| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา | |
ศาสนสถาน
วัดเขาบางทราย
เป็นพระอารามหลวงเดิมเรียกว่า วัดเขาพระบาทบางทราย ตั้งอยู่ห่างจากตัวจังหวัดไปทางทิศเหนือประมาณ
๒ กิโลเมตร กล่าวกันว่าพระมหากษัตริย์ผู้ครองกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้สร้างขึ้น
ในระหว่างปี พ.ศ.๒๒๔๙ - ๒๒๗๕
วัดเขาบางทรายเป็นพระอารามหลวงที่ใหญ่ที่สุด วัดนี้เคยเจริญรุ่งเรืองอยู่ชั่วระยะหนึ่ง
แล้วกลายเป็นวัดร้างจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ได้โปรดเกล้า
ฯ ให้สมเด็จพระยาบรมมหาประยูรงวศ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งเจ้าพระยาพระคลัง
ที่สมุหกลาโหม ยกทัพไปปราบอั้งยี่ที่วัดคงคาลัย ตำบลบางทราย อำเภอเมือง ฯ
หลังจากปราบอั้งยี่ลงได้แล้ว เจ้าพระยาพระคลังได้มีบัญชาสั่งให้ปลัดทัพสถาปนาวัดเขาบางทรายขึ้นมาใหม่
ในปี พ.ศ.๒๓๙๐ ต่อมาวัดนี้ได้รับการบูรณะอีกครั้งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
โดยพระยาวิชิตชลเขต ผู้กำกับราชการเมืองชลบุรีกับพระราชาคณะหลายรูป
ศาสนสถานที่ได้รับการบูรณะปฎิสังขรณ์ ได้แก่ มณฑปพระพุทธบาท เจดีย์ วิหาร
ตึกพำนักเจริญภาวนาและบ่อน้ำ เป็นต้น
ในระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงผนวชอยู่ พระองค์ได้เสด็จธุดงค์ไปนมัสการพระพุทธบาท
และเสด็จเยี่ยมเจ้าอาวาสวัดเขาบางทราย เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๗
ทางราชการเคยใช่วัดเขาบางทรายเป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา
- พระมณฑป
สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง สร้างในสมัยใดไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด
ได้รับการปฎิสังขรณ์ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้เาเจ้าอยู่หัว ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
- หอระฆัง
เป็นอาคารทรงสี่เหลี่ยมสองชั้น ก่ออิฐถือปูน ชั้นล่างเป็นระเบียงล้อมรอบ มีบันไดขึ้นไปชั้นสอง
ระเบียงชั้นล่างและชั้นบนกรุด้วยกระเบื้องปรุทั้งหมด ตามคตินิยมของสถาปัตยกรรมไทยแบบพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ศาลาราย (ศาลาเก้าห้อง)
เป็นศาลาโถงทรงค่อนข้างเตี้ย ระหว่างช่องเสาทำเป็นซุ้มโค้ง ได้รับการปฎิสังขรณ์
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่รูปทรงยังคงเป็นแบบเดิมตามลักษณะของสถาปัตยกรรมในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
และรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แสดงให้เห็นถึงการผสมผสานระหว่างอิทธิพลของสถาปัตยกรรมไทย
จีน และตะวันตก
วัดใหญ่อินทารามวรวิหาร
เป็นวัดเก่าแก่ที่สำคัญของจังหวัดชลบุรี อยู่ในเขตตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง
ฯ ได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘
จากหนังสือพระราชพงศาวดารเรียกวัดนี้ว่า วัดหลวง
อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๑๐๐ เส้น (๔ กิโลเมตร) คาดว่าที่ตั้งเมืองชลบุรีในสมัยกรุงธนบุรี
น่าจะอยู่ค่อนไปทางทิศเหนือ ใกล้เมืองบางทราย
- พระอุโบสถและพระวิหาร ลักษณะเด่นของพระอุโบสถอยู่ที่ส่วนฐานที่อ่อนโค้งที่เรียกกันว่า โค้งสำเภา เป็นรูปแบบที่นิยมสร้างกันมากในสมัยอยุธยาตอนปลาย หลังคามุงกระเบื้องแบบกาบกล้วย หรือกาบู ชายคาประดับด้วยเชิงชายรูปสามเหลี่ยม องค์ประกอบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตัวพระอุโบสถคือ ฐานเสมาที่ล้อมอยู่รอบพระอุโบสถและพระปรางค์องค์เล็ก ด้านหลังของพระวิหาร ส่วนเรือนธาตุทำเป็นซุ้มเล็กแคบสูงขึ้นไปตลอดเรือนธาตุ เป็นสถาปัตยกรรมในสมัยอยุธยาตอนปลายเช่นเดียวกัน
- จิตรกรรมฝาผนัง
มีปรากฎอยู่สองแห่งคือ ภายในวิหารเล็กด้านเหนือพระอุโบสถ และภายในพระอุโบสถ
จิตรกรรมฝาผนังในวิหารเล็กอยู่ในสภาพทรุดโทรม ภาพเลือนลางมาก ส่วนจิตรกรรมในพระอุโบสถที่บริเวณส่วนผนังหุ้มกลองด้านหน้า
ด้านหลัง และผนังด้านข้างทั้งสองข้างเขียนภาพพุทธประวัติ (ทศชาติชาดกและตอนผจญมาร)
การใช้สีและเส้นแบ่งออกเป็นหลายลักษณะเช่น ภาพทศชาติใช้สีน้ำตาลอ่อน สีขาวนวล
เป็นส่วนใหญ่ ส่วนอื่น ๆ ใช้สีตามแบบประเพณีนิยม คือน้ำตาลปนเทา น้ำตาลปนแดง
น้ำเงินปนเทา และเขียวเข้ม
เทคนิคที่ใช้แสดงว่าได้รับอิทธิพลตะวันตก อายุของภาพจิตรกรรมฝาผนังอยู่ประมาณสมัยอยุธยาตอนปลาย
แต่บางส่วนก็เขียนขึ้นในสมัยรัตนโกสินทรตอนต้น และยุคปรับปรุงประเทศ
วัดสวนตาล
เชื่อกันว่าเดิมชื่อ วัดสมณโกฎิ
เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา ต่อมาได้กลายเป็นวัดร้าง ชำรุดทรุดโทรมมาก
ทางราชการได้ใช้พื้นที่วัดสร้างอาคารของส่วนราชาการ (ศาลแขวง)
วัดอ่างศิลา
อยู่ในเขตตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง ฯ เป็นวัดเก่าแก่สมัยอยุธยาตอนปลาย โดยพิจารณาได้จากส่วนฐานของอุโบสถหลังเก่า
ซึ่งต่อมามีการสร้างวิหารหลังใหม่ทับไปบนฐานอุโบสถเดิม ทางด้านหน้าของวิหารยังคงเหลือเจดีย์สมัยอยุธยาเรียงรายอยู่สามองค์
รูปแบบของเจดีย์เป็นแบบที่นิยม สร้างในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
นอกจากนั้นส่วนฐานของเจดีย์องค์หนึ่งยังมีลายปูนปั้นรูปครุฑ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของศิลปกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย
รวมทั้งฐานใบเสมาแม้มีการซ่อมแซมใหม่ แต่ยังพอสังเกตุเห็นโครงสร้างของรูปทางเดิมได้
- จิตรกรรมฝาผนัง
ภายในอุโบสถมีจิตรกรรมฝาผนังโดยได้แบ่งพื้นที่ที่ใช้เขียนภาพแบ่งออกเป็นสี่ส่วนคือ
ตอนล่างบริเวณพื้นที่ระหว่างช่องหน้าต่างของผนังทั้งสองด้าน ซึ่งเรียกว่า
ห้องภาพและพื้นที่ผนังด้านสะกัดด้านหน้าของอุโบสถ ช่วงกลางระหว่างประตูทั้งสองข้าง
อีกส่วนหนึ่งคือช่วงบนของผนังตั้งแต่เหนือกรอบหน้าต่างประตูขึ้นไปจนจรดเพดาน
ต่อเนื่องกันไปโดยรอบผนังทั้งสี่ด้าน
เรื่องราวที่เขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติจากปฐมสมโพธิกถาทั้งหมด การใช้สีและเส้นมีลักษณะค่อนข้างสว่างสดใส
ใช้หลักวิชาทัศนียวิทยาในการเขียนภาพ ใช้สีสดใสและมีความแรงในด้านความรู้สึกในการเน้น
อายุของจิตรกรรมอยู่ประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
วัดบางบางเป้ง
อยู่ในเขตตำบลแสนสุข อำเภอเมือง ฯ สร้างใน่รัชสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
- อุโบสถ
เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ผนังสูงไม่มีเสา หลังคามุงกระเบื้องลักษณะหลังคาซ้อนกันสองชั้น
หน้าบันลายปูนปั้น ประดับด้วยเครื่องถ้วยจีน และชุดลายครามจากต่างประเทศ
ฐานรับใบเสมาก่ออิฐถือปูนประดับด้วยบัวคว่ำบัวหงาย และลวดบัวเช่นเดียวกับตังอุโบสถ
เป็นฐานที่เชื่อมต่อเนื่องมาจากผนังอุโบสถ
ลานประทักษิณ เป็นลานคอนกรีตขัดผิวเรียบล้อมรอบตัวอุโบสถ และมีหลังคา พะไลคลุมรอบทุกด้าน
ด้านหน้าและด้านหลังประทักษิณจะยาวออกมามากกว่าด้านข้าง
กำแพงแก้ว เป็นแนวกำแพงยกสูงจากพื้นประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ล้อมรอบด้านนอกของลานประทักษิณ
ปัจจุบันสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๔ กรมศิลปากร ได้บูรณะปฎิสังขรณ์ขึ้นใหม่
และขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐
มณฑปพระพุทธบาทวัดบางพระวรวิหาร
ตั้งอยู่บนเนินเขา ห่างจากวัดบางพระวรวิหาร ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา ไม่ไกลนัก
ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด ได้รับการบูรณะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๔
วัดโบสถ์
เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดชลบุรี อยู่ในเขตตำบลวัดโบสถ์ อำเภอพนัสนิคม
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างเมื่อใด สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย
อุโบสถหลังเดิมหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ต่างจากวัดอื่น ๆ ที่อุโบสถหันหน้าไปทิศตะวันออก
ปัจจุบันตัวอุโบสถชำรุดทรุดโทรมมาก
นอกจากอุโบสถแล้วยังมีใบเสมาและลูกนิมิตรอยู่ที่ด้านหน้า และด้านหลังอุโบสถหลังเก่า
ได้มีการสร้างอุโบสถหลังใหม่เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒ พร้อมกับอัญเชิญหลวงพ่อโตจากอุโบสถหลังเก่ามาประดิษฐาน
เป็นพระประธานในอุโบสถ
- จิตรกรรมฝาผนัง
มีอยู่ที่บริเวณศาลาการเปรียญ ซึ่งมีลักษณะเป็นศาลาโถง ยกพื้นใต้ถุนสูง มีภาพจิตรกรรมอยู่
ณ ส่วนที่เป็นคอสองของตัวอาคาร ซึ่งทำเป็นแนวแผงไม้ต่อลงมาจากใต้แนวเพดานต่อเนื่องกันไป
เป็นภาพพุทธประวัติตอนผจญมาร ส่วนคอสองแนวด้านข้างทั้งสองด้านและด้านสกัด
ส่วนหลังศาลาเป็นเรื่องทศชาติ การใช้สีและเส้นโดยทั่วไปเป็นสีฟ้าอ่อนปนเทา
กำหนดอายุอยู่ประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
หอพระพุทธสิหิงค์ ฯ
อยู่ในเขตตำบลบางปลาสร้อย อำเภอเมือง ฯ เป็นสถาปัตยกรรมไทยที่สวยงามสมบูรณ์ด้วยสัดส่วน
อาคารเป็นแบบตัวมุขตั้งอยู่บนฐานไพที ยกระดับซ้อนกันสองชั้นมีพนักลูกกรงล้อมรอบ
ชั้นบนสุดเป็นหอประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ ฯ พระพุทธรูปคุ่บ้านคู่เมืองชลบุรี
ด้านหน้าหอพระเป็นระเบียงโล่ง มีบันไดทางขึ้นสู่ฐานไพทีทีละชั้น ส่วนในคูหาประดิษฐานองค์พระ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดหอพระพุทธสิหิงค์ ฯ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙
วัดใต้ต้นลาน
ตั้งอยู่ที่บ้านคลองหลวง ตำบลบ้านไร่หลักทอง อำเภอพนัสนิคม
- หอพระไตรปิฎก
เป็นหอพระไตรปิฎกที่ใช้เสาไม้ ๑๒ ต้น สร้างอยู่ในสระน้ำ หลังคามุงกระเบื้องมีช่อฟ้างดงาม
มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์งดงาม นับเป็นสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่าที่แสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาในด้านสถาปัตยกรรม
และภูมิปัญญาในการเก็บรักษาพระไตรปิฎกให้พ้นจากการทำลายของมดปลวก และแมลงทั้งหลาย
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |