อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา ตั้งอยู่ในอำเภอลันตา จังหวัดกระบี่ มีพื้นที่ประมาณ
134 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ทะเลประมาณร้อยละ 80 ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี
พ.ศ. 2533 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 62 ของประเทศไทย
อุทยาน ฯ ประกอบด้วยกลุ่มเกาะต่าง ๆ ในทะเลอันดามัน
กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มเกาะรอก กลุ่มเกาะไหง
กลุ่มเกาะห้าหรือตุกนลิมา และกลุ่มเกาะลันตา
ลักษณะภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศ
สภาพพื้นที่โดยทั่วไปประกอบด้วย โขดผาหินสูงชัน มีที่ราบน้อย ส่วนใหญ่มีสภาพทางธรณีเป็นหินปูน
จึงมีแหล่งน้ำจืดอย่างเพียงพอ แหล่งน้ำสำคัญได้แก่ คลองจาก
คลองหิน คลองน้ำจืด และคลองเนิน ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาลันตา
ตอนกลางของพื้นที่และส่วนใหญ่มีน้ำตลอดปี
พรรณไม้
สังคมพืชตามธรรมชาติของอุทยาน ฯ จะพบว่ามีหลายแบบด้วยกันคือ
ป่าชายหาด
พบอยู่ตามชายหาดเกาะต่าง ๆ มีสภาพเป็นป่าโปร่ง พันธุ์ไม้ที่พบทั่วไปได้แก่
สนทะเล จิกทะเล หยีทะเล ทองหลางป่า ปอทะเล รักทะเล
ยอ ปรง และลำเจียก เป็นต้น
ป่าชายเลน
พันธุ์ไม้สำคัญได้แก่ โกงกางใหญ่ โกงกางใบเล็ก
ตะบูนขาว ตะบูนดำ และแสม เป็นต้น
ป่าเขาหินปูน
พบบริเวณเกาะรอก และเกาะห้า มีลักษณะหน้าดินร่วนและตื้นมาก ไม่อุดมสมบูรณ์และความชื้นต่ำ
จะพบพรรณไม้หนาแน่นอยู่เป็นจุด ๆ กระจัดกระจาย บางแห่งเป็นป่าโปร่ง
ประกอบด้วยไม้พุ่มเล็ก ๆ และมีไม้เลื้อยขึ้นอยู่ทั่วไป ป่าชนิดนี้จะพบตามแนวเขาที่มีความลาดชันสูง
พันธุ์ไม้ที่ขึ้นได้แก่ จันทน์แดง สลัดได ขี้หนอน และจันผา
เป็นต้น
ป่าดงดิบ
เป็นป่าทึบหนาแน่นด้วยพรรณไม้นานาชนิด พบบริเวณทางตอนใต้ของเกาะลันตาใหญ่
ในแนวเทือกเขาลันตา และบนเกาะไหง พันธุ์ไม้สำคัญที่พบได้แก่ ไม้ยาง
ไข่เขียว กระบาก หลุมพอ พลอง ตะเคียนทราย หวาย
เข็มแดง บอน และเฟิร์น
ทุ่งหญ้า พบอยู่บริเวณที่ราบบนเขาของเกาะห้า
หรือ เกาะคุกนลิมา มีหญ้าคา และย่านลิเพา เป็นต้น
สัตว์ป่าและสัตว์น้ำ
เนื่องจากพื้นที่ของอุทยาน ฯ มีขนาดเล็ก จึงพบแต่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดเล็ก ได้แก่ หมูป่า กระจง ลิง ค่าง ชะมด
กระรอก กระแต ค้างคาว และหนู
นอกจากนี้ยังมีสัตว์เลื้อยคลานชนิดต่าง ๆ เช่น เหี้ย ตะกวด
เป็นต้น
นก
มีทั้งนกประจำถิ่น และนกอพยพย้ายถิ่นตามฤดูกาล ได้แก่ นกกระปูด
นกยางทะเล นกออก นกกางเขนดง นกนางนวลแกลบ นกแซงแซวสีเทา
นกกินเปี้ยว นกกระเต็นอกขาว เหยี่ยวแดง นกทะเลขาแดง และนกนางแอ่น
เป็นต้น
ปลา
มีอยู่หลายชนิดด้วยกันได้แก่ ปลาสลิดหิน ปลานกขุนทอง ปลาผีเสื้อ
ปลากะรัง ปลากะพง สัตว์น้ำอื่น ๆ มี กุ้ง ปู หอย หมึก
ฟองน้ำ กัลปังหา ปะการัง แส้ทะเล เม่นทะเล ปลิงทะเล
ฯลฯ
แหล่งท่องเที่ยว
เกาะรอก
ประกอบด้วยเกาะรอกนอก และ เกาะรอกใน มีหาดทรายที่สวยงามตลอดแนวด้านตะวันออก
ของเกาะรอกใน และด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะรอกนอก มีจุดเด่นที่น่าสนใจได้แก่
ปะการัง
จะพบเป็นกลุ่มตามโขดหินในระหว่างร่องน้ำชายฝั่ง ด้านทิศตะวันออกของเกาะรอกนอกด้านทิศใต้
และทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะรอกนอก เป็นประการังน้ำตื้น พวกปะการังเขากวาง
ปะการังจาบ ปะการังผักกาด และปะการังสมอง
แหลมธง อยู่ทางด้านเหนือหรือหัวเกาะรอกใน
ด้านที่เป็นโขดผามองคล้ายเป็นเกาะเล็ก ๆ หากยืนมองที่หาดด้านตรงข้าม
จะเห็นพระอาทิตย์ตกระหว่างช่องนั้น
หาดทะเล
เป็นหาดทรายทางด้านท้ายเกาะรอกนอก มีเม็ดทรายขาวละเอียด สามารถเดินทะลุไปยังอีกด้านหนึ่งของเกาะ
ซึ่งมีรูปร่างเป็นอ่าวโค้งคล้ายเกือกม้า สองด้านของอ่าวเป็นหน้าผาหินสูงชัน
อ่าวม่านไทร
เป็นหาดทรายอีกช่วงหนึ่งของเกาะรอกนอก มีสภาพป่าผสมกัน อยู่ระหว่างป่าชายเลน
ป่าชายหาด และป่าดงดิบ ชายหาดยาว น้ำค่อนข้างตื้น สามารถลงเล่นน้ำทะเลไปได้ไกล
เมื่อเดินลึกเข้าไปในป่า จะพบต้นไทรขนาดใหญ่ ที่มีรากย้อยลงมาประดุจม่าน
มีความกว้างประมาณ 5-6 เมตร
อ่าวศาลเจ้า
เป็นหาดทรายที่อยู่ในช่วงเกือบถึงเกาะรอกใน มีน้ำซับที่ซึมออกมาในช่วงฤดูแล้ง
เป็นแหล่งน้ำที่ใช้ได้ตลอดปี
เสาหลักเขตสยามเกาะรอก
ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะรอกใน บริเวณนี้มีลักษณะทางธรณีที่สวยงาม
เกาะไหง
มีชายหาดที่เงียบสงบ เป็นแหล่งดูปะการังน้ำตื้นที่สมบูรณ์
เกาะตะละเป็ง
เป็นเกาะที่มีรูปลักษณะเป็นหินปูน มีชายหาดเล็ก ๆ เมื่อน้ำทะเลขึ้นจะท่วมชายหาดหมด
มีลักษณะของโพรงถ้ำอยู่ริมน้ำ เป็นที่อาศัยของนกนางแอ่น
เกาะลันตาใหญ่
มีหาดทรายสวยงามอยู่ด้านหลังเกาะ มีเกาะเล็กเกาะน้อยอยู่ใกล้เคียง
เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยาน ฯ ซึ่งอยู่ที่บริเวณแหลมโตนด ที่อยู่ปลายสุดของเกาะลันตาใหญ่
มีลักษณะเป็นที่ราบรูปสามเหลี่ยม ที่มีปลายด้านหนึ่งยื่นออกไปในทะเล
มีต้นตาลสูงเด่น อีกด้านหนึ่งเป็นเขาสูงชัน ปกคลุมด้วยป่าดงดิบ
ตอนปลายสุดที่ยื่นออกไปในทะเล เป็นเนินเขาเตี้ย ๆ เป็นที่ตั้งประภาคาร ถัดออกไปในทะเลมีเกาะเล็ก ๆ
เป็นหินล้วน เรียกว่าเกาะหม้อ นอกจากนี้เกาะลันตาใหญ่ยังเปรียบเหมือน
เมืองหลวงของชาวเล มีประเพณีที่สำคัญได้แก่ พิธีลอยเรือ
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |