| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

โบราณวัตถุ

           โบราณวัตถุเป็นสังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือที่เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ ซึ่งโดยอายุหรือลักษณะแห่งการประดิษฐ์ หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้น เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี
           โบราณวัตถุที่พบในเขตจังหวัดชุมพร แยกเป็นกลุ่ม ๆ ได้ดังนี้
           กลุ่มอาวุธ  เช่น หอก ดาบ ของอดีตเจ้าเมืองชุมพร

           กลุ่มเครื่องมือเครื่องใช้  มีทั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์  สมัยต้นประวัติศาสตร์ และสมัยประวัติศาสตร์
               - สมัยก่อนประวัติศาสตร์  เช่น ขวานหินกะเทาะ ขวานหินขัด ภาชนะดินเผา ซึ่งพบตามถ้ำต่าง ๆ ในเขตจังหวัดชุมพร
               - สมัยต้นประวัติศาสตร์  เช่น กลองมโหระทึก พบที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อำเภอเมือง ฯ
               - สมัยประวัติศาสคร์  เช่น เครื่องถ้วยสมัยสุโขทัย เครื่องถ้วยจีน เครื่องถ้วยเวียดนาม ภาชนะใส่อาหาร จากยุโรป เรือโบราณ เป็นต้น

           กลุ่มพระพุทธรูปและศาสนวัตถุ  เช่น ใบเสมาหินทราย  เศียรพระพุทธรูปหินทราย และรอยพระพุทธบาทจำลองสมัยอยุธยา
           กลุ่มเครื่องประดับเช่น ลูกปัดหินและแก้ว กำไลแก้ว กำไลสำริด พบที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว อำเภอเมือง ฯ
           กลุ่มเอกสารโบราณ  เช่น สมุดไทย เล่าเรื่องนิทานพื้นบ้าน ตำรายา ตำราการขุดเรือ และตำราโหราศาสตร์ เป็นต้น
ศิลปหัตถกรรมและงานช่างท้องถิ่น
           ประกอบด้วยผลงานด้านประติมากรรม จิตรกรรม สถาปัตยกรรม และงานช่าง
           ประติมากรรม  ได้แก่ งานปั้นและงานแกะสลัก แบ่งตามประเภทและเรียงลำดับตามความเก่าแก่ได้ดังนี้

               - ภาชนะดินเผาประเภทหม้อสามขา  พบในพุทธสถานถ้ำน้ำลอดน้อย ตำบลทุ่งระยะ อำเภอสวี เป็นภาชนะที่มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาตร์ยุคหินใหม่ นิยมใช้เป็นภาชนะหุงต้ม มีอายุอยู่ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี
           ที่หน้าพระประธานในถ้ำมีการเก็บรวบรวมชิ้นส่วนโบราณวัตถุ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผาผิวเรียบและลายเชือกทาบ ภาชนะดินเผา ประเภทหม้อสามขา ชิ้นส่วนกระดูกสัตว์ วัตถุโบราณเหล่านี้เก็บมาจากถ้ำหลายแห่งในหมู่เขาถ้ำลอดนี้

               - ภาชนะดินเผาประเภทหม้อสามขาและขวานหินขัด  พบในถ้ำบริเวณเพิงผา ภูเขาฉานเรน ตำบลตะโก อำเภอทุ่งตะโก ภูเขาลูกนี้เป็นภูเขาหินปูน ในกลุ่มเทือกเขาอันสลับซับซ้อน ระหว่างเขตอำเภอสวี กับอำเภอทุ่งตะโก จากการสำรวจพบเศษภาชนะกระจายอยู่ในถ้ำและบริเวณเพิงผา เป็นภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ มีเม็ดทรายปนมาก เผาในอุณหภูมิต่ำ ขึ้นรูปด้วยมือ และเครื่องมือหินประเภทขวานหินขัด
           โบราณวัตถุที่พบมีอายุอยู่ประมาณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่ ประมาณ ๒,๐๐๐ - ๔,๐๐๐ ปี มาแล้ว

               - ภาชนะดินเผา  พบในถ้ำเขาตีนเป็ด  ตำบลเขาไชยราช  อำเภอปะทิว  เป็นโบราณวัตถุจำพวกเศษภาชนะดินเผาเนื้อหยาบ เผาด้วยอุณหภูมิต่ำ ขึ้นรูปด้วยมือ ส่วนปากเนื้อหยาบ ไส้ในดำ มีเม็ดกรวดทรายปน ผิวเรียบ ส่วนลำตัว เนื้อหยาบ ไส้ในดำ มีเม็ดทรายปน เรียบเผาในอุณหภูมิต่ำ ผิวนอกสีน้ำตาลอ่อน ส่วนก้น เนื้อหยาบ ไส้ในดำ มีเม็ดทรายปน เผาในอุณหภูมิต่ำ ผิวสีเทา น้ำตาลอ่อน และสีเหลืองอ่อน
           แหล่งโบราณคดีนี้อยู่ทางทิศตะวันออกของเขาตีนเป็ด คงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่

               - กลองมโหระทึก  เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ได้ขุดพบลูกปัดหินบนเขาสามแก้ว ตำบลนาชะอัง อำเภอเมือง ฯ นอกจากนั้นยังขุดได้กลองมโหระทึกสามใบ มีขนาดใหญ่และขนาดเล็กตามลำดับ กลองดังกล่าววางหงายอยู่ บรรจุหินอัญมณีเครื่องประดับประมาณครึ่งใบ ชาวบ้านที่ขุดพบเรียกว่าหม้อ กลองเหล่านี้ทำด้วยสำริด สลักลวดลายบนหน้ากลองและขอบข้างกลองงดงาม
           กลองมโหระทึกใบใหญ่และใบเล็กมีอายุประมาณ ๑,๗๐๐ - ๒,๐๐๐ ปี
               - พระข่อย  อยู่ใกล้เขตวัดประเดิม  เป็นพระพุทธรูปหินทราย ซึ่งฝังอยู่ในดิน เหลือเพียงส่วนพระเศียรที่โผล่พ้นดินขึ้นมา เมื่อนานเข้าถูกลม ฝน กัดเซาะ เกิดการผุกร่อนจนกลายเป็นคล้ายหินทราย  ชาวบ้านเรียกว่า พระข่อย เนื่องจากมีต้นข่อยปกคลุมอยู่

               - รอยพระพุทธบาทหินทราย  ยาวประมาณ ๑ เมตร ประดิษฐานอยู่ที่ศาลาบริเวณเชิงเขาวัดเทพเจริญ  อำเภอท่าแซะ รอยพระพุทธบาทสลักด้วยลวดลายคล้ายสัญลักษณ์ของราชวงศ์ปทุมวงศ์ ของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช แห่งนครศรีธรรมราช มีรูปแพะ สัญลักษณ์ของเมืองชุมพร ซึ่งตามตำนานเมืองนครศรีธรรมราช มีเมืองสิบสองนักษัตรเป็นเมืองขึ้น
           สันนิษฐานว่า รอยพระพุทธบาทหินทรายนี้น่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนต้นหรือไม่เก่าไปกว่าพุทธศตวรรษที่ ๑๙

              - เศียรพระพุทธรูปหินทราย  ประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถวัดประเดิม ตำบลตากแดด อำเภอเมือง ฯ เหนือฐานชุกชีที่ประดิษฐานพระพุทธรูป พบส่วนเศียรพระพุทธรูปหินทราย จำนวนเกือบยี่สิบเศียร และส่วนพระหัตถ์พระพุทธรูปสำริด ซึ่งเป็นของพระพุทธรูปที่อยู่ในวัดมาแต่เดิม
           ลักษณะเศียรพระพุทธรูปรับอิทธิพลศิลปะสมัยอยุธยา

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |