| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางพระพุทธศาสนา
พระเครื่องเมืองกำแพงเพชร

            ตำนานการสร้างพระพิมพ์ในสมัยสุโขทัย พบที่พระศรีรัตนธาตุมหาเจดีย์ ซึ่งพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ทรงสถาปนาขึ้น เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐  เมื่อมีการรื้อพระศรีรัตนมหาธาตุเจดีย์ ณ สถานที่พบจารึกหลักที่ ๓ (ศิลาจารึกนครชุม) ที่วัดพระบรมธาตุ ตำบลนครชุม ได้พบพระพิมพ์จำนวนมาก นับเป็นต้นตอของพระเครื่องตระกูลทุ่งเศรษฐี ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกำแพงเพชร
            พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกล่าวไว้ในพระราชนิพนธ์เรื่องเสด็จประพาสต้นครั้งที่สอง (พ.ศ.๒๔๕๐) ตอนหนึ่งว่า "ของถวายในเมืองกำแพงนี้ก็มีพระพิมพ์เป็นพื้น" ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นขนบธรรมเนียมอย่างหนึ่งของชาวกำแพงเพชรในการให้พระเครื่อง (พระพิมพ์) เป็นที่ระลึกแก่ผู้ที่เคารพนับถือและมิตรสหายอันเป็นที่รักใคร่ชอบพอกัน
            พระเครื่องเมืองกำแพงเพชรมีชื่อเสียงในด้านความสง่างามด้วยศิลปะจากประติมากรรมของสกุลช่างกำแพงเพชร กล่าวกันว่า เป็นพุทธปฏิมากรรมที่มีฝีมือเป็นเลิศ มีความคิดเป็นอิสระและมีแรงบันดาลใจสูง จึงมีความประณีตงดงามหาค่ามิได้ เนื้อส่วนผสมมีทั้งเนื้อดิน เนื้อชิน เนื้อเงิน เนื้อนาคและเนื้อทอง
            เมืองกำแพงเพชรมีกรุพระเครื่องมากที่สุดของประเทศไทย พอประมวลได้ดังนี้
            กรุทุ่งเศรษฐี  อยู่ฝั่งตรงกันข้ามกับตัวเมืองกำแพงเพชร ซึ่งเป็นตำบลคลองสวนหมากเดิม หรือตำบลนครชุมในปัจจุบัน กรุพระที่สำคัญของทุ่งเศรษฐีได้แก่ กรุวัดพระบรมธาตุ กรุเจดีย์กลางทุ่ง กรุวัดพิกุล กรุซุ้มกอ กรุบ้านเศรษฐี กรุฤาษี กรุวัดน้อย กรุวัดหนองลังกา กรุหัวยาง กรุคลองไพร กรุโนนม่วง ฯลฯ

            กรุฝั่งตัวเมืองกำแพงเพชร  ได้แก่ กรุวัดพระแก้ว กรุวัดป่ามืด กรุวัดมหาธาตุ กรุวัดช้างรอบ กรุวัดสิงห์ กรุอาวาสใหญ่ กรุอาวาสน้อย กรุวัดสี่อิริยาบถ กรุวัดพระนอน กรุวัดเชิงหวาย กรุวัดตะแบกลาย กรุวัดกะโลโท กรุวัดคูยาง กรุวัดกุฎีพง (วัดบาง)  กรุสามดอกไม้ กรุวังพาบ ฯลฯ
            กรุพระเครื่องเมืองกำแพงเพชร เป็นที่รวมของพระบูชาที่มีพุทธศิลป์ทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่สมัยทวาราวดี สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน สมัยสุโขทัย สมัยอู่ทอง สมัยอยุธยา และยังมีพระพุทธรูปบูชาจากต่างแดน มาบรรจุอยู่ในกรุด้วย เช่น ลังกา ศรีวิชัยและพม่า เป็นต้น
            พระเครื่องตระกูลทุ่งเศรษฐี มีอยู่เป็นจำนวนมากได้แก่ พระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเม็ดขนุน พระกำแพงพลูจีบ พระนางกำแพงเพชร พระกำแพงเปิดโลก พระกำแพงกลีบจำปา พระกำแพงเม็ดมะลื่น พระนางกำแพงกลีบบัว ฯลฯ โดยเฉพาะพระกำแพงซุ้มกอ พระกำแพงเม็ดขนุนและพระกำแพงพลูจีบ จัดอยู่ในชุดเบญจภาคี
            ส่วนพระเครื่องของกรุฝั่งตัวเมืองกำแพงเพชรมีหลายพิมพ์ได้แก่ พระกำแพงห้าร้อย พระกำแพงท่ามะปราง พระลีลากำแพงขาว พระกำแพงลีลาร่วมหน้าทอง ฯลฯ

            พระกำแพงซุ้มกอ  เป็นพระปางสมาธิที่มีพุทธลักษณะงดงามเป็นอันดับหนึ่งของพระนั่งตระกูลทุ่งเศรษฐี และนับเป็นองค์หลักของพระเครื่องชุดเบญจภาคี มีทั้งเนื้อดิน เนื้อชินและเนื้อว่าน มีทั้งปางสมาธิเพชรและสมาธิราบ โดยเฉพาะแบบพิมพ์ใหญ่มีพุทธลักษณะ เหมือนพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสน ผสมศิลปะสุโขทัยคือ องค์พระอวบอ้วน พระอุระผึ่งนูนแลเด่นสง่างามแบบเชียงแสน พระนาภีเรียว การทิ้งพระพาหาและการขัดสมาธิงดงามแบบสุโขทัย มีพระประภามณฑลรอบพระเศียรคล้ายรูปทรงของตัว "ก" หรือรูปทรงรัศมีครึ่งวงกลมของพระพุทธรูปช่างชาวโยนก และประภามณฑลรูปเปลวเพลิง ตามลักษณะประภามณฑลของพระพุทธรูปช่างมคธราฐ ซึ่งเข้าใจว่าจะพัฒนามาจากแบบครึ่งวงกลม ของฝีมือช่างชาวโยนก หรือแบบพระพุทธรูปคันธารราฐ จึงมีลักษณะคล้ายดอกบัวบ้าง รูปทรงตัว "ก" บ้าง จึงเรียกว่าซุ้มกอ ตามลักษณะของประภามณฑล ชนิดดินเนื้อละเอียดนุ่มลึก มีว่านดอกมะขามปรากฏอยู่ทั่วไป
มากบ้างน้อยบ้างไม่เท่ากันทุกองค์
            พุทธลักษณะทั่วไปแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเป็นสองแบบคือ
                - แบบที่ ๑  ไม่มีลายกนก เนื้อสีดำ สีเขียวและสีแดง
                - แบบที่ ๒  มีลายกนก เข้าใจว่าพัฒนามาจากแบบแรกโดยเพิ่มลายบัวที่ฐานและการเปล่งรังสีออกจากพระวรกายโดยทำเป็นรูปลายกนกอย่างงดงาม โดยเฉพาะพิมพ์ใหญ่มี่ช่องพระพาหาลึก ทำให้พระอุระและองค์พระดูเด่นนูนอยู่แล้วสง่างามยิ่งขึ้น นอกจากชนิดพิมพ์บางเท่านั้นที่ช่องพระพาหาตื้น แบบนี้บางพิมพ์ทำเป็นสมาธิเพชร แต่ส่วนมากทำเป็นสมาธิราบ
            การค้นพบพระกำแพงซุ้มกอแบ่งออกได้เป็นสองห้วงเวลาคือ
                - ห้วงเวลาแรก  เมื่องสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) ไปเยี่ยมญาติที่กำแพงเพชร ได้พบศิลาจารึกแผ่นที่ ๓ ที่วัดเสด็จ ซึ่งมีผู้นำมาจากวัดพระบรมธาตุ อ่านได้ความว่า ที่ฝั่งตรงข้ามเมืองชากังราว มีเจดีย์อยู่สามองค์บรรจุพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) เสด็จ ฯ ไปทรงประดิษฐาน เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐ ขณะนั้นเจ้าเมืองกำแพงเพชรคือ พระยารามรณรงค์สงคราม (น้อย) ได้ชักชวนประชาชนไปถางบริเวณดังกล่าว และได้พบเจดีย์พระบรมธาตุจำนวนสามองค์ตรงตามที่
ระบุไว้ในหลักศิลา เมื่อถางป่ารื้อส่วนชำรุดออกก็พบพระเครื่องจำนวนมาก มีพระซุ้มกอสีแดง สีดำ สีเขียวและสีขาว (มีขนาดพิมพ์ใหญ่อย่างเดียว) ไม่มีลายกนก นอกจากนั้นยังพบใบลานเงินจารึกพิธีการสร้างพระซุ้มกอ คาถาการสร้างพระ และอื่น ๆ อีก ใบลานเงินนั้นเล่ากันว่า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ได้นำไปสร้างพระสมเด็จวัดระฆัง ที่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย
                - ห้วงเวลาที่สอง  เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๙๐ ชาวบ้านเขตทุ่งเศรษฐีได้พบพระเครื่องซุ้มกอเป็นจำนวนมากที่บริเวณกอไผ่ ใกล้เจดีย์กรุบ้านเศรษฐีด้านเหนือ ทั้งบนดินและใต้ดินลึกไม่เกินสองวา เป็นพระพิมพ์ลักษณะศิลปะเชียงแสน ลวดลายซุ้มกอ อักขระ "อุ นะ อุ"  ฐานล่างมีบัวห้าบัวแบบเชียงแสน พระพักตร์และสีเนื้องดงามมาก พระกำแพงซุ้มกอเท่าที่พบมีหลายชนิดคือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็กและพิมพ์คะแนน

            พระกำแพงเม็ดขนุน  เป็นพระเครื่องปางลีลา มีทั้งเนื้อดิน เนื้อชิน เนื้อว่าน และว่านหน้าเงิน ว่านหน้าทอง พุทธลักษณะพิมพ์ปราณีต เป็นศิลปชั้นสูงสมัยสุโขทัย พระอุระผึ่งผายแบบลักษณะมหาบุรุษไม่เอี้ยวองค์เหมือนพระกำแพงพลูจีบ พระนาภีเรียวเล็ก พระเพลาท่อนล่างเรียวงาม องค์พระอยู่บนพื้นแบนรูปยาวสมน ด้านหลังอูมเล็กน้อย บางองค์กว็อูมมาก และมีสีเหลืองเข้มแบบสีเม็ดขนุน และดูคล้ายเม็ดขนุขจึงเรียกว่า พระกำแพงเม็ดขนุน
            องค์พระลีลาอยู่ในซุ้มประภามณฑลโดยรอบ บางแบบก็ไม่มีเนื้อดินละเอียดมาก มีความนุ่มและแกร่ง ว่านเม็ดดอกมะขามที่ปรากฎละเอียดมาก แต่บางองค์ก็ไม่ปรากฎ
            พุทธลักษณะโดยทั่วไปมีอยู่หลายพิมพ์ รูปทรงเหมือนกัน อาจแบ่งออกได้เป็นสองแบบคือ
                - แบบที่หนึ่ง  องค์พระกำลังลีลาด้วยพระบาทขวาหรือที่เรียกว่า เขย่งขวา
                - แบบที่สอง  องค์พระกำลังลีลาด้วยพระบาทซ้าย หรือที่เรียกว่า เขย่งซ้าย เป็นแบบที่พบน้อยมาก
            นอกจากที่กล่าวแล้วยังมีสิ่งที่แตกต่างกันอยู่สองแบบคือ
                - แบบที่หนึ่ง ไม่มีลายกนก เป็นพระชนิดเนื้อสีดำ สีเขียว และสีแดง
                - แบบที่สอง มีลายกนก เข้าใจว่าพัฒนามาจากแบบแรก โดยเพิ่มลายที่บัวฐานและการเปล่งรังสีออกจากพระวรกาย โดยทำเป็นรรูปลายกนกอย่างงดงาม โดยเฉพาะพิมพ์ใหญ่ มีช่องพระพาหาลึก ทำให้พระอุระและองค์พระสง่างามยิ่งขึ้น บางพิมพ์มีพระพาหาตื้น บางพิมพ์ทำเป็นสมาธิเพชร แต่ส่วนมากทำเป็นสมาธิราบ

            พระกำแพงพลูจีบ  เป็นพระเครื่องปางลีลาอีกพิมพ์หนึ่งคู่ขนาดกับพิมพ์เม็ดขนุน แต่พระวรกายไม่ล่ำสันเท่า มีบางพิมพ์ที่มีลักษณะคล้ายพิมพ์เม็ดขนุน พื้นฐานทั่วไปมีสัญฐานยาวมนคล้ายพลูมวน ในบางองค์ที่มีสีเขียว จะมีลักษณะคล้ายพลูจีบมาก การลีลาไม่เอี้ยวองค์มาก หันพระพักตร์ไปทางซ้าย พระกรขวาห้อยลงในลักษณะอ่อนช้อยที่เรียกว่า "เล่นแขน" แบบพระพุทธรูปปางเสด็จดาวดึงษ์เขย่งพระบาทขวา จะเห็นชายจีวรทั้งสองชายสะพัดพริ้วอย่างสวยงาม คลุมไปถึงจรดพระบาท ด้านที่องค์พระยืนอยู่มีเส้นทิวขนานสามเส้นเป็นแท่นรองรับพระบาท บางพิมพ์มีเม็ดคล้ายเกสรดอกบัวเรียงรายอยู่อีกแถวหนึ่งซึ่งอยู่ด้านล่างสุด มีประภามณฑลเป็นรูปกลีบจำปา แบบซุ้มพระยืนตามพระปรางค์ และพระเจดีย์ทั่วไป องค์พระมีสีเหลืองเข้มเหมือนสีกลีบจำปา ซึ่งสมัยก่อนเรียกว่า กลีบจำปา  ด้านหลังองค์พระมักปรากฎลายมือเป็นตอน ๆ มีสีแดง สีดำ สีเขียว สีเหลือง เนื้อดินละเอียดนุ่ม ว่านดอกมะขามปรากฎทั่วไป
            องค์พระมีทั้งพิมพ์ขนาดใหญ่และขนาดเล็ก โดยทั่วไปมีขนาดพอ ๆ กับพิมพ์เม็ดขนุน แต่โดยทั่วไปจะมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย สูงประมาณ ๓.๘ เซนติเมตร

            พระกำแพงเปิดโลก  เป็นพระพุทธรูปปางเปิดโลก พระหัตถ์ห้อยกางออกไป พระอุระผึ่งผายแบบลักษณะมหาบุรุษ .....พระองค์คอดกิ่ว พระเพลาเป็ลลำคู่ลงไป มีอยู่สามแบบคือ
                - แบบที่หนึ่ง  แบบฐานยืน หรือที่เรียกกันว่า ตีนขอ
                - แบบที่สอง  แบบประดิษฐบานรอยพระพุทธบาท คือ ประทับยืนกดปลายพระบาทที่เรียกกันว่า ทิ้งดิ่ง
                - แบบที่สาม  ประทับยืนแบพระบาททั้งสองข้าง
            พื้นฐานขององค์พระมีสัณฐานแตกต่างกันออกไปตามลักษณะพิมพ์ทรง เช่น มีสีสันคล้ายกลีบจำปาก็เรียกว่า เปิดโลกกลีบจำปา เหมือนเม็ดทองหลางก็เรียกว่า เปิดโลกเม็ดทองหลาง หรือคล้ายอะไรก็เรียกตามลักษณะนั้นเช่น เปิดโลกกลีบบัว เปิดโลกเข็มเพชร หรือใบเข็ม เป็นต้น เนื้อดินละเอียดนุ่ม ปรากฎว่านดอกมะขามทั่วไป แต่บางองค์ก็ไม่ปรากฎ องค์พระมีหลายขนาดตั้งแต่พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลางและพิมพ์เล็ก
            กำแพงกลีบจำปา  คล้ายพระกำแพงเม็ดขนุนมาก โดยเฉพาะพิมพ์เนื้อชินและเนื้อว่าน พิมพ์มีบัวที่ฐานสามดอก เป็นแบบบัวเล็กข้าง พิมพ์ทรงมีลักษณะอวบอ้วน และอ่อนไหวน้อยกว่าพวกกำแพงเม็ดขนุนเล็กน้อย เนื้อดินมีหลายประเภทมีทั้งเนื้อละเอียด แกร่ง และนุ่มหยาบ ส่วนมากมีว่านเม็ดดอกมะขามปรากฎทั่วไป มีอยู่สามขนาดคือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก  พิมพ์ใหญ่ที่เทียบได้กับพระกำแพงเม็ดขนุน

            พระนางกำแพงเพชร  เป็นพระปางมารวิชัยและปางสมาธิ ประทับอยู่บนพื้นฐานรูปสามเหลี่ยมทรงเรขาคณิตมีทั้งเนื้อดิน เนื้อชิน และเนื้อว่าน มีอยู่หกแบบคือแบบนางเสน่ห์จันทร์ แบบบังลังก์แก้ว แบบนางอู่ทอง แบบสกุลนางพญาพิษณุโลก แบบฐานบัว และแบบหยาบยศรี การเรียกชื่อเรียกตามชื่อกรุของพระเช่น นางวัดบรมธาตุ นางวัดพิกุล นางวัดเชิงหวาย และนางวัดป่ามืด เป็นต้น
            พระกำแพงห้าร้อย  เป็นทรงปางมารวิชัย ขนาดองค์เล็ก มีประภามณฑลคล้ายรูปพระจันทร์ครึ่งเสี้ยว อยู่เหนือพระเศียร องค์ประทับอยู่บนพื้นฐานชินรูปกลีบบัว มีพระอยู่ทั้ง ๒ หน้า ๆ ละ ๒๕๑ องค์ รวม ๒ หน้า ๕๐๒ องค์ จึงเรียกว่า พระกำแพงห้าร้อย พระองค์ที่อยู่ยอดสุดมีขนาดใหญากว่าทุกองค์ มีทั้งเนื้อชินเงิน ชินทอง และดีบุก บางองค์ปรากฎชาดและทองเก่า บางองค์มีสนิมไขจับแน่น
            พระกำแพงห้าร้อย ถือว่าเป็นเพชรน้ำเอกของกรุฝั่งตัวเมืองกำแพงเพชร ที่กรุทุ่งเศรษฐีไม่มีพระพิมพ์ชนิดนี้
            พระกำแพงท่ามะปรางค์  เป็นพระปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย มีทั้งเนื้อดินและเนื้อชิน เนื้อชินเป็นชินเงินผิวปรอทเป็นส่วนมาก บางองค์มีผิวดินลูกรังจับหนาแน่น บางองค์ผิวดำ ส่วนที่เป็นเนื้อดินเป็นดินผสมว่านละเอียดและอ่อนนุ่ม มีคราบกรุจับแน่น ปรากฎว่านเม็ดดอกมะขามทั่วไป

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |