ค อนิจจาธานินทร์สิ้นกษัตริย์ | เหงาสงัดเงียบไปดังไพรสณฑ์ |
แม้กรุงยังพรั่งพร้อมประชาชน | จะสับสนแซ่เสียงทั้งเวียงวัง |
มะโหรีปี่กลองจะก้องกึก | จะโครมครึกเซ็งแซ่ด้วยแตรสังข์ |
ดูพาราน่าคิดอนิจจัง | ยังได้ฟังแต่เสียงสกุณา |
ทั้งสองฝั่งแฝกแขมแอร่มรก | ชตาตกสูญสิ้นพระชันษา |
แต่ปู่ย่าตายายเราท่านเล่ามา | เมื่อแรกศรีอยุธยายังเจริญ |
กษัตริย์สืบสุริยวงศ์ดำรงโลก | ระงับโศกสุขสุดจะสรรเสริญ |
เราเห็นยับยังแต่รอยก็พลอยเพลิน | เสียดายเกิดมาเมื่อเกินน่าน้อยใจ |
กำแพงรอบขอบคูก็ดูลึก | ไม่น่าศึกอ้ายพม่าจะมาได้ |
ยังให้มันข้ามเข้าเอาเวียงชัย | โอ้อย่างไรเหมือนบุรีไม่มีชาย |
หรือธานินทร์สิ้นเกณฑ์จึงเกิดยุค | ไพรีรุกรบได้ดังใจหมาย |
เหมือนทุกวันแล้วไม่คัณนาตาย | ให้ใจหายหวั่นหวั่นถึงจันทร์ดวง... |
ค สุริยนเย็นสนธยาย่ำ | ประทับลำเรือเรียงเคียงขนาน |
เขาเรียกวัดแม่นางปลื้มลืมรำคาญ | ใครขนานชื่อหนอได้ต่อมา |
ช่างแปลงโศกให้เราปลื้มพอลืมรัก | จะรู้จักคุณจริงไม่แกล้งว่า |
พลพายนายไพร่บรรดามา | หุงข้าวหาฟืนใส่ก่อไฟฮึอ... |
...ทั้งไพร่นายนอนกลาดบนหาดทราย | พงศ์นารายณ์นรินทร์วงศ์ที่ทรงญาณ |
บรรทมเรือพระที่นั่งบังวิสูตร | เขารวบรูดรอบดีทั้งสี่ด้าน |
ครั้งรุ่งเช้าราวโมงหนึ่งนานนาน | จัดแจงม่านให้เคลื่อนนาวาคลา |
ค เข้าลำคลองหัวรอตอระดะ | ดูเกะกะรอร้างทางพม่า |
เห็นรอหักเหมือนหนึ่งรักพี่รอรา | แต่รอท่ารั้งทุกข์มาตามทาง |
พอเลี้ยวแหลมถึงท่าศาลาเกวียน | ตลิ่งเตียนแลโล่งดังคนถาง |
พี่ตั้งตาหาเกวียนสองข้างทาง | หมายจะจ้างบรรทุกไปท่าเรือ... |
ค ถึงบ่อโพงถ้ามีโพงจะผาสุก | จะโพงทุกข์เสียให้สิ้นที่โศกศัลย์ |
นี่แลแลก็เห็นแต่ตลิ่งชัน | ถึงปากจั่นตะละเตือนให้ตรอมใจ... |
...ถึงบางระกำโอ้กรรมระยำใจ | เคราะห์กระไรจึงมาร้ายไม่วายเลย... |
ถึงคุ้งแคว้นแดนพระนครหลวง | ยิ่งโศกทรวงเสียใจให้สะอื้น... |
...ถึงแม่ลาเมื่อเรามาก็ลาแม่ | แม่จะแลแลหาไม่เห็นหาย... |
...ถึงอรัญญิกแดดแผดพยับ | เสโทซับซาบโทมนัสา |
ถึงตะเคียนด้วนด่วนรีบนาวามา | ถึงศาลาลอยแลลิงโลดใจ |
เงื้อมตลิ่งงิ้วงามตระหง่านยอด | ระกะกอดเกะกะกิ่งไสว |
พยุยวบกิ่งเยือกขะเยื้อนใบ | ถึงวังตะไลเห็นบ้านละลานแล |
ถึงบ้านขวางที่ทางนาวาจอด | เรือตลอดแลหลามตามกระแส |
ถึงท่าเรือเรือยัดกันอัดแอ | ดูจอแจจอดริมตลิ่งชุม |
ที่หน้าท่ารารับประทับหยุด | อุตลุดขนของขึ้นกองสุม |
เสบียงใครใครนั่งระวังคุม | พร้อมชุมนุมแน่นหน้าศาลารี |
ค ฝ่ายพระหน่อสุริยวงศ์ทรงสิกขา | ขึ้นศาลาโสรจสรงวารีศรี |
ข้างพวกเราเฮฮาลงวารี | แต่โดยดีใจตนด้วยพ้นพาย... |
...กองคเชนทร์เกณฑ์ช้างยี่สิบเชือก | มาจัดเลือกกองหมอขึ้นคอไส |
ที่เด่นดีขี่กูบไม่แกว่งไกว | วิสูตรใส่สองข้างเป็นช้างทรง |
แล้วผ่อนเกณฑ์กองช้างไว้กลางทุ่ง | เวลารุ่งจะเสด็จขึ้นไพรระหง |
ที่สี่เวรเกณฑ์กันไว้ล้อมวง | พระจอมพงศ์อิศยมบรรทมพลัน |
ค อันพวกเราเหล่าเสวกามาตย์ | เหนื่อยอนาถนิทราดังอาสัญ... |
...สดับเสียงสัปบุรุษที่หยุดพัก | เขาร้องสักวาอึงทั้งครึ่งท่อน |
บ้างชมป่าช้าปี่ทีละคร | ถึงสบกลอนที่จะรู้ก็สู้เมิน... |
...เดือนแอร่มแจ่มล้ำในอัมพร | กองกุญชรผูกช้างมายืนเรียง |
ค บรรดาเพื่อนเตือนตื่นขึ้นก็เซ็งแซ่ | บ้างจอแจจัดการประสานเสียง |
บ้างม้วนเสื่อมัดกระสอบหอบเสบียง | บ้างถุ้งเถียงชิงสัปคับกัน |
บ้างขึ้นบนขนส่งคนข้างล่าง | เสียงโฉ่งฉ่างชามแตกกระแทกขัน |
จนคนบนสัปคับรับไม่ทัน | หม้อข้าวขันตกแตกกระจายราย |
ย่ามกระสอบกรอบแกรบกระไกรกริก | กลักพริกพลิกแพลงตะแคงหงาย |
กะโปเลเชือกร้อยขึ้นห้อยท้าย | เมื่อยามร้ายดูงามกว่าชามดิน |
ค สงสารนางชาวในที่ไปด้วย | ทั้งโถถ้วยเครื่องแต่งแป้งขมิ้น |
หวีกระจกตกแตกกระจายดิน | เจ้าของผินหน้าหาน้ำตาคลอ |
จะปีนขึ้นกูบช้างไม่กางขา | แต่โดยผ้ากรีดกรอมทำซอมซ่อ |
มือตะกายสายรัดสคนคอ | เห็นช้างงองวงหนีดก็หวีดอึง |
แต่ปีนไพล่เหนี่ยวพลัดสุหรัดขาด | สองมือพลาดพลัดคว่ำลงต้ำผึง |
กรมการบ้านป่าเขาฮาตึง | ทำโกรธขึ้งเรียกพวกผู้ชายเร็ว |
บ้างขึ้นช้างพลางฉวยข้อมือฉุด | ดังอุณรุทจับกินนรที่ในเหว |
ไม่นึกอายอัประมาณเป็นการเร็ว | บ้างโอบเอวอุ้มนางขึ้นช้างพัง |
ค สุรแสงแจ่มแจ้งอร่ามโลก | บริโภคอิ่มเอิบอารมณ์หวัง |
ขัตติยวงศ์ทรงช้างกูบบัลลังก์ | รับสั่งสั่งสารถีให้ไสเดิน |
จากศาลาท่าเรือเข้าทิวทุ่ง | เป็นฝุ่นฟุ้งนภางค์ในทางเขิน |
กูบกระโดกโยกอย่างทุกย่างเดิน | ขะเยื้อนเยินยอบเยือกยะยวบกาย |
ทั้งสองข้างท่านวางเป็นช้างดั้ง | ระยะหลังมหาดเล็กนั้นเหลือหลาย... |
ค ถึงชายป่านาประโคนรำคาญคิด | ถึงมิ่งมิตรแล้วให้หมองอารมณ์หมาง |
จนพ้นทุ่งมุ่งตรงเข้าดงยาง | ไม้สล้างลู่ล้มระทมทับ |
รุกขชาติดาษดูระดะป่า | สกุณาจอแจประจำจับ |
ดุเหว่าแว่วหวาดไหวฤทัยวับ | จะแลกลับหลังเหลียวยิ่งเปลี่ยวใจ |
ทั้งสองข้างทางเดินก็รกระ | ระเกะกะพาดพันเถาวัลย์ไสว |
จักจั่นแซ่เสียงเรไรไพร | ในจิตใจทดท้อระย่อเย็น |
ค ถึงบางโขมดมีธารตะพานช้าง | บรรลุทางครบร้อยห้าสิบเส้น |
มีโพธิพุ่มชุ่มชื่นระรื่นเย็น | ไม่ว่างเว้นสัปปบุรุษเขาหยุดเรียง |
บ้างขายของสองข้างตามทางป่า | จำนรรจาจอแจออกแซ่เสียง |
พี่แกล้งไสให้คชสารเคียง | เห็นของเรียงอยู่ในร้านทั้งหวานคาว |
แต่น้ำยานั้นเขาว่ากิ้งกือกุ้ง | เห็นชาวกรุงกินกลุ้มทั้งหนุ่มสาว |
พี่คลื่นไส้ไสช้างให้ย่างยาว | มาตามราวมรคาพนาวัน |
ลมกระพือฮือหอบผงคลีหวน | ปักษาครวญเพรียกพฤกษ์ในไพรสัณฑ์ |
ดุเหว่าแว่วแจ้วจับน้ำใจครัน | ไก่เถื่อนขันขานเขาชะวาคู |
ค ประจวบจนถึงตำบลบ่อโศก | ยามวิโยคออกชื่อก็ครือหู... |
...ระยะเดินเถินทางมากลางป่า | สองร้อยห้าสิบเส้นถึงสระใหญ่... |
...ถึงหนองคนทีมีสระละหานนอง | เป็นเปือกกรองแต่ล้วนหญ้าคงคาดำ |
อันริมรอบขอบหนองทั้งสองข้าง | รอยตีนช้างลึกลุ่มหลุ่มถลำ... |
...กำหนดนับมรคำพยายาม | ก็ได้สามร้อยเส้นห้าสิบปลาย... |
...จะแลขวาป่าเขียวยังเปลี่ยวกาย | จะแลซ้ายเห็นแต่โขดภูเขาเคียง |
กับหมู่ไม้ไกรกรวยกันเกรากร่าง | พะยอมยางตาพยัคฆ์พะยุงเหียง |
ข่อยมะขามตามทางสล้างเรียง | นกเขาเคียงคู่คูประสานคำ... |
ค ถึงศาลาอาศัยเจ้าสามเณร | ในบริเวณอึกกระทึกด้วยพฤกษา |
ที่ป่านั้นขยาดพยัคฆา | จะไปมาใครไม่อาจประมาทเมิน... |
...ได้สี่ร้อยทางจรไม่หย่อนเกิน | เขารีบเดินการด่วนจะจวนเพล... |
...ถึงสระยอรอช้างเสวยเพล | จนกองเกณฑ์เดินทางมาตามทัน |
ค พี่แวะเข้าเขาตกคอยนำเสด็จ | ดูเทเวศร์อารักษ์นรังสรรค์ |
เอาเทียนจุดบูชาแก่เทวัญ | ให้ป้องกันอันตรายในแนวไพร... |
ค ถึงสระยอพอได้เวลาเสด็จ | ก็ตามเสร็จแวดล้อมพร้อมสลอน |
กำดัดแดดแผดเที่ยงทินกร | รีบกุญชรช้างที่นั่งขนัดตาม |
บ่ายประมาณโมงหนึ่งพอถึงวัด | ออกแออัดผู้คนอยู่ล้นหลาม |
ลงหยุดปลงไอยราริมอาราม | สมภารตามเชิญเสด็จให้คลาไคล |
ขึ้นกุฎีฝากระดานสำราญรื่น | ก็ครึกครื้นครอบครัวเข้าอาศัย |
ทั้งไพร่นายรายเรียงกันเรียดไป | ตัดใบไม้มุงเหมือนหลังคาบัง |
ค ประจวบจนสุริยนเย็นพยับ | ไม่ได้ศัพท์เซ็งแซ่ด้วยแตรสังข์ |
ปี่ระนาดฆ้องกลองประโคมดัง | ระฆังหงั่งหงั่งหง่างลงครางครึม |
มโหรีปี่ไฉนจับใจแจ้ว | วิเวกแว่วกลองโยนตะโพนกระหึม |
ทุกที่ทับสับบุรุษก็พูดพึม | รุกขาครื้มครอบแสงพระจันทร |
เสนาะเสียงเทศนาปุจฉาถาม | ในสนามเสียงสนั่นเนินสิงขร |
เป็นวันบรรณรสีรวีวร | พระจันทรทรงกลดรจนา |
ไฟตะเกียงเรียงรอบพระมณฑป | กระจ่างจบจันทร์แจ่มแอร่มผา |
ดอกไม้พุ่มจุดงามอร่ามตา | จับศิลาแลเลื่อมเป็นลายลาย |
พระจันทร์ส่องต้องยอดมณฑปสุก | ในหน้ามุขเงางามอร่ามฉาย |
นกบินกรวดพรวดพราดประกายพราย | พลุกระจายช่อช่วงดังดวงเดือน |
ดอกไม้ร้องป้องปีบสนั่นป่า | ในแหล่งหล้าใครไม่มีเสมอเหมือน... |