ ซึ่งจุดเด่นและสันเขานี้ก็จะค่อย ๆ ต่ำลงไปทางทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนลาดเขาก็จะลาดไปทางทิศตะวันออก ลาดเขาแต่ละด้านประกอบด้วยภูเขาสลับซับซ้อนมากมายหลายลูก อันเป็นต้นน้ำลำธารและคลองต่าง ๆ หลายสายกว่า 15 คลอง เช่น  คลองกรุงชิง  คลองเขาแก้ว  คลองท่าแพ  คลองละอาย เป็นต้น ซึ่งภูมิประเทศบางแห่งเป็นที่ราบแคบ ๆ ระหว่างหุบเขามีน้ำไหลผ่าน
ส่วนสภาพของดินและหินภูเขาต่าง ๆ  นั้นเกิดจากการบุบสลายหินแกรนิตเป็นใหญ่  บางแห่งมีภูเขาปูนตามเชิงเขา  บางแห่งดินมีสภาพเป็นลูกรัง และดินแดง แร่ที่สำคัญที่มีอยู่บริเวณป่าเขาหลวงนี้มีแร่ดีบุก วุลแฟรม และแร่เหล็ก
โดยที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวงนี้  ตั้งอยู่บนคาบสมุทร ทำให้ได้รับลมมรสุมที่พัดผ่านทะเลทั้งสองด้าน จึงทำให้มีฝนตกเกือบตลอดทั้งปีและมีอากาศค่อนข้างเย็น ฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม และตกหนักในเดือนตุลาคม-ธันวาคม ฝนจะเริ่มน้อยลงในเดือนมกราคม  ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน เป็นฤดูแล้ง บริเวณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปี 30,500-4,000 มิลลิเมตร อุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 15-17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 28-30 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิจะเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล


พรรณไม้
เนื่องมาจากการที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวงนี้ มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง มีปริมาณฝนตกชุก ทำให้คลุมไปด้วยป่าดงดิบชื้นแทบทั้งหมด ซึ่งมีบางแห่งมีสภาพเป็นป่าพรุหรือป่าบึง มีพันธุ์ไม้ที่พบมากมาย ทั้งประเภทไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ซึ่งมีค่าทางเศรษฐกิจและน่าศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ และเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามากมาย ไม้ยืนต้นขนาดต่าง ๆ คือ มีไม้ยืนต้นขนาดกลางขนาดเล็ก ไม้พุ่มไม้พื้นล่างชนิดต่าง ๆ เถาวัลย์ ไม้จำพวกหวายและปาล์ม ขึ้นปะปนกันอย่างหนาแน่น สภาพส่วนใหญ่บนเทือกเขาเป็นป่าดั้งเดิม โดยไม่เคยผ่านการทำไม้มาก่อน
พันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจที่พบมาก ได้แก่  ไม้ยมหอม  ไม้ตะเคียนทอง  ไม้ตะเคียนทราย  ไม้ตะเคียนหิน  ไม้จำปาและไม้ยางชนิดต่าง ๆ ฯลฯ ไม้พื้นล่างพวกเฟิร์น  พวกตระกูลขิง  ข่า   มีขึ้นทั่วไปรวมทั้งเถาวัลย์ต่าง ๆ ทั้งขนาดใหญและเล็ก ทำให้สภาพป่าแน่นทึบมาก เพราะเฟิร์นนี้ชอบขึ้นตามริมห้วย หรือบริเวณที่ชื้นมาก ๆ เช่น  กีบแรด  หัสดำและเฟิร์นต่าง ๆ ชนิดซึ่งอาจใช้เป็นไม้ประดับได้ด้วย


สัตว์ป่า
ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวงนี้ มีสัตว์ป่าชุกชุมมากมายหลายชนิด แหล่งสัตว์ป่าชุกชุมส่วนใหญ่อยู่ในท้องที่อำเภอท่าศาลา โดยเฉพาะในบริเวณลุ่มน้ำคลองกรุงชิง ตำบลนบพิตำ อำเภอท่าศาลา พื้นที่ภูมิประเทศเป็นที่ราบกลางหุบเขา เส้นทางคมนาคมกันดารและอันตรายมาก ทำให้บริเวณป่าแห่งนี้ไม่ค่อยถูกรบกวน จึงเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เพราะปลอดภัยและมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์
สัตว์ป่าที่อาศัยในเขาหลวงมี เช่น  สมเสร็จ  หมี  เสือโคร่ง  เสือลายตลับ  กวาง  เก้ง  โครำ  หมูป่า  ชะนี  ลิง  ค่าง  กระจง  ชะมด  หมีขอ และนกนานาชนิด ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เช่น   นกกะฮัง  นกหว้า  นกชนหิน  นกกาเขาหรือนกเงือกดำ  นกกางเขนดง  นกแซงแซวสวรรค์ และนกปรอดต่าง ๆ


สถานที่ท่องเที่ยว
ในป่าเขาหลวงนี้มีจุดเด่นที่สำคัญ และน่าสนใจสำหรับการท่องเที่ยวที่เป็นภูเขา แม่น้ำลำคลองและน้ำตกหลายแห่ง ซึ่งเกิดจากต้นน้ำลำคลองต่าง ๆ ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี สิ่งที่น่าสนใจ คือ
ยอดเขาหลวง   เขาลูกนี้เป็นยอดเขาที่มีความสำคัญมากและมีความสูงที่เห็นเด่นชัดจากเทือกเขาที่มีอยู่อย่างสลับซับซ้อน ยอดเขาหลวงนี้ตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของเนื้อที่มีอยู่ ๓ ยอดด้วยกัน ยอดเขาหลวงนี้อยู่อำเภอลานสกา มีความสูง ๑,๔๓๕ เมตร จากระดับน้ำทะเล  อีกสองตอนที่อยู่ใกล้เคียงก็มีความสูงลดลั่นกันลงมา นอกจากนี้ยังมีเขามหาชัย  เขากล้วยไม้  เขาขี้แรด  เขาไปร์ห  เขาอบ  เขาสำโรง  เขาปริง  เป็นต้น ซึ่งเขาเหล่านี้รวมกันเป็นเทือกเขาหลวงนั่นเอง
คลองกาย คลองกรุงชิง คลองบิตำ และคลองเขาแก้ว  ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของลำน้ำ คือคลองกะโรม ต้นกำเนิดของน้ำตกกะโรม อันสวยงามมากอยู่ในบริเวณส่วนหนึ่งของน้ำตก  น้ำตกกะโรม อยู่ที่ตำบลเขาแก้ว  อำเภอลานสภา เป็นน้ำตกที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง ด้านตะวันตกมีคลองจันดี  คลองท่าแพ  คลองเลาะ  คลองละลาย คลองใหญ่  คลองรอแนะและคลองดินแดง คลองทั้งหมดนี้ไหลไปรวมกันเป็นแควคีรีรัตน์ซึ่งเป็นต้นน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำตาปี
คลองละลายใหญ่และคลองละลายน้อย    อยู่ในท้องที่ตำบลละอาย อำเภอฉวาง
น้ำตกท่าแพ   อยู่ในท้องที่ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง
น้ำตกพรหมโลก   อยู่ในตำบลพรหมโลก อำเภอเมือง
น้ำตกคลองในเขียว   อยู่ในเขตแดนท้องที่อำเภอเมือง และอำเภอท่าศาลา
นำตกกรุงชิงฝนเสน่หา   อยู่ในตำบลพิตำ อำเภอท่าศาลา
น้ำตกแต่ละแห่งที่กล่าวนี้มีหลายชั้น แต่ละชั้นมีความสวยงามแตกต่างกันไป
 ถ้ำแก้วสรกานต์   อยู่ในท้องที่ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |