| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

มรดกทางธรรมชาติ

            จังหวัดยโสธร อยู่ในพื้นที่แอ่งโคราช - อุบล  และเป็นส่วนหนึ่งของทุ่งกุลาร้องไห้  มีแม่น้ำชีไหลผ่านทางตอนใต้ของจังหวัด  ทางตอนเหนือพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นลอนคลื่น ติดกับแนวเทือกเขาภูพาน  ป่าไม้เป็นป่าเต็งรังเป็นส่วนมาก  มีป่าดงดิบแล้งและป่าผสมผลัดใบอยู่บ้างบางพื้นที่
            พื้นที่ป่าสงวนที่ยังคงสภาพสมบูรณ์มีอยู่ประมาณ ๒๔๐,๐๐๐ ไร่  ประมาณร้อยละ ๙ ของพื้นที่จังหวัด

ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดงปอ ดงบังอี่
            อยู่ในเขตอำเภอเลิงนกทา  ลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเขาโค้งเป็นวงแหวน  มีแนวเทือกเขาภูพานเป็นหุบเขาโค้งเป็นวงแหวน  มีแนวเทือกเขาภูพานเป็นวงรอบทางด้านเหนือและด้านตะวันออก  สภาพป่าเป็นป่าดงดิบแล้ง  และป่าผสมผลัดใบ เป็นป่าสมบูรณ์ ประมาณ ๑๓๙,๐๐๐ ไร่  ประมาณร้อยละ ๔๘ ของพื้นที่ป่าสงวนทั้งหมด  มีพันธุ์ไม้สำคัญและมีค่าอยู่มาก ที่สำคัญและมีความเกี่ยวพันกับชาวยโสธรในอดีตคือ เร่ว หรือ หมากเหน่ง และกระวาน  ซึ่งเป็นพืชที่เกิดขึ้นตามพื้นล่างของป่า ชอบเกิดในป่าที่สมบูรณ์  ผลแห้งมีกลิ่นหอมใช้ประกอบเครื่องเทศ และยาสมุนไพร  จึงเป็นสินค้าออกที่สำคัญของไทยมานาน  ยโสธรเป็นเมืองหนึ่งที่ถูกกำหนดให้ส่งผลเร่ว และกระวานเข้าส่วนกลาง

ป่าสงวนแห่งชาติดงมะไฟ
            พื้นที่ส่วนใหญ่ อยู่ในเขตอำเภอทรายมูล  มีพื้นที่ประมาณ ๖๓,๐๐๐ ไร่  เป็นป่าสมบูรณ์อยู่เพียงประมาณ ๗,๑๐๐ ไร่  เป็นป่าเต็งรังและป่ากึ่งเบญจพรรณ  ป่าแห่งนี้มีเห็ดหลายชนิดขึ้นแซมพื้นป่า จนกลายเป็นแหล่งอาหารสำคัญ โดยเฉพาะในห้วงฤดูฝน เช่นเห็ดโคน  เห็ดไค  เห็ดละโงก ฯลฯ ดงมะไฟยังเป็นแหล่งอาหารของอิสานหลายชนิด เช่นไข่มดแดง  จักจั่น  กะปอม (กิ้งก่า) ผักติ้ว  ผักกระโดม เป็นต้น

ภูถ้ำพระ

            เป็นเนินเขาสูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒๓๐ เมตร   เป็นส่วนหนึ่งของแนวเทือกเขาภูพาน  อยู่ในเขตอำเภอเลิงนกทา  บริเวณยอดเนินเป็นลานกว้าง  มีหินรูปร่างแปลก ๆ ตั้งกระจายอยู่ทั่วไป  เป็นประติมากรรมทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่สวยงามมากแห่งหนึ่ง  บางแห่งเป็นถ้ำเงิบ  หินผา  สลับกับ พะลานหินกว้าง ประกอบด้วยลานหินปุ่ม หินแตก และเสาเฉลียงรูปทรงต่าง ๆ อันเกิดจากการกัดเซาะของลมและน้ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน  มีจุดชมวิวที่สวยงามอยู่หลายจุด  สามารถมองเห็น ภูหมู และภูแผงม้าได้อย่างชัดเจน ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก พื้นที่โดยรอบเป็นป่าไม้ร่มรื่นสวยงาม  ตามหลืบถ้ำจะมีพระพุทธรูปแกะสลักด้วยไม้ มีอายุเก่าแก่อยู่เป็นจำนวนมาก

ต้นยางนาใหญ่ดอนปู่ตา บ้านหัวเมือง
            ดอนปู่ตามีต้นยางนาขนาดใหญ่ขึ้นอยู่หลายสิบต้น  และมีศาลเจ้าปู่อันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านใช้ประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อถือของท้องถิ่น  ที่เชื่อว่าต้นไม้ใหญ่เป็นที่สิงสถิตของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งผีปู่ผีตา นับเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านให้ช่วยกันรักษาป่าไม้
            ในบรรดาต้นยางนาใหญ่มีบางต้น ลำต้นใหญ่ขนาด ๑๐ คนโอบ และสูงประมาณ ๕๐ เมตร เชื่อกันว่าเป็นต้นยางนาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดต้นหนึ่งของประเทศไทย
            นอกจากต้นยางนาใหญ่แล้ว ดอนปู่ตาบ้านหัวเมือง ยังมีซากโบราณวัตถุทำด้วยหินทราย และศิลาแลงสมัยทวาราวดี แสดงถึงความเก่าแก่ของสถานที่แห่งนี้


มรดกทางวัฒนธรรม

โบราณสถานดงเมืองเตย
           ตั้งอยู่ในเขตตำบลสงเปือย  อำเภอคำเขื่อนแก้ว  เป็นชุมชนโบราณสมัยทวาราวดีที่ได้รับอิทธิพลของอารยธรรมในสมัยเจนละ  มีโบราณสถานก่อด้วยอิฐ และชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมทำจากหินทรายสีแดงพร้อมศิลาจารึก  เรียกว่าจารึกดงเมืองเตย  ปัจจุบันดงเมืองเตยมีสภาพเป็นป่า สวน และสำนักสงฆ์ มีร่องรอยคูเมืองที่ถูกขุดลอกเป็นสระน้ำ  ได้พบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผาหลายยุค  รวมทั้งเศษตะกรันโลหะเนื่องในอารยธรรมยุคสำริด  นอกจากนั้นยังได้พบประติมากรรมรูปสิงห์หินแกะสลักตามรูปแบบศิลปลพบุรี

โบราณสถานดงศิลาแลง
            ตั้งอยู่ใกล้บ้านศรีฐาน ตำบลกระจาย อำเภอป่าติ้ว  ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่า ดงศิลาเลข  มีโบราณสถานก่อด้วยอิฐและมีใบเสมาทำจากหินทราย  รูปแบบของใบเสมามีอกเลาคล้ายใบไม้ ปักอยู่หลายแห่งในบริเวณนี้  ดงศิลาแลงเป็นโบราณสถานในลุ่มน้ำยังเซบาย  ศิลปวัตถุคล้ายกับบริเวณดงเฒ่าเก่าบ้านนาหมอม้า จังหวัดอำนาจเจริญ

โบราณสถานบ้านกู่จาน


            อยู่ในเขตตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว  กู่ทำด้วยศิลาแลงและหินทราย  อยู่ในสภาพชำรุดพังทลาย  มีร่องรอยฐานวางรูปเคารพตามความเชื่อในศาสนาฮินดู  มีร่องรอยชุมชนโบราณสมัยทวาราวดี  มีเสาศิลาแลงรูปแปดเหลี่ยม  อยู่ภายในบริเวณชุมชนหลายแห่ง  ทางทิศตะวันออกของกู่ได้พบสระน้ำที่สร้างในสมัยเดียวกัน

แหล่งโบราณคดีบ้านตาดทอง

            อยู่ที่บ้านตาดทอง ตำบลตาดทอง อำเภอเมือง ฯ มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่สูงประมาณ ๓ เมตร มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ๑ ชั้น เป็นรูปวงรี  วางตัวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ - ทิศตะวันตกเฉียงใต้  กว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๖๕๐ เมตร  ปัจจุบันตัวเมืองถูกแบ่งเป็นสองส่วน  เนื่องจากทางหลวงสาย ๒๓ ตัดผ่าน  และมีการตั้งบ้านเรือนอยู่หนาแน่น  มีการทำนาและปลูกผักโดยรอบเนินดิน  ทำให้คูน้ำคันดินโบราณถูกทำลายลง  คูเมืองด้านทิศตะวันตก ได้ขุดลอกเป็นคลองระบายน้ำ
            บ้านตาดทอง มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว  เป็นชุมชนเกษตรกรรม  พบหลักฐานการฝังศพแบบนอนหงาย  เครื่องใช้ที่พบได้แก่เศษภาชนะดินเผาแบบมีลายเขียนสีที่ขอบปาก ซึ่งพบทั่วไปในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้  ชุมชนแห่งนี้มีการอยู่อาศัยต่อเนื่องมาโดยตลอดจนถึง สมัยทวาราวดี และขอม  นับถือศาสนาพุทธ  ได้พบใบเสมาเป็นจำนวนมาก  ใบเสมาที่พบมีลักษณะต่างไปจากใบเสมาที่พบในชุมชนต้นและกลางแม่น้ำชี บริเวณจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์  รุ่นหลังลงมาจนถึงปัจจุบัน มีชุมชนไท - ลาวเข้าอยู่อาศัย  ศาสนสถานสำคัญของชุมชนคือ พระธาตุก่องข้าวน้อย และพระธาตุบ้านสะเดา

แหล่งโบราณคดีบ้านสงเปือย (ดงเมืองเตย)

            อยู่ที่บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว  ดงเมืองเตย เป็นชุมชนโบราณในลุ่มแม่น้ำชีตอนปลาย  ลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างรี  มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ  ความกว้างตามแนวแกนทิศตะวันตกเฉียงเหนือ - ทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ ๕๔๐ เมตร  ความยาวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ - ทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ ๖๕๐ เมตร  คู้กว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร
            ปัจจุบันดงเมืองเตยเป็นป่าโปร่ง  มีถนนตัดผ่ากลางตามแนวเหนือ - ใต้  มีซากโบราณสถานก่ออิฐสมัยเจนละ  มีเศษภาชนะดินเผาสมัยทวาราวดีกระจายอยู่เป็นจำนวนมาก
            ดงเมืองเตย เป็นชุมชนโบราณที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์  เป็นชุมชนเกษตรกรรมใช้ขวานหินขัด  รู้จักการทำเครื่องปั้นดินเผาและถลุงโลหะ  เพราะพบเศษภาชนะดินเผาแบบทุ่งกุลาร้องไห้ และตะกรันเหล็ก  มีประเพณีการฝังศพแบบฝังครั้งที่สอง ซึ่งเป็นที่แพร่หลายในบริเวณ แม่น้ำมูล - ชี  มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว  นับถือทั้งศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธ  สันนิษฐานว่าเป็นหนึ่งในชุมชนที่เรียกว่าเจนละ  มีศาสนสถานเป็นอาคารสี่เหลี่ยมก่อด้วยอิฐ  หันหน้าไปทางทิศตะวันออก  ส่วนยอดสันนิษฐานว่าเป็นมณฑปซ้อนขึ้นไป  เนื่องจากพบหินสลักรูปจำลองอาคารลักษณะเป็นกุฑุวงโค้งรูปเกือกม้า  ที่ฐานอาคารสลักลวดลายกลีบดอกไม้  มีอัฒจรรย์ที่ฐานบันไดทางขึ้นด้านหน้า  เป็นอาคารสถาปัตยกรรมยุคต้น ๆ ที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมอินเดียแบบคุปตะ และหลังคุปตะ  มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒

แหล่งโบราณคดีบ้านบึงแก
            อยู่ที่บ้านบึงแก ตำบลบึงแก อำเภอมหาชนะชัย  ตั้งอยู่บนเนินดินที่มีลักษณะค่อนข้างกลมรี ความกว้างตามแนวทิศตะวันออก - ตะวันตกประมาณ ๔๕๐ เมตร  ความยาวตามแนวทิศเหนือ - ใต้ประมาณ ๖๕๐ เมตร  มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ  ด้านเหนือมีคันดินสามชั้น  ความกว้างของคันดินประมาณ ๓ เมตร  ความสูงประมาณ ๒.๕ เมตร  แนวคันดินด้านตะวันตกมี ๒ คัน  ด้านทิศใต้เหลือ ๑ คัน  ส่วนใหญ่ถูกทำลายไปเพื่อทำนา ทำถนน และทำที่อยู่อาศัย คูน้ำมี ๒ ชั้น ทางด้านเหนือชั้นในกว้างประมาณ ๓๐ เมตร  ชั้นนอกกว้างประมาณ ๕๕ เมตร  เรียกว่าบึงเจ้าปู่  คูน้ำด้านทิศตะวันออกเป็นบึงขนาดใหญ่  รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เรียกว่าบึงหว้า  คูเมืองด้านทิศตะวันตกยังคงมีน้ำขังอยู่เต็ม ได้แก่บึงขัว และบึงหนาด  คูน้ำชั้นนอกปัจจุบันมีสภาพเป็นผืนนาเสียส่วนใหญ่
            ภายในบริเวณหมู่บ้านได้พบโบราณวัตถุหลายชนิด ได้แก่ ใบเสมา พระพุทธรูปหินทราย แท่นหิน เศษภาชนะดิน เผาด้วยความร้อนต่ำ มีทั้งชนิดเนื้อหยาบ ไปถึงเนื้อละเอียดตกแต่งผิวด้วยแบบลายเชือกทาบ  แบบปั้นแปะ  แบบลายขูดขีด  แบบลายเขียนสีแดง และแบบลายเขียนสีขาว  นอกจากนั้นได้พบหลักศิลาจารึก ๑ หลัก เป็นอักษรขอมภาษาสันสกฤต  พบที่เนินดินกลางทุ่งนา ที่เรียกว่าโนนสังอยู่ห่างจากบ้านบึงแกออกไปประมาณ ๘๐๐ เมตร
            ชุมชนแห่งนี้มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวาราวดี  มีอายุประมาณ ๒,๐๐๐ - ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว

แหล่งโบราณคดีดงศิลาแลง
            อยู่ใกล้บ้านศรีฐาน ตำบลกระจาย  อำเภอป่าติ้ว  มีลักษณะเป็นเนินดินกลม  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐๐ เมตร  พบใบเสมาหินทราย และใบเสมาศิลาแลงไม่มีลวดลายสลักอยู่ประมาณ ๑๐ ใบ  จากตำแหน่งการปักใบเสมาที่ปักเรียงกัน ๓ ใบ ที่มุมทั้ง ๔ ของเนินและบริเวณกึ่งกลางด้าน ๓ ด้าน รวม ๗ ใบ  ให้ความสำคัญกับใบเสมาที่ปักอยู่กลาง ซึ่งอาจแสดงถึงขอบเขตศักดิ์สิทธิ์
            แหล่งโบราณคดีดงศิลาแลง  อยู่ในช่วงสมัยประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทวาราวดี  มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ชาวบ้านเรียกบริเวณนี้ว่าดงศิลาเลข

แหล่งโบราณคดีในเขตบ้านกู่จาน บ้านงิ้ว

            อยู่ในเขตตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว  มีหลักฐานทางโบรารคดีกระจายอยู่ในพื้นที่ ๓ บริเวณด้วยกันคือ
            บริเวณดงปู่ตา  อยู่ทางด้านทิศเหนือของบ้านกู่จาน  พบใบเสมาจำนวน ๑๐ ใบ  ทำจากหินทรายแดง รูปทรงด้านบนคล้ายกลีบดอกบัว  บริเวณกึ่งกลางใบสลักลวดลายเป็นสันนูน  และลายยอดสถูปเทินเหนือหม้อน้ำปูรณฆฏะที่มีความหมายแทนองค์สถูป  ใบเสมาเหล่านี้ปักอยู่ในลักษณะเดิมทั้งหมด  และยังพบใบเสมารูปแปดเหลี่ยมอีก ๑ ใบ  ทำด้วยศิลาแลง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘๐ เซ็นติเมตร สูง ๑ เมตรเศษ
            บริเวณดอนกู่  มีศาสนสถานที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมเขมร  ลักษณะเป็นปราสาทก่อด้วยศิลาแลงและอิฐ  สร้างขึ้นประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ แผนผังอาคารประกอบด้วยปราสาทประธาน บรรณาลัย และสระน้ำ  ปัจจุบันตัวปราสาทเหลือเพียงอิฐรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส กว้างด้านละ ๗ เมตร  ด้านตะวันออกของปราสาทเป็นบรรณาลัยก่อด้วยศิลาแลง  สระน้ำอยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของปราสาท เป็นสระรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส  บริเวณตัวปราสาทมีแท่นฐานทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า  สันนิษฐานว่าเป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพ ๓ องค์ ที่เรียกว่า รัตนตรัยมหายาน  ประกอบด้วยพระพุทธรูปปางนาคปรกอยู่ตรงกลาง  พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร และนางปรัชญาปารมิตาขนาบอยู่สองข้าง
            ลักษณะแผนผังอาคารคล้ายองค์ประกอบศาสนสถานที่เรียกว่า อโรคยาศาล หรือโรงพยาบาล ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ให้สร้างขึ้น ณ สถานที่ต่าง ๆ จำนวน ๑๐๒ แห่ง  ใช้สำหรับเป็นสถานพยาบาลประชาชนที่เจ็บป่วย มีพบอยู่ทั่วไปในเขมร และไทย
            วัดกู่จาน  เมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีมาแล้ว  มีชาวลาวอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านกู่จาน  ห่างจากองค์พระธาตุไปทางทิศตะวันตก  ได้บูรณะพระธาตุเก่าที่มีอยู่เดิมตลอดมา  องค์พระธาตุเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบอีสาน (ล้านช้าง) คือมีส่วนยอดธาตุเป็นทรงบัวเหลี่ยม  ฐานพระธาตุต่ำลักษณะเป็นฐานบัว ประกอบด้วยบัวคว่ำบัวหงายเตี้ย ๆ  ส่วนท้องไม้มีลูกแก้วอกไก่คั่นกลาง  องค์เรือนธาตุค่อนข้างสูงไม่มีลวดลาย  ส่วนยอดธาตุเป็นทรงบัวเหลี่ยมซ้อนทับกันสองชั้น  มีกลีบบัวประดับส่วนโคนของพุ่มบัวเหลี่ยม  ยอดบนสุดประดับด้วยฉัตร

แหล่งโบราณคดีบ้านโนนเมืองน้อย
            อยู่ที่บ้านโนนเมืองน้อย ตำบลดงแดนใหญ่ อำเภอคำเขื่อนแก้ว  ลักษณะเป็นเนินดินรูปวงรี  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๓๐๐ เมตร  มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ๑ ชั้น  คูกว้างประมาณ ๑๖ เมตร  คันดินที่เหลืออยู่ทางด้านทิศตะวันออก - ตะวันตก กว้างประมาณ ๘ เมตร  ชุมชนโบราณแห่งนี้สันนิษฐานว่า มีอายุร่วมสมัยกับชุมชนโบราณบ้านบึงแก ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน คือ สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น หรือสมัยทวาราวดี  ประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว

แหล่งโบราณคดีบ้านโพนแพง
            อยู่ที่บ้านโพนแพง ตำบลน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง  มีลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างกลมรี มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๖๐๐ เมตร  มีคูน้ำล้อมรอบ  แต่คันดินไม่ปรากฏให้เห็นแล้ว  สันนิษฐานว่าเป็นชุมชนโบราณสมัยทวาราวดีลพบุรี  ร่วมสมัยกับชุมชนโบราณบ้านน้ำอ้อม  บ้านโพนเมือง และบ้านแข้  มีอายุประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว  โบราณวัตถุที่พบ มีกำไล ลูกปัด  เศษภาชนะดินเผาประเภทเนื้อแกร่ง เคลือบผิวสีน้ำตาล  ทำลวดลายขูดขีดเป็น ลอนคลื่นภายในลายวงกลมคู่ขนาน

แหล่งโบราณคดีบ้านน้ำอ้อม
            อยู่ที่บ้านน้ำอ้อม ตำบลน้ำอ้อม อำเภอค้อวัง  มีลักษณะเป็นเนินดินรูปร่างค่อนข้างกลม  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๕๐๐ เมตร  สูงประมาณ ๒ เมตร จากพื้นที่โดยรอบ  มีคูน้ำกว้างประมาณ ๔๐ เมตร ล้อมรอบ  โบราณวัตถุที่พบมีเศษภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก เป็นชนิดเนื้อหยาบผสมด้วยเม็ดกรวด พืช มีทั้งแบบขึ้นรูปด้วยมือ และแป้นหมุน สีส้ม สีนวล  เป็นภาชนะแบบก่อนประวัติศาสตร์  แสดงว่าชุมชนแห่งนี้ได้เป็นที่อยู่อาศัยต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงสมัยทวาราวดี  มีอายุประมาณ ๒,๕๐๐ - ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว

แหล่งโบราณคดีบ้านบากเรือ
            อยู่ที่บ้านบากเรือ ตำบลกุดกุง อำเภอมหาชนะชัย  จากภาพถ่ายทางอากาศปรากฏมีร่องรอยคูน้ำคันดิน ซึ่งอยู่นอกหมู่บ้านออกไปทางด้านทิศเหนือประมาณ ๓๐๐ เมตร  สันนิษฐานว่าชุมชนโบราณแห่งนี้มีอายุอยู่ประมาณ ๑,๐๐๐ - ๑,๕๐๐ ปีมาแล้ว

แหล่งโบราณคดีบ้านหมายมาย
            อยู่ที่บ้านหมายมาย ตำบลค้อวัง อำเภอค้อวัง  จากภาพถ่ายทางอากาศพบว่า  ชุมชนแห่งนี้มีการขุดคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปวงกลม  มีแนวลำชีเป็นคูเมืองทางด้านทิศใต้  เป็นชุมชนที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทวาราวดี และเขมร  มีอายุประมาณ ๑,๕๐๐ - ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว

แหล่งโบราณคดีบ้านขุมเงิน
            อยู่ที่บ้านขุมเงิน ตำบลเขื่องคำ อำเภอเมืองยโสธร  ไม่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ  มีร่องน้ำธรรมชาติไหลผ่านขึ้นไปทางด้านทิศเหนือ  เนินดินทางด้านทิศใต้ มีเศษภาชนะดินเผาทับถมเป็นชั้นหนา  พบหินดุซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการปั้นภาชนะ  พบเศษภาชนะดินเผาก่อนประวัติศาสตร์ คือภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง  ที่ขอบปากมีการกดบากเป็นรอยคล้ายฟันปลา  นอกจากนั้นยังพบใบเสมา แสดงถึงการนับถือพุทธศาสนา เช่นเดียวกับชุมชนโบราณบ้านตาดทอง  ชุมชนโบราณแห่งนี้มีการอยู่อาศัยมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวาราวดี  มีอายุอยู่ประมาณ ๒,๕๐๐ - ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว

แหล่งโบราณคดีบ้านโพนเมือง
            อยู่ที่บ้านโพนเมือง ตำบลฟ้าหว่น อำเภอค้อวัง  บริเวณเนินดินพบโบราณวัตถุเป็นเศษภาชนะดินเผาเคลือบสีน้ำตาลแบบเครื่องถ้วยลพบุรี  เช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีโดยรอบ  จึงสันนิษฐานว่าเป็นแหล่งโบราณคดีร่วมสมัยกัน คือในช่วงสมัยทวาราวดี - ลพบุรี  มีอายุอยู่ประมาณ ๑,๕๐๐ - ๑,๐๐๐ ปีมาแล้ว

แหล่งโบราณคดีบ้านหัวเมือง
            อยู่ที่บ้านหัวเมือง ตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย  เป็นชุมชนโบราณที่ตั้งอยู่บริเวณลานตะพักลำน้ำระดับกลางของแม่น้ำชี  อยู่ห่างจากแม่น้ำประมาณ ๕ กิโลเมตร  บริเวณโดยรอบมีหนองน้ำหลายแห่ง  โบราณวัตถุที่พบมีเศษภาชนะดินเผา  พระพุทธรูป  ใบเสมา และฐานรูปเคารพ  ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนสมัยประวัติศาสตร์ ที่นับถือพุทธศาสนา และอยู่ในวัฒนธรรมทวาราวดีตั้งแต่เริ่มตั้งถิ่นฐาน  อยู่ในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา  ต่อมาได้รับวัฒนธรรมลพบุรี ในประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘

แหล่งโบราณคดีบ้านแข้
            อยู่ที่บ้านแข้ ตำบลฟ้าหว่น อำเภอค้อวัง  ได้พบหลักฐานทางโบราณคดีอยู่ ๒ แห่งด้วยกันคือ
            วัดป่าดงบ้านหอย  เป็นซากโบราณสถานก่อด้วยอิฐ  ลักษณะเป็นฐานอาคารทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า  กว้างประมาณ ๕ เมตร ยาวประมาณ ๙ เมตร  มีบันไดทางขึ้นอยู่ทางด้านตะวันออก ตรงกลางเป็นแท่นสันนิษฐานว่าเป็นฐานรูปเคารพ  สันนิษฐานว่าชุมชนโบราณแห่งนี้มีอายุอยู่ในสมัยขอม  มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๘
            บริเวณบ้านแข้โพนเมือง  พบเศษภาชนะดินเผาเคลือบสีน้ำตาลสมัยลพบุรี

แหล่งโบราณคดีบ้านคูสองชั้น
            อยู่ที่บ้านคูสองชั้น ตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย เป็นชุมชนโบราณที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมทวาราวดีและขอมรุ่นหลัง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๘  นอกเมืองทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้  ได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ได้แก่ เทวรูปสตรี ทำจากหินทราย  มีจารึกตัวอักษรขอมโบราณภาษาสันสกฤต  ประติมากรรมหินทราย  ฝาภาชนะเคลือบสีน้ำตาล  ถ้วยขนาดเล็กเคลือบสีน้ำตาลเข้ม  หินลับ และเศษภาชนะดินเผาซึ่งมีทั้งเนื้อดินสีส้ม สีนวล และเนื้อแกร่ง

แหล่งโบราณคดีบ้านเดิด
            อยู่ที่บ้านเดิด ตำบลเดิด อำเภอเมือง ฯ ลักษณะเป็นเนินดินรูปวงกลม  เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘๐๐ เมตร  มีร่องรอยคูเมืองเป็นรูปวงกลม ทางด้านตะวันตก  ด้านเหนือ และด้านตะวันออกมีหนองน้ำรูปสี่เหลี่ยม มีลักษณะเป็นหนองน้ำที่ขุดขึ้นมา  เนินดินด้านตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ชาวบ้านเรียกว่าดอนผาแดง  เมื่อขุดลงไปได้พบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา ทับถมกันอยู่ในระดับลึกจากยอดเนินลงไป ๓ เมตร  ชุมชนโบราณแห่งนี้ยังไม่มีการสำรวจ  ในชั้นต้นสันนิษฐานว่ามีอายุร่วมสมัยกับชุมชนโบราณบ้านตาดทอง

จารึกดงเมืองเตย


            เป็นจารึกที่วงกบประตู  แสดงหลักฐานเกี่ยวกับการนับถือศาสนาฮินดู  โดยจารึกบนแผ่นหินทรายจำนวน ๕ แผ่น ๆ ละ ๑ ด้าน ๆ ละ ๔ บรรทัด  เป็นตัวอักษรปัลลวะ ภาษาสันสกฤต  อายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๒ ข้อความในจารึกกล่าวถึง พระศรีมานประวรเสนะ  ผู้เป็นใหญ่ในเมืองสังวรปุระ และบุตรีคนที่ ๑๒ ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจ ได้สร้างลิงคโลกที่เคารพบูชาไว้
            นอนจากนี้ยังพบศิลาจารึกอักษรขอม ภาษาสันสกฤต  จับใจความไม่ได้  มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘

จารึกกู่จาน


            เป็นจารึกบนแผ่นหินรูปใบเสมา เป็นอักษรปัลลวะ  ยังไม่สามารถกำหนดอายุได้

จารึกโนนสัง

            เป็นจารึกบนแท่งหินทรายแดง ขนาดกว้าง ๖๔ เซ็นติเมตร สูง ๔๖ เซ็นติเมตร หนา ๓๖ เซ็นติเมตร  จารึกอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤด พบที่แหล่งโบราณคดีบ้านบึงแก อำเภอมหาชนะชัย ปัจจุบันอยู่ในบริเวณที่เรียกว่าโนนสัง ข้อความในจารึกกล่าวถึงความเชื่อในโลกทั้งสาม อันเป็นความเชื่อของศาสนาพรหมณ์

จารึกตาดทอง
            เป็นจารึกบนแทงหินทรายแดงกว้างประมาณ ๔๕ เซ็นติเมตร  สูงประมาณ ๕๕ เซ็นติเมตร หนา จารึกด้วยอักษรขอมโบราณ ภาษาสันสกฤตและเขมร  มีข้อความจารึก ๒ ด้าน  ด้านที่ ๑ มี ๒๐ บรรทัด  ด้านที่ ๒ มี ๒๗ บรรทัด  ได้มีการอ่านด้านที่ ๑ ไปแล้ว แต่ด้านที่ ๒ ยังไม่ได้อ่านและพิมพ์เผยแพร่  เก็บรักษาอยู่ที่วัดโพธิศรีมงคล บ้านตาดทอง อำเภอยโสธร

จารึกวัดพระพุทธบาท
            เป็นจารึกบนแท่งหินทรายแดงขนาดกว้าง ๔๖ เซ็นติเมตร สูง ๖๓ เซ็นติเมตร หนา ๒๘ เซ็นติเมตร  จารึกด้วยอักษรธรรมแบบล้านช้าง ภาษาลาวและบาลี  จารึกในสมัยกรุงธนบุรี  ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๔ ยังไม่มีการอ่านแล้วพิมพ์เผยแพร่  เก็บรักษาอยู่ที่วัดพระพุทธบาท บ้านหนองยาง ตำบลหัวเมือง อำเภอมหาชนะชัย

จารึกวัดมหาธาตุ
            เป็นจารึกบนแท่งหินทรายแดง ขนาดกว้าง ๕๐ เซ็นติเมตร สูง ๗๘ เซ็นติเมตร หนา ๒๘ เซ็นติเมตร  จารึกไว้ด้านเดียวด้วยอักษรธรรม ภาษาลาว  มีอายุอยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  กลางพุทธศตวรรษที่ ๒๔ อยู่ที่ผนังโบสถ์ด้านตะวันตกของวัดมหาธาตุ อำเภอเมือง ฯ

| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |