| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม
           งานด้านศิลปวัฒนธรรมได้แก่งานศิลปะ หัตถกรรม ภาษา วรรณกรรม การละเล่นพื้นบ้าน นาฏศิลป์ดนตรี ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมประเพณี ที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัวของจังหวัดชุมพรยังมีอยู่มาก ได้แก่เพลงนา เพลงพื้นบ้าน การขึ้นโขนชิงธงในการแข่งขันเรือพาย ประเพณีการขึ้นถ้ำ และไอ้คุณตัวตลกของหนังตะลุง
           เพลงนา  เป็นเพลงพื้นบ้านของชาวชุมพร นิยมเล่นในฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินจนลืมความเหน็ดเหนื่อยจากการเก็บเกี่ยวข้าว
           สมัยก่อน เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว บรรดาชาวนาก็จะพาญาติมิตรไปช่วยญาติมิตรเกี่ยวข้าวในต่างถิ่น ต่างหมู่บ้าน ตำบลหรืออำเภอ เรียกว่าการ ลงแขก  หัวหน้าผู้รวบรวมผู้คนไปเรียกว่า นายเหมา การไปเก็บเกี่ยวข้าวจะพานักเพลงนาไปด้วย เพื่อร้องโต้ตอบกับนักร้องเพลงนาเจ้าถิ่น เพื่อความสนุกสนาน และเกี้ยวพาราสีสาวของแต่ละฝ่ายด้วย
           เนื้อร้องในเพลงนามักสอดแทรกคำสอนหรือความเชื่อต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำนา  เพลงนานิยมเล่นกันมากในตำบลหาดพันไกร ตำบลนาชะอัง ตำบลวังไผ่ ตำบลบางสัก ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมือง ฯ และบางพื้นที่ในเขตอำเภอปะทิวและอำเภอสวี
           ผู้ขับร้องเพลงนามีอย่างน้อยสองคนเรียกว่าหนึ่งคู่ เป็นผู้ร้องนำหรือขึ้นบทก่อนเรียกว่า หัวไฟ หนึ่งคน และมีผู้คอยรับหรือทอย และร้องเสริมอีกหนึ่งคนเรียกว่า ท้ายไฟ โดยทั้งคู่จะช่วยกันร้อง ในกาขับร้องเพลงนาเพลงหนึ่งจะจัดร้องเป็นหนึ่งคู่ สองคู่หรือมากกว่าก็ได้ การขับร้องใช้ภาษาถิ่น คำขึ้นต้นจะต้องร้องว่า ออน้องหนา  การขับร้องเพลงนาไพเราะน่าฟังมาก มีการเอื้อนเสียงทอยรับกันมากมายหลายตอน นอกจากได้ฟังเสียงแล้วยังเพลิดเพลินมีอารมณ์ร่วมกับบทร้องที่มีความหมายนั้นด้วย
           การร้องเพลงนาที่แบ่งเป็นสองฝ่าย ร้องโต้ตอบกันเรียกว่า ต่อยหม้อ หรือฉะฟัน แต่ละฝ่ายจะรื้อฟื้นจุดอ่อน ข้อบกพร่องของคู่ต่อสู้มาเปิดเผยสู่กันฟัง การร้องเพลงนาประเภทนี้มุ่งแสดงคารม ปฏิภาณไหวพริบมาหักล้างกัน
           การขับร้องเพลงนาบทหนึ่งจะต้องลงท้ายคำให้อยู่ในหมวดสระเดียวกันจนจบตอน ถ้าจะลงท้ายกลอนด้วยสระใหม่ต้องลงทอยเสียก่อน เพลงนาวรรคหนึ่งมีห้าคำ การขึ้นต้นเพลงนาของหัวไฟมีสามแบบคือแบบสะบัดสะบิ้ง แบบรายและแบบธรรมดา ขึ้นอยู่กับจำนวนวรรคที่นำมาขับร้อง เช่น ถ้าหัวไฟเริ่มขึ้นกลอนจำนวนสี่วรรค เรียกสะบัดสะบิ้ง ถ้าขึ้นกลอนจำนวนแปดวรรคเรียกร่าย ถ้าขึ้นกลอนจำนวนหกวรรคเรียกแบบธรรมดา
           ธรรมเนียมการขับร้องเพลงนาเริ่มจากบูชาครู สรรเสริญคุณก่อนเป็นเบื้องต้น เช่น คุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา ครูอาจารย์ พระมหากษัตริย์ แล้วจึงดำเนินเรื่องไปตามกาลเวลาคือ เช้าร้องไหว้ สายร้องชม เที่ยงเกี้ยวสาว บ่ายสั่ง เย็นร้อง ลา หรือว่าฉะพัน
           การขึ้นโขนชิงโรง  งานแห่พระแข่งเรือ เป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาช้านาน มีให้เห็นอยู่ทั่วไป แต่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น คือการ
แข่งขันเรือที่อำเภอหลังสวน
           การแข่งเรือที่อำเภอหลังสวนตัดสินกันที่การขึ้นโขนชิงธง คือ นายหัวเรือสามารถคว้าธงที่ทุ่นเส้นชัยได้ก่อน จะเป็นผู้ชนะนายท้ายเรือต้องถือท้ายเรือให้ตรง เพื่อให้นายหัวเรือขึ้นโขนเรือไปชิงธงที่ทุ่นเส้นชัยให้ได้ เรือลำใด แม้จะนำหน้าอยู่ก็ตาม หากนายเรือขึ้นโขนแล้วคว้าธงไม่ได้ หรือคว้าธงได้แต่ตกน้ำหรือเรือล่มก่อนที่ท้ายเรือจะพ้นกระบอกธง ก็ถือเป็นแพ้  ถ้านายหัวเรือลำอื่นคว้าธงได้พร้อม ๆ กันและได้ธงไปลำละท่อนถือว่าเสมอกัน
           การแห่พระแข่งเรือ จัดขึ้นในวันแรมค่ำ เดือนสิบเอ็ด ของทุกปี วันดังกล่าวถือว่าเป็นวันพระเสด็จ ชาวบ้านจะพายเรือลากพระจากวัดต่าง ๆ ตามลำน้ำหลังสวนขึ้นมาร่วมสมโภชที่วัดด่านประชากร ในงานนี้มีการทำบุญตักบาตร ทอดกฐิน เมื่อเสร็จงานบุญแล้วก็มีการแข่งเรือกัน
           เมื่อถึงเวลาแข่งเรือ จะมีเรือพายมากมายแต่งกายด้วยเสื้อผ้าแพรพรรณหลากสีสวยงาม ร้องเพลงเรือกันเป็นที่สนุกสนาน ส่วนเรือแข่งขันก็จับคู่แข่งขันกัน ผู้ชนะจะได้ผ้าสีไปคล้องหัวเรือเป็นรางวัล ลำไหนได้ผ้าสีมากก็เป็นลำที่ชนะ เมื่อเสร็จงานแล้วก็นำผ้าเหล่านั้นมาเย็บติดกันเป็นม่านนำไปถวายวัดต่อไป
           วัดที่มีเรือยาวในสมัยก่อนมีไม่มาก เป็นวัดที่อยู่ริมแม่น้ำทั้งสิ้นนับจากปากน้ำขึ้นมา คู่ขับเคี่ยวที่คู่คี่ผลัดกันแพ้ชนะเป็นขวัญใจ
คนชมอยู่หลายปีคือเรือม้าย่องของวัดบางลำพูและเรือสิงห์ทองของวัดแหลมทราย
           ปัจจุบันประเพณีดังกล่าวมีผู้สนใจเข้าร่วมแข่งขันกันเป็นจำนวนมาก ทั้งที่มาจากจังหวัดใกล้เคียงและที่อยู่ห่างไกลออกไป
           ประเพณีขึ้นถ้ำ  ประเพณีนี้ได้มีสืบทอดมาถึงปัจจุบัน มีอยู่ทั่วไปทุกแห่งที่มีถ้ำซึ่งมนุษย์สามารถอยู่อาศัยได้ เช่น ประเพณีขึ้นถ้ำเขาถล่ม ถ้ำขุนกระทิง ในเขตอำเภอเมือง ฯ ประเพณีขึ้นถ้ำรับร่อ อำเภอท่าแซะ และประเพณีขึ้นถ้ำเขาพลู อำเภอปะทิว เป็นต้น
               - ประเพณีขึ้นถ้ำรับร่อ  เชื่อกันว่าในวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนห้า ซึ่งเป็นวันจบปีจบเดือน ที่เรียกว่า วันตรุษจบปีจบเดือน หากได้ทำบุญปิดทองพระหลักเมือง ถือว่าจะได้บุญมากและได้แก้บนปีด้วยการปิดทองจุดลูกประทัดเพื่อขอบคุณพระหลักเมืองที่ได้คุ้มครองอำนวยพรให้ประชาชนได้อยู่เย็นเป็นสุข รักษาตนให้รอดพ้นอันตรายทั้งปวงมาได้ครบหนึ่งปี
           พระหลักเมืองหรือพ่อปู่หลักเมืองเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ปางมารวิชัยประดิษฐานอยู่กลางถ้ำ รอบถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์สององค์ และพระพุทธรูปอื่น ๆ อีกนับร้อยองค์  ถัดจากถ้ำพระหลักเมืองเป็นถ้ำที่สิงสถิตของยักษ์ตนหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า อ้ายเต้ มีรูปเป็นหินนอนอยู่ในถ้ำ มีโซ่พันผูกอยู่ที่คอยักษ์ โยงปลายโซ่ไปยังเสาหินซึ่งสูงจากพื้นถ้ำถึงเพดานถ้ำ คนสมัยโบราณเชื่อกันว่ายักษ์ตนนี้จะหลุดจากโซ่ไปไม่ได้ เพราะมีพระหลักเมืองดูแลอยู่ไม่ให้หลุดไปทำอันตรายมนุษย์
           ภายในถ้ำลึกมาก มีเสาหิน หินงอก หินย้อยและธารน้ำที่สวยงามน่าเที่ยวชม อากาศภายในถ้ำเย็นสบายเป็นที่น่าพักผ่อน
           การทำบุญขึ้นถ้ำรับร่อ กระทำในคืนแรมสิมสามค่ำ เดือนห้า บริเวณวัดถ้ำรับร่อจะมีมหรสพแสดงหลายอย่าง เป็นงานประจำปีที่สนุกสนานของชาวอำเภอท่าแซะ และอำเภอข้างเคียง
           ตอนเช้าของวันแรม สิบสี่ค่ำ  เป็นประเพณีขึ้นถ้ำรับร่อ เพื่อนมัสการและปิดทองพระหลักเมือง บริเวณหน้าถ้ำจะมีการเล่นและการแสดงต่าง ๆ เช่น มโนห์รา และมวย เป็นต้น
           หลังจากประเพณีและงานทำบุญจากถ้ำรับร่อแล้วก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการทำงานของปีใหม่ ขึ้นต้นเดือนหกฝนก็เริ่มตกตามฤดูกาล ชาวบ้านเริ่มทำที่หว่านกล้าลงมือทำไร่ทำนาของปีต่อไป
               - ประเพณีขึ้นถ้ำเขาพลู  เป็นประเพณีทำบุญของชาวอำเภอปะทิว ในวันแรมค่ำเดือนหกของทุกปี จะมีประเพณีขึ้นถ้ำเขาพลู เพื่อทำบุญปิดทองพระหลักเมืองที่ชาวปะทิวเคารพสักการะ มีความเชื่อว่าเป็นพระคู่บ้านคู่เมือง พระหลักเมืองเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่เก่าแก่ มีความงามตามรูปแบบศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทรตอนต้น อายุประมาณ ๒๐๐ ปี
           วัดถ้ำเขาพลู เป็นวัดเก่าแก่ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๒๕

           ไอ้คุณ  ไอ้คุณเป็นตัวตลกในหนังตะลุง มีบทบาทสำคัญทั้งต่อผู้ชมและนายหนัง ทำให้เกิดอารมณ์ขันสะท้อนภาพสังคมในท้องถิ่น
           ตัวตลกของหนังตะลุงชุมพร มีทั้งที่เป็นตัวตลกทั่วไป ได้แก่ นายสีแก้ว นายยอดทอง นายเท่ง นายหนูนุ้ย ฯลฯ และที่เป็นตัวตลกเฉพาะถิ่นมีทั้งชายและหญิง ที่เป็นชายได้แก่ ไอ้กลั้ง ไอ้ทอง ไอ้ร้อย ไอ้แตน ไอ้เดน ไอ้นุ้ย ไอ้แผลน ไอ้ต่าย ไอ้โรย ไอ้คุณ ไอ้เค ไอ้แก้ว ไอ้เหว่า ไอ้เพลื้อย ไอ้ผลับ มีตัวสอดแทรกเช่น ลาวพรรรณ ไอ้จีนจ้ง ไอ้ดิก ไอ้ปราม ไอ้เคลิ้ม ไอ้วก ไอ้พลูด  ตัวตลกหญิงได้แก่ กิ้มโจง กิ้มม้าย น้ำอ้อย กิ้มปล่อง หรือกากิ้มโพล่ง บัวบก
           ตัวตลกหนังตลุง มักจำลองมาจากคนจริง ๆ มีประวัติที่มา
บุคคลสำคัญ

           พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ ๒๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๓ พระนามเดิมว่า พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์
           ในปี พ.ศ.๒๔๓๖ ได้เสด็จเข้าศึกษาวิชาการ ณ ประเทศอังกฤษ พร้อมด้วยพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ และทรงศึกษาต่อในวิชาการทหารเรือ จากโรงเรียนนายเรืออังกฤษ เมื่อเสด็จนิวัติสู่สยาม ทรงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ดำรงพระยศนายเรือโท และต่อมาได้เป็นผู้บัญชาการกรมทหารเรือ ถึงปี พ.ศ.๒๔๖๐
           ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ ทรงได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่าพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขณะที่ทรงดำรงตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ทรงดำริถึงการปรับปรุงกิจการทหารเรือสยามให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากล โดยทหารเรือสยามควรปฎิบัติงานแทนนายทหารเรือต่างชาติที่ว่าจ้างไว้ได้
           ในปี พ.ศ.๒๔๔๘ ทรงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ฯ เพื่อขอระราชทานที่ดินเพื่อตั้งโรงเรียนนายเรือที่บริเวณพระราชวังเดิม ฝั่งธนบุรี พระองค์ทรงฝึกสอนทหารเรือด้วยพระองค์เอง ทรงนำนักเรียนนายเรือไปฝึกปฎิบัติการทางทะเลในน่านน้ำต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ปัตตาเวีย ฟิลิปปินส์
           ทรงตั้งโรงเรียนพลทหารเรือเพื่อฝึกอบรมพลทหารเรือในเขตจังหวัดชายทะเล เช่น สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี เป็นต้น
           ทรงขอรับพระราชทานที่ดินบริเวณอำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อตั้งกองทัพเรือ
           ในปี พ.ศ.๒๔๖๓ ทรงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น พลเรือเอก พระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ และในปี พ.ศ.๒๔๖๖ ทรงได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ จนกระทั่งพระองค์ประชวร จึงได้กราบบังคมทูลลาออกจากราชการ และเสด็จไปประทับที่หาดทรายรี ทางใต้ของปากน้ำชุมพร และสิ้นพระชนม์ด้วยพระโรคไข้หวัดใหญ่ในปีเดียวกัน
           ด้วยพระปรีชาสามารถและพระเมตตาของพระองค์เป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป ทำให้ทรงเป็นที่เคารพนับถือของเหล่าทหารเรือ ชาวชุมพร และจังหวัดใกล้เคียง โดยเฉพาะที่จังหวัดชุมพรได้สร้างศาลของพระองค์ที่บริเวณหาดทรายรี เพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระองค์ที่ทรงมีพระคุณแก่ชาวชุมพร
           พระยาเพ็ชรกำแหงสงคราม (ซุ่ย)  เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๑๘ ได้ดำรงตำแหน่งปลัดเมืองชุมพร และเจ้าเมืองชุมพร มีความสามารถในการรบและการปกครอง เช่นเป็นผู้นำทหารออกต่อสู้ต้านทานกองทัพพม่า ที่ยกมาตีเมืองชุมพร โดยได้ร่วมทัพกับกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ สามารถตีเมืองชุมพรคืนจากพม่าได้เมื่อปี พศ.๒๓๕๒ จากนั้นได้สร้างวัดราชคฤหัสน์ดาวคะนอง (วัดชุมพรรังสรรค์ หรือวัดท่าตะเภาเหนือ) เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่รบชนะพม่า
           ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งกล้าเจ้าอยู่หัว ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพร่วมกับอังกฤษไปตีเมืองทวาย มะริด และตะนาวศรี จากความสามารถดังกล่าว ท่านได้รับพระราชทานรางวัลพิเศษพานทอง จากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และต่อมาได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๕

           พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี (คอซิมก๊อง ณ ระนอง)  เป็นบุตรพระยาดำรงสุจริต ฯ (คอซูเจียง) ต้นตระกูล ณ ระนอง เริ่มรับราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่หลวงศรีโลหภูมิพิทักษ์ ผู้ช่วยเมืองระนอง ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เป็นที่พระยารัตนเศรษฐี เจ้าเมืองระนอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นเทศาภิบาลมณฑลชุมพรคนแรก ในปีเดียวกัน
           ท่านได้เริ่มจัดการปกครอง การรักษาความสงบเรียบร้อย การโยธาธิการ  ก่อสร้างสถานที่ราชการ การศึกษา และการศาสนา การภาษีอากร การศาล แลการส่งเสริมอาชีพของราษฎร
           ระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๙ - ๒๔๔๔ ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่กองควบคุมการก่อสร้างถนน จากชุมพรไปยังกระบุรี
           หลังจากลาออกจากราชการแล้ว ท่านได้ใช้ชีวิตอยู่ที่เมืองระนอง และได้ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๔
           พระยาจรูญราชโภคากร (คอซิมเต็ก ณ ระนอง)  เป็นบุตรพระยาดำรงสุจริต (คอซูเจียง) เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๒ ได้ทำการสำรวจหาแร่ดีบุกตลอดเส้นทาง การค้าขายระหว่างเกาะหมาก และหัวเมืองชายฝั่งตะวันตกจนถึงตำบลพะโต๊ะ และพระซงในแขวงเมืองหลังสวน และได้ขออนุญาตเปิดเหมือง ทำการค้าแร่ดีบุก ซึ่งได้สร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงเกิดผลประโยชน์แก่บ้านเมืองอย่างมาก
           ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระยารัตนเศรษฐีรู้สึกว่าคนชราภาพแล้ว จึงได้กราบถวายบังคมลาจากตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองระนอง และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นที่พระยาดำรงสุจริต ฯ ตำแหน่งจางวางเมืองระนอง และนายคอซิมเต็กเป็นที่พระจรูญราชโภคากร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองหลังสวน เมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๐
           ในปี พ.ศ.๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ได้เสด็จถึงเมืองหลังสวนเป็นครั้งแรก ทอดพระเนตรเห็นพระจรูญราชโภคากร ยังมีบรรดาศักดิ์เป็นเพียงพระ จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีบรรดาศักดิ์เป็นที่พระยาจรูญราชโภคากร
           ต่อมา เมื่อมีการจัดการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล พระยาจรูญ ฯ รู้สึกว่าตนอายุมากแล้ว จึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่ง แล้วไปอยู่บ้านเดิมที่เกาะหมาก ต่อมาป่วยเป็นอัมพาต และได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐
           เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร  บุนนาค)  เป็นเสนาบดีกระทรวงธรรมการคนแรก เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๒ ที่จังหวัดชุมพร เป็นบุตร สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เริ่มเรียนในสำนักพระอาจารย์แก้ว ที่วัดประยูรวงศาวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๗ ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๑๐  ได้ไปทำหน้าที่ล่ามส่วนตัวให้เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร  บุนนาค) ราชทูตที่ออกไปปฏิบัติงาน ณ ทวีปยุโรป
           พ.ศ.๒๔๑๑ กลับมารับราชการเป็นราชเลขานุการในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นว่าที่เจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ หัวหมื่นมหาดเล็ก แต่ยังเป็นราชเลขานุการตามเดิม และได้มีส่วนสนองนโยบายใหม่หลายอย่าง ได้แก่ การตั้งสภารัฐมนตรี สภาองคมนตรี
           พ.ศ.๒๔๒๒ เป็นราชทูตพิเศษหลายประเทศในยุโรป ต่อมาได้เป็นอธิบดีกรมพระคลังสวนและจางวางมหาดเล็ก
           พ.ศ.๒๔๓๐ เป็นราชทูตพิเศษไปประเทศญี่ปุ่น เมื่อกลับมาได้เป็นอธิบดีจัดการกรมภาษีร้อยชักสาม (กรมศุลกากร)  ต่อมาได้เป็นปลัดบัญชีกลาง  เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ  และเสนาบดีกระทรวงธรรมการคนแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕  และได้รับโปรดเกล้า ฯ ให้เป็ฯที่เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ในปีเดียวกัน นอกจากนั้นยังเป็นองคมนตรีและรัฐมนตรีด้วย เป็นข้าราชการคนเดียวเท่านั้น ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดคือ มหาจักรีบรมราชวงศ์
           เจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ถึงแก่อนิจกรรม เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๓

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |