| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

ศาสนสถาน

           วัดพระบรมธาตุ  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ที่ปากคลองสวนหมาก บ้านนครชุม ตำบลนครชุม อำเภอเมือง ได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๙
            วัดพระบรมธาตุ เป็นโบราณ สันนิษฐานว่า สร้างในสมัยสุโขทัย ดังความที่ปรากฎในจารึกหลักที่ ๓ (ศิลาจารึกนครชุม) กล่าวถึงพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) เสด็จ ฯ ไปทรงสร้างพระธาตุ และทรงปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ ที่เมืองนครชุม เมื่อปี พ.ศ.๑๙๐๐ พระธาตุที่กล่าวในจารึกเชื่อกันว่าอยู่ที่วัดพระบรมธาตุแห่งนี้
            เจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุ เดิมมีอยู่สามองค์ องค์กลางเป็นรูปทรงพระเจดีย์ไทย ซึ่งน่าจะเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ฝีมือช่างสมัยสุโขทัย แต่ที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบันเป็นแบบพระเจดีย์พม่า เพราะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีพระบรมราชานุญาตให้พ่อค้าชาวพม่า ซ่อมแซมปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์ จึงเป็นพระเจดีย์แบบพม่า มีขนาดใหญ่กว่าองค์เดิม
            พระอุโบสถหลังปัจจุบันสร้างปีเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ พระวิหารและศาลาการเปรียญ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๔ มีกุฎิสงฆ์ ๒๓ หลัง
           วัดนาควัชรโสภณ  เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญตั้งอยู่ที่บ้านไร่โสภณ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ
            ปูชนียสถานที่สำคัญคือ พระเจดีย์ประธานก่อด้วยศิลาแลง มีลักษณะเป็นฐานเขียง มีรูปช้างปูนปั้นขนาดใหญ่ล้อมรอบอยู่ ๑๘ เชือก เป็นเจดีย์ทรงกลม ประกอบด้วยฐานเขียงสี่ชั้น ชั้นแรกเป็นประติมากรรมช้างปูนปั้น ชั้นที่สองเป็นประติมากรรมรูปสาวกโดยรอบ ชั้นที่สามและชั้นที่สี่เป็นฐานปัทม์ เป็นมาลัยเถาสามชั้นก่อด้วยอิฐ เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์ มีวิหารจตุรมุขขนาดใหญ่เป็นฐานเขียงอัฐศิลาแลง ในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น ศิลปะสุโขทัยหมวดกำแพงเพชร พระวิหารจตุรมุขเป็นสถาปัตยกรรมที่ทรงคุณค่ายิ่งในด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี ตามหลักฐานปรากฎว่ามีที่วัดแห่งนี้เพียงแห่งเดียว นอกจากนี้ยังมีเจดีย์รายซึ่งเป็นกลุ่มของเจดีย์ตั้งอยู่ด้านหลังพระเจดีย์ประธานรวมสามองค์
            พระเจดีย์ประธาน เจดีย์ราย และพระอุโบสถสันนิษฐานว่า มีอายุประมาณ ๗๐๐ ปีมาแล้ว ปัจจุบันได้หักพังไปตามกาลเวลา กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และได้ดำเนินการอนุรักษ์ไว้ในสภาพเดิม
            พระอุโบสถหลังใหม่สร้าง เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๒  นอกจากนั้นยังมีพระวิหารลักษณะสถาปัตยกรรมไทยสามมุข ศาลาการเปรียญ หรือวิหารพุทธสภา กุฎิสงฆ์ ๖ หลัง มณฑป ตำหนักสมเด็จพระสังฆราชทรงเรือนไทยประยุกต์ และหอสมุดสมเด็จพระญาณสังวร ฯ
          วัดจันทาราม  ตั้งอยู่ที่บ้านวังแขม ตำบลวังแขม อำภอคลองขลุง เป็นวัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๒๒๕  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โดยเสด็จ ฯ ทางชลมารค ได้ทรงมาแวะพักที่ปะรำพิธีบริเวณหาดทรายด้านหน้าวัด

          วัดไตรภูมิ  ตั้งอยู่ที่บ้านวัดไตรมิตร ตำบลพรานกระต่าย อำเภอพรานกระต่าย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๓๘๗ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๐
          วัดบาง  อยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๓๐  มีปูชนียสถานและปูชนียวัตถุคือ เจดีย์เก่า ๒๐ องค์ และพระประธานในอุโบสถ
           วัดคฤหบดีสงฆ์  ตั้งอยู่ที่บ้านท่าพุทรา ตำบลท่าพุทรา อำเภอคลองขลุง ขึ้นทะเบียนเป็นวัด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๐ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๑
           วัดกุฎีการาม  ตั้งอยู่ที่บ้านพรานกระต่าย ตำบลพรานกระต่าย สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๖ เดิมชื่อวัดป่าเรไร ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๒
           วัดสิงคาราม  ตั้งอยู่ที่บ้านสลกบาตร  อำเภอวรลักษบุรี มีปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ พระธาตุ และพระประธานในอุโบสถ

           วัดเสด็จ  อยู่ในเขตตำบลในเมือง อำเภอเมือง ฯ มีปูชนียสถานและปูชนียวัตถุที่สำคัญคือ รอยพระพุทธบาทจำลอง มีมณฑปครอบไว้สวยงาม เจดีย์เก่าองค์หนึ่งมีพระพุทธรูปประดิษฐานรอบองค์พระเจดีย์จำนวน ๑๑ องค์ พระประธานในอุโบสถเป็นพระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัย  ภายในวิหารมีพระประธานปางสมาธิ ทำด้วยศิลาแลงหุ้มด้วยปูน
           วัดซุ้มกอ  สร้างขึ้นในกลุ่มอรัญญิกของเมืองนครชุม ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศใต้ ไม่ปรากฎแนวกำแพงวัด เดิมคงมีคูน้ำล้อมรอบ เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม สวมยอดเหนือองค์ระฆังขึ้นไปหักพังหมดแล้ว ด้านหน้าของเจดีย์ประธานมีฐานวิหารขนาดเล็กหนึ่งหลัง
            ที่วัดแห่งนี้มีผู้ขุดพบพระพิมพ์ที่มีชื่อเสียงของมืองกำแพงเพชรคือ พระกำแพงซุ้มกอ
           วัดหนองพิกุล  สร้างขึ้นในกลุ่มอรํญญิกนอกเมืองทางทิศใต้ แผนผังของวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำโดยรอบทั้งสี่ด้าน ที่เรียกว่า อุทกสีมา
            สิ่งก่อสร้างภายในวัดแตกต่างจากวัดแห่งอื่นคือ การสร้างมณฑปอยู่หลังวิหาร ทำหน้าที่เป็นเจดีย์ประธานของวัด ลักษณะของมณฑปเป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยม ฐานสูงประมาณ ๑.๕๐ เมตร ย่อเหลี่ยมไม้สิบสองทั้งที่ฐาน และตัวอาคาร เครื่องบนหักพังหมดแล้ว เดิมเป็นเครื่องไม้กระเบื้องดินเผาแบบตะขอเป็นกระเบื้องมุงหลังคา ทรงหลังคาเป็นแบบมณฑปยอดแหลม ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ลักษณะของมณฑปเหมือนกับมณฑปวัดศรีชุม และมณฑปวัดตระพังทองหลาง เมืองสุโขทัย
            ด้านข้างและด้านหลังมณฑปมีฐานเจดียแปดองค์ ศาสนสถานกลุ่มนี้มีกำแพงแก้ว ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบ ด้านหน้ามณฑปนอกกำแพงแก้ว มีฐานวิหารหนึ่งหลัง
            สันนิษฐานว่า วัดแห่งนี้คงสร้างขึ้นในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐

           วัดเจดีย์กลางทุ่ง  ตั้งอยู่นอกเมืองนครชุมทางทิศใต้ ตัววัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ไม่กำหนดแนวกำแพงวัด แต่มีการขุดคูน้ำโดยรอบ ลักษณะที่เรียกว่า อุทกสีมา เป็นการจัดแผนผังที่นิยมกันมากในช่วงกรุงสุโขทัยมีอำนาจ
            ด้านหน้าของวัดมีฐานวิหารก่อด้วยอิฐ ถัดไปเป็นเจดีย์ประธานทรงดอกบัว หรือทรงทุ่มข้าวบิณฑ์ สภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ซึ่งเป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมของกรุงสุโขทัย
            สันนิษฐานว่า วัดแห่งนี้คงสร้างขึ้นในช่วงตอนต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๐
           วัดหนองลังกา  เป็นวัดใหญ่ในกลุ่มอรัญญิกของเมืองนครชุม ตั้งอยู่นอกเมืองทางทิศใต้ แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีคูน้ำโดยรอบทั้งสี่ด้าน เป็นลักษณะแบบอุทกสีมา ของพระพุทธสถานแบบลังกาวงศ์ ที่นิยมแพร่หลายในสมัยสุโขทัย
            เจดีย์ประธานเป็นลักษณะเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง ก่อด้วยอิฐตั้งอยู่ภายในกำแพงแก้ว องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเตี้ย ๆ ฐานล่างทำเป็นซุ้มยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมและฐานบัวลูกแก้วอกไก่ หรือฐานปัทม์สี่เหลี่ยมซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป ชั้นมาลัยเถามีลักษณะเป็นแบบชัน บัวคว่ำและบัวหงายซ้อนกันสามชั้น รองรับองค์ระฆังซึ่งปากไม่ผายออกมากนัก บัลลังก์เป็นแบบฐานปัทม์สี่เหลี่ยม ส่วนท้องไม้ประดับลูกแก้วอกไก่ ถัดจากบัลัลังก์ขึ้นไปเป็นแกนปล้องไฉน ประดับลูกแก้วอกไก่สองแถว แล้วเป็นบัวฝาละมี ปล้องไฉน ปลียอด เจดีย์มีรูปทรงค่อนข้างสูงชะลูด แต่เพรียวสมส่วนมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์องค์หนึ่งในเขตเมืองนครชุม
           วัดหนองยายช่วย (วัดหนองพลับ)  ตั้งอยู่นอกเมืองนครชุมทางทิศใต้ ถัดจากวัดหนองลังกาไปทางทฺศตะวันออก แผนผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำโดยรอบ เช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ ในบริเวณนี้
            เจดีย์ประธานเป็นเจดีย์ทรงระฆังก่อด้วยอิฐ ฐานเขียวล่างเป็นรูปสี่เหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมและฐานปัทม์แปดเหลี่ยมลดหลั่นกันขึ้นไป ชั้นมาลัยเถาที่รองรับองค์ระฆังเป็นแบบบัวถลา องค์ระฆังค่อนข้างเล็ก และตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สูงเมื่อเทียบกับเจดีย์วัดหนองลังกสา เป็นเจดีย์ทรงระฆัง ที่มีลักษณะคล้ายวกับเจดีย์ทรงระฆังฝั่งเมืองกำแพงเพชร โดยเฉพาะการทำฐานปัทม์แปดเหลี่ยม รับส่วนมาลัยเถาที่เป็นแบบบัวถลา
            หน้าเจดีย์ประธานมีวิหารขนาดห้าห้อง หรือห้าช่วงเสาก่อด้วยอิฐ

           วัดพระแก้ว  เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางเมืองกำแพงเพชร ด้านทิศเหนือติดกับบริเวณวังเจ้าเมืองหรือที่เรียกว่า สระมน เป็นวัดหลวงไม่มีพระสงฆ์จำพรรษา มีแต่เพียงพุทธาวาสเช่นเดียวกับวัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัย และวัดพระศรีสรรเพชญ กรุงศรีอยุธยา
            ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก การวางผังตามแนวยาวขนานกับกำแพงเมืองด้านทิศใต้มีกำแพงศิลาแลงเป็นขอบเขตของวัด ลักษณะของกำแพงวัด ขนาดและวัสดุ ที่ใช้ก่อสร้างแตกต่างกันในบางช่วงบางตอนเช่น แนวกำแพงวัดด้านทิศเหนือบางตอนใช้ศิลาแลงขนาดใหญ่ มักเป็นแนวเรียงติดต่อกันไป และมีศิลาแลงรูปทรงหกเหลี่ยมด้านบนเป็นทับหลังอีกชั้นหนึ่ง กำแพงวัดด้านหน้าหรือด้านทิศตะวันออกใช้ศิลาแลงขนาดเล็กกว่าทิศเหนือมาก กำแพงวัดด้านทิศใต้ช่วงด้านหน้าใช้ศิลาแลงก้อนเล็กก่อเป็นแบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ยืดส่วนหน้ากระดานท้องไม้ให้เป็นผนังสูงแล้วประด้วลูกแก้วอกไก่สองแถบ แสดงว่าวัดพระแก้วไม่ได้สร้างขึ้นในนสมัยเดียว สิ่งก่อสร้างภายในวัดใช้ศิลาแลง มีอิฐปนบ้างเล็กน้อย สถาปัตยกรรมที่สำคัญประกอบด้วย
                - เจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังแบบฐานเตี้ย  ตั้งอยู่ภายในวระเบียงคต ก่อด้วยศิลาแลง รอบฐานสี่เหลี่ยมล่างประดับด้วยช้างปูนปั้นครึ่งตัวจำนวน ๓๒ เชือก เจดีย์ส่วนบนเหลือเพียงชั้นมาลัยเถาที่ทำเป็นตัวถลาสองชั้น ถัดขึ้นไปหักพัง บนฐานหน้ากระดานเหลี่ยมที่ประดับปูนปั้นมีเจดีย์ประจำมุมทั้งสี่ ปัจจุบันเหลือฐานหน้ากระดานกลม สภาพเดิมของเจดีย์องค์นี้เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังห้ายอด มีชายประดับที่ฐานโดยรอบ นอกจากนี้ยังมีรายขนาดต่าง ๆ อยู่รายรอบหลายองค์
                - ระเบียงคต  ลักษณะเหมือนศาลาเล็ก ๆ รูปทรงสี่เหลี่ยม สร้างล้อมรอบเจดีย์ทรงระฆังขนาดใหญ่ ประดับช้างปูนปั้นครึ่งตัวก่อด้วยอิฐและศิลาแลง โครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผาแบบตะขอ แต่หักพังหมดเหลือเฉพาะเสาอาคารที่เป็นเสาศิลาแลงสี่เหลี่ยม ภายในระเบียงคตเปิดโล่ง มีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐเป็นแบบฐานบัวคว่ำและบัวหงาย เดิมประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่งจำนวน ๔๕ องค์ หันพระพักตร์ออกด้านนอก ด้านหลังองค์พระก่ออิฐเป็นผนังสูง
                - พระอัฎฐารศ  เป็นพระพุทธรูปประทับยืนขนาดใหญ่ อยู่ด้านรหน้าหรือด้านตะวันออกของเจดีย์ทรงระฆังช้างล้อม องค์พระประดิษฐานภายในซวุ้มที่ก่อผนังหนา และสร้างขึ้นโดยเฉพาะสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปเท่านั้น สภาพปัจจุบันพระพุทธรูปและซุ้มหักพังหมด เหลือเฉพาะส่วนพระบาททั้งสองข้างที่เป็นโกลบศิลาแลง ยาว ๑.๖๕ เมตร สันนิษฐานว่า องค์พระสูงประมาณ ๙ เมตร ในสมัยสุโขทัยนิยมสร้างพระอัฎฐารศสูง ๑๘ ศอก เนื่องจากได้รับคติความเชื่อมาจากลังกาว่า พระพุทธองค์ทรงสูง ๑๘ ศอก
                - วิหารด้านหน้าระเบียงคต  ก่อด้วยศิลาแลง แผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มุขด้านหลังยื่นเข้าไปในวระเบียงคต จนเกือบถึงฐานเจดีย์ทรงระฆังช้างล้อมรอบ ฐานวิหารเป็นแบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่ เสาอาคารเป็นเสาแปดเหลี่ยม เครื่องบนเป็นไม้หักพังหมดแล้ว มุขด้านหน้ายกพื้นสูง ภายในโถงวิหารมีฐานชุกชี หรือแท่นประดิษฐานพระประธานเป็นฐานแบบบัวคว่ำบัวหงายซ้อนกันสองชั้น สูงจากพื้นวิหารประมาณ ๒.๕ เมตร
                - วิหารบริเวณตอนกลางของวัด  ก่อด้วยอิฐศิลาแลง แผนผังอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานวิหารเป็นแบบฐานหน้ากระดานชั้นเดียว ประดับลวดลายปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์ เป็นภาพบุคลนุ่งผ้าแบบเขมร ภายในวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่สามองค์ ปางมารวิชัยสององค์ หน้าตักกว้า สูง ๔.๔๐ เมตร และปางไสยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศใต้อยู่ด้านหน้า องค์พระยาว ๙.๕๐ เมตร ลักษณะพระพักตร์พระพุทธรูปทั้งสามองค์ ค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยม ตามแแบศิลปะอู่วทองหรืออยุธยาตอนต้น พระขนงต่อกันคล้ายรูปปีกกา พระเนตรเรียวเล็ก ปลายพระเนตรแหลมขึ้นไป และเรียวออกไปมาก แตกต่างจากพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยที่พบในเมืองกำแพงเพชร ด้านข้างและด้านหลังพระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้งสององค์ มีเจดีย์รายทรงระฆังก่อด้วยศิลาแลงรวมเจ็ดองค์ และมีพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดเล็กประดิษฐานบนแท่นรวม ๑๘ องค์ ปัจจุบันชำรุดหักพังเหลือแต่เฉพาะโกลนศิลาแลงเท่านั้น วิหารหลังนี้เดิมก่อผนังสูง แล้วเจาะผนังระหว่างเสาเป็นซี่ลูกกรงที่เรียกว่า ผนังช่องลม
            บริเวณตอนกลางของวัดพระแก้ว นอกจากมีวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นศิลปะอู่ทองแล้ว ยังมีฐานวิหารที่สร้างเบียดชิดกันอีกสามหลัง และโดยรอบยังมีเจดีย์รายทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่อีกหลายองค์
                - เจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆัง  ตั้งอยู่ด้านหน้าหรือด้านยตะวันออกของวิหาร ก่อด้วยศิลาแลง องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานไพที ที่มีวิหารอีกหลังหนึ่งอยู่บนฐานเดียววกัน ฐานสี่เหลี่ยมล่างทำเป็นซุ้มคูหา มีสิงห์ปูนปั้นอยู่ในซุ้มคูหาโดยรอบรวม ๓๒ ตัว แต่ชำรุดหมดแล้ว ถัดขึ้นไปเป็นฐานแปดเหลี่ยม ทำซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นจำนวน ๑๖ ซุ้ม ส่วนใหญ่ชำรุด ถัดจากนั้นเป็นชั้นมาลัยเถา ที่ทำเป็นชุดบัวถลา ที่ทำเป็นแถวกลีบบัวหงายและบัวคว่ำหรือที่เรียกว่า บัวปากระฆัง เหนือองค์ระฆังเป็นบังลังก์ มีรูปแบบเป็นฐานบัว แต่ตัวบังลังก์แปลกกว่าเจดีย์แห่งอื่นคือทำเป็นซุ้มออกมาทั้งสี่ทิศ ถัดขึ้นไปเป็นแถบปล้องไฉน ที่มีลักษณะกลม และประดับลูกแก้วอกไก่สองแถบ จากนั้นเป็นปล้องไฉนและปลียอด
            ด้านหน้าองค์เจดีย์เป็นวิหาร ตั้งอยู่บนฐานไพทีเดียวกับฐานวิหารยกพื้นจากฐานไพทีเล็กน้อย เสารองรับเครื่องบนมีทั้งเสาเหลี่ยมและเสากลม วิหารหลังนี้เดิมก่อผนังสูงและเจาะช่องลูกกรงที่เรียกว่าผนังช่องลม
            ตอนหน้าสุดของวัดเป็นฐานไพทีขนาดใหญ่ ยกพื้นสูง ก่อด้วยศิลาแลง กว้าง ๓๒ เมตร ยาว ๘๖ เมตร เป็นแบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่ย่อมุม เฉพาะด้านหน้าและมีบันไดขนาบสองข้างมุขเด็จ พบใบเสมาหินชนวนล้อมรอบอุโบสถแห่งนี้ ภายในอุโบสถมีฐานชุกชีประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่ ปัจจุบันเหลือเฉพาะโกลนศิลาแลง เสาอาคารเป็นแบบสี่เหลี่ยม แต่ละช่วงเสาก่อผนังสูงเพียงเล็กน้อย พบกระเบื้องมุงหลังคาทั้งแบบตะขอ และแบบกาบกล้วยที่เรียกว่า กาบู แบบศิลปะอยุธยา ติดกับฐานด้านหลังอุโบสถ ก่อเป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ซ้อนสามชั้น ถัดไปทางตอนหลังเป็นฐานบัวย่อมุมงดงามมาก หน้ากระดานท้องไม้ประดับแถบลูกฟัก ส่วนยอดหักพังหมดแล้ว
            จากรูปแบบทางสถาปัตยกรรม อาจกล่าวได้ว่า กลุ่มโบราณสถานที่เก่าที่สุดของวัดพระแก้วน่าจะสร้างสมัยสุโขทัย คือ กลุ่มโบราณสถานที่อยู่ตอนหลัง และวิหารที่อยู่ด้านหน้า รวมทั้งกำแพงวัดที่อยู่ในบริเวณนั้น ซึ่งใช้เสาศิลาแลงขนาดใหญ่ ปักเรียงติดต่อกันไปและมีทับหลังศิลาแลงวางพาดด้านบน ส่วนโบราณสถานอื่น ๆ คงสร้างสมัยอยุธยา โดยเฉพาะฐานไพทีที่อยู่ตอนหน้าสุด เนื่องจากในสมัยอยุธยานิยมสร้างอุโบสถให้มีขนาดใหญ่ และเป็นแกนหลักของวัด
            จากตำนานพระพุทธสิหิงค์ และในคัมภีร์ชินกาลบาลีปกรณ์ ได้กล่าวถึงการอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ มาประดิษฐานที่เมืองกำแพงเพชร น่าจะประดิษฐานที่วัดพระแก้วแห่งนี้

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |