อุทยานแห่งชาติหาดทรายรี
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติหาดทรายรี เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่อยู่ทางชายฝั่งด้านทิศตะวันตกของอ่าวไทย
ในบริเวณท้องทะเลจังหวัดชุมพร พื้นที่ทั้งหมดประมาณ 318 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศและลมฟ้าอากาศ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานเป็นทะเล เกาะ และป่าชายเลน บางส่วนเป็นพื้นที่ริมชายฝั่งและภูเขา
จำนวนเกาะในพื้นที่อุทยานมีถึง 40 เกาะ ส่วนใหญ่เป็นเกาะเขาหินปูน จึงมักปรากฏโพรงถ้ำใหญ่น้อย
เป็นจำนวนมากทั้งบนบกและใต้ทะเล บางเกาะมีขนาดใหญ่ เช่น เกาะกุลา
เกาะมาตรา และเกาะเสม็ด ส่วนเกาะขนาดเล็ก ได้แก่ เกาะบาตร เกาะง่ามน้อย
เกาะทะลุ มีลักษณะเป็นโขดหินในทะเล
พรรณไม้
ป่าชายเลน
เป็นสังคมพืชที่พบมากที่สุด มักพบตามชายฝั่งบริเวณแม่น้ำลำคลอง มีดินเลน บริเวณที่พบเป็น
พื้นที่กว้างขวางติดต่อกันมากที่สุด คือ บริเวณอ่าวสวี และอ่าวทุ่งคา
พรรณไม้ที่พบได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ลำพู แสม
บางครั้งเรียก ป่าโกงกาง
สัตว์ป่าและสัตว์น้ำ
บริเวณแนวปะการังตามเกาะต่าง ๆ ของทะเลชุมพรในเขตอุทยาน ฯ มีองค์ประกอบของสัตว์ทะเล
สิ่งที่มีชีวิตใต้ทะเลที่แตกต่างจากบริเวณอื่น กล่าวคือ
- มีปะการังดำมากที่สุดในประเทศไทย
- มีปะการังอ่อนและถ้วยทะเลมากที่สุดในอ่าวไทย
- มีปลาการ์ตูนและดอกไม้ทะเลขนาดใหญ่มากที่สุดในอ่าวไทย
- มีความหลากหลายและปริมาณปลาสูงสุดในอ่าวไทย
- เป็นจุดสำรวจหอยที่น่าสนใจที่สุดในอ่าวไทย
นอกจากนี้ยังอาจพบฉลามวาฬ ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้ ในบริเวณทะเลแถบนี้
แหล่งท่องเที่ยว
ถ้ำใต้ทะเล
ถ้ำที่น่าสนใจซึ่งบางถ้ำมีขนาดใหญ่มาก อาจกว้างถึง 10 เมตร และลึกถึง
15 เมตร
ในถ้ำจะมีสัตว์ทะเล
เช่น ปะการัง ฟองน้ำ ดอกไม้ทะเล และหอยชนิดต่าง ๆ
แนวปะการัง
เป็นระบบนิเวศน์ที่สลับซับซ้อนด้วยองค์ประกอบของสิ่งมีชีวิต แนวปะการังในเขตอุทยาน
ฯ เป็นแบบแนวปะการังชายฝั่ง แบ่งออกเป็น 2 ระดับความลึก ที่ปรากฏได้แก่
- แนวปะการังน้ำตื้น พบบริเวณเกาะมาตรา เกาะทองหลาง เกาะกุลา
เกาะแกลบ เกาะละวะ เกาะลังกาจิว เป็นต้น
- แนวปะการังน้ำลึก พบบริเวณเกาะง่ามใหญ่ เกาะง่ามน้อย เกาะหลักง่าม
และเกาะทะลุ เป็นต้น
เกาะรังนก
ในพื้นที่อุทยาน ฯ มีสัมปทานรังนกมากถึง 10 เกาะ เนื่องจากในเกาะเหล่านั้นมีถ้ำอยู่เป็นอันมาก
ประกอบกับความอุดมสมบูรณ์ของท้องทะเลบริเวณนี้ จึงเหมาะสมต่อการสร้างรังและวางไข่
ของนกนางแอ่นกินรัง
เกาะรังกาจิว
เป็นเกาะรังนกเกาะหนึ่งในจำนวนหลายเกาะ มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์คือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ
ได้เสด็จมาทอดพระเนตรการทำรังของนกนางแอ่น ภายในถ้ำบนเกาะ เมื่อปี พ.ศ. 2433
เมื่อครั้งเสด็จประพาสหัวเมืองทางใต้
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |