อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
 loading picture
ข้อมูลทั่วไป
loading picture
ธารโบกขรณี  เป็นป่าดงดิบอยู่ในระหว่างหุบเขา มีธารน้ำไหลลอดภูเขาผ่านบริเวณนี้ แล้วไหลลงสู่ทะเล ต้นน้ำเกิดจากเขาถ้ำผุดและเขาอ่าวไม้ดำ เดิมเป็นถิ่นที่อยู่ของช้างป่า ต่อมาได้มีผู้อพยพเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น ได้บุกเบิกแผ้วถางป่า และครอบครองทำประโยชน์ในบริเวณนี้เกือบทั้งหมด คงเหลือแต่ในหุบเขาบริเวณที่มีธารน้ำเท่านั้น
            ในปี พ.ศ. 2498  กรมป่าไม้ได้จัดตั้งเป็นสวนรุกขชาติธารโบกขรณี อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2541 ได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ มีพื้นที่ 104 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ป่าปากลาว และป่าคลองบากัน ป่าคลองกาโหรดและป่าคลองหิน พื้นที่บริเวณใกล้เคียง และบริเวณหมู่เกาะเหลาปิเละ ในท้องที่ตำบลคีรีวง อำเภอปลายพระยา ตำบลอ่าวลึกใต้ ตำบลอ่าวลึกเหนือ ตำบลแหลมสัก ตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก และตำบลเขาทอง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่

ลักษณะภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศ
 loading picture
อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี  บางส่วนมีสภาพพื้นที่เป็นเขาสูงชันทอดตัวในแนวเหนือใต้ พื้นที่บางส่วน มีบ่อหรือพื้นยุบตัวของหินเบื้องล่าง มีลักษณะของธารน้ำใต้ดิน สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นทั้งลอนลาดและลอนชัน มีเขาโดดเตี้ยหินปูน มีลักษณะเป็นหน้าผาสูงชันกระจายอยู่ทั่วไป ประกอบด้วย  ถ้ำสระยวนทองควนสอง ถ้ำทะลุฟ้า  เขาช่องลม  เขาถ้ำลอดใต้  เขานอก  เขาตากรด  เขาอ่าวน้ำ  เขาอ่าวหมวง  เขาใสโต๊ะดำ เขาใหญ่ปากช่องลาด และพื้นที่บางส่วนเป็นหมู่เกาะในทะเลอันดามัน ประกอบด้วยเกาะเหลาบิเละ (เกาะห้อง) เกาะเหลากา  เกาะเหลาเหรียม  เกาะปากกะ  เกาะเหลาลาดิง  เกาะยะลาฮูดัง  เกาะเหลาบุโล๊ะ (เกาะผักเบี้ย) เกาะกามิด  เกาะปาหุเสีย  เกาะฮันดู  เกาะจามัง  เกาะเมย  เกาะกาโรส  เกาะแตก  เกาะมีไลย  เกาะอ่าวช้างตาย  เกาะเลาตัว  เกาะวงมารง (เกาะขลุ่ย)  เกาะแหลมค้างคาว  เกาะแหลมทะลุ  เกาะแหลมตุโดด  เกาะช่องลาดใต้ และเกาะฮาม
พื้นที่อุทยาน ฯ เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารในพื้นที่อำเภออ่าวลึกหลายสาย ที่สำคัญได้แก่  คลองมะรุย คลองกลาง  คลองน้ำตก  คลองอ่าวลึก และคลองกาโรส

พรรณไม้
 loading picture
สังคมพืชในเขตอุทยาน ฯ สามารถจำแนกออกได้ 3 ชนิด ได้แก่
ป่าดงดิบ   พบบริเวณเทือกเขาสูงชัน พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่   หลุมพอ   ตะเคียน  เคี่ยม  อินทนิลน้ำ  ตะแบก  โสกน้ำ มะม่วงป่า  ศรีตรัง  ยางนา  ตำเสา พืชพื้นล่างเป็นพวกระกำ หวาย และไผ่ป่า
ป่าชายเลน   พบอยู่ในบริเวณเขาถ้ำลอดใต้ อ่าวน้ำ และเกาะกาโรสบางส่วน  พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ โกงกางใบใหญ่  โกงกางใบเล็ก  ตะบูนดำ ตะบูนขาว  ลำพู  ลำแพน  ถั่วขาว  ถั่วดำ  พังกาหัวสุม และแสม
ป่าพรุ   พบในบริเวณเขาช่องลมตอนใต้ มีเนื้อที่ไม่มากนัก

สัตว์ป่าและสัตว์น้ำ
สภาพพื้นป่าในปัจจุบันไม่เป็นผืนป่าขนาดใหญ่ติดต่อกัน ทำให้สัตว์ป่าที่หลงเหลืออยู่มีไม่มากนัก ที่พบเห็นได้แก่  หมูป่า  เสือปลา  กระจงหนู  ชะนี  ลิง  ค่าง  ชะมดหางปล้อง  เม่นใหญ่แผงคอยาว  ลิ่น  นาคเล็บสั้น กระแต  กระรอก  อ้นเล็ก  พังพอนธรรมดา  บ่าง  หนู
นก   มีไก่ป่า  นกดุเหว่า  นกเขาใหญ่  นกเขาชะวา  นกกวัก  นกเอี้ยงสาริกา  นกยางเปีย  เหยี่ยวแดง  นกตบยุง นกขุนทอง  นกแซงแซว  นกขมิ้น  นกหัวขวาน  นกกางเขนดง  นกกางเขนบ้าน  นกเค้าลบหลังเทา และนกปรอด
ปลา   ในห้วยลำคลองมีปลาน้ำจืดที่พบเห็นโดยทั่วไป ได้แก่  ปลาช่อน  ปลาตะเพียน  ปลาเสือข้างลาย ปลาแก้มช้ำ  ปลาซิว  ปลาดุก  ปลาหัวตะกั่ว  ปลาไหล  ปลากดเหลือง  ปลากระดี่นาง  ปลากระดี่หม้อ  ปลากัด ปลาตูหนา  ปลาหมอไทย  ปลากระทุงเหวเมือง และปลากระสูบขีด
สำหรับในทะเล  มีสัตว์น้ำสำคัญเป็นจำนวนมาก ได้แก่พวก  หอย  กุ้ง  ปู  ปลา เช่น  ปลากะรัง  ปลากะพงแดง  ปลาผีเสื้อ  ปลานกแก้ว  ปลาสลิดหิน ฯลฯ  นอกจากนี้ยังมีปลิงทะเล   ดาวทะเล   แมงดาทะเล ดอกไม้ทะเล   ฟองน้ำ  ปะการังอ่อน และปะการังแข็ง

แหล่งท่องเที่ยว
บริเวณอุทยาน ฯ ได้พบแหล่งศิลปะถ้ำอยู่มาก ลักษณะที่พบส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนสี ที่มีลักษณะเป็นภาพคน ภาพสัตว์  ภาพมือ และลายเรขาคณิต  ซึ่งจะพบในบริเวณถ้ำผีหัวโต  แหลมไฟไหม้  แหลมชาวเล  ถ้ำชาวเล แหลมท้ายแรด
การท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยาน ฯ เป็นไปในรูปเช้าไป-เย็นกลับ  เข้ามาพักผ่อนเล่นน้ำในบริเวณธารโบกขรณี และเดินชมธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียง หรืออาจท่องเที่ยวทางน้ำโดยนั่งเรือชมธรรมชาติทางทะเล และสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์  เที่ยวชมถ้ำ เช่น  ธารโบกขรณี  ถ้ำผีตัวโต   ถ้ำลอดใต้   ถ้ำเพชร  ถ้ำสระยวนทอง   ถ้ำเขาพระ-เขาราง   ถ้ำเขาทะลุฟ้า   ถ้ำวารีริน  เกาะช่องลาดใต้ และเกาะเหลาปิเลาะ (เกาะห้อง)


| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |