| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


มรดกทางพระพุทธศาสนา

ศาสนสถานและศาสนวัตถุ
           พระธาตุมุจลินทร์  ตั้งอยู่ที่บ้านหนองจิก ตำบลทุ่งตะไคร อำเภอทุ่งตะโก เป็นพระธาตุเก่าแก่ เดิมเป็นวัดร้างอยู่ในป่า ไม่มีผู้ใดทราบประวัติและไม่มีหลักฐานปรากฏ องค์พระธาตุตั้งอยู่บนแผ่นดินมีคูน้ำล้อมรอบติดกับคลองตะโก องค์พระธาตุเป็นพระเจดีย์เก่า สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลศิลปะศรีวิชัย ปัจจุบันอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก
           ชาวทุ่งตะโกได้สืบทอดขนบประเพณีนมัสการพระธาตุมุจลินทร์ ในวันสงกรานต์สืบต่อกันมาช้านาน เป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง คณะมโนราห์คณะใดที่เดินทางผ่านองค์พระธาตุจะต้องหยุดรำถวายมือทุกครั้ง
           พระหลักเมืองวัดถ้ำเขาพลู  อยู่ในเขตตำบลชุมโค อำเภอปะทิว อยู่ห่างจากตัวอำเภอไปทางเหนือประมาณ ๑ กิโลเมตร เป็นสิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอปะทิว อีกแห่งหนึ่ง
           พระหลักเมืองเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๘๐ เซนติเมตร สูง ๑.๒๐ เมตร ครองจีวรห่มเฉลียง ชายสังฆาฏิจรดพระนาภี ประทับอยู่บนฐานชุกชีทรงสูงก่อด้วยปูน ตอนบนทำเป็นรูปดอกบัวกลุ่ม ด้านหน้ามีผ้าทิพย์ห้อยลงมา แท่นฐานอาสนะตกแต่งสวยงาม ลวดลายเครื่องประดับต่าง ๆ ทำด้วยไม้แปะติดกับปูนแล้วลงรักปิดทองทั้งหมด ลวดลายแกะสลักมีความอ่อนไหวประณีต สันนิษฐานว่า เป็นแบบศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น อายุประมาณ ๒๐๐ ปี

           เขาเจดีย์  เป็นชื่อภูเขาที่อยู่ในเขตเทศบาลตำบลบางสน บนภูเขามีพระเจดีย์เก่าแก่ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๕๓ เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน กว้าง - ยาว ด้านละสี่วา สองศอก  องค์เจดีย์เป็นศิลปะแบบอยุธยา ต่อมากรมศิลปากรได้บูรณะขึ้นใหม่ และทางวัดได้สร้างพระบูรพาบรรพตเป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรขนาดใหญ่ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ส่วนทางด้านทิศใต้ขององค์เจดีย์ได้สร้างศาลาเพื่อประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง
           เขาเจดีย์นับเป็นของคู่บ้านคู่เมืองของอำเภอปะทิวตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
           พระปู่หลักเมืองถ้ำรับร่อ  ตั้งอยู่ที่เชิงเขาพระ ตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ  เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ศิลปะสมัยอยุธยา เรียกกันว่า พระหลักเมือง หรือพ่อปู่หลักเมือง เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ หน้าตักกว้างประมาณ ๓ เมตร ประดิษฐานอยู่กลางถ้ำทะเลเซียะของเขาพระ หรือเขารับร่อ
           ตามประวัติกล่าวว่า เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.๑๖๐๒ - ๑๘๐๐ พระบรมราชาพระเจ้าพงษาสุระ และพระเจ้าจันทรภานุ ซึ่งเป็นกษัตริย์สามพี่น้องของเมืองนครศรีธรรมราช หลังจากที่ได้กู้เอกราชคืนมาจากพวกทมิฬแล้ว ก็ได้บูรณะพระธาตุ และรับศาสนาพุทธลัทธิลังกาวงศ์ เข้าสู่เมืองนครศรีธรรมราช และได้เผยแผ่ไปยังเมืองลูกหลวงสิบสองนักษัตร ชาวเมืองอุทุมพรจึงได้รับอารยธรรมศาสนาพุทธด้วย จึงได้สร้างพระพุทธรูปไว้ในถ้ำภูเขาพระ ชาวเมืองได้ยึดถือเอาพระพุทธรูปองค์ใหญ่ไว้คู่บ้านคู่เมือง โดยเรียกชื่อว่า พระปู่หลักเมือง
