| ย้อนกลับ |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |


           วัดพระสี่อิริยาบถ  เป็นวัดขนาดใหญ่อีกวัดหนึ่งในบริเวณอรัญญิก อยู่ทางด้านทิศเหนือของวัดพระนอน ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก สิ่งก่อสร้างภายในวัดส่วนใหญ่ก่อด้วยศิลาแลง มีอิฐปนอยู่บ้างเล็กน้อย กำแพงก่อด้วยศิลาแลงทั้งสี่ด้าน
            ด้านหน้าวัดมีบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมขุดลงไปในพื้นที่ศิลาแลง ใกล้บ่อน้ำมีที่อาบน้ำหรือห้องน้ำหนึ่งหลัง มีศาลาปลูกสร้างคร่อมทางเดินเข้าประตูวัด ติดกำแพงวัดด้านนอกมีคูน้ำที่เกิดจากการขุดตัดศิลาแลงไปใช้ในการก่อสร้าง
            ภายในวัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตพุทธาวาสและสังฆาวาส
                - วิหาร  ตั้งอยู่ด้านหน้ากับแนวกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก สร้างอยู่บนฐานรองรับขนาดใหญ่ หรือฐานทักษิณ เป็นแบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่ ก่อด้วยศิลาแลงย่อมุมทั้งด้านหน้าและด้านหลัง มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ผนังด้านข้างฐานทักษิณใช้ศิลาแลงทำเป็นลูกกรงเตี้ย เลียนแบบเครื่องไม้ ชานชาลาด้านหน้ามีแท่นสิงห์ปูนปั้น และทวารบาลรวมแปดแท่น
             บนลานประทักษิณมีฐานวิหารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขเด็จทั้งด้านหน้าและด้านหลัง บันไดทางขึ้นวิหารสร้างขนาบมุขเด็จทั้งสองข้าง วิหารมีขนาดเจ็ดห้องหรือเจ็ดช่วงเสา ภายในมีแท่นอาสนะสงฆ์และฐานชุกชี มีร่องรอยพระประธานปูนปั้นประทับนั่งเสารองรับเครื่องบนใช้เสาศิลาแลงสี่เหลี่ยม
                - มณฑป  ตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร มีขนาดใหญ่ สร้างเป็นประธานวัดแทนเจดีย์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ แนวกำแพงแก้วก่อมาเชื่อมฐานทักษิณด้านข้างทั้งสองด้าน  กำแพงแก้วมีซุ้มประตูทางเข้าสามด้าน ยกเว้นด้านตะวันออกที่เชื่อมต่อกับวิหาร
             มณฑปมีผังแบบจตุรมุข ตรงกลางทำเป็นแท่งทึบก่อด้วยศิลาแลงและอิฐเพื่อรองรับส่วนยอดของหลังคา และทำเป็นมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้านหรือสี่ทิศ ผนังของแท่นทึบแต่ละด้านประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ คือด้านหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปปางลีลา ด้านใต้ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย ด้านตะวันตกประดิษฐานพระพุทธรูปปางประทานอภัย และด้านทิศเหนือเป็นพระพุทธไสยาสน์หันพระเศียรไปทางทิศตะวันออก พระสี่อิริยาบถนี้พบที่วัดเจตุพน นอกเมืองด้านทิศใต้ของเมืองสุโขทัย
             ภายในกำแพงแก้วรอบมณฑปพระสี่อิริยาบถมีฐานเจดีย์รายหลายองค์ เจดีย์รายที่ตั้งอยู่ประจำมุมกำแพงแก้วเป็นเจดีย์ทรงปราสาทยอดระฆังแบบสุโขทัย เรือนธาตุทำเป็นซุ้มประดิษฐานพระพุทธรูป ส่วนยอดเป็นองค์ระฆัง
                - อุโบสถ  อยู่ทางด้านทิศใต้ของเขตพุทธาวาส เกือบติดกำแพงวัด  สร้างเป็นอาคารเล็ก ๆ ฐานเตี้ย ชั้นเดียว เสาทำด้วยศิลาแลงสี่เหลี่ยม มีใบเสมาหินชนวนปักอยู่บนดินโดยรอบ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโบสถ์มีน้อยกว่าวิหาร
                - เขตสังฆาวาส  อยู่บริเวณด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของเขตพุทธาวาส พบฐานอาคารขนาดต่าง ๆ ที่เป็นฐานศาลากุฏิสงฆ์ บ่อน้ำและเวจกุฎี
            วัดพระสี่อิริยาบถน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย เมื่อประมาณช่วงพุทธศตวรรษที่ ๒๐
            วัดฆ้องชัย  ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของวัดพระสี่อิริยาบถ ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร สิ่งก่อสร้างในวัดวางตรงตามแนวตะวันออกตะวันตก หันหน้าวัดไปทางทิศตะวันออก กำแพงวัดก่อด้วยศิลาแลง มีอยู่เพียงสองด้านคือด้านทิศใต้และทิศตะวันตก นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันตก ปรากฏมีบ่อศิลาแลงยาวขนานไปกับแนวกำแพงวัด

                - วิหาร  ตั้งอยู่ด้านหน้า เป็นอาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ฐานก่อเป็นฐานหน้ากระดาน มีบันไดทางขึ้นทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ฐานหน้ากระดานล่างแตกต่างจากแห่งอื่น ๆ คือ ทำเป็นหน้ากระดานสูงถึง ๒.๑๐ เมตร นับเป็นฐานเขียง หรือฐานหน้ากระดานของอาคารที่สูงสุด เท่าที่พบในเมืองกำแพงเพชร
             ฐานวิหารด้านบนทำเป็นฐานบัวลูกแก้วอกไก่ มีมุขเด็จหน้า - หลัง บันไดทั้งด้านหน้าและหลัง สร้างขนานมุขเด็จทั้งสองข้าง รูปแบบดังกล่าวมีอยู่ทั่วไป ในแบบอาคารของเมืองกำแพงเพชร โถงอาคารมีขนาดเจ็ดห้อง แต่เมื่อรวมมุขหน้า - หลังด้วยจะเป็นอาคารขนาดใหญ่เก้าห้อง เสารับเครื่องบนเป็นเสาศิลาแลงแปดเหลี่ยม บริเวณชานชาลามุขหน้าเดิมประดับมกรดินเผาหรือมกรสังคโลก จากการขุดแต่งได้พบชิ้นส่วนมกรเป็นจำนวนมากที่บริเวณนี้
                - เจดีย์ประธาน  ตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร เป็นเจดีย์ทรงระฆังศิลปะสุโขทัย สกุลช่างกำแพงเพชร  องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานเขียงสี่เหลี่ยม และฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม ที่ซ้อนกันลดหลั่นกันขึ้นมา ฐานบัวลูกแก้วอกไก่แปดเหลี่ยม รองรับชั้นมาลัยที่ทำเป็นบัวกลาสามชั้น ปัจจุบันองค์ระฆังและส่วนยอดหักพังหมดแล้ว จัดเป็นเจดีย์ทรงระฆังฐานแปดเหลี่ยม องค์ระฆังเล็กทำให้รูปทรงของเจดีย์สูง เพรียวซึ่งเป็นรูปแบบที่พบทั่วไปในเมืองกำแพงเพชร ด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายขนาดเล็กอยู่สี่องค์
                - เขตสังฆาวาส  ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้และทิศตะวันตกของเขตพุทธาวาส มีฐานศาลา ฐานกุฏิสงฆ์ และบ่อน้ำ
             พบเศษภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมากที่เป็นเครื่องเคลือบ มีทั้งเครื่องเคลือบสังคโลก เครื่องถ้วยจีนประเภทเครื่องลายครามสมัยราชวงศ์เหม็ง พบพระพุทธรูปสำริดฝีมือช่างพื้นเมือง ผสมผสานรูปแบบศิลปะสุโขทัยและอยุธยาเข้าด้วยกัน ทำให้สันนิษฐานได้ว่า วัดฆ้องชัยน่าจะสร้างในช่วงสมัยสุโขทัยตอนปลาย หรือช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ ๒๐
            วัดสิงห์  ตั้งอยู่ในบริเวณอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ถัดจากวัดพระสี่อิริยาบถไปทางทิศเหนือ มีกำแพงศิลาแลงโดยรอบทั้งสี่ด้าน ประตูวัดอยู่ด้านหน้า หนึ่งทางและด้านหลังหนึ่งทาง ภายในบริดวณวัดแบ่งพื้นที่ออกเป็นเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาสชัดเจนเช่นเดียวกับวัดอื่น ๆ ในเขตอรัญญิก สิ่งก่อสร้างในเขตพุทธาวาส ไม่ตรงตามแกนทิศตะวันออก - ตะวันตก โดยเฉียงลงทางทิศตะวันออกเฉียงใต้เล็กน้อย
            จากการขุดแต่งพบหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารและเปลี่ยนแปลงหน้าที่ของอาคาร เช่น อุโบสถที่ปรากฎอยู่ปัจจุบันเดิมเป็นวิหาร
            ใบเสมาที่พบสลักจากหินชนวน บางใบประดับลวดลายพรรณพฤกษาในกรอบลายรูปสามเหลี่ยม และที่ขอบของใบเสมาสลักเป็นแถวลายกนกปลายแหลม ซึ่งเป็นศิลปะอยุธยา
                - อุโบสถหรือวิหารเดิม  ตั้งอยู่บนฐานทักษิณขนาดใหญ่ เช่นเดียวกับวิหารพระสี่อิริยาบถ บันไดทางขึ้นฐานทักษิณด้านหน้าสร้างแปลกกว่าแห่งอื่น ๆ คือทำบันไดเจาะเข้าไปในฐานไม่ได้ยื่นออกมาจากฐานชานชาลาด้านหน้า บนฐานทักษิณก่อเป็นแท่นยกสูงขึ้นจากระดับพื้นประดับสิงห์ปูนปั้น ทวารบาล และนาคที่มีแกนเป็นศิลาแลง
            ตัวอาคารตั้งอยู่บนฐานประทักษิณ ลักษณะอาคารเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีมุขเด็จหน้า-หลัง ฐานอาคารเป็นแบบฐานบัวลูกแก้วอกไก่ เสารองรับเครื่องบนเป็นเสาแปดเหลี่ยม ใช้เขียงศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยมวางซ้อนกันขึ้นไป ภายในอาคารยังปรากฎแนวอาสนสงฆ์ และฐานชุกชีประดิษฐานพระประธาน
                - กำแพงแก้ว  สร้างต่อจากฐานทักษิณไปทางทิศตะวันตก ฐานทักษิณด้านหลังอยู่ภายในกำแพงแก้วเช่นเดียวกับวิหารวัดสี่อิริยาบถ กำแพงแก้วแบ่งออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกมีเจดีย์ประธาน และเจดีย์ประจำมุมเล็ก ๆ อีกส่วนหนึ่งมีฐานอาคารขนาดเล็กหนึ่งหลัง
                - เจดีย์ประธาน  ก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ ปัจจุบันเหลือเฉพาะส่วนที่เป็นฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยม ซ้อนกันสามชั้นถัดขึ้นไปเป็นฐานบัว มีซุ้มยื่นออกมาจากฐานล่างทั้งสี่ด้าน ภายในซุ้มมีร่องรอยการประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นแกนศิลาแลง พบชิ้นส่วนปูนปั้นบัวปากระฆังอยู่รอบฐานเจดีย์ แสดงว่ารูปทรงเดิมขององค์เจดีย์เป็นทรงระฆัง ฐานสี่เหลี่ยมคล้ายเจดีย์ประธานวัดกำแพงงาม คือ เป็นเจดีย์ทรงระฆังฐานสูง
            โบราณวัตถุที่พบได้แก่เขียงพระพุทธรูปสำริด เศษภาชนะดินเผาทั้งเคลือบและไม่เคลือบ ชนิดเคลือบได้แก่เครื่องเคลือบสังคโลก เครื่องถ้วยจีนแบบเครื่องลายครามสมัยราชวงศ์เหม็ง ตะปูตอกเครื่องไม้ ใบเสมาหินชนวน โบราณวัตถุมีทั้งแบบสุโขทัยและแบบอยุธยาปนกัน
            วัดกำแพงงาม  ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยม หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีกำแพงศิลาโดยรอบทั้งสี่ด้าน เขตพุทธาวาสมีกำแพงแก้วล้อมรอบ เขตสังฆาวาสอยู่บริเวณด้านหลัง และด้านข้างของเขตพุทธาวาส
                - วิหาร  ก่อด้วยศิลาแลง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีมุขหน้า - หลัง ฐานเป็นแบบบัวลูกแก้วอกไก่
                - เจดีย์ประธาน  เป็นเจดีย์ทรงระฆังฐานสี่เหลี่ยม ก่อด้วยศิลาแลง องค์ระฆังและส่วนยอดหักพังหมดแล้ว เหลือแต่ฐานหน้ากระดานสี่เหลี่ยมซ้อนลหลั่นกันสามชั้น รูปแบบดังกล่าวน่าจะมีมาก่อนฐานแปดเหลี่ยม
            ด้านหน้าและด้านหลังเจดีย์ประธานมีเจดีย์รายอยู่เจ็ดองค์
                - อุโบสถ  ตั้งอยู่นอกกำแพงวัดด้านทิศตะวันออก

            วัดช้างรอบ  ตั้งอยู่บนจุดสูงสุดของภูเขาลูกรังขนาดย่อมในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ผังวัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า หันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีกำแพงศิลาเฉพาะด้านตะวันออกและด้านใต้
                - เจดีย์ประธาน  เป็นเจดีย์ทรงระฆังบนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ด้านบนของฐานมีลานสำหรับประทักษิณได้รอบองค์เจดีย์ ฐานกว้างด้านละ ๓๒ เมตร ทำเป็นแบบฐานบัวคว่ำบัวหงายสองชั้น ฐานบัวชั้นบนยืดส่วนหน้ากระดาน ท้องไม้ให้เป็นผนังสูงประดับช้างปูนปั้นครึ่งตัวโดยรอบ จำนวน ๖๘ เชือก เป็นแบบช้างทรงเครื่อง ประดับลายปูนปั้นโดยส่วนต่าง ๆ ระหว่างช้างแต่ละเชือกตกแต่งลวดลายปูนปั้นนูนสูงเป็นลายต้นไม้ และปั้นเป็นสัตว์เล็ก ๆ แช่น กระรอก นก และงู เกาะเกี่ยวกิ่งไม้
            บริเวณกึ่งกลางฐานทักษิณมีบันไดขึ้น - ลง ทั้งสี่ด้าน ชานบันไดแต่ละด้านประดับสิงห์ และทวารบาลปูนปั้นอยู่บนแท่นเตี้ย ๆ หันหน้าออกด้านนอก
            จากบันไดที่จะขึ้นไปยังลานประทักษิณทำเป็นซุ้มประตู หลังคาซุ้มเป็นเจดีย์ยอดระฆังขนาดเล็ก นับเป็นรูปแบบที่แปลกที่ไม่เคยพบในที่อื่นของศิลปะสุโขทัย แต่รูปแบบดังกล่าวปรากฎตามโบราณสถานขนาดใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา เช่น เจดีย์ยอดระฆังบนหลังคามุขทิศของเจดีย์ระฆังสามองค์ที่วัดพระศรีสรรเพชญ เป็นต้น
            บนลานทักษิณก่อผนังเตี้ย ๆ ด้วยอิฐเชื่อมต่อระหว่างซุ้มประตูแต่ละทิศ มีฐานเจดีย์ประจำอยู่ทั้งสี่มุม เดิมเป็นเจดีย์ทรงปรางค์กลีบมะเฟือง มีรูปแบบคล้ายคลึงกับเจดีย์รายในบริเวณวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จังหวัดลพบุรี องค์เจดีย์ตั้งอยู่บนฐานประทักษิณประกอบด้วย ฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานหน้ากระดานทรงกลม ฐานชั้นนี้ประดับลวดลายปูนปั้นเรื่องพระพุทธประวัติโดยแบ่งออกเป็นช่องรอบองค์เจดีย์รวม ๔๔ ช่อง  บางช่องที่ปูนปั้นกะเทาะหลุดออกมาปรากฎเส้นร่างสีดำที่ช่างได้เขียนบนพื้นก่อนปั้นปูน ด้านล่างของปูนปั้นประดับหงส์ดินเผาโดยรอบ นอกจากนี้ยังพบงานดินเผาอื่น ทำเป็นรูปกินนร กินรีเคียงเทวดา แต่ไม่ทราบตำแหน่งประดับที่แน่ชัด
            ถัดจากฐานหน้ากระดานกลมที่ประดับภาพปูนปั้นขึ้นไป ทำเป็นฐานกลมแบบบัวคว่ำบัวหงาย (ฐานปัทม์) ซ้อนลดหลั่นกันสองชั้น องค์เจดีย์ถัดขึ้นไปจากฐานปัทม์กลมหักพังหมดแล้ว

            เจดีย์ช้างล้อม  เป็นรูปแบบที่นิยมสร้างกันมากในสมัยสุโขทัย ทั้งที่เมืองสุโขทัยและเมืองบริวารคือ ศรีสัชนาลัยและกำแพงเพชร สันนิษฐานว่า ได้รับอิทธิพลมาจากลังกา
            เจดีย์วัดช้างรอบ    เมืองกำแพงเพชร นับเป็นเจดีย์ทรงระฆังที่ประดับช้างปูนปั้นโดยรอบ ฐานที่ใหญ่ที่สุดในอาณาจักรสุโขทัย
                - วิหาร  มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีฐานแบบบัวลูกแก้วอกไก่ มีมุขเด็จหน้า - หลัง บันไดสร้างขนาบมุขเด็จ ภายในวิหารยังปรากฎแนวอาสนสงฆ์ และฐานชุกชีประดิษฐานพระประธาน เสาอาคารรับเครื่องบนเป็นศิลาแลงสี่เหลี่ยม ด้านหน้าวิหารมีบ่อรูปสี่เหลี่ยม ที่ขุดตัดลงไปในศิลาแลง เพื่อนำศิลาแลงมาใช้ในการก่อสร้าง บ่อนี้ได้ดัดแปลงมาเป็นสระน้ำด้านหน้าวัด
                - อุโบสถ  เป็นอาคารขนาดเล็ก ตั้งอยู่เกือบติดกำแพงวัดด้านตะวันออก

            วัดอาวาสใหญ่  เป็นวัดขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ที่ตั้งอยู่ในเขตอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง หรือจากประตูสะพานโคมไปทางด้านทิศเหนือ ประมาณ ๒ กิโลเมตร ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๑๐๑ (กำแพงเพชร - สุโขทัย)  ตัดผ่านนหน้าวัด วัดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก
            สิ่งก่อสร้างใช้ศิลาแลงเป็นวัสดุหลัก ใช้อิฐน้อยมาก หน้าวัดมีบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ ขุดเจาะลงไปในศิลาแลง ขนาดกว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๘ เมตร ลึก ๘ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า บ่อสามแสน วัดนี้ไม่มีกำแพงวัด มีเฉพาะกำแพงแก้วที่ก่อด้วยศิลาแลงล้อมรอบเขตพุทธาวาส แนวกำแพงแก้วช่วงหลังหักมุมเข้ามา ทำให้บริเวณพุทธาวาสแคบลง
            สิ่งก่อสร้างสำคัญในเขตพุทธาวาส ด้านหน้าก่อเป็นฐานรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำมุมฉากจำนวนสองฐาน บนฐานมีเจดีย์รายแบบต่าง ๆ ฐานละแปดองค์ ถัดไปเป็นวิหาร และเจดีย์ประธานตามลำดับ
               - วิหาร  ตั้งอยู่เกือบกึ่งกลางของเขตพุทธาวาส ตัววิหารตั้งอยู่บนฐานขนาดใหญ่ หรือฐานทักษิณรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง ๒๕ เมตร ยาว ๕๐ เมตร สูง ๑.๕ เมตร  มีบันไดทางขึ้นสามทางคือ ด้านหน้า และบริเวณกึ่งกลางด้านข้างทั้งสองด้าน ผนังด้านข้างของฐานทักษิณใช้ศิลาแลงทำเป็นราวลูกกรง คล้ายกับฐานทักษิณวัดพระสี่อิริยาบถ มีมุขเด็จด้านหน้าและด้านหลัง มีขนาดเจ็ดห้อง เมื่อรวมกับมุขหน้า - มุขหลัง จะเป็นวิหารขนาด ๙ ห้อง เสารองรับเครื่องบนเป็นเสาศิลาแลงสี่เหลี่ยม ผนังก่อแบบสูงแล้วเจาะผนังแต่ละห้องเป็นช่องที่เรียกว่า ผนังช่องลม
                - เจดีย์ประธาน  ตั้งอยู่ด้านหลังวิหาร เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่สร้างติดกับฐานทักษิณ ฐานเจดีย์เป็นฐานแปดเหลี่ยมย่อมุม ฐานล่างสุดเป็นฐานหน้ากระดานแปดเหลี่ยม ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวย่อมุมยี่สิบ นอกนั้นเป็นฐานบัวย่อมุม ๆ ละห้าเหลี่ยม หรือย่อมุมยี่สิบที่มีการยืดส่วนหน้ากระดานท้องไม้ให้เป็นผนังสูง แล้วประดับบัวลูกแก้วอกไก่สองแถว คล้ายกับส่วนเรือนธาตุของเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์แบบสุโขทัย แต่คงไม่ใช่เจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์ เพราะฐานบัวส่วนนี้อยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าส่วนเรือนธาตุของเจดีย์พุ่มข้าวบิณฑ์มาก ส่วนยอดที่อยู่เหนือขึ้นไปหักพังไปหมด จึงไม่ทราบรูปทรงเดิมที่แน่ชัด
            จากการศึกษารูปแบบของฐานเจดีย์ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับเจดีย์อื่น ๆ พบว่าลัษณะของฐานดังกล่าว มีความคล้ายคลึงกับฐานเจดีย์ประธานวัดเจดีย์สูง ที่ตั้งอยู่นอกกรุงสุโขทัย ด้านทิศตะวันออก ซึ่งเป็นเจดีย์ทรงกลมที่มีการขยายส่วนหน้ากระดานท้องไม้ของฐานบัวชั้นล่างให้เป็นผนังสูง และยังมีฐานบัวด้านบนอีกชั้นหนึ่ง ฐานบัวทั้งสองชั้นย่อมุม ๆ ละห้าเหลี่ยม หรือย่อมุมไม้ยี่สิบเช่นเดียวกับเจดีย์ประธานวัดอาวาสใหญ่ ฐานบัวชั้นบนรองรับเจดีย์ทรงระฆังศิลปะสุโขทัย คือ ชั้นมาลัยเถาที่ทำเป็นบัวถลาสามชั้น แล้วจึงเป็นองค์ระฆังบัลลังก์และปลียอด ถัดขึ้นไปเป็นฐานบัวคว่ำและบัวหงาย ชั้นที่สองย่อมุมยี่สิบเหมือนชั้นแรก แล้วจึงเป็นชั้นมาลัยเถา ที่ทำเป็นชุดบัวถลาสามชั้นเป็นองค์ระฆัง บัลลังก์และปลียอด
            ด้านหลังเจดีย์ประธานมีฐานอาคารหรือฐานวิหาร ที่ก่อฐานหน้ากระดานสูงอีกหนึ่งหลัง และบ่อน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดใหญ่ เกือบเท่าบ่อสามแสนหน้าวัดอีกแห่งหนึ่ง
            ถัดจากเขตพุทธาวาสไปทางด้านหลังติดด้านตะวันตก ด้านหนือและด้านใต้เป็นเขตสังฆาวาส มีกลุ่มอาคารที่เป็นกุฎิสงฆ์ และศาลาจำนวน ๓๑ แห่ง บ่อน้ำสองบ่อ และเวจกุฎี หนึ่งแห่ง
            วัดอาวาสใหญ่เป็นวัดที่มีการจัดแผนผังสิ่งก่อสร้างได้อย่างงดงาม จากการขุดแต่งได้พบเศียรพระพุทธรูปทั้งที่เป็นแบบศิลปะสุโขทัยและอยุธยาปนกัน เช่นเดียวกับวัดขนาดใหญ่อื่น ๆ ในบริเวณอรัญญิกของเมืองกำแพงเพชร

| ย้อนกลับ | บน |