| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


มรดกทางวัฒนธรรม

โบราณสถาน
           โบราณสถานหมายถึง อสังหาริมทรัพย ์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการก่อสร้าง หรือหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของอสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาตร์หรือโบราณคดีทั้งนี้ให้รวมถึงสถานที่ที่เป็นแหล่งโบราณคดี แหล่งประวัติศาสตร์และอุทยานประวัติศาสตร์ด้วย
           แหล่งโบราณคดี  หมายถึงพื้นที่ที่ปรากฎหลักฐานเป็นวัตถุ หรือร่องรอยประกอบกิจกรรมหรือการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีต ทั้งที่อยู่เหนือผิวดิน และใต้น้ำโดยไม่มีอาคารสิ่งก่อสร้างชัดเจน
           แหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งปรากฎตามแนวถ้ำของเทือกเขาทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัดชุมพร เรียงลำดับจากทิศเหนือลงสู่ทิศใต้คือ อำเภอปะทิว อำเภอเมือง ฯ อำเภอสวี และอำเภอทุ่งตะโก มีดังนี้
               - ถ้ำตีนเป็ด  ตั้งอยู่ในเขตตำบลเขาไชยราช อำเภอปะทิว ตัวถ้ำอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของเขาตีนเป็ด ปากถ้ำหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ กว้างประมาณ ๖ เมตร ภายในถ้ำมีคูหาขนาดใหญ่และขนาดเล็ก พื้นถ้ำเป็นดินจากการขุดลอกพื้นถ้ำพบเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ และกระดูกสัตว์เป็นจำนวนมาก สันนิษฐานว่า ถ้ำแห่งนี้เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์หินใหม่
               - ถ้ำสนุกสุขารมย์  อยู่ในเขตตำบลบ้านนา อำเภอเมือง ฯ ตัวถ้ำอยู่ที่เขาท้ายด่านซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มภูเขาหินปูนทางทิศตะวันตกของจังหวัด เป็นถ้ำขนาดใหญ่ประกอบด้วยคูหาใหญ่สองคูหา ภายในมีทางเดินทะลุถึงกันได้ ผนังถ้ำบางส่วนมีการเขียนภาพเกี่ยวกับพุทธประวัติ สันนิษฐานว่า เคยถูกใช้เป็นที่พำนักของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ พบเศษภาชนะดินเผาตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ และแบบผิวเรียบ เนื้อภาชนะหยาบมีเม็ดทรายปน เนื้อไม่แกร่ง ผิวนอกสีน้ำตาล ภายในมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่หนึ่งองค์ และพระพุทธรูปขนาดเล็กอีกหลายองค์ประดิษฐานอยู่
               - ถ้ำขุนกระทิง  อยู่ในเขตตำบลขุนกระทิง อำเภอเมือง ฯ ตัวถ้ำอยู่ทางทิศใต้ของเพิงผาด้านตะวันออกของเขานาพร้าว ภายในถ้ำประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ ยาวประมาณ ๙ เมตร และพระพุทธรูปอื่น ๆ อีก เป็นที่เคารพสักการะของคนทั่วไป บริเวณหน้าเพิงผามีภาพเขียนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เป็นภาพลายเส้นบนผนังหิน เขียนด้วยสีแดง มีลายเส้นตรง เส้นหยักและวงกลมเขียนต่อกัน หรือเป็นส่วนภาพเดียวกัน
           ในวันขึ้นสองค่ำเดือนห้า จะมีงานประเพณีขึ้นถ้ำ ปิดทองพระพุทธไสยาสน์เป็นประจำทุกปี
               - ถ้ำน้ำลอดน้อย  ตั้งอยู่ในเขตตำบลระยา อำเภอสวี เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ประเภทถ้ำ และเพิงผา ตัวถ้ำมีน้ำลอดผ่านตลอด มีลักษณะเป็นลำธารขนาดเล็ก ที่หน้าพระประธานในถ้ำมีการเก็บรวบรวมชิ้นส่วนโบราณวัตถุได้แก่ เศษภาชนะดินเผาผิวเรียบและลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผาประเภทหม้อสามขา ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ แสดงให้เห็นว่า ณ ที่แห่งนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ อายุประมาณ ๔,๐๐๐ ปีลงมา

               - เขาสามแก้ว  อยู่ในเขตตำบลนาชะอัว อำเภอเมือง ฯ เป็นแหล่งโบราณคดีแหล่งใหญ่ที่สำคัญ ซึ่งแสดงหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณ สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ จากการสำรวจได้พบหลักฐานได้แก่กลองมโหระทึกสำริด หุ่นจำลองรูปคน สัตว์ (ช้าง ม้า กวาง) สำริด เครื่องมือเหล็กรูปหอกใบข้าว รูปขวาน ขวานหินขัด แท่นหินบด มีลายสลักรูปตัดทอนส่วนของสถูปและธรรมจักร ลูกปัดและกำไลทำจากหินและแก้ว เครื่องประดับทองรูปพรรณมีแหวน และแผ่นทอง ลูกปัดคาร์เนเลียนแกะสลักอักษรโบราณ นับว่าเป็นชุมชนแรกของจังหวัดชุมพร ที่คยเป็นแหล่งติดต่อค้าขายกับต่างชาติมาแต่โบราณ

               - เขาฉานเรน  อยู่ในเขตอำเภอทุ่งตะโก เป็นเพิงผาหันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ยาวประมาณ ๓๐ เมตร บริเวณด้านหน้ามีลำธารเล็ก ๆ ไหลผ่าน เป็นเขาหินปูนในกลุ่มเทือกเขาสลับซับซ้อนระหว่างอำเภอสวี อำเภอทุ่งตะโก และเขตอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง สำรวจพบเศษภาชนะดินเผากระจายอยู่ในถ้ำ และบริเวณเพิงผาประมาณ ๓๗๐ ชิ้น มีเนื้อหยาบ มีเม็ดทรายปนมาก เผาด้วยอุณหภูมิต่ำขึ้นรูปด้วยมือ พบทั้งส่วนปาก ส่วนก้น ส่วนตัว และส่วนขาเป็นภาชนะประเภทหม้อสามขา กับเครื่องมือหินประเภทขวานหินขัด
           สันนิษฐานว่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์สมัยยุคหินใหม่

               -  ถ้ำรับร่อ  อยู่ในเขตตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปูนปั้นองค์ใหญ่ปางมารวิชัย ชาวบ้านเรียกว่า พระปู่หลักเมือง ประดิษฐานอยู่กลางถ้ำ รอบถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์สององค์ และพระพุทธรูปแกะสลักจากไม้จำนวนนับร้อยองค์ หน้าถ้ำมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยสามองค์ สร้างสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่ศาลาราษฎรสามัคคี มีรอยพระพุทธบาทแกะสลักจากหินทรายแดง สลักภาพมงคล ๑๐๘ ประการ ส่วนของภาพกิจกรรมของกลุ่มชนในท้องถิ่น
           สันนิษฐานว่า เคยเป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์ตั้งแต่สมัยประวัติศาสตร์ เนื่องจากพบเครื่องมือขวานหินขัด และเศษภาชนะดินเผาภายในถ้ำต่าง ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บริเวณนี้มีมนุษย์อาศัยอยู่มาแล้วไม่น้อยกว่า ๒,๐๐๐ ปี
           กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๙
           แหล่งประวัติศาสตร์  มีอยู่สองแห่งด้วยกันคือ
               - ถ้ำเขาเงิน  ตั้งอยู่ที่เขาเงิน ในเขตตำบลท่ามะพลา อำเภอหลังสวน บนเขาเงินมีถ้ำอยู่สามถ้ำ ถ้ำกลางอยู่ต่ำกว่าอีกสองถ้ำ ปากถ้ำหันหน้าไปทางทิศใต้
           เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จ ฯ มาที่ถ้ำเขาเงิน และทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ จ.ป.ร. ไว้ที่ผนังถ้ำกลางด้านขวามือ
           ที่ชะง่อนหินหน้าถ้ำริมฝั่งแม่น้ำหลังสวนมีเจดีย์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้า ฯ ให้บูรณะเจดีย์องค์เก่า แล้วโปรดเกล้า ฯ ให้บันทึกข้อความกล่าวถึงการเสด็จ ฯ ทางชลมารคมาที่ถ้ำเขาเงินด้วย
               - เนิน ๔๙๑  ตั้งอยู่ ณ พื้นที่รอยต่อระหว่างพรมแดนไทยกับประเทศพม่า ในเขตตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ
           เมื่อ ๑๙ ก.พ.๓๙  พม่าได้ส่งกำลังเข้ายึดบริเวณรอบเนิน ๔๙๑ อันเป็นการละเมิดอธิปไตยของประเทศไทย รัฐบาลไทยได้ใช้วิธีทางการทูตเจรจา จนพม่าต้องถอนกำลังกลับไป
           ปัจจุบัน จังหวัดชุมพรได้พัฒนาเนิน ๔๙๑  ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในฐานะซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อพรมแดน
    รูปปั้น อนุสาวรีย์

               - พระรูปพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพร ฯ  พระองค์เป็นที่เคารพสักการะของชาวชุมพรและประชาชนโดยทั่วไป จึงมีพระรูปและอนุสรณ์สถานหลายแห่ง ทั้งที่ประดิษฐานอยู่ในสถานที่เกี่ยวข้องกับพระประวัติของพระองค์ เช่น บริเวณที่ดินส่วนพระองค์ พระตำหนักที่สิ้นพระชนม์ สถานที่สำคัญ ๆ ทั้งที่เป็นของทางราชการและเอกชน
           พระอิริยาบถที่ปรากฏโดยทั่วไป ทรงเครื่องแบบเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ประทับยืนอยู่บนแท่น มีขนาดแตกต่างกันไปดังเช่น พระรูปประดิษฐานในสวนสาธารณะเทศบาลเมือง สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๕๐๒  พระรูปประดิษฐานในพระตำหนักกรมหลวงชุมพร ฯ บ้านหาดทรายรี อำเภอเมือง ฯ หล่อด้วยสำริด จำนวนสององค์ องค์เล็กสูง ๙๐ เซนติเมตร สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ องค์ใหญ่ขนาดเท่าองค์จริง สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๘ พระรูปที่ศาลกรมหลวงชุมพร ตั้งอยู่ที่หาดอรุโณทัย อำเภอทุ่งตะโก หล่อด้วยสำริด ขนาดเท่าองค์จริง สูง ๑๗๓ เซนติเมตร ประดิษฐาน เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๒

               - รูปปั้นหลวงปู่สงฆ์  หลวงปู่สงฆ์ เป็นพระภิกษุที่มีจริยวัตรงดงาม เป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง มีเมตตาธรรมสูง เป็นที่พึ่งแก่ทุกคนทั้งทางโลกและทางธรรม  เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวชุมพรและจังหวัดใกล้เคียง
           รูปปั้นของท่านจึงมีให้ประชาชนได้สักการะบูชาทั่วไปในจังหวัดชุมพร ทั้งภายในวัดวาอาราม เช่น ที่วัดเจ้าฟ้าศาลาลอยตำบลบางลึก อำเภอเมือง ฯ และตามสถานที่ราชการต่าง ๆ โรงเรียน โรงพยาบาล และตามหิ้งพระของชาวบ้าน รูปปั้นของท่านส่วนใหญ่อยู่ในท่านั่งขัดสมาธิ ขนาดแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละสถานที่

               -  อนุสาวรีย์ยุวชนทหาร  ตั้งอยู่ที่เขตตำบลบางหมาก อำเภอเมือง ฯ ใกล้สะพานท่านางสังข์สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงวีรกรรรมของทหารกองพันที่ ๓๘ ตำรวจ และยุวชนทหารหน่วยที่ ๕๒ ณ โรงเรียนศรียาภัย ที่ได้รวมกำลังกันต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นที่ยกพลขึ้นบกที่หาดคอสน ตำบลท่ายาง อำเภอเมือง ฯ ในสมัยสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๘๔
           ตัวอนุสาวรีย์เป็นรูปยุวชนทหาร ถือปืนเล็กยาวในท่าเตรียมแทงด้วยดาบปลายปืน ตั้งอยู่บนฐานหินอ่อนสีขาว เหนือฐานหินอ่อนเป็นฐานทรงกลมสูง ๓ เมตร กว้าง ๖ เมตร รอบฐานมีแผ่นจารึกวีรกรรมและชื่อของทหาร ยุวชนทหาร และประชาชนผู้เสียชีวิต เป็นอนุสรณ์เตือนใจให้อนุชนรุ่นหลัง ได้รำลึกถึงวีรกรรมของผู้เสียสละชีวิต ในการปกป้องแผ่นดินไทย
      สิ่งสำคัญคู่บ้านคู่เมือง

               - พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพร ฯ  พระองค์ทรงเป็นพระลูกยาเธอในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติเมื่อปี พ.ศ.๒๔๒๓ ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการทหารเรือจากประเทศอังกฤษ ทรงปรับปรุงกิจการทหารเรือให้เข้าขึ้นมาตรฐานสากล ทรงวางหลักสูตรและก่อตั้งโรงเรียนนายเรือ ทรงก่อตั้งฐานทัพเรือสัตหีบ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของกองทัพเรือ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖
           พระองค์ได้กราบถวายบังคมลาราชการ เมื่อไปพักผ่อนรักษาพระองค์ในปีเดียวกัน โดยมาประทับที่หาดทรายรี และประชวรสิ้นพระชนม์ในปีเดียวกันนั้น
           พระองค์เป็นปูชนียบุคคลที่ชาวชุมพรเคารพสักการะ เป็นมิ่งขวัญและกำลังใจของชาวชุมพร จึงได้ร่วมใจกันสร้างอนุสรณ์เพื่อระลึกถึงพระองค์ ทั้งที่เป็นศาล พระตำหนัก และพระรูป ประดิษฐานไว้บริเวณหาดทรายรี

           อนุสรณ์สำคัญอีกประการหนึ่งคือ เรือหลวงชุมพร ที่กองทัพเรือได้มอบให้แก่จังหวัดชุมพรตามที่ประชาชนร้องขอ เพื่อนำไปประดิษฐานเป็นอนุสรณ์ แด่เสด็จในกรมหลวงชุมพร โดยทำพิธีมอบ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓
           เพื่อเป็นการระลึกถึงพระองค์จึงได้จัดให้มีพิธีและงานเทิดพระเกียรติ ถือเป็นงานประจำปีจัดขึ้นระหว่าง วันที่ ๑๙ - ๒๗ ธันวาคม ของทุกปี
               - หลวงปู่สงฆ์ จนทสโร    (รายละเอียดมีอยู่ในมรดกทางพระพุทธศาสนา)
               - พระธาตุมุจลินทร์    (รายละเอียดมีอยู่ในมรดกทางพระพุทธศาสนา)
               - พระหลักเมืองวัดถ้ำเขาพลู  (รายละเอียดมีอยู่ในมรดกทางพระพุทธศาสนา)
               - เขาเจดีย์    (รายละเอียดมีอยู่ในมรดกทางพระพุทธศาสนา)
               - พระปู่หลักเมืองถ้ำรับร่อ   (รายละเอียดมีอยู่ในมรดกทางพระพุทธศาสนา)
               - พระพุทธรูปปางไสยาสน์    (รายละเอียดมีอยู่ในมรดกทางพระพุทธศาสนา)
               - พระบรมธาตุสวี    (รายละเอียดมีอยู่ในมรดกทางพระพุทธศาสนา)
               - วัดถ้ำขวัญเมือง    (รายละเอียดมีอยู่ในมรดกทางพระพุทธศาสนา)

               - ศาลหลักเมือง    ตั้งอยู่หน้าศาลากลางจังหวัด เป็นอาคารทรงปราสาท หลังคาจตุรมุข ยอดทรงปรางค์ ภายในประดิษฐานเสาหลักเมือง ซึ่งเป็นไม้แกะสลักลวดลายไทยลงรักปิดทอง ไม้ที่นำมาเป็นเสาหลักเมืองได้จากต้นราชพฤกษ์แห่งวัดถ้ำรับร่อ ซึ่งเป็นดินแดนที่เชื่อถือกันว่าเป็นที่ตั้งของเมืองอุทุมพร
หรือเมืองชุมพรดั้งเดิม มีอายุประมาณร้อยปี เชื่อกันว่าเป็นไม้มงคลสูงสุดในหมู่ไม้ทั้งหลาย และได้รูปพรรณสัณฐานตามตำราที่กล่าวไว้ โดยทำพิธีตัด เมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๕
           สมเด็จพระเทพรัตน์ ฯ ได้เสด็จ ฯ มาทรงเป็นองค์ประธานพิธีเปิดศาลหลักเมือง ในปี พ.ศ.๒๕๓๕
               - ศาลหลักเมือง  ตั้งอยู่ในเขตตำบลตากแดด อำเภอเมือง ฯ ใกล้กับวัดประเดิม ตั้งอยู่ในวัดเสื้อเมือง ซึ่งเป็นวัดเก่า สภาพเดิมของศาลเป็นศาลาไม้มุงสังกะสี ต่อมาบูรณะใหม่เป็นอาคารคอนกรีต ภายในมีแท่นหินทรายและหลักไม้ เรียกว่า พระทรงเมือง
           พื้นของวัดประเดิมและศาลเสื้อเมือง มีผู้สันนิษฐานว่า เป็นชุมชนเก่าของเมืองชุมพร มีอาณาเขตจากท่าน้ำชุมพร ระหว่างวัดพระขวางทางด้านทิศตะวันตกกับวัดประเดิม ทางด้านทิศตะวันออก โดยได้พบอิฐก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่กระจายอยู่ทั่วไป
               - เสาหลักเมืองปะทิว  อยู่ในเขตตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว ห่างจากสถานีรถไฟมาบอำมฤตไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๗ กิโลเมตร อยู่ใกล้วัดหน้าค่าย มีอายุประมาณร้อยปี ปัจจุบันได้มีการสร้างอาคารครอบเพื่อรักษาโบราณสถานแห่งนี้ไว้

               - พ่อตาหินช้าง  อยู่ในเขตตำบลสลุย อำเภอท่าแซะ ติดกับทางหลวงหมายเลข ๔ (เพชรเกษม) ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ ๔๕๓ - ๔๕๔ ศาลพ่อตาหินช้างนี้จำลองมาจากหินช้าง ซึ่งเป็นหินมีรูปลักษณะเหมือนช้างมี ๑๑ เศียร ซึ่งอยู่บริเวณคลองท่าแซะ ห่างจากศาลแห่งนี้ประมาณ ๕๐๐ เมตร
           ชาวจังหวัดชุมพรมีความเชื่อว่า พ่อตาหินช้างเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่เคารพเพื่อความเป็นสิริมงคล ผู้ที่เดินทางผ่านเส้นทางนี้ จะต้องแวะทำความเคารพด้วยการจุดประทัด เพื่อขอให้เดินทางด้วยความปลอดภัย

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |