| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดยโสธร

            จังหวัดยโสธร  ตั้งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ในเขตอีสานใต้  มีรูปร่างคล้ายพระจันทร์เสี้ยว  พื้นที่ส่วนใหญ่ทางด้านเหนือเป็นที่ราบสูงสลับกับพื้นที่ราบแบบลูกคลื่น  ทางด้านใต้เป็นที่ราบต่ำสลับซับซ้อน  มีแม่น้ำชีไหลผ่านและมีหนองบึงอยู่ทั่วไป

แหล่งน้ำธรรมชาติ
            ยโสธรมีแหล่งน้ำธรรมชาติที่สำคัญคือ แม่น้ำชี และมีลำห้วย ลำธาร คลอง เป็นจำนวนมากถึง ๓๙๕ สาย หนองบึง ๗๓๒ แห่ง น้ำพุน้ำซับ ๖ แห่ง


            แม่น้ำชี  มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์  ไหลผ่านหลายจังหวัดในภาคอีสานแล้วไหลเข้าจังหวัดยโสธรที่อำเภอเมือง ฯ ผ่านอำเภอคำเขื่อนแก้ว  อำเภอมหาชนะชัย  และอำเภอวังค้อ  แล้วไหลลงสู่แม่น้ำมูลในเขต อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี  แม่น้ำชีมีน้ำไหลตลอดปี
            ลำทวน  มีต้นกำเนิดในเขตอำเภอทรายมูล ไหลผ่านอำเภอเมือง ฯ ไปบรรจบแม่น้ำชีในเขตอำเภอเมือง ฯ
            ลำเซบาย  มีต้นกำเนิดจากภูเขาในเขตอำเภอเลิงนกทา แล้วไหลผ่าน อำเภอป่าติ้ว อำเภอคำเขื่อนแก้ว แล้วไหลลงแม่น้ำมูลในเขตจังหวัดอุบลราชธานี  ลำเซบายมีน้ำไหลตลอดปี
            ลำน้ำโพง  มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในเขตอำเภอเลิงนกทา ไหลผ่านเขตอำเภอกุดชุม อำเภอป่าติ้ว อำเภอคำเขื่อนแก้ว แล้วไหลลงลำเซบาย ลำน้ำโพง มีน้ำไหลเกือบตลอดปี
            ลำน้ำยัง  มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาภูพานในเขตจังหวัดกาฬสินธุ์  ไหลผ่านเข้าสู่จังหวัดยโสธรที่อำเภอเมือง ฯ แล้วไหลลงแม่น้ำชี ลำน้ำยังมีน้ำไหลเกือบตลอดปี
            นอกจากลำน้ำสำคัญดังกล่าวแล้ว  ยังมีหนองน้ำ บึง อยู่บริเวณที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ได้แก่ หนองอิ่ง  บึงโดน  กุดแหลม  กุดมน  กุดกะเหลิบ  บึงหนาด  หนองบอน  บึงผือฮี เป็นต้น

ป่าไม้
            จังหวัดยโสธร มีป่าสงวนแห่งชาติเป็นจำนวน ๒๗ ป่า เป็นพื้นที่ประมาณ ๗๑๒,๕๐๐ ไร่ ประมาณร้อยละ ๒๗ ของพื้นที่จังหวัด  ป่าส่วนใหญ่เป็นป่าเต็งรัง และป่าดงดิบแล้ง  อำเภอเลิงนกทามีพื้นที่ป่ามากที่สุด รองลงมาคืออำเภอกุดชุม
 

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            ในเขตพื้นที่จังหวัดยโสธร ได้พบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ จากยุคประวัติศาสตร์ต่อเนื่องกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน  ชุมชนโบราณส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตทุ่งราบโล่ง หรือบริเวณขอบชายทุ่ง ติดกับพื้นที่โคกและป่า ได้แก่ชุมชนโบราณชายขอบทุ่งกุลาร้องไห้ ในเขตอำเภอมหาชนะชัยและอำเภอค้อวัง เช่น ชุมชนโบราณที่บ้านหัวเมือง บ้านคูเมือง บ้านคูสองชั้น ในเขตอำเภอมหาชนะชัย ชุมชนโบราณบ้านน้ำอ้อม  บ้านโพนแพง  บ้านหมากมาย  บ้านแข้  บ้านโพนเมือง ในเขตอำเภอค้อวัง
            ชุมชนโบราณนอกเขตชายทุ่งกุลาร้องไห้ ได้แก่ ชุมชนโบราณบ้านบากเรือ  บ้านบึงแก  ในเขตอำเภอมหาชนะชัย ชุมชนเหล่านี้ขุดดินขึ้นมาถมทำที่อยู่อาศัย  ส่วนที่ขุดดินออกจะเป็นแหล่งน้ำ อุปโภคบริโภค และยังใช้เป็นเครื่องกีดขวางข้าศึกศัตรูได้อีกด้วย  ชุมชนโบราณโนนเมืองน้อย ตำบลดงแดนน้อย อำเภอคำเขื่อนแก้ว  มีขนาดเล็กตั้งอยู่กลางทุ่งโล่ง  ส่วนชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่ตามแนวขอบชายทุ่งติดกับขอบป่าดง  ได้แก่ชุมชนโบราณกู่จาน

สมัยทวาราวดี

            มีร่องรอยการสร้างชุมชนด้วยการขุดคูน้ำล้อมรอบ  แล้วนำดินที่ขุดมาสร้างเป็นคันดินล้อมบริเวณคู่ไปกับคูน้ำ  ในเขตจังหวัดยโสธร พบการตั้งถิ่นฐานในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๖ ได้แก่ บ้านตาดทอง  บ้านขุมเงิน ในพื้นที่อำเภอเมือง ฯ  ดงเมืองเตย  บ้านโนเมืองน้อย อำเภอคำเขื่อนแก้ว  บ้านบึงแก  บ้านคูสองชั้น  บ้านหัวเมือง  บ้านบากเรือ อำเภอมหาชนะชัย  บ้านโพนแพง  บ้านน้ำอ้อม  บ้านหมากมาย  บ้านแข้  บ้านโพนเมือง อำเภอค้อวัง  ตามชุมชนดังกล่าวได้พบศิลปวัตถุร่วมสมัย กับศิลปกรรมแบบ อมราวดี  ทวาราวดี และลพบุรีปนอยู่ด้วย  ตามประวัติพระธาตุพนม มีข้อความว่า  ชาวสะเดาตาดทองได้นำของมาช่วย  ชาวสะเดาตาดทองนั้น เป็นหมู่บ้านในเขตอำเภอเมืองยโสธรปัจจุบัน  และพระธาตุพนมก็สร้างในสมัยทวาราวดี

สมัยลพบุรี

            ได้พบศิลปกรรมสมัยลพบุรี เป็นรูปสิงห์หินแกะสลักเทวรูปนารายณ์ศิลาหินเขียว เสมาหิน ท่อน้ำรูปปากนาค แท่นศิวลึง เทวรูปนารายณ์สำริด ที่บ้านตาดทอง และบ้านกู่จาน อำเภอเมือง ฯ และมีโบราณสถานเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์  เช่นโบราณสถานบ้านกู่จาน และภาพสลักหินที่วัดสมบูรณ์พัฒนา บ้านกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว สิงห์หินแกะสลักที่วัดศรีธาตุบ้านสิงห์ และสิงห์หินแกะสลักรุ่นเดียวกัน ที่วัดสิงห์ อำเภอเมือง ฯ แสดงให้เห็นว่ามีการตั้งถิ่นฐานในสมัยลพบุรี ณ ที่ตั้งเมืองยโสธรปัจจุบัน

สมัยสุโขทัย
            ดินแดนจังหวัดยโสธรไม่ปรากฏว่ามีศิลปะสมัยสุโขทัยอยู่เลย  อาจจะเนื่องจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ซึ่งมีภูเขาสูงใหญ่กั้นอยู่ การติดต่อค้าขายและไปมาหาสู่กันจึงแทบไม่มี  ประกอบกับอาณาจักรสุโขทัยทางด้านตะวันออก  มีอาณาเขตมาถึงอาณาจักรเวียงจันทน์  เสียงคำเท่านั้น

สมัยอยุธยา
            ดินแดนจังหวัดยโสธรไม่ปรากฏว่ามีศิลปะสมัยอยุธยาเข้ามาถึง  อาจจะเนื่องจากดินแดนแห่งนี้อยู่ในเขตของอาณาจักรล้านช้าง และได้เป็นพันธมิตรกับราชอาณาจักรอยุธยา  ดังจะเห็นได้จากการสร้างพระธาตุศรีสองรัก อันเป็นสักขีพยานถึงความรักใคร่ เป็นสัมพันธไมตรีต่อกัน ที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์ แห่งกรุงศรีอยุธยา และพระเจ้าไชยเชษฐา แห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างหลวงพระบาง  ราชอาณาจักรอยุธยาได้แผ่ไปถึงจังหวัดนครราชสีมา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

สมัยธนบุรี

            จากการที่เกิดการแย่งราชสมบัติกันของเชื้อพระวงศ์กรุงศรีสัตนาคนหุต  เป็นต้นเหตุให้อาณาจักรศรีสัตนาคนหุต แยกออกเป็น ๓ อาณาจักร คือ อาณาจักรล้านช้างร่มขาวหลวงพระบาง ล้านช้างร่มขาวเวียงจันทน์ และอาณาจักรนครจำปาศักดิ์  เกิดการสู้รบกันตลอดมา ฝ่ายเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน หรือเมืองหนองบัวลำภูซึ่งเจ้าปางคำ ราชนัดดาของพระเจ้าสุริยวงศา แห่งเวียงจันทน์มาสร้างไว้  ไม่ขึ้นต่อเวียงจันทน์และหลวงพระบาง  เมื่อเจ้าปางคำทิวงคตแล้ว  เจ้าพระตาโอรสได้ขึ้นครองเมืองแทน  ต่อมาพระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์เกิดไม่ไว้ใจ  เกิดรบกันขึ้น  จึงได้มีการให้ขยายเมืองหน้าด่านขึ้นไว้อีกหลายเมือง  เพื่อให้ช่วยเหลือกันได้  ในการนี้ท้าวคำโสกับพวกได้ยกกำลังไปยังดงโต่งโต้น  และได้สร้างเมืองขึ้น ณ ที่นั้น คือเมืองสิงห์หิน  เมืองสิงห์ทอง  ซึ่งต่อมาภายหลังได้ชื่อว่า บ้านสิงห์ท่า  เพราะอยู่ใกล้แม่น้ำชี  ต่อมาได้ตั้งเป็นเมืองโดยสมบูรณ์ชื่อว่า เมืองยศสุนทร หรือยโสธร  ท้าวคำโสกับพวกมาตั้งบ้านสิงห์ท่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๔  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๑๗  กองทัพเมืองเวียงจันทน์ร่วมกับกองทัพพม่า ได้ยกเข้าตีเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบานแตก  เจ้าพระยาวอยกกำลังถอยหนีไปยังบ้านสิงห์ท่า และบ้านดอนมดแดง  ริมแม่น้ำมูล  ซึ่งเป็นเมืองอุบลราชธานีในปัจจุบัน  ทางเมืองเวียงจันทน์ได้ส่งกำลังมาโจมตี กำลังของเจ้าพระวอที่เวียงกองดอน  เจ้าพระวอตายในที่รบ เจ้าคำผงหรือพระปทุมสุรราชรักษาเมืองไว้ได้  แต่กองทัพเวียงจันทน์ยังคุมเชิงอยู่  เจ้าคำผงเห็นว่าจะต้องขอพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระเจ้ากรุงธนบุรีมาช่วยจึงจะพ้นจากข้าศึกได้  จึงนำหนังสือไปส่งเมืองนครราชสีมา ขอกองทัพกรุงธนบุรีมาช่วย  พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงโปรดเกล้า ฯ ให้เจ้าพระยาจักรี และเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกำลังไปช่วย
            ฝ่ายพญาสุโพ แม่ทัพเวียงจันทน์ทราบข่าวกองทัพกรุงธนบุรียกกำลังมา  จึงรีบยกกำลังถอยกลับไปเวียงจันทน์  กองทัพกรุงธนบุรีก็ยกติดตามไปเวียงจันทน์  กองทัพหลวงพระบางเห็นเป็นโอกาส จึงยกกำลังมาช่วยตีกระหนาบเมืองเวียงจันทน์  ทางเวียงจันทน์สู้ไม่ได้ พระเจ้าสิริบุญสารแห่งเวียงจันทน์จึงหนีไปเมืองคำเกิด

สมัยรัตนโกสินทร์

            พระปทุมสุรราช ได้พากันอพยพจากบ้านเวียงดอนทองมาอยู่ที่บ้านดอนมดแดงริมแม่น้ำมูล  ต่อมาได้ไปราชการสงครามปราบเมืองเขมรได้ชัยชนะ  ขยายพระราชอาณาเขตกรุงรัตนโกสินทร์ออกไป  และได้เป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งแต่นั้นมา
            ในปี พ.ศ. ๒๓๓๔ ทางเมืองนครจำปาศักดิ์เกิดขบถอ้ายเชียงแก้วเขาโอง  ตั้งตัวเป็นใหญ่ ยึดเมืองนครจำปาศักดิ์ได้  พระปทุมสุรราชเจ้าเมืองอุบลจึงได้มีใบบอกไปยังฝ่ายหน้าผู้น้อง  ให้ร่วมกันยกกำลังไปปราบอ้ายเชียงแก้วเขาโอง  ทั้งสองพี้น้องได้ยกกำลังไปตีเมืองนครจำปาศักดิ์กลับคืนมาได้  ก่อนที่กองทัพเมืองนครราชสีมาจะยกมาถึง  และให้เจ้าฝ่ายหน้าติดตามจับอ้ายเชียงแก้วเขาโองได้ แล้วประหารชีวิตเสีย  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาเจ้าฝ่ายหน้าขึ้นเป็นเจ้า มีพระราชทินนามว่า เจ้าพระยาพิชัยราชขัติยวงศา  เจ้านครจำปาศักดิ์  ให้ย้ายจากบ้านสิงห์ท่า  ไปอยู่เมืองนครจำปาศักดิ์  ทางบ้านสิงห์ท่าได้ให้ท้าวคำม่วงผู้เป็นน้องชายปกครองแทน
            ในปี พ.ศ. ๒๓๕๔  เจ้าพระยาวิชัยราชขัติยวงศาถึงแก่พิราลัย  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้า ฯ ให้เจ้านู หลานเจ้านครจำปาศักดิ์องค์เดิม คือพระเจ้าไชยกุมารเป็นผู้ครองนครจำปาศักดิ์สืบต่อไป  ทำให้เจ้าราชวงศ์สิงห์ บุตรเจ้าพระยาวิชัยราชขัติยวงศาไม่พอใจ  จึงขอกลับไปอยู่บ้านสิงห์ท่า  และได้ปรับปรุงบ้านสิงห์ท่าให้ใหญ่โตรุ่งเรืองขึ้น
            ในปี พ.ศ. ๒๓๕๗  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้โปรดเกล้า ฯ ให้ยกบ้านสิงห์ท่าขึ้นเป็นเมือง ชื่อ เมืองยโสธร หรือยศสุนทร  ให้เจ้าราชวงศ์สิงห์เป็นเจ้าครองเมือง  มีราชทินนามว่า พระสุนทรวงศา พระราชทานเครื่องยศตามตำแหน่งเจ้าเมืองประเทศราช  ให้เมืองยโสธรส่งส่วยบำรุงราชการเป็นของหลวงคือ น้ำรักสองเลขต่อเบี้ย  ป่านสองเลขต่อขวด  มีอาณาเขตปกครอง คือ ทิศเหนือถึงภูสีฐาน ด่านเมยยอดยัง ทิศใต้ถึงห้วยก้ากวาก  ทิศตะวันออกถึงบ้านคำพระคำมะแว ลำน้ำเซ  ทิศตะวันตกถึงลำห้วยไส้ไก่วังเจ็ก
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเกิดศึกเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์  เมืองยโสธรก็ได้รับเกณฑ์เข้าร่วมศึกครั้งนี้ด้วยได้ชัยชนะ  ได้รับพระราชทานเชลยเมืองเวียงจันทน์ ๕๐๐ ครอบครัว  และพระราชทานปืนใหญ่ไว้สำหรับเมืองหนึ่งกระบอกชื่อว่า ปืนนางป้อง  ยังปรากฏอยู่ที่ศาลหลักเมืองยโสธรมาจนถึงปัจจุบัน  เมื่อพระสุนทรราชวงศาเห็นได้เป็นเจ้าเมืองแล้ว  ได้นำศิลาจากบ้านแก้งหินโงมมาสร้างพระพุทธบาทจำลอง  แล้วสร้างวัดป่าอัมพวัน และวัดกลางศรีไตรภูมิไว้เป็นวัดคู่เมือง
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๑๗  ได้เกิดศึกฮ่อยกกำลังมาตีเมืองหนองคาย เมืองยโสธรถูกเกณฑ์ให้ยกกำลังไปสมทบ  กองทัพจากกรุงเทพ ฯ เป็นจำนวน ๕๐๐ คน  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๖  พวกฮ่อได้ยกกำลังมาตั้งอยู่ที่ทุ่งเชียงคำ  เมืองยโสธรได้รับเกณฑ์ให้เอากำลังช้างม้าโคต่างๆ ไปเป็นพาหนะบรรทุกเสบียงไปเลี้ยงกองทัพ
            เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบเมืองประเทศราช มาเป็นการปกครองแบบมณฑลเทศาภิบาล  หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ  มีเมืองอุบลราชธานีเป็นเมืองเอก มีเมืองขึ้น ๔๑ เมือง  เมืองยโสธรอยู่ใน ๔๑ หัวเมืองดังกล่าวด้วย
            ในปี พ.ศ. ๒๔๓๖  เกิดกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศส  ฝรั่งเศสได้ยกกำลังจากเมืองญวนมาตีเมืองสมโบกของไทย  เมืองยโสธรได้ถูกเกณฑ์ให้ไปช่วยรักษาเขตแดนโดยนำกำลังไปสมทบกองทัพจากกรุงเทพ ฯ สามกองทัพ กองทัพละ ๑,๐๐๐ คน
            ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ ได้เปลี่ยนชื่ออำเภออุทัยยโสธรเป็นอำเภอคำเขื่อนแก้ว  เปลี่ยนชื่ออำเภอปจิมยโสธร เป็นอำเภอยโสธร  เมืองยโสธรจึงลดฐานะจากเมืองมาเป็นอำเภอตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  และได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |