| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป |
| พัฒนาทางประวัติศาสตร์ | มรดกทางธรรมชาติ | มรดกทางวัฒนธรรม | มรดกทางพระพุทธศาสนา |

จังหวัดนครสวรรค์

            จังหวัดนครสวรรค์ตั้งอยู่บริเวณตอนกลางของประเทศไทย ในเขตภาคเหนือตอนล่าง หรือภาคกลางตอนบน พื้นที่ของจังหวัดมีลักษณะเป็นแนวยาว จากทิศตะวันตกกับทิศตะวันออก รูปร่างคล้ายผีเสื้อกำลังกางปีกปิน
            โครงสร้างทางธรณีวิทยาทำให้นครสวรรค์ มีลักษณะภูมิประเทศคล้ายแอ่งกระทะ พื้นที่ตอนกลางของจังหวัดเป็นแอ่งต่ำมีน้ำท่วมถึง สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ ๒๒ เมตร และค่อย ๆ ลาดสูงขึ้นทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตก โดยที่ทางทิศตะวันตกในเขตอำเภอแม่วงค์ พื้นที่มีระดับสูงถึง ๑,๗๘๐ เมตร ที่เขาตาจุโอ จากลักษณะภูมิประเทศดังกล่าว จะแบ่งเป็นเขตย่อยได้ ๔ เขต คือ
            เขตภูเขาสูงด้านตะวันตก  อยู่ทางด้านตะวันตกของอำเภอแม่วงก์ เป็นต้นกำเนิดลำน้ำแม่วงก์และลำน้ำสะแกกรัง  ยังมีสภาพป่าดงดิบเหลืออยู่  เป็นที่ตั้งของป่าสงวนแห่งชาติแม่วงก์ - แม่เปิน  ภูเขาสำคัญในพื้นที่นี้คือ เขาชนกัน  มีลำน้ำแม่วงก์ไหลผ่านช่องเขาในลักษณะร่องน้ำ
            เขตที่ราบเนินตะกอนรูปพัด  เป็นพื้นที่ต่อเนื่องมาจากเขตภูเขาสูงด้านตะวันตก อยู่ในพื้นที่อำเภอลาดยาว  พื้นที่ลาดลงมาจากด้านทิศตะวันตก  จึงมีปัญหาน้ำหลากในฤดูฝน  พื้นที่ลาดเอียงส่วนนี้มีการปลูกพืชไร่ต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ราบต่ำจะมีการทำนา  มีประชากรอยู่หนาแน่นบริเวณลุ่มน้ำ
            เขตที่ราบขั้นบันไดด้านตะวันออก  เป็นเขตต่อเนื่องมาจากจังหวัดเพชรบูรณ์  เป็นพื้นที่ที่มีภูเขาซึ่งสึกกร่อนมาก ภูเขาจึงไม่สูงมาก  พื้นที่เป็นลอนคลื่น มีการทำนาในที่ลุ่มที่เหลือปลูกพืชไร่ต่าง ๆ
            เขตที่ราบลุ่มตอนกลาง  เป็นพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน  มีพื้นที่กว้างขวางกว่าทุกเขต  เป็นที่ราบลุ่มที่อุดมสมบูรณ์  เหมาะแก่การทำนาจึงเป็นแหล่งผลิตข้าวที่ให้ผลดีกว่าเขตอื่น ๆ  มีการปลูกพืชไร่ในพื้นที่ที่สูงขึ้นไป
            เนื่องจากสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม  จึงเป็นที่รองรับลำน้ำหลายสายให้ไหลมารวมกัน ทำให้เกิดแม่น้ำเจ้าพระยา  ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดของประเทศไทย  และมีบึงบรเพ็ดซึ่งเป็นบึงขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเช่นกัน  นอกจากนี้ยังมีลำคลองและหนองน้ำอยู่อีกเป็นจำนวนมาก

            แม่น้ำเจ้าพระยา  เกิดจากการไหลมารวมกันของแม่น้ำปิง และแม่น้ำน่าน ที่บริเวณปากน้ำโพ แล้วไหลลงใต้ผ่านที่ราบลุ่มภาคกลางตอนใต้  ออกสู่ทะเลที่อ่าวไทย
            แม่น้ำยม  ไหลผ่านจังหวัดกำแพงเพชรซึ่งอยู่ทางเหนือ มาบรรจบแม่น้ำน่าน ที่ตำบลเกยไชย อำเภอชุมแสง
            แม่น้ำปิง  ไหลผ่านจังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งอยู่ทางเหนือ เข้าสู่จังหวัดนครสวรรค์ ที่อำเภอบรรพตพิสัย  ผ่านอำเภอเก้าเลี้ยว แล้วมาบรรจบกับแม่น้ำน่านที่ตำบลปากน้ำโพ
            แม่น้ำน่าน  ไหลผ่านจังหวัดพิจิตรซึ่งอยู่ทางเหนือ แล้วไหลเข้าสู่นครสวรรค์ ที่อำเภอชุมแสง อำเภอเมือง ฯ แล้วมาบรรจบกับแม่น้ำปิงที่ตำบลปากน้ำโพ
            ลำน้ำแม่วงก์  เกิดจากเทือกเขาสูงในเขตจังหวัดตาก ไหลเข้าสู่นครสวรรค์ ที่อำเภอลาดยาว เป็นแม่น้ำวังม้า แล้วไหลเข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอุทัยธานี  เป็นลำน้ำที่มีน้ำไหลตลอดปี
            คลองโพธิ  มีกำเนิดจากเขาสูงในเขตอำเภอลาดยาว  ทางทิศตะวันตกของจังหวัด  ไหลเลียบเขตจังหวัด มารวมกับลำน้ำแม่วงก์ ในเขตจังหวัดอุทัยธานี
            คลองบางไผ่ - บางประมุง  แยกตัวออกจากแม่น้ำปิงที่อำเภอบรรพตพิสัย  ไหลผ่านตำบลท่าชุด  แล้วไปบรรจบแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ
            บึงบรเพ็ด  เป็นบึงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่ครอบคลุมสามอำเภอคือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๓,๐๐๐ ไร่

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์

            จากหลักฐานทางโบราณคดี  จังหวัดนครสวรรค์เป็นดินแดนที่มีความเจริญมายาวนาน ตั้งแต่ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงยุคปัจจุบัน  ร่องรอยการตั้งถิ่นฐานประมาณ ๓๐๐๐ - ๒๗๐๐ ปีมาแล้ว  จากแหล่งโบราณคดีบ้านใหม่ชัยมงคล  ตำบลสร้อยทอง อำเภอตาคลี  บ้านพุขมิ้น  บ้านพุช้างล้วง  บ้านจันเสนในอำเภอตาคลี บ้านหนองใหญ่  บ้านพุนิมิต  บ้านซับตะเคียน ในอำเภอตากฟ้า  แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มากกว่า ๑ สมัย  โบราณวัตถุที่ขุดพบมีหลายประเภท  ส่วนใหญ่เป็นเศษภาชนะดินเผาประเภทต่าง ๆ นอกจากนั้นยังมีเครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับที่ทำด้วยหินขัด  ดินเผา  เปลือกหอยทะเล  สำริด  และเหล็ก  บางแห่งก็มีการอยู่อาศัยสืบเนื่องมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ คือ สมัยทวาราวดี เช่นที่จันเสน เป็นต้น
            ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่มักเป็นชุมชนเกษตรกรรมขนาดเล็ก  รู้จักถลุงโลหะ และหล่อสำริดมาทำเครื่องมือเครื่องใช้  ตั้งอยู่ไม่ไกลจากแหล่งโลหะสำคัญคือ ทองแดงและเหล็ก  ซึ่งมีอยู่ที่เขาวงพระจันทร์  เขาทับควายในเขตอำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี  และบริเวณเขาแม่เหล็กในเขตอำเภอพยุหคีรี  จังหวัดนครสวรรค์  ชุมชนเหล่านี้มีการติดต่อสัมพันธ์ และร่วมวัฒนธรรมกับชุมชนก่อนประวัติศาสตร์อื่น ๆ ในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย

            จากการสำรวจด้วยภาพถ่ายทางอากาศ ประกอบกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี  ได้พบชุมชนโบราณสมัยทวาราวดีมากกว่า ๒๐ เมือง  กระจายอยู่ตามอำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดนครสวรรค์ เช่น จันเสน ในพื้นที่อำเภอตาคลี  เมืองบน ในพื้นที่อำเภอพยุหคีรี  เมืองทัพชุมพล ในพื้นที่อำเภอเมือง ฯ  เมืองดอนคา  เมืองหัวถนน ในพื้นที่อำเภอท่าตะโก และเมืองดงแม่นางเมือง ในพื้นที่อำเภอบรรพตพิสัยเป็นต้น  ได้พบร่องรอยของเมืองที่มีคูน้ำคันดิน ทั้งแบบชั้นเดียวและสองชั้น สระน้ำ  ตลอดจนโบราณสถาน และโบราณวัตถุ  อยู่ในที่ตั้งของเมืองต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว  มีความคล้ายคลึงกับเมืองสมัยทวาราวดีอื่น ๆ เช่นอู่ทอง  พงตึก  นครปฐม เป็นต้น
            ดินแดนนครสวรรค์ในสมัยทวาราวดี  เป็นชุมชนที่มีการติดต่อกับเมืองไกลต่างประเทศ  เช่นอินเดีย  ทำให้นครสวรรค์มีบทบาทและความสำคัญในฐานะที่เป็นรัฐกึ่งกลาง ที่เชื่อมโยงระหว่างดินแดนทางทิศตะวันตก และดินแดนทางทิศตะวันออก  เป็นจุดส่งต่ออารยธรรมอินเดียไปทางเขมร และเวียตนามภาคกลางในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมใกล้ชิดกับชุมชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออีกด้วย
สมัยสุโขทัย

            พุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๒๐ เมืองเมืองดงแม่นางเมืองที่เคยรุ่งเรืองมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๖ ก็หมดความสำคัญลง  บทบาทและความสำคัญของนครสวรรค์ได้ย้ายไปที่ลพบุรี  ซึ่งเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมเขมรในภาคกลางของไทย  ในสมัยสุโขทัย เมืองนครสวรรค์มีชื่อว่า เมืองพระบาง  แทนเมืองดงแม่นางที่เสื่อมไป  เมืองพระบางมีความสำคัญ และเป็นเมืองหน้าด่านของอาณาจักรสุโขทัย  ที่คอยกันหัวเมืองทางใต้บริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา  ที่จะขึ้นมายังกรุงสุโขทัย  ในศิลาจารึกหลักที่ ๓ ได้กล่าวถึงการสร้างพระพุทธบาท ๔ แห่งในรัชสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย  หนึ่งในจำนวนนั้นคือ  พระบาทเหนือจอมเขาที่ปากพระบาง  ซึ่งก็คือพระพุทธบาทที่ยอดเขากบ ในปัจจุบัน
สมัยอยุธยา
            เมื่ออาณาจักรอยุธยาขึ้นมามีอำนาจ  นับจากเมื่อราชวงศ์ สุพรรณบุรีมีชัยชนะเหนืออาณาจักรสุโขทัยแล้ว  นครสวรรค์ก็กลายเป็นรัฐกึ่งกลางในอาณาจักรอยุธยา  เมื่อเกิดการแย่งชิงราชสมบัติที่กรุงสุโขทัย เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๖๒ ระหว่างโอรสของพระเจ้าไสยลือไทย (พระมหาธรรมราชาที่ ๓)  สมเด็จพระอินทราชาธิราช  ได้ทรงยกกองทัพจากกรุงศรีอยุธยา ขึ้นไปตั้งคุมเชิงอยู่ที่เมืองพระบาง ซึ่งขณะนั้นเป็นเมืองปลายเขตแดนของกรุงศรีอยุธยา  ทำให้พระยาบาลเมืองและพระยารามโอรส พระเจ้าไสยลือไทย  ต้องออกมาถวายบังคมต่อสมเด็จพระอินทราชา  ต่อมาสมเด็จพระอินทราชาจึงได้โปรดเกล้า ฯ ให้สถาปนาพระยาบาลเมือง ขึ้นเป็นพระมหาธรรมราชาที่ ๔ ครองเมืองพิษณุโลก  และให้พระยาราม  ครองกรุงสุโขทัย
            ในสมัยอยุธยา นครสวรรค์นอกจากจะเป็นชุมทางสินค้า  อันเนื่องมาจากสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว  ยังเป็นเมืองประชุมพล  เมื่อเกิดสงครามไทยกับพม่า  เมื่อพม่ายกเข้ามาตีไทยจากทางเหนือ  นับตั้งแต่สงครามช้างเผือกในรัชสมัย สมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ์เป็นต้นมา  ตามพงศาวดารพม่าระบุว่า การเดินทัพจากกรุงหงสาวดี ตามเส้นทางเข้าด่านแม่ละเมา เข้าสู่ตำบลระแหง แขวงเมืองตาก แล้วเข้าสู่เมืองกำแพงเพชร และเมืองนครสวรรค์ ใช้เวลาเดินทัพเป็นเวลา ๔๗ วัน
สมัยธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์
            สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ได้ทรงดำเนินการยุทธที่ไม่ยอมให้พม่าใช้นครสวรรค์เป็นที่ประชุมพลอีกต่อไป  โดยพระองค์ได้ขึ้นไปตั้งรับกองทัพข้าศึกเหนือนครสวรรค์ และใช้นครสวรรค์เป็นเมืองส่งกำลังบำรุงให้แก่กองทัพที่ยกขึ้นไปรับศึกทางเหนือ เช่น ที่ปากพิง พิษณุโลก และเหนือขึ้นไป  นครสวรรค์จึงกลายเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการป้องกันข้าศึกที่ยกกำลังมาทางเหนือ

            ในสมัยรัตนโกสินทร์  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เมื่อมีการทำสนธิสัญญาเบาว์ริง  ก่อให้เกิดการค้าเสรีนิยมขึ้น  นครสวรรค์ก็ได้กลายเป็นแหล่งรวมสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้าว และไม้สักที่มาจากภาคเหนือ เพื่อส่งต่อไปยังกรุงเทพ ฯ มีโรงสีเหนือ โรงสีกลาง และโรงสีใต้  บริษัทค้าไม้อิสท์เอเซียติก บริษัทแม่เงา  ห้างไม้มิสหลุยส์  มีโรงเลื่อย  โรงน้ำแข็ง  และโกดังสินค้าต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก  ข้าวจะส่งมาทางแม่น้ำน่าน โดยการขนส่งทางเรือยนต์เป็นหลัก  คนจีนอพยพเข้ามาขายแรงงานและการประกอบการค้าในนครสวรรค์มากขึ้น  การค้าของนครสวรรค์ได้ย้ายศูนย์กลางจากฝั่งตะวันออก มายังฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ย้ายตัวเมืองมาตั้งบนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ  คนจีนในนครสวรรค์มีมากเป็นอันดับสาม รองลงมาจากกรุงเทพ ฯ และภูเก็ต  ส่วนใหญ่เป็นพวกแต้จิ๋วและไหหลำ  การค้าของนครสวรรค์เจริญสูงสุดในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
            บริเวณปากน้ำโพ มีสภาพเป็นชุมทางการค้า  เป็นแหล่งชุมนุมเรือค้าข้าวที่ใหญ่ที่สุดรองลงมาจากกรุงเทพ ฯ ไม้ซุงสักจากภาคเหนือนับหมื่นนับแสนท่อน  จะถูกล่องลงมาตามลำน้ำที่เป็นสาขาของแม่น้ำเจ้าพระยา มารวมกันที่ปากน้ำโพ ก่อนที่จะแยกส่งไปยังที่ต่าง ๆ  บรรดาพ่อค้าจากกรุงเทพ ฯ จะมาชุมนุมกันที่ปากน้ำโพเพื่อเลือกซื้อสินค้า  ศูนย์กลางการค้าของนครสวรรค์มีอยู่ ๓ แห่งคือ
            ตลาดยาว  อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง  เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่างนครสวรรค์กับหัวเมืองทางเหนือ เช่น กำแพงเพชร  ตาก  และเชียงใหม่ เป็นต้น  ชาวนครสวรรค์เรียกคนไทยทางเหนือว่าลาว จึงเรียกตลาดนี้ว่า ตลาดลาว  ชาวเหนือจะนำสินค้าประเภทไม้สัก และของป่า เช่น  หวาย  ชัน  น้ำมันยาง  สีเสียด  เปลือกไม้  น้ำผึ้ง ฯลฯ มาขาย  ขากลับก็จะซื้อข้าวและเกลือกลับไป
            ตลาดสะพานดำ  อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา  เป็นศูนย์กลางการค้าระหว่าง อำเภอต่าง ๆ ของนครสวรรค์ เช่น อำเภอโกรกพระ  อำเภอพยุหคีรี  อำเภอบรรพตพิสัย  สินค้าที่นำมาขายมีข้าว สัตว์ป่า และของป่า
            ตลาดท่าชุด  อยู่ริมคลองบางประมุง ตำบลท่าชุด  เป็นศูนย์กลางการค้าข้าวของนครสวรรค์กับจังหวัดที่อยู่โดยรอบ เช่น พิจิตร  กำแพงเพชร  ตาก  พ่อค้าชาวจีนจะมารับซื้อข้าว ณ ที่นี้ แล้วนำสิ้นค้าล่องลงกรุงเทพ ฯ ทางแม่น้ำเจ้าพระยาโดยใช้เรือกระแซงใหญ่  ขากลับ (ขาขึ้น) จะบรรทุกเกลือ  มะพร้าว และน้ำตาลปีบมาขายที่นครสวรรค์

            เมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ก่อนสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เล็กน้อย  ประกอบกับมีเส้นทางรถไฟสายเหนือไปถึงเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๕ และภายหลังสงครามมหาเอเซียบูรพา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๘  ได้มีการสร้างสถานีรถไฟขึ้นที่ตำบลหนองปลิง  ซึ่งเป็นสถานีรถไฟนครสวรรค์ในปัจจุบัน  ทำให้การคมนาคมขนส่งทางน้ำลดลง  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ได้เปิดสะพานเดชาติวงศ์  เพื่อใช้ในการคมนาคมขนส่งทางบกตามเส้นทางถนนพหลโยธิน  ทำให้นครสวรรค์คลายความสำคัญทางเศรษฐกิจในด้านเป็นแหล่งกลางแลกเปลี่ยนสินค้าลงไป  และกลายเป็นเมืองผ่าน
            ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปฏิรูปการปกครองหัวเมืองส่วนภูมิภาค  นครสวรรค์ได้เป็นที่ตั้งมณฑลนครสวรรค์ ซึ่งเป็น ๑ ใน ๔ มณฑลที่ตั้งขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๘  มณฑลนครสวรรค์ครอบคลุม ๘ เมืองคือ  นครสวรรค์  ชัยนาท  อุทัยธานี  พยุหคีรี  มโนรมย์  สรรค์บุรี และกำแพงเพชร  โดยมีพระยาดัสกรปลาศ (ทองอยู่  โลหิตเสถียร) เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลคนแรก ต่อมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕  ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ยุบเลิกมณฑลนครสวรรค์ และให้เมืองต่าง ๆ ของมณฑลนี้ไปขึ้นกับมณฑลอยุธยา ยกเว้นกำแพงเพชร และตากให้ไปขึ้นกับมณฑลพิษณุโลก
| ย้อนกลับ | หน้าต่อไป | บน |