           วัสดุที่ใช้สร้างพระพุทธรูป ใช้หินมาวางซ้อนกันแล้วจับด้วยดินเหนียว ส่วนองค์พระใช้ไม้แกะสลักหุ้มด้วยดินแล้วปิดทองทั้งองค์
           นอกจากพระปู่หลักเมืองแล้วที่หน้าถ้ำยังมีพระพุทธรูปอีกสามองค์ เป็นพระพุทธรูปปูนปั้นทรงเครื่องปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑.๔๐ - ๒.๐๐ เมตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนกษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชทั้งสามองค์ นอกจากนั้น รอบ ๆ ถ้ำยังมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์อีกสององค์ และพระพุทธรูปสลักด้วยไม้ อีกจำนวนนับร้อยองค์  สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น หรือสมัยอยุธยาตอนปลาย มีการบูรณะเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๕  กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียน เป็นโบราณสถานแห่งชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙
           ปัจจุบัน มีการจัดงานนมัสการบูชาพระหลักเมือง ในวันแรมสิบสี่ค่ำ เดือนห้า ของทุกปี
           พระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่ในวิหารวัดนาสร้าง ในเขตตำบลท่าแซะ อำเภอท่าแซะ อยู่ห่างจากตัวอำเภอไปประมาณ ๒ กิโลเมตร องค์พระยาวเจ็ดวา สองศอก สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๑

           พระบรมธาตุสวี  ตั้งอยู่ที่วัดพระธาตุสวี ณ บ้านสวี ตำบลสวี อำเภอสวี สันนิษฐานว่าสร้างสมัยอยุธยา มีตำนานเล่าว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.๑๘๐๓ พระเจ้าศรีธรรมมโศกราชได้ยกทัพขึ้นมารบกับกองทัพอโยธยาที่บริเวณเมืองกำเนิดนพคุณ เมื่อเสร็จสงครามแล้วได้ยกทัพกลับ ระหว่างทางได้หยุดพักรี้พลที่วัดร้างแห่งหนึ่ง ในเขตเมืองสวี ได้มีอีกาฝูงหนึ่งจับกลุ่มกันส่งเสียงร้อง และกระพือปีกอยู่บนกองอิฐเก่ากองหนึ่ง ในฝูงกานั้น มีกาเผือกอยู่ตัวหนึ่งเป็นที่น่าแปลกใจ พระองค์จึงให้รื้อกองอิฐนั้นออกดู พบว่าใต้กองอิฐเป็นฐานพระเจดีย์ใหญ่ เมื่อขุดลึกลงไปก็พบผอบบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
พระองค์จึงให้ปฎิสังขรณ์พระเจดีย์นั้น พร้อมทั้งนำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้เช่นเดิม พระราชทานนามว่า พระธาตุ กาวีปีก (พระธาตุกากระพือปีก) ต่อมาคำว่า กาวี เพี้ยนไปเป็น สวี จึงได้เรียกว่า พระธาตุสวี
           ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  องค์พระบรมธาตุสวีได้หักพังลงมาและถูกปล่อยทิ้งไว้หลายปี จนถึงปี พ.ศ.๒๔๕๙ หลวงพ่อทอง พุทธสุวรรณโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดดอนสะท้อน และพระครูดำ จันทรัตโน อดีตเจ้าคณะอำเภอสวีได้บูรณะซ่อมแซมกำแพงรอบเจดีย์ และเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้มีการยกยอดหัวเม็ดพระบรมธาตุสวี
           พระบรมธาตุสวี  เป็นที่เคารพสักการะของชาวสวี และประชาชนในจังหวัดใกล้เคียง ทางวัดได้จัดให้มีงานนมัสการพระบรมธาตุ ในกลางเดือนหก เป็นประจำทุกปี

           วัดถ้ำขวัญเมือง  ตั้งอยู่ในเขตตำบลนาโพธิ์ ไม่ปรากฎหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด เดิมบริเวณวัดเป็นป่าทึบ มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มาก บนเขาถ้ำขวัญเมืองมีถ้ำอยู่หลายแห่ง ใช้เป็นที่อยู่ของพระสงฆ์ ทางด้านทิศตะวันออกมีถ้ำใหญ่อยู่ถ้ำหนึ่ง ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่องค์หนึ่ง เป็นพระพุทธรูปปางห้ามสมุทร ทรงเครื่องเนื้อโลหะ สูงประมาณ ๑.๖๖ เมตร กล่าวกันว่าเป็นพิมพ์เดียวกับพระปางห้ามสมุทรในพระอุโสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
           ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ทางวัดได้สร้างพระเจดีย์บนเขาองค์หนึ่ง ภายในพระบรมสารีริกธาตุและพระอรหันตสาวกธาตุไว้ใต้ฐานเจดีย์เป็นห้องพัก และห้องสวดมนต์ของพระภิกษุสงฆ์
           วัดขันเงิน  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ อยู่ในเขตตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๓๖๙ มีพระพุทธรูปสำคัญประดิษฐานอยุ่ในวัดคือ หลวงพ่ออินทร์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ก่ออิฐถือปูนเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนมาก
           วัดขันเงินเป็นวัดตัวอย่างด้านการศึกษาของจังหวัด เป็นวัดที่มีระเบียบวินัยเคร่งครัด ภิกษุสามเณรทุกรูปต้องศึกษาภาษาบาลี มีการพัฒนาวัดและลูกวัดไปพร้อม ๆ กัน
           วัดชุมพรรังสรรค์  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่บ้านตะเภาเหนือ ตำบลนาทุ่ง อำเภอเมือง ฯ ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๑ กิโลเมตร เดิมชื่อวัดราชคฤห์ดาวคะนอง คนทั่วไปเรียกว่า วัดท่าตะเภาเหนือ ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๔ ได้มีการทิ้งระเบิดหมายทำลายสถานีรถไฟ แต่พลาดไปถูกพระอุโบสถ ได้รับความเสียหายฟังทลายลงมาเหลือแต่ฐานพระอุโบสถ เป็นที่อัศจรรย์ จึงได้ถวายนามว่า หลวงพ่อรอดสงคราม เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย เป็นที่เคารพสักการะจากประชาชนทั่วไป
           วัดประเดิม (วัดสุทธาวาสธาราม)  อยู่ในเขตตำบลตากแดด อำเภอเมือง ฯ สันนิษฐานว่า สร้างมาแต่สมัยอยุธยา เนื่องจากได้พบใบเสมา และเศียรพระพุทธรูปหินทราย สมัยอยุธยาอยู่จำนวนหนึ่งที่วัดนี้ ปัจจุบันมีโบราณสถานสำคัญคือ พระปรางค์ ก่ออิฐถือปูน มีทรงแปลก สันนิษฐานว่าเดิมอาจไม่ใช่รูปทรงปัจจุบัน มีการบูรณะหลายครั้งจนเปลี่ยนสภาพไปจากเดิม
           กล่าวกันว่าภายในองค์พระปรางค์มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป ในวันขึ้นสิบห้าค่ำเดือนหก จะมีงานปิดทองห่มผ้าพระธาตุเป็นประจำทุกปี
           กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙
           วัดท่ายางกลาง (วัดพิชัยยาราม)  ตั้งอยู่ที่บ้านท่ายาง ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด ปัจจุบันมีวัดเก่ารุ่นเดียวกันอยู่สามวัด ตั้งอยู่ติดต่อกันคือวัดท่ายางเหนือ วัดท่ายางกลาง และวัดท่ายางใต้ (วัดคงคาราม)  สิ่งก่อสร้างในวัดสร้างขึ้นใหม่เกือบทั้งหมด เว้นแต่วัดท่ายางกลางมีอุโบสถเดิมเหลืออยู่
           วัดราษฎร์บูรณาราม  อยู่ในเขตตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๒๙๖  มีลำห้วยไหลผ่านกลางวัด จึงดูเหมือนแบ่งวัดออกเป็นสองส่วน ชาวบ้านเรียกวัดนอกวัดใน วัดนี้แต่เดิมมีโบราณสถาน และโบราณวัตถุที่สำคัญคือ
           เจดีย์ศิลปะสมัยศรีวิชัย พระพุทธรูปสำริดสมัยเชียงแสน และพระพุทธรูปดินเผาสมัยอยุธยา
           ในเขตสังฆาวาสมีอาคารที่มีลักษณะศิลปกรรมที่งดงามอยู่หลังหนึ่งคือกุฏิไม้ประดับเชิงชายและฉลุลวดลาย สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔
           วัดพระขวาง  อยู่ในเขตตำบลขุนกระทิง เป็นที่ประดิษฐานพระขวางซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหินทรายพอกปูนทับขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง ๑.๔๕ เมตร สูงประมาณ ๒.๕ เมตร มีตำนานกล่าวว่า พระพุทธรูปองค์นี้ลอยน้ำมา แล้วหยุดขวางอยู่กลางคลองชุมพรตรงหน้าวัด ชาวบ้านช่วยกันดึงขึ้นมาแต่ไม่สำเร็จ ต่อมาพระพุทธรูปองค์นี้ไปเข้าฝันคนแก่คนหนึ่ง บอกว่าไม่ต้องฉุดลาก ท่านจะเสด็จขึ้นไปเอง ขอให้สร้างที่อยู่ให้เสร็จเสียก่อน ชาวบ้านจึงร่วมกันสร้างวิหารขึ้น สำหรับเป็นที่ประดิษฐาน เมื่อสร้างวิหารเสร็จ เช้าวันรุ่งขึ้นปรากฏว่าพระพุทธรูปได้ขึ้นไปประดิษฐานในวิหารเรียบร้อยแล้ว
           มีการจัดงานนมัสการในวันขึ้นค่ำ เดือนหก เป็นประจำทุกปี
           พระมาลิกเจดีย์  ตั้งอยู่บนเกาะเล็ก ๆ ชื่อเกาะมัตโพน ริมฝั่งปากน้ำชุมพร เป็นเจดีย์สมัยรัตนโกสินทร์ สูงประมาณ ๑๒ เมตร เวลาน้ำลงเต็มที่ สามารถเดินตามสันทรายไปยังเกาะได้
           มีการจัดงานนมัสการในวันขึ้นสิบห้าค่ำ เดือนเจ็ด เป็นประจำทุกปี
           วัดสามแก้ว  ตั้งอยู่ที่บ้านสามแก้ว ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง ฯ ตัววัดตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ย ๆ เคยมีการขุดพบลูกปัดสีต่าง ๆ และกลองมโหระทึกขนาดต่าง ๆ มีลักษณะคล้ายกับที่พบในเขตอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เป็นกลองมโหระทึกที่มีอายุอยู่ประมาณ ๑,๗๐๐ - ๒,๐๐๐ ปี อาจสันนิษฐานได้ว่า บริเวณเนินเขาที่ตั้งวัดสามแก้ว อาจเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณที่มีอายุเก่าแก่มากเมืองหนึ่ง
           วัดสามแก้ว สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๖๘  หลังคาอุโบสถมีลักษณะแตกต่างจากอุโบสถของวัดทั่วไป คือหลังคาไม่มีช่อฟ้าใบระกา ตัวอุโบสถจึงมีลักษณะคล้ายกล่องสี่เหลี่ยมลายไทย ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังของช่างเขียนมีชื่อในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้อยู่หัว คือ พระยาอนุศาสตร์จิตรกร (จันทร์  จิตรกร) ได้เขียนภาพภายในอุโบสถ เพื่ออุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
           ภาพเขียนแบ่งเป็นสามตอน ตอนบนสุดเป็นภาพเทพนม ทั้งเทพบุตรและเทพธิดา  ตอนกลางเป็นภาพเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ได้แก่ท้าวจัตุโลกบาล เทวดานพเคราะห์ คณะเทพและพระโพธิสัตว์  ตอนล่างสุดตามช่องผนังระหว่างเสา และบานประตูหน้าต่าง เป็นภาพพุทธประวัติ ผนังด้านหน้าเป็นภาพแม่ธรณีบีบมวยผมขนาดใหญ่ ฝีมืองดงามมาก

| ย้อนกลับ | บน |