| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

            วัดพระธาตุ ตั้งอยู่ทางด้านหน้าหรือด้านตะวันออกของวัดพระแก้ว ผังบริเวณวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีแนวกำแพงวัดแสดงขอบเขตโดยรอบทั้งสี่ด้าน มีประตูวัดเฉพาะด้านหน้าด้านเดียว ด้านหน้าวัดหันไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ให้สอดคล้องกับผังเมือง
            สิ่งก่อสร้างในวัดประกอบด้วย วิหารอยู่ด้านหน้า ถัดไปเป็นเจดีย์ประธาน เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังศิลปะสุโขทัย มีระเบียงคดรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าล้อมรอบเจดีย์ประธาน ฐานระเบียงคดด้านหน้าเชื่อมต่อกับฐานวิหารด้านข้าง ทำให้ส่วนหลังของวิหารอยู่ภายในระเบียงคด ด้านหน้าวิหารนี้มีเจดีย์รายเป็นแบบเจดีย์ทรงกลม หรือทรงระฆังตั้งอยู่สององค์
            เนื่องจากวัดมหาธาตุเป็นวัดกลางเมืองควบคู่กับวัดพระแก้ว จึงมีเฉพาะเขตพุทธาวาสเท่านั้น ไม่ปรากฎเขตสังฆาวาส
                - วิหาร  เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าฐานก่อเป็นแบบบัวลูกแก้วอกไก่ มีมุขหน้า - หลัง มีบันไดขึนด้านหน้าสองทาง และบันไดด้านข้างทั้งสองด้านที่เชื่อมต่อกับระเบียงคด เสารับเครื่องบนเป็นเสาศิลาแลงสี่เหลี่ยมเป็นวิหารโถง ภายในมีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูปหรือฐานชุกชี พบว่ามีการสร้างซ้อนทับกันสองครั้ง รูปแบบสมัยแรกเป็นแบบฐานบัวคว่ำและบัวหงาย ด้านหน้าย่อมุม สมัยต่อมามีการสร้างขยายฐานให้ใหญ่กว่าเดิม
                - เจดีย์ประธาน  เป็นทรงกลมหรือทรงระฆัง แบบศิลปะสุโขทัยสกุลช่างเมืองกำแพงเพชร องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยม และบานแปดเหลี่ยมที่ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป มาลัยเถารองรับองค์ระฆังเป็นแบบบัวถลาสามชั้น องค์ระฆังค่อนข้างเล็ก ปากระฆังไม่ผายออกมานัก มีบัวปากระฆัง ถัดขึ้นไปเป็นบัวบัลลังก์แบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ย่อมุมไม้สิบสอง บัลลังก์ประดับลูกแก้วอกไก่สองแถบ แกนปล้องไฉนประดับลูกแก้วอกไก่สองแถบ ส่วนยอดประกอบด้วยฝาละมี ปล้องไฉน และปลียอด
            เจดีย์ทรงระฆังรูปที่ตั้งอยู่บนฐานแปดเหลี่ยมลดหลั่นกันหลายชั้น ทำให้องค์เจดีย์สูงเพรียว องค์ระฆังค่อนข้างเล็กและอยุ่ในตำแหน่งที่สูงจากระดับพื้นดินมาก รูปแบบเช่นนี้ไม่พบที่เมืองสุโขทัย แต่มีอยู่ทั่วไปที่เมืองกำแพงเพชร
                - เจดีย์ราย  ตั้งอยู่ด้านหน้าวิหารมีอยู่หลายองค์ ลักษณะเหมือนเจดีย์ประธาน แต่มีขนาดเล็กกว่าเจดีย์รายองค์ที่อยู่บริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีลักษณะพิเศษประการหนึ่งคือ ส่วนปลียอดมีการประดับลวดลายปูนปั้นรูปกลีบบัวเรียงซ้อนกันหลายชั้นที่เรียกว่า บัวกลุ่ม
                - ระเบียงคด  เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมล้อมเจดีย์ประธาน ฐานด้านหน้าเชื่อมต่อกับฐานวิหารด้านหลัง ภายในระเบียงคดเปิดโล่ง มีผนังก่อด้วยอิฐเฉพาะด้านหลัง ภายในมีแท่นประดิษฐานพระพุทธรูป เป็นแบบบัวคว่ำบัวหงายก่อด้วยอิฐ เดิมประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นรวม ๔๑ องค์ ปัจจุบันหักพังทั้งหมดแล้ว เสารองรับหลังคาเป็นเสาศิลาแลงสี่เหลี่ยมแท่งเดียวตลอด
            วัดกะโลทัย  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันออก หันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออก มีสิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือ
                 - วิหาร  รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตั้งอยุ่หน้าเจดีย์ประธาน
                 - เจดีย์ประธาน  ทรงดอกบัวตูม หรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ซึ่งมีอยู่เพียงวัดเดียวทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง หรือฝั่งเมืองกำแพงเพชร ที่มีเจดีย์รูปทรงนี้ อาจเป็นไปได้ว่าเป็นลักษณะร่วมสมัยกับเมืองนครชุม
             ฐานล่างของเจดีย์เป็นแบบฐานหน้ากระดานซ้อนลดหลั่นสี่ชั้น ก่อด้วยศิลาแลง เฉพาะฐานหน้ากระดานชั้นที่สี่ก่อด้วยอิฐ ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ที่ปรับปรุงให้สูงขึ้น โดยประดับลูกแก้วอกไก่ตรงส่วนท้องไม้สองแถบ ถัดขึ้นไปเป็นฐานแว่นฟ้า ย่อเหลี่ยมยี่สิบซ้อนกันสองชั้น รองรับส่วนเรือนธาตุ ที่ทำย่อเหลี่ยมยี่สิบเช่นกัน จากนั้นเป็นส่วนยอดซึ่งเป็นทรงดอกบัวตูม ถัดขึ้นไปเป็นกรวยเรียบอันเป็นส่วนยอดสุดของเจดีย์ ปัจจุบันส่วนยอดหักพังแล้ว
             รูปแบบเจดีย์ทรงข้าวบิณฑ์ของวัดกะโลทัย เป็นแบบที่ปรากฎทั่วไปทั้งที่เมืองนครชุม และเมืองสุโขทัย เชื่อกันว่าเจดีย์แห่งนี้เก่ากว่าเจดีย์อื่น ๆ ทางฝั่งเมืองกำแพงเพชร

            วัดช้าง  ตั้งอยู่นอกตัวเมืองกำแพงเพชรไปทางด้านทิศเหนือ ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก บริเวณวัดล้อมรอบด้วยคูน้ำ ด้านในคูน้ำมีกำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลง สิ่งก่อสร้างที่สำคัญคือ
                 - วิหาร  เป็นอาคารแบบจตุรมุข ทำฐานหน้ากระดานเตี้ย มุขด้านหน้าเป็นโถง ยาวกว่ามุขด้านข้างและด้านหลัง มีกำแพงแก้วเชื่อมต่อกับมุขด้านข้างทั้งสองด้าน ทำให้มุขด้านหลังอยู่ภายในกำแพงแก้ว เสารองรับเครื่องบนเป็นเสาศิลาแลงสี่เหลี่ยม ก่อผนังด้านหลังสูงขึ้นมาเพียงเล็กน้อยเป็นวิหารโถง
                 - เจดีย์ประธาน  เป็นเจดีย์ทรงระฆังแบบสุโขทัย ฐานสี่เหลี่ยมตอนล่างประดับด้วยช้างปูนปั้น โผล่ออกมาครึ่งตัวจำนวน ๑๘ เชือก ด้านตะวันออกทำเป็นซุ้มพระ ถัดขึ้นไปทำเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมซ้อนกันสามชั้น รองรับองค์ระฆังที่มีบัวปากระฆังประดับ บัลลังก์เป็นแบบฐานลูกแก้วอกไก่ ส่วนยอดชำรุดหักพังหมด เป็นรูปแบบเจดีย์ทรงระฆังบนฐานแปดเหลี่ยม ที่พบทั่วไปในเขตเมืองกำแพงเพชร
                 - เจดีย์ราย  มีอยู่สามองค์ตั้งอยู่ด้านหลังเจดีย์องค์ประธาน เฉพาะองค์ที่ตั้งอยู่บริเวณมุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนที่เป็นมาลัยเถาสามชั้นรองรับองค์ระฆัง ไม่ได้ทำเป็นแบบชุดบัวถลา ศิลปะสุโขทัยเช่นเจดีย์ประธาน แต่มีลักษณะเหมือนกับพวงมาลัยซ้อนกันสามชั้น หรือเป็นแบบมาลัยลูกแก้ว ซึ่งเป็นรูปแบบศิลปะอยุธยา เจดีย์องค์นี้จึงน่าจะสร้างขึ้นภายหลัง
            วัดดงหวาย  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ห่างจากประตูสะพานโดยประมาณ ๕๐๐ เมตร อยู่ริมทางหลวงหมายเลข ๑๐๑ (กำแพงเพชร - สุโขทัย)
                 - เจดีย์ประธาน  เป็นแบบทรงระฆัง ฐานล่างก่อด้วยศิลาแลง ถัดขึ้นไปก่อด้วยอิฐ มีซุ้มพระด้านหน้า ลักษณะเด่นคือ การเพิ่มส่วนฐานให้ซ้อน ลดหลั่นกันหลายชั้นจนทำให้ทรงเจดีย์เพรียวชะลูด องค์ระฆังเล็กลงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับเจดีย์ทรงระฆังของวัดพระธาต ุภายในกำแพงเมือง
              ฐานล่างเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมซ้อนสามชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่แปดเหลี่ยม ซ้อนลดหลั่นสองชั้น ฐานบัวตอนล่างทำสูง ประดับลูกแก้วอกไก่สองแถบ ฐานบัวชั้นบนประดับลูกแก้วอกไก่แถบเดียว ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ที่ทำเป็นแบบฐานกลมอีกชั้นหนึ่ง แล้วจึงมาเป็นมาลัยเถา ที่ทำเป็นฐานบัวถลาสามชั้น เพื่อรองรับองค์ระฆัง องค์ระฆังและส่วนยอดชำรุดหักพังหมด
                 - วิหาร  ตั้งอยู่ด้านหน้าเจดีย์ประธาน ก่อด้วยศิลาแลง และอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าไม่ย่อมุม ขนาดสี่ห้องหรือห้าช่วงเสา มีบันไดทางขึ้น - ลง ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เสาอาคารเป็นเสาศิลาแลงสี่เหลี่ยม ภายในอาคารมีฐานชุกชี ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้น เป็นพระประธานของวัด องค์พระเหลือส่วนที่ก่อศิลาแลงเป็นแกน
             รอยฐานพระพุทธรูปประดับลายปูนปั้น เป็นรูปกลีบบัวคว่ำและบัวหงาย มีเส้นเกษรบัวประกอบงดงามมาก ลายกลีบบัวปูนปั้นคล้ายกับฐานกลีบบัวคว่ำบัวหงาย ของพระพุทธรูปสำริดแบบศิลปะเชียงแสนรุ่นแรก ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากศิลปะทางเหนือหรือล้านนาแล้วมาผสมผสานกับศิลปะสุโขทัย
          วัดสระแก้ว  ตั้งอยู่นอกเมืองทางด้านทิศเหนือ ระหว่างเส้นทางเข้าสู่เขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร บริเวณวัดมีคูน้ำล้อมรอบ ด้านทิศเหนือติดกับคลองส่งน้ำโบราณ ที่เรียกว่า คลองท่อทองแดง
             สิ่งก่อสร้างปรากฎอยู่เฉพาะอาคารที่เป็นอุโบสถ ตั้งอยู่ฐานหน้ากระดานหรือฐานเขียงซ้อนลดหลั่นกันถึงสี่ชั้น ก่อด้วยอิฐศิลาแลงตลอด มีบันไดทางขึ้นอยู่ด้านหน้าอุโบสถ ซึ่งตั้งอยู่บนฐานชั้นที่สี่ ก่อด้วยศิลาแลงเสริมอิฐเล็กน้อย มีแท่นปักใบเสมาหินชนวนโดยรอบ ด้านข้างของอุโบสถมีแนวเสาที่เรียกว่า พะไล อยู่ชิดแนวฐานทั้งสองข้าง เสาดังกล่าวใช้รองรับชายคาที่ยื่นออกมาที่เรียกว่า ปีกนก
             การที่บริเวณวัดสระแก้วมีเฉพาะอุโบสถเท่านั้น อาจเป็นไปได้ว่าอุโบสถแห่งนี้เป็นอุโบสถกลางที่ใช้ประกอบสังฆกรรม ในกรณีที่วัดใกล้เคียงไม่มีอุโบสถ

            วัดพระนอน  ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือ ห่างออกไปประมาณ ๑ กิโลเมตร อยู่ในบริเวณอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร เป็นวัดขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีอิฐปนบ้างเล็กน้อย ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงวัดเฉพาะด้านตะวันออก และด้านใต้ ใช้ศิลาแลงสี่เหลี่ยม แบบเครื่องไม้ปักเรียงชิดกันเป็นแถวติดต่อกันไป บนเแนวกำแพงมีศิลาแลงรูปหกเหลี่ยม วางพาดเป็นทับหลัง
             ด้านหน้าวัดมีกลุ่มโบราณสถานที่ประกอบด้วย บ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมหนึ่งบ่อ ศาลาโถง หนึ่งหลัง และห้องน้ำอีกหนึ่งหลัง
             ภายในบริเวณวัดแบ่งพื้นที่เป็นสองส่วน มีกำแพงแก้วซึ่งมีลักษณะเหมือนกำแพงวัดแต่มีขนาดย่อมกว่า แสดงขอบเขตพุทธาวาสแยกออกจากเขตสังฆาวาส
             เขตพุทธาวาส หรือพื้นที่ภายในกำแพงแก้ว เป็นที่ตั้งของเจดีย์ประธาน เจดีย์ราย วิหาร อุโบสถ และมณฑป และสิ่งก่อสร้างอยู่บนฐานไพทีขนาดใหญ่ ฐานดังกล่าวจะก่อแนวฐานเฉพาะด้านทิศตะวันออก และด้านทิศใต้เท่านั้น เพื่อปรับพื้นให้ราบเรียบ
                 - ประตูวัด  มีเฉพาะด้านหน้าหรือด้านตะวันออกมีสองประตู ประตูหนึ่งเข้าสู่เขตสังฆาวาส อีกประตูหนึ่งเข้าสู่เขตพุทธาวาสมีทางเดินปูลาดด้วยศิลาแลง และมีเสาตะเกียงหรือเสาตั้งโคมไฟขนาบคู่สองข้างทางเดินไปจนถึงบันไดที่จะขึ้นไปยังเขตพุทธาวาส
                 - อุโบสถ  ตั้งอยู่ตอนหน้าสุดของเขตพุทธาวาส ฐานอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขเด็จหน้า-หลัง มีบันไดขนาบมุขเด็จทั้งสองข้าง ฐานเป็นแบบลูกบัวแก้วอกไก่ ใช้เสาศิลาแลงหกเหลี่ยมเป็นเสาอาคารรับเครื่องบน นอกฐานอุโบสถมีเสาศิลาแลงแปดเหลี่ยมโดยรอบ สำหรับรองรับชายคาที่ยื่นออกมาเลยผนังที่เรียกว่า พาไล ผนังเดิมก่อสูง เจาะช่องผนังที่เรียกว่า ผนังช่องลม มีฐานใบเสมาแปดฐานรอบอุโบสถ
             ใบเสมาชนวนมีทั้งลวดลายประเภทลายพรรณพฤกษา ลายรูปดอกไม้อยู่ท่ามกลางเถาไม้ และที่ขอบแกะสลักลายกนกปลายแหลม ใบเสมาบางใบแกะสลักภาพเรื่องรามเกียรติ์ ใบเสมาที่มีการแกะสลักนี้ไม่เคยพบที่จังหวัดสุโขทัย อุโบสถวัดพระนอนน่าจะสร้างเพิ่มเติมในสมัยอยุธยา
                  - วิหาร  ตั้งอยู่ด้านหลังอุโบสถ ตัวอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ฐานเป็นแบบหน้ากระดานและบัวคว่ำต่างกับฐานอาคารแห่งอื่น ๆ ที่นิยมทำฐานบัวลูกแก้วอกไก่ มีบันไดทางขึ้นด้านหน้าสองแห่ง ด้านหลังสองแห่ง เสาวิหารใช้ศิลาแลงแท่งเดียว และมีขนาดใหญ่มาก แต่ละต้นกว้างไม่ต่ำกว่า ๑ เมตร สูงกว่า ๖ เมตร
             ภายในวิหารมีแท่นประดิษฐานพระนอนขนาดใหญ่ องค์พระหักทั้งหมดแล้ว จากการขุดหาทรัพย์สมบัติ เหตุการณ์เกิดเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๐ สันนิษฐานว่าองค์พระยาวประมาณ ๑๓ เมตร ด้านหลังองค์พระทำเป็นผนังทึบก่อด้วยศิลาแลง ด้านหลังผนังทางทิศตะวันตก มีพระพุทธรูปประทับนั่งอยู่สามองค์ หันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก ปัจจุบันถูกทำลายจนหมดสิ้นเหลือแต่ฐานเสาวิหาร เดิมหลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาแบบตะขอ
             อาคารมีหลังคาชั้นเดียว และมีปีกนกคลุมสามชั้น เป็นอาคารโถง ผนังด้านข้างก่อทึบด้วยศิลาแลง เจาะผนังเป็นช่องแสงหรือช่องลมที่เรียกว่า ผนังช่องลม

                 - เจดีย์ประธาน  ตั้งอยู่ด้านหลังของวิหาร เป็นเจดีย์ทรงกลมหรือทรงระฆังขนาดใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง ตั้งอยู่บนฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม หรือฐานเขียง ด้านหน้าทำเป็นซุ้มพระ หรือมุขเล็ก ๆ ยื่นออกมา ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยมสามชั้นซ้อนลดหลั่น แล้วจึงเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่แปดเหลี่ยมรองรับมาลัยเถา ที่เป็นชุดบัวถลารับองค์ระฆัง บัลลังก์ทำเป็นฐานบัวสี่เหลี่ยม ตรงหน้ากระดานท้องไม้ประดับอกไก่สองแถบ ส่วนยอดที่ถัดจากบัลลังก์ขึ้นไปหักพัง
             ด้านทิศใต้ของเจดีย์ประธานมีแถวเจดีย์รายเล็ก ๆ เป็นเจดีย์ทรงระฆังเช่นเดียวกับเจดีย์ประธาน
                 - วิหาร  มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ปัจจุบันเหลือแต่ฐานอยู่ด้านหลังเจดีย์ประธาน
                 - มณฑป  เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแบบก่อผนังหนา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นขนาดใหญ่เต็มห้อง รูปแบบเดียวกับมณฑปวัดหนองพิกุล เมืองนครชุม และมณฑปวัดศรีชุม เมืองสุโขทัย ด้านหลังมณฑปมีเจดีย์รายเล็ก ๆหลายองค์

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |