| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดกระบี่

           จังหวัดกระบี่ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลด้านตะวันตก  คือทะเลอันดามัน  ติดต่อกับจังหวัดพังงา และสุราษฎร์ธานีทางด้านทิศเหนือ  ติดต่อกับจังหวัดตรังทางด้านทิศใต้  และติดต่อกับจังหวัดสุราษฎร์ธานีกับจังหวัดนครศรีธรรมราชทางด้านตะวันออก
            ตัวจังหวัดตั้งอยู่ระหว่างแนวเทือกเขาที่สำคัญของภาคใต้สองแนวคือ แนวเทือกเขาภูเก็ตอยู่ทางทิศตะวันตก  แนวเทือกเขานครศรีธรรมราชอยู่ทางทิศตะวันออก  เป็นเทือกเขาที่ต่อเนื่องมาจาก เทือกเขาตะนาวศรี  พื้นที่ส่วนใหญ่มีภูเขาหินปูนเป็นลูกโดด ๆ เตี้ย ๆ มีถ้ำหินปูน บ่อน้ำร้อนและแอ่งน้ำที่เกิดจากการยุบตัวของแผ่นดิน  สลับกับพื้นที่แบบลูกคลื่นลอนลาด  ที่ราบเชิงเขาที่ลาดเอียงไปทางชายฝั่งด้านใต้  และด้านตะวันตก  และที่ราบแคบ ๆ แถบชายฝั่ง
            พื้นที่ตอนกลางมีแนวภูเขาที่สำคัญคือ ภูเขาพนมเบญจาอยู่ในเทือกเขาภูเก็ต วางตัวอยู่ในแนวเหนือ - ใต้  เป็นภูเขาที่มียอดเขาสูงสุดในแนวเทือกเขาภูเก็ต คือสูง ๑,๔๐๐ เมตร  เป็นแนวสันปันน้ำ ด้านตะวันตกไหลลงสู่อ่าวพังงา ด้านตะวันออกไหลลงสู่แม่น้ำกระบุรี  ด้านทิศเหนือไหลลงสู่แม่น้ำตาปี  ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี
            จังหวัดกระบี่มีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ ๑๖๐ กิโลเมตร  เป็นชายฝั่งทะเลยุบตัวอันเกิดจากการยุบตัวของเปลือกโลกใกล้กับแนวแผ่นดิน  มีลักษณะเว้าแหว่ง และสูงชันต่างกัน  บางบริเวณมีภูเขาติดกับชายฝั่งทะเล เช่น เขากาโรส  และมีเกาะอยู่นอกชายฝั่งอยู่ถึง ๑๓๐ เกาะ  ในบรรดาเกาะดังกล่าวมีผู้คนอาศัยอยู่เพียง ๑๓ เกาะ  เกาะที่สำคัญได้แก่ เกาะลันตา  เกาะจำ  เกาะพี - พี  เกาะศรีบอยา  เกาะไหง ฯลฯ
            พื้นที่ชายฝั่งส่วนใหญ่เป็นป่าชายเลนไหล่ทวีปผืนแคบ ๆ มีหาดทรายอยู่น้อย มีบางบริเวณถูกแรงบีบอัดของเปลือกโลก  ทำให้ท้องทะเลเดิมถูกยกตัวขึ้นมาอยู่บนชายฝั่ง เช่น พื้นที่บริเวณสุสานหอย ๗๕ ล้านปี ที่บ้านแหลมโพธิ ตำบลไสไทย อำเภอเมือง ฯ
แหล่งน้ำธรรมชาติ

            จังหวัดกระบี่มีแม่น้ำ ลำคลอง และลำธารเล็ก ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ลำน้ำสาขาจะไหลลงสู่ลำน้ำใหญ่ในรูปแบบขนนก  ลำน้ำส่วนใหญ่มีลักษณะคดเคี้ยวค่อนข้างยาว  มีทั้งที่ไหลลงจากสันเขาไปทางทิศเหนือไปออกอ่าวไทยในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี  และไหลลงทางใต้ลงสู่ทะเลอันดามัน  ลำน้ำส่วนใหญ่จะมีน้ำไหลตลอดปี เนื่องจากมีฝนตกชุก
ลำน้ำที่สำคัญได้แก่
           คลองปากลาว  เกิดจากห้วยเล็ก ๆ ของเทือกเขาพนม และเขาแก้วในเขตอำเภอปลายพระยา  ไหลมารวมกันที่บ้านบางหอย  แล้วไหลผ่านบ้านบางหินผุ  บ้านบางเจริญ  บ้านบางโทง ตำบลแสงนา  แล้วไหลลงสู่แม่น้ำมะรุ่ยที่บ้านปากลาวในเขตอำเภออ่าวลึก  มีความยาวประมาณ ๗๒ กิโลเมตร
           แม่น้ำมะรุ่ย  เป็นแม่น้ำสั้น ๆ ยาวประมาณ ๑๖ กิโลเมตร  ใช้เป็นแนวแบ่งเขตจังหวัดกระบี่กับจังหวัดพังงา  เกิดจากการรวมตัวของคลองปากลาว  แล้วไหลผ่านบ้านโคกยาง  บ้านหินลาด  ออกสู่ทะเลที่แหลมหินราวในเขตอำเภออ่าวลึก
           คลองยา (คลองหยา)  เกิดจากเขาแก้ว - เขานุ้ย  ในเขตอำเภอปลายพระยา ได้ชื่อว่า ห้วยลึก แล้วไหลผ่านห้วยลึก  คลองหยา ไปรวมกับคลองปากลาวที่บ้านปากลาว  จากนั้นไหลผ่านบ้านโคกยาง  บ้านหินลาด  ไปอออกทะเลที่แหลมหินราวในเขตอำเภอคลองลึก
           ห้วยโสก  ต้นน้ำอยู่ที่บ้านถ้ำในเขตอำเภอปลายพระยา  ไหลผ่านบ้านช่องแซะ  บ้านบางล้าน  บ้านปากหยา  แล้วไหลไปรวมกับคลองพันโตนที่บ้านปางโสก  ในเขตอำเภอปลายพระยา  มีความยาวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
           คลองพันโตน  เกิดจากควนทัง บ้านควนท่อมในเขตอำเภออ่าวลึก  เรียกว่า คลองหิน  แล้วไหลไปลงคลองในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี  มีความยาวประมาณ ๒๐ กิโลเมตร
           แม่น้ำกระบี่  ไหลผ่าน อำเภอเมือง ฯ ลงสู่ทะเลอันดามัน ที่ตำบลปากน้ำ อำเภอเมือง ฯ มีความยาวประมาณ ๕ กิโลเมตร
           คลองปกาไส  ไหลมาจากทางด้านทิศเหนือของจังหวัด ลงสู่ทะเลอันดามันทางด้านใต้  มีความยาวประมาณ ๓๕ กิโลเมตร
           คลองเขาแก้ว  เกิดจากเขาพลู เขาแก้วในเขตบ้านเขาแก้ว อำเภออ่าวลึก ไหลไปบรรจบกับคลองยา ในเขตอำเภออ่าวลึก  มีความยาวประมาณ ๗ กิโลเมตร
           แม่น้ำอ่าวลึก  เกิดจากการรวมตัวกันของคลองอ่าวลึก และคลองแรด ในเขตอำเภออ่าวลึก  แล้วไหลลงสู่ทะเลอันดามันทางทิศใต้ของอำเภออ่าวลึก  มีความยาวประมาณ ๗ กิโลเมตร
           คลองแรด  เกิดจากเขาใหญ่ในเขตบ้านยวนเหนือ อำเภออ่าวลึก  ไหลผ่านเขาถ้ำน้ำ  บ้านควรผักเหมียง  บ้านคลองโสก บ้านควน แล้วไปบรรจบแม่น้ำอ่าวลึกในเขตอำเภออ่าวลึก  มีความยาวประมาณ ๑๔ กิโลเมตร
           คลองน้ำตก  เกิดจากเขาถ้ำเพชรในเขตอำเภออ่าวลึก ไหลผ่านบ้านน้ำตก ไปบรรจบกับคลองกลางที่อำเภออ่าวลึก  มีความยาวประมาณ ๗ กิโลเมตร
           คลองกาโรส  เป็นคลองที่ใช้เป็นเส้นทางแบ่งเขต อำเภออ่าวลึก กับอำเภอเมือง ฯ  มีความยาวประมาณ ๖ กิโลเมตร
           คลองเขาไม้แก้ว  เกิดจากเขาไม้ดำในเขตอำเภอเมือง ฯ  ไหลออกทะเลอันดามันใกล้เกาะโทน  มีความยาวประมาณ ๑๔ กิโลเมตร
           คลองกระบี่ใหญ่  เกิดจากเขาพนม  ไหลผ่านจังหวัดกระบี่ไปบรรจบแม่น้ำกระบี่  มีความยาวประมาณ ๓๑ กิโลเมตร
           คลองหญ้าไทร  เกิดจากเขาหน้าวัวในเขตอำเภอเมือง ฯ  ไหลไปบรรจบคลองกระบี่ใหญ่ที่บ้านคลองใหญ่ อำเภอเมือง ฯ มีความยาวประมาณ ๑๐ กิโลเมตร
           คลองกระบี่น้อย  เกิดจากเขาหลักและเขาพนมเบญจาในเขตอำเภอเมือง ฯ ไหลสงสู่ทะเลอันดามันที่แหลมขาม อำเภอเมือง ฯ  มีความยาวประมาณ ๒๘ กิโลเมตร
           คลองทรายขาว  ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอเขาพนม  ไหลผ่านบ้านพรุเตียวไปบรรจบกับคลองน้ำแดงที่บ้านย่านซื่อ  มีความยาวประมาณ ๒๓ กิโลเมตร
           คลองพอถาก  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมเบญจา  ไหลผ่านบ้านห้วยน้ำแก้ว  บ้านเขาดิน ตำบลหน้าเขา แล้วไหลไปบรรจบกับคลองบางสร้าน
           คลองบางสร้าน  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาพนมเบญจา  ไหลผ่านบ้านทอนผักกูด - ต้นพงษ์  ไปบรรจบกับคลองพอถากที่บ้านสร้าน ตำบลเขาดิน อำเภอเขาพนม  รวมเป็นคลองยวนสาว  ไหลผ่านบ้านสองแพรกอำเภอชัยบุรี ไปบรรจบแม่น้ำตาปีที่อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎ์ธานี
           คลองท่อม  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาใหญ่ในเขตจังหวัดตรัง ไหลผ่านตำบลคลองท่อมใต้  คลองท่อมเป็นคลองที่มีความสำคัญอันเกี่ยวเนื่องด้วยประวัติศาสตร์ของจังหวัดกระบี่  ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอคลองท่อม  ไหลลงสู่ทะเลอันดามัน
           คลองสินปุน  ต้นน้ำเกิดจากเขาน้อยในเขตอำเภอคลองท่อม  ไหลผ่านบ้านไร่คอกย่านอุดม  ทุ่งทับควาย  ลำทับ  นาพรุ  ห้วยใหญ่  ผ่านอำเภอทุ่งใหญ่ไปบรรจบแม่น้ำตาปีในเขตอำเภอพระแสง  จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ป่าไม้
            กระบี่มีป่าไม้เหลืออยู่ประมาณ ร้อยละ ๕๔ ส่วนใหญ่เป็นไม้ไม่ผลัดใบ เป็นป่าเบญจพรรณ  แยกเป็นพื้นที่ป่าออกตามสภาพป่าเป็น
            ป่าสงวนแห่งชาติ  จำนวน ๔๕ ป่า  มีพื้นที่ประมาณ ๑,๔๗๖,๐๐๐ ไร่
            พื้นที่ป่าสมบูรณ์  ประมาณ ๓๘๘,๐๐๐ ไร่  พื้นที่ป่าบก ประมาณ ๒๑๑,๐๐๐ ไร่  และพื้นที่ป่าชายเลน ประมาณ ๑๗๗,๐๐๐ ไร่
            สภาพป่าบกโดยทั่วไปเป็นป่าดงดิบชื้น  อยู่ตามภูเขาจึงค่อนข้างจะเป็นป่าสมบูรณ์  จำแนกตามผลการใช้ประโยชน์ที่ดินได้ดังนี้
            ป่าเพื่อการอนุรักษ์ มีพื้นที่ประมาณ ๓๑๕,๐๐๐ ไร่
            ป่าเพื่อเศรษฐกิจมี พื้นที่ประมาณ ๘๙๔,๐๐๐ ไร่
            ป่าที่เหมาะแก่การเกษตรมี พื้นที่ประมาณ ๒๒๗,๐๐๐ ไร่
 
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |