| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

    ประเพณีท้องถิ่น

            ประเพณีนบพระ - เล่นเพลง  ชาวบ้านเรียกว่า งานไหว้พระธาตุ เทศกาลเพ็ญเดือนสาม หรืองานบุญวันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ มีประวัติความเป็นมาว่า ในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) แห่งกรุงสุโขทัย พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาก ได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศลังกา มาประดิษฐานไว้ในองค์พระเจดีย์ ที่วัดพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม อำเภอเมือง ฯ และได้นำต้นพระศรีมหาโพธิ์มาปลูกไว้บริเวณด้านหลังเจดีย์ ยังคงปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน
            เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสามซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา พระเจ้าแผ่นดินพร้อมด้วยเจ้าผู้ครองนครหัวเมืองน้อยใหญ่ และไพร่ฟ้าข้าราชบริพาร จะจัดการตกแต่งขบวนแห่แหนพากันไปนมัสการพระบรมธาตุที่เรียกกันว่า นบพระ การเดินทางต้องใช้เวลามาก ต้องนอนค้างแรมที่วัด ในตอนกลางคืนต่างจัดการละเล่นในท้องถิ่นของตน มาเล่นกันอย่างสนุกสนานรื่นเริง เรียกว่า เล่นเพลง ประเพณีดังกล่าวนี้ได้เลือนหายไปนานจนถึงปี พ.ศ.๒๕๒๖ ทางจังหวัดกำแพงเพชรได้ฟื้นฟูประเพณีนี้ขึ้นมาใหม่
            ประเพณีนบพระ - เล่นเพลงในปัจจุบัน  ทางจังหวัดจะจัดขบวนแห่อย่างสวยงาม เดินทางจากตัวจังหวัดไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งประดิษฐานในองค์พระเจดีย์ ในวัดพระบรมธาตุในวันดังกล่าว และเวียนเทียนรอบองค์พระเจดีย์ ตอนกลางคืนจะมีการละเล่นมหรสพและการออกร้านต่าง ๆ ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัด
            ประเพณีตรุษไทย  ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ หรือวันสิ้นเดือนสี่ของทุกปี  ในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๔  ประชาชนจะร่วมกันทำบุญตักบาตรที่วัด ในตอนเย็นมีการก่อพระเจดีย์ทรายตามวัดต่าง ๆ พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์  รุ่งขึ้นในวันแรม ๑๕ ค่ำ มีการทำบุญตักบาตร ประชาชนทำข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว ขนมกวนและขนมเทียน ไปทำบุญ การทำบุญวันตรุษจะทำกัน ๓ วัน ในตอนกลางคืนทั้ง ๓ คืน มีการรื่นเริงตามบ้าน เช่น เล่นเพลงพื้นบ้าน เพลงพวงมาลัย เล่นแม่ศรี มอญซ่อนผ้า รำคล้องช้าง รำโทน เป็นต้น

            ประเพณีสงกรานต์  ตรงกับวันที่ ๑๓ - ๑๕ เมษายนของทุกปี วันที่ ๑๓ เป็นวันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก ประชาชนพากันตักบาตร ขนมที่ทำได้แก่ข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้ว ขนมกวน ขนมเทียน ฯลฯ แต่ละบ้านจะทำขนมเป็นจำนวนมากเพื่อถวายพระและแจกญาติพี่น้อง นับเป็นงานนักขัตฤกษ์ที่ประชาชนรื่นเริงสนุกสนานมาก
            ในทางสุริยคติ กำหนดให้วันที่ดวงอาทิตย์โคจรเข้าสู่ราศีเมษ นับเป็นวันขึ้นปีใหม่ในสมัยก่อน มีกิจกรรมและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ปฏิบัติกันมา ดังนี้
            วันที่ ๑๒ เมษายน ประชาชนทำบุญตักบาตรในตอนเช้า  ตอนเย็นประชาชนจะพร้อมใจกันไปขนทรายเข้าวัด และร่วมกันก่อพระเจดีย์ทราย ซึ่งจะประดับตกแต่งด้วยดอกไม้ ธงทิว พวงเต่ารั้ง (ใช้กระดาษสีพับเป็นสามเหลี่ยมแล้วตัดเป็นระย้า) บ้างทำธงเล็ก ๆ จำนวนเท่าอายุ ปักบนกองทรายเป็นการสะเดาะเคราะห์ให้ตัวเองด้วย แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์
            วันที่ ๑๓ เมษายน เป็นวันมหาสงกรานต์ ตอนเช้ามีการทำบุญตักบาตรที่วัด ถือเป็นการฉลองพระเจดีย์ทรายด้วย ส่วนที่วัดพระบรมธาตุนั้น หลังจากทำบุญตักบาตรแล้วจะทำบุญเลี้ยงพระในเวลาเพล จากนั้นประชาชนจะร่วมกันสรงน้ำพระสงฆ์ และสรงพระบรมธาตุด้วย
            ในระหว่างวันสงกรานต์ จะมีการรดน้ำดำหัวกัน จะจัดขบวนไปอาบผู้ใหญ่ที่บ้านเพื่อขอศีลขอพรจากผู้ใหญ่ จะจัดเสื้อผ้า น้ำอบ น้ำหอม เพื่อไปผลัดเปลี่ยนให้  ส่วนผู้ใหญ่จะนำพระที่อยู่ในบ้านซึ่งมีทั้งพระพุทธรูปและพระเครื่องออกมาสรงน้ำ

            ในวันที่ ๑๔ เมษายน ชาวบ้านจะมารวมกันที่วัดใดวัดหนี่ง ที่อยู่ในย่านชุมชน แล้วนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีสรงน้ำ เสร็จแล้วถวายภัตตาหารเพล จากนั้นก็นัดกันแห่ผ้าไปห่มพระบรมธาตุที่วัดพระบรมธาตุ โดยชาวบ้านในตำบลนครชุมและตำบลต่าง ๆ จะจัดรูปขบวนแห่ที่น่าดูและสนุกสนานมาก
            ในวันที่ ๑๕ เมษายน เป็นวันพญาวัน ถือเป็นวันเถลิงศก ผู้เฒ่าผู้แก่ในครอบครัวจะใช้ด้ายสีแดงและขาวผูกคอหรือมัดมือบุตร หลานตลอดจนภาชนะเครื่องใช้สอย และพาหนะต่าง ๆ พร้อมทั้งกล่าวคำอวยชัยให้พรเพื่อเป็นสิริมงคล วันนี้เป็นวันไหว้เจ้าพ่อหลักเมืองด้วย เมื่อสรงน้ำหลักเมืองแล้ว จะเดินทางไปศาลพระอิศวร เพื่อสรงน้ำพระอิศวร จากนั้นในตอนเย็นขบวนแห่ต่าง ๆ จะไปรวมกันที่หาดทรายแห่งใดแห่งหนึ่งที่ใกล้วัดและชุมชนเพื่อช่วยกันก่อพระทรายน้ำไหล คือการก่อพระเจดีย์ทรายที่หาดริมน้ำ แล้วทำเป็นร่องน้ำไหลรอบพระเจดีย์ พร้อมทั้งตบแต่งด้วยธงทิวรอบ ๆ กองพระทราย สมัยก่อนเมื่อก่อพระเจดีย์เสร็จ จะมีการสมโภชด้วยการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ พอสมควรแก่เวลาแล้วนิมนต์พระสงฆ์ไปเจริญพระพุทธมนต์
            ในวันที่ ๑๖ เมษายน มีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ เป็นการทำบุญฉลองเป็นเสร็จพิธี
            ระหว่างสงกรานต์ ชาวบ้านจะรดน้ำดำหัวกันอย่างสนุกสนาน สมัยก่อนในเวลากลางคืนชาวบ้านจะไปรวมกันเล่นการละเล่นพื้นบ้านต่าง ๆ เช่นเดียวกับประเพณีวันตรุษ

            ประเพณีวันวิสาขบูชา  ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ในตอนเช้าวันนี้ ชาวบ้านจะพร้อมใจกันไปทำบุญตักบาตรที่วัด ในตอนค่ำทุกวัดมีพิธีเวียนเทียน ชาวบ้านจะพร้อมใจกันไปเวียนเทียน
            ในเดือนหกนี้ บางหมู่บ้านมีการทำบุญกลางบ้าน คือ การทำบุญของชาวบ้านแต่ละหมู่บ้าน โดยจะจัดทำบริเวณที่เป็นศูนย์รวมของหมู่บ้าน มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ทำบุญเลี้ยงพระตอนเช้า แล้วมีการทำพิธีเสียกบาล คือการสะเดาะเคราะห์ โดยชาวบ้านจะเอากาบกล้วยมาทำเป็นบัตรพลี ใส่ข้าวพล่า ปลายำ หมากพลู และปั้นรูปคนรูปสัตว์ใส่ลงไปด้วย เมื่อพระสงฆ์สวดมนต์เย็นจบแล้ว จะนำบัตรพลีเสียกบาลไปลอยน้ำเพื่อเป็นการลอยเคราะห์และโรคภัยไปด้วย

            ประเพณีเข้าพรรษา  ในเดือน ๘ มีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอยู่ ๒ วันคือ วันอาสาฬหบูชา ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันเข้าพรรษาซึ่งตรงกับวันแรม ๑ ค่ำ ชาวบ้านจะร่วมใจกันหล่อเทียนเพื่อถวายพระตามวัดต่าง ๆ เพื่อพระสงฆ์จะได้ใช้จุดในระหว่างพรรษา เรียกว่า เทียนพรรษา โดยจะถวายก่อนวันเข้าพรรษา ทั้งสองวันนี้ ชาวบ้านจะทำบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์

            ประเพณีสารทไทยกล้วยไข่  เมืองกำแพงเพชร ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ หรือสิ้นเดือนสิบ ในช่วงเทศกาลนี้ชาวบ้านจะทำขนมที่เรียกว่า กระยาสารท ไปทำบุญถวายพระ กระยาสารท มีส่วนผสมคือข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่งลิสง งา ของสี่อย่างนี้นำมาคั่วให้สุกก่อน แล้วนำมากวนกับน้ำอ้อยให้เหนียวกรอบเกาะกันเป็นปึก แล้วทำเป็นก้อนหรือตัดเป็นชิ้น ๆ เก็บไว้ได้นาน
            เป็นความเชื่อวที่ว่า การทำบุญในวันสารทเดือน ๑๐ เป็นการทำบุญเพื่อเซ่นบรรพบุรุษ ที่ล่วงลับไปแล้วและถือว่าทำบุญด้วยของแรกได้จะมีอานิสงส์มาก กระยาสารทเป็นของที่ต้องนำไปทำบุญตักบาตรในนวันสารทพร้อมด้วยกล้วยไข่ เพราะในฤดูนี้กล้วยไข่จะให้ผลผลิตมาก กำแพงเพชรมีชื่อในฐานะเป็นเมืองกล้วยไข่ ทางจังหวัดและชาวกำแพงเพชรจังรวมเอาการส่งเสริมผลผลิตกล้วยไข่ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เข้ากับยงานพิธีสารทไทย เดือนสิบ เรียกว่า งานประเพณีสารทไทยกล้วยไข่ เมืองกำแพงเพชรขึ้นในช่วงวันแรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ และวันขึ้นค่ำเดือนสิบเอ็ด หรือในช่วงปลายเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี
            ในงานนี้ได้จัดให้มีการกวนข้าวกระยาทิพย์หรือข้าวทิพย์ ซึ่งปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ว่า เป็นอาหารที่ทำในพิธีสารท ซึ่งเป็นราชพิธีหนึ่งที่ทำกันมาแต่สมัยสุโขทัยเรียกว่า พิธีภัทรบก สิ่งของที่ใช้กวนได้แก่ ถั่ว งา สาคู ข้าวโพด ข้างฟ่าง ข้าวเม่า มันเทศ กระจับ แห้ว ข้าวสาร ลูกบัว เมล็ดกล่ำ น้ำนมโค น้ำผึ้ง น้ำอ้อย มะพร้าวแก่ มะพร้าวอ่อน ชะเอม และอื่น ๆ อีกมาก มากวนให้เข้ากันโดยใช้สาวพรหมจารีเป็นผู้กวน

            ประเพณีออกพรรษา - การเทศน์มหาชาติ  ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ชาวบ้านทำบุญตักบาตรตอนเช้า ตอนสายนิมนต์หพระสงฆ์บิณฑบาตรข้าวสารอาหารแห้งเรียกว่า ตักบาตรเทโว หลังวันออกพรรษา มีประเพณีการเทศน์มหาชาติ ก่อนถึงกำหนดวันเทศน์มหาชาติ ๑ วัน ชาวบ้านจะร่วมกันตกแต่งศาลาวัดด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย และต้นไม้ต่าง ๆ แล้วนำดอกไม้มาร้อยเรียกว่า พวงมะโหด ไปแขวนตกแต่งให้คล้านคลึงกับป่าหิมพานต์ การเทศมหาชาติจะเทศน์สองวัน วันแรกเติมคาถาพัน วันที่สองเทศน์เนื้อเรื่อง ชาวบ้านจะจัดดอกไม้ธูปเทียนบูชาธรรม ขณะฟังเทศน์จะจุดธูปเทียนตลอดเวลา ไม่ให้ดับ
            ประเพณีการทอดกฐิน  เริ่มตั้งแต่วันแรมค่ำ เดือน ๑๑ ถึงวันขึ้นค่ำเดือน ๑๒ ชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาในแต่ละวัน จะร่วมกันจัดให้มีการทอดกฐิน ซึ่งอาจเป็นกฐินสามัคคีหรือกฐินที่มีคนใดคนหนึ่งขอเป็นเจ้าภาพก็ได้

            ประเพณีลอยกระทง - ทอดผ้าป่าแถว  มีในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปี ชาวกำแพงเพชรมีประเพณีลอยกระทง และถือเอาคืนวันเพ็ญเดียวกันนี้ จัดประเพณีทอดผ้าป่าแถวก่อนที่จะไปลอยกระทง ชาวบ้านจะนำชะลอมบรรจุสิ่งของต่าง ๆ เช่น กล้วย อ้อย ส้ม และผ้าหนึ่งผืนซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ พอพลบค่ำจะนำเครื่องปัจจัยไทยทานที่เตรียมไว้ไปยังวัดที่จะไปทอดผ้าป่า โดยนำไปเรียงไว้เป็นแถวและเขียนหมายเลข โดยนำไปเรียงไว้เป็นแถวและเขียนหมายเลขติดไว้ แล้วเอากิ่งไม้ไปปักไว้ที่กองผ้าป่าให้เหมือนกับป่า เมื่อถึงเวลาอันสมควรก็จุดเทียนปักไว้ที่กองผ้าป่าส่วนพระสงฆ์ก็จะจับสลาก เมื่อได้หมายเลขใดก็จะเดินไปหากองผ้าป่า ที่ตรงกับหมายเลขที่จับสลากได้ แล้วพิจารณาเครื่องปัจจัยไทยทานนั้นเรียกว่า ชักผ้าป่า
            เมื่อเสร็จการทอดผ้าป่าแถวแล้ว ก็จะพากันไปยังลำแม่น้ำปิงเพื่อประกอบพิธีลอยกระทง ที่จังหวัดกำแพงเพชรมีกระทงชนิดหนึ่งคือ กระทงสาย การทำกระทงชนิดนี้ จะใช้ธูปชุบน้ำมันยางแล้วผึ่งแดดให้แห้งสนิทเสียก่อน เมื่อถึงวันลอยกระทงก็นำเรือไปทอดสมออยู่กลางแม่น้ำ เอาธูปที่เตรียมไว้จุดไฟแล้วปักกับกาบกล้วย ปล่อยให้ลอยไปในน้ำเป็นระยะ ๆ โดยผู้ลอยกำหนดระยะห่างของกระทง เพื่อให้ผู้อยู่บนฝั่งแม่น้ำมองดูสวยงาม
            ประเพณีการขอฝน  เมื่อถึงฤดูกาลตกกล้าหรือเมื่อดำนาแล้วฝวนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านเกรงว่าข้าวปลาจะขาดแคลน หรือเกิดภาวะข้าวยากหมากแพงขึ้น บรรดาชาวนาจะจัดขบวนแห่พระพุทธรูปคันธารราษฎร์ปางขอฝน พร้อมทั้งนิมนต์พระสงฆ์ให้เจริญพระพุทธมนต์แห่ไปตามถนนสายต่าง ๆ ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ตามถนนที่ขบวนแห่ผ่าน จะสรงน้ำพระพุทธรูป และพระสงฆ์จะรดน้ำผู้ที่อยู่ในขบวนแห่ ประหนึ่งว่าฝนได้ตกลงมาแล้ว ซึ่งถือกันว่าเป็นเคล็ดอย่างหนึ่ง
            หลังจากแห่พระในตอนกลางวันแล้ว ในตอนพลบค่ำชาวบ้านจะทำพิธีเรียกว่า แห่นางแมว โดยเมื่อคัดเลือกแมวที่ต้องการได้แล้ว ก็จะนำไปใส่ข้อง แล้วแห่กันไปเหมือนแห่พระ แล้วร้องเพลงนางแมว มีเนื้อร้องว่า
                 "นางแมวเอย ขอฟ้าขอฝน ขอน้ำมนต์รดหัวนางแมวบ้าง ขอเบี้ยค่าจ้างที่หามแมวมา แมวจะกินปลา หมาจะกินข้าว ใครไม่ให้ข้าว ให้ข้าวตายฝอย ใครไม่ให้อ้อย ให้อ้อยเป็นแมง ใครไม่ให้แตง ให้แตงคอคอด ใครไม่ให้นอนกอดให้มอดเจาะ ฝนจะเทลงมา เทลงมา เทลงมา"
            ประเพณีการไล่โรคห่า  ชาวบ้านบางกลุ่มยังมีความเชื่ออยู่ว่า การที่ผู้คนเจ็บป่วยแล้วล้มตายกันเป็นจำนวนมาก เพราะโรคระบาดบางชนิด อันเกิดจากการกระทำของผีประเภทหนึ่งเรียกว่า ผีห่า  ต้องทำพิธีไล่และป้องกัน โดยการนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดมนต์บทภาณยักษ์ ที่ถนนสายใหญ่กลางเมือง ซึ่งเชื่อว่าเป็นทางเดินของผีทั้งหลาย และนำทรายใส่พานไปคนละพาน เพื่อไปลงเสกบทภาณยักษ์แล้วนำทรายกลับบ้าน เอาไปซัดสาดตามบริเวณบ้าน เพื่อไล่ตัวผีห่าที่ยังแอบแฝงอยู่ให้ออกไปให้พ้น ทรายที่เหลือจะทำเป็นรูปเจดีย์ทรายไว้ที่หน้าบ้าน ตรงประตูทางเข้า เพื่อป้องกันพวกผีไม่ให้เข้าไปทำอันตรายคนในบ้าน
    การกินอยู่
            ครัวและเครื่องใช้ในครัว  ตามประเพณีไทยสมัยโบราณ การปลูกบ้านเรือนไทยนิยมปลูกครัวแยกออกจากเรือนที่อยู่ เพราะการทำครัวในสมัยก่อนใช้ฝืนซึ่งมีควันไฟ ดังนั้นบ้านโดยทั่ว ๆ ไปจึงสร้างครัวอยู่ปลายสุดของนอกชานหรือหลังเรือนและสร้างแบบโปร่งเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ตามปกติผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับเจ้าของบ้านจะไม่ให้เข้าไปถึงในครัว
                 - สำรับกับข้าว  ปกติจะนั่งล้อมกินอาหารในครัว ถ้ามีความก็ยกกับข้าวไปกินที่นอกชาน อาจใช้เสื่อปูรองนั่ง การตักข้าวใส่ถ้วยวางเรียงในถาด แต่เดิมใช้ถาดทองเหลืองชนิดมีปุ่มหรือขาเล็ก ๆ ติดอยู่ใต้ถาด นอกจากนี้ยังมีถาดสังกะสีเคลือบมีลายดอกไม้สีสดสวยงามมาใช้แทนถาดทองเหลือง
                 - เครื่องกิน  หมายถึงเชี่ยนหมากใส่หมากพลู ซึ่งเป็นของขบเคี้ยวเล่นของคนสมัยก่อน ส่วนใหญ่จะกินหมากเวลาจะไปไหนต้องหอบหิ้วไปด้วย
                 - จวักหรือกระจ่า  เป็นของใช้พื้นบ้านมาแต่โบราณ ใช้ตักแกงหรือใช้คนของเหลว คนโบราณห้ามใช้จวักตักชิมอาหาร
                 - เตา  ได้แก่เตาอั้งโล่ เตาเชิงกราน และเตาวง ใช้กับหม้อดิน รูปแบบต่าง ๆ ต่อมาเมื่อมีภาชนะที่ทำด้วยเหล็กและอลูมิเนียม เช่น กระทะเหล็ก และหม้อ อลูมิเนียมก็ใช้กับเตาประเภทดังกล่าวได้
                 - หม้อดิน  เป็นภาชนะที่ใช้สำหรับหุงข้าว นอกจากนี้ยังมีหม้อแกงที่มีรูปแบบต่างไปจากหม้อข้าวกล่าวคือ หม้อข้าวมีลักษณะก้นป่อง คอหม้อแคบ ปากหม้อเป็นปีกผายออก สำหรับเป็นที่ใช้มือยก ทรงสูงกว่าหม้อแกง หม้อแกงมีเนื้อหนากว่าหม้อข้าว ฝาหม้อดินไม่ว่าแบบใดเรียกว่า ฝาละมี
                 - ครกสาก  คนไทยมีอาหารที่เป็นน้ำพริกชนิดต่าง ๆ และแกงชนิดต่าง ๆ โดยฌฉพาะแกงเผ็ด จึงต้องมีครกสำหรับตำน้ำพริก เป็นครกดินเผา ส่วนสากทำด้วยไม้เนื้อแข็ง นอกจากนี้ยังมีครกใหญ่ประจำบ้าน ทำด้วยไม้ใช้ตำข้าว สากมีขนาดยาวเพราะต้องยืนตำ รูปร่างของสากจะคอดตรงกลาง สำหรับใช้เป็นที่มือจับ ครกตำข้าวอีกชนิดหนึ่งเรียกว่า ครกกระเดื่อง ตัวครกฝังลงไปในดิน เวลาตำข้าวใช้เท้าเหยียบ เพราะมีคานติดกับสาก โดยใช้เหยียบคานไม้แล้วปล่อย สากก็จะทิ้งตัวลงมาตำข้าว ชาวบ้านนิยมตำข้าวเวลาหัวค่ำในคืนเดือนหงาย ตำข้าวไปคุยกันไป
    ขนมไทย
            ขนมไทยเป็นอาหารหวานคู่กับอาหารคาวมาแต่สมัยโบราณ มีความหลากหลายมากส่วนผสมหลักได้แก่ แป้ง น้ำตาล กะทิ แล้วปรุงรสชาติ กลิ่นสีให้แตกต่างกัน ทำให้อร่อยน่ากิน
            ประเภทของขนม  โดยทั่วไปแบ่งเป็นสี่ประเภทคือ เหลว แห้งกรอบ เปียก และกึ่งแห้งกึ่งเปียก
                 - ประเภทเหลวเป็นน้ำ  ได้แก่ ขนมครองแครง ขนมปลากิม ไข่เตา ขนมบัวลอย ขนมลอดช่อง ขนมซ่าหริ่ม ขนมน้ำกะทิ ขนมลอยแก้วต่าง ๆ ฯลฯ
                 - ประเภทแห้งกรอบ  ได้แก่ ขนมผิง ขนมสำปันนี ขนมฝนทอง ขนมทองเอก ขนมทองม้วน ขนมดินสอพอง ขนมกระจัง ขนมนานวล ขนมกง ขนมสามเกลอ ขนมรังนก ฯลฯ
                 - ประเภทเปียก  ได้แก่ขนมข้าวเหนียวเปียก ขนมสาคูเปียก ขนมเป้าส่วน ฯลฯ
                 - ประเภทกึ่งแห้งกึ่งเปียก  ได้แก่ ขนมกาละแม ขนมเปียกปูน ขนมหม้อแกง ขนมกล้วย ขนมสัมปันนีอ่อน ขนมทองหยิบ ขนมฝอยทอง ขนมทองหยอด ขนมสังขยา ฯลฯ
            ขนมไทยพื้นบ้านมีส่วนประกอบหลักที่ได้จากผลิตผลทางเกษตรกรรม เช่นขนมในกลุ่มข้าว ได้แก่ ข้าวเม่า ข้าวตอก ข้าวตัง
            ขนมตามฤดูกาล  ในฤดูกาลต่าง ๆ มีพืชผลอะไรที่สามารถนำมาใช้ทำขนมให้เข้ากับสภาพอากาศ เช่น
                 - ฤดูร้อน  จะทำขนมประเภทบัวลอยแก้ว เช่น มะปรางลอยแก้ว กระท้อนลอยแก้ว และขนมน้ำกะทิต่าง ๆ เช่น ขนมรวมมิตร ขนมลอดช่อง ขนมทับทิมกรอบ เป็นต้น
                 - ฤดูฝน  บรรดาผลไม้ต่าง ๆ มีอยู่มากจนต้องทำเก็บไว้ให้คงสภาพได้นาน ๆ มีวิธีการต่าง ๆ คือการกวน เช่น กล้วยกวน เผือกกวน มันเทศกวน ข้าวเหนียวแดง การตาก เช่นกล้วยตาก ส้มแผ่น การเชื่อมเช่น กล้วยเชื่อม พุทราเชื่อม ฟักทองเชื่อม  การฉาบ เช่นกล้วยฉาบ มันฉาบ เผือกฉาบ  การแช่อิ่ม เช่น มะดันแช่อิ่ม เปลือกส้มโอแช่อิ่ม  การดอง เช่น ฝรั่งดอง มะยมดอง มะม่วงดอง
                 - ฤดูหนาว  จะทำขนมที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายเช่น ถั่วต้มน้ำตาล มันต้มน้ำตาล ใส่ขิง ขนมบัวลอยใส่ขิง ที่ออกรสเผ็ดแก้หนาวได้
    การถนอมอาหาร
            การสะสมอาหารไว้ใช้ในยามขาดแขลน หรือเมื่อเวลาเดินทางจะต้องมีกรรมวิธีทำไม่ให้อาหารเสื่อมคุณค่าตามธรรมชาติ มีวิธีการต่าง ๆ ดังนี้
            การรมควัน  เป็นวิธีการรักษาเนื้อดิบไม่ให้เน่าเสีย โดยชำแหละเนื้อสัตว์ออกเป็นชิ้นใหญ่ ๆ แล้วมาแขวนไว้เหนือเตาไฟ ทำให้น้ำในเนื้อระเหยออกไป และสารผสมในควันจะช่วยเคลือบผิวเนื้อเอาไว้ไม่ให้เสีย
            การทำแห้ง  เป็นการใช้ความร้อนจากแสงอาทิตย์มาทำให้อาหารแห้ง ส่วนใหญ่เป็นเมล็ดข้าว ถั่ว เนื้อสัตว์ เนื้อปลา และผลไม้ที่รสหวานจัด การทำให้แห้งทำให้น้ำตาลในผลไม้มีความเข้มข้นมากขึ้น ทำให้เก็บผลไม้ไว้ได้นาน เช่น กล้วยตาก ปลาแห้ง เป็นต้น
            การใส่เกลือ  ได้แก่ ปลาเค็ม เนื้อเค็ม
            การหมักดอง  ได้แก่ การใช้น้ำตาลเข้าไปแทนที่น้ำในอาหาร ทำให้อาหารมีน้ำน้อยลง ได้แก่ การทำผลไม้แช่อิ่ม หลายชนิด

            การทำให้สุกด้วยการกวน  ใช้ในการทำขนมหลายอย่าง เช่น
                 - กระยาสารท  เป็นอาหารที่ทำในฤดูสารท มีส่วนผสมได้แก่ ข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่วลิสง งา น้ำอ้อย น้ำกะทิ และน้ำผึ้ง โดยคั่วข้าวตอก ข้าวเม่า ถั่วลิสง และงา ให้สุกเหลือง เคี่ยวกะทิ น้ำอ้อย และน้ำผึ้งในกระทะจนเหนียว แล้วนำของที่ตั้งไว้แล้วใส่ลงกวนให้เข้ากันจนกรอบเป็นก้อน เก็บไว้ได้นาน
                 - ข้าวเหนียวแดง  มีส่วนผสมได้แก่ ข้าวเหนียว กะทิ น้ำตาลปีบหรือน้ำตาลอ้อย  วิธีทำ ให้แช่ข้าวเหนียวในน้ำก่อนนำไปนึ่งให้สุก ผสมกะทิกับน้ำตาล นำไปตั้งไฟเคี่ยวให้งวด แล้วนำข้าวเหนียวใส่ลงไปกวนจนเหนียวได้ที่แล้ว ยกลงจากเตาไฟนำไปใส่ถาดคลึง  แล้วตัดเป็นชิ้นตามที่ต้องการ
                 - ข้าวแตน  มีส่วนผสมได้แก่ ข้าวเหนียว กะทิ น้ำตาลทราย เกลือป่น น้ำมันสำหรับใช้ทอด วิธีทำ แช่ข้าวเหนียวในน้ำก่อนนำไปนึ่งให้สุก ผสมน้ำตาลทรายและเกลือป่นกับกะทิ แล้วนำข้าวเหนียวมาผสม นำไปกดในแม่พิมพ์ ได้ขนาดและรูปร่างตามต้องการแล้ว เอาไปผึ่งแดดหรืออบให้แห้ง แล้วนำไปทอดน้ำมันจนได้ทื่
                 - กาละแม  มีส่วนผสมได้แก่ แป้งข้าวเหนียว กะทิ น้ำตาลปี๊บ หรือน้ำตาลอ้อย และถั่วลิสงคั่ว วิธีทำ นึ่งแป้งข้าวเหนียวให้สุกแล้วนำไปผสมกับกะทิ ใส่น้ำตาล แล้วเคี่ยวไฟระดับปานกลางจนแป้งสุก แล้วนำไปใส่ถาดคลึง โรยหน้าด้วยถั่วลิสง กดให้แน่นแล้วตัดเป็นชิ้นตสมขนาดที่ต้องการ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |